วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

รู้ตามเป็นจริง

รู้ตามเป็นจริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ที่พูดกันว่าอย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่น คำว่า “เข้าไป” นี่มันมี “ตัว” แล้ว เป็นอัตตาแล้ว มันมีไปมีมาแล้ว คำว่า “อย่าเข้าไปยึดถือ” นี่มันแสดงถึงความมีอัตตาแล้ว มันเป็นคำพูดที่หมายถึงมีตัวอยู่ มันชวนให้หลงได้ ถ้าไม่เข้าใจ หรือคำว่า “อย่าเข้าไปยึด อย่าเข้าไปหมาย” นี่มันมีบุคคลแล้ว เป็นการห้ามแล้ว ห้ามบุคคล ถ้าไม่มีบุคคลก็ไม่มีการห้าม สิ่งที่มันชัดกว่า คือ ควรพูดว่า “รู้ตามความเป็นจริง” คำนี้มันทำลายอัตตาไปเลย ไม่มีกู ไม่มีฉัน ไม่มีใครออกไม่มีใครเข้า ไม่มีใครไปไม่มีใครมา มันจึงเป็นคำศัพท์ที่ทำลายอัตตาไปในตัว ถ้าบอกว่า “อย่าเข้าไป” นี่มันมีตัวคนแล้ว มีคนที่จะเข้าจะออก มีคนที่จะอยู่มีคนที่จะไป มีคนที่จะเกิดคนที่จะตาย มีคนที่จะทุกข์มีคนที่จะสุข นั่นมันคือมีอัตตาแล้ว หรือใช้คำพูดว่า “อย่าเข้าไปแบกมันซิ ถ้าไม่อยากหนัก” นี่มันชวนให้หลงได้ มันกระจ่างได้ยาก เพราะทรงไว้ซึ่งตัวตนตลอดเวลา มันไม่มีอะไรจะไปแบกอะไร มันไม่มีอะไรจะไปยึดอะไร แต่ละอย่างมันเป็นสัจธรรมประจำโลก เป็นหน้าที่ของโลก ไม่มีใครเป็นใคร มันเป็นแต่เพียงหน้าที่

ร่างกายทั้งก้อนนี้มันก็ทำหน้าที่ของความเป็นรูป มันไม่ได้ทำให้ใครหนัก มันไม่ได้ไปขี่คอใคร ไม่ได้ไปเป็นศัตรูใคร ไม่ได้รังแกใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร มันอยู่เฉพาะมัน อย่างเป็นอิสรภาพ เป็นเสรีภาพของมัน เป็นสภาพธรรมะอยู่อย่างนั้นของมันเอง ไม่มีใครจะมาหนักมาเบา ไม่มีใครจะมาทุกข์มาพ้นทุกข์อยู่นั่น ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการทำลายอัตตา นี่มันเป็นจุดจบ จุดสิ้นสุดของงานที่จะต้องทำ ถ้าตราบใดอัตตายังอยู่ ไม่มีทางจะแล้วเสร็จ มันก็ไม่พ้นจากโลกียะ จะเป็นระดับโลกุตตระไม่ได้

ทุกอย่างมันเป็นเพียงหน้าที่ เป็นอยู่อย่างนั้นเอง รูปมันก็เป็นรูป เหมือนอย่างต้นไม้มันก็ทำหน้าที่อย่างต้นไม้ น้ำก็ทำหน้าที่ของความเป็นน้ำ ลมมันก็ทำหน้าที่ของความเป็นลม แสงอาทิตย์มันทำหน้าที่ของมัน เป็นแต่เพียงหน้าที่ ไม่ได้จะไปทำให้ใครร้อน ไม่ได้จะไปทำให้ใครหนาว เป็นแต่เพียงหน้าที่ที่มีอยู่กับโลก เป็นอย่างนั้นเอง “อย่างนั้นเอง” น้ำเป็นอย่างนั้นเอง ลมเป็นอย่างนั้นเอง ไฟเป็นอย่างนั้นเอง ร่างกายที่ว่าเป็นขันธ์ห้านี่มันก็เป็นอย่างนั้นเอง ไม่ได้ไปขี่คอใครให้ใครหนัก ไม่ได้เป็นศัตรูใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ได้ไปรังแกใคร ฉันก็อยู่ของฉัน มันต้องมองแบบนี้ เข้าใจในระดับนี้ จึงจะทะลุผ่านไปได้ คือ “รู้จริง” เป็นจุดที่เรากำลังพากเพียร กำลังค้นคว้า ก็เพื่อให้รู้จริงตามที่เป็นจริง รู้ว่ามันเป็นยังไง เป็นเรื่องยังไง นี่ขยายความออกมามันก็เป็นอย่างนี้

