วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มันไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่ม

มันไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่ม
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
-------------------------------------------------------------------------

มันไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่ม ของจริงมันก็มีอยู่ โชว์อยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่สนใจดูของจริง คือสัจธรรมมันมีอยู่แล้ว เป็นปกติ ปกติของความรู้สึก มันไม่ดู เพราะมันทะยานอยาก จึงหาสิ่งอื่นมาเพิ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกความจริง มันไม่ใช่สัจธรรม พอหาสิ่งภายนอกมันก็ไม่เห็นไม่รู้ตามเป็นจริง เพราะเราไปใฝ่อยู่ภายนอก ภายนอกมันไม่ใช่สัจธรรม มันเป็นโลภ เป็นโลกีย์ ธรรมคือสิ่งที่มันรู้อยู่ ถ้าไม่ตายไม่หลับมันก็รู้อยู่ รู้อยู่ก็นั่นละคือความจริง เหมือนที่เขาพูดกันบ่อยๆ ว่าพุทโธ ๆ คนไม่ตายนั่นแหละคือพุทโธ แต่นี่เราไปสร้างพุทโธขึ้นมาใหม่ ไปผลิตขึ้นมาใหม่ เสริมมา เติมมา เปรียบได้กับการไปอยู่กับอดีต อนาคต ไม่อยู่กับปัจจุบัน สิ่งที่มีอยู่คือปัจจุบัน ไม่ดู ไม่เอา ไม่พอใจ ก็เป็นการทะยานอยาก คือโลภ โลภอยากได้ มันก็เป็นกิเลสแล้ว เอาพุทโธใหม่มา พุทโธดั้งเดิมไม่เอา พุทโธที่มันโชว์อยู่แสดงอยู่ตลอดเวลาที่มันไม่หลับ ไม่เอา ไปหามาเพิ่มใหม่ มันก็เลยเข้าใจไม่ได้สักที ไม่สัมผัสพุทโธตัวจริงสักที จะสัมผัสได้ยังไงก็ไม่ดูมัน ไม่เข้าใจ อยู่ห่างไกลมัน นี่คือลักษณะของการข้ามไป ของจริงไม่เอา ปัจจุบันไม่ดู ไปดูอดีต อนาคต ก็เปรียบเหมือนกับการไปดูภายนอก ไม่ดูภายใน สิ่งที่มันผ่านไปแล้ว สิ่งที่มันยังไม่มา มันก็เป็นอารมณ์ภายนอก ไม่ใช่อารมณ์ภายใน นี่คือการหาคำศัพท์มาเปรียบเทียบเพื่ออธิบายขยายความ พูดง่ายๆ ก็คือ อารมณ์ภายนอกมันไม่ใช่ข้อปฏิบัติ ข้อปฏิบัติคืออะไร คือสายกลาง คือปัจจุบัน คือรู้อยู่ ตื่นอยู่ มันก็รู้อยู่ที่ปัจจุบัน นั่นล่ะคือพุทโธ ไม่อยู่อดีต ไม่อยู่อนาคต มันก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา มันต้องศึกษาธรรมระดับใจอย่างนี้มันถึงจะรู้ มันถึงจะเร็ว จุดแตกหักมันอยู่ที่นี่ จุดที่จะต้องทำความเข้าใจตัวเอง จับจุดได้เท่านั้น รู้ว่าจะมุ่งปฏิบัติไปทางไหน มันก็มั่นใจ ศรัทธาเราก็ดิ่งไปที่จุดเดียว ไม่คว้าไปให้อลเวง ฟุ้งซ่าน สงสัยอยู่นั้นแหละ มันก็ฟุ้งซ่านกับอารมณ์ภายนอก

