วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มันเป็นเรื่องเกิด-ดับ


มันเป็นเรื่องเกิด-ดับ
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

มันเป็นเรื่องอนิจจัง ไม่เที่ยง เรื่องเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด มองภายในให้มันละเอียด มันก็ดูที่ “วิญญาณัง อนิจจัง” มองให้มันเห็นในปัจจุบัน วิญญาณ ก็คือ รู้ หรือตัวรู้ แต่คนทั่วไปเข้าใจว่าวิญญาณคือตัวอะไรสักอย่าง มันก็ไขว้เขว ไม่ถูกต้อง “วิญญาณัง อนิจจัง” คือมันไม่เที่ยง เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา คือ “รู้” มันเกิด-ดับ เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น รู้ปวด แล้วมันก็ดับไป หรือ รู้เค็ม เมื่อเอาเกลือเข้าไปแตะลิ้น นั่นคือมันเกิดแล้ว ถ้าเค็มยังไม่มาปรากฏในปัจจุบัน มันก็ยังตายอยู่ ยังไม่ได้เกิด เวลาใดที่เกลือมาแตะลิ้น นั่นล่ะเกิดแล้ว เกิดภพ เกิดชาติแล้ว รู้เค็มก็เกิดชาติเค็มขึ้นมา เกิดแล้วมันก็ไม่เที่ยง มันอยู่ในกฎอนิจจัง มันไม่ได้กินเกลืออยู่ตลอดทั้งวัน มันไม่ได้มีรสเค็มอยู่ตลอดทั้งวัน เดี๋ยวมันก็ดับไป เมื่อไม่ได้สัมผัสกับความเค็ม ความเค็มก็ดับไป นั่นคือตาย มันเป็นภาษาภายใน ภาษาละเอียด ต้องทำความเข้าใจ ให้มันถึงต้นตอมัน ต้นตอคือ รูปนาม ขันธ์ห้า มันสุดอยู่ที่นี่ มันจบอยู่ที่นี่

ถ้าขยายไปภายนอก ก็มองว่า “เกิด” เหมือนอย่างลักษณะต้นมะพร้าวเกิด ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นมะเขือเกิด มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ตั้งอยู่ระยะหนึ่ง แล้วมันก็ตายไป อยู่ในกฎอนิจจังเหมือนกัน แต่มันเป็น “เกิด” แบบภายนอก แบบหยาบ มันเป็นภาษาชาวบ้านเกินไป รู้แล้วว่ามันเกิดมันตายแบบนั้น แต่ภาษาภายในมันละเอียดกว่านั้น อย่างไรก็ดี มันก็มีลักษณะทำนองเดียวกัน เหมือนเปรียบเทียบว่ากินเค็ม มันก็เกิดเค็ม กินหวานมันก็เกิดหวาน กินขมมันก็เกิดขม

ถ้าขยายความต่อออกไป พวกชนิดอื่นๆ มันก็คล้ายกัน ในตำราท่านจึงเขียนแจกแจงเอาไว้เป็น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ฯลฯ ถ้าไม่เข้าใจมันก็งงอีก วิญญาณคืออะไร วิญญาณคือรู้ ตาเห็นรูปมันก็เกิดจักขุวิญญาณ เป็นรู้ ถ้าไม่มีรู้มันจะเห็นไม่ได้ เห็นกับรู้มันเกิดขึ้นพร้อมกันในปัจจุบัน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ตาเห็นรูปก็เกิดจักขุวิญญาณ หูได้ยินเสียงก็เกิดโสตวิญญาณ ส่วนฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ มันก็เหมือนกัน เป็นการหาวิธีมาพูด มาแสดง เพื่อทำความเข้าใจ ให้มันรู้ชัดเจน เป็นข้อมูลที่จะช่วยผลักดัน บีบคั้น ให้ศึกษาเพื่อให้รู้จริง

