วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

“ปฏิบัติ” กับ “หน้าที่” มันคืออย่างเดียวกัน


“ปฏิบัติ” กับ “หน้าที่” มันคืออย่างเดียวกัน
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

การใช้คำว่า “ปฏิบัติ” นี่มันก็หลงพูดตามกัน ไม่เข้าใจ ไม่กระจ่าง อย่างพูดว่า “ไปปฏิบัติธรรม” มันก็หลงพูดกันตามกระแสด้วยความไม่เข้าใจ ถ้าพูดโดยภาษาธรรม โดยสัจธรรม โดยหน้าที่ของธรรมชาติ คำว่า “ปฏิบัติ” กับ “หน้าที่” มันคืออย่างเดียวกัน

ลืมตา-หลับตานี่คือปฏิบัติแล้ว ขยับขากรรไกรขึ้น-ลงนี่ปฏิบัติแล้ว การเคลื่อนไหวของร่างกายก็คือปฏิบัติ ลมหายใจเข้า-ออกมันก็ปฏิบัติ หัวใจมันทำงานอยู่มันก็ปฏิบัติ เดินไปมาก็คือปฏิบัติ นั่งลงก็คือปฏิบัติ ยืนขึ้นก็คือปฏิบัติ นอนลงก็คือปฏิบัติ ถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะมันก็คือปฏิบัติ แต่คนก็ไม่กระจ่าง เพราะติดอยู่ในคำว่า “ปฏิบัติ” นี่คือติดแบบ ติดตำรา ติดครู ติดอาจารย์ ติดประเพณี ติดความยึดถือ จึงติดกับคำว่า “เป็นนักปฏิบัติ” “ไปปฏิบัติ” “บวชเป็นพระปฏิบัติ” “ไปปฏิบัติธรรม”

ธรรมคือจริง จริงก็หมายถึงมันปฏิบัติของมันอยู่แล้ว เป็นหน้าที่ ตะวันมันจะโผล่ขึ้นมา นั่นมันก็ปฏิบัติหน้าที่ ตะวันมันจะลับโลกไปนั่นมันก็ปฏิบัติหน้าที่ ขยายความออกไปเปรียบเทียบมันก็เป็นอย่างนี้ มันยังไม่กระจ่าง คำๆ เดียว ก็ทำให้ติด คำๆ เดียว ก็ทำให้หลง ฉะนั้น คนทั้งโลกนี้เกิดมามันก็ปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่มีใครขาดการปฏิบัติ มันจะค่อยๆ กระจ่างออกไป มันจะไปรวมลงที่คำว่า รู้จริง “รู้จริง”

อวิชชา โมหะ มันก็คือหลง คือไม่รู้จริง มิจฉาทิฏฐิก็คือไม่รู้จริง สัมมาทิฏฐิก็คือรู้ตามเป็นจริง คำศัพท์ต่างๆ แม้จะเล็กๆ น้อยๆ มันก็ชวนให้หลง ซึ่งดูเหมือนธรรมดาๆ แต่มันแสดงถึงความหลงในแง่ต่างๆ ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง

ลืมตาขึ้นเห็นรูป นั่นก็คือปฏิบัติแล้ว หรือบอกว่า “ทำหน้าที่แล้ว” ก็ได้ หน้าที่คืออะไร “หน้าที่ก็คือธรรมะ” หน้าที่ของ “ธรรม” หน้าที่ของ “จริง” นั่นก็คือปฏิบัติธรรม คำศัพท์ที่ใช้มันก็ถูกต้อง แต่ว่าคนพูดคนฟังไม่กระจ่างในคำนั้นจริงๆ มันก็หลงอยู่นั่น จึงว่า “คำพูดทำให้หลง”

หูมันได้ยินเสียง นี่มันก็ปฏิบัติ หูมันได้ยินเสียงจริง จริงก็คือสัจธรรม จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมแล้ว จะไปทำอะไรอีกเพื่อให้เรียกว่าปฏิบัติ ในเมื่อมันปฏิบัติอยู่แล้ว มันทำหน้าที่อยู่แล้ว ทำการอยู่แล้ว

ค่อยๆ พูดสู่กันฟังในทำนองนี้ มันก็มีโอกาสที่จะกระจ่างได้เร็ว ไม่ใช่พูดว่าปฏิบัติคือการไปเดินจงกรม ไปนั่งสมาธิ แล้วเขาพูดผิดหรือ ก็ไม่ผิด แต่มันก็ไม่ถูก ทั้งผิดทั้งถูกอยู่ด้วยกัน ถูกตามภาษาคน แต่ไม่ถูกตามภาษาธรรม ถูกตามภาษาชาวบ้านชาวโลก แต่ไม่ถูกตามภาษาชาวพุทธ ว่าอย่างนี้ก็ได้

