วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ทำความเข้าใจบ่อยๆ ให้มันคุ้นเคย


ทำความเข้าใจบ่อยๆ ให้มันคุ้นเคย
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ทำความเข้าใจบ่อยๆ ให้มันคุ้นเคย ทำความเพียรภายใน ให้รู้ตามความจริง ศึกษาเรื่องรูปนาม กายใจ ขันธ์ห้า โดยเฉพาะ มันไม่เข้าใจ มันไม่เข้ามาอยู่ภายใน มันอยู่ภายนอก มันอยู่ในโลก มันไม่เข้าหาธรรม ไม่ศึกษาธรรม ไม่สนใจธรรม ไม่ใฝ่ธรรม ดึงมันเข้ามา ชักชวนมัน แนะนำมัน ให้มันเข้ามาสู่ธรรม หดตัวเข้ามา มันจึงจะแล้วเสร็จ

ธรรมเป็นมาตามธรรมชาติ เป็นหน้าที่ และจริง จับจุดสามอย่างนี้ให้มันมั่นใจ ที่ว่าโลกธรรมครอบงำสัตว์โลก สัตว์โลกก็คือตัวอัตตา โลกธรรมมันไม่ใช่สัจธรรม ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่หน้าที่โดยธรรมชาติให้มา คนเราอยู่กับของไม่จริง ชอบของไม่จริง ใฝ่ฝันในของไม่จริง มัวเมาในของไม่จริง มันจึงอยู่ในโลก ใฝ่ในโลก โลกธรรมแปดอย่างมันเป็นเรื่องชาวโลกสมมุติบัญญัติขึ้น มันไม่ได้มีอยู่ก่อนแต่เดิม ไม่ได้เป็นมาโดยธรรมชาติ มีลาภ เสื่อลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข มีทุกข์ เหล่านี้มีแต่เรื่องมนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้น มีรสชาติสองขั้ว มันไม่เป็นมาโดยธรรมชาติ มันจึงไม่จริง เพราะฉะนั้นคนโลกจึงอยู่กับของไม่จริง จึงไม่เข้าถึงธรรม ไม่รู้จักธรรม เพราะมันอยู่กับโลก ใฝ่ในโลก ศึกษาโลก

ยกตัวอย่าง คำนินทา คำด่า นี่มนุษย์สมมุติขึ้น สร้างขึ้น ไม่ได้มีมาโดยเป็นธรรมชาติ มันจึงไม่ใช่ของจริง มันจึงไม่ใช่ธรรม คำด่า นี่มันใช้เฉพาะกับบางกลุ่มชน เป็นคำสมมุติขึ้น แล้วก็ยึดติดกับสมมุติ ถือเอาว่าเป็นคำด่า พอได้ยินมันก็โกรธขึ้นมา เพราะติดบัญญัติสมมุติ ติดอยู่ในโลก คำด่านี่เอาไปว่าให้สุนัข สุนัขมันก็ไม่โกรธ เอาไปว่าให้วัวให้ควาย วัวควายมันก็ไม่โกรธ ไปว่าให้คนชาติอื่นต่างภาษากัน เขาก็ไม่โกรธ มันโกรธเฉาะกลุ่มคนที่รู้สมมุติเดียวกัน มันจึงเป็นธรรมระดับโลก จึงว่าโลกธรรมครอบงำสัตว์โลก ไม่ได้เป็นพระ แต่ยังเป็นสัตว์โลก ติดข้องอยู่กับคำศัพท์นั้นที่มนุษย์สร้างขึ้น ติดเป็นประเพณี เป็นโบราณ ยึดถือต่อกันมา เป็นสังคมนิยม ข้องแวะอยู่นั่น ไม่ลุกไปไหนสักที เพราะเป็นสัตวะ คือติดข้อง ข้องอยู่ ไม่ได้เป็นพระ ไม่ได้เป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นอริยะ ผู้ไปแล้วจากข้าศึก มันยังมีข้าศึกอยู่ คือ ความโกรธ พอได้ยินคำด่า ก็โกรธเคือง นี่คือไม่รู้แจ้งเห็นจริง ไม่เห็นธรรม เห็นแต่โลก คือติอยู่กับคำที่สังคมเขาสมมุติขึ้นมา มันไม่ได้เป็นมาโดยหน้าที่ของธรรมชาติ มันเป็นเรื่องหลอกลวง เสแสร้งแกล้งทำ มารยาสาไถ เขาหลอกแล้วก็เชื่อ เชื่อจนหลงให้เขาต้มได้ จนหมดเนื้อหมดตัวได้ นี่เพราะความเชื่อ เชื่อกันมาแต่โบราณ โดยไม่รู้แจ้งเห็นจริง มันจึงเกิดเป็นตัวตนในรูปแบบต่างๆ แล้วก็ติดข้อง ข้องแวะ ไม่พ้นจากโลก นี่คือชี้ให้เห็นธรรมระดับโลกียธรรม ถ้ารู้แจ้งโลกียธรรม ผลของมันก็จะออกมาเป็นโลกุตตระธรรมเอง คือพ้นมาจากจุดนั้น พ้นจากความไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่พ้น ก็ติดอยู่นั่น

