วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

โลกนี้เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โลก

โลกนี้เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โลก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

โลกนี้เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โลก เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เป็นสัจธรรมของมัน เป็นดั้งเดิมของมัน ธรรมชาติให้มา ให้มีความรู้สึกไปในทางเนื่องตามกัน ความเป็นแมลงเม่ามันก็ทำให้บินตามกันเข้ากองไฟ แล้วมันก็ตาย บินเข้าไปมากเท่าไหร่ก็ตายมากเท่านั้น มันไม่รู้จัก ธรรมชาติมันให้รู้แบบนั้น ต้องการแบบนั้น การบินเข้ากองไฟนั้นมันถูกหรือผิด มันจะตายหรือจะเป็น มันก็ไม่รู้ ไม่ได้คำนึงถึง

มองภาพกว้างๆ ให้มันเห็นความน่าเบื่อหน่าย เห็นเป็นภัย เห็นเป็นโทษ อยากหนี อยากไป อยากพ้น แต่นี่มันก็ยังไม่เห็นอย่างนั้น แม้ยุ่งยากลำบากขนาดไหนมันก็ไม่เห็นภัยในการเกิด ไม่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร มันจึงไม่ต้องการที่จะหนีไป จะพ้นไป เพราะมันไม่เห็นโทษ ไม่เห็นภัย มีแต่พากันอยากอยู่ โดยพยายามแก้ไขธรรมชาติ ดัดแปลงธรรมชาติ แต่จริงๆ มันแก้ไขไม่ได้ มีแต่ธรรมชาติมันจะหัวเราะเยาะเอา มนุษย์เองธรรมชาติก็ทำให้เกิดมา ยังอยากจะเหนือกว่าธรรมชาติอีก

บ้างก็พากันไปแสวงหาบุญ ทำบุญ ทำบุญเพื่อจะให้หมดภพหมดชาติ ทำบุญเพื่อจะเอา ทำบุญแบบเห็นแก่ตัว ทำบุญเพื่อจะทรงไว้ซึ่งความเกิดอีกต่อไป ให้เกิดมาดี เกิดมามีบุญ จะเกิดมาชาติไหนภพไหนมันก็ต้องทุกข์เหมือนเดิม มีโรค มีภัย อย่างเก่า ยังจะปรารถนาเอาบุญ หวังให้เกิดดี

พอเกิดมามันก็มีได้มีเสีย มีดีใจมีเสียใจ เหมือนเดิม ใช้ชีวิตอยู่แล้วก็ตายไปเหมือนเดิม ไม่เคยเห็นโทษของความเกิด มีแต่ปรารถนาที่จะเกิด คิดที่จะเกิด ตั้งใจที่จะเกิด จะทรงไว้ซึ่งตัวอัตตา ตัวตน เห็นแก่ตัว ความยึดมั่น ความเคยตัว ความเคยชิน มันมีมากมาย มันจึงทำบุญแล้วก็ปรารถนาให้ตัวเองเกิด หรือทำบุญให้ทานเพื่อให้หมดภพหมดชาติ มันทำกันไปตามกระแส ไหลตามกัน ธรรมชาติมันให้ทำตามกัน

เปรียบเทียบสังเกตดูซิว่า มันเกิด-ตายกันมากแค่ไหน ดูอย่างแมลงเม่านี่มันก็ยังมหาศาล สัตว์ทั้งหลายอยู่ในโลก ดิ้นรนหากินทั้งนั้น มองภาพกว้างๆ แล้วมันไม่ได้น่าอยู่ มันน่าหนีไป มนุษย์นี่มีความคิดความเห็นเหนือกว่าสัตว์อื่น มีความเห็นที่โน้มเอียงไปทางที่ถูกต้องเหมาะสม สัตว์อื่นมันมีโอกาสน้อย น้อยมาก โอกาสของพวกมันยังอยู่อีกไกล ไกลจากที่จะรู้ความจริง ไกลจากที่จะพ้นไป มันน่าเบื่อมาก มันทรมานมาก สัตว์ทุกตัวเกิดมาล้วนถูกทรมานด้วยน้ำมือของธรรมชาติ ให้กินกัน กินพืชก็มี กินสัตว์ด้วยกันเองก็มี วุ่นวายขัดข้อง น่ากลัว ซ้ำๆ ซากๆ เจ็บปวด ตายแล้วตายอีก มนุษย์นี่มีโอกาสมากกว่า ขนาดมีโอกาสมากกว่าแล้วมันก็ยังไม่เข้าใจ มันฉาบทา มันปกปิด มันมืดมิด มันพรางซ่อนไว้ ทำให้มองไม่เห็น มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่รู้ได้ยาก มันชอบไหลไปตามกระแส เหมือนแมลงเม่ามันบินตามกันเข้ากองไฟ มันไม่มีตัวไหนที่คิดแหวกแนว มันมีแต่คิดแบบเดียวกัน คิดว่าต้องบินเข้ากองไฟ กระแสมันเป็นแบบนั้น