มันไม่ใช้วิธีที่จะต้องหาอะไรมาเพิ่ม ไม่ใช่ปฏิบัติเอาอะไร คำศัพท์ที่พูดสอนกันบางที่มันก็ชวนให้หลง “ปฏิบัติ” นี่มันค้านกับความจริงที่ต้องการสื่อ แต่มันก็ใช้ได้กับคนอีกระดับหนึ่ง ก็ต้องรู้ว่าเป็นคำศัพท์ที่ใช้ระดับไหน เป็นภาษาชาวบ้านหรือภาษาชาวพุทธ ภาษาคนหรือภาษาธรรม จะว่าผิด มันไม่ผิดหรอก ถ้าเข้าใจ จริงๆ มันคือการปฏิบัติเพื่อให้รู้จริงตามที่มันเป็นอยู่จริง นี่จะชัดเจนมากกว่า ไม่ชวนให้หลง ถ้าพูดว่าปฏิบัติเอา จะเอาอะไร ใครจะเป็นผู้เอา ยังจะมีผู้เอาอยู่นั้น ไหนว่าจะทำลายอัตตา มันก็ทรงไว้ซึ่งอัตตา ทรงไว้ซึ่งความเห็นแก่ตัว มันจึงเป็นคำพูดระดับชาวบ้าน ไม่ใช่ระดับชาวพุทธ

คำว่า “ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์” นี่ก็เหมือนกัน จะเอาอะไรเอาใครไปพ้นทุกข์อยู่นั่น มันก็ทรงไว้ซึ่งตัวตน มีตัวเองเป็นคนที่จะพ้นจากทุกข์อยู่ หรือมีตัวเองจะพ้นจากสุขอยู่ มันไม่มีอะไรที่จะไปพ้น ไม่มีอะไรที่จะอยู่จะไปจะพ้น คำศัพท์ที่ว่า “ปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์” มันก็เป็นคำสำหรับชาวบ้าน สำหรับชาวโลก ที่หลวงพ่อเลือกใช้คำที่มันสะดุดหูเพื่อให้หันมาสนใจเป็นพิเศษ ถ้าพูดคำธรรมดาๆ ก็ผ่านเลยไปเฉยๆ คำพูดก็เลยกวนๆ สะดุดความรู้สึก คำพูดที่เขาไม่พูดกัน หลวงพ่อจะหามาพูดหามาใช้ มันเป็นการพูดอธิบายอีกแบบหนึ่ง เป็นคำแนะนำ ชี้นำ ในอีกแง่หนึ่ง ที่ไม่ใช้คำพูดตามๆกัน เพื่อชี้ให้เห็น ชี้ให้รู้ ชี้ให้เข้าใจ

อย่างพอบอกว่าต่อไปเรามานั่งกรรมฐาน มานั่งสมาธิ นี่มันข้ามไปแล้ว ข้ามทางสายกลาง เลยไม่ได้ปฏิบัติสักที ก็มันข้ามไป พอตั้งใจนั่งสมาธิมันก็ข้ามไปแล้ว เพราะมันไม่ดูของจริง ปฏิบัติทุกทีก็ข้ามทุกที คุณก็ไม่ได้ปฏิบัติทุกทีเหมือนกัน นั่งมากก็ข้ามไปมาก ของที่มันโชว์อยู่ไม่ดู เหมือนเด็กทารกเกิดใหม่มีแต่ตัว พอเอาชื่อมาตั้งให้ เอาเสื้อผ้ามาใส่ให้ นั่นละคือข้ามไป ข้ามของจริง มันเป็นการหาสิ่งอื่นมาเพิ่ม ของจริงก็เลยถูกทับถม ถูกฉาบทาถูกปกปิด อะไรมาปกปิด ก็คือชื่อ นามสกุล มาปกปิดเด็กทารกนั่นละ เหมือนกับที่เขาพูดกันก็พูดได้ว่าเอาลาภ ยศ สรรเสริญ นั่นล่ะมาปกปิดของจริง เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว ดาวบนบ่า นั่นล่ะเอามาเพิ่ม แล้วก็ฟูใจ หลงใหล สิ่งเหล่านั้นล่ะคือสิ่งปกปิด ขยายความมันก็ได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน ระหว่างชื่อ นามสกุล กับดาวบนบ่า หรือแม้แต่ที่เรียกกันว่าพี่ นี่มันก็ปกปิด มันเป็นเกียรติเป็นยศ ก็พี่มันเหนือกว่าน้อง เล็กๆ น้อยๆ แค่นี้มันก็บดบังทางสายกลาง บังมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว มันก็ข้ามไปแล้ว มันไม่ดูลงที่ปัจจุบัน ดูของจริง แม้แต่การเรียกว่า พ่อ แม่ นั่นก็คือชื่อเสียง คือยศแล้ว พ่อคนแม่คนก็เป็นศักดิ์ศรีแล้ว นี่คือคำอธิบายขยายความในแง่ต่างๆ ใช้คำศัพท์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา คือการมาดูของจริงภายในดั้งเดิม มันจะรู้จะสัมผัสของจริงได้อย่างไร ถ้ามัวไปตระเวนดูแต่สิ่งภายนอก แล้วที่สอนกันก็ไม่ชวนกัน ไม่แนะนำกันบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งบ่อยๆ เนืองๆ นั่นแหละคือทำความเพียร ไม่ใช้เดินจงกรมมาก นั่งสมาธิมาก จึงจะเรียกว่าทำความเพียร ถ้าฟังไม่เป็นมันก็เข้าใจไม่ถูกอีก งั้นก็ไม่ต้องเดินจงกรมซิ ไม่ต้องนั่งสมาธิซิ มันก็ต้องทำความเข้าใจ อธิบายให้กระจ่างอีก การเดินการนั่งน่ะมันเป็นความเพียรภายนอก สิ่งที่ต้องการคือการมีความเพียรภายใน การเพียรภายนอกก็เพื่อสนับสนุนความเพียรภายใน ถ้าเพียรภายนอกมากแต่ความเพียรภายในไม่เกิด มันก็ยังปฏิบัติไม่ถูก เดินจนเท้าแตก นั่งจนก้นช้ำ มันก็ยังไม่ถูก นี่มันต้องเข้าใจความหมายของคำศัพท์ที่ผ่านเข้ามา ต้องสับให้แหลกว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ เมื่อเข้าใจมันก็สอดคล้องกันไปหมด ไม่ติดข้อสงสัย มันก็ละวิจิกิจฉาไปได้

