วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

นั่งกรรมฐานคือนั่งดูปัจจุบัน

นั่งกรรมฐานคือนั่งดูปัจจุบัน
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๐๐ น. 

          นั่งกรรมฐาน ก็คือ การนั่งดูปัจจุบัน นั่งดูพุทโธ พุทโธในที่นี้ แปลว่า “รู้” คนยังไม่หลับนี่ต้องรู้ ถ้าหลับแล้วก็ไม่รู้ ดังนั้น พุทโธในที่นี้คือ รู้ รู้ปัจจุบัน หรือ รู้ความจริง รู้สัจธรรม หรือธรรมชาติ รู้หน้าที่ ไม่ใช่พุทโธที่แต่งขึ้น ทำขึ้น ผลิตขึ้น แต่พุทโธในที่นี้ คือ รู้ของจริงที่มีอยู่ เป็นอยู่ของมันเองตามธรรมชาติตลอดกาล ถ้ายังไม่หลับก็มีพุทโธอยู่ ถ้าหลับแล้วก็หมดพุทโธคือหมดรู้ แต่ถ้านอนเหยียดยาว ไม่หลับ ก็ยังมีพุทโธอยู่ ถ้านั่งหลับแล้วนั่นก็หมดพุทโธแล้ว

           นี่คือ “พุทโธโดยเนื้อแท้” โดยธรรมชาติ โดยหน้าที่ โดยสัจธรรม ไม่ได้ปรุงแต่มา ไม่ได้บัญญัติมา แต่เป็นเองโดยหน้าที่ หลวงพ่อต้องการให้รู้จักพุทโธในรูปแบบดังกล่าว อาจจะไม่เคยได้ยิน แต่ว่าวันนี้จะได้ยิน

           พุทโธกับปัจจุบันนี่มันอยู่ด้วยกัน เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนกัน “ปัจจุบัน” มันมีได้ตั้งแต่เราตื่นขึ้น มีพร้อมกันกับพุทโธ ถ้าหลับแล้ว “ปัจจุบัน” ก็ไม่มี พุทโธก็ไม่มี พุทโธ แปลว่า รู้..ตื่น เอาแค่ รู้..ตื่น เท่านี้ก่อน นี่คือ “พุทโธแบบพื้นฐาน”

            เมื่อไรมีพุทโธในชั้นที่ละเอียด ลึกซึ้ง อันเป็นคุณธรรมที่จะไปสู่โลกุตตรธรรม แล้วค่อยพ่วงเอาความหมายที่ว่า เบิกบาน แจ่มใส ไม่มีความทุกข์ ซึ่งเป็นพุทโธที่พระพุทธเจ้าต้องการให้พวกเราทั้งหลายได้เข้าถึง

             ฉะนั้น เมื่อเรานั่งกรรมฐาน หลวงพ่อจะไม่ใช้คำว่านั่งสมาธิ ซึ่งเขานิยมใช้กันตามกระแส ไม่ใช่ท่านเหล่านั้นใช้คำพูดผิด เพียงแต่หลวงพ่อขอใช้คำพูดที่มันมีส่วนกระตุ้นความรู้สึก ให้สะดุด ว่ามันไม่ใช่การนั่งสมาธิ “มันเป็นการนั่งกรรมฐาน”

             ทำไมจึงว่าอย่างนั้น เพราะว่าเรานั่งนี่ยังไม่เป็นสมาธิเลย เราจะเรียกว่านั่งสมาธิได้อย่างไร คำศัพท์แต่ละคำมันแอบแฝงความหมายที่อาจทำให้เข้าใจผิดอยู่ในนั้น “ถ้าเราคิดไม่ถึง เราไม่ชอบคิด เราชอบแต่เชื่อ มันมักจะเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน” ถ้าคิดด้วยเหตุผล มันจะเข้าใจอะไรผิดได้น้อยหน่อย แต่หลายคนพอเขาป้อนคำพูดคำศัพท์อะไรให้ก็เชื่อเอาเชื่อเอา อันนี้มีโอกาสที่จะเข้าใจผิดมากกว่าถูก ดังนั้นหลวงพ่อใช้คำว่า “นั่งกรรมฐาน” มันตรงกว่า คือ มันแปลว่า “งานที่ทำ” พอเริ่มนั่งถ้าดูลมหายใจ นี่ก็คือ งานที่ทำ

