วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

เรื่องของเรื่องมันเพียงแค่เราไม่รู้จริง



เรื่องของเรื่องมันเพียงแค่เราไม่รู้จริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

เรื่องของเรื่องมันเพียงแค่เราไม่รู้จริงตามเป็นจริง ซึ่งมันเป็นจริงอยู่ก่อนแล้ว มีคำพูดตามๆ กัน ที่ชวนให้เข้าใจผิดอยู่หลายอย่าง เช่นคำว่า “ทำเอา ปฏิบัติเอา” นี่มันก็ชวนให้เข้าใจผิด ต้องมาเคาะใหม่ เจาะใหม่ สับใหม่ มันไม่มีอะไรจะไปเอาอะไร ไม่มีใครจะไปเอาอะไร มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องทำเอา ต้องการเอา ไม่มีผู้เอา จะเอาอะไรมาทำอะไรอีก จับจุดให้ได้ มันเพียงแค่ “การรู้สิ่งที่มันเป็นจริงอยู่ก่อน” และมันก็พร้อมที่จะให้เรารู้อยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้ดูมัน ไม่เข้าใกล้มัน มันก็เลยไม่เห็น จึงต้องมีคิดค้นหาวิธีสอนกันในรูปแบบต่างๆ

“สติ” มันเป็นคำที่คู่กับสัมปชัญญะ “สัมปชัญญะ” คือรู้ตัว รู้ตัวว่านี่ไม่ใช่ตัวเรา รู้ว่า รูปไม่ใช่ตัว เวทนาไม่ใช่ตัว สัญญาไม่ใช่ตัว สังขารไม่ใช่ตัว วิญญาณไม่ใช่ตัว ดังนั้น “สติสัมปชัญญะ” เราไม่เคยมี อย่างที่นิยมพูดตามๆ กัน บอกกันว่าให้มีสติ อย่าลืมสติ อย่าขาดสติ นั่นมันหมายถึงสติแบบทั่วไป ไม่ใช่สติที่ต้องการ ไม่ใช่สัมมาสติ ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ มันเป็นสติภายนอก ต้องเข้าใจให้มันชัดเจนในระดับลึกซึ้ง ให้มันถี่เข้าไป

สติภายนอก ไม่ใช่ สติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะ มันเป็นคำที่แสดงถึงการรู้จริงเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ใช่ตัว คือรู้ขันธ์ห้า รู้รูปนาม รู้กายใจ ในระดับที่ได้กระแส ต้องสัมผัสได้ จึงบอกว่ามีสติสัมปชัญญะ สัมผัสกระแสความจริง รู้จริงได้ รู้ตัวเองว่าไม่ใช่อัตตา สัมผัสในรูปแบบของอนัตตาได้ เมื่อเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี่มันเป็นอัตตา แล้วอนัตตามันจะปรากฏออกมาเอง มันถูกทับถมปิดบังมานาน เป็นอวิชชา มีความรู้ที่ไม่ถูกต้องมานาน เป็นมิจฉาทิฏฐิมานาน

สัมมาทิฏฐิ กับ สัมปชัญญะ มันหมายถึงรสชาติเดียวกัน เหมือนคนเดียวกันแต่มีหลายชื่อ เป็นคำศัพท์ที่พยายามจะหามาพูดให้เข้าใจ ดังนั้น ที่พูดตามกันทั่วไปว่า อย่าลืมสติ อย่าขาดสติ นั่นมันเป็นสติภายนอก เช่น ก่อนจะขับรถก็บอกว่าอย่าลืมสติ ให้ขับรถอย่างมีสติน่ะ ทำอะไรๆ ก็ขอให้มีสติ นั่นมันสติแบบชาวบ้าน ไม่ใช่สติแบบชาวพุทธ