ร่างกาย คือ รูป นี่มันก็เป็นเรื่องขันธ์ห้า รูปนาม “นาม คือ รู้” ตัวรู้นี่คือนาม ถ้าใช้คำว่า “ใจ” ก็เป็นการพูดตามกระแส ใจมันเป็นอย่างนั้น ใจมันเป็นอย่างนี้ ใจไปยึดนั่นยึดนี่ ถือนั่นถือนี่ อย่าเอาใจไปรัก อย่าเอาใจไปชัง เหล่านี้เป็นภาษาที่ได้ยินบ่อยๆ บ้างก็ว่าเป็นที่ใจ ดีที่ใจ ชั่วที่ใจ ทุกข์ที่ใจ สุขที่ใจ นี่คือภาษาที่กระแสสังคมนิยมพูดกัน ถ้าเข้าใจมันก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจมันก็ยิ่งหลงทาง ภาษาที่มันชัดเจน “ใจ ก็คือ รู้” “รูป ก็คือ ไม่รู้” รูปเป็นรูป ไม่ได้เป็นอะไรอื่น มันระบุความหมายชัดด้วยคำศัพท์ในตัวแล้ว แต่ใจนี่คือรู้ มันเป็นคำศัพท์ที่ต้องทำความเข้าใจ อย่าไปหลงภาษาคำศัพท์ตามที่กระแสสังคมเขานิยมพูดกัน เราต้องเข้าใจให้แตกฉาน ไม่ว่าเขาจะพูดมาด้วยคำที่พลิกแพลงอย่างไร เราก็เข้าใจ ตีความได้แต่ละระดับ ทำความเข้าใจให้กับตัวเอง รูปก็คือรูป นามคือรู้ ในตัวเรามีอะไร มีรูปกับนาม หรือบางทีก็ว่าในตัวเรามีกายกับใจ ก็ต้องแปลได้ว่า ใจคือรู้

มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันเป็นเรื่องค้นคว้าทำความเข้าใจให้มันรู้ความจริงที่เราเป็นอยู่นี่ อะไรเป็นเรา อะไรเป็นชีวิต ค้นคว้าที่นี่โดยเฉพาะ เจาะจงลงที่นี่ อย่างอื่นภายนอกมันอยู่ไกล ไม่ใช่หน้าที่ที่จะไปค้นคว้าภายนอก ปัญหาใหญ่คือมันไม่รู้ มันไม่รู้จริงตามที่มันเป็นอยู่จริง นี่คือสิ่งที่กำลังสนใจ กำลังพากเพียร สิ่งที่กำลังทำอยู่ กำลังศึกษาอยู่ เพื่อให้จบในสาขาวิชานี้ ไม่ใช่เรื่องอื่น ให้มันรู้ตัวมันเอง ตัวมันเองนี่มีสองลักษณะ อย่างหนึ่งเรียกว่ากาย อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าใจหรือรู้ เบื้องต้นนี้คือ “เอารู้นี้มารู้จริงในสิ่งที่ยังไม่รู้” ก็คือ รู้อยู่ที่กายนี่ ให้รู้ว่ากายนี้มันเป็น “ตัวไม่รู้” ตอนนี้มันยังไม่เข้าใจตามความเป็นจริง “ตัวรู้” ก็คือใจ นี่มันเข้าใจผิด มันเข้าใจว่ากายนี่เป็นตัวรู้ นี่คือไม่รู้จริง นี่คือมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้จริงตามเป็นจริง เข้าใจผิดว่าร่างนี้ หุ่นนี้ ซากนี้ ของใช้นี้ เป็นตัวรู้ ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่วัตถุเฉยๆ ไม่ใช่ตัวรู้ พูดอย่างนี้มันก็เข้าใจยากแล้ว เพราะไม่รู้จริง มันมืดมิดเลย สำหรับคนไม่เคยฟังมาก่อน แต่นี่คือสิ่งที่ต้องศึกษา ศึกษาในสิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อให้รู้ ให้จบ ให้รู้จริงตามความเป็นจริง

