วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ของจริงมันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาเพิ่ม


ของจริงมันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาเพิ่ม
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ของจริงมันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาเพิ่ม ถ้าเอามาเพิ่มมันก็เกินไป มันไม่พอดี มันก็ไม่ใช่ปัจจุบัน มันเกินความพอดี การเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ ก็คือรู้อยู่ รู้อะไรก็ดูสิ่งนั้นเลย แต่ส่วนมากมันข้ามไป มันไม่ยอมรับความจริง ถ้ารู้อยู่ก็เป็นการเจริญสติ สติสัมปชัญญะ ให้มันบ่อยๆ เนืองๆ สติคือระลึกได้ สัมปชัญญะคือรู้ตัว “รู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว” นี่คือจุดที่มันลึกซึ้งถึงแก่นมันจริงๆ สติสัมปชัญญะมันก็มีหลายระดับ ระดับธรรมดามันก็มีอยู่ด้วยกันทุกคน ถ้าไม่มีสติมันก็ทำอะไรไม่ได้ สติกับรู้มันก็เป็นอย่างเดียวกัน พูดอย่างนี้ก็ได้ รู้ไหมว่าทำอะไรอยู่ขณะนี้ โดยมากทุกคนก็รู้ รู้ว่านั่งอยู่ รู้ว่าพูดอยู่ รู้ว่านอนอยู่ รู้ว่าเขียนหนังสืออยู่ รู้ว่าเดินอยู่ รู้ว่าเผ็ดอยู่ รู้ว่าเค็มอยู่ รู้ว่าหนาวอยู่ รู้ว่าร้อนอยู่ นี่คือรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ แต่ว่ารู้อย่างนี้มันเป็นรู้แบบโลกียะ ทุกคนรู้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ นี่คือสติแบบโลกียะ ถ้าเผลอมันก็ทำอะไรผิดพลาด เหมือนขับรถ ขับเครื่องบิน ถ้าเผลอมันก็เกิดอุบัติเหตุได้ แต่มันเป็นสติระดับโลกียะ

สำหรับสติสัมปชัญญะที่หมายถึงในระดับโลกุตตระคือ “รู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว” มันเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก คือมันเข้าใจผิดว่า “รู้” นั่นแหละเป็นตัว “ดูรู้” ก็คือดูตัวเอง ตัวเองก็คือรู้ มันเอารู้มาเป็นตัวเอง

รู้แบบโลกีย์ ก็คือรู้ว่ารัก รู้ว่าชัง รู้ว่าโกรธ นี่คือรู้ตามแบบรสชาติของโลก ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่มันคือรู้ที่มีลักษณะเป็นตัวตน เป็นอัตตา รู้ที่ต้องการคือ “รู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว”

การที่รู้ว่ารัก รู้ว่าชัง รู้ว่าโกรธ มันไม่ใช่รู้ตัว มันเป็นการรู้อยู่กับอารมณ์ภายนอก อยู่กับสิ่งอื่น อยู่กับบุคคลอื่น มันไม่ใช่รู้ตัว ถ้ารู้ตัว ต้องรู้รูปกับนาม ซึ่งมีมาโดยธรรมชาติ เป็นตัวที่เป็นอัตตา คือขันธ์ห้า แต่โดยปกติมันไปรู้อยู่กับภายนอก คือมันรู้อยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง ฯลฯ นั่นมันภายนอกทั้งหมด

น้ำตาลมันอยู่ภายนอก เกลือมันอยู่ภายนอก บอระเพ็ดมันอยู่ภายนอก พอไปรู้รสชาติของมัน มันจึงเป็นการรู้อยู่ภายนอก รู้ตัวอยู่แต่เป็นการรู้ตัวอยู่ภายนอก มีสติแต่เป็นสติอยู่ภายนอก ชนชาวโลกเขารู้อยู่แบบนี้ รู้อยู่ภายนอกอย่างนี้ ไม่ได้รู้ภายใน ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ตัวเอง นี่คือความแตกต่าง ตัวเองก็คือรูปกับนาม

