วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

นั่งให้เหมือนนั่งดูวัตถุ

นั่งให้เหมือนนั่งดูวัตถุ
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

นั่งให้เหมือนนั่งดูวัตถุ ที่มันไม่เข้าใจก็เพราะความไม่รู้จริง ความจริงมันถูกทับถม ถูกปิดบังไว้ มันเป็นไปตามกระแสโลก กระแสโลกีย์ เป็นไปตามความเคยชิน มันไหลตามของเก่า มันไม่ดู มันจึงสัมผัสไม่ได้ สัมผัสตามความเป็นจริงไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพากเพียร ศึกษาให้เข้าใจ และจำเป็นที่จะต้องศึกษา ต้องรู้อย่างรีบด่วน ถ้าเข้าใจยังไม่ได้มันก็ทึบอยู่ เป็นตัวตนอยู่ สัมผัสรสชาติว่ามันเป็นเพียงวัตถุไม่ได้ นี่เป็นปากทาง เป็นประตู ที่จะต้องเปิด เปิดไม่ได้ มันก็ไม่มีทางอื่นที่จะผ่านเข้าไป มันเป็นประตูที่จะแย้มให้เห็นตามเป็นจริง

คำว่า “เพื่อพ้นทุกข์” ที่เขาพูดกัน มันชวนให้หลง ทำให้เข้าใจได้ยาก ศัพท์ว่า “ทุกข์” และ “พ้นทุกข์” มันไม่เกี่ยวกับการทำลายตัวตน มันเป็นคำศัพท์ที่ทรงไว้ซึ่งตัว เห็นแก่ตัว ทรงไว้ซึ่งความรู้สึกเป็นตัว จะเอาตัวพ้นทุกข์ จึงบอกว่ามันเป็นคำศัพท์ที่ชวนให้หลง แต่คนส่วนมากก็ยึดถือตามครู ตามอาจารย์ ตามแบบ ตามตำรา แม้ว่าจะไม่เข้าใจ แต่ก็ยังยึดถือยึดติด ตามที่เขาพูดต่อกันมา ไม่กล้าจะแหวกแนว วิเคราะห์ให้มันแปลกออกไป ไม่กล้าที่จะสับให้แหละ ถ้าตั้งต้นว่า “จะปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์” มันก็เป็นการสร้างกรงขังตัวเองไว้แล้ว

หลวงพ่อพุทธทาสเป็นผู้ที่กล้าพูด กล้าใช้คำศัพท์แปลกๆ เช่น คำว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” นี่เป็นคำศัพท์ที่ไม่ทรงไว้ซึ่งตัว และไม่เห็นแก่ตัว “มันไม่ได้ทุกข์ มันเป็นเช่นนั้นเอง” ถ้าบอกว่าทุกข์ มันก็ยังมีตัวอยู่ ครูบาอาจารย์โดยมากก็พูดกันตามกระแส ตามสังคมนิยม ไม่กล้าที่จะพูดแหวกแนว หรือพูดให้แปลกๆ เพื่ออธิบายในแง่มุมต่างๆ

คำว่า “หวาน” ก็เป็นรสชาติของน้ำตาล คำว่า “ทุกข์” ก็เหมือนกัน เป็นคำแสดงรสชาติของอาการหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับคำว่าหวาน แต่ก็ไปแปลถ่ายทอดต่อกันว่า ทุกข์คือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ มันก็เลยเกิดความไม่ชอบทุกข์ อยากจะหนีจากทุกข์ อยากจะพ้นทุกข์ มันเลยทำให้เข้าใจไปคนละทาง จึงต้องทำความเข้าใจให้มันกระจ่างว่ามันไม่ได้มีความรู้สึกทุกข์ มันเป็นเช่นนั้นเอง เหมือนน้ำตาลมันมีรสหวาน มันก็เป็นเช่นนั้นเอง บอระเพ็ดมันขม ขมมันก็เป็นเช่นนั้นเอง ความไม่สบายกาย มันก็เป็นเช่นนั้นเอง ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ นั่นมันเป็นเช่นนั้นเอง ขมไม่ได้ให้ทุกข์แก่ใคร หวานไม่ได้ให้ทุกข์แก่ใคร เค็มไม่ได้ให้ทุกข์แก่ใคร มันเป็นเช่นนั้นเอง คำศัพท์หรือคำพูดที่หลวงพ่อพุทธทาสขยายความออกมาเพื่อไม่ให้ติดกับจุดนี้ แต่หลายครูหลายอาจารย์ไม่กล้าใช้ เพราะกลัวมันจะผิดแบบ ผิดตำรา แปลตามกันไปว่าทุกข์ คือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย ต้องการสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นเป็นทุกข์ “เป็นทุกข์” นี่มันมีตัวอยู่ มีตัวคอยบอกว่าทุกข์ คำว่า “ทุกข์” นั้นมันเป็นอาการของธรรมชาติอย่างหนึ่ง เหมือนกับคำว่า หวาน เค็ม ขม หนาว ร้อน เฉยๆ เป็นต้น มันไม่ได้ทำให้ใครเป็นทุกข์ มันเป็นอยู่ตามหน้าที่ ปฏิบัติการตามหน้าที่แต่ละหน้าที่ ไม่ได้เบียดเบียนใคร นี่คือการสับให้มันกระจ่าง ให้มันแหลก