เพราะความรู้ความเข้าใจเดิม มันคิดว่าทั้งสองอย่าง คือกายกับใจนี่มันเป็นอันเดียวกัน ไปด้วยกัน มาด้วยกัน นั่งด้วยกัน นอนด้วยกัน แต่เวลานอนจริงๆ นี่มันก็แย้มให้เห็นให้เข้าใจได้นะถ้าสังเกตดู เหมือนมันมีแสงลอดผ่านบานประตูที่ปิดอยู่ ลักษณะที่เรียกว่ากายกับใจมันไม่ได้ไปด้วยกัน มาด้วยกัน เวลานอนหลับนี่มีแต่กายนอนอยู่ แต่สิ่งที่เรียกว่าใจหรือรู้ นี่มันไม่นอนด้วย มันทิ้งซาก ทิ้งร่าง ทิ้งตัวไม่รู้นี่เอาไว้ ทิ้งของใช้ไว้ เหมือนกันกับตัวเฉฉวน ซึ่งมันคล้ายกับหอยจริงๆ อาศัยอยู่ในเปลือกของหอย แต่จริงๆ มันไม่ใช่หอย ตัวมันก็ไม่ติดกับเปลือกหอย มันออกจากเปลือกหอยย้ายไปเรื่อยๆ ย้ายไปกินหอยตัวอื่น แล้วมันก็อาศัยอยู่ในเปลือกนั้นแทน มันจะอยู่ข้างนอกก็ได้ เข้าไปข้างในเปลือกหอยก็ได้ ถ้าจะเปรียบเทียบมันก็ออกมาแบบนี้

เวลาฝัน “รู้” มันไปแล้ว เหมือนตัวเฉฉวนมันออกจากเปลือกหอยไปแล้ว คือมันเหลือแต่ร่าง เหลือแต่ซากศพ เหลือแต่ “ตัวไม่รู้” บางคนสงสัยว่าถ้าใจมันหนีแล้วทำไมยังไม่ตาย ก็ร่างกายมันเหมือนเครื่องยนต์ มันทำงานอยู่ได้ เดินเครื่องอยู่ได้แม้ไม่มีคนขับนั่งอยู่ในรถยนต์ ภาษาก็ว่า “สรีรยนต์” คือร่างกายหุ่นยนต์ มันติดเครื่องอยู่ ทำงานอยู่ ก็คือรูปร่างกายนี่นอนอยู่ ทำงานอยู่ ยังไม่ตาย ส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนของรูปที่กำลังทำงานให้เห็นชัดเจนอยู่ ก็คือชีพจรเต้นอยู่ หายใจอยู่ เป็นต้น แต่ในขณะนั้น “ตัวนาม หรือ ใจ” มันไปที่อื่นแล้ว มันไม่อยู่ มันไม่นอน แต่มันจะอยู่ด้วยก็ได้ หรือนอนด้วยก็ได้เช่นกัน เหมือนคนขับรถจะอยู่หรือไม่อยู่ในรถยนต์ก็ได้ขณะที่รถยนต์ติดเครื่องอยู่ นี่คือการเปรียบเทียบทีละเล็กทีละน้อย บ่อยๆ เนืองๆ แล้วๆ เล่าๆ ซ้ำๆ ซากๆ มันจะเข้าใจไปทีละน้อยโดยไม่รู้สึกตัว และมันจะยอมรับความเห็นที่ถูกต้องไปทีละน้อย มันจะแทรกจะซึมเข้าไปโดยไม่รู้สึกตัว มันจะเจริญสัมมาทิฏฐิได้ ซึ่งสัมมาทิฏฐิมันก็ต้องมีการสะสมโดยอัตโนมัติ โดยเราไม่รู้ตัวว่าสะสมได้เท่าไร รวบรวมได้เท่าไร แต่มันจะเป็นไปตามหน้าที่ของธรรมชาติของมันเอง เราฟังบ่อยๆ เราคิดบ่อยๆ คำนวณบ่อยๆ สรุปก็คือเพียร ทำความเพียร ปราชญ์โบราณก็ยังว่าความเพียรอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น สักวันหนึ่งมันต้องกระจ่าง มีสัมมาทิฏฐิในระดับที่สูงขึ้น และเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง

มันเป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น หน้าที่ของต้นไม้ หน้าที่ของภูเขา หน้าที่ของน้ำ หน้าที่ของลม หน้าที่ของแสงแดด ร่างกายนี้ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง “ใจหรือรู้” นี่ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ร้อนก็หน้าที่ หนาวก็หน้าที่ ต้นไม้หลายต้นก็หลายหน้าที่ ต้นเล็ก ต้นใหญ่ ต้นสูง ต้นเตี้ย ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละต้น วุ่นวาย มากมาย แต่ก็เป็นสัจธรรมแต่ละอย่าง ร่างกายของเราก็เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือการขยายความออกไปให้มันหลายแง่หลายมุมให้มันกระจ่างขึ้น

