วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ศึกษาที่ของจริง


ศึกษาที่ของจริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ศึกษาที่ของจริง ส่วนใหญ่มันข้ามของจริงไป ข้ามปัจจุบันไป มันก็เลยเป็นไปในลักษณะความโลภ เป็นความโลภ ความอยาก ไม่ยินดีในของที่มีอยู่ ของที่มีอยู่ไม่พอใจ ไม่ยอมรับของที่รู้อยู่เห็นอยู่ในปัจจุบัน มันมีอาการทะยานอยาก อยากได้มากกว่าที่มีอยู่ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น เช่น อยากเป็นสมาธิ อยากสงบ มันก็เลยข้ามของจริง ข้ามปัจจุบันไป นี่คืออาการของกระแสสังคม กระแสความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณ มันเป็นอยู่แบบนั้น มันจึงข้ามของจริงไป ข้ามปัจจุบันไป มันเป็นกิเลส เป็นความโลภ ทะยานอยาก อยากในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อยากได้ในสิ่งที่ยังไม่มีมา คือมันไม่เป็นปัจจุบัน มันเป็นอนาคตอยู่ อยากเป็นสมาธิ อยากสงบ นี่มันเป็นอนาคตแล้ว เป็นความโลภแล้ว เป็นความไม่พอใจในของที่มีอยู่ รู้อยู่ สรุปก็คือหลง มันก็เลยไม่ตรง ปฏิบัติไม่เป็นทางสายกลาง ปฏิบัติไม่จริงตามปัจจุบันที่มันจริงอยู่แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติไม่จริง ปฏิบัติมาก ขยันมาก เพียรมาก แต่ก็ไม่จริง อดหลับอดนอน อดข้าวอดน้ำ เดินจงกรมจนเหนื่อยจนล้า แต่ก็ไม่จริง เพราะมันข้ามของจริงไป ข้ามปัจจุบันไป ข้ามของที่มีอยู่ไป ไปทะยายนอยากในของที่ยังไม่มี ยังไม่มาถึง มันก็เลยเป็นระดับโลกีย์ ระดับโลก เป็นกระแสชาวโลก เป็นพฤติกรรมของชาวบ้าน มันเลยเป็นการปฏิบัติโลก ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม มันก็เลยไม่รู้ธรรมเห็นธรรมสักที เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองปฏิบัติธรรม แต่จริงๆ ปฏิบัติแบบโลก ไม่ใช่แบบธรรม

มันทำหน้าที่ของมันอยู่ตามธรรมชาติ มันฉายอยู่แล้ว มันโชว์อยู่แล้ว แจ่มแจ้งอยู่แล้ว ไม่ยอมรับ ไปทะยานอยาก หน้าที่ก็คือหน้าที่ของขันธ์ห้า มันทำการของมันอยู่แล้ว มันปฏิบัติการของมันอยู่แล้ว มันเป็นจริงของมันอยู่แล้ว แต่ไม่เอา ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับมันก็เลยข้ามไป มันข้ามไปแล้ว ข้ามก็คือข้ามปัจจุบันไป ข้ามไปก็คือไม่ตรง ไม่ตรงมันก็ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางไม่ได้เดินสักที ไม่ได้ปฏิบัติพอดี มันปฏิบัติเกินไป พอดีก็คือสิ่งที่มีอยู่ โชว์อยู่ สิ่งที่รู้อยู่ สิ่งที่มันเป็นพุทโธอยู่ในปัจจุบัน พุทโธในปัจจุบันไม่เอา จะไปเอาพุทโธในอนาคต พุทโธก็คือรู้ รู้อยู่ในปัจจุบันไม่เอา นี่ก็หมายความว่าไม่เอาพุทโธในปัจจุบัน จะไปเอาพุทโธอนาคต มันก็เป็นพวกเดียวกันกับความโลภ ความทะยานอยาก ความไม่อิ่ม ไม่พอ ไม่พอใจในของที่มีอยู่ นี่คืออาการที่เราจะเห็นได้ ถ้าเราสังเกตดู