             ลมหายใจเข้า-ออก นี่เป็นหน้าที่ของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ การดูลมหายใจนี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมตลอดเวลา เพราะลมหายใจเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ มีอยู่แล้ว ไม่ต้องคอยปรุงแต่ง การปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าต้องคอยวันพระ หรือไปอยู่สถานที่ใดสักแห่ง แล้วลงมือปฏิบัติ จึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรม ความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมนี่เราก็ปฏิบัติอยู่แล้ว ลองไม่ปฏิบัติซิ มันต้องตาย มีชีวิตอยู่ไม่ได้

            ธรรมะคืออะไร ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อไม่เข้าใจมันก็มัวไปหาสถานที่ปฏิบัติธรรม อย่างที่คนหลายคนเขาเข้าใจว่าจะไปปฏิบัติธรรมที่นั่นที่นี่ซึ่งเป็นกระแส นิยม แต่โดยเนื้อแท้อย่างละเอียดในชั้นของความเป็นเหตุเป็นผลแล้ว ความหมายคืออะไร เขาไม่เข้าใจ

            ฉะนั้น “การนั่งกรรมฐาน” ก็คือ “การดูของจริง” ที่มีอยู่กับตัวเรา นั่นคือ ลมหายใจเข้า-ออก มันไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่ง การร้องขอ การซื้อหามา แต่มันเป็นมาโดยธรรมชาติ “ธรรมะ คือ จริง” ของจริง ของมีอยู่จริง ไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่ง ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมาหรือไม่มาปฏิบัติธรรม ลมหายใจเข้า-ออก มันก็มีอยู่ตลอดเวลา พอเราตื่นขึ้นมา ธรรมะมันก็มีให้เราปฏิบัติทันที ไม่ว่างเว้นเลย

           ฉะนั้น เราสามารถจะทำตัวเองให้เป็นผู้ปฏิบัติธรรมได้ทุกเมื่อ ตลอดเวลาที่เราตื่นอยู่ ยังไม่หลับ ถ้าทำความเข้าใจชัดๆ อย่างนี้ บอกความจริงกันตรงๆ อย่างนี้ เชื่อแน่ว่ามันจะต้องเข้าใจได้เร็ว

           แต่ทีนี้เพราะอะไรเขาจึงใช้คำว่าปฏิบัติธรรมล่ะ.. รูปร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นี่เราไม่สนใจจะดู ทั้งๆ ที่ธาตุทั้งสี่เป็นของมีจริงอยู่ในตัวเรา เมื่อมีจริงจึงเป็นสัจธรรม รูปร่างกายคือก้อนธรรมะ ตั้งอยู่นี่ เดินอยู่นี่ นอนอยู่นี่ ยืนอยู่นี่ ก็เป็นก้อนธรรม เป็นของจริง เป็นสัจธรรม

          ไม่ใช่ว่าได้ยินบ่อยแล้วล่ะ ฟังบ่อยแล้ว อ่านบ่อยแล้ว เรื่องที่ว่ารูปร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุสี่ คิดว่าตัวเองเข้าใจแล้ว ยัง..ยังก่อน ไม่ใช่เรื่องเข้าใจได้ง่ายๆ คือรสชาติจริงๆ นั้นมันเข้าใจได้ยากมาก ยังต้องทำความเข้าใจไปอีกนาน ของจริงมีอยู่ แต่เราไม่รู้ เราไม่เห็น เราไม่สัมผัส ทั้งๆ ที่มันอยู่กับตัวเราตลอดเวลา นี่คือความลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน ที่ต้องเรียนรู้

