วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

เวทนาต่างๆ มันก็เหมือนกัน มีค่าเท่ากัน

เวทนาต่างๆ มันก็เหมือนกัน มีค่าเท่ากัน  
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

เวทนาต่างๆ มันก็เหมือนกัน มีค่าเท่ากัน เสมอกันหมด แต่มันไม่เข้าใจ มันก็เลยไปให้โทษให้คุณ ไม่เป็นกลาง เวทนาต่างๆ มันก็เป็นแต่ละอย่างของมัน ถูกใจ ไม่ถูกใจ นี่คือความไม่เป็นธรรม ไปให้ความแตกต่าง แท้ที่จริงมันเป็นแต่ละอย่างของมันเท่านั้นเอง

เวทนาทุกอย่าง ทุกรสชาติ ทุกความรู้สึก มันเป็นแต่ละประเภทของมัน ความเคยตัว เคยชิน ทำให้เข้าใจไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ ความรู้สึกก็เลยไม่เป็นธรรม เป็นการลำเอียง ชอบใจสิ่งนี้ ไม่ชอบใจสิ่งนั้น ชอบใจเวทนาชนิดนี้ ไม่ชอบใจเวทนาชนิดนั้น มันไม่เป็นธรรม ใจไม่เป็นธรรม ความรู้สึกไม่เป็นธรรม ความเห็นไม่เป็นธรรม เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เห็นว่ามันเป็นแต่เพียงหน้าที่ของมัน มันยอมรับไม่ได้ เพราะมันเป็นความเคยตัว เคยชิน

ที่สวดไปว่า “ความไม่สบายกายก็เป็นทุกข์” ความไม่สบายกายก็เป็นเวทนาชนิดหนึ่ง มันเป็นประเพณีนิยม เป็นกระแสนิยม บอกกันว่า “เป็นทุกข์” ก็เลยว่าตามกัน เข้าใจตามกันว่าเป็นทุกข์ มันเลยสำคัญมั่นหมายว่าเป็นทุกข์ ที่จริงมันเป็นแค่ชนิดของเวทนาอย่างหนึ่ง ปวดฟันมันก็เป็นชนิดหนึ่ง ความนิยม กระแสสังคมนิยม ธรรมะที่เขียนไว้ก็บอกว่า “เป็นทุกข์” เวทนาชนิดปวดฟันก็ดี ปวดหัวเข่าก็ดี ปวดขาก็ดี ปวดเอว ปวดหัว ปวดท้อง พอไม่ชอบใจมันก็บอกว่าเป็นทุกข์ ที่จริงมันเป็นชนิดหนึ่งของเวทนา แต่มันไม่ยอมรับ ไม่เห็นตามนั้น นี่คือความเคยตัว เคยชิน ความเป็นประเพณีนิยมมาตั้งแต่โบราณ ไปบอกว่ามันเป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่มันเป็นธรรมชาติของมัน เป็นแต่ละชนิดของเวทนา “ไม่ได้มีความหมายว่าชนิดนี้เป็นทุกข์ ชนิดนี้เป็นสุข” มันเป็นภาษาพูดระดับโลกุตตระ

ถ้าจะใช้ในระดับโลกียะก็พูดได้ถูกต้องว่ามันเป็นทุกข์ ต้องแยกระดับให้มันแตกต่าง ฟังไม่เป็นก็เอาไปปะปนกัน มันก็เลยไม่กระจ่างสักที ผู้สนใจธรรมะก็เลยไม่กระจ่าง พอมันไม่กระจ่างมันก็ทำให้ธรรมะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ แล้วก็ไม่ให้ความสนใจ เพราะว่าอธิบายไว้ไม่กระจ่าง เขียนไว้แบบไม่ได้อธิบาย ไม่ได้ตีความ ก็เลยงง เอาภาษาระดับโลกียะไปปะปนกับภาษาระดับโลกุตตระ มันก็ไม่แจ้งไม่ชัด ทีนี้พอไปสอนว่าธรรมะช่วยให้พ้นทุกข์ มันก็เลยไม่ชัดเจน จนชวนให้เข้าใจผิดไป เพราะว่าไประบุว่า เรื่องเหล่านั้นคือทุกข์ ความไม่สบายใจก็เป็นทุกข์ ความไม่สบายกายก็เป็นทุกข์ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ อย่างที่เราสวดตอนทำวัตรเช้า พิจารณาไม่เป็นมันก็งง มันเป็นทุกข์ในภาษาระดับโลกียะ ระดับชาวบ้านนะ ใช้ได้ แต่ถ้าฟังในระดับพ้นไปเลย ระดับโลกุตตระมันเป็นแค่หน้าที่ของมัน ความเกิดเป็นหน้าที่ ความแก่เป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ชนิดหนึ่งๆ ของมัน นี่มันต้องแยกออกอย่างนี้มันถึงจะกระจ่าง ถ้าแยกไม่ได้ เอามาพูดอธิบายแบบปะปนกัน ใช้แบบปะปนกัน มันก็ไม่กระจ่าง ทำให้เป็นสิ่งน่าเบื่อ

