วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ความเป็นตัวตนสะท้อนออกมาจากความเห็นไม่ถูกต้อง


ความเป็นตัวตนสะท้อนออกมาจากความเห็นไม่ถูกต้อง บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ความเป็นตัวตนสะท้อนออกมาจากความเห็นไม่ถูกต้อง เพราะเห็นไม่ถูกต้องจึงเข้าใจว่าเป็นตัวตน สำคัญว่าเป็นตัวตน มีรสชาติว่าเป็นตัวตน มันไม่เห็นตามเป็นจริง สังขารมันปรุงแต่งให้เป็นตัวตน แต่เดิมตัวตนไม่มี มันก็ปรุงแต่งให้มี แต่งให้ยึดรูป ร่างกาย ว่าเป็นตัวตน มันไม่เห็นเป็นหุ่น เป็นซากศพ นี่มันเห็นไม่ได้ เพราะสังขารปรุงแต่ง เป็นอิทธิพลของความปรุงแต่งที่มันชำนาญการ เคยชิน คุ้นเคย มันก็เลยปรุงแต่งกลับมาที่เดิมไม่ได้ มันคล่องตัว มันชำนาญการที่จะปรุงให้เป็นตัวตน มันปรุงคืนมาจุดดั้งเดิมไม่ได้

ของเดิมมันเป็นแต่เพียงซากศพ จะต้องหาวิธีการช่วยให้มันปรุงกลับมา อย่างเช่น การสอนให้ภาวนาอสุภกรรมฐาน นี่คือปรุงให้มันเห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม นี่เป็นแบบหนึ่งของการกลับมาหาของเดิม จึงมีการให้กรรมฐาน คือให้งาน งานคือปรุงกลับมาที่เดิม ปรุงให้มันเป็นไปเห็นตามความจริง คือเห็นกายเป็นของไม่สวยไม่งาม ทั่วร่างกายมีแต่ของสกปรก ของไม่น่าเอา ของไม่น่าเป็น มีกระดูก มีเลือด มีเนื้อ มีหนอง อาหารที่เอาเข้าไปหล่อเลี้ยงก็เป็นของสกปรก เป็นซากศพ เป็นของตายทั้งนั้น นี่คือวิธีปรุงแต่งกลับมาที่เดิม ถ้าหยิบเอาคำว่า “สังขาร” มาอธิบาย มันก็อธิบายได้แบบนี้

อย่างที่ท่านเขียนไว้ว่า “กรรมฐานห้า” คือ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ มันก็อันเดียวกัน ก็คือการเอามาปรุงเหมือนกัน ปรุง-ภาวนา-คิด มันก็อันเดียวกัน หาคำศัพท์มาพูดให้มันหลากหลายเท่านั้นแหละ ปรุงบ่อยๆ เนืองๆ ปรุงให้มันกลับมาหาของเก่า ปรุงแต่งกลับมาให้มันเป็นอนัตตาเหมือนเก่า ให้มันเข้าสู่หลักการเดิม โดยเอาซากศพมาเป็นอุปกรณ์เปรียบเทียบ เป็นอุปกรณ์การสอน ซากศพคนตายเป็นอุปกรณ์ที่ใกล้ความจริงมากที่สุด เพราะคนตายก็เปลี่ยนไปจากคนเป็นนี่เอง ให้เห็นความจริงที่ว่าร่างกายมันเป็นของเปื่อยเน่า เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม ให้มันคลายความเข้าใจผิด ให้มันมาเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าร่างกายเป็นเพียงซากศพ ซากผี นี่เป็นวิธีปรุงแต่ง

ถ้าไม่ปรุง จะนั่งอยู่ให้มันเกิดเอง มันเป็นไปไม่ได้ มันขัดกับหลักการ ขัดกับความจริง ขัดกับเหตุผล พระพุทธองค์ในอดีตก็สอนให้คิดให้ปรุงกลับคืน “ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วมันจะเกิดขึ้นมาเอง” มันเดินทางด้วยความคิด ด้วยการปรุงแต่งกลับคืนมา พระพุทธองค์ไปสอนปัญจวัคคีย์ครั้งแรกก็สอนเรื่องอนัตตลักขณสูตร สอนจากหยาบไปหาละเอียด จากระดับพื้นฐานไปสู่สิ่งที่มันสูงกว่าเหนือกว่า เริ่มสอนตั้งแต่ “รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” แล้วก็ให้พิจารณาตอบกลับมาตามจริง ก็คือ “รูปไม่เที่ยง” มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แล้วก็ไล่ไป เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ให้คิดพิจารณาตาม ว่ามันใช่ไหม จริงไหม เมื่อมันไม่เที่ยง มันก็ไม่ใช่ตัว มันก็เป็นอนัตตา รูปก็เป็นอนัตตา เวทนาก็เป็นอนัตตา สัญญาก็เป็นอนัตตา สังขารก็เป็นอนัตตา วิญญาณก็เป็นอนัตตา ให้คิดตาม ว่าใช่ไหม จริงไหม ถ้าเห็นตาม รู้ตามได้ มันก็ตรัสรู้ ถ้ายังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นตาม มันก็ยังมืดอยู่

