วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

การฟังก็เป็นการทำความเพียร


การฟังก็เป็นการทำความเพียร
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

การฟังก็เป็นการทำความเพียร ฟังความจริง ความจริงตามหน้าที่ ความจริงที่มันสามารถรู้ได้ตามที่มันเป็นจริงอยู่ก่อน มันไปพัวพันอยู่กับอารมณ์อื่น อารมณ์ภายนอก พัวพันอยู่กับภายนอก มันไม่มาพัวพันอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ตามจุดประสงค์ มันพัวพันอยู่กับสิ่งที่มันเคยชิน คืออารมณ์ภายนอก

อารมณ์ภายนอก ก็คือ กามคุณทั้งหลาย คือมันพัวพันอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กายสัมผัสกับความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่เย็นได้ก็เพราะสัมผัส มันจะร้อนได้ก็เพราะสัมผัส จะรู้สึกอ่อนจะแข็งได้ ก็เพราะสัมผัสด้วยกาย นี่คือสิ่งที่มันเป็นอยู่ มันเป็นศัพท์ที่ต้องทำความเข้าใจให้แตกฉาน รอบรู้ ถ้าพูดคำว่า “สัมผัส” พอมันเข้าใจ มันก็จะมาดูลงไปที่ของจริง

มันเค็มเพราะสัมผัส มันหวานเพราะสัมผัส มันขมเพราะสัมผัส มันเนื่องกับกาย ลิ้นก็คือส่วนหนึ่งของกาย นั่นคือมันพัวพันอยู่กับสัมผัสจนเคยตัว จนเคยชิน อยู่กับภายนอก มันเป็นของสองอย่างที่ประกอบกันจึงเกิดขึ้น นี่เป็นวิธีพูด วิธีที่จะทำความเข้าใจ

วัตถุหวานมันอยู่ภายนอก วัตถุเค็มมันอยู่ภายนอก วัตถุขมมันอยู่ภายนอก แม้แต่อากาศก็เป็นวัตถุ ภาษาอภิธรรมก็ว่า “รูป” อากาศร้อน อากาศหนาวก็เป็นวัตถุ สิ่งที่เค็มก็เป็นวัตถุ สิ่งที่ขม สิ่งที่หวานก็เป็นวัตถุ เป็นวัตถุภายนอก มันไปพัวพันอยู่กับวัตถุภายนอก ภาษาธรรมะต้องพูดกันแบบนี้ เพราะมันเป็นของจริง เป็นของท้าทาย จนมุมที่จะเถียง ให้มันยอมรับความรู้ ความจริง ความตรง ซื่อๆ บริสุทธิ์ ถ้าฟังด้วยความเป็นปัญญาชนมันจะไม่มีเหตุผลอื่นมาเถียงได้

สัมผัสเหล่านี้มันก็เป็นเพียงแต่หน้าที่ มันก็สรุปลงมานี่ เป็นหน้าที่ของธรรมชาติ จริงไหม จริง จริงนั่นแหละคือธรรม ธรรมะคือจริง มันจะทำการกันอยู่ในรูปแบบนี้ สิ่งที่สำคัญว่า “ตัว” นั่นคือไม่รู้ ไม่รู้จริง ไม่รู้จริงในสิ่งที่กำลังอธิบาย กำลังพูดอยู่นี่แหละ ไม่รู้จริงว่ามันทำการกันอยู่แบบไหน ความที่ไม่รู้จริงมันก็สะท้อน ออกมาเป็นฉันเป็นกูอยู่ตลอดเวลา เป็นอัตตาตัวตน มันต้องย้ำบ่อยๆ แบบนี้ ให้มันจ้องลงไปจุดนี้ มันไม่มีหลายเรื่อง มันมีเรื่องใหญ่เรื่องนี้เรื่องเดียว ให้มันจับจุดได้ มันจึงจะตะล่อม เล็งไปที่เดียว จึงจะมั่นใจ มันคืองานนี้โดยเฉพาะ มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทำงานนี้โดยเฉพาะ ไม่มีงานอื่น

