วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ลักษณะการปฏิบัติคือหดตัวเข้ามา

ลักษณะการปฏิบัติคือหดตัวเข้ามา  
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
---------------------------------------------------------------------------

ลักษณะของการปฏิบัติ คือการหดตัวเข้ามา เข้ามาเพื่อจะหายตัว กิเลสมันอยู่ภายนอก โลภ โกรธ มันอยู่ภายนอก หลงนี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะมันหลงอยู่แล้ว ภาษาเขาอาจจะสอนว่า ละโลภ โกรธ หลง ก็ถูกอยู่ แต่เวลาจะหยิบมาอธิบาย ต้องเจาะจงให้มันชัด ให้มันเข้าใจง่ายขึ้น มันหลงอยู่แล้วมันจึงเกิด มันหลงอยู่แล้วมันจึงโลภ จึงโกรธ ดังนั้น ต้องรู้จักว่าโลภ โกรธ นะมันอยู่ภายนอก ต้องหดตัวเข้ามา

“โลภ” นี่มันคือการเกี่ยวข้องกับภายนอก เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น กับวัตถุอื่น กับคนอื่น “โกรธ” มันก็เป็นการเกี่ยวข้องกับภายนอกเหมือนกัน โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับบุคคล จึงบอกว่า โลภ โกรธ มันอยู่ภายนอก มันออกไป ไม่หดตัวเข้ามาดูภายใน หายตัวไปเมื่อไหร่ก็คือจบงาน

วิธีนั่งกรรมฐาน จึงเน้นให้ดูตนเอง ดูเข้ามาภายใน ตั้งแต่ตอนบวชอุปัชฌาย์ก็บอกให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เพราะว่าเงื่อนมันอยู่นี่ กระทู้มันอยู่นี่ เพ่งไปในจุดนี้ อย่างอื่นมันเป็นการออกไปภายนอก เช่น การแผ่เมตตา เจริญเมตตาให้สัตว์โลก

อย่างมีเมตตากับสุนัข ก็เลี้ยงสุนัข มันจึงรักสุนัข วุ่นวายสนใจอยู่กับสุนัข นี่ภายนอก มันไม่ได้มาสนใจอยู่ที่รูปกับนาม กายกับใจ เพราะฉะนั้นจึงบอกให้นั่งกรรมฐานดูรูป ดูลมหายใจ ก็เพื่อให้เข้าใจตัวเอง หดตัวมาอยู่กับตัวเอง หดตัวจนหมด มันก็จะหายตัว สิ่งที่เหลืออยู่ก็จะมีเพียงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่างๆ เท่านั้น มันก็จบ จับเค้าเงื่อนให้ได้เท่านี้ก็จะมั่นใจ ไม่พะวงเรื่องอื่นๆ มันอยู่ที่เรื่องนี้เรื่องเดียวแท้ๆ ค้นเข้ามา มันจะใกล้ มันจะถี่ มันจะเบียดเข้ามา นักบวชทั้งหลายต้องคิดแบบนี้

การรักคน รักสัตว์ ชังคน ชังสัตว์ มันอยู่ภายนอก กิเลสมันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มีความโลภ แต่ก็ไม่ได้เกิดตลอดเวลา มีความโกรธ แต่ก็ไม่ได้เกิดตลอดเวลา มีรักก็ไม่ได้เกิดตลอดเวลา เกิดแล้วก็ดับ โลภแล้วก็ดับ โกรธแล้วก็ดับ รักแล้วก็ดับ เกิดราคะยินดีแล้วก็ดับ กินแล้วก็หยุด ดื่มแล้วก็หยุด กินแล้วก็ถ่ายเทออกมา เปลี่ยนไปเรื่อย เกิดดับไปเรื่อย หรือภาษาธรรมก็เรียกว่า “อนิจจัง”

ดังนั้น การฟังธรรมะก็ต้องฟังให้มันทะลุทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะพูดด้วยคำศัพท์ในแง่ไหน มันก็ต้องมีความหมายตรงกัน สอดคล้องกันทั้งหมด เพียงแต่ผู้พูดพยายามจะหาเรื่อง หาคำพูดในแง่ต่างๆ มาเทียบเคียงเพื่ออธิบายให้มันชัดเจน ใกล้เคียงความหมายจริงๆ ที่ต้องการจะสื่อ แต่เพราะว่าไม่มีคำสมมุติที่ใช้แทนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงอธิบายกลับไปกลับมา ใช้คำศัพท์เปรียบเทียบต่างๆ กัน เพื่อให้พอมองเห็นแนวทาง ทางเดินสู่มรรคผลนิพพานนี่มันต้องถางเอาเอง คนอื่นเขาทำทางไว้ เราไปเดินไปใช้ของเขาไม่ได้ มันต้องทำทางของตนเอง ใช้ร่วมกันไม่ได้ ไม่เหมือนทางภายนอก มันเป็นทางที่เดินด้วยความรู้สึก เดินด้วยใจ เดินไปถางไปด้วยตนเอง