พูดใกล้เข้ามาถึงมนุษย์ มนุษย์ก็ไม่รู้จัก มันก็ชอบตามกัน อย่างที่พูดกันว่า ปกครองแบบประชาธิปไตย นี่เปรียบเทียบมันก็เท่ากันกับแมลงเม่า คือไปตามกระแส ตามมวลชน ตามกระแสโลก นี่มันเป็นบทบาทของอนิจจัง ตามยุคสมัย ถือเอาเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนมากเป็นประมาณ ยอมรับว่าเป็นความถูกต้อง เหมาะสม เป็นสิ่งที่ดีที่สุด มันก็เลยทำให้รู้ไม่ได้ เพราะว่าธรรมชาติมันผลักดันให้เห็นดี เห็นงาม เห็นชอบตามกัน

มันไม่ได้มีใครจะคิดเปรียบเทียบกับหลักการพื้นฐานตามกฎที่ธรรมชาติให้มา คิดว่าตัวเองเหนือธรรมชาติ ทั้งผู้ได้รับการศึกษามาก ได้รับการศึกษาน้อย คนหนุ่ม คนแก่ คนเฒ่า มันก็เห็นด้วย เห็นตามกันแบบประชาธิปไตย นี่มันก็แบบแมลงเม่า มันไม่คิดขัดแย้ง เพราะสัญชาตญาณมันให้ความรู้สึกออกมาตรงกัน อำนาจธรรมชาติมันผลักดันหัวจิตหัวใจให้คิดแบบนั้น กำหนดให้มนุษย์เกิดมา กำหนดให้คิดแบบนี้ และให้เปลี่ยนกระแสความคิดไปในแต่ละช่วงเวลา แต่ละยุคสมัย บางยุคให้ชอบแบบมีผู้นำเป็นพระมหากษัตริย์คือราชาธิปไตยก็ได้ อย่างที่โบราณนิยมกัน ให้พระราชามหากษัตริย์เป็นผู้นำชี้ขาด ต่อมาก็ไม่เอา บอกว่าแบบนั้นมันเผด็จการ มันไม่เท่าเทียมกัน

มันไม่ได้มองลึกลงไปว่า “จะให้ได้ทุกอย่างดั่งใจหวังนั้นเป็นไปไม่ได้” มันเป็นสัจธรรมของโลก ดีและไม่ดีมันมาด้วยกัน ซื่อสัตย์และไม่ซื่อสัตย์มันมาด้วยกัน ผู้นำซื่อสัตย์และผู้นำไม่ซื่อสัตย์มันมาด้วยกัน ผู้นำโง่และผู้นำมีสติปัญญามันก็มาด้วยกัน มองให้มันลึกลงไปมันก็จะเห็นแบบนี้ จะให้มันตรง ให้มันราบรื่น เรียบง่าย ไม่มีปัญหาเลย มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันขัดกับสัจธรรมของความเป็นโลก ตามหน้าที่ของธรรมชาติที่ให้มา จะปกครองแบบประชาธิปไตยมันก็แค่นั้น สรุปลงมันก็แค่นั้น มันไม่ได้เหนือไปจากกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะปกครองแบบราชาธิปไตย หรือประชาธิปไตย มันก็ไม่ได้เหนือไปจากกฎไตรลักษณ์ เพราะมันเป็นกฎของสัจธรรม กฎของธรรมชาติ ตายตัวอยู่แล้ว แต่มนุษย์ก็ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ

