วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

สติสัมปชัญญะ


สติสัมปชัญญะ  
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

สติสัมปชัญญะ สติคือระลึกได้ สัมปชัญญะคือรู้ตัว รู้ตัวคือรู้กาย รู้จริงตามเป็นจริง รู้ตัวขันธ์ห้าก็ได้ รู้ตัวรูปนามก็ได้ รู้ตัวกายใจก็ได้ โดยมากทั่วไปมันไม่เข้ามารู้ตัว มันรู้อยู่อารมณ์ภายนอก นี่คือจุดบกพร่อง จุดที่ไม่เห็นธรรม ไม่เป็นธรรม ไม่ทำความรู้ตัว ไม่มีสัมปชัญญะ ถ้ารัก..มันก็ไปรู้อยู่ที่อื่น ถ้าชัง..มันก็ไปรู้อยู่ที่อื่น รู้อยู่ภายนอก ไม่ใช่รู้ตัว ถ้าดีใจ..มันก็ไปรู้อยู่ภายนอก เสียใจ..ก็ไปรู้อยู่ภายนอก มันไม่มารู้ตัว มันเป็นการเพิ่มตัว ดีใจ..ก็เพิ่มตัว เสียใจ..ก็เพิ่มตัว ความโกรธ เกลียด รักชัง มันเป็นการเพิ่มตัวเข้ามาอีก มันเป็นตัวภายนอก ไม่ใช่ตัวภายใน ไม่ใช่ที่ต้องการให้รู้

ถ้าเราสังเกตดู เวลามันอยู่กับตัว จะรู้สึกสบาย สบายกว่าไปรู้อยู่ภายนอก ถ้าไม่ไปยุ่งกับเรื่องภายนอกมันก็สบาย โกรธขึ้นมามันไม่สบาย เกลียดก็ไม่สบาย รักก็ไม่สบาย ชังก็ไม่สบาย ดีใจ เสียใจ มันก็ไม่สบาย สิ่งที่ไม่สบายเหล่านี้ มันไม่ใช่สัมปชัญญะ มันไม่ใช่รู้ตัว มันรู้อยู่ภายนอก มันก็เลยลืมตัว หลงตัว ไม่ใช่รู้ตัว มันก็เลยไม่สบาย ชนชาวโลกทั้งหลายเขาก็อยู่ในลักษณะนั้น อยู่ในลักษณะอาศัยสิ่งอื่น อาศัยอารมณ์อื่น เป็นเครื่องอยู่ ไม่ใช่ “อัตตา หิ อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ส่วนกระแสสังคมที่นำคำว่า “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” ไปใช้ มันใช้กันในระดับที่ไม่ลึกซึ้ง มันใช้ในระดับภายนอก ระดับชาวบ้าน สอนกันว่า อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น ให้ขยันขันแข็ง พึ่งพาตัวเอง หวังให้เขาเอาของมาให้ เอาของมาแจก มันเป็นการหวังพึ่งคนอื่น โตแล้วรู้จักทำมาหากินเอง ไม่ใช่รอแต่จะพึ่งพาพ่อแม่ เหล่านี้คือที่ชาวบ้านเขาสอนกัน เป็นภาษาคนทั่วไป ภาษาระดับชาวบ้าน

ถ้าจะพูดให้มันลึกซึ้งละเอียดเข้ามาในภาษาธรรมะ ก็คือไปพึ่งอยู่กับกามคุณทั้งห้า พึ่งรูป พึ่งเสียง พึ่งกลิ่น รส สัมผัส พอโตขึ้นมาก็ไปพึ่งอยู่กับกามคุณทั้งห้า โตขึ้นมาก็มุ่งหาเพศตรงข้ามเป็นที่พึ่ง นี่เห็นได้ชัดเจนเลย นั่นคือไปพึ่งผู้อื่นอย่างชัดเจน ต้องมีคู่รัก ต้องมีแฟน ต้องมีสามีภรรยา พูดแบบชาวบ้านมันก็ยังเป็นการสอนให้พึ่งผู้อื่น มันก็ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า มันไม่ได้เป็น “อัตตา หิ อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่างที่ปากว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้นถูกต้องแล้ว แต่มันเป็นความหมายในระดับลึกซึ้ง ไม่ใช่ผิวเผินอย่างที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นโลก ไม่ได้เป็นธรรม ไม่ได้เป็นของจริง นี่คือคำว่า โลกกับธรรมมันขัดกัน ถ้ามองให้มันขัด ฝ่ายหนึ่งมองระดับภายใน อีกฝ่ายหนึ่งมองระดับภายนอก มันก็ไม่ตรงกัน คำศัพท์คำเดียวกัน แต่เอาไปใช้คนละระดับ