“รู้” นั้นมันไม่ได้เป็นทุกข์ คำว่า “เป็นทุกข์” นี่มันเป็นคำที่ชวนให้หลงมากมาย ชวนให้เข้าใจผิด มันไม่มีอะไรที่จะเรียกว่าทุกข์ มันมีอะไรมาขวางอยู่นั่นจึงบอกว่าทุกข์ เป็นทุกข์ มันมีอะไรเกิดขึ้นมันก็รู้เท่ากันหมด รู้เหมือนกันหมด มันเป็นเพียงแต่ว่ารู้ อย่างคำว่า “รู้สุข-รู้ทุกข์” “เป็นสุข-เป็นทุกข์” คำศัพท์สองคำนี่ก็ชวนให้หลง คำว่า “สุข-ทุกข์” มันก็เป็นพวกเดียวกันกับ “เกิด-ตาย” เวียนเกิดเวียนตายในวัฏฏสงสารนี่แหละ เมื่อมีคำว่า “สุข-ทุกข์” มันก็มี “เกิด-ตาย”

คำที่มันชัดเจนมากกว่า คือ คำว่า “เกิด-ดับ” คือ อนิจจัง หรือ “ไม่เที่ยง” เป็นศัพท์ที่ไม่ชวนให้หลง แต่สังคมก็นิยมใช้ นิยมพูดกันว่า สุข-ทุกข์, เกิด-ตาย ซึ่งมันเป็นคำที่ไม่ตรง มันชวนให้เข้าใจผิด พระก็พูด โยมก็พูด แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว สอนกันว่ามีสุขมีทุกข์ มีบุญมีบาป มีเกิดมีตาย มีรักมีชัง เหล่านี้มันเป็นพวกเดียวกัน เป็นทำนองเดียวกัน แล้วเมื่อไหร่มันจะจบสักที มีเกิดมีตายอยู่นี่ มีได้มีเสียอยู่นี่ มีร้องไห้มีหัวเราะอยู่นี่ มันก็พวกเดียวกันกับคำว่าสุข-ทุกข์

เพราะฉะนั้น คำว่า “สุข-ทุกข์” นี้ไม่ต้องกล่าว มันจึงจะถอนทิฏฐิในความที่มันเคยชิน เคยตัวมาแต่เดิม ให้ใช้คำว่า “เกิด-ดับ” หรือ “อนิจจัง” แทน มันจึงจะไม่สร้างตัวตนขึ้นมา มันจะเป็นการลบอัตตาไปพร้อมกัน ลบตัวที่มันเข้าใจผิด ตัวที่มันทำให้เห็นแก่ตัว

รู้แบบไหน มันก็เป็นแต่เพียงหน้าที่ของมัน รู้เฉยๆ ก็ตามหน้าที่ของมัน รู้สุข รู้ทุกข์ นี่ไม่ต้องกล่าว อย่างร้อนนี่ บอกว่ารู้ร้อนก็พอ ถ้าไปบอกว่าร้อนมากเป็นทุกข์ หนาวมากเป็นทุกข์ นี่มันเป็นภาษาระดับโลกีย์ เป็นภาษาที่พูดแล้วชวนให้หลง คำว่า ทุกข์ ไม่ต้องไปกล่าวถึง ร้อนมากก็คือร้อนมาก หนาวมากก็คือหนาวมาก ไม่ต้องไปเติมมันว่าเป็นทุกข์ มันก็จะเข้าใจได้ง่าย เห็นว่ามันเป็นจริงอยู่แค่นั้น และเป็นการลบอัตตาไปในตัว ทำลายอัตตาไปในตัว และมันเป็นอาการตายตัว มันก็ดับตัวตน นี่คือนิพพาน ดับ เย็น ดับคือดับความรู้สึกที่ว่ามีอัตตา ไม่ใช่ดับร้อน ไม่ใช่ดับหนาว ไม่ใช่ดับเจ็บ ไม่ใช่ดับปวด ไม่ใช่ไปดับปวดหัว ดับปวดฟัน ดับเผ็ด ดับเค็ม ดับหวาน ดับขม นั่นมันบ้าแล้ว ถ้าคิดแบบนั้นยิ่งหลงไปกันใหญ่