เพราะฉะนั้น ต้องให้มันรู้อยู่ มันเด่นอยู่ ในการดูรูปดูกายของตนเองที่ตั้งอยู่นี้ จึงเรียกว่าการทำความเพียร อย่าให้นิวรณ์ ความซึมความง่วงเข้ามาแทรก นี่มันเป็นปัญหาใหญ่ของชาวพุทธนักปฏิบัติธรรม บางคนนั่งก้มศีรษะลงไปให้มันง่วงมันหลับ เสียนิสัย เสียความประพฤติ วิธีไหนที่ทำให้มันตื่นอยู่ได้ นั่นคือการทำความเพียร เพียรที่จะให้มันตื่น ไม่ให้มันง่วง ไม่ให้มันซึม ถ้าหลับ นั่นก็เรียกว่าไม่ได้ทำความเพียรอยู่เลย

เมื่อมันหดตัวเข้ามา มันก็จะรู้สึกสบาย เพราะมันปราศจากนิวรณ์ นิวรณ์นี่มันเป็นพวกเดียวกันกับอวิชชา กับโมหะ รวมทั้งเป็นพรรคพวกของมัจจุราชด้วย ที่เราสวดว่า “มัจจุราชซึ่งมีเสนามากฯ” (ภัทเทกรัตตสูตร) รวมทั้งความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวลสงสัย ร้อนก็ร้อนมาก หนาวก็หนาวมาก เจ็บก็เจ็บมาก รำคาญก็รำคาญมาก นี่แหละพวกของนิวรณ์ทั้งนั้น ถ้านิวรณ์ไม่มาแทรก จะเดินหรือนั่งก็ทำได้สะดวกสบายไปเรื่อยๆ อยู่อย่างไรก็ได้ พอไม่พัวพันกับมัน ไม่ต้อนรับมัน มันก็จะห่างออกไป ถ้าไปพัวพันเป็นเพื่อนกับมัน มันก็จะมาวนเวียนอยู่เรื่อย

ถ้าเป็นคน มันก็มาชวนไปกินเหล้า สูบบุหรี่ อยู่นั่นแหละ บางคนนั่งกรรมฐานทีไร ก็ง่วงหรือหลับทุกที พอนั่งลงแล้วก็ก้มหัวลงไปเลย นี่คือไปคบกับนิวรณ์เป็นเพื่อน ทิ้งกันไม่ได้ ไม่คิดจะทิ้งด้วย

เหมือนอย่างการออกบวช นี่คือการทิ้งเพื่อนฝูง ทิ้งชาวบ้าน เพราะมันคบกันไม่ได้ เป็นเพื่อนกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พฤติกรรมมันไม่เข้ากัน พอเพื่อนมาหาที่บ้าน ก็ไม่เจอเราแล้ว เพราะเราไม่อยู่บ้านแล้ว เราหนีแล้ว สุดท้ายเพื่อนก็เลิกมาที่บ้านเอง อยากเจอก็ต้องไปหาที่วัด หรือในป่าโน่น เขาก็ไม่ตามไปหรอก เพราะพวกขี้เหล้ามันไม่ชอบเข้าวัดอยู่แล้ว นี่คือเปรียบเทียบอีกแบบหนึ่ง

ให้มันสัมผัสเข้ามาในทางที่ถูกต้อง กายนี่แหละเป็นจุดแรก กายเป็นกาย กายเป็นวัตถุ เป็นของใช้ ถ้าไปทำอย่างอื่น ดูที่อื่น มันชวนให้หลง เพราะมันไม่ชัดเจน บางทีคิดว่าใช่คิดว่าถูกเอาเอง แต่กายก็ยังเป็นตัวกู ตัวข้าพเจ้าอยู่ มันต้องสัมผัสความรู้สึกให้ได้ว่า กายนี้เป็นวัตถุ เป็นหุ่น เป็นตุ๊กตา นี่เป็นประตูที่จะเปิดเข้าไปสู่โลกุตตระอย่างถูกต้อง อย่างบอกว่าให้มีพุทโธน่ะ กำกับพุทโธเข้าไปทุกลมหายใจเข้า-ออกน่ะ นี่ท่านสอนไม่ผิดหรอก แต่ส่วนใหญ่คนฟังคนทำตามมักทำไม่ถูกเอง แล้วมันก็หลง

