วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ความไม่เข้าใจมันสะท้อนมาเป็นตัว


ความไม่เข้าใจมันสะท้อนมาเป็นตัว
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ความไม่เข้าใจมันสะท้อนมาเป็นตัว จนรู้สึกว่าเป็นตัวตน เป็นอัตตา มันก็เลยเห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัวมันก็เกิดทุกข์ ทุกข์มันเป็นเรื่องของการเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวมันมาจากการสำคัญผิด มาจากความไม่รู้จริง มาจาก มิจฉาทิฏฐิ ทำให้มีตัวตน เมื่อตัวตนมีอยู่ มันก็เห็นแก่ตัว มันก็เลยทุกข์

คำว่า “ทุกข์” มันอยู่ในฝ่ายโลก ฝ่ายโลกียะวิสัย มันบอกว่าทุกข์อย่างนั้น ทุกอย่างนี้ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป ความหมายมันก็เข้าใจว่าตัวเป็นทุกข์ เห็นว่าตัวเป็นทุกข์ เห็นว่าตัวมี มันมาจากการเห็นแก่ตัว หนาวก็เป็นทุกข์ มันเห็นแก่ตัว หนาวมันเป็นปกติของมัน เป็นอย่างนั้น เป็นหน้าที่ของมัน สิ่งที่ว่าเป็นทุกข์ มันเป็นมาตั้งแต่ประเพณี เป็นความยึดถือมาแต่โบราณ ถ้ามันเฉยๆ มันก็ไม่บอกว่าเป็นทุกข์ เหมือนหนาวเกินไป ร้อนเกินไป มันบอกว่ามันเป็นทุกข์ เพราะมันเป็นความเคยชิน คุ้นเคย ความเป็นนิสัยเหมือนกันกับคนสูบบุหรี่ คนกินหมาก คนกินเหล้า มันเป็นนิสัย มันอยาก มันอดไม่ได้ มันเป็นทุกข์ มันสำคัญว่าต้องมี มันก็เลยเห็นแก่ตัว “เห็นแก่ตัว” และก็บอกว่าตัวทุกข์

ความโลภมันก็มาจากความเห็นแก่ตัว เพราะมันสำคัญว่ามีตัว เนื่องจากมันยังไม่รู้จริง มันก็เลยสะท้อนออกมาเป็นตัว คือไม่รู้ตามเป็นจริงที่สัจธรรมมันเป็นอยู่ มันก็เลยสะท้อนออกมาเป็นตัวฉัน ตัวกู นี่ต้องย้ำอยู่จุดนี้ เมื่อมันรู้จริง ความสำคัญว่าเป็นตัว มันก็จางไป ก็หมดไป หมดเพราะการรู้จริง ไม่ใช่หมดเพราะการไปละโลภ ละโกรธ ละหลง แล้วก็คงตัวไว้เหมือนเดิม ไม่ใช่หมดด้วยการละกิเลส แล้วก็เหลือตัวไว้เหมือนเดิม มันเป็นคำซึ่งอธิบายไม่ได้ อธิบายไปแล้วก็ตัน ละโลภ โกรธ หลง ละความเห็นแก่ตัว จะใช้ก็ได้แต่เป็นภาษาระดับโลกีย์ ระดับพื้นฐาน ระดับสามัญชนคนธรรมดา เพราะปกติคนเขาก็ละโลภ โกรธ หลง กันอยู่แล้ว ละความเห็นแก่ตัวกันอยู่แล้ว ถ้าไม่ละ สังคมจะวุ่นวายยิ่งกว่านี้ ลุกเป็นไฟมากกว่านี้ มนุษย์อยู่ได้เป็นสุขพอสมควรก็เพราะมีการละโลภ โกรธ หลง อยู่แล้ว ละความเห็นแก่ตัวอยู่แล้ว ต้องย้ำในระดับแบบนี้จึงจะชัดเจน

มันเป็นหน้าที่ของมัน มันเป็นจังหวะของมัน เป็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านั้น นี่คือ “อนิจจังมันเกิด–ดับ” ยกตัวอย่างว่า ถ้าเมื่อใดไม่รู้สึกหนาว มันก็ไม่ทุกข์ ถ้าไม่รู้สึกร้อนมันก็ไม่ทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีใครไปบอกว่าเป็นทุกข์ ใครล่ะ ก็ตัวเราเองที่บอกว่าเป็นทุกข์ ตัวเราเองที่ไปบอกว่าร้อนมากเป็นทุกข์ หนาวมากเป็นทุกข์ ทั้งที่จริงร้อนหรือหนาวมันเป็นเพียงการเกิด–ดับ ตามจังหวะ ตามหน้าที่ของมัน หนาวมันไม่ได้ทำโทษให้ใคร ไม่ได้ทำทุกข์ให้ใคร ร้อนมันไม่ได้ทำโทษให้ใคร ไม่ได้ทำทุกข์ให้ใคร ไม่ได้ไปคอยรังแกใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร มันทำหน้าที่ของมัน ต้องย้ำแบบนี้

