วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

สัมปชัญญะคือรู้ตัว


สัมปชัญญะคือรู้ตัว บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

สัมปชัญญะคือรู้ตัว ไม่ใช่รู้อย่างอื่น รู้ตัวรูป เบื้องต้นคือรู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว สติก็คือรู้ สิ่งที่ให้รู้ก็คือรู้ตัว คำว่า “สติ” ไม่ต้องไปแปลเป็นอย่างอื่น สติ แปลว่า “รู้” ถ้าไม่มีรู้ก็ไม่มีสติ มันเป็นวิธีการที่จะทำความเข้าใจให้ได้ง่ายขึ้น จึงบอกว่า สติคือรู้ รู้ก็คือรู้ตัว รู้ตัวคือสัมปชัญญะ จึงพูดรวมกันว่าสติสัมปชัญญะ

ปัญหาคือมันไม่รู้ตัว รู้นี่มันรู้อยู่ มีสติอยู่ แต่ว่ามันไม่มีสัมปชัญญะ นี่คือตรงที่มันยังผิด มันยังไม่เป็นธรรม ยังไม่ได้ปฏิบัติการในรูปแบบของคำว่า “สัมปชัญญะ” มันแส่สายไปกับอารมณ์อื่น มันไปสัมปชัญญะอยู่ที่อื่น มันไม่สัมปชัญญะอยู่ที่กาย ตัวคือกาย คือสักกายทิฏฐิ สัมปชัญญะไม่มารู้อยู่นี่ นี่คือสิ่งที่เข้าไม่ถึง สัมผัสไม่ได้ รู้ไม่ได้ ยังเป็นไม่ได้ มีสติอยู่ แต่ไม่มีสัมปชัญญะ

มันรู้อยู่ แต่มันรู้ปลอม รู้ตัวว่าเป็นตัว รู้ไม่จริง รู้ไม่ถูก ต้องย้ำต้องสับไปสับมา “ต้องรู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว” นี่คือสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่บอกว่ารู้จริงคือเห็นรูปมันเป็นรูปเฉยๆ เป็นหุ่นเฉยๆ เป็นตุ๊กตาเฉยๆ เป็นซากศพเฉยๆ นี่คือคำว่าสัมปชัญญะ ให้รู้แบบนี้ แต่มันรู้เข้าจุดนี้ไม่ได้ จึงว่ามันไม่รู้จริง มันมีรู้แบบเป็นอัตตา แบบเป็นตัวตน มันก็เลยเป็นต้นเหตุแห่งความโลภ ความโกรธ

ภาษาระดับชาวบ้านก็ว่าละ โลภ โกรธ หลง แต่คำศัพท์นี้มันแสดงถึงความเห็นแก่ตัว โลภ โกรธ หลง มันเกิดขึ้นเพราะการมีอัตตา เพราะอัตตาตัวตนเป็นต้นเหตุของมัน โลภ โกรธ หลง มันเป็นผลของอัตตาตัวตน คำว่า “หลง” นี่ก็ต้องเอาเข้าไปรวมกับคำว่า “อัตตา” เพราะมันหลง มันก็เลยโลภ ก็เลยโกรธ ถ้ามีอัตตาอยู่มันก็หลงอยู่ มีหลงอยู่มันก็มีอัตตาอยู่ มันก็ต้องหาวิธีพูดอธิบายแบบนี้ มันจึงจะเข้าใจ พูดแบบเดิมมันชินแล้ว พอได้ยินมันก็เหมือนเดิม ไม่กระตุ้นให้คิด ต้องหาวิธีพูดเพื่อทำความเข้าใจ ให้ปัญญาความคิดมันตามไป ตามไป ผู้ชี้นำก็นำไป นำไป ผู้ฟังก็ตามไป ตามไป ถ้ามันยอมรับได้ มันจะไปเห็นจริง ถ้ามันยังยอมรับไม่ได้ มันก็ยังไม่ยอมรับ มันก็เหมือนกับฝึกหัดขี่จักรยาน วันนี้ยังไม่เป็น พรุ่งนี้เอาใหม่ ฝึกใหม่ ทำบ่อยๆ เนืองๆ เจาะบ่อยๆ มันไม่มีวิธีอื่น นอกจากแบบนี้ ทำบ่อยๆ เนืองๆ นั่นคือทำความเพียร ที่หาคำศัพท์ หาสมมุติบัญญัติมาพูดอธิบาย ก็เพื่อให้เข้าใจตามสัจธรรมที่มันจริงอยู่แต่ดั้งเดิม

