วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มันไม่ใช่การนั่งเพื่อหาอะไร



มันไม่ใช่การนั่งเพื่อหาอะไร
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
-------------------------------------------------------------------------

มันไม่ใช่การนั่งเพื่อหาอะไร หรือนั่งให้เห็นนิมิตอะไร พอตื่นขึ้นมันก็มีให้เห็นอยู่แล้ว ขอเพียงแต่ไม่หลับมันก็เห็น แต่เราไม่ยอมรับมัน คิดว่ามันง่ายไป น้อยไป อะไรทำนองนี้ เคยชินเคยตัวกับอย่างอื่น โดยมากมันไปตามกระแส ตามแบบ ตามตำรา ตามครูตามอาจารย์ คือทางมันเคยเดินจนชิน ทางปัจจุบันมันจึงไม่สนใจ ข้ามไปอยู่กับแบบกับตำรา ข้ามไปอยู่กับคำสอนของครูบาอาจารย์ นี่มันข้ามไป ไปอยู่กับอดีต อนาคต

ถ้าไม่อยู่กับปัจจุบัน มันก็ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ในทางสายกลางคือมัชฌิมาปฏิปทา มันไปอยู่สุดโต่งสองข้างแล้ว การปฏิบัติต้องเน้นเข้าสู่จุดนี้ให้ได้ ไปอยู่จุดอื่นนี่มันออกนอกทางแล้ว ถ้าไม่อยู่กับปัจจุบัน มันก็เสียเวลาเปล่า แต่มันก็ต้องเสียเวลาเพราะมันไม่รู้ มันจึงมีอย่างเดียวคือเพียร ทำความเพียร ซึ่งคำว่า “เพียร” มันก็ตรงกับคำว่า “ศึกษา เรียนรู้ เป็นนักศึกษา” ศึกษามันก็มีหลายทาง ศึกษาจากแบบจากตำรา จากครูจากอาจารย์ แต่ศึกษาแบบนี้มันเป็นการศึกษาภายนอก ถ้าศึกษาภายในมันต้องศึกษาที่รู้ ศึกษาที่ใจ อ่านที่ใจ ฟังที่ใจ ดูที่ใจ คืออาจารย์ภายใน ข้อมูลที่จะได้ภายในนี้พอตื่นขึ้นมันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเดินหา วิ่งหา เปิดหาเหมือนเปิดตำรา พอตื่นขึ้นมันก็มีให้เรียนให้ศึกษาแล้ว นั่นก็คือปัจจุบัน คือ รู้ บอกว่า “ดูรู้” ก็คือปัจจุบัน แต่ถ้าบอกว่าเอาพุทโธมาท่อง นั่นมันไม่เป็นปัจจุบันแล้ว มันคือภายนอกแล้ว ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติมันก็ข้ามไปข้ามมา ไม่ตรงสายกลางสักที

ของจริงมันโชว์ให้ดูอยู่ตลอดเวลา แต่มันไม่ยอมรับ พอตื่นขึ้นมันมีแล้วทางสายกลาง จนกว่ามันจะหลับมันจึงหมดไป เหมือนกับว่าดูจิต พอตื่นขึ้นมันมีแล้วจนกว่าจะหลับ ตอนหลับมันไม่รู้แล้ว เวลาหลับดูอะไรไม่ได้แล้ว พูดกันตรงๆ แบบชัดๆ ก็คือ มันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาเพิ่มเติม พูดอย่างนี้มันก็ไม่ยอมรับ เพราะเขาก็สอนพุทโธกันทั้งนั้น มันก็รู้สึกขัดแย้งโต้แย้ง ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของ “ความไม่รู้” ถ้าเป็นหน้าที่ของ “ความรู้” แล้วมันก็ไม่โต้แย้ง มันก็จะพอใจ ชื่นชม เพราะเข้าใจได้ อยากจะฟังอย่างนี้มานานแล้ว

กายกับใจนี่มันเป็นต้นทุน เรามีชีวิตอยู่นี่แหละคือมีทุนการศึกษาแล้วไม่ต้องไปกู้ยืมรัฐบาลหรือธนาคาร มาเรียนต่อ เรามีทุนเพียงพอแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้นทุนคือกายกับใจ รูปกับนาม คือขันธ์ห้า มีทุกคน แต่ไม่เอาไปลงทุน มันก็ไม่ได้กำไรสักที นี่คือการเปรียบเทียบอธิบายแบบภาษาภายนอก กายกับใจนี่มันอยู่ด้วยกัน พอตื่นมันก็มีพร้อมแล้ว โบราณเปรียบว่าร่างกายมันเป็นถ้ำมีใจอยู่ภายใน ใจนี่มันก็มีการไปการมาโดยธรรมชาติ มันเป็นหน้าที่เป็นสังขารการปรุงแต่ง วิญญาณมันทำหน้าที่รู้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรกับใคร รู้ร้อน รู้หนาว รู้ถูก รู้ผิด รู้ชอบ รู้ชัง รู้เจ็บ แต่มันไม่ได้ร้อน ไม่ได้หนาว มันทำหน้าที่รู้เท่านั้น แต่สังคมทั่วไปมักจะพูดว่า ใจเป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างนี้ ใจมันร้อน ใจมันโกรธ ใจมันรัก นี่คือกระแสคำพูดที่พูดตามกันแบบจำเจ อาการจริงๆ ใจมันเป็นขันธ์ที่ห้า คือวิญญาณ มันทำหน้าที่รู้อย่างเดียว แต่บางทีก็รวบเอานามทั้งสี่คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเรียกรวมกันว่าใจ ถ้าไม่เข้าใจมันก็สับสน ดังนั้นต้องกระจ่างเรื่องความหมายในคำศัพท์ที่ได้ยิน ให้มันชัดเจนขยายความออกไปได้