ถ้าจะใช้คำศัพท์ว่า “ปัจจุบัน” ก็หมายถึง ขณะนั้นๆ ตาเห็นรูปมันก็เป็นปัจจุบัน หูได้ยินเสียงมันก็เป็นปัจจุบัน มันจะสอดคล้องลงตัวกันทั้งคำว่า “ปฏิบัติ” “หน้าที่” “ปัจจุบัน” และ “จริง” มันจะไม่ขัดกัน มันจะอธิบายได้แบบกระจ่างเลย

คำว่า “ข้ามไป” อย่าข้ามไป ข้ามไปแล้ว ข้ามไปทำไมของจริงมีอยู่ ข้ามไป มันก็เหมือนกับการที่คนทั่วไปนิยมตีความหมาย เข้าใจความหมายของคำว่า “ปฏิบัติ” เมื่อพูดกันว่าไปปฏิบัติธรรมที่นั่นที่นี่ ช่วงนั้นช่วงนี้ นั่นคือมันข้ามไปแล้ว เพราะเข้าใจความหมายแบบภายนอก ความหมายระดับที่ไกลเกินไป ไม่อยู่กับปัจจุบัน ไปอยู่กับอนาคตแล้ว ไกลตัว ไกลความจริง ไกลสัจธรรม เมื่อเข้าใจแต่ระดับนั้น มันก็ไม่ได้เป็นการปฏิบัติธรรมแบบภาษาธรรม เพราะมันไม่อยู่กับปัจจุบัน เมื่อไม่อยู่กับปัจจุบัน มันก็คือไม่อยู่กับทางสายกลาง มันก็ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันก็จะสอดคล้องกันไปหมด แล้วไหนล่ะสัมมาทิฏฐิ ไม่มีเลย เพราะเห็นไม่ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิมันเองก็ยังมีระดับต่างๆ กัน ว่ารู้แจ้งเห็นจริงในระดับไหน เรื่องไหน มันต้องแยกอีก

มันมีการปฏิบัติอยู่แล้ว ถ้าไม่ปฏิบัติ เด็กมันก็ไม่โตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่เจ็บไม่ไข้ มันก็ไม่แก่ ถ้าไม่มีข้อปฏิบัติ ไม่มีการปฏิบัติ มันก็ไม่ตาย เด็กมันโตขึ้นก็เพราะมันปฏิบัติธรรม คือทำหน้าที่ มันเจริญเติบโตตามหน้าที่ มันเจริญเติบโตก็เพราะมันมีข้อปฏิบัติ เพราะมันมีธรรมะที่เรียกว่า “อนิจจัง” คือความเปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็น “อนัตตา” เป็นไปของมันอย่างอิสระ เด็กเป็นอนัตตา หนุ่มสาวก็เป็นอนัตตา หัวดำก็เป็นอนัตตา หัวหงอกแก่เฒ่ามันก็เป็นอนัตตา ตายไปมันก็เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนอยู่จริง มันไหลไป เปลี่ยนไปตามหน้าที่ ตามกฎพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

สำหรับคำว่า “อนิจจัง” และ “อนัตตา” นี่ชัดเจน ไม่ชวนให้หลง แต่คำว่า “ทุกขัง” ที่เอามาบอกไว้นี่ มันชวนให้หลงได้ เพราะจะมีอะไรมาเป็นทุกข์อยู่นั่น มันเป็นหน้าที่ของมัน มันเป็นข้อปฏิบัติของมัน มันเป็นอยู่อย่างนั้นของมัน มันเป็นสัจธรรมของมัน แล้วจะเอาอะไรมาทุกข์ มันไหลไปตามหน้าที่ของมัน มันเปลี่ยนแปลงตามหน้าที่ของมัน มันปฏิบัติของมัน เป็นธรรมของมัน เป็นจริงของมัน ต้องมองให้มันกระจ่าง ให้มันทะลุผ่านไปเลย ไม่ต้องไปหลงติดสงสัยอยู่ เอาของจริงมาพูดกันเลย ถ้าเป็นนักมวยก็ไม่ต้องไปชกแดดชกลม ให้มันชกโดนของจริงเลย

ต้องเพียรพยายามที่จะเข้าใจให้ได้ว่ามันปฏิบัติการของมันอยู่ตามหน้าที่ ตามธรรมชาติ จึงเป็นการศึกษา “ศึกษา" ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม มันมีอยู่แล้ว สำเร็จรูปของมันอยู่แล้ว เป็นมาอย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่ต้องเอาออกหรือเพิ่มเข้า เอาทิ้งมันก็ไม่เป็นธรรม ต่อเติมเพิ่มมันก็ไม่เป็นธรรม เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ไม่ต้องไปลบคำสอน ไม่ต้องไปเพิ่มเติมคำสอนที่พระองค์สอนไว้ นี่คือพูดแบบกระแสสังคม เอามาเพิ่มไม่ได้เดี๋ยวบาป ลบออกไม่ได้เดี๋ยวบาป นี่คือพูดกันแบบหยาบๆ ไกลๆ ไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้งไปกว่าบุญบาป อธิบายให้มันกระจ่างชัดเจนไปกว่านั้นไม่ได้ ไม่มีการตีความให้มันแตก สับให้มันแหลกให้มันกระจ่าง เพียงแค่พูดตามเขามาเท่านั้นเอง พูดตามกระแส

