วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ศึกษากรรมฐานในชีวิตประจำวัน

ศึกษากรรมฐานในชีวิตประจำวัน
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ศึกษากรรมฐานในชีวิตประจำวัน ดูของจริงที่สัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ใช้มันอยู่ประจำ เรื่องใกล้ตัว อยู่กับตัว มันเข้าใจได้ยาก เพราะว่ามันชวนไม่ให้เข้าใจ มันชวนไปติดอยู่กับอารมณ์ภายนอก มันไม่อยู่กับสัมปชัญญะ ไม่อยู่กับการรู้ตัว มันไปรู้อยู่กับภายนอก

“ความว่าง” หรือ คำว่า “ว่าง” คือ ว่างจากอารมณ์ที่มันยังไม่ไปรู้ ว่างจากอารมณ์ที่มันยังไม่มาถึง อารมณ์ที่มันอยู่อนาคต มายังไม่ถึง มันก็ว่าง จิตว่างมันก็ว่างแบบนี้ จิตคือรู้

“รู้” มันว่างจากอารมณ์อนาคต ว่างจากอารมณ์อดีต ธรรมชาติมันว่างอยู่แล้ว แต่มันไม่ว่างในปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันมันไม่ว่าง ศึกษาตรงๆ ศึกษาสิ่งที่พิสูจน์ได้ เป็นของจริง ไปเรื่องอื่น เรื่องนรก สวรรค์ เทวดา ไปพูดทำไม มันไม่ได้เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน พูดให้คนอัศจรรย์ทำไม มันพิสูจน์ไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ บางทีคนพูดเองก็พิสูจน์ไม่ได้ ผู้ฟังเองก็ไม่รู้ไม่เห็นเหมือนกัน สัมผัสไม่ได้ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ท้าทายไม่ได้ มันก็ชวนกันงง ชวนกันหลง เพราะไม่พูดของจริง พูดในเรื่องที่ต่างคนต่างไม่รู้

มันต้องพูดเรื่องที่พิสูจน์ได้ เห็นได้ในชีวิตประจำวัน มันจึงจะเข้าใจตามรูปแบบธรรมะได้ง่าย ไม่ชวนให้หลงงมงาย อารมณ์ในอนาคตมันจะไปรู้ได้ยังไง มันยังมาไม่ถึง มันก็เป็นของว่าง อธิบายแบบนี้มันท้าทาย มันเป็นของจริง คนทุกชั้นทุกระดับสามารถจะวิเคราะห์เข้าใจได้ แต่ก็ไม่ค่อยพูดของจริงสู่กันฟัง มันมายังไม่ถึง มันก็ว่างโดยหน้าที่ โดยธรรมชาติของมัน โดยความจริงของมัน อารมณ์ในอดีตผ่านไปแล้ว มันก็รู้ไม่ได้ รู้ได้ในปัจจุบันเท่านั้น ในเมื่อรู้ไม่ได้ มันก็ว่าง นี่คือเอาคำศัพท์คำว่า “ว่าง” มาอธิบาย มันว่างจริงไหม จริง ท้าทายให้พิสูจน์เลย ถ้าเห็นว่าไม่จริงก็เถียงมา ธรรมะมันต้องจริง ทนต่อการพิสูจน์

ถ้าไม่เข้าใจ ก็ยกตัวอย่าง เช่น เผ็ดไหม ตอนนี้คุณเผ็ดไหม เผ็ดมันอยู่ในอนาคต ยังไม่ได้กินพริกตอนนี้ มันจะเผ็ดได้ยังไง ดังนั้น ตอนนี้มันก็ว่าง ว่างจากเผ็ด นี่ธรรมะมันพิสูจน์ได้แบบนี้ ว่างจากอารมณ์ชนิดที่เรียกว่าเผ็ด มันมายังไม่ถึง มันเป็นอนาคตอยู่ จะให้มันสัมผัสได้ยังไง มันรู้ไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เป็นปัจจุบัน รู้ต้องรู้ในปัจจุบัน

หรืออธิบายอีกแบบหนึ่ง เผ็ดตั้งแต่เมื่อวาน เมื่อวานกินอาหารแล้วมันมีรสเผ็ด จะเอามาเผ็ดตอนนี้ได้ไหม ตอนนี้มันไม่เผ็ด เพราะนั่นมันเป็นอดีต อดีตที่มันผ่านไปแล้ว เอามารู้ไม่ได้ มันก็ว่าง อธิบายอย่างนี้มันก็ชัดเจน ปัญญาชนสามารถจะเข้าใจได้ มันเป็นธรรมะของจริง ที่ท้าทายให้พิสูจน์ได้ แต่ก็ไม่นิยมพูดธรรมะจริงๆ กัน ไปพูดเรื่องสวรรค์ นรก เทวดา เอาอะไรมาพูด ใครจะไปเข้าใจ ถ้าพูดเรื่องเผ็ดนี่คนพูดก็รู้จักเผ็ด คนฟังก็รู้จักเผ็ด เผ็ดในอดีต เผ็ดในอนาคต มันรู้จักร่วมกันได้ ท้าพิสูจน์ได้