มันเป็นเรื่องภาษาสมมุติบัญญัติที่หามาใช้พูด ใช้อธิบายในแง่มุมต่างๆ หลากหลาย แต่มันก็เป็นเรื่องเก่าเรื่องเดียวกัน อย่างคำว่า “จิตว่าง” มันก็เป็นเรื่องเดิม จิตว่างหรือจิตไม่ว่าง จิตว่างก็ได้ จิตไม่ว่างก็ได้ หรือคำว่า “สัมผัส” มันก็เรื่องเก่า เอามาเชื่อมโยงกันเข้า แล้วหาเรื่องพูดอธิบายขยายออกไป

ลิ้น เมื่อสัมผัสกับน้ำตาล มันก็หวาน จิตก็ไม่ว่าง ถ้ายังไม่ได้กินน้ำตาล จิตก็ว่าง จิตคือรู้ ถ้าไม่ได้สัมผัสกับน้ำตาลมันก็ว่างเพราะไม่รู้ ไม่รู้นั่นล่ะ “ว่าง” “จิตว่าง” น้ำตาลคืออะไร น้ำตาลคือ อารมณ์ภายนอก จิตว่างจากอะไร จิตว่างจากอารมณ์ ว่างจากวัตถุ ว่างจากวัตถุภายนอก ว่างจากโลก พูดอย่างนี้ก็ได้ น้ำตาลเป็นโลก เกลือเป็นโลก บอระเพ็ดเป็นโลก มันหาเรื่องสมมุติบัญญัติเอามาพูด ว่างคือไม่ได้อยู่ในโลกแล้ว เวลาใดหวานก็อยู่ในโลกหวาน เวลาใดขมก็อยู่ในโลกขม เวลาใดเค็มก็อยู่ในโลกเค็ม ไม่พ้นจากโลก ไม่ได้อยู่เหนือโลก อยู่ในโลก คือโลกียวิสัย โลกียธรรม ธรรมที่อยู่ในโลก นี่เป็นการหาวิธีพูด เอาคำศัพท์มาพูด มันจึงจะกระจ่างๆ โปร่งๆ ออกไป พอเห็นตามมันก็จะร้อง อ๋อ...มันเป็นเรื่องอย่างนี้เอง มันจะกระจ่างๆ สว่างๆ ออก ถ้าไม่เข้าใจก็งงอยู่นั่น ว่าว่างแบบไหน จิตว่างเป็นแบบไหน ถ้าจับจุดได้มันก็อธิบายได้ว่า ว่างแบบนี้ ไม่ว่างแบบนี้

มองอีกแบบหนึ่ง คนตื่นอยู่นี่ “จิตไม่ว่าง” คือจิตมันอยู่กับอารมณ์ มันกินอารมณ์ตลอดเวลา พอตื่นอยู่มันต้องรู้ตลอดเวลา รู้นี่แหละคือ “อารมณ์” เป็นการเอาสมมุติมาตั้งชื่อให้มันเพื่ออธิบาย เพราะฉะนั้นถ้าตื่นอยู่ มันก็ไม่ขาดจากอารมณ์ จิตมันก็ไม่ว่าง ขยายความออกไป อารมณ์มันก็มีหลายอย่าง หลายรสชาติ หลายอารมณ์ มันว่างจากอารมณ์หนึ่ง แต่ไปติดอยู่กับอารมณ์หนึ่ง เป็นจังหวะของมัน นี่คือ “จิตมันว่าง” ตอนมันเปลี่ยนอารมณ์ แล้วทำไมมันต้องเปลี่ยนอารมณ์ ก็เพราะมันเป็นสัจธรรมของมัน มันเป็นหน้าที่ของมันตามธรรมชาติ ถ้ามีอารมณ์เดียว มันก็หวานอยู่ตลอดวันตลอดคืน แต่นี่หวานก็มาเป็นครั้งคราว ขมก็มาเป็นครั้งคราว เค็มก็มาเป็นครั้งคราวเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่มีหัวเราะ ไม่มีร้องไห้ หัวเราะเป็นอารมณ์หนึ่ง ร้องไห้เป็นอารมณ์หนึ่ง ดีใจนั่นคืออารมณ์หนึ่ง เสียใจนั่นคืออารมณ์หนึ่ง โศกเศร้านั่นคืออารมณ์หนึ่ง แจ่มใสนั่นคืออารมณ์หนึ่ง มันเปลี่ยนอารมณ์อยู่ตลอดเวลา แม้แต่เฉยๆ ก็ยังเป็นอารมณ์หนึ่ง ภาษาเขาก็ว่าอุเบกขา คือไม่ชัดเจนว่าดีใจหรือเสียใจ จะร้องไห้ก็ไม่ใช่ จะหัวเราะก็ไม่เชิง จึงตั้งชื่อให้มันว่า อุเบกขา