หลวงปู่ชา เคยพูดว่า “มันหลงอยู่ในรู้” เอ..ก็รู้อยู่นี่ไง ยังจะบอกว่าหลงได้ยังไงอีก ท่านก็ขยายความว่า หลงมีอยู่ในคนเป็น ถ้าคนตายมันก็ไม่มีหลง “รู้” นี่ก็เหมือนกัน มีอยู่ในคนเป็นทุกคน คนตายแล้วไม่มีรู้ เราทุกคนยังไม่ตายเราก็มีรู้อยู่ตลอด แต่ตอนนี้เราเห็นรูปนี่เป็นตัวเรา นั่นคือ “หลง” ยังไม่รู้

ถ้าจะรู้ก็ต้องรู้ที่นี่แหละ ที่เดียวกัน รู้ที่ว่า รูปนี่เป็นหุ่น เป็นซาก เป็นร่างเฉยๆ นั่นคือสัจธรรม ถ้ายังรู้อย่างนี้ไม่ได้ ก็หลงอยู่ มีอวิชชาครอบอยู่ เพราะฉะนั้นจึงพูดว่า “หลงอยู่ในรู้” คือ “หลงในความรู้ที่ว่ารูปเป็นฉัน เวทนาเป็นฉัน สัญญาเป็นฉัน สังขารเป็นฉัน วิญญาณเป็นฉัน”

หลงนี่มันจะหายไปได้ในเมื่อรู้จริง เหมือนพอดวงอาทิตย์ขึ้น ความมืดก็หายไป ดังนั้น อัตตาตัวตน จะหายไปก็เมื่อรู้จริง ถ้ารู้จริงไม่ได้ก็ยังเป็นฉัน เป็นกู อยู่อย่างนี้ เหมือนดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น มันก็ยังมืดอยู่อย่างนี้ ความมืดมันจะหายไปได้เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นมา ไม่ใช่ด้วยการมีใครไปขับไล่ความมืด ไปขอร้อง ไปอ้อนวอน เหมือนอย่างแผ่เมตตา อธิษฐานขอนั่นขอนี่ ขอเข้าไป มันน่าหัวเราะทั้งนั้น มันใช้ได้กับระดับพื้นฐานธรรมดา ระดับชาวบ้าน แต่ถ้าจะเอาจริงเอาจังมันใช้ไม่ได้ มันคนละระดับ นั่นมันภาษาสำหรับโลกียชน ไม่ใช่ระดับโลกุตตระ ต้องแยกออก ฉีกออกให้มันขาด ให้มันชัดเจน

ที่หลวงพ่อพูดนี่เป็นการพูดเฉพาะ พูดให้รัดกุมเข้ามาอยู่ใกล้จุดที่ควรสนใจ ควรศึกษา ที่เขาเทศน์กันทั่วไปมันพูดมากไป กว้างไป จับจุดไม่ได้ว่าจะเอาอะไรกันแน่ จะให้ความสำคัญอยู่ที่ไหนกันแน่ ส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องโลกีย์ไม่ใช่โลกุตตระ เหมาะกับปุถุชนทั่วไป แต่ถ้าเอาภาษาโลกุตตระไปพูดให้คนทั่วไปฟัง มันก็ฟังไม่ได้ มันไม่สนใจ เพราะมันไม่เข้าใจ เขาสนใจแต่จะทำทาน สร้างบุญให้ได้มากๆ วุ่นวายแต่จะทำบุญเท่านั้น ไม่สนใจใส่ใจที่จะตั้งใจฟังธรรมะให้เข้าใจ

กระแสโลก กระแสสังคม มันตกต่ำไปอยู่ในระดับนี้แล้ว ตัวศาสนามันจะเหลือแต่การให้ทาน ส่วนศีล ภาวนา มันจะค่อยๆ เลือนไป ปุถุชนทั้งหลายก็ยังคงพอใจกับการอยู่กับโลก ไม่เห็นภัยในการเกิด อวิชชามันปกปิดไว้หมด มิดเลย ใครจะยอมเสียสละโลก เพื่อแสวงหามรรคผลนิพพานจริงๆ มันมีน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น