วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ธรรมะเป็นของที่มีอยู่แล้ว

ธรรมะเป็นของที่มีอยู่แล้ว  
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๐๔.๓๐ น.
----------------------------------------------------------------------------------------
           ต่อไปนี้ก็จะเป็นการนั่งกรรมฐาน ฟังธรรม สำหรับผู้ใฝ่ในธรรม ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงคำว่าธรรมะสำหรับในที่นี้ ธรรมะเป็นของที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ของที่หามาเพิ่ม ไม่ใช่ของใหม่ ของแปลก ไม่ใช่ของไม่มี เป็นของที่มีอยู่แล้วกับทุกคนทุกคน สนใจไม่สนใจก็ช่าง ธรรมะก็มีอยู่ ธรรมะคือสัจธรรม คือของจริง ของจริงคือตัวกับใจ คือรูปกับนาม ชาวเราหรือชาวโลกบางส่วนต้องการศึกษา ศึกษาก็คือปฏิบัติ ปฏิบัติก็คือศึกษา พวกเราเป็นเหมือนนักศึกษา นักศึกษา ที่กำลังศึกษา จะจบได้ก็ต้องศึกษา เพียงแต่การศึกษาธรรมะนี้เป็นการศึกษาให้รู้จักตัวเอง ตัวเองที่กระแสสังคมไม่ค่อยให้เกียรติไม่ค่อยนิยมศึกษาเท่าไหร่ ก็เลยไม่ค่อยจะเรียนรู้ จึงไม่รู้ธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เห็นธรรมะ ไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุธรรม ก็จะเห็นได้ยังไง เมื่อไม่ศึกษา ไม่ใส่ใจ ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เห็น จะรู้ได้ยังไง มีแต่สนใจดูโลกภายนอก ศึกษาเรื่องภายนอก แล้วมันรู้ไหม ก็รู้ รู้แต่เรื่องภายนอก โดยธรรมชาติอยู่แล้วหรือโดยหน้าที่ เมื่อศึกษาสิ่งไหน สนใจสิ่งไหน ก็ย่อมรู้สิ่งนั้น เป็นสิ่งนั้น สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น

อย่าไปเข้าใจว่าธรรมะเป็นของยากของลึกซึ้งอะไร มันไม่ได้ยากไม่ได้ลึกซึ้งอะไร เป็นของที่โชว์ให้เห็นอยู่แล้ว แต่คนทั้งหลายไม่เข้าใจธรรมะ ธรรมะมีอยู่กับตัวแต่ไม่เข้าใจ แล้วที่ว่ามันยาก มันยากตรงไหน ก็ยากตรงไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรม มันเห็นแต่สิ่งอื่น เพราะเขาศึกษาสิ่งอื่น ก็เห็นสิ่งอื่น ศึกษาสิ่งไหนมันก็เห็นสิ่งนั้น ก็รู้สิ่งนั้น ก็เป็นสิ่งนั้น นี่ความจริงมันอยู่อย่างนี้ ชัดๆ เลย แต่ชาวบ้านชาวโลกก็ยังไม่ได้สนใจ ไม่ให้เกียรติที่จะศึกษา

            การศึกษาธรรมะคือการศึกษาเรื่องของตัวเอง ตัวเองที่มันลึกซึ้งไปกว่านั้น ตัวเองที่นั่งอยู่นี่ ที่เดินไปเดินมาอยู่นี่ ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ตัวเองตัวนี้แหละ ที่แท้จริงเป็นตัวปลอม มันเป็นซากศพ เป็นหุ่น เป็นตุ๊กตา เป็นเหมือนกับหุ่นยนต์ หุ่นกระบอก เป็นวัตถุของใช้อันหนึ่ง แต่ชนทั้งหลายรู้ไหม ไม่มีทางเลย นี่คือไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่มีดวงตาเห็นธรรม ถ้ารู้ตามความเป็นจริงก็คือรู้ธรรม ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็คือไม่รู้ธรรม นี่มันชัดอย่างนี้

            ที่รู้อยู่ตอนนี้คือรู้ปลอม รู้ปลอมยังไง ก็ถือเอารูปนี่เป็นตัวฉัน ตัวข้าพเจ้า จึงพูดว่าคนในโลกส่วนใหญ่มีความเห็นผิด โดยหน้าที่โดยธรรมชาติ มีความรู้ผิด มีทิฏฐิมานะ ทิฏฐิคือความเห็น มานะคือความถือ เห็นว่าเป็นตัวฉัน ตัวกู ที่ท่านเขียนไว้ก็ว่าคืออัตตา อัตตา มันไม่ได้เป็นอนัตตา อย่างที่เราสวดกันไปเมื่อกี้นี้คือ รูปังเป็นอนัตตา แต่เราก็ยังเห็นรูปังเป็นอัตตา จึงบอกว่าเรายังไม่เห็นธรรม ยังไม่บรรลุธรรม เรายังไม่เห็นจริงตามธรรมแม้แต่น้อย ถ้าไม่เห็นจริง ทึบอย่างนี้ เรียกอะไร เรียกว่าปุถุชน ปุถุชนคนหนา คนทั้งโลกเป็นปุถุชนไหม ไม่ใช่อริยชน ถ้าเป็นอริยะก็เป็นผู้เห็นแล้ว ไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าเป็นปุถุชน หนาจุดนี้หนาเรื่องนี้เอง ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ไม่ได้ดวงตาเห็นเรื่องนี้ เรื่องรูปเรื่องกายของตัวเอง