ทุกอาการมันเป็นหน้าที่เสมอกัน มีอิสรภาพ เสรีภาพเท่ากัน มีเกียรติเท่ากัน มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ร้อนก็มีเกียรติเท่ากับเผ็ด ร้อนมีเกียรติเท่ากับเค็ม ร้อนมีศักดิ์ศรีเท่ากันและมีเกียรติเท่ากันกับขม เป็นชนิดหนึ่งเหมือนกัน ถ้าไปพูดว่าเผ็ดมากเป็นทุกข์ หวานมากก็เป็นทุกข์ เค็มมากก็เป็นทุกข์ ขมมากก็เป็นทุกข์ นี่มีแต่เอาคำว่าทุกข์ไปใส่ให้มัน ไปกล่าวตู่มัน ทั้งๆ ที่มันเป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติของมัน มันมีตัวบุคคลไปตู่มัน ไปบอกไปกำหนดมัน ว่ามันทำให้ทุกข์ มันทำให้กูทุกข์ ให้ฉันทุกข์ ร้อนมากกูก็เป็นทุกข์ ปวดมากกูก็เป็นทุกข์ เจ็บมากกูก็เป็นทุกข์ นี่คือความเห็นหรือภาษาที่ชวนให้หลง มันไม่ชัดเจน มันไม่เป็นธรรม

หวานก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นทุกข์ เผ็ดก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นทุกข์ เค็มก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นทุกข์ จืดก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นทุกข์ แล้วถ้าอร่อยทำไมไม่บอกว่าเป็นทุกข์ ไม่เอาคำว่าทุกข์พ่วงเข้าไป รวยก็เป็นทุกข์ จนก็เป็นทุกข์ นี่ก็พูดให้มันเท่ากันด้วยซิ การพูดว่าเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ อะไรก็เป็นทุกข์ นี่ใช้ได้ในฝ่ายโลกีย์ คือพูดให้มันกลัว ให้มันเกรง ต้อนมัน ไล่มัน แต่ฝ่ายระดับโลกุตตระ ระดับเหนือสุด มันไม่มีคำว่าเป็นทุกข์ ต้องแยกเข้าใจแบบนี้ การพูดว่าทุกข์เพื่อชี้ให้มันเห็น ให้มันกลัว ให้มันหนีจากทุกข์เหล่านั้น แต่ถ้าเอามาพูดผสมกัน มันก็ยุ่งเลย เอาฝ่ายโลกีย์กับฝ่ายโลกุตตระมาผสมปนเปกัน มันก็ไม่กระจ่างสักที ต้องแยกออกจากกันมันจึงจะเข้าใจได้ง่าย จึงจะกระจ่าง จึงจะคิดต่อไปได้ จึงจะเดินต่อไปได้ ถ้าคนไม่คิดมันก็ทื่อๆ อยู่เฉยๆ ไม่สงสัยอะไร เชื่อเรื่อยไป ได้ยินอะไรก็เชื่อ ใครบอกอะไรก็เชื่อ ถ้าคนคิดนี่มันจะเจอปัญหาความไม่ชัดเจน จึงต้องแยกออกเป็นคนละกองคนละฝ่าย