ทำไมจึงว่าเป็นทุกข์ เพราะมันมี “ใคร” ต่างหาก ถ้าไม่มี “ใคร” มันก็ไม่มีเรื่องอะไร มันมี “ใคร” ขวางอยู่นั่น ก็เลยเป็นทุกข์ อย่ามี “ใคร” ซิ ทำได้ไหม ทำอย่างไรจึงจะรู้ จะเข้าใจ จะเป็นไปได้ ในรูปแบบของคำว่า “ไม่มีใคร” ก็ถามเข้าไปซิ ใครเดินอยู่นั่น ใครพูดอยู่นั่น คนนั้นเป็นใคร ก็อย่ามีใครซิ ไม่มีใครมันก็ไม่มีเรื่อง หนาวมันทำหน้าที่ของมัน ร้อนมันทำหน้าที่ของมัน ถ้าไม่มีใครร้อนมันก็จบไป หนาวมันก็จบไป หนาวมันเป็นอิสรภาพอยู่แล้ว มีเสรีภาพอยู่แล้ว หนาวมันเป็นภายนอกอยู่แล้ว ร้อนมันเป็นภายนอกอยู่แล้ว มันไม่ได้เกี่ยวกับเรา ไม่ได้เกี่ยวกับใคร เพราะมันมีใครไปเกี่ยวกับมัน จึงบอกว่าร้อน นี่คือความเห็นผิด เข้าใจว่าตัวมี มีตัว

“ตัวมี” ก็มาจากความเห็นผิด มันก็ย้ำกันแบบนี้ สะท้อนออกมาจากความเห็นไม่ถูกต้อง ยังไม่สามารถเห็นจริงได้ มันยังไม่เห็นธรรม “ยังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม” ดวงตามีแต่เห็นอย่างอื่น ไม่เห็นธรรม ธรรมคือจริง “จริง” จริงๆ นะเราไม่เห็น มันก็เลยสะท้อนออกมาเป็นอัตตา เห็นตามเป็นจริงไม่ได้ก็เรียกว่าดวงตาไม่เห็นธรรม ไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม เพราะไม่เห็นตามเป็นจริง

ขยายความออกไปอีก รักก็ดี ชังก็ดี มันอยู่ในโลก อยู่ภายนอก เป็นของภายนอก เป็นความนิยม เป็นประเพณี ที่ทำให้มี รัก-ชัง มันติดกับเรื่องภายนอก เหมือนกันกับคนอีสานบอกว่า วันอังคารเป็นวันแข็ง ห้ามเผาศพ มันก็ติดก็ยึดถือตามกันมาแต่โบราณ มันเป็นความเคยชิน รัก-ชังก็เหมือนกันกับความเชื่อ ความยึดถือ เรื่องวันอังคารเป็นวันแข็ง ลักษณะอาการความยึดติดเป็นรสชาติแบบเดียวกัน มันก็เลยเกิดมีปฏิกิริยา มีรสชาติ จริงๆ จังๆ เป็นความรัก ความชังขึ้นมาจริงๆ เพราะว่ามันไม่รู้จริง มันติดประเพณี ติดกระแส ไปตามกระแสโบราณ กระแสเก่าแก่ กระแสสังคม มันทำให้เกิดคำว่า “รัก” คำว่า “ชัง” ขึ้นมา

เรื่องที่พบในชีวิตประจำวันนี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องหยิบมาศึกษาเกี่ยวกับตัว เรา ขยายความต่อไป “รัก” มันเป็นการไปเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอก กับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะคน ไม่ใช่หมา ไม่ใช่ไก่ ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่ภูเขา สิ่งเหล่านั้นมันก็รักได้ ชังได้เหมือนกัน ภูเขานี่สวย มันก็รักแล้ว ภูเขานี่แห้งแล้ง มันก็ชังแล้ว แต่เป็นระดับที่หยาบละเอียดกว่ากัน ความหนักความเบาแตกต่างกัน ชังคนรักคน กับ ชังภูเขารักภูเขา มันก็รสชาติเดียวกัน แต่มันให้น้ำหนักแตกต่างกันเท่านั้นเอง นี่เปรียบเทียบภูเขาเป็นตัวอย่าง ก็เพราะให้มันดูใหญ่ๆ มันจึงเห็นชัดๆ มันหยาบๆ นั่นคืออาการที่เราไปเกี่ยวข้องกับของภายนอก แล้วก็เกิดรัก เกิดชัง พอใจ ไม่พอใจ