            จึงต้องทำความเข้าใจเบื้องต้น พื้นฐาน รากหญ้า รากหญ้าคืออะไร โอ๊ย…คือเรื่องมันอยู่ในใต้ดิน ยังไม่โผล่พ้นดินสักหน่อยเลย ฉะนั้นจึงเรียกว่ารากหญ้า รากหญ้า เป็นคำศัพท์ที่สังคมเขาใช้กันกับเรื่องอื่น แต่หลวงพ่อจะเอามาใช้กับเรื่องนี้ รากหญ้า รากของหญ้า รากมันอยู่ที่ไหน โอ๊ย…ใต้ดินโน่น จึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ ทั้งผู้พูดเองและผู้ฟังก็จะได้ฟังด้วย ว่าการปฏิบัติธรรม สนใจธรรม ใฝ่ในธรรมก็คือ การมาศึกษาของจริง ของจริงเรื่องอนัตตา รูปังอนัตตา เวทนาอนัตตา สัญญาอนัตตา สังขารก็อนัตตา วิญญาณก็อนัตตา ไหนละตัวเรา ไม่มี แต่เราจะกลั้นใจให้ใจขาดตาย มันก็ตายทิ้งเปล่าๆ ไม่สามารถจะเข้าใจคำนี้ได้ นี่มันลึกอย่างนี้มันซึ้งอย่างนี้

             เราจะต้องแตกฉาน แต่มันจะรู้ได้ไหม รู้ได้ ถามว่าแล้วเมื่อไรจะรู้ได้ เมื่อไรก็เมื่อนั้นล่ะ เมื่อรู้ได้นั้นล่ะ เมื่อไรยังรู้ไม่ได้ก็คือรู้ไม่ได้ มันเป็นของจริง จะเดาเอาด้นเอาก็ไม่ได้ เมื่อไรรู้ก็เมื่อนั้นล่ะ นานเท่าไร เวลาไหนจึงรู้ บอกไม่ถูก อย่าว่าแต่ไปถามคนอื่นเลย ตัวเราเองก็ยังตอบไม่ได้เลย ตอบได้ใกล้เคียงที่สุด ก็คือ รู้ได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นล่ะ

            รูปนี้ร่างกายนี้ สมัยก่อนคนโบราณเขาเปรียบเทียบไว้ว่ารูปนี่เหมือนกับท่อนไม้ ท่อนฟืน หาประโยชน์ไม่ได้ เป็นของกินแห่งปลวก แต่หลวงพ่อถนัดที่จะพูดบ่อยๆ ย้ำๆ ว่า มันเป็นเหมือนกับซากศพ หุ่นยนต์ หุ่นกระบอก เป็นเหมือนวัตถุของใช้ ขยายความออกไปก็คือมันเป็นหุ่นที่มีผู้อยู่เบื้องหลัง ชักใยด้วยเชือกให้เคลื่อนไหวเหมือนหุ่นกระบอก ให้ลืมตา ให้อ้าปาก ให้ก้าวขาไป เดินไป นั่งก็ได้ ยืนก็ได้ เอามาเปรียบเทียบกับร่างกายนี้ นั่นล่ะเหมือนหุ่นกระบอก

           แต่จะบอกว่าเหมือนยังไง เราก็ยังไม่รู้ เรายังมืด เรายังมิด ยังปิดยังบัง ยังรู้ไม่ได้ ยังเห็นไม่ได้ สัมผัสความเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ดูยังไงมันก็ยังเป็นฉัน เป็นกู คือเป็นอัตตา รู้ไม่ได้อย่างนี้ มันเป็นสัญชาตญาณ เป็นวิสัยของโลกียชน ไม่ใช่โลกุตรชน โลกุตรธรรม ธรรมที่อยู่เหนือโลก เหมือนพระเป็นเจ้าทั้งหลายและสาวกในอดีต เช่น ปัญจวัคคีย์ ยสะกุลบุตร และชฎิลสามพี่น้อง เป็นต้น ที่ได้ดวงตาเห็นธรรม เห็นตามความเป็นจริง เมื่อเห็นปลอม เป็นความโง่ ความเขลา ความเข้าใจผิด เป็นอวิชชา ไม่มีความรู้จริงสักหน่อยเลย มืดบอด ปิดอยู่ บังอยู่ จึงบอกว่าปุถุชน ปุถุชน

             ฉะนั้น จึงไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่ม ถ้าหามาเพิ่มมันก็ยิ่งห่างไปไกล เพราะของจริงมันโชว์อยู่ เปิดเผยอยู่ แต่ก็ไม่ยอมรับ จึงกลายเป็นความทะยานอยาก แทนที่จะดูลงที่ของจริง ดูตรงๆ ไม่ดู เป็นความโลภอีกชนิดหนึ่งที่อยากจะปฏิบัติธรรม มันก็เลยกระโดดข้ามไป ข้ามธรรมไป ธรรมอยู่ตรงนี้ คุณข้ามไปทำไม ธรรมะอยู่ตรงนี้ต่อหน้าคุณนี่ จะข้ามไปทำไม ข้ามไปดูอะไร คุณอย่าข้ามซิ ดูลงไปเลย พอตั้งใจจะปฏิบัติธรรมก็เตรียมข้ามไปแล้ว ตั้งใจจะเดินจงกรม ตั้งใจจะนั่งสมาธิ นั่งกรรมฐาน นี่ก็ข้ามไปแล้ว มันไม่ตรงกับของจริง ของปัจจุบัน คือของจริงมันเห็นง่าย มันเด่นจนไม่ยอมรับ มันโดดเด่น มันโชว์ มันฉายอยู่ ท้าทายมาก โอ้ จนคนไม่ยอมรับ คิดว่ามันคงไม่ใช่หรอก จึงมองข้ามไป

            ของจริงที่โชว์อยู่มันคืออะไร คือรูปกับนาม ยังไม่ตายมันก็มีอยู่ กายกับใจ พอตื่นขึ้นมันก็มีอยู่ โชว์อยู่ ฉายอยู่ ท้าทายให้ดูอยู่ ของจริงของง่ายอย่างนี้เราไม่ยอมรับ เราข้ามไปแล้ว มันง่ายเกินไปก็เลยไม่ดู กลับจะไปนั่งให้มันสงบ ยังกับว่าจะต้องไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทวดา ไปเห็นพระธาตุ เห็นผี เห็นใจคนอื่น โอ้...โอ้...ไปกันใหญ่แล้ว มันไม่ใช่เรื่อง มันไกลตัวแล้วนั่นน่ะ ของจริงโชว์อยู่ไม่ดู ไปหาอะไรมาเพิ่มอีก อยากสงบยังไง สงบอะไร ตัวอย่างบุคคลในอดีตก็มีให้ดูเป็นตัวอย่าง ยังไปให้เกียรติความสงบแบบนั้น เป็นได้ แต่มันไม่ใช่ทางของพระพุทธองค์ ไม่ใช่ทางแห่งสัจธรรมแท้จริงที่จะทำลายตัวตน ตัวอัตตา ยิ่งสร้างอัตตาในรูปแบบใหม่ สร้างตัวตนผลิตตัวตนรูปแบบใหม่ขึ้นมา ในรูปของแบบของคำว่าสมาธิ
            