แล้วทำไมมันไม่ดูปัจจุบัน ทำไมมันข้ามไปทุกที ก็เพราะมันเคยตัว เป็นนิสัยเก่าของคนปกติทั้งโลกนั่นแหละ มันเคยตัวที่จะดูแต่สิ่งภายนอก เคยตัวที่จะอยู่กับครอบครัว อยู่กับพ่อกับแม่ อยู่กับการงาน อยู่กับธุระภายนอก มันเคยตัวทั้งนั้น มันคุ้น มันชำนาญอย่างนั้นจนเคยชิน จนเห็นว่ามันเป็นปกติ ไม่ทุกข์ร้อนอะไร มันติดมันชินแล้ว อยู่สบายแล้ว ทีนี้ถ้าจะให้ไปที่อื่น ไปทำอย่างอื่น มันก็ห่วงแล้ว ห่วงบ้าน ห่วงพ่อแม่ ห่วงเพื่อน ไปไม่ได้แล้ว มันติดบ้าน ติดที่อยู่ ติดที่นอน ติดที่กิน ติดเพื่อน นั่นคืออธิบายเปรียบเทียบตัวอย่างภายนอกแบบหยาบๆ ความเคยชินเคยตัวนี่มันทับถบไว้ เป็นมลทิน เป็นของสกปรก ฉาบทาของจริงจนมองไม่เห็น มันปิดมันบังจนมิด

