วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ขณะที่เรานั่งกรรมฐาน เรามีหน้าที่ดู

ขณะที่เรานั่งกรรมฐาน เรามีหน้าที่ดู
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก 
 วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
 -------------------------------------------------------------------------

ขณะที่เรานั่งกรรมฐาน เรามีหน้าที่ดู เหมือนกับเราตั้งสิ่งของไว้แล้วนั่งดู ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกับสิ่งของที่เรากำลังนั่งดู ทำเท่านี้ มีแค่นี้ สุดแค่นี้ ไม่ต้องหาอะไร ทำอะไรอย่างอื่นเพิ่มเข้ามาอีก ถ้าทำอย่างอื่นเพิ่ม นั่นมันเกินไปแล้ว ข้ามปัจจุบันไปแล้ว ปรุงแต่งเพิ่มแล้ว ไปอยู่กับอนาคตแล้ว เพราะกำลังหวังว่าอยากได้อะไรขึ้นมา จึงเน้นว่า เรามีหน้าที่ “แค่นั่งดู” ดูร่างกายที่ตั้งเอาไว้ เหมือนตั้งขอนไม้ไว้ แล้วเรานั่งดู ถามว่าดูเพื่อเห็นอะไร ไม่ต้องอยากเห็นอะไร “แค่ดู” ถ้าอยากเห็นอะไร นั่นมันข้ามไปแล้ว เป็นอนาคตไปแล้ว เป็นความทะยานอยาก เป็นความโลภแล้ว

การทำความเพียร คือ การตื่นอยู่ จะเดินหรือนั่งก็ตาม ถ้ายังตื่นอยู่นั่นแหละกำลังทำความเพียร ส่วนใหญ่เราไม่เข้ามามองดูรูปร่างกายของเรา เรามักไปดูอารมณ์ภายนอก ซึ่งมันกระจายออกไป จนไม่มีกำลัง ไม่ตรงจุด มันแส่ส่ายออกไปพัวพันกับอารมณ์ภายนอก นี่คือสิ่งที่ยังไม่ถูกต้อง สิ่งที่ใกล้เคียงคือ ต้องพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายใน

ขณะที่นั่งดูกายนี้แหละ จะเห็นครบหมด สิ่งที่ถูกดูก็คือร่างกาย ตัวผู้ดูก็คือ จิต หรือ นาม ถ้ารู้อยู่ตรงไหน ตรงนั้นแหละมีนามแล้ว เปรียบเหมือนกับมีคนสี่คน นั่งดูคนๆ เดียว “คนๆ เดียว” ก็คือ รูป “คนสี่คน” ก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

คือมันเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาตัวเอง ให้รู้ตัวเอง เมื่อยังไม่รู้ตัวเอง นั่นก็คือมันมีโมหะ อวิชชา หรือปุถุชน มืดบอด เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือพูดว่าด้อยการศึกษาก็ได้ ด้อยในเรื่องนี้ ดังนั้น เราจึงบอกว่าเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องเรียน ต้องศึกษา จนกว่าจะจบ ซึ่งจะจบได้ก็ต้องด้วยการเรียน การศึกษา นี่คือเอาศัพท์แบบชาวบ้านมาพูด ถ้าพูดแบบชาววัดก็ว่าทำความเพียร ซึ่งมันก็มีความหมายแบบเดียวกัน

เราจึงต้องเข้ามาศึกษาพัวพันอยู่กับสิ่งๆ เดียว อย่างเดียว คือ กายนี้ อย่าไปสนใจอย่างอื่น สิ่งอื่น คนอื่น วัตถุอื่น นั่นมันคือไกลออกไป ถ้าเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ก็เหมือนกับเวลาครูอธิบายเรื่องนี้อยู่แท้ๆ แต่ไม่ฟัง คิดออกไป หรือดูไปภายนอกห้องเรียน มัวเล่นกัน คุยกับ ไม่ดูกระดาน ไม่ฟังครู ตัวอยู่ในห้องเรียน แต่ใจไม่อยู่ นั่นคือ ไม่สนใจจะดูตัวเอง เหมือนกำลังนั่งกรรมฐาน เอาตัวเองตั้งไว้แล้วไม่ดูแต่ใจไปดูที่อื่นภายนอก ดังนั้น จึงต้องหันมาสนใจเรื่องนี้โดยเฉพาะ เมื่อสนใจนั่นแหละคือมีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัว ไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่เป็นการรู้ตัว รู้ร่างกายที่ตั้งไว้นี้