อนัตตา คือ มันเป็นสิทธิส่วนตัวของมัน เป็นอิสระของมัน คนไม่เข้าใจก็บอกว่า อนัตตาแปลว่าไม่มี ไม่มีได้ยังไงในเมื่อรูปเป็นอนัตตา รูปก็ยังมีอยู่นี่ ที่มันไม่เข้าใจก็เพราะยังเป็นปุถุชน ยังไม่เป็นธรรม ยังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม คำว่า “อนัตตา” มันลึกซึ้งเกินกว่าคนธรรมดาจะเข้าใจได้ มันไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่หน้าที่ของคนธรรมดาที่จะเข้าใจได้ ถ้าคนเข้าใจได้มันก็ไม่ใช่คนธรรมดา

อนัตตา ก็คือ มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นจริงอยู่ตามหน้าที่ของมัน อนัตตาไม่ได้หมายถึงว่าไม่มี ไม่เห็น คือของที่มันมีอยู่นั้นมันเป็นอนัตตา เพราะส่วนใหญ่เขาแปลไว้ว่า อนัตตาคือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คนฟังไม่เป็นก็เลยคิดว่าไม่มีตัวไม่มีตน พอเข้าใจไม่ถูกต้อง มันก็สับสน ไม่กระจ่าง แล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย ไม่เกิดศรัทธา เพราะเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่ของง่าย มันเข้าใจได้ยาก ถ้าหมดศรัทธามันก็ยิ่งถอยออกไปไกล จนถึงขนาดหาว่าพูดเรื่องไม่จริง พูดเรื่องงมงาย ศาสนาพุทธสอนงมงาย นี่คือความยาก ความเข้าใจไม่ได้

เมื่อเข้าใจยังไม่ได้ ก็มีทางเดียวก็คือพูดสอนอธิบายขยายความกันต่อไป ฟังกันต่อไป หาคำพูดมาอธิบายเทียบเคียงต่อไป เหมือนที่พระพุทธองค์เทศน์สอนไว้มากมายหลายแง่หลายมุม

ลองแยกชิ้นส่วนร่างกายออกดู เช่น “ผม” ถ้าแยกมันออกมา มันก็ไม่มีตัวมีตนอะไร มันเป็นแต่เพียงหน้าที่ของมัน เป็นอยู่อย่างนั้นเอง หรือ “เนื้อ” ถ้าเอาออกมากองไว้ ก็ไม่มีตัวมีตนอะไร มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นสัจธรรมแบบนั้น เป็นหน้าที่แบบนั้นเอง รื้อเอากองรูป รูปที่คิดว่าเป็นตัวเป็นตน รื้อออก ถอนออก กระจายออก เหมือนรื้อบ้าน

“กระดูก” ก็เป็นอนัตตา “ขน” ก็เป็นอนัตตา “เนื้อ” ก็เป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน กระดูกอยู่ข้างนอกก็ไม่มีตัว กระดูกอยู่ในร่างกายก็ไม่มีตัว หรือ “กะโหลกศีรษะ” มันก็เป็นอนัตตา อนัตตาไม่ได้หมายถึงว่าไม่มี มันมีอยู่แต่มันเป็นอนัตตา มันเป็นการหาวิธีพูดมาชี้นำชี้แนะ ชักจูง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นการทำความเพียร ให้มันเห็น ให้มันยอมรับ ให้มันค้นคว้า ให้มันสับ ให้มันแหลก เหมือนโรงสีข้าว สีเข้าไปจนเปลือกมันออกหมด เหลือแต่เมล็ดข้าวขาวๆ นี่คือเปรียบเทียบได้กับคำว่าการทำความเพียร ไม่ประมาท ไม่ลดละ เมล็ดข้าวเปลือกมันทนต่อการเสียดสีไม่ได้หรอก มันต้องหลุดร่อนออกไปจนหมด เพราะสีไม่หยุด พระ เณร ก็คือโรงสี สีเข้าไป เพียรเข้าไป มันก็เปรียบเทียบกันแบบนี้