คำพูดคำอธิบายที่หลวงพ่อใช้นี่มันเป็นการชี้แนะชี้นำสำหรับผู้มีศรัทธา ผู้ใฝ่ธรรมที่มีระดับ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาหลวงพ่อจะไม่พูดอย่างนี้ มันต้องปูพื้นตั้งแต่ ก.ไก่ ข.ไข่ กว่าจะเรียนถึงมัธยม มหาวิทยาลัย อีกนาน อย่างที่พูดว่า “ทำเอานะ ปฏิบัติเอานะ” นี่มันจึงใช้ได้กับระดับชาวบ้าน ระดับโลกียะ ถ้าจะใช้สื่อความในระดับโลกุตตระนี่มันขัดกัน เพราะฉะนั้นเขาจึงบอกว่าโลกกับธรรมมันขัดกัน มันไปด้วยกันไม่ได้ พูดระดับหนึ่ง ก็บอกว่าโลกกับธรรมมันอยู่ด้วยกันได้ มันไปด้วยกันสอดคล้องกัน นั่นคือสำหรับชาวบ้าน แต่ถ้าพูดระดับโลกุตตระมันก็ขัดกันจริงๆ โลกกับธรรมมันไปด้วยกันไม่ได้ โลกกับธรรมมันต้องสวนทางกัน หันหลังให้กัน ไปนิพพานกับอยู่ในโลก นี่มันก็ขัดกัน จะไปทางเดียวกันได้ยังไง อย่างคนที่ออกบวชกับคนที่อยู่กับบ้านนี่มันก็ต่างกัน คนพอใจจะอยู่กับโลกจะออกบวชได้ยังไง นี่ตัวอย่างภายนอกแบบหยาบๆ แบบพื้นฐาน จึงว่ามันหันหลังให้กัน เดินสวนทางกัน ไปก็คือไป อยู่ก็คืออยู่ ไปกับอยู่มันก็ตรงข้ามกัน ไปก็คือออกบวช เพื่อศึกษาตัวเอง ศึกษาเรื่องไหนมันก็รู้เรื่องนั้น เรื่องอื่นรู้แล้ว แต่เรื่องตัวเองยังไม่รู้ ก็ต้องมาศึกษาตัวเองให้รู้จริงตามความเป็นจริง ถ้าไม่ศึกษาจะรู้ได้ยังไง การศึกษานี่เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา ศึกษาทางตา ทางหู ทางไหนก็ได้ ก็เรียกว่าศึกษา อาจารย์ของผมอยู่ที่ไหน อาจารย์ของผมคือตา อาจารย์ของผมคือหู อาจารย์ของผมอยู่กับผมตลอดเวลา ผมเรียนกับอาจารย์อยู่ตลอดเวลา ใช้คำพูดอย่างนี้ก็ได้ ที่ขับรถยนต์เป็น ปั่นจักรยานเป็น ใช้คอมพิวเตอร์เป็น ผลิตสิ่งใหม่ๆ ออกมาให้ใช้ได้ ก็เพราะรู้จริง แต่รู้จริงเรื่องโลกียะ ถ้าไม่รู้จริงมันทำไม่ได้ เขาเก่งใหม่ เก่ง ฉลาดใหม่ ฉลาด แต่มันคนละอย่างกัน เขารู้เรื่องนั้น แต่สิ่งที่เขายังไม่รู้ก็ยังมี ทุกคนมีความรู้ทั้งนั้น แต่ว่ารู้เรื่องอะไร อะไรที่รู้นี่มันต่างกันไป