“ดูรู้” รู้คืออะไร รู้ก็คือใจ ใจก็คือรู้ มันเป็นภาษาที่ฟังยาก แต่มันควรจะพูดแบบนี้ ให้ค้นหาอยู่กับเรื่องนี้ หาความเป็นจริงให้รู้ตามเป็นจริงให้ได้ ดูรู้ คือดูที่ฝ่ายนาม ส่วนการอยู่กับกรรมฐาน เช่น เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ คือ ดูรูป สองอย่างนี้คือ รูปกับนาม คือกายกับใจ คือตัวเอง

“ดูรู้” นี่มันเป็นของละเอียดกว่า เพราะดูฝ่ายนาม ท่านก็เลยสอนเบื้องต้นคือ “ดูรูป” ให้มันเข้าใจก่อน เหมือนกับการเรียนก็เริ่มเรียนที่ ก ไก่ ข ไข่ ก่อน ลองวิเคราะห์ดูคำสอนต่างๆ จะเน้นย้ำอยู่จุดนี้ก่อน ย้ำว่าดูรูปนี่ก่อน เพราะมันเป็นของหยาบ เช่น ดูอสุภะ ให้เห็นว่ารูปเป็นของน่าเกลียด สกปรก หรือมหาสติปัฏฐานสี่ก็มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่คือการดูรูป ดูรูปก็คือดูตัวเอง หัดดูตัวเองซะบ้าง ทำไมชอบไปดูคนอื่น ไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ไปเพ่งเล็งคนอื่น ทำไมไม่เพ่งเล็งตัวเอง วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ไปใส่ใจคนอื่นทำไม ไปเอาเรื่องคนอื่นมาใส่ใจทำไม เรื่องของตัวเองทำไมไม่สนใจ สนใจตัวเองคือสนใจรูปกับนาม

มันเป็นการยากที่จะเข้าใจ ต้องใช้เวลากับมันบ่อยๆ เนืองๆ นี่คือทำความเพียร จนมันยอมรับ สัมผัสเข้ามา เป็นปัจจัตตัง เฉพาะตัว จะค่อยๆ รู้สึกได้ว่า อ๋อ..นี่มันเป็นรสชาติแบบนี้ ถ้าเพียรต่อไปก็ต้องรู้ต้องสัมผัสได้มากกว่านี้ มันก็จะเกิดความสนใจ เกิดศรัทธาอันมั่นคงขึ้น ศรัทธาในรูปแบบใหม่ ศรัทธาที่เกิดขึ้นจากภายในได้สัมผัสของจริงเอง

ข้อมูลต่างๆ ที่ท่านเขียนเอาไว้ มันก็ต้องเข้าใจแบบรอบรู้ แตกฉาน อย่างมหาสติปัฏฐานสี่ หมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่คือดูรูป ส่วนหมวด เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการดูฝ่ายนาม เป็นขั้นที่สองแล้ว หลังจากจบการดูรูปอย่างเข้าใจแล้ว

ธรรมคือจริง ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องไปคิดเป็นอย่างอื่น ให้มันสับสน มั่นใจลงไปเลย แต่ความรู้สึกของเรามันก็ยังไม่ยอมรับ ไม่เข้าใจ ไม่แตกฉานกับคำว่า “ธรรม” เพียงคำเดียว มันก็เลยเกิดความไม่สงบ ความไม่เป็นสมาธิ ความฟุ้งซ่าน เพราะมันไม่ชัดเจน

จิตคือรู้ รู้คืออะไร รู้คือไม่ตาย รู้คือยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ คนตายแล้วไม่มีรู้ ถ้ามีคนมาถามว่า จิตคืออะไร ใจคืออะไร วิญญาณคืออะไร ก็ตอบด้วยวิธีการถามย้อนกลับไปเลยว่า “ตอนนี้คุณตายแล้วหรือยัง คุณจึงถามอย่างนี้” ตอบให้มันสะดุดไปเลย เขาก็จะย้อนกลับมาว่า ถ้าตายแล้วจะมาพูดกับท่านได้หรือ เออ..นั่นล่ะ จิตก็คือคุณยังไม่ตาย ใจก็คือคุณยังไม่ตาย วิญญาณก็คือคุณยังไม่ตาย เพราะว่า จิตแปลว่ารู้ ใจแปลว่ารู้ วิญญาณแปลว่ารู้ ย้ำแล้วย้ำอีกให้มันเข้าใจ ถ้าพูดห้วนๆ ก็พูดได้ว่า “ดูรู้” ก็คือ “ดูจิต” มันรวมทุกอย่าง