บ้างก็พูดกันสอนกันว่า “อย่างยั่งยืน” ทำอะไรก็ทำอย่างยั่งยืน อยู่อย่างยั่งยืน คำพูดนี้มันน่าหัวเราะ มันไม่มีอะไรจะยั่งยืน แต่สังคมโลกมนุษย์ก็มาพูดสอนกันว่าให้มันยั่งยืน พอพูดคำว่า “ยั่งยืน” นี่ได้ยินแล้วมันน่าหัวเราะ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันผิดกฎธรรมชาติ ผิดกฎไตรลักษณ์ มันไม่มีอะไรจะยั่งยืน มนุษย์มาบัญญัติกันเองว่ายั่งยืน มันจึงน่าหัวเราะ คนระดับไหนล่ะที่พูดคำศัพท์นี้ ระดับมีการศึกษาสูงๆ ระดับปริญญา จบด๊อกเตอร์ก็พูดตามกัน ระดับพื้นฐานก็พูดตามกัน ระดับปานกลางก็พูดตามกัน เห็นตามกัน เมื่อมองตามกฎธรรมชาติแล้วมันไม่มีอะไรยั่งยืน เขาก็รู้อยู่ แต่ว่าก็เหมือนไม่รู้ มันก็ไหลไปตามกระแส จบสูงแค่ไหนก็ไหลตามกระแส เต็มไปด้วยความอยาก ดิ้นรน หาวิธีจะให้มันเรียบร้อย เป็นไปไม่ได้ที่มันจะเรียบร้อย จะราบรื่น จะยั่งยืน เป็นไปได้แค่บางจังหวะ เหมือนกันกับขากำลังก้าวไป ซ้าย-ขวาสลับกันไปตามจังหวะ

คำว่า “ยั่งยืน” เป็นไปไม่ได้ ธรรมชาติก็แสดงให้เห็นอยู่ชัดๆ ว่าไม่ยั่งยืน แต่ก็ยังพูดกันว่า “พัฒนาอย่างยั่งยืน” มันน่าหัวเราะ เป็นคำพูดที่ไม่ได้เป็นความจริง ธรรมชาติแสดงให้เห็นอยู่ แต่ก็ยังมองไม่เห็น คิดเปรียบเทียบไม่ได้ ไม่มีใครพูดขัดออกมาด้วยซ้ำ ไม่มีใครคิดขัดแย้งด้วยซ้ำ มีแต่พูดตามๆ กัน แล้วก็เชื่อตามกันทันทีโดยไม่คิด

แม้แต่กลางวัน–กลางคืน มันก็ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป คำพูดที่ตรงตามธรรมชาติก็ไม่ชอบพูดกัน ระดับมีการศึกษาสูงขนาดไหน ก็ไม่พูดให้ตรงตามหลักความจริง ฤดูแล้งมี ฤดูฝนมี แล้วมันจะยั่งยืนได้ยังไง แม้แต่ขากรรไกรขยับพูดอยู่นี่ มันก็ไม่ยั่งยืน ถ้ามันยั่งยืนมันจะออกมาเป็นเสียงนั่นเสียงนี่ได้หรือ แม้แต่เคี้ยวข้าวกินมันก็ยังไม่ยั่งยืน มันไม่มีอะไรที่ยั่งยืน นี่คือตามสัจธรรมที่มันเป็นจริง แต่ก็ไม่พูดกันตามหลักความจริง กลับไปพูดเสแสร้ง จอมปลอม หลอกกันไป เชื่อกันไป กลบเกลื่อนกันไป

อย่างล้อรถที่กำลังหมุนอยู่ มันก็ไม่ยั่งยืน มันหมุนไป มันจึงไปถึงจุดหมายได้ หรือแม้แต่ลมหายใจเข้า-ออก ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนนอนหลับ มันหายใจเข้า-ออกกี่ครั้ง มันเข้าอย่างเดียวหรือเปล่า มันออกอย่างเดียวหรือเปล่า ดื่มน้ำเข้าไปยั่งยืนไหม กินอาหารเข้าไปยั่งยืนไหม อิ่มแล้วมันยังกลับมาหิวกระหายอีกไหม ถ้าคิดอยากจะให้มันยั่งยืนตามอย่างที่พูดกัน นั่นมันบ้าแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น