วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มันหึงมันหวงร่างกาย


มันหึงมันหวงร่างกาย
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

สิ่งที่เป็นชีวิต เป็นขันธ์ห้า เป็นรูปนาม มันหึงมันหวงร่างกาย มันไม่อยากทิ้ง คนป่วยนี่ร่างกายมันเดินทางมาถึงจุดที่มันจะจบลงตามสภาพของเรือนร่าง มันก็ยังเข้าใจผิด ยึดถือ ปล่อยไม่ได้ มันเป็นของหนักก็เลยเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นคำว่า “ทุกข์” นี่มันอยู่ในระดับพื้นฐาน ในระดับชาวบ้าน ไม่อยากทิ้ง ไม่อยากจากกัน รูปกับนามไม่อยากจากกัน มันก็เลยสะท้อนถึงคำศัพท์ที่บอกว่า “เป็นทุกข์” ความเจ็บไข้เป็นทุกข์ ความจะตายเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะไม่เข้าใจ มันก็เลยมีรสชาติไปยึดถือความรู้ชนิดที่เป็นตัวตน ไปติดอยู่ ไปถืออยู่ ไม่อยากพลัดพราก ไม่อยากจากกัน ไม่อยากให้มันเป็นไปตามสัจธรรมของมัน มันมีความยึดถือตัวตน มันไม่อยากทิ้ง ไม่ยอมรับความจริง ตัวเองไม่ยอมรับความจริง ญาติพี่น้องก็ไม่ยอมรับความจริง ไปหวงไปสงสารว่าคนนั้นจะตาย ไปคอยเป็นทุกข์อยู่กับคนป่วยไข้ มีความวิตกกังวล ร้องไห้หากัน ทั้งๆ ที่เป็นคนละคนกัน ความยึดถือติดในกระแสสังคมนิยมมันสืบต่อถ่ายทอดเป็นแถวยาวไปทั้งญาติพี่น้อง นี่มันเป็นกระแสโลก มันเป็นโลกียวิสัย โลกียธรรมแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านจึงเรียกว่า “โลกียชน” นี่เห็นชัดเจนเลย

อยากให้หายเจ็บ อยากให้หายป่วย ประคับประคองไป รักษาไปให้มันหายเจ็บหายป่วย ถ้าหายป่วยได้ก็ถือว่าดี ถ้าตายก็ถือว่าไม่ดี ความยึดถือมันฝังลึก มันเหนียวแน่น มันหนา มันมองไม่เห็นของจริง มันสะท้อนออกมาเป็นความยึดถือ ก็เพราะมันไม่รู้ตามความเป็นจริง ที่จริงเวลาเราป่วยเราจะสังเกตเห็นได้ว่าร่างกายมันเป็นของหนัก ร่างกายมันเป็นอนิจจัง เป็นความแปรปรวน เป็นความเกิด-ดับ มันแย้มให้ดูแล้ว แต่เราไม่ได้เพ่งดู ไม่เคยคิดจะดู มันก็เลยไม่เห็น ความจริงมันแนะแนวให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว มันเตือนให้รู้ว่าแก่ชราแล้ว ใกล้จะตายแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมรับ มองไมเห็น ขนาดว่าแก่มันก็แก่ให้เห็นอยู่ชัดๆ เป็นธรรมะระดับพื้นฐานระดับโลกีย์ก็ยังไม่เห็น ผมมันหงอกขาวให้เห็นแล้ว ฟันมันปวดมันโยกคลอนให้ดูแล้ว เป็นอนิจจังแล้ว เปลี่ยนแปลงแล้ว ร่างกายมันทรุดโทรมลงไปแล้ว มันแสดงให้ดูแล้ว ให้เห็นแล้ว แสดงให้ยอมรับแล้ว แต่ก็ไม่ยอมรับ นี่จึงว่ามันหนา มันไม่เข้าใจ อาการที่ว่ากินอะไรก็ไม่อร่อย นอนไม่หลับ เจ็บนั่น ปวดนี่ โรคนั่นโรคนี่รุมกันเข้ามา นี่คือธรรมชาติมันแสดงให้ดูโดยอัตโนมัติ