การตั้งร่างกายก็ตั้งให้ตรง เหมือนเราตั้งขอนไม้ไว้ตรงๆ มันย่อมตั้งอยู่ได้นาน ไม่เอนเอียงโน้มไป มันจะง่ายต่อการล้ม ตั้งร่างกายให้เหมือนเราขุดหลุม แล้วเอาขอนไม้วางลงไป จัดให้ตั้งตรง แล้วกลบดินให้แน่น มันก็จะตั้งอยู่ได้นาน สัมปชัญญะก็มารู้ลงที่นี่ ประชุมกันอยู่ที่นี่โดยเฉพาะ มันจะตรงทาง สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ และก็เป็นสัมมาทิฏฐิด้วย

มันเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียด บางทีเขาก็บอกว่านั่งสมาธิให้สงบ เงียบ ไม่ให้ได้ยินเสียง นี่มันฝืนธรรมชาติ ฝืนปกติ เมื่อมีหู มันก็ต้องได้ยินเสียง ถ้าจะทำอย่างนั้นเวลาลืมตาก็อย่าให้เห็นรูป เห็นสี เห็นแสง อะไรซิ มันก็บ้าแล้ว มันไม่ใช่สัจธรรม ธรรมชาติของหูคือรับเสียง ธรรมชาติของตาคือเห็นรูป เห็นสี แต่พอนั่งสมาธิจะไม่ให้ได้ยินเสียง นั่นบ้าแล้ว เมื่อไม่ใช่คนหูหนวกมันก็ต้องได้ยินโดยปกติ โดยสัจธรรม

หรืออย่างบางคน เขาเดินไปในความมืด แล้วบอกว่ามองไม่เห็นอะไรเลย นั่นมันภาษาชาวบ้าน ภาษาธรรมะมันต้องเห็น คือเห็นความมืดนั่นแหละ เพราะตามันไม่ได้บอด มันก็ต้องเห็น หูก็เหมือนกัน เงียบแค่ไหน มันก็ต้องได้ยิน เพราะหูไม่หนวก เราต้องแตกฉานในระดับความเข้าใจที่มันต่างจากกระแสคำพูด หรือความเข้าใจของชาวบ้าน มิฉะนั้นเราจะแหวกว่ายทวนกระแสไม่ได้ ปัญญาความคิดความเข้าใจมันต้องเป็นอิสระ ไม่ให้กระแสชาวบ้าน กระแสสังคม กระแสโลก ครอบงำเอาไว้

แม้แต่ความคิดเล็กๆ น้อยๆ ที่เหมือนหรือสอดคล้องกับกระแสโลกเขา ก็เป็นสิ่งเหนี่ยวรั้ง เพราะมันหมายถึงยังถูกครอบงำอยู่ ไม่เป็นอิสระ ถ้าปัญญามันรู้แจ้งสัจธรรม มันจะเป็นอิสระไม่ถูกกระแสนิยมของสังคมโลกครอบงำเลยแม้แต่นิดเดียว ภาษาธรรมมันจึงไปกันไม่ได้กับภาษาโลก ถ้ายังติดภาษาโลกอยู่ ก็จะไม่เข้าใจภาษาธรรม นั่นคือโลกธรรมยังครอบอยู่ต่อไป มันเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ปัญญาต้องละเอียดพอที่จะรู้ชัดได้ ค่อยๆ ปลดเปลื้องตัวเองออกจากกระแสโลก ตามลำดับ ตามกำลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น