วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

“รู้” มันมักไปพัวพันกับอารมณ์


“รู้” มันมักไปพัวพันกับอารมณ์
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

“รู้” นี่มันมักไปพัวพันกับอารมณ์ มันเร็ว มันต้องกินอารมณ์ อารมณ์มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยตามธรรมชาติ ต้องให้มันเข้ามากินอารมณ์ภายใน เพื่อให้มันเข้าใจตัวเอง อย่าให้มันไปกินอารมณ์ภายนอก แต่ว่ามันก็เป็นไปได้ยาก เพราะมันไม่เคยกินอารมณ์ภายใน มันเคยกินแต่อารมณ์ภายนอก อารมณ์ภายในก็คือร่างกายนี้ เช่น กระดูก เนื้อ ลมหายใจ ฯลฯ หรือ ความอบอุ่น ร้อน หนาว หรือเฉยๆ ก็เป็นอารมณ์ที่เกิดกับตัวเอง มันไม่เคยกิน มันจึงไม่ความชำนาญ มันไปคุ้นเคยแต่กับอารมณ์ภายนอกคืออารมณ์ที่นำเข้าทางตา ทางหู เป็นต้น เช่น เสียงต่างๆ (มีเสียงมหรสพดังตลอดเวลาอบรม) สติมันก็ไปอยู่กับเสียง มันไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ไม่ใช่สติแบบรู้ตัว มันเป็นสติที่อยู่ภายนอก สติที่ควรจะสะสมคือสติภายใน สติสัมปชัญญะคือรู้ตัว นี่เป็นคำศัพท์ที่ชัดเจน ปกติมันแส่ส่ายออกไปภายนอก ไปยื้อ ไปลาก ไปสาวเอาสิ่งที่อยู่ภายนอกมา มันไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่อยู่กับธาตุสี่ มันไปอยู่กับแสง สี เสียง ซึ่งเป็นธาตุอื่นภายนอก

เขาจึงว่าโลกธรรมครอบงำสัตว์โลก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น สัตว์แปลว่าผู้ข้อง มันข้องอยู่ภายนอก ข้องอยู่กับโลกธรรมแปดอย่าง ซึ่งมันห่างออกไป มันไปอยู่กับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ มันเป็นของภายนอกทั้งนั้น เป็นของนำเข้า เหมือนของนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้ผลิตเองในประเทศ ไม่ได้ผลิตในครัวเรือน พูดเปรียบเทียบอย่างนี้ก็ได้ “ลาภ” มันก็หมายถึงวัตถุทั้งหมด ของที่ได้มาภายนอก อาหาร จีวร ของใช้ต่างๆ สบู่ ยาสีฟัน เงินปัจจัย หรือการทอดผ้าป่าทอดกฐินได้เงินมาก็เป็นลาภทั้งนั้น ทีนี้แม้บวชเป็นพระ อาวุโสกว่าเขา เพราะว่าบวชก่อน นี่ก็เป็น ”ยศ” แล้ว นั่งสูงกว่าเขา เขามากราบ เขาเรียกอาจารย์ ท่านพระครู หลวงพ่อ นี่ก็เป็นยศเป็นเกียรติ แล้ว “สรรเสริญ” ยกย่องมันก็ตามพ่วงมาด้วย สรรเสริญว่าท่านเก่งนะ ท่านดีนะ ท่านมีความสามารถทำได้นะ ท่านบวชอยู่ได้นานนะ ท่านละกิเลสได้ ละโลภ โกรธ หลง ได้ ท่านมีความรู้สูงเรียนจบสูง เป็นมหานะ นี่ขยายความแล้วมันก็ละเอียด จัดว่าเป็นสรรเสริญทั้งนั้น ส่วน “สุข” ก็เช่น อยู่ดีกินดี มีของใช้อำนวยความสะดวกสบาย ไม่มีใครรังแกรบกวน ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วย เหล่านี้เป็นโลกธรรมครอบงำสัตว์โลก ฝ่ายหนึ่งเป็นบวก อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลบ มันเป็นคู่กัน ซึ่งมันเป็นภายนอกทั้งนั้น ถ้าจะพูดขยายความออกไปมันก็มากเรื่องมากความ อย่างที่เห็นเขียนเป็นตำรากันมากมาย จริงๆ มันก็เรื่องเก่าเรื่องเดียวกันนั่นแหละ แต่ขยายความแง่นั้นแง่นี้ให้อ่านมาก ฟังมาก เรียนมาก ก็เพื่อไล่มา ต้อนมา ให้เข้าใจในเรื่องเดียวประเด็นเดียว อาจารย์นั้นก็ว่าอย่างนั้น อาจารย์นี้ก็ว่าอย่างนี้ หลายอาจารย์ก็หลายอย่าง พูดกันไป สอนกันไป อธิบายกันไปมาก จนทำให้งง สรุปไม่ได้ ว่าจะเอายังไงกันแน่ ก็เพราะมันยังไม่เข้าใจ