ถ้าจะไม่ให้เกิดรัก เกิดชัง ทำอย่างไร ก็ต้องรู้จริงตามความเป็นจริง ภูเขาแห้งแล้ง มันก็เป็นหน้าที่ของมัน มันก็เป็นอย่างนั้นเอง “เป็นอย่างนั้นเอง” ภูเขามันเขียวชอุ่ม ชุ่มชื่น น่ารัก มันก็เป็นอย่างนั้นเอง เป็นหน้าที่ของมัน มันไม่มีตัวรัก ตัวชัง อยู่ที่ภูเขา ถ้ามันมีตัวรัก ตัวชัง อยู่ที่นั่น ใครมองมันก็เป็นเหมือนกันซิ เป็นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้ เช่น ถ้ามันแห้งแล้ง เด็ก ผู้ใหญ่ คนโง่ คนฉลาด มองเห็นแล้วก็ชังเลย ควายมอง หมามอง มันก็ชังด้วยซิ เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ นั่นล่ะมันคือความยึดถือ มันเกิดจากการไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ไม่รู้จริงตามเป็นจริง แล้วก็สะท้อนเป็นกิเลสออกมา ก็เลยบอกกันว่าต้องละกิเลส เห็นนั่นก็เป็นกิเลส เห็นนี่ก็เป็นกิเลส

เขาไปในห้างสรรพสินค้า เห็นของหรูๆ ก็เกิดกิเลสอยากได้ เกิดความเห็นว่าสวย อันนั้นก็สวย อันนี้ก็สวย อันนั้นก็น่าซื้อ อันนี้ก็น่าซื้อ มีแต่ของอยากได้ ของเหล่านั้นมันมีกิเลสอยู่ในตัวมันไหม ไม่มี บุคคลต่างหากไปเกี่ยวข้องกับมัน แล้วมันก็เกิดปฏิกิริยาในรูปแบบว่าเป็นกิเลส อยากได้ เป็นความโลภ เมื่ออยากได้มันก็เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ทุกข์เกิดขึ้นในเมื่อตาเห็นรูป พูดรวมๆ สิ่งภายนอกมันก็เป็นรูป ภูเขาก็เป็นรูป คนก็เป็นรูป หมาก็เป็นรูป ต้นไม้ก็เป็นรูป สิ่งที่ตาเห็นก็เป็นรูปทั้งนั้น แม้สิ่งที่ตาไม่เห็น เช่น ลม นี่ก็เป็นรูป อากาศร้อนๆ ก็เป็นรูป อากาศเย็นๆ ก็เป็นรูป ภาษาธรรมะเขาใช้ว่า “รูป”

กิเลสมันเกิดขึ้นในเมื่อตาเห็นรูป ไปเกี่ยวข้องกับภายนอก กิเลสมันเกิดเพราะอะไร เพราะมันเห็นแก่ตัว อยากได้ก็คือ ความเห็นแก่ตัว มันมีตัวอยู่ก่อน ความรู้สึกเป็นตัวมีอยู่ พอไปเกี่ยวข้องกับภายนอก มันก็สะท้อนออกมาเป็นปฏิกิริยา เรียกว่า ความอยากได้เกิดขึ้น เพราะมันสำคัญว่ามีตัว มันจึงเห็นแก่ตัว

ความอยากไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดในเมื่อตาเห็นรูป เห็นสิ่งอยากได้ ความอยากก็เกิดขึ้น นั่นคือ อนิจจังเกิดขึ้น ตอนที่ตายังไม่เห็นสิ่งของ ยังไม่ได้เข้าไปในห้างสรรพสินค้า กิเลสยังไม่เกิด ว่างอยู่ “ว่าง” แล้วมันเบาไหม เบา เป็นอนัตตาไหม ไม่มีตัวไม่มีตนใช่ไหม นั่นล่ะเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนในรูปแบบของความอยาก ละโลภ ก็ไม่ต้องละ เพราะมันไม่มีโลภอยู่แล้ว เป็นอนัตตาอยู่แล้ว ว่างอยู่แล้ว จะเอาอะไรมาล่ะ นี่คือเปรียบเทียบว่า ว่างเป็นอนัตตา สบายไหม สบาย ไม่มีรสชาติแห่งความอยาก อนัตตาคือไม่มีตัวตนในรูปแบบของความอยาก อยากได้ ถ้าอยากมันก็เกิดตัวตนแล้วนั่นคือเกิดความทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีอัตตาตัวตน อัตตามาจากไหน มาจาก “ไม่รู้จริง” จุดจบอยู่ตรงนี้ ตรง “ไม่รู้จริง” มันจึงสะท้อนออกมาเป็นตัว