ปวดหัว ปวดท้องก็เป็นทุกข์ ปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระก็เป็นทุกข์แล้วอะไรที่ไม่พอใจก็เป็นทุกข์เสียทั้งหมด ถ้าคนที่ไม่เข้าใจ เขาก็ว่าใครมันจะพ้นทุกข์อย่างที่ว่าได้ ไม่มีใครพ้นได้หรอก นี่คือมองแบบโลกียะ มันก็พ้นไม่ได้จริงๆ เขาก็เลยว่าธรรมะที่สอนกันเป็นเรื่องของพวกงมงาย เห็นผิด พวกนี้พูดผิด สอนผิด ศึกษาธรรมะมาพากันงมงายแต่เรื่องผิดๆ ทั้งนั้น เขาก็เบื่อ เพราะมันมองคนละเรื่องกัน

ถ้าพูดให้มันชัดเจนไปเลยในภาษาระดับโลกุตตระ ก็คือบอกว่ามันเป็นแต่เพียงหน้าที่แต่ละอย่างของมัน เป็นประเภทของมัน ร้อนก็เป็นประเภทหนึ่ง หนาวก็เป็นประเภทหนึ่ง เค็มเป็นประเภทหนึ่ง หวานเป็นประเภทหนึ่ง เผ็ดเป็นประเภทหนึ่ง ปวดฟันก็เป็นประเภทหนึ่ง ปวดหัวก็ประเภทหนึ่ง ปวดท้องก็ประเภทหนึ่ง คันก็ประเภทหนึ่ง แสบก็ประเภทหนึ่ง มันเป็นแต่ละประเภท มันไม่ได้บอกว่าตัวมันเป็นทุกข์ หรือไปตั้งใจทำให้ใครเป็นทุกข์

แต่ก็ไม่ค่อยมีคนจะพูดแหวกแนวออกไปแบบนี้ หายาก ที่เห็นก็เช่นหลวงพ่อพุทธทาส เป็นต้น ส่วนใหญ่มีแต่พูดปะปนกัน มันก็ไม่เลยไม่กระจ่าง แม้แต่เขียนไว้ ขนาดเป็นคู่มือสวดระดับมวลชน เป็นพลังโลก พลังชาวพุทธ แม้ที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ใฝ่ในธรรมก็ยังพูดแบบเดียวกัน ยึดมั่นไปในทางเดียวกัน พากันสวดว่า “...พวกเราเมื่อได้ฟังธรรมนั้นแล้ว จึงได้รู้อย่างนี้ว่า ชาติปิทุกขา แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ ชราปิทุกขา แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ ...ฯลฯ” นี่คือบทสวดที่นิยมสวดกันทั้งบ้านทั้งเมือง สวดกันทุกวัน ก็ระบุไปว่า เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์... เชื่อฟังกันตามคำศัพท์นั้น โดยไม่ได้ตีความให้กระจ่าง

ทีนี้พอไปปฏิบัติธรรม ก็ตั้งเป้าเอาไว้แล้วว่า ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ มันก็ขัดกันชนิดสวนทางเลย คนที่คิดมากหน่อย พอพิจารณาตีความก็งง หัวจะระเบิดแล้ว เพราะมันดูขัดกัน มันไม่กระจ่าง บอกว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บไข้เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ ไปปฏิบัติธรรมก็เพื่อพ้นทุกข์ จะให้พ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ยังไง ก็งงละทีนี้

ขยายความคำว่า “เจ็บ” ก็ได้แก่ ปวดฟัน ปวดหัว ปวดเอว ปวดท้อง ฯลฯ เหล่านี้ก็เป็นทุกข์ ถ้าจะไปปฏิบัติธรรม เพื่อให้พ้นสิ่งเหล่านี้ เขาก็ไม่เชื่อ เขาก็ไม่สน ใครจะไปก็เชิญ เพราะเขาเข้าใจว่าไม่มีใครจะพ้นทุกข์แบบนี้ได้หรอก ในเมื่อบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ ซึ่งมันก็จริงของเขา

ถ้าพูดแบบระดับโลกีย์ ว่าทุกข์คือสิ่งดังกล่าว มันก็ใช้ได้ สำหรับกระแสมวลชน สำหรับกระแสโลก มันไม่ผิดหรอกที่ท่านเขียนไว้ ก็ไม่ผิด แต่มันคนละระดับชั้นกัน ฟังระดับไหน เข้าใจระดับไหน ต้องแยกประเภทกัน ประเภทโลกีย์กับประเภทโลกุตตระต้องแยกออกจากกัน มันจึงจะชัดเจน