          ดังนั้น กระแสสังคมเขาจึงชวนกันมาปฏิบัติธรรม คือการมาดูลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งมันก็คือการมาดูของจริงในปัจจุบัน นั่นแหละคือ ดูพุทโธ มีพุทโธ พอรู้ลมหายใจเข้า-ออก ก็เท่ากับรู้ปัจจุบัน รู้พุทโธ ซึ่งมันมีอยู่แล้ว ไม่ได้หายไปไหน มันมีพร้อมให้เรารู้ให้เราเห็นอยู่แล้ว ไม่ต้องไปวิ่งหา

           ถ้ามันเป็นอนาคตนี่มันเป็นของที่ยากกว่า เพราะมันยังไม่มี ยังไม่มา เหมือนกับพรุ่งนี้ มันยังมาไม่ถึง มันเป็นอนาคต อะไรๆ ก็ยังไม่มี แสงแดดก็ยังไม่มี ดิ้นรนยังไงมันก็ยังไม่มี เพราะมันเป็นอนาคต มันยังมาไม่ถึง ไม่ใช่ปัจจุบัน เห็นไหมว่ามันยากกว่า เพราะมันเป็นอนาคต จะเอามาปฏิบัติก็ไม่ได้ เพราะของมันไม่มี มันยังไม่มา

           อดีตที่ผ่านไปมันก็คล้ายกัน คือมันผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถจะทำอะไรกับมันได้ มันอยู่ห่างตัว ไกลตัวแล้ว มันเอื้อมไม่ถึง สัมผัสไม่ได้ คว้ามาไม่ได้

           ทั้งอดีตและอนาคต จับต้องไม่ได้ ของที่จะรู้ได้ จะทำอะไรกับมันได้ ก็คือ ปัจจุบัน ฉะนั้น การนั่งกรรมฐาน จึงต้องดูที่ปัจจุบัน เช่น ดูลมหายใจเข้า-ออก

           การ “ดู” นี่ก็คือ การศึกษา คือวิธีปฏิบัติธรรม วิธีทำความเพียร ก็ต้อง “อด” ก่อน แล้วต่อไปมันจะ “ทน” เอง เมื่อเราทำไปบ่อยๆ มันจะชำนาญ คล่องตัว มันจะทนได้เอง เป็นสัจธรรมของมัน

          นั่นคือวิธีที่เขาสอนกันทั่วไปในสำนักต่างๆ ภาษาที่เขาเขียนไว้ก็เรียกว่า อานาปานสติกรรมฐาน คือ การจ้อง การดู การสังเกตลมหายใจอยู่อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

          ทั้งนี้โดยธรรมชาติของจิตนั้นมันอยู่นิ่งไม่ค่อยได้ มันจะหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญ แส่ส่ายไปกับเรื่องนั้นๆ ปราชญ์บัณฑิตโบราณที่ท่านเคยปฏิบัติด้วยการดูลมหายใจ แล้วเห็นว่ามันทำให้เกิดความสงบได้ จึงบอกสอนถ่ายทอดต่อๆ กันมา

           ผลของความสงบก็คือความสุข ความสงบนั้นคือเป็นสมาธิ สมาธิมันจะเกิดได้ต่อเนื่องเมื่อมีการปฏิบัติเสียก่อน มีการกระทำเสียก่อน ไม่ใช่ว่าแค่เริ่มนั่งก็เป็นสมาธิแล้ว มันต้องนั่งบริกรรมจนสงบก่อนจึงจะเป็นสมาธิได้ เหมือนบอกว่ามากินข้าวซิ พอนั่งลงก็กินได้เลย แต่ว่าก่อนที่จะเสร็จเป็นข้าวเป็นอาหารมาให้นั่งกิน มันต้องใช้เวลาหาวัตถุดิบและทำการปรุงนานสักเท่าไร ลองคิดดู กว่าจะเริ่มตั้งแต่ไถนาปลูกข้าว เก็บเกี่ยว จนมาหุงนึ่ง หาภาชนะมา ตักใส่จาน ยกมาวาง เหล่านี้เป็นต้น โอ๊ย..ต้องทำอะไรเยอะแยะมากมาย กว่าจะนำมาวางไว้แล้วชวนกันมากิน การทำสมาธิก็เช่นกัน จะบอกว่า “ต่อไปนี้เรามานั่งสมาธิกันน่ะ” คือจะมานั่งเสพความสงบทันที มันทำไม่ได้ มันไม่ใช่อาหาร ที่จะมีคนอื่นเตรียมเอาไว้ให้แล้วมานั่งลงกินได้เลย

