วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

จับหลักการให้มันได้

จับหลักการให้มันได้
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
-------------------------------------------------------------------------

เราจะต้องจับหลักการให้มันได้ มันไม่ใช่เรื่องอื่น ความรู้สึกว่าเป็นตัว มีตัว เป็นผลสะท้อนออกมาจากความยังไม่รู้ รู้ไม่ได้ รู้ตามจริงไม่ได้ มันก็เลยเป็นร่องรอย คือ ตัวฉัน ตัวกู กระดานไม่ว่าง ไม่ว่างจากรอยขีด เพราะมันยังไม่ถูกลบ ลบได้เมื่อไร กระดานมันก็ว่าง เป็นกระดานว่างๆ คือร่างกายของเรา ซากของเรา เปรียบเหมือนกระดานมันว่างอยู่ แต่เราเห็นเป็นกระดานไม่ว่าง เพราะมันยังไม่ถูกลบ

มันลบยังไม่ได้ บอกให้ลบ มันก็ไม่รู้จักวิธีลบ ลบซิให้กระดานมันว่าง บางทีก็พยายามลบอยู่ พากเพียรอยู่ แต่มันก็ยังไม่ใช่ ถ้าลบถูกมันก็จะแสดงให้เห็นว่าร่องรอยส่วนนั้นส่วนนี้มันลบไป แต่ถ้าลบไม่ถูก มันก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิม ร่องรอยยังเหมือนเดิม แม้ว่าจะบอกว่าลบแล้ว แต่ดูยังไงมันก็ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่เหมือนเดิม ยังไม่ว่าง นั่นเพราะยังลบไม่ถูก นั่งอยู่ นอนอยู่ ไปมาอยู่ ยังไงก็ยังรู้สึกว่าเป็นตัวฉันตัวกูอยู่ นั่นคือผลของกระดานไม่ว่าง ตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่จะต้องคิดหนัก คิดจนมันเข้าใจ

ในรูปแบบของกระแสการปฏิบัติ ที่บอกว่า “ปฏิบัติเอา ทำเอาน่ะ” มันไม่ใช่ มันเป็นคำศัพท์ที่ชวนให้หลง มันไม่มีอะไรจะให้ไปเอาอยู่นั่น ต้องเข้าใจให้ชัดเจน

“มันเป็นกิเลสน่ะ ละมันซิ” นี่ก็เป็นการทรงไว้ซึ่งตัวเองอยู่ “ปฏิบัติเอาน่ะ ขยันเอาน่ะ สะสมบุญกุศลไว้มากๆ นะ ทำความเพียรเอา เดินจงกรมเอา นั่งสมาธิเอา ทำมากๆ มันก็ได้มากเองหรอก” นี่มันเป็นข้อมูลคำศัพท์ที่พูดกันตามกระแส ซึ่งมันฝังความรู้ความเข้าใจที่ผิดไว้ในคำพูดเหล่านั้น

มันไม่กล้าที่จะพูดว่าให้ทำลายตัวเอง ทำลายร่องรอยขีดข่วน เพราะมันไม่รู้เข้าไปในจุดนี้ สัมผัสเข้าไปในจุดนี้ ไม่เชื่อมั่นที่จะอธิบายในจุดนี้ มีแต่อธิบายตามกระแสที่เขาพูดตามๆ กันมา พูดตามเขา ไม่มีการพลิกแพลง ซึ่งก็ไม่ได้จะไปโทษใคร เพราะตัวนี้มันปิดจนมิด ไม่เห็นร่องรอย ไม่สามารถจะเข้าไปสัมผัสเห็นของจริงนี้ได้เลย มันเป็นหน้าที่ที่จะเห็นไม่ได้ อยากจนกลั้นใจให้ตายก็ไม่เห็น ฉะนั้นมันจึงไม่กล้าที่จะพูดว่าให้ทำลายตัวเอง ซึ่งมันเป็นจุดที่ตรงที่สุด สรุปที่สุด “ไม่ใช่เรื่องที่จะไปไล่ฆ่ากิเลส ไล่กิเลสหนี แล้วให้ตัวเองอยู่” การที่บอกว่าให้ทำเอา ก็เป็นการรักษาไว้ซึ่งตัวผู้ที่จะเอาอยู่ นี่มันเป็นคำศัพท์ที่ชวนให้หลง