สิ่งที่มันติดขัด ข้องใจ นิดๆ หน่อยๆ มันก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้ามันเข้าใจเรื่องเล็กแล้วเรื่องใหญ่มันจะเข้าใจไปหมด โปร่งไปหมดทุกเรื่อง มันสามารถอธิบายทำความเข้าใจได้หมด มันเป็นธรรมชาติของมัน เป็นหน้าที่ของมัน มันก็เวียนก็วนอยู่นี่ คิดอะไรไม่ออก บอกอะไรไม่ถูก ก็ดึงไปลงที่ธรรมชาติ มันเป็นมาโดยธรรมชาติ ตามหน้าที่ เป็นของจริง มันก็จะสรุปลงได้ ไม่ว่าจะระดับโลกีย์ หรือระดับโลกุตตระ มันก็ลงได้ ลงเอยได้ หลวงพ่อจึงเน้นคำหลักว่า “ธรรมชาติ หน้าที่ จริง”

เหมือนหลวงพ่อพุทธทาส ท่านเน้นเอกสารของท่านว่า เอกสารชุด “มองด้านใน” แล้วท่านก็เขียนขยายความเป็นกลอนว่า “หานอกตัวไปทำไมให้ป่วยการ ดอกบัวบานอยู่ใน เราอย่าเขลาไป ในดอกบัวมีมณีที่เอกอุตม์ เผื่อมนุษย์ค้นหามาให้ได้ การตรัสรู้หรือรู้สิ่งใดใด ล้วนมาได้จากความรู้ตัวสูเอง” คำๆ นี้หมายความว่า ค้นพบแก้วได้ในตัวท่าน เป็นการเน้นหนักว่า ไม่ใช่เรื่องการออกไปค้นภายนอก คำว่า “ตัวสู” ก็คือ ใจ ก็คือ “รู้”

ถ้าคนมีกระแสอยู่ก่อน หรือมีศรัทธาอยู่ก่อนในเรื่องนี้ พอได้อ่านข้อความนี้มันจะกระตุ้นความรู้สึกเลย ถ้าไปพูดเรื่องไกลไป มันยิ่งทำให้ไม่เข้าใจ ต้องย้ำในจุดที่แตกหัก เหมือนกันกับที่อธิบายมา

จิตว่าง คือว่างจากอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ไม่ใช่ว่างจากอารมณ์ทุกอย่างทุกอารมณ์ มันว่างตามจังหวะ ตามชนิดของอารมณ์ นี่มันไม่ขัดแย้ง มันพิสูจน์ได้ เอาหลักธรรมมาพิจารณาประกอบจะเห็นได้ว่าไม่ขัดแย้ง อ้างถึงได้ เช่นอะไร ก็ “อนิจจัง” นั่นไง บอกว่าว่างตามอารมณ์ เอาอะไรมาอ้าง ก็“อนิจจัง” นั่นไง ถ้ามีอารมณ์เดียวตลอดเวลาคำว่าอนิจจังก็ไม่มีความหมาย อนิจจังคือความเปลี่ยนแปลง จะไม่มีความหมายเลย ฉะนั้นว่างตามจังหวะ กับ อนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง นี่มันสอดรับกันลงตัว อธิบายได้สอดคล้องกัน หรือที่ใช้คำว่า เกิด–ดับ ก็เช่นกัน