รูปมันเป็นของหยาบ เป็นของเบื้องต้น เป็นของพื้นฐาน เป็นอนุบาล ถ้าไม่เข้าใจเรื่องรูปก่อน เรื่องเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยิ่งลึกซึ้ง ละเอียดกว่า มันก็ยิ่งเข้าใจไม่ได้ ฉะนั้น ประตูแรก คือ เปิดร่างกาย เปิดรูปให้ได้ เพราะมันหยาบกว่า ชัดเจนกว่า ถ้าตัวหนังสือขนาดใหญ่อย่างนี้ยังอ่านไม่ได้ อย่าหวังจะไปอ่านหนังสือตัวน้อยๆ นิดๆ สายตาไม่ดีพอจะอ่านได้ มันก็เปรียบเทียบได้อย่างนี้ ย้ำกันอยู่อย่างนี้ จี้กันอยู่อย่างนี้ พากเพียรพยายามอุตสาหะ เผาอยู่จุดนี้ ฝักใฝ่อยู่นี่ ตริตรองอยู่นี่ พยายามที่จะอ่านให้ออกอยู่จุดนี้

คำว่า “สติ” นี่มันก็ยังเข้าใจไม่ชัดแจ้ง คำๆ เดียวนี่แหละ “สติก็คือรู้” “สติก็คือใจ” นั่นแหละ รู้อยู่ที่กาย กายคตาสติ กายก็คือรูป คือซากศพ คือกระดูก คือเนื้อ นี่แหละ กายคือผม คือขน คือตา คือหู นี่แหละ คือเล็บ คือไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารเก่า อาหารใหม่ นี่แหละ หาวิธีสับ วิธีป่น ถากเข้าไป เจาะเข้าไป ชำแรกเข้าไป มันเป็นเรื่องที่ต้องเพียรด้วยปัญญาด้วยความคิด ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่นั่งสมาธิให้มันสงบ

สมาธิมันก็เหมือนคนนอน คนนอนหลับมันจะรู้อะไรได้ ถ้าพูดแรงๆ สะกิดให้สะดุ้งก็พูดแบบนี้ ทำไมต้องไปติดสมาธิ ไปแห่ตามสังคมนิยมสมาธิ คนนอนหลับมันจะทำอะไรได้ นอนหลับแล้วมันรู้เรื่องอะไรไหม เวลานั่งสมาธิแล้วสบายไหม สบายซิ คนนอนหลับมันก็สบาย สบายกว่าไปทำงาน แต่มันได้อะไรไหม คนนอนกินข้าวก็ไม่ได้ กินน้ำก็ไม่ได้ ผลงานของคนนอนหลับคือได้อะไร มันก็ต้องพูดกันให้มันแรงๆ แบบนี้ มันชอบทำตามกัน เชื่อตามกัน ตามกระแสสังคมชาวพุทธ เชื่อแบบเชื่อตำรา เชื่อโบราณ ไม่ใช่ดูถูก แต่เป็นวิธีการแบบหนึ่งที่จะพูดแรงๆ อย่างนี้ ให้มันเข้าใจกระจ่างทุกซอกทุกมุม ไม่ใช่พูดแบบไปลบหลู่ของเก่า “พูดแบบนี้เป็นวิธีการทำความเข้าใจเท่านั้น” เป็นวิธีการที่จะสีให้มันขาวออกมา เป็นวิธีการที่จะไล่ให้มันลุก ไม่ให้มันมัวแต่นอนอยู่ มันสายแล้ว ตื่น ลุกไป เป็นวิธีต้อน ไล่ออกไป ไม่ให้มันติดอยู่กับสมาธิ สงบอยู่กับสมาธิ ให้มันตื่นลืมตาเห็นความเป็นจริง

กายคตาสติ มีสติเป็นไปในกาย สติคืออะไร สติคือรู้ รู้ซะซิ รู้บ่อยๆ รู้เนืองๆ ในกายนี้ จะเอาอะไรมาเป็นสติถ้าไม่ใช่รู้ บางคนก็ขัดว่า รู้มันคือใจต่างหาก เพราะไม่เข้าใจก็เลยพูดแบบนั้น ถ้าอย่างนั้นเวลาเค็ม คุณก็อย่ารู้ซิ เค็มก็ต่างหาก รู้ก็ต่างหาก มันแยกกันออกได้ไหม เวลาหวาน คุณก็อย่าเอาใจมารู้หวาน เวลาร้อน คุณก็อย่าเอาใจมารู้ร้อน ได้ไหม เวลาหนาว คุณก็อย่าเอาใจมารู้หนาว เวลารัก คุณก็อย่าเอาใจมารัก เวลาชัง คุณก็อย่าเอาใจมาชัง ได้ไหม ไม่ได้ นั่นแหละ สติกับรู้ มันก็แบบนั้นแหละ สติมันก็คือรู้ มันเป็นการหาคำมาพูดอธิบายในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้มันเข้าใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น