ขันธ์ห้าที่มีอยู่มันเป็นมาโดยธรรมชาติ โดยหน้าที่ มันรู้ตัวเองไม่ได้ “เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาตัวเอง ให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เท่านี้เอง” ให้รู้จริงตามเป็นจริง ไม่ได้มีเรื่องมาก เป็นเรื่องเดียวคือรู้จริงตามเป็นจริง ก็จบ ก็หมดแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไปปฏิบัติเอา ทำเอา ละกิเลสเอา หรือละโลภ โกรธ หลง นั่นมันเป็นภาษาชาวบ้าน ใช้ได้ไหม ใช้ได้ แต่เป็นคำศัพท์สำหรับมวลชนทั่วไป ระดับคนที่กำลังเวียนว่ายตายเกิด ยังมองไม่เห็นฝั่ง เป็นระดับที่ยังทรงไว้ซึ่งตัวกูตัวฉัน

การละโลภ โกรธ หลง สังคมเขาก็ทำกันอยู่แล้ว ถ้าไม่ละโลภ โกรธ หลง แล้วละก็สังคมมันจะร้ายกว่านี้ ป่นปี้ วุ่นวายกันมากกว่านี้ “สังคมมนุษย์ทุกวันนี้ยังพออยู่ได้ ก็เพราะมีการละโลภ โกรธ หลง อยู่แล้ว” มีหน้าที่ละโลภ โกรธ หลง ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่ชัดเจน

การละโลภ โกรธ หลง ก็เหมือนคนอาบน้ำ ใครๆ ที่ไหนเขาก็อาบน้ำ เด็กก็อาบ ผู้ใหญ่ก็อาบ คนจนก็อาบ คนรวยก็อาบ คนระดับไหนก็อาบน้ำเหมือนกัน ไม่ให้มันพอกพูนความสกปรกมากไปกว่านั้น นี่ก็เหมือนกัน มวลชนในโลกเขาละโลภ โกรธ หลง อยู่แล้ว ระดับไหนมันก็ต้องละโลภ โกรธ หลง เปรียบเทียบมันก็ออกมาแบบนี้ โดยมีกฎหมายหรือกติกา เป็นสิ่งแสดงถึงแนวทางการละโลภ โกรธ หลง หรือเป็นการบอกการสอนวิธีอาบน้ำ ถ้าไม่ละโลภ โกรธ หลง กฎหมายหรือกติกาก็ไม่มีความหมาย ไม่มีใครปฏิบัติตาม คำศัพท์คำเดียวกันจึงเอามาใช้ได้ ทั้งในระดับโลกียะและระดับโลกุตตระ แต่ขอให้รู้จริง เข้าใจจริง