ในพื้นดิน นี่ก็มีดินเหนียว ดินทราย ก้อนกรวด มันก็เป็นแต่ละหน้าที่ ในร่างกายนี้ก็สามารถแจกแจงย่อยลงไปได้อีกเช่นกัน แต่ละอย่างก็เป็นหน้าที่ เนื้อก็เป็นหน้าที่ ผมก็เป็นหน้าที่ ขนก็หน้าที่ ไส้น้อยก็หน้าที่ ไส้ใหญ่ก็หน้าที่ เล็บก็หน้าที่ แต่ละอย่างก็มีหน้าที่ของใครของมัน เป็นของโลก เป็นสัจธรรมของธรรมชาติ ไม่ได้เป็นตัวใคร ไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร เป็นแต่เพียงหน้าที่ มันก็ค่อยๆจับจุดเข้ามาหาตัวเองได้

“รู้” นี่มันก็เป็นหน้าที่ กายกับใจ รูปกับนาม ขันธ์ห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแต่เพียงหน้าที่ เหมือนต้นยาง ต้นสัก ต้นมะม่วง ต้นขนุน ต้นกล้วย มันก็เป็นแต่เพียงหน้าที่ แต่ปัญหาคือ มันยังไม่กระจ่าง มันจึงสะท้อนออกมาเป็นตัว เป็นอัตตา ต้องย้ำอยู่ในจุดนี้ คิดอยู่ในจุดนี้ ค้นในจุดนี้ วิเคราะห์ในจุดนี้ มันจะแตกฉาน จะกระจ่างออกมาได้ในสักวันหนึ่ง พอรู้จริงตามเป็นจริงมันก็จะรู้ว่าเท่านั้นเอง โอ..มันเท่านั้นเอง

ตามันก็หน้าที่ หูมันก็หน้าที่ ตาก็เป็นธรรมะชนิดหนึ่ง หูก็เป็นธรรมะชนิดหนึ่ง จมูกก็เป็นธรรมะชนิดหนึ่ง ลิ้นก็เป็นธรรมะชนิดหนึ่ง มันก็คือร่างกายนี่แหละ แยกออกมาพูดให้มีเรื่องพูดมากขึ้น ธรรมะที่พูดกันทั้งหลายมันก็อย่างนี้ พูดนั่นพูดนี่ พูดสั้นพูดยาว อ้อมไปอ้อมมา มันก็เป็นการขยายความ หาเรื่องให้มันมีเรื่องพูดนั่นแหละ คนมันต้องพูด ความเป็นจริงมันมีนิดเดียวเท่านั้นแหละ สมมุติชื่อมันขึ้นมาเรียกว่า นี่ตา นี่หู เพื่อให้มันมีคำพูดสื่อสารกันเข้าใจ มันก็สมมุติตั้งขึ้นไปเรื่อยๆ ให้มันมีคำพูดมากขึ้น ถ้าไม่เรียกตา ไม่เรียกหู ได้ไหม มันก็ได้ เรียกว่า เป็นเช่นนั้นเอง ตาก็อย่างนั้นเอง หูก็อย่างนั้นเอง ก็ได้ แม้แต่คำว่า “อย่างนั้นเอง” มันก็เป็นชื่อสมมุติขึ้นเหมือนกัน นี่ก็คือการขยายความแจกแจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ จะแยกพูดย่อยๆ แต่ละชนิด หรือพูดรวมก็ได้

ส่วน “ใจ หรือ รู้” จะแยกเป็น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ได้ มันก็เป็นการหาเรื่องมาพูดให้มันมากขึ้น อธิบายความมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะฉะนั้นการทำความเพียรก็คือเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องอื่น คือเรื่องที่จะให้เข้าใจว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งมันยอมรับไม่ได้ มันไม่ยอมรับ มันจึงสะท้อนออกมาเป็นฉัน เป็นกู กูเจ็บ กูปวด กูเป็นอย่างนั้น กูเป็นอย่างนี้ กูทุกข์ กูลำบาก กูรัก กูชัง เป็นกูทั้งหมด การ “ทำลายกู” ก็คือ ทำลายอัตตา แล้วมันจะเป็นอนัตตา ว่างเปล่า จริงๆ มันก็ว่างอยู่ก่อนแล้ว สัจธรรมคือความจริงมันว่างอยู่ก่อนแล้ว ว่างอยู่ทุกคน ขันธ์ทั้งห้าว่างอยู่แล้ว รูปก็ว่าง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ว่าง บริสุทธิ์อยู่แล้ว หมดจดจากกิเลสอยู่แล้ว กิเลสคืออะไร ก็คือไม่รู้จริง

มันต้องอาศัยการค้นคว้า ขบคิด เปรียบเทียบ เทียบเคียง สับให้แหลก ตีให้แตก นี่คือทำความเพียร เพียรด้วยใจ นี่คือนักศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น