คำด่า มันก็เป็นเสียงที่ต้องเข้าทางหู ถ้าไม่ตีความหมาย แปลความหมาย มันก็เป็นเพียงเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงดัง เสียงเบา เสียงชนิดต่างๆ สรุปก็คือเสียงเท่านั้นเอง คำด่ามันเข้ามาทางหู เหมือนกับรูปมันเข้ามาทางตา เสียงมันมีหลายชนิด เสียงพูด เสียงหัวเราะ เสียงเพลง รูปมันก็มีหลายชนิด รูปคน รูปสัตว์ รูปดาว รูปต้นไม้ แต่ละชนิดๆ สารพัด แต่สรุปแล้วมันก็คือเสียง คือรูป เท่านั้นเอง ทำความเข้าใจให้มันชัดเจน ไม่ต้องติดตามคำสอน ตามประเพณี ตามสังคมนิยม ข้ามความเชื่อ ข้ามประเพณีให้ได้ ข้ามความยึดถือให้ได้ ให้มันเข้าใจแตกฉานไปในรูปแบบของความเป็นจริง ของสัจธรรม เสียงก็คือเสียง รูปก็คือรูป

แต่สำรวจสังเกตดูในใจภายใน จะรู้ พอเห็นคนสวยๆ มันก็ชอบ พอได้ยินคำด่า มันก็โกรธ ไม่พอใจ นี่อาการเหล่านี้มันเป็นโลกธรรมทั้งนั้น โลกธรรมครอบงำสัตว์โลก ทั้งๆ ที่คนสวย คนขี้เหร่ มันก็เป็นแค่รูปแต่ละชนิดๆ เท่านั้น มันไปแยกแยะก็เพราะมันเป็นความยึดถือมาตามประเพณี มาตามพ่อตามแม่ ทั้งๆ ที่มันมีค่าเสมอกันเป็นแต่ละชนิดๆ แต่ว่าไปยึดตามกระแสสังคมนิยม นี่คือเป็นด้วยความเชื่อ เชื่อโดยไม่มีปัญญา ได้แต่เชื่อ เขาว่ายังไงก็ว่าตาม เขาว่านี่สวย ก็ว่าตามเขา เขาว่านี่ไม่สวย ก็ว่าตามเขา เขาว่านี่คำด่า ก็เชื่อตามเขา เขาว่านี่คำชม ก็เชื่อตามเขา นี่จึงพูดอยู่เป็นประจำว่าอย่ารีบเชื่อ มันลึกซึ้งถึงขนาดนี้น่ะธรรมะ ไม่ใช่แค่เรื่องผิวเผินที่เขาพูดกันอยู่ทั่วๆ ไป