ดูกายมันก็ต้องมีจิต ดูเวทนามันก็ต้องมีจิต เพราะจิตคือรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม สี่อย่างนี้มันเป็นกลุ่มเดียวกัน มันแตกจากกันไม่ได้ มหาสติปัฏฐานสี่มันเป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายบ่อยๆ ให้เข้าใจ เพราะมันเป็นข้อปฏิบัติ ต้องใส่ใจ ต้องค้นคว้า ต้องศึกษา ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานมันก็รวมอยู่ด้วยกัน ธรรมคือจริง กายมีจริงไหม เวทนามีจริงไหม จิตมีจริงไหม มีจริง จริงนั่นแหละคือธรรม มันก็วนกันไปทั้งก้อน

คำว่า “ธรรม” คำเดียวก็ทำให้หลง ทำให้ไม่เข้าใจ จำไว้เลยว่า “ธรรมคือจริง” อย่างที่กล่าวว่า ตรัสรู้ธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม ปฏิบัติธรรม เป็นธรรม เหล่านี้คือเรื่องเกี่ยวกับจริง ของจริง มันต้องย้ำทำความเข้าใจบ่อยๆ เนืองๆ

อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่คือคำที่นิยมพูดกันตามกระแส เหมือนกับกระแสนิยมที่พากันนั่งสมาธิ ก็เริ่มต้นด้วยการหลับตา แล้วก็ทำตามกันจนเป็นกระแสในสังคมชาวพุทธ ที่จริงคำว่า “ทุกข์” ที่พูดกัน นั่นมันใช้ในระดับพื้นฐาน สอนกันว่าให้พากันเห็นทุกข์ นี่คือเรื่องพื้นฐาน คำว่า “สมุทัย” คือตัวตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ลองถ้าไม่มีอัตตาตัวตน มันจะมีตัณหาความอยากได้อย่างไร มันจะมีอะไรมาทุกข์ จะมีใครมารับทุกข์อยู่นั่น เหมือนถ้าไม่มีถ้วย จะเอาแกงใส่ได้ยังไง ถ้าไม่มีแก้วจะเอาน้ำใส่ได้ยังไง ถ้าไม่เข้าใจในระดับลึกซึ้งมันก็จะไปคอยแก้ทุกข์ คอยดับทุกข์ คอยดับตัณหา ดับความอยากอยู่นั่น เพราะสอนกันว่าถ้าจะดับทุกข์ต้องดับสมุทัย แต่ไปติดอยู่กับความหมายที่ว่า สมุทัยคือตัณหาความอยาก ไม่เข้าใจว่าสมุทัยก็คือตัวอัตตา มันต้องทำความเข้าใจในคำศัพท์ที่ท่านใช้อย่างแตกฉาน ว่าท่านจะให้หมายถึงในระดับไหน

อย่างบอกว่า ทุกข์คือความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ เหล่านี้มันเป็นระดับพื้นฐาน ระดับชาวบ้าน มันก็เลยชวนให้เข้าใจไปว่าการพ้นทุกข์คือการไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ปวด ไม่ต้องเป็นโรคเป็นภัยอะไร ซึ่งมันยิ่งทำให้หลงกันไปไกลกว่าเดิมอีก ถ้าอย่างนั้นปวดท้อง ปวดหัว ก็ไม่ต้องมี เพราะมันเป็นความไม่สบายกาย ถ้ายังมีอยู่ก็แสดงว่ายังไม่พ้นทุกข์ เพราะว่าใช้คำพูดสอนกันไว้อย่างนั้น มันก็เลยพากันหลงไปไกล ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ทีนี้ก็มองไปอีกว่า ไปปฏิบัติธรรมก็เพื่อจะให้พ้นทุกข์ คือปฏิบัติเพื่อให้ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่ป่วย ไม่ให้ร้อน ไม่ให้หนาว ไม่ให้ปวดแข้งปวดขา นี่คิดดูว่ามันจะยิ่งทำให้เข้าใจธรรมะได้เร็วหรือเข้าใจได้ช้า มันใกล้หรือไกล จากความเป็นจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น