“ไม่รู้จริง” มันมาจากไหน มันมาจากความเคยตัว เคยชิน มาแต่ดึกดำบรรพ์ ภาษาธรรมะก็ว่ามาจาก อวิชชา อวิชชาหายไป วิชชาก็เกิดแทน ในจังหวะเดียวกัน อัตตาหายไป อนัตตาก็เกิดแทนในจังหวะเดียวกัน มันต้องย้ำอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ มันจึงจะเข้าใจ ถ้ามัวไปพูดอยู่แต่เรื่องอื่นภายนอกไกลๆ ก็ไม่มีโอกาสจะถี่เข้ามา ใกล้เข้ามา มันจับจุดไม่ได้ มันก็เข้าใจไม่ได้ “มันเป็นเรื่องเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเองตลอดเวลา”

ตัวเองคืออะไร ตัวเองก็คือใจ ใจก็คือรู้ ในขณะที่รู้อะไร นั่นล่ะใจ ถ้ายังไม่มีรู้ ก็ยังไม่มีใจ อย่างเช่น ตอนนี้ไม่เค็ม นั่นล่ะไม่มีใจอยู่นั่น ถ้าเค็มเพราะว่าเอาเกลือมาใส่ปาก นั่นล่ะใจอยู่นั่น เอาน้ำตาลมาใส่ปากแล้วมันหวาน นั่นล่ะใจ เพราะว่าใจคือรู้ ตอนนี้อากาศหนาวๆ ใจอยู่ไหน ใจอยู่หนาวนั่นล่ะ เพราะว่าใจคือรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ใช่ใจ ใจมันทำหน้าที่รู้ อากาศร้อนจัง ใจอยู่ไหน ใจอยู่ร้อนนั่นล่ะ ทำอย่างไรจะเห็นใจ ก็ดูตรงที่รู้ รู้สึกเฉยๆ นั้นล่ะใจก็อยู่นั่น รู้เฉยๆ ใจก็อยู่ที่เฉย รู้ว่าเจ็บใจก็อยู่ที่เจ็บ รู้ว่าขมก็ใจอยู่ขม รู้ว่าเช้าว่าสายนั่นล่ะใจอยู่นั่น สับบ่อยๆ สับให้มันแตก มันจะเข้าใจได้เร็ว รู้ตรงไหนใจอยู่ตรงนั่น ใจแปลว่ารู้อย่างเดียว ใจไม่ได้เผ็ด ใจไม่ได้เค็ม ใจไม่ได้ร้อน ใจไม่ได้หนาว ใจไม่ได้รัก ใจไม่ได้ชัง ใจมันรู้ ใจมันเป็นผู้รู้ ใจเป็นพุทธะ

เราไม่อยู่กับใจ ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก นี่คือความผิด ความไม่ถูกต้อง นี่คือมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้ตัวคือไม่รู้ใจ ไม่รู้ผู้รู้ ไม่อยู่กับผู้รู้ มันก็เลยไม่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันไมปเกี่ยวข้องกับภายนอกมากๆ มันก็เป็นอยู่อย่างวิถีของชาวโลก โลกียวิสัย ซึ่งเขาก็ไปแต่งงาน ไปมีผัวไปมีเมีย ไปทำกิจการการค้า ไปเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไปเป็น สว. สจ. เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นนายพล ไปโน่นล่ะ มันห่าง มันไกลออกไป อยู่กับโลกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ไม่ได้อยู่กับใจ แล้วเมื่อไรมันจะได้เข้าถึงพระพุทธเจ้า ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ นั่นคือเปรียบเทียบแบบหยาบๆ มันก็ออกมาแบบนี้ นั่นคืออยู่กับโลกเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบขับรถก็เหยียบ 120 กม./ชม. มันก็เป็นอย่างนั้น นี่คือความห่าง มันห่างแตกต่างกันไป ห่างออกไป ไปเกี่ยวข้องกับโลกมากเท่าไร เกี่ยวข้องกับภายนอกมากเท่าไร มันก็ยิ่งยุ่งยากมากเท่านั้น อารมณ์ก็เกิดมา มันก็เป็นตัวอัตตามาก ใจก็ไปรู้อยู่นั่น มันก็ไม่ได้ดูตัวเองสักที ภาษาโบราณเขาก็ว่าคนไม่รู้จักตัวเอง “หัดดูตัวเองซะบ้าง” นี่คำพูดนี้ก็ลึกซึ้งดี ถ้าเข้าใจ ตัวเองคืออะไร ตัวเองก็คือรู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น