ฉะนั้น หลักการก็คือ ให้ดูภายใน จะดูลมหายใจ นี่ก็คือดูธาตุสี่ ให้มีสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ คือรู้ตัว สติกับรู้ หรือ สติกับใจ จะว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้ ถ้าไม่มีสติก็คือไม่มีรู้ มันเป็นการตีความ ขยายความให้ละเอียดลงไป ส่วนคำว่า “ตัว” ก็คือ รูป ร่างกายนี้ ตัวธาตุสี่นี้ ให้รู้ที่มันนี่แหละ ถ้าศึกษาบ่อยๆ แล้วๆ เล่าๆ ซ้ำๆ ซากๆ มันจะกลับเข้ามากินอารมณ์ภายในเอง ไม่ว่าจะนั่ง หรือเดินจงกรม นั่งหลับตา หรือลืมตาก็ตาม สังเกตการณ์อยู่บ่อยๆ นี่คือทำความเพียร

ชาวบ้าน ชาวโลกทั้งหลาย มันกินแต่อารมณ์ภายนอก สนุกสนานอยู่กับดนตรี มหรสพ ทั้งวันก็ได้ ไม่รู้สึกปวดหูจากเสียงอึกทึก เพราะมันถนัด มันชำนาญ กินรูปกินแสงสีเสียงภายนอก ถ้าไม่มีมันก็ไปหามา หามาจากภายนอก เช่น หานักเต้นมา หานักร้องมา เพื่อกินรูปกินเสียง นี่คือชาวบ้าน ชาวโลก มันกินแต่อารมณ์ภายนอก เพราะเป็นโลกียวิสัย มันมองเข้ามาภายในไม่เป็น มันกินอารมณ์ปัจจุบันไม่เป็น ไปดึงเอาอย่างอื่นมา ไปสร้างเอาอย่างอื่นมา ทั้งที่ความเป็นจริงถ้ายังไม่ตายมันก็มีอารมณ์ให้กินอยู่แล้ว ตื่นขึ้นมันก็มี “รู้” ทันที และแม้แต่ “รู้” ก็ยังเป็นอาหาร อาหารภายใน อย่างบอกว่านั่งดูรู้ “รู้” นั่นแหละคืออาหาร คืออารมณ์ภายใน มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องนำเข้าจากไหน เป็นอาหารปัจจุบัน อาหารโดยหน้าที่ อาหารโดยธรรมชาติ อาหารโดยสัจจะความจริงของมัน มีอยู่ตลอดเวลา จำเป็นอะไรที่จะต้องไปแสวงหานำเข้ามา

อาหารมีอยู่แล้ว กินอยู่แล้ว แต่มันไม่รู้จัก นี่คือ ไม่รู้จริงตามเป็นจริง มันไปรู้แต่เรื่องภายนอก เรื่องไกลตัว เรื่องโลก ไม่ใช่เรื่องธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น