จึงเน้นว่าอย่าเชื่อ อย่าเชื่อแบบ เชื่อตำรา เชื่อครู เชื่ออาจารย์ เชื่อประเพณี เชื่อสังคมนิยม มันสะท้อนออกมาให้เห็นได้ทันที อย่างพอเขาพูดคำด่า ก็โกรธ ไม่พอใจ นี่คือเชื่อสังคมนิยม ถูกครอบงำแล้ว มันก็เป็นโลกเต็มตัว เป็นสัตว์โลกเต็มตัว โลกธรรมจึงครอบงำหัวมันได้ บอกให้โกรธก็โกรธ บอกให้รักก็รัก ตามกระแส นี่มันเป็นเรื่องที่ต้องสับให้แหลก ให้กระจ่าง กระจ่างมันก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เห็นตามเป็นจริง เห็นว่ามันไม่ใช่ของที่ธรรมชาติให้มา มันสร้างเอาทีหลัง โลกธรรมนี่เป็นของมนุษย์สร้างขึ้นมา เหมือนกันกับนิยาย นิทาน ละคร มันเป็นของสร้างขึ้น แต่คนดูละคร ดูหนัง แล้วมันก็ชอบก็ชังกันขึ้นมา ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องโกหก มันก็ทำนองเดียวกันกับคำด่า คำชม ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้มันก็เข้าทางตา ทางหู นั่นแหละ ท่านจึงสอนว่าให้สำรวมอายตนะทั้งหลาย ถ้าไม่สำรวมมันก็จะเกิดกิเลส มันก็จะอยู่กับโลก บวชเข้ามาก็ไม่ได้อยู่กับธรรม ไม่เข้าหาธรรม ถ้าไม่สำรวมมันก็อยู่กับโลก อยู่กับโลกมันก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรม บวชอยู่ ก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรม มันไม่ใช่หน้าที่ของสงฆ์ ไม่ใช่หน้าที่ของพระ มันเป็นเรื่องหามาพูด มาขยายความให้มันแตกฉาน มันจะค่อยๆ รอบรู้ไปได้ในสักวันหนึ่ง

มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปศึกษาภายนอก หน้าที่ของพระคือศึกษาภายใน ศึกษากายกับใจ เอาตามไปเที่ยวดูรูป เอาหูไปเที่ยวฟังเสียง นั่นมันก็ออกไปทางโลกแล้ว เดินเอาตามไปดูนั่น นั่งรถเอาตาไปดูโน่น ไปเที่ยวประเทศนั้นประเทศนี้ ตระเวนไปดูโลก มันไม่ใช่หน้าที่ของพระ นั่นมันพฤติกรรมของชาวโลกเขา นั่นมันยังไกลอยู่ เป็นนักท่องเที่ยว ไปกับทัวร์นั่นทัวร์นี่ นั่นมันยิ่งไกลไปใหญ่ นั่นคือโลกเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ไปดูภายนอก ไม่ได้ดูตัวเอง

ฉะนั้น มันต้องแตกฉาน ต้องรอบรู้ คำศัพท์ที่ท่านเขียนไว้ บรรยายไว้ ต้องสับให้แหละ ว่ามันคืออะไร หมายความว่าอย่างไรกันแน่