บางคนเขาก็พูดต่อไปถึงว่า ถ้าจะให้พ้นจากทุกข์อย่างที่ว่าก็มีแต่ตายเท่านั้นแหละจึงจะพ้น ถ้ามีชีวิตอยู่จะพ้นจากเจ็บไข้ไม่ได้ นอกจากตาย หิวข้าวก็บอกทุกข์ หิวน้ำก็บอกว่าทุกข์ เป็นไข้ปวดหัวก็บอกว่าเป็นทุกข์ หลวงพ่อ หลวงตาทั้งหลาย ก็เห็นไปเข้าโรงพยาบาลกันทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครพ้นทุกข์หรอก เขาก็เถียงไปว่าอย่างนั้น เพราะว่าไปสอนไว้ว่าความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ เขาจึงเห็นว่าไม่มีใครพ้นได้หรอก พูดลมๆ แล้งๆ กันไปอย่างนั้นแหละ ถ้าพ้นทุกข์แล้วก็อย่าไปเข้าโรงพยาบาลซิ เจ็บหัวปวดท้องก็อย่าไปหาแพทย์หาหมอซิ เขาก็เย้ยกันไปใหญ่ มันไม่พ้นหรอกเพราะเห็นเจ็บไข้อยู่เหมือนเดิม ปฏิบัติธรรมไปขนาดไหน เป็นหลวงพ่อหลวงตามีชื่อเสียง ก็ยังเข้าโรงพยาบาลอยู่ ก็ยังเห็นเจ็บหัว ปวดท้อง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคนั้นโรคนี้ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวานอยู่ ไม่เห็นมีใครพ้น ปฏิบัติธรรมมันก็แค่นั่นแหละ นี่เจขาก็ดูถูกแบบนี้ เพราะเขาไม่เข้าใจ มันเอาภาษาระดับโลกีย์ไปรวมกันกับภาษาระดับโลกุตตระ นี่มันเป็นจุดที่น่าคิด แต่ก็ไม่ค่อยมีใครพูดกัน คนที่มันไม่เข้าใจ มันก็ว่าผู้สนใจธรรมะผู้ใฝ่ธรรมนี่งมงาย มันก็เลยยิ่งไม่สน ไม่มีศรัทธา คนที่ว่าก็เป็นชาวพุทธด้วยกันอีกนั่นแหละ มันมองว่าอาจารย์องค์ไหนก็กินข้าว ก็ง่วงนอน แดดร้อนก็เข้าร่ม ฝนตกก็เข้าร่ม ถ้าพ้นทุกข์ได้จริง ก็ไม่จำเป็นต้องกินข้าว ไม่ต้องมีเจ็บหัวปวดท้อง ไม่เป็นโรคนั้นโรคนี้ โน่น..เขาเข้าใจคำว่าพ้นทุกข์ ไปในรูปแบบโน้น ก็เพราะอธิบายไว้ไม่กระจ่าง

ถ้าพูดชัดๆ แยกประเภทคนละระดับไปเลย ระดับโลกียะกับระดับโลกุตตระ คนศึกษาเขาก็จะเข้าใจได้ชัดเจน มันจะโปร่ง หาข้อโต้แย้งได้ยาก และมันก็เป็นธรรม ไม่ลำเอียง ร้อนมันก็เป็นอย่างนั้นของมัน เย็นมันก็เป็นอย่างนั้นของมัน ถ้าเกิดมีความพอใจ ไม่พอใจ ฉันชอบร้อนน่ะ ฉันชอบเย็นน่ะ นี่มันไม่เป็นธรรมแล้ว เพราะมันเป็นแต่ละชนิดเท่านั้น ฉันชอบเค็มน่ะ ฉันไม่ชอบหวานน่ะ นั่นคือความไม่เป็นธรรม ปฏิบัติไปยังไงก็ไม่เป็นธรรม เพราะว่ายังลำเอียงอยู่ ลำเอียงในระดับลึกซึ้ง แม้แต่คำว่า “ลำเอียง” ก็มีหลายระดับอีก มีแยกระดับโลกีย์และระดับโลกุตตระอีก ถ้าอธิบายทำนองนี้มันจะเข้าท่า มันจะชัดเจนออกมา เผ็ดก็เป็นชนิดหนึ่งของมัน ขมก็เป็นชนิดหนึ่งของมัน ฝาดก็เป็นชนิดหนึ่งของมัน ปวดท้องก็ชนิดหนึ่งของมัน ปวดฟันก็ชนิดหนึ่งของมัน มันตีความกระจายออกไปๆ มันก็จะกระจ่าง

การที่ไปเข้าข้างนั้นเข้าข้างนี้ ก็เป็นการลำเอียง ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นกลางก็ไม่ได้ข้อปฏิบัติ ข้อปฏิบัติก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง นี่มันลงตัวกันหมด เดินยังไงก็ยังไม่ถูก เพราะเดินแบบลำเอียง ไม่ได้เดินสายกลาง