ดวงอาทิตย์ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง ไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ได้ไปเผาใครให้ร้อน เพราะคุณมีตัว คุณก็เลยร้อน คนทั้งหลายในโลกก็ร้อน เพราะมีตัว ถ้าคุณไม่มีตัว จะเอาอะไรมาร้อน ถ้าคุณอยากไม่มีร้อน คุณก็หมดตัวไปซิ หรือพูดแบบชาวบ้าน ๆ ว่าร้อนนักก็ตายซะซิ ตายแล้วก็หมดร้อน เพราะตายแล้วคือไม่มีตัว “แต่ต้องตายแบบโลกุตตระ ไม่ใช่ตายแบบโลกียะ” ต้องฟังให้เข้าใจ ความร้อนนี่มันมีมาตั้งแต่ก่อนคุณเกิด คุณยังไม่เกิด คุณยังไม่มีตัว คุณก็ไม่มีร้อน เหมือนร่างคนตายมันรู้สึกร้อนไหม มันไม่รู้สึกร้อน ทั้งๆ ที่ดวงอาทิตย์ก็อยู่อย่างเก่า แต่ร่างที่ตายแล้วมันไม่ร้อน นี่ก็เปรียบเทียบกับว่า เหมือนอาการที่ “มีรูปแต่ไม่มีตัว ไม่มีอัตตา” ถ้าไม่มี “ผู้” มันก็ไม่ร้อน

คำศัพท์ว่า “ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์” นี่ต้องสับเข้าไป ใครล่ะไปทุกข์อยู่นั่น ใครไปนั่งทุกข์นอนทุกข์อยู่นั่น ทำความเข้าใจให้มันเกิดวิชชาแทนอวิชชา ซึ่งมันอยู่กับเรามาแสนนาน หลวงพ่อจึงพูดอยู่บ่อยๆ ว่า “รู้จริง” ให้รู้จริงตามที่มันเป็นจริงอยู่ เท่านี้พอ ไม่หลายเรื่อง ถ้าไม่รู้จริง ก็ไม่จบ

ต้องเน้นหนักในจุดที่มันปกปิดอยู่ ให้คุ้ยเขี่ยเปิดดูจุดที่มันปกปิดอยู่นี่แหละ ถ้าไปหาอยู่ไกลๆ กว้างออกไป แล้วเมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะจบ มันจบไม่ได้ เพราะว่ามันไม่รู้จริง จึงคิดว่ามีตัว ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติเพื่อให้ตนพ้นทุกข์ นั่นมันเป็นทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่รู้จริง อย่าไปยึดติดกับคำศัพท์ที่คนหมู่มากหรือกระแสชาวพุทธปุถุชนเขาใช้กัน มันไหลตามกระแส เพราะคนมากมันมีพลัง คนส่วนใหญ่เขาว่าอย่างนี้ เขาเข้าใจอย่างนี้ เลยว่าตามเขา เท่านี้ก็ผิดแล้ว มันหลงตามกระแส หรือถ้าจะใช้คำศัพท์ตามที่พูดกัน ก็ใช้ได้ แต่มันต้องกระจ่างภายในตัวเอง แต่ยิ่งพูดยิ่งใช้มันก็ยิ่งชวนกันให้หลงมากกว่า

