วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว


ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

“ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ภาษาที่ชาวบ้านพูดกันให้ได้ยินเป็นประจำ เรื่องกายกับใจ มันก็ตรงตามนั้น กายมันเป็นวัตถุของใช้ ของใช้ของนามหรือใจ ส่วนที่เป็นนามก็ตั้งแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กลุ่มนี้คือนาม กลุ่มที่รวมมาเป็นใจ สี่อย่าง สี่อาการ รวมสรุปแล้วก็คือใจ จึงว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว มันก็ชัดเจน แต่ว่ามันก็ยังไม่เข้าใจ ไม่รู้จริงตามนั้น ไม่รู้จริงตามความเป็นจริงว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

กายเป็นบ่าว ก็คือ ผู้รับใช้ ของใช้ พูดก็พูดบ่อย จำได้ ได้ยินก็ได้ยินบ่อย แต่มันก็ยังไม่รู้จริง ไม่รู้แบบบริสุทธิ์จริงๆ ตามความเป็นจริง มันยังรู้ไม่ได้ นี่คือไม่รู้จริงในเรื่องใกล้ๆ ไม่ใช่เรื่องไกล ไม่รู้จริงในเรื่องที่อยู่กับตัวเองตลอดเวลา มันเป็นเรื่องที่ต้องหาคำพูดต่างๆ หยิบขึ้นมาพูดสู่กันฟัง ให้มันเข้าใจ แต่แล้วมันก็ยังไม่เข้าใจ พูดให้รู้ให้เห็นตาม แต่แล้วมันก็ยังไม่รู้ไม่เห็นตาม นี่คือความไม่รู้จริง “ผลงานของความไม่รู้จริง” นี่แหละมันสะท้อนออกมาเป็นตัวฉันตัวกู เป็นอัตตา เป็นตัวยึดถือ เป็นข้าพเจ้า เป็นฉัน นี่ให้มันจับจุดได้อยู่ตรงนี้ รู้หลักวิชา ได้หลักวิชา แม้จะยังไม่ได้ปฏิบัติการ ถ้าปฏิบัติการแล้วมันจะเห็นจริง รู้จริงตามความเป็นจริง ตามหลักวิชาที่เขียนไว้ เมื่อปฏิบัติการจนจบตามหลักวิชาการ บัญญัติสมมุติก็เรียกว่ารู้จริง รู้จริงตามเป็นจริง ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้แจ้งเห็นจริง ตรัสรู้ธรรม เป็นคำศัพท์ที่จะช่วยแทงเข้าไป จิ้มเข้าไป เจาะเข้าไป ในจุดเดียว

หลักวิชาการที่เขียนไว้ในตำรามันก็มีหลายอย่าง อย่างหนึ่งท่านก็ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นคำศัพท์ที่จะหาเรื่องมาพูด ปริยัติก็คือศึกษา ผมบวชมาไม่ได้ปฏิบัติ ผมบวชเรียนปริยัติ เป็นมหา 9 ประโยค นี่คือคำพูดแบบภาษาตามกระแสสังคมนิยม ระดับชาวบ้าน ที่รู้กัน เข้าใจกัน พูดตามกัน ผมไม่ได้อยู่วัดป่า ผมอยู่วัดบ้าน ผมบวชมาศึกษาปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย ศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมไม่ใช่นักปฏิบัติ แต่ผมเป็นนักปริยัติ พวกท่านดีน่ะ อยู่วัดป่า บวชมาปฏิบัติ ผมไม่ค่อยมีปริยัติ ผมบวชมาปฏิบัติเอาเลย บวชมาก็ปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ค่อยรู้ปริยัติ รู้นิดหน่อยแค่บางบทบางตอน มีความรู้น้อย ผมไม่ค่อยได้ศึกษาปริยัติ ผมอยู่วัดป่าก็ต้องเน้นปฏิบัติ เหล่านี้เป็นภาษาพูดระดับชาวบ้าน แต่ถ้ามองอีกระดับหนึ่ง ทั้งหมดนั่นมันก็เป็นการศึกษาเหมือนกัน อย่างคำว่า “ศึกษา” เอาไปเทียบกับคำศัพท์ท่านก็ว่า “เสขะ” คือศึกษา “เสขบุคคล” คือบุคคลที่ยังต้องศึกษา ขนาดเป็นพระโสดาฯ สกิทาคาฯ อานาคาฯ ก็ยังเรียกว่า เสขบุคคล คือบุคคลที่ยังต้องศึกษา ปริยัติมันก็คือศึกษา ปฏิบัติมันก็คือศึกษา เป็นนักศึกษา จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์จึงไม่ต้องศึกษา จบแล้ว รู้แจ้งแล้ว ไม่มีอะไรที่จำเป็นต้องศึกษาอีก เป็นอเสขบุคคล ผู้ไม่ต้องศึกษา

พูดถึงคำว่า “ปฏิบัติ” มันก็มีระดับต่างๆ นั่งฟังอยู่นี่ก็ปฏิบัติ นั่งฟังเฉยๆ อยู่นี่ ก็เป็นการปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยใจ ด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่ปฏิบัติด้วยกาย ซึ่งวิธีจะเข้าใจรูปนาม ไม่ใช่ปฏิบัติด้วยกาย ไม่ใช่ลงมือทำ แสดงท่าทางต่างๆ ทางกาย หรือหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยในการปฏิบัติ แบบนั้นมันอยู่ไกลเกินไป จะไปแห่กฐินผ้าป่า ทำบุญให้ทาน กรวดน้ำ นั่นมันปฏิบัติด้วยกาย ไปไหว้พระ อธิษฐาน จุดธูป จุดเทียน เอาพระพุทธรูปมาแขวนคอ มันไม่ใช่ มันอยู่ไกลเกินไป ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง นั่งหลับตาหาสมาธิ นั่งเก่ง ขยันนั่ง ขยันเดิน อันนั้นก็ยังเป็นการปฏิบัติด้วยกาย แต่มันก็เนื่องกัน มันแยกออกจากกันไม่ได้ มันก็ต้องสับไปสับมา ให้มันเข้าใจอย่างกระจ่าง ขยายออก ขยายเข้า ให้มันรู้ชัด สรุปแล้วก็คือให้เข้าใจ

หลักวิชาการคือ “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” พอได้หลักวิชาการก็นำไปค้นต่อไปตามหลัก นั่นคือปฏิบัติการแล้ว ได้หลักวิชาการแล้วก็ปฏิบัติการ ปฏิบัติการแล้วมันก็จะได้ผลออกมา คือ รู้จริงตามความเป็นจริง ตามที่บอกว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ย่อๆ มันก็เท่านี้ หลักวิชาการแค่นี้มันก็เยอะแยะจนปฏิบัติไม่หมดแล้ว พูดไปไหนมันก็วนกลับมาสรุปอยู่ที่เรื่องขันธ์ห้า กายใจ นี่แหละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น