ขยายความคำว่า รูปก็คือธาตุสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ แข็งๆ นี่คือดิน เหลวๆ นี่คือน้ำ ลมหายใจและลมเคลื่อนภายในก็คือธาตุลม อุณหภูมิความร้อนที่เผาอาหารให้ย่อยคือธาตุไฟ ควรรู้ให้มันชัดเจนว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ต้องสับให้แหลก ตีให้แตก ในภาษาในคำศัพท์ที่ได้ยิน ไม่งั้นมันก็จะค้างคาสงสัยอยู่

การปฏิบัตินี่มันไม่ได้ปฏิบัติเอา หรือที่บอกว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็พูดกันตามกระแส บางคนฟังแล้วก็ไม่เข้าใจคำว่า “ธรรม” คืออะไร “ผู้ใฝ่ธรรม ผู้ศึกษาธรรม ผู้ปฏิบัติธรรม” พูดตามๆ กัน แต่ไม่กระจ่างแม้เพียงคำว่า “ธรรม” มันไม่รู้ด้วยับใครความเป็นปัจจัตตัง นี่คือความมืดบอด ความไม่เข้าใจ พูดกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ สวดกันสารพัด แต่มันไม่มีธรรม มันไม่กระจ่าง ดังนั้นมันต้องขบคิดบ่อยๆ เทียบเคียงบ่อยๆ นั่นคือทำความเพียร ไม่ใช่ว่าจะไปเดินจงกรมอย่างเดียว นั่งสมาธิอย่างเดียว จึงเรียกว่าทำความเพียร นั่นมันเพียรภายนอก เรียกว่าเพียรแบบชาวบ้านก็ได้ เห็นนั่งมากๆ เดินมากๆ เขาจึงเรียกกันว่าเพียร โอ้..เป็นพระทำความเพียรมากขนาดนี้ยังบอกว่า “เพียรแบบชาวบ้าน” อีก นี่ยิ่งงงกันไปอีก

ถ้าจะอธิบาย “ธรรมก็คือจริง” ต้องสับต้องตีความให้มันกระจ่างในความรู้สึก มันต้องอธิบายขยายความได้ มันต้องแจกแจงไปเรื่อยๆ หลายครั้ง หลายปี จนกว่าจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง หายสงสัย นั่นมันเป็น สัญชาตญาณ พอมันกระจ่างแล้วมันก็มั่นใจ ไม่เกรงกลัว สามารถจะพูดอธิบายได้อย่างกล้าหาญ เชื่อมั่นในตัวเอง ไมใช่เชื่อเขามา ฟังเขามา แล้วมาบอกว่าเชื่อมั่น เชื่อมั่นอย่างนั้นมันไม่บริสุทธิ์ มันไม่เป็นปัจจัตตังเฉพาะตัว ดังนั้นต้องขบคิดพิจารณาให้มันกระจ่าง ไม่ให้มันติดข้อง ถ้าติดข้องมันก็ไปต่อไม่ได้ มันไม่โปร่ง ไม่โล่ง

นั่งแล้วจะเอาสบาย พอสบายก็บอกว่าตัวเองเป็นสมาธิ จริงๆ แล้วสมาธิมันก็เหมือนกับการนอน นอนอาจจะยังไม่หลับ นอนเฉยๆ สบายกว่านั่ง สบายกว่ายืน สบายกว่าเดิน เพราะมันช่วยกระจายน้ำหนักตลอดลำตัว จึงพอใจกับการนอนมากกว่าอย่างอื่น ถ้าเปรียบเทียบสมาธิก็เช่นเดียวกัน ใจมันเป็นสมาธิ ก็เหมือนกับคนชอบนอน ไม่ชอบทำงาน เพราะนอนมันสบาย นี่คือการตีความเปรียบเทียบให้ชัดเจนเรื่องสมาธิ นี่ขนาดยังไม่หลับ ถ้าหลับยิ่งสบายกว่านี้ นอนแล้วหลับด้วยยิ่งสบาย สมาธินี่มันก็นุ่มนวลกว่าการนอนธรรมดา เพราะมันได้พักผ่อนเต็มที่ มันจึงรู้สึกสบายกว่าการนอน ถ้าใครติดสมาธิมันก็เหมือนกับการติดนอน เดี๋ยวนี้มันกำลังเป็นกระแสนิยมฝึกสมาธิ ชวนกันนั่งสมาธิ มันก็เหมือนกับชวนกันมานอน ชวนกันมาพักผ่อน หยุดกระโดดโลดเต้นสักพักหนึ่ง ถ้าตีความมันก็ออกมาอย่างนี้

สำหรับผู้ใฝ่ธรรมก็ต้องขบคิดพิจารณาอย่างนี้ เข้าใจภาษาอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของผู้ที่จะไปจากโลก ถ้าไม่ขบคิดตีความ ปฏิบัติไปตามๆ เขา มันก็เสร็จ เสร็จก็คือสึกไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น