คนไม่รู้จริงตามความเป็นจริง นี่มันหลงอยู่ก่อนแล้ว ถ้าจะเปรียบตัวอย่างกับโลกียวิสัย ก็เหมือนคนปั่นจักรยานไม่เป็น ตอนที่ยังปั่นไม่ได้ นี่เรียกว่าไม่รู้จริง ทั้งๆ ที่จักรยานนี่มันมีอยู่ก่อนแล้วและคนสามารถขึ้นปั่นได้ เพียงแต่ตอนนี้มันยังปั่นไม่ได้ เพราะมันยังไม่รู้จริง จึงคิดว่าปั่นไม่ได้ ทำยังไงจึงจะรู้จริง ก็ต้องศึกษา ฝึกตน เหมือนเรารู้ว่าจักรยานนี่มีไว้ปั่นได้ ทีแรกก็ค่อยๆ พยายามฝึกปั่นดู พอปั่นไปได้ก็เรียกว่ารู้จริงตามเป็นจริง ที่ปั่นไปได้นี่ก็เพราะการฝึกตนดีแล้ว ความหลงความไม่รู้ก็หมดไป จะเสแสร้งแกล้งทำว่าตัวเองปั่นจักรยานไม่เป็นก็ไม่ได้ เพราะมันปั่นเป็นแล้ว เพียงแค่พูดเอาอาจพูดได้ แต่ความจริงก็คือปั่นเป็นแล้ว ยังไงก็ลบไม่ได้ ในทางตรงข้ามก็เช่นกัน จะพูดสักเท่าไรว่าปั่นจักรยานเป็นก็พูดได้ ปั่นอย่างนั้นอย่างนี้ อธิบายวิธีการได้ แต่ของจริงยังปั่นไม่เป็น พูดให้ตายก็ปั่นไม่เป็นอยู่นั่นเอง นี่เปรียบเทียบการรู้จริงโดยบริสุทธิ์ในเรื่องปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นการอธิบายยกตัวอย่างแบบโลกียวิสัย เทียบเคียงเพื่อแทนการยกตัวอย่างแบบโลกุตตรวิสัย ซึ่งกล่าวเป็นภาษาพูดได้ยาก ผู้มีปัญญาก็จะสามารถขบคิด เทียบเคียงต่อไป ไต่เต้าเข้าไปเพื่อให้เข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้น ฉะนั้นการฝึกปั่นจักรยาน ก็คือการศึกษา ศึกษาเพื่อจะรู้จริงตามเป็นจริง

การศึกษาอย่างไม่หยุดหย่อน ก็จะนำมาซึ่งความรู้จริง เหมือนเราไปโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ก็ต้องใช้เวลาศึกษาไม่หยุดหย่อน แล้วจึงจบการศึกษาและรู้จริงตามความเป็นจริงได้ การศึกษานั่นแหละคือการฝึกตนจากครูจากอาจารย์ หรือจากตนเองก็ได้ทั้งนั้น

นี่เป็นตัวอย่างที่ยกเอาเรื่องระดับโลกียะมาเปรียบเทียบ การศึกษาธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ก็เริ่มจากการมีปัญญาขั้นโลกียปัญญาก่อน แล้วค่อยๆ เทียบเคียงไปเป็นโลกุตตรปัญญา ค่อยๆ ฝึกตนต่อไปหลังจากได้รับข้อมูลจากครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เพื่อให้ตนเองรู้จริง เมื่อยังไม่รู้จริงก็ต้องเรียนต้องฟังจากผู้อื่นเสียก่อน ลองทำลองฝึกดู แล้วเมื่อทำได้ก็รู้จริงด้วยตนเอง

สำหรับสาขาวิชานี้ คือ การฝึกตนให้รู้จริงในเรื่องการทำลายตัวเอง การลบร่องรอยเดิมบนกระดาน กระดานคือ ร่างกาย รูปนาม ขันธ์ห้า ซึ่งมีรอยเปื้อน คือ ตัวกู ตัวข้าพเจ้า ซึ่งเปรียบเหมือนรอบขีดข่วนอยู่ที่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ รูปนาม ทำให้ไม่สะอาด

ร่องรอยจะหมดไปก็เพราะการลบอย่างถูกต้อง ให้ดิ่งความรู้สึกและเป้าหมายไปที่จุดนี้ ไม่ต้องลังเล ลบกู ลบฉัน ออกไปก็จบ ก็พอ ก็สิ้นสุด แม้จะยังสัมผัสไม่ได้ เราก็กำหนดจุดหมายเอาไว้ก่อน ไม่ต้องลังเลว่าจะปฏิบัติเอาอะไร หรือบวชมานี่จะเอาอะไร ถ้าไม่รู้จุดหมาย มันก็ลบไม่ถูกสักที คิดว่าตัวเองทำถูกลบถูก แต่มองทีไรก็ยังเหลืออยู่เหมือนเดิม ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องที่หลายๆ คน ไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นนักปฏิบัติทั้งฆราวาส หรือนักบวชก็ตาม