มีตามันก็อยากเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะมันชอบพึ่งผู้อื่น มีสามีภรรยา มีแฟน ก็เพื่อเอาไว้เป็นที่พึ่ง เหมือนกันกับมีข้าวเอาไว้กิน การมีสามีภรรยาก็เพื่อเอาไว้กิน เวลาอยากเวลาหิวก็เอามากิน มันพึ่งตนเองหรือพึ่งผู้อื่น คิดดู นี่คือบีบเข้ามา รัดกุมเข้ามา ไล่ต้อนเข้ามา ให้มันยอมรับ คุณเป็นตัวของตัวเองไหม ไหนล่ะที่พูดว่าพึ่งตัวเองได้ ไหนล่ะ “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” ทุกวันนี้ไม่ใช่คุณพึ่งคนอื่นอยู่หรือ

สติสัมปชัญญะ มันหมายถึงพึ่งตัวเอง อยู่กับตัวเอง พัวพันอยู่กับตัวเอง สัมปชัญญะคือรู้ตัว ถ้าไปรู้อยู่นอกตัว มันก็ไม่ได้มีข้อปฏิบัติ ไม่ได้เป็นนักปฏิบัติ พูดแต่ปากว่าปฏิบัติธรรม แต่จริงๆ ไม่ได้ปฏิบัติ บอกว่าไปปฏิบัติธรรม มันก็ไม่ได้ปฏิบัติจริง เพราะมันออกไปพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก อยู่กับกามคุณทั้งห้า อยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ภายนอก ไหนล่ะที่ว่าปฏิบัติธรรม มีแต่ปฏิบัติกามคุณทั้งห้า มันขัดกันแบบนี้ ถ้ามองให้มันอยู่ระดับที่ลึกซึ้ง มันก็ต้องเห็นแบบนี้ ระดับแตกหัก ระดับหัวเลี้ยวหัวต่อ ระดับจุดระเบิด มันก็ต้องพูดแบบนี้

ตัวเองคือรูปกับนาม คือกายกับใจ ตัวเองคือขันธ์ห้า มันต้องเข้ามาอยู่กับพวกนี้ คำสอนส่วนมากก็พูดเรื่องขันธ์ห้า อุปาทานขันธ์ห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา มันก็วนอยู่เรื่องนี้ ข้อปฏิบัติมันอยู่ที่นี่ ถ้าไกลออกไปจากเรื่องนี้ มันก็ไม่ใช่ “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” เพราะมันไม่ได้พึ่งตัวเอง จะรู้จริงได้ก็ด้วยการพึ่งตัวเอง พึ่งตัวเองก็คือพึ่งรูปนาม พึ่งขันธ์ห้า นี่แหละ

เสียงต่างๆ เสียงเพลงที่ฟังกัน ลองพิจารณาเนื้อหาดู มันมีอะไร พูดถึงอะไร โดยสรุปคือมันมีแต่ร้องหาเพศตรงกันข้าม ร้องหากามคุณทั้งห้า นั่นคือมันไปพึ่งภายนอก รักอย่างนั้น รักอย่างนี้ สวยอย่างนั้น สวยอย่างนี้ สรุปโดยกว้างๆ จึงว่ามันร้องหากามคุณ กามราคะ เรื่องที่จะเอามาเป็นที่พึ่งของมัน พึ่งภายนอก พึ่งผู้อื่น ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้พึ่งตัวเอง มันเป็นภาษาที่ต้องพูดทำความเข้าใจในระดับที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปเขาไม่ได้คิดมาทางนี้

รสชาติอาหารหลายอย่างที่แสวงหามากิน มันก็พึ่งภายนอก ไม่ใช่ “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” รสชาติมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ภายนอก มันต้องไปหามา แล้วเอามาแตะลิ้น มันก็เป็นการพึ่งผู้อื่น หวานก็เป็นผู้อื่น เค็มก็เป็นผู้อื่น เปรี้ยวก็เป็นผู้อื่น อร่อยมันก็เป็นผู้อื่น หรือไม่อร่อยมันก็เป็นผู้อื่น มันอยู่ภายนอก ไหนล่ะ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” นี่คือมองแบบละเอียด มันจะเห็นเหตุผลชัดเจนแจ่มแจ้ง อธิบายได้จนดิ้นไม่หลุดเลย ในชีวิตประจำวันมันไม่ได้พึ่งตัวเองสักหน่อยเลย พูดแต่ปากก็พูดได้ว่าต้องรู้จักพึ่งตัวเอง ต้องยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง มันพูดตามๆ กันไป พูดตามกระแสสังคมนิยม ตามชาวบ้านนิยม ไม่มีความลึกซึ้งในคำพูด พูดโดยเชื่อตามเขา ได้ยินเขาพูดก็พูดตาม เชื่อเอาเลย ไม่ได้วิเคราะห์ ไม่ได้ใช้มันสมองขบคิดให้มันลึกซึ้งไปกว่านั้น มีแต่เชื่อ..เชื่อ..เชื่อ แล้วก็เชื่อตามกัน พอเอามาเทียบกับหลักธรรมะมันก็เลยขัดกันอย่างแรง ไปด้วยกันไม่ได้ จะไปได้ยังไงในเมื่อทัศนวิสัยมันไม่ตรงกัน