คำว่า “ละ โลภ โกรธ หลง” นี่มันใช้ได้กับระดับชาวบ้าน แต่ระดับที่พระพุทธองค์ต้องการ หรือเราต้องการ ไม่ใช่เรื่องการไปละ โลภ โกรธ หลง ปกติชาวโลกเขาก็มีการละ โลภ โกรธ หลง กันอยู่แล้ว ถ้าไม่ละ มันก็จะป่นปี้มากกว่านี้ ไม่รู้จักของเขาของเราหรอก ไม่รู้จักซื้อขายแลกเปลี่ยนหรอก เพราะว่าปกติมีการละ โลภ โกรธ หลง กันอยู่แล้ว สังคมโลกมนุษย์จึงพออยู่กันได้ มันต้องชี้ให้มันชัดเจน

คำว่า “ละ โลภ โกรธ หลง” มันค้านกับความจริงในระดับโลกุตตระ นำมาพูดปะปนกันมันก็ทำให้งง ทำให้สับสน ชวนให้เข้าใจว่าจะต้องมีใครไปคอยทำการละ โลภ โกรธ หลง อยู่นั่น ถ้าเป็นแบบนั้นมันก็ไม่จบ จบไม่ได้ มันก็เป็นระดับเดียวกันกับโลกมนุษย์ทั่วไป เป็นอัตตาอยู่ ไม่ได้เป็นอนัตตา

โลภ โกรธ นี่พูดแค่สองคำ ส่วนคำว่า หลง ไม่ต้องพูดถึง เพราะมันหลงอยู่แล้วตลอดเวลา หลงกับอัตตาไม่ต้องแยกกัน เป็นอันเดียวกัน เหมือนกันกับคำว่า รู้ และ สติ เป็นอันเดียวกัน ถ้าไม่รู้แล้วจะเอาอะไรมาเป็นสติ หลงคือสำคัญว่าเป็นอัตตา นั่นคือความผิด นั่นคือมิจฉาทิฏฐิ นั่นคือไม่รู้จริง มันต้องพูดเป็นหมวด เป็นหมู่ ของมัน

สติสัมปชัญญะ ในคำนี้ต้องเน้นที่สัมปชัญญะ เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องอบรมบ่มนิสัย ให้มันรู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว บ่อยๆ เนืองๆ วิธีการที่พูดสอนอยู่ประจำนี่เป็นวิธีที่จะขุดถอนรากแก้วมัน ไม่สนใจจะไปตัดใบ ลิดกิ่ง เด็ดก้าน ตัดต้น มุ่งใส่ที่การขุดถอนรากแก้วอย่างเดียว ถอนรากแก้วแล้วคือเสร็จเรียบร้อย สิ่งที่พูดอบรมอยู่ทุกวันก็คือเป็นไปในรูปแบบนี้ส่วนมาก ไม่อย่างนั้นไม่จบ มันจะเกิดหน่อ เกิดแขนง แตกติ่ง แตกใบ ออกมาอีก แผ่กิ่งก้านสาขาเขียวชอุ่มสดชื่นต่อไป ถ้ารากแก้วไม่ขาด มันก็ไม่ตาย อย่างที่สวดกันเสมอว่า “เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนาดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ” ไม่ได้มุ่งเด็ดใบ ตัดยอด แต่มุ่งจะถอนรากแก้วทั้งราก แล้ว โลภ โกรธ หลง มันจะมีหน่อ มีแขนง มีใบ ได้อย่างไร ยอดมันจะแทงออกตรงไหน ถ้ารากแก้วมันขาดแล้ว นี่คือเปรียบเทียบกับต้นไม้ ยกต้นไม้เป็นอุปกรณ์การสอน สร้างความเข้าใจใหม่ ความเข้าใจเก่าให้โยนทิ้ง แต่ถ้าจะพูดจริงๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่มุ่งเข้าหาของใหม่ มันเป็นการมุ่งเข้าหาของเก่าดั้งเดิมแท้ๆ

อย่างสมัยนี้มันมีของใหม่ๆ วัตถุใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ออกมาให้ใช้สอยกันมากมายกว่าสมัยก่อน เชื้อเพลิงหรือปุ๋ยสำหรับกิเลสสมัยนี้มันจึงมีมากกว่าสมัยโบราณ คนมันติดกิเลส กิเลสมันเกิดมาก คนจึงไม่สนใจศีลธรรม เป็นเพราะพวกด๊อกเตอร์ทั้งหลายเป็นผู้สร้างกิเลสขึ้นมา เขาหลงคิดว่ากิเลสจะนำความสุขมาให้ เขาไม่ได้มองเห็นในจุดที่มันลึกซึ้งไปกว่านั้น ความรู้ที่เขาค้นพบใหม่ๆ ทั้งหลาย มีแต่การค้นพบกองกิเลส วัตถุกิเลส ทั้งนั้น แล้วก็สร้างผลิตกันออกมา เพราะฉะนั้นมันจึงมีกิเลสมากมาย มันก็เลยยิ่งห่างไกลจากธรรมะออกไปทุกที นี่พูดแบบนี้ก็ได้ มันจึงต้องเดินหันหลังให้กัน หันหลังให้โลกมนุษย์ โลกกับธรรมมันไปด้วยกันไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น