           แต่สมาธินี่มันเป็นสิ่งที่ต้องลงมือปฏิบัติการมาก่อน จึงจะเกิดสมาธิขึ้นมาได้ และต้องทำด้วยตัวเอง ของใครของมัน ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันต้องปฏิบัติถูกต้องสมเหตุสมผลจนเพียงพอ สมาธิจึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่ามานั่งขัดสมาธิ หลับตา แล้วมันจะเป็นสมาธิขึ้นมาได้ ยิ่งถ้านั่งแล้วง่วงหรือฟุ้งซ่าน มันก็ไม่เป็นสมาธิ พุทโธก็หาย ปัจจุบันก็หาย

           ดังนั้นจะใช้คำพูดชวนกันว่า “ต่อไปเรามานั่งสมาธิกัน” มันจึงไม่เหมาะสม มันขัดกับความเป็นจริง คือขัดกับสัจธรรม เพราะขณะนั่งนั้นไม่ได้มีสมาธิเลยทันที หลวงพ่อจึงใช้คำว่า “นั่งกรรมฐาน” คือนั่งทำงานดูลมหายใจ จนกว่าจะเป็นสมาธิ แต่ถ้ามีนิวรณ์เข้าแทรก ก็ไม่ได้เป็นการนั่งกรรมฐานแล้ว เพราะไม่ได้ทำงานดูลมหายใจ

            การปฏิบัติธรรมต้องเดินสายกลาง คือปัจจุบัน แต่ถ้าปฏิบัติโดยไปสนใจแต่อดีต อนาคต มันก็เป็นสายหย่อนและสายตึง เมื่อไรไม่รู้ปัจจุบัน หรือนอนหลับ ก็คือไม่อยู่ในทางสายกลาง ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติมักหลงไปกับอดีต อนาคต ไม่อยู่กับปัจจุบัน จึงไม่อยู่ในทางสายกลาง จึงไม่อาจเห็นธรรมะที่แท้จริงได้

             เหมือนยกตัวอย่างว่า มีมือปืนจะไปยิงใครสักคน ก็ต้องยิงในปัจจุบันถึงจะโดนเป้าหมาย ถ้ายิงในอดีต คือ ยิงเมื่อวาน หรือยิงในอนาคต คือ ยิงพรุ่งนี้ มันก็ไม่โดน เพราะของจริงมันอยู่ที่วันนี้ ปัจจุบันนี้ เวลานี้ เป้าหมายนั่งอยู่ที่นี่นาทีนี้ ถ้ายิงก่อนหน้านี้ หรือหลังนาทีนี้ เขาก็ไม่อยู่ที่นี่ เขาอยู่ที่อื่นโน่น มันจึงยิงไม่โดนสักที นี่เหตุผลมันเป็นอย่างนี้

            ดังนั้นคำพูดคำสอนที่ได้ยินมา ต้องคิด พิสูจน์ ไม่ใช่เชื่อโดยทันทีในคำที่ได้ยิน เขาอาจพูดถูก แต่ว่าเราเข้าใจผิดเอง เพราะขาดสติปัญญา ลองสังเกตดูได้ เมื่อได้ยินแล้วเชื่อทันที เมื่อนั้นจะเหมือนรู้สึกว่ามีอาการมึน ทึบ ไม่โปร่ง ปัญญาไม่ได้ทำงาน เรียกว่า “อวิชชา หรือ โมหะ” ครอบงำแล้ว