กระแสนิยมมีมากมายที่พากันไปปฏิบัติเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นร้อยเป็นพันคนทั้งพระทั้งโยม ทำกันไป แต่ไม่รู้เป้าหมาย จะเอาอะไรกันแน่ ดูว่านั่งสมาธิทำความเพียรกันเอาจริงเอาจัง แต่มันไร้จุดหมายไร้ทิศทาง ทำกันปฏิบัติกันจนเหนื่อยจนล้าจนง่วง ก็ฝืนทำกันไปอยู่นั่น บางทีก็ฝืนจนนั่งหลับไปเลย ไม่ว่าคนใหม่ คนเก่า พระใหม่ พระอาวุโส เป็นเหมือนกัน นั่นเพราะคิดว่าเคารพครูบาอาจารย์ เชื่อคำสอนครูบาอาจารย์ จนไม่ใช้ปัญญาคิดให้เข้าใจให้แตกฉาน พอฟังแล้วเชื่อทันที ซื่อเสียจนโง่ ไม่ได้คิดเลย

เหมือนพอได้ยินครูบาอาจารย์บอกว่าให้นั่งหลับตา ก็นั่งหลับตาทันที เอาจริงเอาจังกับจุดนี้ ยึดมั่นว่าต้องนั่งหลับตา ห้ามลืมตา ต้องนั่งให้เป็นสมาธิก่อนแล้วปัญญามันจะมาเอง ไม่ยากหรอก นี่เชื่อกันอย่างนี้ เพราะว่ากันตามตำรา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สอนตามๆ กันว่ามันจะข้ามขั้นไม่ได้น่ะ ต้องเรียงกันตามนี้ เป็นสมาธิเสียก่อนแล้วจะมีปัญญาเอง มิหนำซ้ำยังอธิบายกันไปถึงว่า ไม่ต้องหาปัญญาอะไรหรอก ทำสมาธิให้มันได้ก่อน แค่นี้ก็ได้บุญมากแล้ว ตายแล้วก็ไปเกิดพรหมโลก โน่นว่ากันสอนกันไปโน่น สุดท้ายก็โง่หลับตาหาสมาธิอยู่นั่น แล้วก็ง่วง นั่งทีไรก็ง่วงก็หลับ ทั้งพระทั้งโยม

นี่คือตัวอย่างข้อมูลเรื่องความเข้าใจของคน ทิฏฐิของคน ที่มันยึดมั่นยึดถือในคำพูดคำสอนของครูบาอาจารย์จนแกะไม่ออก แก้ไม่ได้ แทนที่จะขบคิดให้แตกฉานด้วยตนเอง แต่ทีนี้ถ้าไม่เชื่อแบบแผน คำสอนครูบาอาจารย์ มันก็โง่อีกเหมือนกัน บ้าไปอีกแล้ว มันก็สุดโต่งไปอีก จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้อยู่ในทางสายกลางอย่างเหมาะสม

คำศัพท์ที่ว่า “ปฏิบัติเอา ทำเอา” มันจึงเป็นคำศัพท์ที่ชวนให้เข้าใจผิด ถ้าปฏิบัติเอา ทำเอา มันก็ยังมีตัวผู้เอาอยู่นั่นแหละ ซึ่งเป็นปัญหามากสำหรับพวกนักเชื่อ พวกไม่ชอบคิด