อารมณ์ชนิดอื่นก็ขยายออกไปทำนองเดียวกัน เค็มก็เป็นอารมณ์ ร้อนก็เป็นอารมณ์ หนาวก็เป็นอารมณ์ เหมือนกับเผ็ด รักก็เป็นอารมณ์ ชังก็เป็นอารมณ์ เฉยๆ ก็เป็นอารมณ์ อารมณ์มันมีในปัจจุบัน และมันก็เกิด-ดับ หรือว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มันไม่ได้เผ็ดอยู่ตลอดเวลาทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี นั่นคือไม่เที่ยง นั่นคือ เกิด-ดับ ถ้าบอกว่าเผ็ดอยู่ตลอดวันตลอดคืน มันก็บ้าแล้ว มันไม่จริง บอกว่าเค็มอยู่ตลอดวันตลอดคืน มันก็บ้าแล้ว จิตวุ่น จิตไม่ว่างอยู่ตลอดวันตลอดคืน มันก็พูดตามกัน แต่พูดแบบไม่เข้าใจ จิตคืออะไร จิตคือรู้ จิตวุ่น จิตไม่ว่างจากอะไร มันก็อธิบายไม่ได้

มันว่างจากอารมณ์หนึ่ง แต่ก็ไปอยู่กับอีกอารมณ์หนึ่ง เพราะมันเป็นบทบาทของอนิจจัง เป็นสัจธรรม เป็นหน้าที่ของมันที่จะเป็นแบบนั้น ว่างจากอารมณ์หนึ่งก็ไปอยู่อีกอารมณ์หนึ่ง ไปวุ่นอยู่กับอารมณ์ใหม่ มันเป็นบทบาทของการเกิดขึ้นแล้วดับไป ตามภาษาธรรมะที่พูดไว้ มันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะหน้าที่มันเป็นแบบนั้น หน้าที่ของธรรมชาติให้มาแบบนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจริง ธรรมะมันไม่ได้เป็นเรื่องพิลึกกึกกือ ไปพูดกันให้มันดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ คนมีปัญญาความรู้เขาก็เลยไม่สนใจ เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ธรรมะมันเป็นเรื่องของจริง เป็นเรื่องเกิด-ดับ ในชีวิตประจำวัน เรื่องของตัวเอง เรื่องของทุกคน ทุกคนสัมผัสได้ พิสูจน์ได้ ที่ท่านเขียนไว้ในตำรามันถูกต้องอยู่ แต่ว่าคนฟัง คนอ่าน มันไม่เข้าใจ

“อนิจจัง” มันก็เป็นสิ่งเดียวกันกับคำว่า “เกิด-ดับ” มันก็เป็นอย่างเดียวกันกับที่พูดว่า “ว่างจากอารมณ์หนึ่ง ไปอยู่กับอีกอารมณ์หนึ่ง” ชาติเกิดขึ้นจึงมี แก่-เจ็บ-ตาย หรือพูดรวบให้สั้นเข้าก็ว่า “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” สรุปเข้ามาเป็น “อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา” นี่ก็อย่างเดียวกัน มันก็หมายถึง “เกิด-ดับ” เหมือนกัน หรือจะว่าแค่ “อนิจจัง-อนัตตา” ก็ได้

เหมือนอย่าง “เผ็ด” มันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง เผ็ดในช่วงหนึ่ง แล้วมันก็ดับไป มันไม่ได้เผ็ดอยู่ตลอด เมื่อมันหมดความรู้สึกเผ็ด มันก็เป็นอนัตตาแล้ว พูดอย่างนี้ก็ได้ อนัตตาคือไม่มีตัวเผ็ดอยู่นั่น มันเป็นอนิจจัง มันก็เลยเป็นอนัตตาไปพร้อมกัน ย้อนไปย้อนมา มันไม่ใช่ตัวตนจริงๆ มันเป็นเรื่องหน้าที่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อนิจจังมันก็เป็นหน้าที่ อนัตตามันก็เป็นหน้าที่ หน้าที่ของมัน ทุกอย่างมันเป็นแบบนี้ มันมาจากไหน มันก็มาจากธรรมชาติ ธรรมชาติให้มาแบบนี้ มันก็เลยทำหน้าที่แบบนี้ จริงไหม จริง สามอย่างนี้เขียนไว้ตัวใหญ่ๆ เลย “ธรรมชาติ หน้าที่ จริง” เอาสามคำนี้ไปขยาย มันจะแตกฉานโดยเร็ว จับจุดได้ ศึกษาธรรมะได้ตรง อยู่ในกรอบในวงในเขต