            ทีนี้มีอีกวิธีหนึ่งที่จะแนะนำ นอกเหนือจากการดูลมหายใจ คือการ “ดูรูปร่างกายทั้งก้อน” กายของเรานี่มีอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนกับการดูลมหายใจ กายของเรานี่มันปรากฏอยู่ โชว์อยู่ แต่เราไม่สนใจจะดู มัวไปสนใจดูแต่คนอื่น สิ่งอื่น ภายนอกตลอดเวลา ไม่ได้ดู ไม่ได้สังเกตตัวเองเลย ซึ่งนี่เป็นกระแสนิยม เป็นวิสัยของปุถุชน ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่จะอยู่เหนือโลก จะไปจากโลก เราต้องใฝ่สูงในเรื่องที่จะอยู่เหนือโลกด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างจากปุถุชน เพราะถ้าทำเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน ตามกระแสของคนหมู่มาก นั่นก็คือ อยู่ระดับเดียวกันกับปุถุชน คือชอบ แสง สี เสียง ทั้งหลาย

            วิธีที่หลวงพ่อพูดเน้นเสมอ คือ การให้หันมาดูรูปร่างกายของตน จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ แต่ถ้าลืมตาได้จะดีมาก เพราะมันไม่ชวนให้หลับ มันอยู่ฝ่ายเดียวกับการตื่น เป็นฝ่ายสนับสนุนการมีพุทโธคือ รู้..ตื่น อันจะนำมาซึ่งความเบิกบานต่อไป เหมือนอย่างการเดินจงกรมนี่ก็ลืมตาเดิน ครูบาอาจารย์สมัยก่อนอย่างหลวงปู่ชา นี่ท่านเดินจงกรมจนทางลึกลงไปเป็นร่องน้ำเลย ถ้าหลับตานี่มันเป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในที่มืด มันชวนให้นอนหลับ นั่งหลับ หรือง่วงซึม ลองสังเกตดูก็ได้เวลาไปนั่งรวมกันหลายๆ คน จะเห็นเลยว่ามีคนสัปหงก หรือคอตก หรือโยกไปโยกมา ยังไม่ต้องเชื่อคำพูดนี้ ลองนำไปพิจารณาดู สังเกตดูเอง แล้วที่นิยมนั่งหลับตามนั่นก็เป็นเพราะกระแสนิยม

            คนปุถุชนมันมักไหลตามกระแส นี่เป็นธรรมชาติ มันมีอิทธิพลมาก มันเป็นเพราะไม่มีความคิดที่จะใช้ปัญญาของตน มันมีแต่ความพร้อมที่จะเชื่อและทำตามๆ กัน คนส่วนใหญ่ว่ายังไง ก็ว่าตามเขา ทั้งๆ ที่คำสอนในพระไตรปิฎกก็ไม่มีบอกว่าให้หลับตา

            พอเรานั่งลืมตานี่จะมีสติรู้ตัวชัดเจน เกิดอะไรขึ้นก็รู้ก็เห็น ไม่เชื่อลองสังเกตดูได้ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าจึงนิยมการเดินจงกรมมาก เพราะมันตื่นตัวตลอดเวลา

             ที่เราจะดู จะศึกษาตัวเอง ก็เพื่อศึกษา รูปนาม กายใจ ให้รู้ชัดตามความเป็นจริง ตามสัจธรรม คือกายกับใจนี่พอตื่นขึ้นมาก็มีแล้ว ถ้าหลับแล้วกายกับใจก็ไม่มีเพราะมันไม่รู้ การเดินจงกรมหรือการนั่งก็ดี ไม่ได้ต้องการค้นหาอะไรมาเพิ่มมาเติมอีก ของจริงโชว์อยู่แล้วตลอดเวลา คือกายกับใจ รูปกับนาม ขันธ์ห้า พอตื่นอยู่มันก็มีแล้ว