สำหรับพระเณรก็ศึกษาเรื่องตัวเอง ให้รู้เรื่องตัวเอง รู้หรือยัง ยังไม่รู้ก็ต้องศึกษาต่อไป ให้มันจับจุดได้ซะก่อน จะบวชมาทำอะไร ต้องทำความเข้าใจ ถ้าจับจุดไม่ได้มันก็ยาก เพราะของเก่ามันทับถบมานาน มันก็พยายามดึงไปหาคลองเดิม พอศึกษาแล้วไม่เข้าใจก็ท้อแท้ ศรัทธาก็หมดไป กำลังใจหมดไป ความใฝ่ที่จะรู้ในเรื่องนี้ก็หมดไป มันก็จะกลับไปใฝ่รู้เรื่องที่มันเคยรู้ ฉลาดในเรื่องที่มันเคยฉลาด เพราะมันมากกว่า มีกำลังเหนือกว่า มันก็ดึงไปได้ง่ายได้เร็ว เหมือนดึงเชือกฝ่ายหนึ่งมีสิบคน ฝ่ายหนึ่งมีสามคน มันก็ล้ม ถูกลากไป เหมือนกับพระเณรที่บวชมาแล้วสึกไปเพราะอะไร เพราะมันแรงกว่า การสะสมอบรมมาในรูป รส กลิ่น เสีย สัมผัส กามทั้งหลาย ความได้ดังใจ ความเคยอยู่ในบ้านในครอบครัว มันมีพลังมากกว่า มันกระดิกนิดเดียวเท่านั้น เราก็จะล้มคล่ำแล้ว ดังนั้นต้องรวบรวมพลังความเพียร พูดได้ชัดเจนคือความพากเพียรพยายาม ไม่ใช่ปฏิบัติเอา ไม่มีอะไรให้เอา ไม่มีผู้เอา ต้องเข้าใจจุดนี้ ไม่มีผู้เอา “ผู้”ก็ต่างหาก “เอา” ก็ต่างหาก มันแยกกัน ถ้ามี “ผู้” มันก็จะเอา ปัญหานี้มันก็จะไม่จบ เพราะมี “ผู้” อยู่ มีผู้ร้อน มีผู้หนาว มีผู้อยาก มีผู้โกรธ มีผู้รัก มีผู้ชัง มีผู้ดีใจ ผู้เสียใจ มัน “ผู้”ทั้งนั้นเลย ก็รักมันอยู่ภายนอก ชังมันอยู่ภายนอก อากาศร้อนหนาวมันก็อยู่ภายนอก มันหวานมันเค็มนี่ภายนอกทั้งนั้น ถ้าไม่มี “ผู้” ซะอย่าง มันก็จบปัญหา ไม่มีใครไปเอา เพราะสิ่งเหล่านั้นมันอยู่ภายนอก ไม่มีที่ให้มันอาศัย แล้วมันก็หมด โกรธก็ไม่เหลือ รักก็ไม่เหลือ ร้อนก็ไม่เหลือ หนาวก็ไม่เหลือ นี่พูดอย่างนี้มันก็ฟังยากสำหรับบางคน พูดอะไรของท่าน เชิญนิมนต์คนเดียวเถอะขอรับ ผมไม่เล่นด้วยหรอก มันฟังไม่ออก มันก็สะบัดก้นหนีเลย ฟังไปมันก็กุมขมับไป จะบ้าตาย เพราะมันไม่เข้าใจ แถมมันยังจะว่าเราบ้าอีก อาจารย์บ้าอาจารย์ประสาท จะไปก็ไปฉันไม่ไปด้วยหรอก พูดในสิ่งที่เขาไม่พูด สอนในสิ่งเขาไม่สอน นี่คือมันไม่เข้าใจภาษาธรรม มันเข้าใจแต่ภาษาคน เพราะมันเป็นคน มันไม่เป็นธรรม ระดับผู้ที่จะเข้าใจภาษาธรรมมันก็ต้องเป็นธรรมบ้างแล้วไม่มากก็น้อย มันก็จะค่อยๆเข้าใจมากขึ้น ถ้ามันไม่อยู่ใกล้ธรรม ไม่ใฝ่ในธรรม มันจะเข้าใจภาษาธรรมได้ยังไง มันใฝ่แต่โลก เพลิดเพลินอยู่ในโลก กินอยู่ในโลก อยู่กับโลกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มั่วสุมกันอยู่แต่ทางโลก มันไม่เคยมองมาทางธรรม

ที่นี้ถ้าจะถามว่าความรู้สึกที่เป็นตัว เป็นอัตตา มีได้ยังไง “ตัวฉัน ตัวกู” มีได้เพราะผลของ “ความที่ยังไม่รู้จริง” ต้องจับจุดนี้ให้ได้ ที่เป็นตัวกูตัวอัตตาอยู่นี่ คือผลงานของการที่ศึกษายังไม่รู้ เข้าใจยังไม่ได้ ศึกษายังไมจบ ยังไม่รู้จริงความเป็นจริง มันจึงสะท้อนออกมาเป็นกู เป็นฉัน เป็นข้าพเจ้า นี่คือสิ่งที่มันยังปิดอยู่ ผลของความที่ไม่รู้จริงก็จะยังเป็นกู เป็นฉัน อยู่อย่างนี้แหละ มันจึงไม่ว่าง ไม่ว่างจากกูจากฉัน จริงๆ ทุกอย่างมันอยู่ใครอยู่มัน อากาศร้อนมันก็อยู่ส่วนมัน อากาศหนาวมันก็อยู่ส่วนมัน เค็มก็เค็มอยู่เฉพาะตัวมัน หวานก็หวานอยู่เฉพาะตัวมัน ขมมันก็อยู่เฉพาะตัวมัน มันไม่ได้ก่อกวนใคร คุณจะขม คุณจะหวาน มันเป็นเรื่องของคุณ คุณดึงฉันไปเป็นแนวร่วม ดึงร้อน ดึงหวาน ไปเป็นแนวร่วม คุณก็จึงหนาว จึงร้อน จึงเข็ม จึงหวาน จึงรัก จึงชัง คุณเอาภายนอกเข้ามาเอง ที่จริงสิ่งเหล่านั้นมันเป็นอิสระของมัน อยู่อย่างเสรีภาพของมันโดยธรรมชาติโดยหน้าที่ ไม่ได้เที่ยวไปรังแกใคร รบกวนใคร ให้ร้ายใคร นี่ภาษาธรรมะต้องพูดกันอย่างนี้ มันจะกระจ่าง แต่มันก็เข้าใจได้ยากมาก