ผู้รู้จริง ท่านสอนไว้ว่ามันเป็นธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของมัน เป็นสัจธรรมของมัน เป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้นเอง “จริง” ก็ไม่มีใครเอามาเพิ่ม “หน้าที่” ก็ไม่มีใครเอามาเพิ่ม “ธรรมชาติ” ก็ไม่มีใครเอามาเพิ่ม ไม่มีใครเอาออก มันเป็นธรรมชาติโดยหน้าที่ เป็นจริงโดยหน้าที่ ใช้ภาษาสมมุติบัญญัติระบุย้ำเข้าไปให้มันกระจ่าง ธรรมชาติโดยธรรมชาติ ธรรมชาติโดยหน้าที่ ธรรมชาติโดยจริง จริงตามธรรมชาติ จริงตามหน้าที่

เอาเข้ามาใหม่มันก็เป็นของแปลกปลอม เอาออกไปมันก็เป็นการทำลาย ทำลายมันก็เป็นบาป เหมือนการฆ่าสัตว์เป็นๆ มันก็เป็นบาป ฆ่าวัว ฆ่าควาย ฆ่าหมู มันก็เป็นบาป บาปเพราะเป็นการทำลาย ถ้าหามาเพิ่ม จะเพิ่มอะไรอีก มันสำเร็จรูปของมันแล้ว วัวมันก็เป็นสัจธรรมของมัน ควายมันก็เป็นสัจธรรมของมัน หมูมันก็เป็นสัจธรรมของมัน เป็นหน้าที่ของมัน ไก่มันมีหน้าที่อย่างนั้น เป็ดมันมีหน้าที่ของมันอย่างนั้น ปลามันมีหน้าที่อย่างนั้น มีรูปลักษณะของมันอย่างนั้น ตายตัวสำเร็จรูปอยู่แล้ว จะเอาอะไรมาเพิ่มอีก นี่คือขยายความเปรียบเทียบออกมาแบบหยาบๆ มันเป็นของตายตัว เป็นของสำเร็จรูป เป็นมาโดยหน้าที่ของธรรมชาติ

เรื่องของ “ตัว” ที่เราไม่เข้าใจมันก็เช่นกัน มันก็ต้องเปรียบเทียบอธิบายจากไกลเข้ามาใกล้ หยาบเข้ามาละเอียด จนเข้ามาถึงตัว เหมือนหลวงปู่เฒ่ากินรี หลวงพ่อชา ท่านพูดให้ฟังว่า “การปฏิบัติแรกๆ มันก็อยู่ไกลๆ โน้น ห่างเป็นโยชน์โน้น ต่อมามันก็ปฏิบัติใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาให้มันเหลือสักวาหนึ่ง ปฏิบัติเข้ามาๆ ให้เหลือสักศอกหนึ่ง ปฏิบัติเข้ามาๆ อีกจนเข้าถึงตัว เข้าในตัวเลยทันที มันไม่เข้าใจถ้าไม่ปฏิบัติให้มันไกลๆ เสียก่อน”

ภาษาพูดก็ว่าคนนั้นคนนี้มีปัญญามาก หาเรื่องมาพูดมาเปรียบเทียบอธิบายได้มาก คำว่า “ปัญญามาก” นี่ก็หลงว่าตามกันอีก หลงคำศัพท์อีก จะพูดมากพูดน้อย มันก็พูดเรื่องเดียวอยู่นั่นแหละ จะพูดแบบเดียวบ่อยๆ ตลอดทั้งวัน หรือจะพูดขยายออกไปหลากหลาย มันก็เป็นการพูดเรื่องเดียวนั่นแหละ มันเป็นเรื่องความรู้ความเข้าใจเฉพาะตัว อย่างครูบาอาจารย์บางองค์ท่านพูดน้อย หรือแต่คำเดิมๆ จะว่าท่านมีปัญญาน้อยได้หรือ ความสำคัญมันอยู่ที่การมองเข้ามาที่ตัวเอง ทำความเข้าใจด้วยตัวเอง ให้มันบ่อยๆ เนืองๆ นี่คือการทำความเพียร ก่อนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ก็สอนว่า “อย่าประมาท” นั่นก็หมายถึงให้ทำความเพียรนั่นแหละ ไม่ให้เฉยเมย ถ้าเข้าใจ มันก็เอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงเปรียบเทียบได้สอดคล้องลงตัว ไม่ขัดแย้ง เหมือนกับเอาคำที่พระพุทธเจ้าสอนว่า “อย่าประมาท” มาตีความว่ามันก็เท่ากับ “ให้ทำความเพียร ให้ศึกษา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น