             ก็อ่านตำราดูซิ สมาธินี่มันมีสองอย่างคือสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ ดังนั้น สมาธิจึงยังมีโอกาสเป็นมิจฉาสมาธิอยู่ด้วย คำว่ามิจฉาสมาธิไม่ใช่ว่าไม่เป็นสมาธิ เป็น เป็นสมาธิแน่นอน ถามว่าดีไหม ดี สงบไหม สงบ เยือกเย็นไหม เยือกเย็น เป็นสุขไหม โอ้..เป็นสุข สบายไหม สบาย สบายถึงขนาดนั้นยังบอกได้เลยว่าเป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธิร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่มันปิดอย่างนี้ มันบังอย่างนี้ แล้วมีบุคคลตัวอย่างด้วย มีที่มา ไม่ใช่พูดเอาเอง พูดลอยๆ ตัวอย่างก็คือนักบวชในยุคก่อนพระพุทธเจ้า มีฤๅษีชีไพรนักบวชทั้งหลาย ซึ่งพระพุทธเจ้าไปเรียนรู้ไปเป็นสาวกมาแล้ว โอ…นักบวชเหล่านั้นเข้าฌาน มีฌานสมาบัติ มีสมาธิแนบแน่น อยู่เป็นสุข สบาย แต่ไหนละ ไม่เข้าทาง ไม่เห็นได้กระแสพระนิพพาน ไม่ได้โสดาบัน โสดาบันไม่ได้ นั่นก็คือยังยึดถือเป็นตัวอัตตาอยู่ รูปก็ยังเป็นอัตตา

             จะเข้าทางได้คือทำลายอัตตา ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ซึ่งเบื้องต้นจริงๆ ก็คือ ร่างกายนี้ เห็นเป็นหุ่นได้ไหม เป็นตุ๊กตาได้ไหม เป็นซากศพได้ไหม ถ้าเป็นไม่ได้เมื่อไร ก็ยังเป็นอัตตาอยู่เหมือนเดิม เอาไปเถอะ ต่อให้นั่งได้ 3 วัน 3 คืน อย่างสงบเยือกเย็น สบาย นั่นก็คือมิจฉาสมาธิ นั้นคือยังเปิดประตูไม่ได้ ยังปิดประตูอยู่ ไปสร้างรูปแบบสร้างอัตตาตัวตนขึ้นมาอีกในรูปแบบของสมาธิ อัตตามันเต็มอยู่แล้ว เต็มคอหอยอยู่แล้ว มันจะล้นปากอยู่แล้ว ยังจะเอาอะไรมากรอกให้มันล้นเหลือไปอีก แม้จะเป็นในรูปแบบของความสุข ความสงบ ก็ตาม นี่จึงเรียกว่ามิจฉาสมาธิ

             มันต้องพูดให้มันเข้มข้นให้มันหนักๆ มันจึงจะสะดุด จึงจะทะลุทะลวงทิฏฐิอันเก่าที่คนนิยมกันมากในปัจจุบัน ไปที่ไหนก็ให้เกียรติ ก็ชวนกันแต่นั่งสมาธิ โดยไม่รู้เรื่องอะไร แถมยังจะนั่งเอาบุญ เอาสวรรค์ เอาพรหมโลก ไปโน่น มันไกลแค่ไหนคิดดู ของจริงมีอยู่ ข้ามไป ไม่ดู กลับไปหาอะไรมาเพิ่มอีก

             พวกเราเกิดเป็นมนุษย์นี้โชคดีแล้ว เป็นสัตว์ที่เหนือกว่าสัตว์อื่น มีปัญญา มีความคิด มีความรู้สึกเหนือกว่า มีความสามารถเพียงพอที่จะทำตัวเองให้รู้จักตามความเป็นจริง ทำให้ไม่มีตัวเอง ให้พ้นจากการเป็นทาส ไม่เป็นขี้ข้าของธรรมชาติอีกต่อไป ทำไมจะต้องมีตัวตน ทำไมจะต้องเกิดมาเป็นทาสรับใช้อยู่นี่ ไม่เบื่อบ้างเหรอ ไม่เข็ดบ้างเหรอ “ทำไมต้องการเป็นทาส ทำไมไม่ต้องการเป็นธรรม” ทาสคือคนใช้ คอยรับใช้เขา ยกระดับความรู้ ยกระดับสติปัญญาบ้างซิ คิดบ้างซิ ทำไมต้องคอยเป็นทาสของคนอื่น คนอื่นคือใคร คือธรรมชาติ ทำไมจะต้องโง่นักหนัก ไม่มีความคิดบ้างเหรอ ดีเหรอเป็นทาสรับใช้คนอื่น เขาบอกอะไร เขาชี้อะไรก็ต้องวิ่งตาม

              นี่ต้องพูดให้มันตรงอย่างนี้ ใส่หมัดหนักๆ อย่างนี้ ไม่ได้ว่าใคร พูดให้ตัวเองฟัง มันจะโง่ไปถึงไหน มือเขาชี้ก็ต้องวิ่ง ตีนเขาชี้ก็ต้องวิ่งตาม ทำไมโง่นักหนา ไม่ต้องการเป็นธรรม ทำไมต้องการเป็นทาส เราต้องมีระดับมีชั้นเชิงที่มันพอๆ กัน จึงจะเอาชนะได้ ถ้าอ่อนแอกว่ามัน มันก็น๊อคได้ แล้วเป็นทาสรับใช้ยังไง ก็เพราะมีตัวกูของกู มีตัวอัตตานี่แหละจึงเป็นทาส