กลิ่นที่เข้าทางจมูก มันก็มากับลมหายใจเข้า-ออก ขนาดแค่การสูดลมหายใจมันยังต้องพึ่งผู้อื่น หายใจเข้า-ออกมันก็พึ่งผู้อื่น ลมก็เป็นผู้อื่น ภาษาธรรมะแบบลึกซึ้งละเอียด มันก็ต้องพูดแบบนี้ ที่พูดกันว่า “ไม่ได้ยืมจมูกคนอื่นหายใจ พึ่งพาตัวเองได้” นี่มันก็ว่าตามกัน ไม่ได้ยืมจมูก แต่ก็ยืมลม เอาลมของใครละมาหายใจ ลมของตัวเองหรือเปล่า พึ่งตัวเองได้จริงหรือเปล่า

สัมผัสทางกาย มันก็คือการสัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บ ปวด ร้อน หนาว แสบ คัน ภาษาก็เขียนไว้ว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มันก็สัมผัสอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นการพึ่งพาผู้อื่นทั้งนั้น มันเป็นหน้าที่ของร่างกายที่ให้มาแบบนี้

เพราะฉะนั้น คำว่า “สติสัมปชัญญะ” มันจึงขยายความออกไปได้หลายอย่าง พูดได้หลายศัพท์ มีการแจกแจงย่อยลงไปอีก เช่นในตำราที่เขียนไว้ว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ มันคือจุดเดียวกันนี่แหละ มันมีวิญญาณ หรือมีรู้ ตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ฯ วิญญาณคือรู้ จิตคือรู้ ตอนที่หูกระทบกับเสียง มันเกิดการได้ยินเพราะมีวิญญาณหรือมีรู้ มันเป็นการเขียนให้มากเรื่อง เพื่อหาเรื่องมาพูด อย่างมโนวิญญาณนี่ก็เขียนให้มันมีลวดลายเฉยๆ จริงๆ มันก็มีอยู่ตลอด ตาเห็นรูป มันก็มีมโนวิญญาณ ไม่มีมโนมันจะรู้ได้ยังไง มโนก็แปลว่าใจ ใจก็คือรู้ วิเคราะห์ดูแล้ว มันเป็นการหาเรื่องมาพูดให้มันหลากหลาย มีคำศัพท์คำนั้น คำศัพท์คำนี้ กำหนดขึ้นมา จริงๆ ก็เหมือนหาเรื่องมาบ่นมาพูดให้มันบ่อยๆ เนืองๆ เหมือนคนด่ากัน ก็คิดหาคำมาด่า คำไหนมันจะทำให้คนฟังเจ็บแสบ ทำให้คนฟังโกรธ แค้น เคือง มากๆ คำไหนมันจะทำให้ช้ำอกช้ำใจ ก็สรรหามาด่า ภาษาธรรมะนี่มันก็เป็นการหาเรื่องมาพูดให้ทำความเข้าใจ พูดแบบไหน ใช้คำแบบไหน มันถึงจะเข้าใจอย่างที่ฉันเห็น อย่างที่ฉันเข้าใจ ก็เลยหาคำหาวิธีพูดหลายๆ แบบ สรุปแล้วมันก็มีแค่จุดเดียว ไม่ได้ชี้ไปที่อื่นเลย

เวลาท่านสอนนั่งกรรมฐาน ก็เลยสอนกันว่าให้นั่งหลับตา อย่าให้มันมองออกไปรับเอาอารมณ์ภายนอก ถ้าจะปิดหูอีกมันก็ยุ่งยาก เอาเป็นว่าถ้าได้ยินเสียงก็อย่าไปสนใจ จมูกนี่ปิดไม่ได้เพราะมันต้องหายใจ เลยต้องเปิดไว้ เหล่านี้คือการเน้นว่าให้เข้ามาดูภายใน อย่าไปพัวพันกับอารมณ์ภายนอก จะไปยุ่งเกี่ยวได้เฉพาะที่จำเป็น เหมือนบวชเข้ามาแล้วก็อย่าไปคลุกคลีในหมู่บ้าน ไปเฉพาะยามจำเป็น เช่น ไปบิณฑบาต

วิธีหนึ่งที่สอนกันในตำราก็ว่า สมมุติคนๆ หนึ่งจะจับเหี้ยตัวหนึ่ง มันมีรูอยู่หกรู ให้ปิดไว้ห้ารู มันก็จะเข้าออกได้รูเดียว รอจับมันอยู่นั่น เหี้ยตัวเล็กหรือตัวใหญ่มันก็จะเห็นอยู่ที่นั่นแหละ มันก็เป็นวิธีการที่จะเปรียบเทียบเอามาสอน จริงๆ มันก็เรื่องเดียวกันนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น