มันเป็นเรื่องความไม่เข้าใจสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเอง เกิดขึ้นกับตัวเอง สิ่งที่สัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ชีวิตที่ยังไม่ตายนี่แหละ ไปศึกษานรก สวรรค์ ใครจะไปรู้ไปเห็น มันก็ยิ่งชวนให้งงไปมากยิ่งขึ้น พูดตามกัน เชื่อตามกัน ต้องพูดให้มันรุนแรงแบบนี้ มันจึงจะหลุดจากการติดข้องในกระแสสังคม ออกจากมันให้ได้ มันพูดตามกัน เชื่อตามกัน มันมีใครเห็นบ้าง นี่คือจุดที่ต้องใช้คำรุนแรง เพื่อพังความยึดติดของคนทั้งหลาย ความไม่ชอบคิด ชอบแต่เชื่อผู้อื่น เชื่อแบบเชื่อตำรา มันเป็นคำถามที่ท้าทายด้วย คุณเคยเห็นนรกหรือ ถึงเอามาพูดสู่คนอื่นฟัง เคยเห็นเทวดาจริงหรือ จึงนำมาพูดสู่คนอื่นฟัง มันก็พูดตามเขาเท่านั้น จึงขอถามด้วยความท้าทาย และถามด้วยความมั่นใจ

ผู้ที่มีทัศนวิสัยแปลกจากหมู่ จากสังคมนิยม มันมีน้อย มีแต่ชอบแห่ตามกัน พูดตามกัน เชื่อตามกัน ทำตามเขา ยกตัวอย่างบุคคลที่แหวกแนวในอดีต ก็คือพระพุทธเจ้าของเรา มีคนเดียวเท่านั้นที่แปลกจากกระแสนิยม คิดแหวกแนวออกไปจากคนทั้งหลาย

มันเป็นเรื่องของหน้าที่ อารมณ์ที่ยังมาไม่ถึง มันจะไปรู้ได้ยังไง เป็นคำอธิบายที่ท้าทาย ตอนนี้ปวดหัวไหม ไม่ปวด แล้วตอนนี้ “รู้” ปวดหัวไหม ถ้าพูดกันตามตรงมันก็ต้องตอบว่าไม่รู้ เพราะว่าปวดหัวมันอยู่ในอนาคตยังไม่มาถึง คุณก็ว่างจากปวดหัว คุณจะไปเสแสร้างแกล้งปวดหัวได้หรือ ถ้าหัวไม่ปวด หากบอกว่าปวด คุณก็พูดไม่จริง คุณไม่บริสุทธิ์แล้ว มันก็ไม่เป็นธรรมแล้ว หรือถ้าบอกว่า เมื่อวานนี้ปวดหัวอยู่ เมื่อวานฉันปวดหัวมาก นี่มันเป็นอดีตแล้ว คุณเอามาปวดตอนนี้ได้ไหม ไม่ได้ นั่นล่ะมันเกิด-ดับไปแล้ว เป็นอนิจจังไปแล้ว และก็เป็นอนัตตาไปแล้ว ไม่มีตัวปวดอีก ธรรมะมันจะสอดคล้องกันไปหมด ไม่ขัดกัน ถ้าพูดเรื่องจริงแบบตรงไปตรงมา

หรือคำพูดที่มักพูดตามกันว่า “ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อดีตอนาคตอย่าไปสนใจ” นี่ก็พูดตามเขา ไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในระดับที่มันลึกซึ้ง เอามาใช้กันในระดับชาวบ้าน นี่มันต้องแยกตีความให้เข้าใจทุกระดับว่าใช้อยู่ในระดับไหน ไม่ใช่เอามาพูดใช้ปะปนกัน

ปวดฟันไหม ไม่ปวด จิตก็ว่างจากการปวดฟัน ปวดหัวไหม ไม่ปวด จิตก็ว่างจากการปวดหัว จิตคืออะไร จิตคือรู้ ใจคืออะไร ใจคือรู้ บางทีก็พูดกันว่า “มันอยู่ที่ใจ” นี่ก็พูดตามเขาอีก ไม่ได้ชัดเจนในความหมายของคำศัพท์นั้น ถ้าไม่มีปวดฟัน ก็ไม่มีใจแล้ว ถ้าไม่มีปวดหัว ก็ไม่มีใจแล้ว เพราะว่าใจคือรู้ ถ้าจะพูดว่า “อยู่ที่ใจ” มันก็ต้องอธิบายได้ถึงระดับนี้ มันจึงจะชัดเจน