บางทีเราบอกให้ทำลายตัวตน ทำลายอัตตา ก็ไม่เข้าใจ คิดว่าถ้าทำลายอัตตาตัวตนแล้วจะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตต้องดำเนินอยู่ ยังไม่ตายซะหน่อย หรือบางคนก็เข้าใจเอาเองว่าทำลายตัวตน คือการฆ่าตัวตายให้พ้นทุกข์ ไปซื้อยาพิษมากิน หรือแขวนคอตาย โดดตึกตาย นี่มันยิ่งโง่หนัก ยิ่งหลงมากที่สุด นั่นก็เพราะไม่เข้าใจความหมายของคำศัพท์คำเดียวกันคือ ให้ทำลายตัวตน

อย่างมีกระแสสังคมเขาสอนกันว่า “อย่าคิดมากซิ อยู่เฉยๆ คิดมากมันจะเป็นประสาท” นี่เป็นการชวนกันไปอยู่ในระดับควาย ไม่ให้คิดอะไร มันเป็นเรื่องของการไม่เข้าใจคำศัพท์คำเดียวกันแท้ๆ คือ คิดมากแบบเป็นประสาท กับ คิดมากเพื่อให้เข้าใจ ทั้งๆ ที่คำว่า “คิด” นี่เป็นคำกลางๆ จะ คิด..ถูก ก็ได้ คิด..ผิด ก็ได้ มันยังสอนกันว่าอย่าคิดมาก อยู่เฉยๆ คิดมากเดี๋ยวเป็นประสาท เท่านี้มันก็เข้าใจกันผิด มันกลัวว่าคิดมากแล้วจะปวดหัว เห็นไหมที่ไหนมันก็สอนกันอย่างนี้ พูดกันอย่างนี้

หรืออีกอย่างก็สอนกันว่า “ให้มองในแง่ดี มองโลกในแง่ดี” ระดับไหนมันก็พูดก็สอนตามกันอย่างนี้ ระดับด๊อกเตอร์เขาก็พูดกันอย่างนี้ กระแสมันมาแรง มันก็พูดตามๆ กัน โดยไม่ได้คิด ทั้งๆ ที่มันชวนให้หลงอยู่ในคำพูดนั้น มันต้องขบคิดขยายความให้เข้าใจ มันไม่ต้องมองในแง่ดีแบบนั้น แค่ “มองในแง่ตรง ตรงตามความเป็นจริง” การมองในแง่ดีนี่มันเสแสร้งแกล้งทำ ไม่บริสุทธิ์แล้ว มันเป็นกระแสของโลกียะแล้ว “ถ้ามองในกระแสของโลกุตตระต้องมองในแง่ตรง ไม่ใช่มองในแง่ดี” ต่ำก็บอกต่ำ สูงก็บอกสูง ดำก็บอกดำ ขาวก็บอกขาว อ้วนก็บอกอ้วน ผอมก็บอกผอม เช้าก็บอกเช้า สายก็บอกสาย เจ็บก็บอกเจ็บ ดีใจก็บอกดีใจ เสียใจก็บอกเสียใจ นี่คือมองในแง่ตรง ไอ้ที่ว่ามองโลกในแง่ดีไว้ก่อน นั่นมันว่าตามกัน มันเป็นข้ออ้างแบบหลอกลวง เสแสร้ง

เหมือนกับเรื่องการออกบวช ก็ทำนองเดียวกัน กระแสสังคมมันก็เห็นตามกัน อยู่ดีๆ ใครจะคิดออกบวช คนออกบวชมีแต่คนไม่เต็ม คนเกือบเป็นประสาท คนผิดหวัง คนอกหักซิ เขาถึงหนีไปบวช ยิ่งกว่านั้นมันพูดถึงขั้นว่าคนขี้เกียจทำงานซิถึงออกบวช นี่เปรียบเทียบกระแสสังคมโลกมนุษย์มันก็เป็นอย่างนี้ จะเอายังไงกับมัน มันมองไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์ในการออกบวช ถ้ามันเห็นมันไม่รอช้าหรอก เหมือนมันเห็นงูเห่า มันไม่เข้าไปใกล้หรอก หรือเห็นกองไฟ เห็นกองอุจจาระเหม็นๆ นั่นมันจะรีบถอยหนีเลย แต่นี่มันไม่เห็นภัยในการเกิด มันจึงว่ากันตามกระแส