ฉะนั้น “สติสัมปชัญญะ” เราไม่เคยมี เราไม่เคยสัมผัส เราไม่เคยเป็น คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” ก็เช่นกัน เราไม่เคยมี ไม่เคยเป็น เมื่อสัมผัสความจริงได้ จึงจะมีสัมมาทิฏฐิ ถ้าจะพูดให้มันแรงๆ ให้มันตรง แบบโหดๆ ก็คือว่า แม้จะบวชมาตั้งแต่เด็กจนแก่ตายในผ้าเหลือง ถ้ายังสัมผัสความจริงไม่ได้คุณก็ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ยังไม่ได้เดินมรรคแปด ซึ่งเป็นทางอันเอก ทางอันสำคัญ ที่สวดกันทุกวัน กี่ร้อยกี่พันรอบ สวดจนปากเปียกปากแฉะ ก็ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ยังไม่ได้เดินแม้แต่ก้าวเดียว นี่คือพูดแบบสุดๆ ให้ทำความเข้าใจชัดๆ จึงบอกว่า “สติสัมปชัญญะ” เรายังไม่เคยมี “สัมมาทิฏฐิ” เรายังไม่เคยมี เรามีแต่สติโลกียะ สติตามกระแสสังคม สติระดับชาวบ้าน

พระหลายท่านมีความรู้ แต่ไม่กล้าพูด กลัวว่าพูดแล้วคนเขาจะไม่เข้าใจ กลัวคนเขาจะท้อแท้ ถ้าเขาไม่เข้าใจมันก็ยิ่งจะถอยออกไปไกล เพราะมันเป็นปุถุชนคนหนา หรือพอได้ยินเราพูดว่า บวชมาตั้งแต่เด็กจนแก่ บวชมานานขนาดนี้ก็ยังไม่ได้เดินมรรคแปด สติสัมปชัญญะ ยังไม่มีเลย สัมมาทิฏฐิ ยังไม่เกิด บางคนคิดค้านในใจแล้ว...ท่านเอาอะไรมาพูด เหตุผลที่ต้องพูดให้แรงๆ ก็เพื่อให้มันสะดุด ให้มันเพ่งเล็งดูที่จุดนี้ ให้ความสำคัญกับจุดนี้ รู้จุดหมายปลายทาง รู้ทางเดินว่าจะไปทางไหน รู้แบบคิดคำนวณเอาก่อนก็ได้ ดูแผนที่ไว้ก่อน มีข้อมูลไว้ก่อน ก็ยังดีกว่าไม่รู้อะไรเลย เดินไปมั่ว ก็ทางมันยังไม่เคยไป จึงจำเป็นต้องฟังจากครูบาอาจารย์เพื่อให้รู้เส้นทาง

ในพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าไปเทศน์ที่ไหนก็ไปบอกความจริง บอกจุดที่ถูกต้อง ชี้บอกตรงจุด ตรงของจริง เพราะผู้รู้ท่านรู้จริง พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริง จึงบอกได้ตรงจุด ตรงของจริง ศาสดาอื่นๆ รู้ไม่จริง จึงบอกไม่ตรงจุด ครูอาจารย์ก่อนพระพุทธเจ้า รู้ไม่จริง จะบอกคนอื่นให้รู้จริงได้ยังไง นี่คือเหตุผล คือข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อ่านประวัติพระพุทธองค์ก็เห็นว่าท่านไปเทศน์ที่นั่นที่นี่ แล้วก็มีคนได้ดวงตาเห็นธรรม ตรัสรู้ธรรม เพราะท่านไปชี้ถูกจุด ตรงตามสัจธรรมที่มันเป็นจริง คนที่เขาจ่ออยู่แล้วก็รู้ตามได้ทันที จ่ออยู่คือมีศรัทธาอยู่ เห็นทุกข์อยู่ เห็นภัยในวัฏฏสงสารอยู่ อยากพ้นไป อยากให้มันจบปัญหา ส่วนคนที่ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นภัย ก็ไม่ฟัง ไม่มีศรัทธา ก็เลยอยู่ห่าง อยู่ไกล ถ้าคนเขาจ่ออยู่แล้ว พร้อมจะรับฟังอยู่แล้ว พอได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ก็รู้ทางที่ชัดเจนได้ เขารอรับอยู่แล้ว พอมีคนเอาไปให้ เขาก็รับเอาทันที