คุณไม่เค็ม คุณก็ไม่มีใจ ลองไปถามก้อนหิน ก้อนดิน ถามเหล็ก ถามไม้ ดูซิ ว่ามันเค็มไหม เผ็ดไหม มันเค็มไม่ได้ มันเผ็ดไม่ได้ นั่นล่ะคือมันไม่มีใจ ไม่มีรู้ มันก็เป็นการอธิบายให้วกไปวนมาเพื่อให้มันเข้าใจ หัวคุณไม่ปวด ก็ไม่มีใจ คุณรู้ว่ามีหัวอยู่ แต่หัวไม่ปวด คุณก็มีใจอยู่ ใจแบบเฉยๆ ใจแบบไม่ปวด เพราะใจแปลว่ารู้ จิตคือรู้ วิญญาณคือรู้ ต้องไล่ต้อนมัน สับไปสับมาให้มันแหลก

“เฉยๆ” ก็เป็นรู้ชนิดหนึ่ง ปวดก็เป็นรู้ชนิดหนึ่ง บางทีพอเจอคำว่า “อุเบกขา” ก็งงอีก อุเบกขาก็คือเฉยๆ มันเป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้นเอง นี่มันติดอยู่กับคำเล็กๆ น้อยๆ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะมันไม่เข้าใจ ไม่แตกฉาน ถ้าเข้าใจมันจะอธิบายได้แบบกระจ่าง ปลอดโปร่ง เพราะมันเป็นเรื่องอยู่กับตัวเอง อยู่ในชีวิตประจำวันของตัวเอง อาการเหล่านี้มันพบได้ตลอดในชีวิตประจำวัน ธรรมะนี่มันพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่ยังไม่ตายนี่แหละ ไปตกนรก ไปขึ้นสวรรค์ จะเอามาพูดทำไม มันพิสูจน์ไม่ได้ มาพูดอวดวิเศษหาอะไรในสิ่งที่มันสัมผัสไม่ได้ นี่เป็นวิธีพูดที่จะกะเทาะความรู้สึกที่ถูกปิดกั้น ห้อมล้อมไว้แสนนานจนหนาทึบแล้ว ทุบให้มันพัง ให้มันโปร่งออกมา

ยังไม่ปวดอุจจาระ มันก็ว่าง ยังไม่ปวดปัสสาวะ มันก็ว่าง ว่างจากอาการปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ถ้ามันปวดขึ้นมามันก็ไม่ว่างแล้ว สังคมทั้งหลายก็ว่านี่เป็นทุกข์ ปวดก็เป็นทุกข์ ปวดฟันก็เป็นทุกข์ แล้วตอนที่หวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด ทำไมไม่ว่าเป็นทุกข์ ในเมื่อมันก็เหมือนกัน

เฉยๆ หรือ หนาว หรือ ร้อน มันก็เหมือนกันกับปวดฟัน จืด หรือ เค็ม มันก็เหมือนกันกับปวดหัว มันเป็นแต่ละชนิด แต่ละหน้าที่ของมัน ปวดปัสสาวะ มันก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ปวดอุจจาระ มันก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง เป็นแต่ละหน้าที่เท่านั้น เป็นสัจธรรมแต่ละชนิดๆ ของมัน เจ็บมันก็เป็นหน้าที่ แต่ยอมรับไม่ได้ ก็เพราะมันไม่กระจ่าง มันยังแยกพรรคแยกพวก แยกดีแยกชั่ว แยกทุกข์แยกไม่ทุกข์อยู่ นี่ของเธอนี่ของฉัน นี่ลูกเธอนี่ลูกฉัน มันไม่มีความเป็นธรรม อธิบายขยายความไปมันก็สอดคล้องกันอย่างนี้ สิ่งที่มันเป็นอยู่ก็คือหน้าที่ของมัน แต่มันเข้าใจลงไปถึงระดับแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเข้าใจได้ เห็นได้ มันก็ไม่ใช่ธรรมดาแล้ว มันเหนือโลกแล้ว ถ้ายังคิดแบบโลก ทำแบบโลก มันก็ไม่เหนือโลกสักที ธรรมะนี่มันน่าสนใจมาก น่าศึกษา น่ามีศรัทธา เพียรต่อไปเถอะ แล้วสักวันจะรู้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น