แล้วเดินสายกลางจะเดินอย่างไร มันก็แล้วแต่คน จะเดินแบบไหน จะเดินกลางได้หรือไม่ได้ มันเป็นเรื่องของแต่ละคน เป็นสิทธิส่วนตัว ถ้าเดินไม่กลาง มันก็ลำเอียงอยู่นั่น ลำเอียงมันก็ไม่เป็นธรรม แม้จะบอกว่ากำลังปฏิบัติธรรม แต่ที่จริงมันก็ยังไม่ได้ปฏิบัติเลย “ปฏิบัติลำเอียง” อยู่อย่างนั้น มันไม่เป็นธรรม มันไม่เสมอกัน มันก็เลยมีบุญมีบาป มีสูงมีต่ำ มีดำมีขาว มีนรกมีสวรรค์ มีเกิดมีตาย มีดีใจมีเสียใจ มีรักมีชัง มันก็ไม่จบ มันยังต้องเกิดอยู่ ยังจะมีภพมีชาติอยู่ มันเป็นลูกโซ่ของมัน

มันเป็นความเชื่อประเพณีนิยม กระแสนิยม มันแกะไม่ออก มันมาตั้งแต่พ่อแม่โบราณ ดึกดำบรรพ์ ปู่ย่า ตายาย โน่น สอนกันให้มีความยึดถือว่ามันมีความแตกต่าง ให้มีโทษมีคุณ แยกพรรคแยกพวก คนดีคนร้าย พวกเขาพวกเรา มันเป็นลักษณะที่ลำเอียงทั้งหมด ไม่เป็นกลาง มันไม่พ้นโลก โลกมีสองอย่าง มีฤดูแล้ง–ฤดูฝน มีร้อน–หนาว มีผู้หญิง–ผู้ชาย อยู่ด้วยกัน แต่งงาน แล้วก็สร้าง ผู้หญิง ผู้ชาย ขึ้นมาอีก สร้างโลกขึ้นมาอีก “ไม่ใช่หนทางแห่งความดับ” ดับไม่เหลือ อย่างที่เราสวด “ภารสุตตคาถา” ที่ว่า “บุคคลแลเป็นผู้แบกของหนักพาไปฯ พระอริยเจ้าสลัดทิ้งของหนักลงแล้ว และไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา ดับสนิท ไม่มีส่วนเหลือ”

มันเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบในคำสอนต่างๆ ที่เขียนไว้ บางจุดมันก็ชัดเจน อย่างเช่น ที่สวดว่า “...มีส่วนคือการจำแนกอย่างนี้ว่า “รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา ฯ...” แล้วข้ามไปเขียนว่า “รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา ฯ ...” นี่มันชัดเจน ชัดเจนระดับโลกุตตระเลย แต่ถ้าอธิบายในระดับโลกียะ ก็อธิบายว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีคำสามคำพ่วงติดกันไป มีคำว่า “ทุกขัง” รวมอยู่ด้วย

ชนทั้งหลาย ชาวพุทธทั้งหลาย มันก็ยึดอยู่นั่น ยึดแบบตำรา ติดอยู่ในแบบในตำรา ไม่กล้าที่จะสับ ไม่กล้าที่จะแยกแยะออกมา จุดนี้ต้องว่าแบบนี้ แต่จุดนั้นต้องว่าแบบนั้น แยกออกให้มันชัดเจน เช่นเรื่อง “ทุกขัง” คนที่มีความคิดเขาก็จะตั้งข้อสังเกตว่าทำไมในบทสวด ไม่มีว่า “รูปัง ทุกขัง เวทนา ทุกขังฯ...” มันก็จะสะดุด ไม่ยึดตามแบบตามตำราจนไม่มีลืมหูลืมตา เชื่อแบบเชื่อตำรา เชื่อครู เชื่ออาจารย์ จนไม่วิเคราะห์ว่ามันตรงกับความเป็นจริงไหม ตรงกับรสชาติจริงๆ ไหม อย่างการที่ไม่เขียนว่า “รูปัง ทุกขัง เวทนา ทุกขังฯ...” ในบทสวด เขียนแต่ “รูปัง อนิจจังฯ...” แล้วข้ามไปต่อที่ “รูปัง อนัตตาฯ...” นี่มันเป็นภาษาระดับโลกุตตระเลย อนิจจังมันก็เป็นหน้าที่ แล้วก็จริง อนัตตาก็เป็นหน้าที่ แล้วก็จริง ส่วนทุกขัง ใครจะมารับทุกข์อยู่นั่น เอามาใช้กับใคร ใครจะมาทุกข์อยู่นั่น นี่คือพูดแบบภาษาโลกุตตระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น