              ถ้าอยากเป็นธรรมก็หายตัวไปเลยซิ ใครจะถูกใช้ ก็ไม่มีตัวยืนอยู่ เดินอยู่ ไม่มีตัวนั่งอยู่ นอนอยู่ ที่จะเป็นทาสรับใช้ใคร ไม่มีการเกิดมาเป็นทาส ไม่มีชาติ ภาษาก็บอกว่าชาติคือการเกิด เป็นตัวตนบุคคลเราเขา เกิดมาเป็นทาสรับใช้อะไร รับใช้ที่ใกล้ที่สุดก็รับใช้ตัวเองนี่ อยากกินอาหารไหม อยากนอนไหม นั่นละนั่นละ มันอยากอะไรก็หาให้มัน มันร้อนเป็นไหม ร้อนเป็น อาบน้ำให้ มันหนาวเป็นไหม หนาวเป็น ก็หาผ้าห่มให้ ยุงกัดเป็นไหม เป็น ต้องกางมุ้ง เห็นไหม ทาสรับใช้ทั้งนั้น ทาสรับใช้แบบภายใน แบบถี่ยิบ แบบละเอียด แบบอยู่กับตัวเองเลย ยังไม่ต้องมองไปภายนอก ตื่นขึ้นก็ล้างหน้าแปรงฟัน กินอาหารเสร็จก็แปรงฟัน รับใช้ไหม หรือนั่งอยู่มันปวด มันให้ปวดก็ต้องปวด ไม่ให้ปวดได้ไหม ไม่ได้ มันจะปวดก็ต้องปวด นั่นคือหน้าที่ มันใช้ให้ปวดท้องก็ต้องปวด ปวดหัวก็ต้องปวด มันใช้ให้แก่ก็ต้องแก่ ผมดำๆ มันใช้ให้ขาวก็ขาว มีเรี่ยวมีแรงดี ต่อไปก็ทรุดโทรมลงไป เป็นทาสรับใช้ทั้งนั้น โรคต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นกับร่างกาย นั่นคือทาสรับใช้ มันใช้ให้เป็นโรคอะไรก็ต้องเป็น

             นี่คือทาสรับใช้ตามรูปแบบของภาษาธรรม แบบถี่ยิบ แบบใกล้ตัว ไม่ต้องอธิบายไปมากกว่านั้น เบียดเข้ามาอีก ชิดเข้ามาอีก แบบใกล้ตัวที่สุด คือมันใช้ให้ตายก็ต้องตาย ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ก็ต้องเป็นทาสรับใช้มัน มันใช้ให้รัก ใช้ให้ชัง ให้โกรธ ให้เกลียด อย่างนี้เรียกว่าทาสรับใช้มัน แล้วไม่เบื่อบ้างเหรอ ทำไมต้องทำตัวเป็นทาสรับใช้มัน

             ถ้ามีความคิดก็คิดบ้างซิ ทำไมต้องตกเป็นทาสรับใช้มัน ให้มองกันแบบนี้ “ถ้าคิดได้ในรูปแบบอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ระดับรากหญ้าแล้ว” ที่พูดอยู่นี้มันไม่ใช่ระดับรากหญ้าแล้ว มันเบียดเข้าถึงแก่นแล้ว

             ถึงปวดแข้งปวดขา ร้องโอยๆ ยังไง ก็ต้องตกเป็นทาสรับใช้มัน ที่บอกว่าเป็นทาสมันก็เพราะว่าเราไม่ได้เจตนา ไม่ได้บงการเอง ว่าให้มันปวด จะสั่งว่า เฮ้ย กูอย่าเจ็บนะ ไม่ได้ มันใช้ให้เจ็บก็ต้องเจ็บ หรืออย่างปวดขา ถึงหนูจะบอกว่าหนูไม่ทนนะ หนูทนได้นิดหน่อย การที่มันไม่ให้ทน นั่นแหละเป็นทาสรับใช้มัน เห็นไหม แถมยังทำตามด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ไม่รู้ตัวเลย ว่าเป็นทาสรับใช้เขา

            เพราะฉะนั้น “เราใฝ่ในธรรมก็เพื่อจะเป็นธรรมเสียเอง ไม่เป็นทาสใคร” ไม่ต้องรับใช้ใคร พระพุทธเจ้าของเรานั้นเป็นคนแรกที่ใฝ่จะไม่เป็นทาสใคร เลิกเป็นทาส พอกันที สิ้นสุดกันที ตลอดจนสาวกทั้งหลายของพระองค์ มีปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ยสะกุลบุตร ชฎิลสามพี่น้องพร้อมลูกศิษย์เป็นพัน นั่นแหละบุคคลตัวอย่าง พระโมคคัลลา พระสารีบุตร นั่นแหละบุคคลตัวอย่าง บุคคลเหล่านั้นไม่มีตัวที่จะเป็นทาสรับใช้ใคร

            จนมาถึงยุคเราก็มีประวัติอยู่ ครูบาอาจารย์มากมาย ประวัติหลวงพ่อนั่นหลวงพ่อนี่ ที่กล่าวกันว่าคงจะเป็นพระอริยะ ไปแล้วจากข้าศึก คือกิเลส ไม่ต้องรับใช้เขา เราจึงศรัทธาเอาอย่าง ตามอย่างท่านบุคคลในอดีต จึงได้ออกบวช จึงได้คิดจะปฏิบัติธรรมตามอย่าง เอาอย่างก็ได้ตามอย่างก็ได้

            เราก็มีขันธ์ห้าเหมือนกัน คนในยุคก่อนก็มีขันธ์ห้าเหมือนกัน รูปเหมือนกัน เวทนาเหมือนกัน สัญญา สังขาร วิญญาณเหมือนกัน กายกับใจเหมือนกัน รูปกับนามเหมือนกัน ไม่มีอะไรที่เป็นของใหม่ เป็นของเก่าเป็นของโบราณ มีทุกยุคทุกสมัย แต่ใช้ได้ ยังไม่ล้าสมัย ขันธ์ห้ายังไม่ล้าสมัย