ถ้าอธิบายแบบนี้ สามารถที่จะเข้าใจคำว่า “วิญญาณ” กับ “รู้” ได้กระจ่างชัด รู้กับวิญญาณมันเป็นสิ่งเดียวกัน นี่มันจะกระจ่างเลย ถ้าไม่กระจ่างมันก็จะคิดว่าวิญญาณเป็นตัวเหมือนตัวมด ตัวสัตว์เล็กๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มีตัว มันก็เข้าใจผิดไปอย่างนั้น ท่านจึงกำหนดคำว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ฯลฯ ขึ้นมากำกับเพิ่มเติม อธิบายเพิ่มให้มันเข้าใจ ว่าวิญญาณมันไม่ได้เป็นตัว ถ้าคนมีหัวคิดฟังแล้วก็จะคิด ว่าทำไมวิญญาณมันมีเยอะจัง แสดงว่ามันไม่ได้เป็นตัวเราจริงๆ เพราะมันมีหลายตัว หลายวิญญาณ ทั้งๆ ที่เราก็มีคนเดียว มันก็จะขบคิดต่อไปในทำนองนี้ แล้วมันก็จะเข้าใจ อ๋อ..วิญญาณกับรู้มันเป็นอย่างเดียวกัน มันรู้ได้หลายอย่าง มันก็จะลงตัว แต่ถ้าไม่คิดพิจารณา มีแต่จำแล้วเชื่อมันก็ไม่กระจ่างสักที จำได้แต่ไม่เข้าใจ มันก็ไม่หายสงสัย มันก็เป็นนิวรณ์ ลังเล ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ เพราะมันไม่รู้ มันก็ไม่กล้าหาญในเรื่องนั้นๆ ถ้าเข้าใจแล้วมันก็องอาจกล้าหาญ สามารถแสดงออกโดยไม่เกรงกลัวใคร อธิบายออกมาได้ มันชัดเจนแจ่มแจ้งโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้คลุมเครืออยู่ มันก็ไม่งง ไม่ลังเล ว่าอะไรคือจิต อะไรคือใจ อะไรคือวิญญาณ อะไรคือรู้ เดี๋ยวก็พูดว่าใจ เดี๋ยวก็พูดว่าวิญญาณ เดี๋ยวก็พูดว่ารู้ ถ้าไม่กระจ่าง มันก็สับสน ไม่โล่ง ใจก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นความไม่บริสุทธิ์ในระดับละเอียด ระดับลึกซึ้ง ถ้าไม่บริสุทธิ์แบบภายนอก แบบหยาบมันก็หมายถึงไปคิดคดโกง หลอกลวง ต้มตุ๋น นั่นมันไกลไป ห่างไป ความบริสุทธิ์แบบละเอียด แบบภายใน แบบลึกซึ้ง นี้มันรู้ได้เฉพาะตน เป็นปัจจัตตัง

กฎอนิจจังมันเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติ หน้าที่ที่เป็นมา ให้มาแล้ว ถ้าหน้าที่แบบภายนอก แบบชาวบ้าน ก็อย่างเช่น เป็นนักเรียนต้องไปโรงเรียน เป็นครูต้องไปสอนหนังสือ เป็นคนขับรถก็ต้องไปขับรถ เป็นชาวนาก็ต้องไปทำนา มันทำหน้าที่เหมือนกัน แต่เป็นหน้าที่ภายนอก มันต้องเปรียบเทียบให้ได้ชัดเจน ทั้งแบบหยาบ แบบละเอียด แบบใกล้ แบบไกล หน้าที่เหล่านั้นมันเป็นหน้าที่แบบโลก ใช้ปัญญาแบบโลก ที่เรียกว่า โลกียปัญญา ไม่ใช่โลกุตตรปัญญา มีปัญญาเหมือนกัน ฉลาดเหมือนกัน เหนือชั้น เก่งเหมือนกัน แต่มันเป็นโลกียปัญญา โลกียรู้ นี่คือความแตกต่าง ถ้าไม่เก่ง ไม่มีความรู้ ก็สร้างเครื่องบินไม่ได้ มันต้องมีปัญญา แต่เป็นโลกียปัญญา

มันดำเนินอยู่ในลักษณะการเกิด-ดับ ค้นอยู่ที่นี่ ค้นอาการเหล่านี้ ในรูปกับนาม ในกายกับใจนี่ ค้นในขันธ์ห้านี่ จ้องดูที่นี่ อย่างไปสนใจอย่างอื่น อย่าไปสนเรื่องอื่น ถ้าไปสนอย่างอื่นมันไกลออกไปแล้ว ไม่ใช่ทางเข้าแล้ว ถ้ามันจะใช่มันก็ใช่แบบโลกีย์ ไม่ใช่แบบโลกุตตระ ซึ่งเป็นระดับที่เหนือโลก นี่คือหลักวิชาการ นี่คือทางที่จะต้องเดิน