มันเป็นแต่ละหน้าที่ของมัน เป็นตัวของมันเองที่จะแสดงอาการนั้นๆ หนาวมันก็เป็นหน้าที่ ร้อนมันก็เป็นหน้าที่ เจ็บมันก็เป็นหน้าที่ เจ็บน้อย เจ็บมาก มันก็เป็นหน้าที่ ร้อนมากร้อนน้อยมันก็เป็นหน้าที่ หนาวมาก หนาวน้อย มันก็เป็นหน้าที่ เค็มน้อย เค็มมาก มันเป็นหน้าที่ เผ็ดน้อย เผ็ดมาก มันเป็นหน้าที่ ขมน้อย ขมมาก มันเป็นหน้าที่ เสียงดัง เสียงเบา มันก็เป็นหน้าที่ ตาเห็นชัด เห็นไม่ชัด มันก็เป็นหน้าที่ มันไม่ได้มีความแตกต่าง มันมีความเป็นธรรม มันไม่ได้รักสิ่งหนึ่งแล้วก็เกลียดอีกสิ่งหนึ่ง ถ้ารักสิ่งนี้เกลียดสิ่งนั้นนั่นคือความไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมก็เพราะไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักหน้าที่ ใจก็เลยลำเอียง ถ้ารู้สึกว่า เออ..อยู่สบายอย่างนี้ค่อยยังชั่วหน่อย นี่ไม่เป็นธรรมแล้ว โอ๊ย..เจ็บมากอยู่ไม่ไหวแล้ว นี่ลำเอียงแล้ว เจ็บมันเป็นหน้าที่ ถ้าไปรังเกียจมัน มันก็ไม่เป็นธรรม จะเอาแต่ฝ่ายที่ถูกใจ มันก็ไม่ถึงธรรม ไม่เห็นธรรม ใจก็ไม่บริสุทธิ์ มีอคติธรรม มันก็ไม่ตรัสรู้ธรรม มันก็ไม่หายตัว เพราะเอาตัวไปรองรับอยู่ ต้องย้ำมันอยู่แบบนี้ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนพูดในทำนองนี้ คิดว่าถ้าพูดแล้วเกรงคนอื่นเขาจะไม่เข้าใจ คนที่มีปัญญาเขาก็เลยไม่มีโอกาสจะได้ฟังเรื่องจริง ของจริง ไปพูดแต่เรื่องระดับทั่วไปเขาก็เลยคิดว่าศาสนาพุทธนี่สอนแต่เรื่องงมงาย เป็นพิธีกรรม เป็นประเพณี เป็นเรื่องความเชื่อ ไม่มีเหตุผล

นั่งเฉยๆ สบายๆ สบายมันก็เป็นหน้าที่ อยู่เฉยๆ ไม่เจ็บไม่ไข้ อากาศกำลังเย็นฉ่ำ นี่มันก็เป็นหน้าที่ ก็คือ “รู้” เหมือนกัน รู้ก็คือวิญญาณ คือหนึ่งในขันธ์ห้า เป็นหน้าที่ของขันธ์ห้า รู้สึกอากาศเย็นสบายๆ มันก็เป็นหน้าที่ของเวทนา ซึ่งเป็นขันธ์หนึ่งในห้าขันธ์ ตัวที่รู้พร้อมกับเวทนาก็คือวิญญาณ รู้สึกว่ามีความแตกต่างนั่นก็คือสัญญา ซึ่งเป็นตัวความจำ ถ้ามันปรุงขึ้นมันคิดได้ว่าอากาศร้อนไป อากาศหนาวไป อากาศดี ไม่ดี นั่นคือสังขาร ไม่ใช่ว่าใจเป็นตัวคิดตัวนึกอย่างที่คนทั่วไปพูดกัน ใจทำหน้าที่แค่รู้อย่างเดียวเท่านั้น สัญญาและสังขารนี่มันใกล้เคียงกัน แยกแทบไม่ออก มันเกิดพร้อมกันเลย มันเป็นบทบาทหน้าที่ของขันธ์ห้า เน้นทำความเข้าใจว่า “วิญญาณ” ไม่มีหน้าที่อื่น มีหน้าที่เดียวคือหน้าที่ “รู้” ตามไปรู้ทุกรูปแบบ รู้อยู่ที่ไหน รู้อะไร รู้แบบไหน นั่นคือมีวิญญาณประกอบอยู่ ย้ำประจำว่าฝ่ายนามสี่ตัวนี่จะไปด้วยกัน เกิด-ดับพร้อมกัน คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมกันเรียกว่าเป็นใจ เรียกว่าเป็นจิต อย่าให้มันแยกกัน ถ้าแยกกันมันทำความเข้าใจไม่ได้ สี่อย่างนี้มันต้องทำการพร้อมกัน เหมือนกับร่างกายนี้ก็ต้องมี ดิน น้ำ ไฟ ลม สี่อย่างทำการพร้อมกันจึงดำรงอยู่ได้ ตั้งอยู่ได้ ต้องย้ำจุดนี้ เน้นจุดนี้ เพราะจะศึกษาเรื่องขันธ์ห้านี้โดยเฉพาะ เรื่องอื่นรู้พอแล้ว ถึงเราไม่รู้ คนอื่นเขาก็รู้แล้ว แต่เราอยากจะรู้เรื่องนี้ตามศาสดาของเรา ที่ท่านรู้มาก่อนและบอกสอนต่อมา แล้วเราก็จะรู้ตามท่าน นี่คืองานที่พระจะต้องทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น