วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

นั่งสมาธิไม่ใช่นั่งเอานั่นเอานี่

นั่งสมาธิไม่ใช่นั่งเอานั่นเอานี่
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
-------------------------------------------------------------------------

การนั่งสมาธิไม่ใช่นั่งเอานั่นเอานี่ เห็นนั่นเห็นนี่ บางคนเห็นนิมิตแล้วก็คิดสงสัยว่ามันจะจริงไหม หรือติดตามดูแต่นิมิตอยู่เรื่อย บางคนเห็นพระพุทธรูปฝังอยู่ที่โน่นที่นี่ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องมรรคผลนิพพาน บางทีก็เป็นเรื่องโกหกพกลม แอบเอาพระพุทธรูปไปฝังไว้ก่อน แล้วมาทำเป็นว่าเห็นในสมาธิ พาคนทั้งหลายไปขุดดู พอพบก็ดัง ลาภสักการะก็ไหลมาเทมา พฤติกรรมของคนในโลกนี้มันมีหลายแง่มุม

เห็นที่ต้องการ คือ เห็นจริงในปัจจุบัน เหมือนมีตามองไปข้างหน้า อะไรก็ตามที่ขวางหน้าอยู่มันก็เห็น นั่นคือสัจจะ นั่นคือของจริง ธรรมชาติให้มาด้วยความพอดี เห็นตามปกติ ไม่ใช่เห็นแบบวิปลาส ต้องจับเค้าเรื่องพวกนี้ให้ชัดเจน

“อัตตา” นี่มันเห็นด้วยตาหรือเปล่า ไม่หรอก มันจะเห็นด้วยความรู้ เห็นด้วยใจ มันจึงซับซ้อน ต้องทำความเข้าใจ แยกแยะ อย่างเวลาเหมือนหลับตาลงนี่ ภาษาคนก็บอกว่าหลับตาแล้วมองไม่เห็น แต่ภาษาธรรมยังบอกว่าเห็น คือเห็นความมืด ถ้าไม่เห็นรู้ได้ยังไงว่ามืดว่าสว่าง เห็นอัตตานี่ก็เหมือนกัน เป็นการเห็นด้วยความรู้สึก จะหลับตาหรือลืมตา มันก็เห็นได้

เวลานั่ง ให้ดูปัจจุบัน ไม่ต้องไปหาอะไรมาเพิ่มมาปรุงแต่ง ดูให้มันรู้อยู่กับปัจจุบัน แต่พอตั้งใจว่าจะนั่ง ตั้งใจว่าจะดู นี่มันก็ข้ามไปอีกน่ะ เพราะมันเป็นความโลภ เป็นความต้องการมาบดบัง ดังนั้น พอตั้งใจจะดูปัจจุบัน มันมักจะข้ามไปทุกที มันหาจุดที่พอดีได้ยาก นี่ว่ากันอย่างละเอียด เพราะมันมักถูกบังด้วยความอยาก ความต้องการ ในเวลาที่ตั้งท่าจะปฏิบัติ จึงเห็นได้ยาก รู้ได้ยาก เพราะมันทำยังไม่ถูก ทีนี้ก็เข้าใจเอาเอง บอกว่าตนทำความเพียรอยู่ ทำมากแล้ว แต่ทำไมไม่เห็น ก็ไม่เห็นซิ มันทำไม่ถูก เหมือนตีไม่ถูก ตีเท่าไรมันก็ไม่เจ็บ ทั้งๆ ที่ตีกระหน่ำอยู่เป็นร้อยครั้ง มันจึงเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก มันเป็นเพราะความเคยชิน เคยตัว ที่สะสมไว้ มันเคยดูเคยทำแต่อย่างนั้น ทางนี้มันไม่เคยเดิน มันก็เดินไม่ถูก

เหมือนเรารู้เรื่องโลกียะนี่เรารู้ดี เพราะเห็นและดูมาตั้งแต่เกิด แต่เรื่องโลกุตตระนี่เรายังไม่เคยเห็น ทำยังไงมันจะเห็น ก็ต้องค้นคว้าเข้าไปให้มันถูกจุด ถูกเรื่อง ต้องใช้ปัญญาให้ถูกทาง ทางโลกเขาคิดเขาค้นผลิตสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมาแปลกๆ มากมาย ก็เพราะเขาใช้ปัญญาคิดค้นอยู่กับสิ่งนั้น นี่ก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องใช้ปัญญามาคิดค้นอยู่กับเรื่องนี้ มันจึงจะมีโอกาสรู้โอกาสเห็นได้

ต้อง”ทำลายความเกิด” ต้นเห็นคือความเกิด หลักวิชาการทางโลกมันไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงแก้ปัญญาเรื่องนี้ไม่ได้ จะผลิตรถยนต์ เรือดำน้ำ เครื่องบิน หุ่นยนต์ ได้ มันก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มันไม่จบ มันเป็นภายนอก เป็นเรื่องอยู่กับโลก ไม่ใช่เรื่องหนีจากโลก