            การศึกษาธรรมะจึงเน้นรูปแบบว่าให้หายตัว ไม่มีตัว ซึ่งไม่มีตัวนี่ก็เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา การมีอัตตาตัวตนเป็นทาสของธรรมชาตินี่ก็ธรรมชาติให้มา จึงได้เป็นทาสรับใช้ของธรรมชาติ แต่ทางออกธรรมชาติก็ให้ไว้ อ้าว! คุณเข็ดเหรอ ไม่อยากเป็นทาสรับใช้ฉันเหรอ อ้าวมี..มีทางออก ฉันให้ไว้ คุณสามารถก็เอาซิ ค้นซิ คิดซิ ปฏิบัติซิ ศึกษาซิ คุณจะเจอสักวันหนึ่ง เจอทางรอดพ้น เจอทางหลุดรอดหลุดพ้นเงื้อมมือของฉัน จากความเป็นทาสของฉัน ถ้าคุณสนใจจริง “สนใจจริงหรือเปล่า’’ เท่านั้นเอง คุณจริงหรือเปล่า ถ้าคุณจริงกับฉัน ฉันก็จริงกับคุณ ฉันจะให้คุณหลุดจากเงื้อมมือของฉันก็ได้ คุณจริงหรือเปล่า ถ้าธรรมชาติพูดได้ มันก็จะท้า ท้าทายแบบนี้ จริงแค่ไหน จริงหรือเปล่า จริงที่จะเบื่อ ฉันใช้คุณมานานแล้ว ไม่รู้จักเบื่อบ้างเหรอ คุณจะปึกไปแค่ไหน คุณจะหนาไปแค่ไหน ฉันใช้คุณหัวขวิดหัวคว่ำอยู่ทุกวันขนาดนี้ คุณยังไม่เบื่อฉันอีกเหรอ คุณจะปึกจะหนาจะหยาบไปถึงขนาดไหน ฉันใช้คุณหัวขวิดหัวคว่ำหัวทิ่มอยู่ ยังไม่รู้สึกเลย ยังไม่เบื่อฉัน ก็มันโง่ชัดๆ นะคุณนี่ โอ..จะโง่ไปถึงขนาดไหน นี่ถ้าธรรมชาติพูดได้มันจะเหน็บให้แรงให้หนักอย่างนี้

              ถ้าใครพอรู้ธรรมก็จะเห็นร่องรอย ร่องรอยของความเป็นทาส ก็จะใฝ่ในธรรม หาทางรอดจากความเป็นทาส คือนักบวชที่เอาจริง ไม่ใช่บวช 5 วัน 7 วัน หรือเดือนหนึ่ง นั่นมัน “บวชแบบชาวบ้าน” ไม่ใช่ “บวชแบบชาวพุทธ” ปากก็บอกเป็นชาวพุทธ ในบัญชี บัตรประชาชนก็ดี ทะเบียนบ้านก็ดี ก็ระบุว่านับถือพุทธศาสนา แต่พอจะบวชละก็บวชแบบชาวบ้าน โอ๊ย! มันจะหลง หลงไปไหนกัน ไม่ได้บวชแบบชาวพุทธสักหน่อย เฮโลกัน กินกัน เลี้ยงกัน กินกันใหญ่โต เสร็จแล้ว 5 วัน 10 วัน ก็สึกแล้ว 15 วัน หรืออย่างมากก็พรรษาหนึ่ง นั่นคือบวชแบบชาวบ้าน ไม่ได้เอาจริง ไม่แน่จริง ไม่ได้เสียสละตั้งใจอยากจะรอดจากเงื้อมมือของธรรมชาติอย่างแท้จริง ก็วกกลับไปเป็นทาสของธรรมชาติต่อไป คือสึกไป ลาสิกขาไป เพราะมันสนุกดี เป็นทาสรับใช้เขา ยังไม่เห็นโทษ จะโง่หรือฉลาด อ้าว..ลองดูซิ โง่หรือฉลาด เป็นทาสรับใช้เขา รู้จริงหรือรู้ผิด เป็นบัณฑิตหรือเป็นคนธรรมดา ลองคิดดู

              ภาษาธรรมะจะออกมาแบบนี้ พูดกันแบบนี้ มันถึงจะตรง เบียดเข้าไปเลย ถ้าเป็นนักมวยก็ปล่อยหมัดเข้าไปเลย ไม่ต้องไปเต้นฟุตเวิร์คให้มันเสียแรงเมื่อยขาเสียเปล่าๆ สาวหมัดเข้าไปเลย ไม่กูก็มึง ไม่มึงก็กู ใครจะร่วงก่อนกัน

              อย่างที่สวดไปเมื่อกี้ว่ามันเป็นอนัตตา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวฉัน ไม่มีของกู แต่ข้อผิดข้อไม่ถูกต้องก็คือ เราเป็นอย่างนั้นยังไม่ได้ สัมผัสอย่างนั้นยังไม่ได้ นี่คือข้อที่เสีย ข้อที่บกพร่อง นี่คือประเด็น เราจึงศึกษาเพื่อจะรู้ตามความเป็นจริง

             อธิบายขยายความเพิ่มเติมอีก บางทีก็บอกว่า ปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ นี่คือกระแส นี่คือสังคมนิยมที่จะพูดอย่างนี้ นิยมพูดว่าปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ อยากพ้นทุกข์ เอาอะไรไปพ้น? ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มันก็เห็นแก่ตัว สงวนไว้ซึ่งตัว ตัวฉัน ตัวกู อีกแล้ว คิดว่าตัวเป็นความทุกข์ทนทรมาน แล้วก็อยากจะให้ตัวพ้นทุกข์สักที นี่มันแอบมันแฝงไปด้วยการเสี่ยงต่อความเข้าใจผิดในภาษา ในคำศัพท์นั้น จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ก็เพราะตัวนี่มันทุกข์นักหนา จึงอยากจะให้ตัวพ้นทุกข์ อยากจะไล่ฆ่าความทุกข์ให้มันหนีไปหมด แล้วฉันจะอยู่อย่างเป็นสุข พวกนี้ยิ่งไปกันใหญ่เลย