มันเป็นความรู้ เป็นหลักวิชาการ ที่จะทำลายตัวเอง เป็นวิชาที่จะทำลายตัวเองให้หมดไป ถ้าพูดแบบใช้โวหาร มันก็พูดแบบนี้ ไม่ใช่หลักวิชาการที่จะไปทำลายผู้อื่น ไปลบผู้อื่น มันเป็นวิชาที่จะต้องลบตัวเอง ไม่มีบวก ลบอย่างเดียว ลบตัวเอง ลบด้วยอะไร ลบด้วยรู้ตามเป็นจริง ไม่ใช่ลบด้วยอย่างอื่น ไม่ใช่เอาอาวุธไปไล่ฆ่า ไล่ฟัน ไล่แทง มันลบด้วยการรู้ด้วยวิชชา ลบด้วยวิธีที่รู้จริงตามเป็นจริง นี่คือจุดหลัก ไม่ใช่ไปไล่ฆ่ากิเลส นั่นมันเป็นคำพูดชวนให้หลง บอกว่าให้ไปละ โลภ โกรธ หลง นั่นมันชวนให้หลง มันเป็นคำพูดระดับโลกียะ พูดได้ในสังคมระดับชาวบ้านทั่วไป เพราะว่าโดยปกติชาวโลกเขาก็ทำการละ โลภ โกรธ หลง อยู่แล้ว

มันเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ ที่จะต้องมีการเกิด-ดับ ความโกรธมันก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดเวลา ความโลภมันก็ไม่ได้ตั้งอยู่ตลอดเวลา ความชังมันก็ไม่ได้ยืนตัวอยู่ตลอดเวลา มันมีความรัก ความชัง อยู่ในลักษณะเกิด-ดับ มีความขมอยู่ในลักษณะเกิด-ดับ มีความอร่อยและไม่อร่อยอยู่ในลักษณะเกิด-ดับ เห็น ไม่เห็น ได้ยิน ไม่ได้ยิน อยู่ในลักษณะการเกิด-ดับ มันเป็นภาษาอีกรูปแบบหนึ่งที่หามาพูด ถ้าพูดตามกันตามกระแสก็พูดว่ามันอยู่ในกฎไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง แต่มันก็ยังไม่กระจ่าง ยังเข้าใจไม่ชัดเจน พูดกันติดปาก แต่มันก็ไม่เข้าใจ มันเข้าใจไม่ได้ นี่คือความยากของมัน

“ไตรลักษณ์” นี่พูดกันว่ามีสามอย่าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนเป็นกาแฟทรีอินวัน แต่คำว่า “ทุกขัง” นี่มันก็ชวนให้หลง จึงละไว้ ไม่พูด จะพูดว่ามีแค่สองคือ อนิจจัง อนัตตา เป็นทูอินวัน ถ้าพูดคำว่า “ทุกขัง” นี่มันชวนให้เข้าใจไปในระดับโลกีย์ เข้าใจว่ามีตัวคอยทุกข์อยู่นั่น มีตัวอัตตาขวางทาง รองรับอยู่ มันเลยเป็นทุกข์ ดังนั้นในระดับโลกุตตระ คำว่า “ทุกขัง” ไม่ต้องกล่าว กล่าวแค่อนิจจัง อนัตตา พอแล้ว นั่นมันชัดเจนแล้ว ไม่ได้ลบคำว่า “ทุกขัง” ทิ้ง แต่ว่าพูดแล้วมันชวนให้อยู่ในระดับโลกียะ จึงละไว้ ไม่พูด ต้องแยกให้มันชัด ไม่ต้องเอามาปะปนกัน เอาไว้คนละภาชนะ “อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา” อยู่กาละมังหนึ่ง ส่วน “อนิจจัง-อนัตตา” ก็แยกไว้อยู่อีกกาละมังหนึ่ง มันจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น