ย่นย่อเข้ามาก็คือ ขันธ์ห้า รูปนาม รูปมันก็ทำหน้าที่ของความเป็นรูป นามมันก็ทำหน้าที่ของความเป็นนาม นี่ดึงเข้ามาให้ใกล้จุดจบ คือศึกษาตัวเรา ศึกษากายกับใจ รูปกับนาม ขันธ์ห้า ศึกษาให้เข้าใจขันธ์ห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เข้าใจแล้ว รู้แล้ว ทุกอย่างมันก็ยังทำหน้าของมันอยู่ ไม่ใช้ว่ารู้แล้วจะไม่ขม ไม่หวาน ไม่ร้อน ไม่หนาว ไร้ความรู้สึกใดๆ หรือรู้แล้วตายไปเลย พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ตรัสรู้แล้วก็ไม่ได้ตายเลยทันที ไม่ใช่ว่าตรัสรู้แล้วไม่ต้องบิณฑบาต ไม่ต้องฉัน ไม่ต้องขับถ่าย หมดไปเลยไม่ต้องทำอะไรแล้ว ท่านทั้งหลายก็ดำเนินชีวิตเหมือนคนตามปกติ รู้สึกตามปกติ แต่เป็นภาวะที่เข้าใจได้ยาก อธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจ ไม่หายสงสัย จนกว่าจะอยู่ในภาวะนั้นด้วยตนเอง

ตามันทำหน้าที่ของตา หูทำหน้าที่ของหู เหมือนน้ำตาลทำหน้าที่ของมัน บอระเพ็ดทำหน้าที่ของมัน หน้าที่ของใครของเรา เป็นธรรมชาติที่ให้มาแบบนั้น หน้าที่รูปมันก็แก่ไปตามหน้าที่ ผมมันก็ขาวไปตามหน้าที่ สิ่งที่เหลืออยู่ทั้งหมดก็คือหน้าที่ แต่จะพูดว่าเหลืออยู่ก็ไม่ถูก มันเป็นมาแบบนี้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น เราไม่เข้าใจมันต่างหาก

คำศัพท์ต่างๆ มันชวนให้เข้าใจผิดอยู่มากมาย เช่น ความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นทุกข์ นี่มันเป็นภาษาระดับชาวบ้าน ฟังได้ เข้าใจอย่างนี้ได้ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ทุกข์อะไร แก่มันก็เป็นไปตามหน้าที่ เจ็บมันก็เป็นไปตามหน้าที่ของมัน ปวดหัว ปวดท้อง ปวดฟัน ก็ปวดไป มันเป็นหน้าที่ เหมือนบอระเพ็ดมันขม ก็ขมอยู่ตามหน้าที่ของมัน ความแก่ ความเจ็บ ก็เหมือนกัน มันเป็นไปตามหน้าที่ของมัน แล้วใครล่ะมาบอกว่ามันทุกข์ ฉันไปทุกข์กับคุณเมื่อไร ฉันไปรังแกคุณเมื่อไร ฉันก็ทำหน้าที่ของฉัน คือแก่ คุณมาหาเรื่องฉันทำไม หรือไปปฏิบัติ เพื่อจะเอาให้พ้นทุกข์ ไม่ให้มันปวด ไม่ให้มันเจ็บ ไม่ให้มีปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้อง นั่งนานก็ไม่ให้ปวดขา ปวดก้น นั่นเขาไปปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์อย่างนั้น คำศัพท์ที่ใช้มันก็ชวนให้หลง ต้องแยกระดับชั้นของคำศัพท์ที่ได้ฟัง ไม่อย่างนั้นจะหลงผิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น