แต่ว่าคำพูดที่บอกว่า ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับ นอกจากทุกข์ นี่ก็ชวนให้หลงได้อีก หลวงพ่อขอขัดไว้เป็นบางคำศัพท์ ก็เข้าใจ ไม่ได้ลบล้าง แต่ว่าอยากกระตุ้นให้มันสะดุด ให้มันเข้าใจชัดเจน “มีแต่ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป” คำว่า “ทุกข์” นี่ถ้าฟังไม่เป็นมันก็หลง เอาอะไรมาเป็นทุกข์อยู่นั่น มันเป็นอย่างนั่นเอง เป็นแต่เพียงหน้าที่ของมัน จะไปโทษมันทำไม ใครล่ะไปยืนโทษมันอยู่นั่น ตัวตนใครไปยืนบอกว่าทุกข์อยู่นั่น “สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ของมัน สิ่งที่ดับไปก็เป็นหน้าที่ของมัน”

ลักษณะการใช้คำศัพท์ มันเหมือนการใช้ภาษาต่างๆ กัน ภาษาจีนก็พูดแบบหนึ่ง ภาษาอังกฤษก็พูดแบบหนึ่ง ภาษาไทยก็พูดแบบหนึ่ง แต่รสชาติความหมายมันเป็นอันเดียวกัน อย่างที่พูดว่า “ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป” แต่ว่าภาษาที่ออกมามันชวนให้เข้าใจผิดได้ นี่คือเหตุผลที่หลวงพ่อว่า ไม่ใช่จะค้านคำสอนที่ท่านพูดไว้ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ เข้าใจ แต่ว่าฉันจะพูดแบบนี้ ใช้ศัพท์แบบนี้ ให้มันกระตุ้นความคิด ชวนให้คิด ชวนให้สับ ให้ตีให้มันแตก ไม่ต้องไปเชื่อทันที ไม่ใช่ว่าเขาป้อนข้อมูลอะไรมาก็เชื่อ เชื่อทันที โดยไม่วิเคราะห์ พิสูจน์ด้วยตนเอง นั่นมันอาศัยแต่ความเชื่อ

เหมือนยกตัวอย่างภายนอกว่าที่บอกว่า การไปช่วยเหลือคนจนโดยให้เงินเขาหรือให้ของเขา ในเมื่อเขาไม่มีปัญญา ให้เงินไปก็ใช้หมด ให้ของไปก็กินหมดเหมือนเดิม ต้องให้ปัญญาเขาซิ ให้ที่ทำกิน ให้จอบ ให้เสียม ไปสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ไปให้เงินหรือให้ของเขา เขาก็ไม่เกิดปัญญา ทำมาหากินเองไม่ได้สักที

การไปช่วยเหลือโดยการให้เงินหรือให้ของ ก็เหมือนกับใช้คำพูดว่า “ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป” ส่วนการช่วยโดยการให้ปัญญา ก็เหมือนกับใช้คำพูดว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ สิ่งที่ตั้งอยู่ก็เป็นหน้าที่ สิ่งที่ดับไปก็เป็นหน้าที่” ถ้าให้แต่สิ่งของ เขาก็ใช้หมดไป มันไม่มีปัญญา ไม่มีหัวคิด ที่จะสร้างสรรค์ จะพัฒนาให้มันมีอยู่มีกินด้วยตนเองได้ นี่คือการดึงออกมาเปรียบเทียบกับตัวอย่างภายนอกแบบหยาบๆ

คำพูดต่างๆ ที่เอาคำว่า “ทุกข์” มาใช้ นั่นคือชวนให้หลงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ โศกเศร้าก็เป็นทุกข์ พลัดพรากเป็นทุกข์ แม้แต่การแปลคำว่า ทุกข์ ที่ใช้สวดกันทั้งบ้านทั้งเมือง มันก็ชวนให้หลง นี่คือสิ่งที่หลวงพ่อขอขัดไว้ให้สะดุด ให้คิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น