คนมีสติปัญญาดีที่ไหนเขาจะไปนั่งเฝ้ากองอุจจาระเหม็นๆ อยู่ หรือจะวิ่งเข้าใส่กองไฟร้อนๆ เหมือนครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า แมลงวันมันก็ตอมแต่ของเหม็นอยู่นั่นแหละ ยิ่งเหม็นยิ่งตอมเป็นฝูงๆ แต่ดูผึ้งซิมันไปตอมตามแมลงวันไหม มันไม่ไป ต่อให้แมลงวันเป็นล้านตัวตอมอุจจาระอยู่ ผึ้งมีตัวเดียวมันก็ไม่ยอมไปร่วมวงด้วย นี่คือมองในแง่ตรง แต่ถ้ามันมองในแง่ดีแบบเข้าข้างตัวเอง มันก็บอกว่าพออยู่ พอทน โลกมันก็มีสุขมีทุกข์อย่างนี้แหละ ทนๆ ไป ใครๆ เขาก็เป็นกันทั้งนั้น ตายแล้วก็แล้ว ตายแล้วก็หมดทุกข์ หมดเวรหมดกรรมกันเสียที นี่คือมันหลอกตัวเอง

พอพระท่านพูดถ้อยคำที่ตรงกับสัจธรรมตามความเป็นจริง มันก็รับไม่ได้ บางทีก็ว่าพระพูดไม่สุภาพ พูดหยาบ พูดไม่เป็นสิริมงคล อย่างหลวงปู่ชาท่านพูดบ่อยๆ เวลาวันพระมีโยมมาจำศีล ท่านจะกระตุ้นญาติโยมเสมอว่า “อย่ามัวนอนเอาผ้าห่มคลุมซากศพอยู่นั่น รีบลุกขึ้นมาภาวนา” นี่ลองคิดดูว่าท่านพูดตรงหรือพูดเสแสร้ง สำหรับคนที่เคยพัวพันอยู่กับเรื่องสัจธรรมเหล่านี้ เขาก็เข้าใจ เห็นด้วยว่า เออ..มันถูกของท่าน

ที่ว่ามาคือต้องการเน้นว่าให้ขบคิด พิจารณา ถ้อยคำต่างๆ ที่ได้ยินมา โดยใช้สติปัญญา ไม่ใช่รีบเชื่อไปเสียทุกอย่างตามศัพท์ที่ได้ยิน มันต้องตีความ ต้องสับให้มันแหลกเสียก่อน

เหมือนกับคำสอนที่บอกว่าให้นั่งสมาธิหลับตา หรือนั่งท่องพุทโธ พอมีคนค้านไม่เห็นด้วย ก็โกรธเคืองเขาแล้ว โดยไม่คิดให้มันรอบคอบ ความจริงการนั่งหลับตา หรือท่องพุทโธ นั้นมันยังไม่ถูก ไม่ผิด มันต้องดูว่าคนที่ทำน่ะทำถูกหรือทำผิด ถ้าทำถูกอย่างเข้าใจ มันก็ถูก แต่ถ้านั่งหลับตาแล้วง่วง ซึม หรือท่องพุทโธเหมือนเด็กอนุบาลท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ มีแต่ขยับปากปล่อยลมออกมา ไม่ได้มีสติและมีสัมปชัญญะ มันก็คือทำไม่ถูก ทั้งๆ ที่นั่งหลับตาจริงๆ ท่องพุทโธจริงๆ ตามคำสอน แต่ก็ไม่ถูก หรือจะอนุโลมให้ถูกก็ได้อยู่ แต่เป็นการถูกแบบหยาบๆ อยู่ไกลๆ โน่น