             ทุกข์คืออะไร แปลออกมาอีกด้วยว่า ทุกข์คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ถ้าแปลตามตัวอย่างนี้ นี่เสร็จเลย เสร็จยังไง ยิ่งจะทำความเข้าใจให้มันเขวให้มันผิด เอ้า! ถ้าทุกข์คือไม่สบายกาย ทำยังไงจะให้กายสบายละซิทีนี้ นั่งก็ไม่อยากให้มันปวดแล้ว ร้อนก็อย่ามี หนาวก็อย่ามี หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ เจ็บหัวเข่าก็ทุกข์ เจ็บสะโพกก็ทุกข์ เพระว่าทุกข์คือความไม่สบายกาย ปวดท้องก็ทุกข์ ปวดหัวก็ทุกข์ ปวดฟันก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นจะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์เหล่านี้ เสร็จเลย..จะบ้าตายแล้ว..จะประสาทตายแล้ว เห็นไหมมันชวนให้เขว ชวนให้เข้าใจผิดอยู่มากมาย จะไม่ให้ร้อน ไม่ให้หนาว มันก็เหมือนกับจะไม่ให้เผ็ด ไม่ให้เค็ม เอาซิ กินน้ำตาลไม่รู้หวาน เอาไหม กินเกลือไม่รู้เค็ม เอาไหม อร่อยไม่อร่อยไม่รู้เลย ของขมก็ไม่รู้ ของหวานก็ไม่รู้ ของเปรี้ยว ของเค็ม ของมัน ก็ไม่รู้เลย มันจะบ้าหรือดี คิดดู จะบ้าหรือดี

            อันนั้นมันเป็นสัจธรรมประจำหน้าที่ของโลก ของธรรมชาติ ธรรมชาติมีมาอย่างนี้ ให้มาอย่างนี้ ของชนิดนี้มีรสอย่างนี้ วัตถุชนิดนี้มีรสอย่างนี้ เช่นกัน ขานี่มันมีหน้าที่ปวดก็ได้ ไม่ปวดก็ได้ เอวนี่จะปวดก็ได้ ไม่ปวดก็ได้ ถ้าทุกข์คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ โอ โอ มันชวนให้เข้าใจผิดอยู่มากมาย มันชวนให้คนเข้าใจผิดอยู่มากมาย

             แต่ท่านก็พูดถูกหรอก พูดถูก แต่คนฟังซิจะเข้าใจผิด เพราะไม่แตกฉาน ไม่รอบรู้ ไม่คิดลึกมากไปกว่านั้น มันจะติดอยู่นั่น จะเอาให้มันสบาย พอนั่งทีไรก็จะเอาให้สบาย จะให้เป็นสุข ให้เป็นสมาธิแน่วแน่ โอ้ สบาย นั่งทั้งคืนก็ยังได้ เสร็จเลย มันก็เหมือนเกลือไม่ให้เค็ม น้ำตาลไม่ให้หวาน บอระเพ็ดไม่ให้มันขม โอ๊ย จะบ้าตายแล้ว คือของเหล่านี้มันเป็นธรรมชาติ เป็นของโลก มันมีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ มันเป็นหน้าที่ของเขา มันไม่ใช่ทุกข์ ฉันไม่ได้ไปทำให้คุณทุกข์ คุณอยู่ไหนฉันไม่รู้ ถ้ามีคุณ คุณก็ทุกข์ ฉันทำหน้าที่ของฉัน ฉันไม่ได้ไปทำร้ายใคร ไม่เป็นศัตรูใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำโทษให้กับใคร ฉันร้อนก็เป็นหน้าที่ของฉัน ถ้าคุณไม่มี คุณก็ไม่ร้อน คุณไม่อยากร้อนเหรอ คุณไม่อยากร้อนคุณก็หายตัวไปซิ ฉันให้ช่องไว้แล้ว คุณไม่อยากหนาว คุณก็หายตัวไป คุณไม่อยากปวดหัว คุณก็หายตัวไป คุณไม่อยากปวดท้อง คุณก็หายตัวไป แต่คุณเอาตัวมารองรับนี่ มันก็ถูกคุณทุกที หน้าที่รองรับ หน้าที่เหล่านั้นมันแสดงอยู่โดยธรรมชาติ

            เหมือนกับดวงอาทิตย์ เขาก็หมุนอยู่ของเขา โลกนี้เขาก็หมุนอยู่ของเขา ดวงอาทิตย์มันแผดเผามากเท่าไรก็ตาม ถ้าตัวคุณไม่มี คุณจะไม่รู้เลยว่าร้อน ฉันก็ทำหน้าที่ของฉัน เพราะคุณต่างหากเล่ามาบ่นว่าร้อน ฉันไม่ได้ทำหัวใครให้ร้อน คุณบ้าเอง คุณนั่นเอง คุณนั่นแหละ ตัวการที่บอกว่าร้อน ฉันไม่ได้บอกว่าฉันร้อนเลย ฉันลุกโชติช่วงอยู่ทั้งปีทั้งชาติ ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน่นแนะ แต่ฉันเองไม่รู้สึกว่าฉันร้อนเลย คุณนั่นแหละร้อน อย่างนี้มีใครคิดบ้างไหม ใครคิดบ้าง ไม่อยากให้ร้อนก็หายตัวไปซิ เหมือนตั้งแต่ยังไม่เกิด เหมือนตั้งแต่ยังไม่อยู่ในท้องแม่โน่น ถ้าเราไม่มีแล้วใครจะร้อน นี่คือการเปรียบเทียบ ก็คุณมีมา คุณก็ร้อน คุณก็ปวดฟัน คุณก็ปวดหัวเข่า คุณมีมา คุณก็หิว คุณมีมา คุณก็กระหาย คุณมีมา คุณก็ต้องตาย ถ้าอยากจะพ้นทุกข์ก็พ้นโดยไม่มีคุณ พ้นโดยไม่มีผู้พ้น ดวงอาทิตย์ก็หมุนอยู่อย่างนี้ โลกก็หมุนอยู่อย่างนี้ ต้นไม้ ภูเขา ก็อยู่อย่างนี้ โดยธรรมชาติ โดยหน้าที่ของเขา ถ้ามีคุณ ฝนตกคุณก็เปียก ยุงกัดคุณก็เจ็บ เพราะมีคุณ