คำว่า “หนี” ก็ไม่ได้หนีไปไหน มันไม่ใช่การไปการมา มันไม่ใช่การเดินทางไปเมืองพระนิพพานที่ไหน มันไม่มีการเข้าการออก มันแค่การจบแล้วก็แล้วกัน สิ่งที่ค้นหาคืออย่างนี้ ต้องการจริงไหมที่จะรู้ ตั้งใจจริงไหม ถ้าไม่แน่จริง มันก็ชักจะลังเล เริ่มอยากจะถอย เพราะดูมันยากเหลือเกิน กลับไปต้องการทางโลกเหมือนเก่า ไปต้องการ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต้องการมีบุตร ภรรยา สามี เหมือนเก่า ไปอยู่กับโลก แสวงหาให้มันได้ดังใจต่อไป

มันเป็นเรื่องของการค้นหา ถ้าค้นถูกหาถูก มันก็เจอ มันไม่ใช่เรื่องของกาลเวลา ถ้าคุณสามารถจริง วันเดียวก็ได้ เดือนเดียวก็ได้ ถ้ามันถูกจุดเมื่อไรก็เมื่อนั้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “อะกาลิโก” ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล มันไม่เกี่ยวกับเรื่องบวชมาสามวันห้าวัน หรือบวชมายี่สิบสามสิบพรรษา ถ้าเจาะได้ถึงจุดเมื่อใดก็เมื่อนั้น กาลเวลามันเป็นเรื่องภายนอก จะเป็นลูกศิษย์ เป็นอาจารย์ ก็ไม่เกี่ยว มันอยู่ที่คนนั้นจะรู้ช้าหรือเร็ว เหมือนเห็นเขาปั่นจักรยานผ่านมา คนบางคนมันเร็ว มันจับจักรยานมาปั่นไปเหมือนเขาได้เลย ไม่ใช่ว่ามันต้องหัดเท่านั้นเท่านี้วันมันจึงจะปั่นได้ มันไม่เกี่ยวกับกาลเวลา

อย่างที่เขาว่า “ต้องอาศัยความอยากมันจึงจะได้” ถ้าภาษาชาวบ้านมันก็ฟังได้ แต่ภาษาระดับเหนือไปกว่านั้น มันฟังไม่ได้แล้ว เพราะความอยากมันเป็นตัวปิดกั้นบดบัง ถ้าระดับพื้นฐานนี่ความอยากเป็นประโยชน์ เพราะมันทำให้พยายาม คนไม่อยากก็ไม่มีการทำอะไร นี่มันก็ถูกของเขา ถ้าไม่เข้าใจธรรมะก็ไปเถียงกันอยู่นั่นแหละ เพราะแยกระดับภาษาไม่ออก

เหมือนจะปลูกต้นมะม่วง มันก็ต้องอยากก่อน ถ้าไม่อยากมันจะปลูกหรือ พอปลูกแล้วมันก็เป็นเรื่องของการดูแลบำรุงรักษา และรอกาลเวลา จนเป็นต้นใหญ่ มีใบ มีดอก มีผล ซึ่งสุดท้ายจริงๆ เราก็กินเพียงผลมะม่วง ไม่ได้กินต้น กินใบ กินดอก ของมัน

หลวงปู่ชา ท่านก็เปรียบเทียบว่า เหมือนไปตลาดซื้อกล้วยมา แล้วมีคนถามว่าจะเอากล้วยไปทำอะไร ก็เอาไปกินนะซิ เอาเปลือกมันไปด้วยทำไม จะกินเปลือกมันด้วยหรือ เปล่า..ก็รู้อยู่ว่าเวลากินก็ต้องเอาเปลือกทิ้ง เพียงแต่ตอนถือกลับมานี่มันก็ต้องเอาเปลือกเอาเครือมันมาด้วย หรือหิ้วมะพร้าวมาทั้งเปลือกทั้งกะลา แต่พอตอนกินก็รู้อยู่ว่าจะกินเนื้อกินน้ำมัน แล้วทิ้งเปลือกทิ้งกะลาไป ท่านเปรียบอย่างนี้ แต่นี่ท่านหมายความถึงผู้ที่มีระดับจิตสูงแล้ว ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา เหมือนอย่างที่รู้อยู่ว่าร่างกายนี้เป็นภาระหนัก แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีมันอยู่

ทั้งหมดทั้งมวลของคำพูดต่างๆ เราต้องเข้าใจตีความ ให้มันกระจ่างทุกระดับ แยกกันให้ออก มันจะไม่ข้องใจ ไม่ต้องไปเถียงกันให้เสียเวลา ดีไม่ดีบางคนทะเลาะกัน โกรธกัน เคืองกัน เพียงเพราะคำพูดสมมุติบัญญัติไม่ตรงกัน อย่าง “กระโถน” นี่ซื้อมาใหม่ ล้างสะอาดอย่างดี เอามาใส่อาหาร หลายคนก็รับไม่ได้ กินไม่ลงหรอก ทั้งๆ ที่มันก็เป็นภาชนะอย่างหนึ่ง ใครจะเรียกมันว่ากระโถน หรือชาม หรือขัน มันก็ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย มันไม่ได้บอกว่าตัวมันคืออะไร เอาไว้ทำอะไร คนมีทิฏฐิมากยึดมั่นกับสมมุติบัญญัติมาก ก็เกิดทะเลาะกันได้ นี่คือ “คนไม่เข้าใจธรรมะ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น