แต่ทีนี้ คนทั่วไปทั้งหลาย เขาไม่ได้ต้องการสิ่งนี้ เขาต้องการสิ่งอื่น นั่นมันจึงอยู่ไกล เขาต้องการเงิน ต้องการวัตถุ โลภอยากได้วัตถุ แข่งกันในด้านวัตถุ แข่งกันในด้านชื่อเสียง เกียรติยศ แข่งกันในด้านกามคุณ ไม่มีศรัทธา มันจึงอยู่โน่น อยู่ไกลกัน คนละเรื่อง คนละโลก หาคนที่ต้องการในรูปแบบดังกล่าวอยู่นี้มันมีน้อย มันมีน้อยเพราะเขาไม่รู้จัก มันเป็นเรื่องที่มืดมิด ปิดบัง มันจึงยังไม่เกิดศรัทธา พูดของจริงให้ฟังกลับกลัว ถอยหนี แทนที่จะวิ่งเข้าหา มันไปวิ่งเข้าหาแต่กามคุณ เหมือนคำศัพท์โบราณว่า แมลงเม่ามันชอบบินเข้ากองไฟ มันก็ถูกไฟเผาตาย พากันไปมากเท่าไหร่ก็ตายมากเท่านั้น มันเป็นสัจธรรมประจำโลกมนุษย์ ไม่รู้จะว่ายังไง

มันอยู่ห่าง มันอยู่ไกล มันเห็นตามเป็นจริงไม่ได้ เพราะมันไม่เข้ามาดู ระดับมันแตกต่างกัน ได้เกิดมาเป็นมนุษย์มีโอกาส แต่ก็ทำไม่ได้ เปรียบเทียบกับสัตว์เดรัจฉานพวกมันก็ยิ่งห่างไกล ไกลมรรคผลนิพพาน ไกลความจริง อวิชชามันปิดบังอย่างมหาโหด สัตว์ทั้งหลายมันไม่มีทางจะเห็นได้เลย มันเกิดเป็นสัตว์นั่นมันก็ถูกปิดสนิทเลยทันที เป็นมนุษย์นี่มีโอกาส แต่กามคุณมันก็ยังปิดไว้ มันจึงต้องอาศัยพลังในความเห็นภัย เห็นทุกข์ อย่างมหาศาล จึงเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้หันมาสนใจที่จะหนีไปจากภัยเหล่านี้

ภิกษุ แปลว่า ผู้เห็นภัย เมื่อเห็นภัยจึงออกบวชเป็นภิกษุ แต่ถ้าไม่เห็นภัยถึงจะบวชอยู่ก็ไม่ได้เป็นภิกษุ ใจไม่เห็นอริยสัจ แม้แบบหยาบๆ ก็ไม่เห็น เห็นแต่ความสนุก ร่าเริง เพลิดเพลินในโลก นี่คือเปรียบเทียบแบบหยาบๆ

แบบใกล้เข้ามาก็คือ ไม่เห็นภัยในขันธ์ห้า ในรูปนาม มีอาการ 32 อยู่กับตัวเองแท้ๆ ก็ยังไม่เห็นโทษ เห็นภัย มันต้องเห็นภัยในโลกภายนอกก่อน แล้วค่อยมาเห็นภัยในโลกตัวเอง คนหนึ่งคนก็หนึ่งโลก คนสองคนก็สองโลก ในร่างกายก็เป็นโลกๆ หนึ่ง มีอวัยวะ 32 เต็มไปด้วยของน่าขยะแขยง แต่มันก็ไม่เห็นตามเป็นจริง เห็นแต่ความสวยงาม โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ไม่ได้เห็นภัยเลย ไม่เห็นความน่ารังเกลียดเลย กลับเห็นเป็นของวิเศษ ของเอร็ดอร่อย ของน่าติดใจ เป็นของมีคุณค่า มีประโยชน์ มันก็เห็นตรงกันข้าม อย่างหน้ามือกับหลังมือ บวชแล้วมันก็สึกไป

ร่างกายตัวเองหนักมากพอแล้ว ยังจะไปเอาร่างกายคนอื่นมาแบกอีก สร้างลูก สร้างหลาน ให้มันหนัก ให้มันวุ่นวาย ขัดข้อง มันก็เป็นโลกร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่ได้เห็นว่ามีภัย มันเห็นแต่ความชอบ เห็นแต่ความรัก ถ้าบวชมาแล้วไม่เห็นภัยในรูป ในนาม ในขันธ์ตัวเอง มันจะเป็นภิกษุได้ยังไง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น