            ครูบาอาจารย์จึงสอนว่าให้มีพุทโธ ตัวผู้พูดเขาอาจจะเข้าใจคำว่าพุทโธนั้น ว่ามันหมายถึง ให้รู้อยู่ ให้ตื่นอยู่ แต่ตัวผู้ฟังอาจเข้าใจไม่ถูก เข้าใจว่าต้องท่องต้องบ่นคำว่าพุทโธอยู่นั่น มันจึงเป็นแค่การท่องบ่นคำธรรมดาๆ เท่านั้นเอง หรือบางทีผู้พูดเองนั้นก็ไม่เข้าใจด้วยซ้ำ เพียงแค่บอกสอนต่อๆ กันมา ความเป็นจริง ความลึกซึ้ง ความละเอียดอ่อน ของคำว่าพุทโธคืออะไร ไม่รู้เลย

            จึงเน้นว่าเวลานั่งกรรมฐาน หรือเวลาเดินจงกรมก็ดี ไม่ต้องไปหาอะไรมาเพิ่ม เพียงแค่ดูลงไปเฉยๆ เพราะเพียงตื่นอยู่นั่นก็มีพุทโธอยู่แล้ว ดูเท่านั้น ดูสิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่าข้ามไป อย่าเลยไป มันโชว์อยู่แล้ว ไม่ต้องไปดึง ไปแลก ไปหามาเพิ่มอีก ไม่ต้องไปคว้าอะไรมา ของจริงคือสัจธรรม มันโชว์อยู่แล้ว ดูลงไปเลย

           แต่คำพูดที่สอนกันไม่ค่อยพูดอย่างนี้ ที่สอนกันพอนั่งลงก็เอาแล้ว ให้ไปคว้ามาแล้ว นั่นมันเป็นอนาคตแล้ว ของจริงที่เป็นปัจจุบันโชว์อยู่ ไม่ดู ไม่เอา ไม่ให้เกียรติของที่มีอยู่ เช่น ให้ท่องว่าพุทโธ เรียกหาพุทโธ นั่นมันไปเอาอนาคตมาแล้ว

           เปรียบเทียบเหมือนกับเราเห็นเด็กทารกคลอดมาใหม่ๆ มีเสื้อผ้าใส่ไหม ไม่มี ไม่มีนั่นแหละคือของจริง พอเอาเสื้อผ้ามานุ่งให้ นั่นเป็นอนาคตแล้ว เอาชื่อ เอานามสกุล มาใส่ให้ นั่นเป็นการดึงอนาคตมาแล้ว ไม่ได้เป็นปัจจุบัน มันเป็นการปรุงแต่งแล้ว นี่คือคำเปรียบเทียบอธิบายกับภายนอก การภาวนาก็เหมือนกัน ของจริงพอตื่นแล้วมันก็โชว์อยู่ตลอดเวลา จะไปคว้าอะไรมาอีก จะไปหาอะไรมาบ่นมาท่องอีก ดูลงไปเลย เพราะเราไม่เคยดู ไม่รู้จักการดูตัวเอง ปกติมันชอบไปดูภายนอกตามที่กระแสเขาพากันทำ คนทั้งโลกนิยมทำกันทั้งนั้น

           หรือเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่ง ลมหายใจนี่มันมีอยู่กับทุกคน แต่เคยสังเกตไหมว่ามีลมหายใจเข้า-ออก ทางจมูก ไปถามชาวโลกดูซิ เขาได้ดูไหม ไม่มีทางเลย ทั้งๆ ที่เป็นของมีอยู่จริงในปัจจุบันตลอดเวลา นี่ก็เช่นเดียวกัน พอเรานั่งกรรมฐาน เราก็ไม่เคยคิดจะดูของจริงที่โชว์อยู่ปัจจุบัน มีแต่จะไปคว้าหาดูอะไรอย่างอื่นที่สร้างขึ้นมาเพิ่มใหม่ ของจริงที่มีอยู่แท้ๆ ไม่รู้ ไม่ดู ไม่เรียน ดังนั้น พอนั่งกรรมฐานก็ดูลงที่ปัจจุบันนี่ อย่าข้ามไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น