เรามาดูที่รู้ ดูที่ใจ ดูที่ปัจจุบัน มันจะเห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มันเกิดที่รู้ มันเที่ยวไปรู้ คำว่าชาติ คือ ความเกิด ถ้าหมายถึงเกิดมาเป็นทารก นั่นมันห่าง มันไกล เป็นแบบภายนอก ถ้าเกิดแบบภายใน คือตาเห็นรูป นี่คือชาติแล้ว เป็นความเกิดแล้ว เห็นแล้วอยากได้ นี่มันเกิดเป็นทุกข์แล้ว คำว่า “ทุกข์” นี่มันหมายถึงรสชาติอย่างหนึ่ง อาการของใจชนิดหนึ่ง พอตาเห็นรูป นี่คือเกิดแล้ว เกิดชนิดใดชนิดหนึ่ง เกิดความรัก เกิดความชัง เกิดเฉยๆ หูได้ยินเสียง มันก็เกิดแล้ว เกิดพอใจ เกิดไม่พอใจ เกิดเฉยๆ นี่คือหาเรื่องแยกมาอธิบาย ไล่ไปจนถึงจมูก ลิ้น กาย พอสัมผัสมันก็เกิดอารมณ์พอใจ ไม่พอใจ หรือเฉยๆ มันจึงเป็นเรื่องอยู่กับกายใจตัวเองนี่ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาที่นี่ มันเกิดเป็นวัฏฏะอยู่ที่นี่ แต่ละวันมันก็วนเรื่องเก่าอยู่แค่นี้ ตาเห็นรูปเหมือนเดิม หูได้ยินเสียงเหมือนเดิม จมูกได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรสเหมือนเดิม กายสัมผัสอยู่เหมือนเดิม เป็นวัฏฏะ วนเวียน วุ่นวาย อยู่แบบนี้

ศึกษาให้มันเข้าใจ ว่ามันเป็นอยู่แบบนี้ตามธรรมชาติ มันจะได้ปล่อยวาง มันไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร มันเป็นเรื่องชีวิตของตัวเอง ของคนที่เกิดมาทุกคน มันก็เป็นอย่างนี้ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปเกี่ยวข้องกับภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันก็ไม่พ้นไปไหน

ถ้าไม่ศึกษาธรรมะเข้าให้ลึกซึ้งในระดับอย่างนี้ ไม่มีทางเข้าใจ เข้าใจไม่ได้ พากันไปทำบุญแห่กฐิน แห่ผ้าป่าอยู่ก็เสร็จ เอาจริงเอาจังกับการถวายทาน เอาถังเหลืองๆ มาถวายก็เรียกว่าสังฆทาน กรวดน้ำหาญาติ หาเจ้ากรรมนายเวรอยู่นั่น มันคนละโลกกัน แล้วเมื่อไหร่จะเข้าใจธรรมะ จะเข้าใจของจริง ไปไหว้โน่นไหว้นี่ มันคนละเรื่องกัน ต้องศึกษาเข้ามาหาจุดที่มันเกิดเหตุเบื้องต้น ต้นตอของมัน ไล่เข้ามา ต้อนเข้ามา ให้มันใกล้ มันจึงจะจับจุดได้

แม้แต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันก็เป็นโลก ธรรมชาติให้มาแล้วแบบนี้ เป็นรูปร่างกาย ซึ่งล้วนแต่เป็นของอยู่ภายนอก เป็นธรรมภายนอก อย่างตายแล้วเขาก็เอารูปร่างกายไปเผาทิ้ง แต่มันยังไม่จบ เพราะใจมันอยู่ต่างหาก ถ้าคิดว่าใจกับกายนี้มันเป็นอันเดียวกัน ตายแล้วก็จบซิ แล้วจะเที่ยววิ่งไปทำบุญทำทานทำไม ถ้าคิดว่าตายแล้วก็จบ ไปให้มันเหนื่อยทำไม จะไปทอดกฐินผ้าป่าทำไม ถ้ากายกับใจเป็นอันเดียวกัน ตายแล้วก็จบ ทุกคนก็ต้องตายอยู่แล้ว แต่ว่าบางคนเข้าใจว่าตายแล้วจบจริงๆ กายกับใจเป็นอันเดียวกัน ชาติหน้าไม่มี คนคิดอย่างนี้มีอยู่มากมาย สังเกตได้พวกที่พูดว่า “มันเท่านั้นแหละ ตายแล้วก็แล้ว” แต่ผู้รู้ท่านบอกไว้ว่ามันไม่ใช่น่ะ เห็นได้ชัดๆ เวลานอนหลับแล้วฝันไป มันแยกกันชัดเจนเลย มันไม่จบน่ะ กายกับใจมันคนละส่วนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น