ฉะนั้นที่สำคัญจึงเน้นว่า “ต้องขบคิดให้กระจ่างชัดเจนในทุกระดับ เข้าใจและอธิบายได้ในแต่ละระดับ” มันก็จะไม่มีข้อสงสัย ไม่สงสัยก็คือ ไม่มีวิจิกิจฉา มันก็จะเข้าทางกับกระแสโสดาบัน คือละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ไม่ใช่ว่าทำความเพียรตั้งมากมาย ปฏิบัติตั้งมากมาย มานานหลายปี หลายพรรษา แต่มันไม่ถูก ไม่ตรงเลย มันก็เหมือนกับยิงลูกฟุตบอลไม่ตรงกรอบประตูสักที พอยิงจนหมดแรงก็หยุด ก็เลิก จนถึงกับลาสึกไป เพราะคิดเอาเองว่าชาตินี้คงหมดวาสนาแล้ว ไปสนุกอยู่กับโลกดีกว่า จะมาทนลำบากทำไม เอาไว้คอยวาสนาชาติต่อไป ค่อยๆ ทำบุญสะสมไปทีละนิดดีกว่า ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องลำบากอยู่เป็นเพศบรรพชิต โน่นมันคิดไปได้ไกลถึงขนาดนั้น

หลวงพ่อจึงขอเน้นว่า “ให้ขบคิด พิจารณา สับให้แหลกด้วยสติปัญญา ไม่ใช่นั่งทำสมาธิมากๆ แล้วมันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้เอง” บางคนฝืนนั่งอยู่นั่น ง่วงก็ทนสัปหงกอยู่นั่น ไม่ยอมลุก ไม่ยอมไปนอน เพราะคิดว่าตนกำลังนั่งทำความเพียร นั่นมันเป็นการสะสมกองกิเลส สะสมนิวรณ์ ให้มันมีกำลัง ยังไม่รู้ตัวอีก ต่อไปมันก็จะเป็นอนุสัยกิเลส พอกพูนไว้มากๆ นั่งสมาธิทีไรก็จะกลายเป็นนั่งหลับ จนถึงขั้นหลับก่อนมีเวทนาไปเลยก็ได้

หรือบางทีก็ติดอีกแบบหนึ่งโดยไม่รู้ตัว คือนั่งแล้วไม่ง่วงเลย นั่งแล้วสบาย เป็นสุข บอกให้เลิกก็ไม่อยากเลิก พอออกจากหมู่คณะไป ก็ไปหาที่นั่งต่อ เพราะกำลังสบาย จนพระบางรูปไม่อยากลุกไปบิณฑบาต เพราะคิดว่าตนกำลังปฏิบัติได้ผลดี นี่กิเลสครอบงำยังไม่รู้ตัว มันสลับซับซ้อนอย่างนี้แหละ มันจึงไม่ใช่ของง่าย หลายคนติดสงบ สบาย เป็นสุข ติดนิมิตต่างๆ อย่างไม่รู้ตัว ครูบาอาจารย์บอกให้เลิกนั่ง ให้ลุกไปเดินจงกรม ก็ยังไม่ยอมเชื่อ นี่มันหลายระดับสลับซับซ้อน

จึงต้องสับให้แหลก ให้แตกฉาน ขบคิด สังเกตการณ์ เปรียบเทียบ เทียบเคียงดู ด้วยสติปัญญา นี่เป็นการเดินทางด้วยความรู้ เดินด้วยความรู้สึกภายใน เพราะ “ทางที่ต้องเดินสู่โลกุตตรภูมินั่นอยู่ภายในใจ ไม่ใช่การเดินด้วยเท้าหรือเดินทางด้วยพาหนะภายนอก” พอรู้แล้ว พอถึงแล้ว มันก็เห็นตามเป็นจริง เห็นแล้วมันก็รู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง มันก็เอวัง มันก็สรุปลงด้วยตัวเองว่ามันก็แค่นั้น ไม่มีอะไรจะต้องหาต้องค้นอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น