              การศึกษาธรรมะ ต้องให้มันเบียดเข้าไปอย่างนี้ อย่าอยู่ห่าง ถ้าอยู่ห่างมันจับจุดไม่ได้สักที ถ้าจับจุดได้แล้ว แน่นอนเลย มันจะทะลุ มันจะเดินไปเลย มันจะพั๊วะ ๆ ๆ ไปเลย มันจะรู้แจ้งเห็นจริงเร็วๆ นี้แหละ ชาตินี้แหละ ถ้าทำให้ถูกจุด ถ้ามันตรง ถ้าอยู่ภายนอก อยู่ระดับรากหญ้า เอาไปเถอะ ทำไปเถอะ ไม่ได้รับผลหรอก ต้นไม้มีแต่รากงอกแล้วไม่โผล่พ้นขึ้นมาบนดิน ไม่ได้รับผลหรอก มันต้องโผล่ขึ้นมาในระดับเป็นดอกเป็นผล แล้ววันเวลามันจะช่วยให้สุกเอง จะได้รับรสของมัน อันนี้เปรี้ยว อันนี้หวาน

              ระดับการปฏิบัติ ระดับการใฝ่ในธรรมก็เหมือนกัน ไปอยู่ไกลโน่น ทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้ ไปรดน้ำมนต์เก้าวัด ไปทำบุญเก้าวัด โอ๊ย อะไรกัน จะบ้าตายแล้ว ยังอยู่ในระดับรากหญ้า ไปไหว้พระเก้าวัด นิมนต์พระมาก็เก้ารูป ไม่รู้เก้าอะไรของแก เลขเก้ามันอยู่ของมัน มันไม่รู้อะไร ไปดึงมันมาเป็นแนวร่วม ดึงมาเข้าพรรคของตัวเอง ฉันไม่รู้กับคุณ ฉันไม่ได้ให้คุณก้าวหรือถอย มันเรื่องของคุณ ทำไมต้องดึงฉันไปเป็นแนวร่วม เห็นไหม ไปดึงแนวร่วมมา แม้แต่เลข ตัวเลขอยู่ในกระดาษ ในหนังสือ ยังไปดึงมาเป็นแนวร่วม นั่นมันของชาวบ้าน ไม่ใช่ของชาวพุทธหรอก มันต้องแรงอย่างนี้ มันต้องพูดตรงอย่างนี้ ถึงจะเข้าใจ

             บางพวกก็เอาพระมาแขวนคอ หลวงพ่อนั่นหลวงพ่อนี่ พอแจกแล้วก็แย่งกัน จะเหยียบกันตาย โน่น อยู่ไหน รากหญ้า ใต้ดิน

             นี่คำว่ารากหญ้ามันอยู่ในระดับนี้ แล้วสังคมเป็นยังไง กระแสเป็นยังไง ถ้าโหวตยกมือก็แพ้เขา ไม่ชนะหรอก ถ้าจะเอาฐานเสียงส่วนมากเป็นประมาณ การเอาเสียงส่วนมากเป็นประมาณนั่นคือพฤติกรรมของโลกียวิสัย ของชาวโลก ไม่ใช่ธรรม ธรรมคือของจริง ไม่ใช่เอาเสียงส่วนมากเสียงส่วนใหญ่เป็นประมาณ อันนั้นเป็นวิสัยของโลก เป็นวิสัยของโลกียธรรม พฤติกรรมของชาวบ้านชาวโลกทั้งหลายเขาทำกันอยู่อย่างนั้น นั่นคือชนะ นั่นคือดีกว่า นั่นคือเหนือกว่า ในทัศนวิสัยของชาวโลกเขานิยมกันอย่างนั้น เขาตกลงกันอย่างนั้น โอเคกันอย่างนั้น ถ้ามองในระดับโลกุตรธรรม ธรรมที่อยู่เหนือโลก จะมากจะน้อยไม่สน ไม่สำคัญ อยู่ที่ว่ามันถูกไหม มันเป็นธรรมไหม มันตรงไหม เป็นสัจจะความจริงไหม อันนี้เป็นธรรมะที่จะต้องยอมรับ ไม่ใช่ยอมรับในเสียงส่วนใหญ่

             เพราะฉะนั้นหน้าที่ของมัน มันก็ทำหน้าที่ของมัน ถ้าเราไม่เบื่อ ก็ตกเป็นทาสรับใช้มันต่อไป ขยายความมันก็ออกมาอย่างนี้ ไปทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ไปไหว้พระเก้าวัด สวดอิติปิโส สวดชินบัญชร ไม่รู้เลยแปลว่าอะไร คิดแต่จะขลังจะศักดิ์สิทธิ์ ชินบัญชรก็เป็นเรื่องที่เขาเขียนเกี่ยวกับพระอรหันต์องค์นั้นองค์นี้ แต่ถ้าถามว่าเขาทำถูกไหม ถูก แต่มันอยู่คนละระดับกัน คนละระดับ ธรรมะลึกซึ้งจริงๆ มันจึงไม่ใช่ระดับที่จะเข้าใจได้ง่าย คำศัพท์ที่พูดกัน ภาษาที่พูดกันทั่วไป มันชวนให้เขว ชวนให้เข้าใจผิด นี่ มันต้องเบียดเข้ามา ชิดเข้ามา นี่กายกับใจ นี่รูปกับนาม นี่ขันธ์ห้า จุดระเบิดจุดชนวนมันอยู่ที่นี่ จุดเข้าไป เอาไฟจุดเข้าไป จุดให้มันตรงจุด ไม่นานมันก็ระเบิด แป๊บเดียวมันก็ระเบิด

             ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติ เป็นโดยหน้าที่ของมัน นี่แหละที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านพูดว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง คือมันเป็นเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง มันไม่มีอะไรที่จะเหนือกว่า ที่จะต่ำกว่า ไม่มีอะไรที่จะสุขหรือจะทุกข์ อันนี้มันสุข อันนี้มันทุกข์ อันนี้มันดี อันนี้มันชั่ว ถ้าไปแบ่งสุขทุกข์อยู่นั่น ใจเราก็ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมเพราะว่ามันไม่เท่ากัน ถ้ามีสุขก็ย่อมมีทุกข์ ถ้ามีเกิดมันก็มีตาย มีสองอย่าง เค็มมันก็เป็นเช่นนั้นเอง เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง หวานก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง หวานกับเค็มจะให้เกียรติอะไร ในเมื่อมันเท่ากันโดยหน้าที่ โดยธรรมชาติ เพราะหวานมันก็ทำหน้าที่ของความเป็นหวาน เค็มก็ทำหน้าที่ของความเค็ม ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ด้อยกว่าใคร เหมือนกับความสบายและไม่สบาย ความปวดขาและไม่ปวดขา มันก็มีคุณภาพเท่ากัน มีคุณค่าเท่ากัน

             ถ้าเราบอกว่า ปวดขานี่เป็นทุกข์ นั่นนะหลงแล้ว บ้าแล้ว มิจฉาทิฏฐิแล้ว ขาไม่ปวดนี่ดีกว่า อะไรบอกว่าดีกว่าอยู่นั่น ขาปวดนี่ไม่ดีกว่า อะไร อะไรล่ะมาคอยบงการอยู่นั่น ไม่ใช่อัตตาเหรอ ปวดมันเป็นหน้าที่ ไม่ปวดมันก็เป็นหน้าที่ เป็นเช่นนั้นเอง เป็นของมันอย่างนั้น ปวดฟันมันเป็นหน้าที่ ไม่ปวดฟันมันเป็นหน้าที่ เหมือนกับหวานมันเป็นหน้าที่ เค็มมันเป็นหน้าที่ มันมีอำนาจเท่ากัน มีความแรงเท่ากัน มีคุณภาพเท่ากัน มีอิทธิพลเท่ากัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร แต่มันมีหน้าที่คนละอย่างเท่านั้นเอง ต้องเข้าใจระดับอย่างนี้นะธรรมะ มันถึงจะทะลุเร็ว จะจุดระเบิดได้เร็ว นั่นหละคือความแตกต่างจากระดับรากหญ้า

             ที่นี้ภาษาที่เขียนก็ชวนให้คิดว่าทุกข์คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ นั่นก็ฟังได้อยู่ แต่ให้ระดับอยู่ในระดับโลกียะ ระดับโลก ระดับมนุษย์ทั่วไป ระดับรากหญ้า อย่างว่า ทุกข์คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มันฟังได้อยู่ แต่มันเป็นภาษาคน ไม่ใช่ภาษาธรรม อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านว่าไว้ คนจะหาว่าท่านพูดข่มขู่ หรือพูดรุนแรง พูดเอาแต่ใจตัว ก็พอได้ แต่เป็นภาษาที่ท่านอุทานออกมาจากใจจริงของท่าน เอามาเขียนไว้ โอ้ มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง ผลงานของหลวงพ่อพุทธทาสน่าศึกษา คำศัพท์ที่ท่านใช้มันแปลกๆ จากคนอื่น มันจะสะดุด คือให้คิด

              เหมือนที่หลวงพ่อพูดนี่ พูดให้สะดุด พูดเพื่อให้คิด คิดคือเดินทาง คนชอบคิด คนมีหัวคิดนี่หัวมันหมุนไป คือเดินทาง เหมือนกับล้อรถมันหมุนไป คนชอบคิด ความคิดมันก็หมุนไป เหมือนกับดวงจันทร์มันหมุน ดวงอาทิตย์หมุน โลกหมุน มันต้องเคลื่อนไป ถ้าไม่ชอบคิดเหมือนมันไม่ได้ทำงาน หัวคิดนะคืองาน งานในด้านมันสมอง นั่นคือการเดินทาง เดินทางไปในรูปแบบหนึ่ง ชนิดหนึ่ง เหมือนกับขาเดินทาง หัวก็เดินทางเหมือนกัน เดินไปรู้ในจุดที่ยังไม่รู้ จะเดินไปถึงจุดที่ยังไม่ถึง ถึงแล้วจะเห็น เห็นว่านี่คืออะไร นั่นคืออะไร ถึงปลายทางแล้วก็จะรู้ มันจะเห็นด้วยการเดินด้วยมันสมอง เดินด้วยความคิด ความคิดก็คือผู้รู้นั่นเอง คือสังขาร วิญญาณทำหน้าที่ตามรู้ความคิดตามรู้ความเห็น นี่ต้องศึกษาธรรมะระดับนี้ จะเข้าใจได้เร็ว

             นี่ก็พูดห้วนๆ ให้มันกะทัดรัด เพราะมีเวลาไม่มาก คณะโยมมาเยี่ยมเพื่อน มาให้เกียรติ ให้กำลังใจกัน เพื่อนเคยร่วมงาน เคยศึกษาด้วยกัน ที่เสียสละมา ด้วยเห็นโทษในโลก ทิ้งโลกไปในระดับหนึ่ง จะมาเอาธรรมะ ศึกษาธรรมะ ใฝ่ในธรรม ให้มันมีระดับเหนือกว่า ระดับที่จะจุดระเบิด ระดับที่ใกล้ตัวเข้า เพื่อให้จุดชนวนได้ถูกจุด อาตมาก็ต้อนรับด้วยธรรมะ แสดงออกด้วยธรรมะ ในรูปแบบของธรรมะ พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น