มันไม่มีใครไปบอกว่าทุกข์ เมื่อมีตัว มันก็ทุกข์ เพราะมันมีสิ่งที่รองรับทุกข์ สิ่งที่รองรับก็คือตัว ถ้าไม่มีอะไรไปรองรับ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง คำศัพท์คำนี้ชัดเจน ถ้าไม่มีตัว มันก็ไม่หนาว ถ้าไม่มีตัว มันก็ไม่ร้อน ถ้าไม่มีตัว มันก็ไม่เผ็ด ถ้าไม่มีตัว มันก็ไม่ขม ขยายความมันก็ได้อย่างนี้ บอระเพ็ดมันก็ยังมีอยู่ตามหน้าที่ อ้อยมันก็มีอยู่ตามหน้าที่ ตามเรื่องของมัน มันอยู่ของมัน เค็มมันก็อยู่ของมัน มันไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ได้ไปทำให้ใครเค็ม มันว่างอยู่ “ใจคุณก็ว่างอยู่”

คำว่า “จิตว่าง” อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสใช้ คือว่างจากเค็ม ถ้าไม่ไปกินเกลือ มันก็ว่าง แต่ถ้าไปกินเกลือเมื่อไหร่มันก็เค็ม มันไม่ว่างแล้ว ไม่ว่างจากรสเค็ม ถ้ายังไม่ได้กินน้ำตาล มันก็ว่าง ว่างจากรสหวาน แต่ถ้าไปกินน้ำตาล มันก็ไม่ว่าง ไม่ว่างจากรสหวาน

จิตมันว่างขณะมันไม่ได้ไปพัวพันกับอะไร ถ้าไม่ไปพัวพันกับน้ำตาล มันก็ว่างจากหวาน ถ้าไม่ไปพัวพันกับบอระเพ็ด มันก็ว่างจากขม ไม่ไปพัวพันกับลูก มันก็ว่างจากลูก ไม่ไปพัวพันกับภรรยา มันก็ว่างจากภรรยา ไม่พัวพันกับคนรัก กับเพื่อน มันก็ว่าง ไม่ใช่ท่านพูดผิด แต่คนฟังไม่เข้าใจเองต่างหาก

มันก็งงกับคำศัพท์ พอได้ยินว่า “จิตว่าง” ก็สงสัยแล้วว่ามันว่างอย่างไร ว่างแบบไหน เหมือนกับปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ มันจะพ้นอย่างไร พ้นแบบไหน

จริงๆ จิตมันว่างอยู่แล้ว เกลืออยู่ภายนอก น้ำตาลอยู่ภายนอก บอระเพ็ดอยู่ภายนอก ความรัก ความชัง มันอยู่ภายนอก เหมือนกันกับดวงอาทิตย์ก็อยู่ภายนอก จะโกรธก็โกรธให้คน คนก็อยู่ภายนอก เพราะไปพัวพันเกี่ยวข้องกับคน มันก็เลยมีโกรธขึ้นมา เมื่อโกรธ มันก็ไม่ว่าง เกลียด มันก็ไม่ว่าง ชิงชัง มันก็ไม่ว่าง รัก มันก็ไม่ว่าง ตอนไหนไม่ชัง มันก็ว่าง ตอนไหนไม่โกรธ มันก็ว่าง ตอนไหนไม่หิว มันก็ว่าง ตอนไหนยังไม่ปวด มันก็ว่าง ตอนไหนปวด มันก็ไม่ว่าง มันว่างแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับว่าจะให้ว่างจากอะไร

ธรรมะเป็นสิ่งที่น่าศึกษาน่ะ เพราะมันเป็นจริง ควรศึกษา ควรค้นคว้า ควรพากเพียร เพื่อจะรู้จริง จับจุด จับหลักให้ได้ ว่าจะเอายังไง เพื่ออะไร ความเป็นจริง คือ รูปร่างกายเป็นวัตถุ เป็นซาก เป็นหุ่น เป็นของใช้ ความรู้เท่านี้ก็ยังรู้จริงไม่ได้ ฉะนั้น จึงพูดบ่อยๆ ว่า “ปฏิบัติเพื่อรู้จริง ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์” ให้รู้จริงตามที่ธรรมชาติให้มาโดยหน้าที่ ดังนั้น ต้องเพ่งเล็ง ต้องโฟกัส เข้ามาในจุดนี้ ไม่ใช่จุดอื่น จับจุดให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น