ก้อนรูปที่ไปยึดอยู่ ถืออยู่ ขันธ์ที่หนึ่งคือรูปขันธ์ หรือกองรูป นี่มันแปรปรวน มันก็เป็นอนิจจัง แสดงอนิจจังให้ดูแบบชัดๆ แบบยาวนาน แบบหยาบๆ มันก็ไม่เห็น มันยอมรับความจริงไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ มันก็เป็นไปตามหน้าที่ ทำตามหน้าที่ของมัน หน้าที่ที่ธรรมชาติให้มา ตามสัจธรรมของมัน ธรรมก็คือจริง เป็นไปตามจริงของมัน สัจจะคือจริง ธรรมก็คือของชนิดนั้น วัตถุชนิดนั้น แยกพูดแบบนี้ก็ได้ มันก็เป็นจริงตามหน้าที่ของวัตถุชนิดนั้น รูปธรรมชนิดนั้น ทุกอย่างมันมีสัจธรรมของมัน

สับให้ย่อยลงไปอีก ธรรมคือพริก สัจจะของมันก็คือเผ็ด หรือ ธรรมคือฟ้าทะลายโจร สัจจะของมันก็คือขม อะไรเป็นสัจจะของเกลือ สัจจะของเกลือก็คือเค็ม สัจจะของน้ำตาลคือหวาน มันก็สามารถพูดสับไปสับมา ป่นไปป่นมา ให้มันกระจ่างในเรื่องของจริง ไม่ให้มันเกาะไม่ให้มันติด ให้มันทะลุไปทะลวงไป มองผ่านไป ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือเห็นจริงตามสัจธรรมนั้น

น้ำแข็งเป็นธรรม สัจจะของน้ำแข็งคือเย็น ตุ๊กแกเป็นธรรม สัจจะของมันคือพูดไม่ได้ ร้องได้แค่ว่า ตุ๊กแก ตุ๊กแก อยู่นั่น นั่นคือสัจจะของมัน มันพูดไม่ได้เหมือนมนุษย์ มันเป็นสัจจะของแต่ละชนิด แต่ละอย่าง ถ้าไม่เข้าใจมันก็งงอยู่นั่น “สัจจะ” คำเดียวก็ไม่กระจ่าง พูดตามกันไป แต่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง อธิบายไม่ได้ สัจจะของตุ๊กแกคือมันมีสี่ขา จริงไหม จริง ตามหน้าที่ของสิ่งนั้น แสงแดดเป็นธรรม สัจจะของมันคือร้อน น้ำเป็นธรรม สัจจะของมันคือไหลไปไหลมา อ่อนตัว ก้อนหินเป็นธรรม สัจจะของมันคือแข็ง หนัก

ขยายต่อมาถึงเวลาไปเยี่ยมคนแก่ที่โรงพยาบาล คนเกิดมานาน อายุมาก สัจจะมันก็ต้องป่วย เจ็บไข้ นี่คือจริง นั่นคือสัจจะของคนแก่ ตาก็มองไม่ค่อยชัด นั่นล่ะสัจจะของคนอายุมาก คนแก่อายุมากนั่นล่ะเป็นธรรม ปวดฟันก็เป็นสัจธรรม ปวดหัวก็เป็นสัจธรรม ปวดเป็นสัจจะ ฟันเป็นธรรม หัวเป็นธรรม จึงมีบัญญัติออกมาอธิบาย ปวดมีจริง หัวมีจริง ไม่ใช่ผีห่ามาทำการอะไร จึงว่ามันเป็นสัจธรรม เป็นของจริงไม่ใช่ของปลอม

เพราะมันไม่รู้สัจธรรม จึงเรียกว่า อวิชชา ความไม่รู้ มีตามันก็ฝ้าฟาง มีฟันมันก็ปวดฟัน มีหัวมันก็ปวดหัว มีท้องก็ปวดท้อง แก่แล้วก็ต้องตาย นี่สัจธรรมของมัน พอใกล้จะตายก็ไม่อยากตาย ไม่อยากก็เพราะมันไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม อยากจะขัดขวางธรรม มันก็เป็นบ้าซิ มันโง่ มันหลง มันยึด มันถือ ไม่มีศีลไม่มีธรรม จะตายแล้วก็ไม่ยอมตาย ไม่รู้จักสัจธรรม คนไม่มีสัจธรรม มันต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปแบบนี้ มันจึงจะค่อยๆ กระจ่าง มองรูปแบบไหนก็กระจ่าง ถ้าเข้าใจแล้วมันก็ปล่อย มันก็วางเองมัน ความไม่เข้าใจนี่มันสะท้อนออกมาเป็นตัวยึด เป็นตัวอัตตา เป็นผลงานของความไม่เข้าใจ เหมือนผลมะม่วงเป็นผลงานของต้นมะม่วง ผลส้มโอก็เป็นผลงานของต้นส้มโอ ผลกล้วยก็เป็นผลงานของต้นกล้วย ความยึดถือมันก็เป็นผลงานของความไม่เข้าใจ ไม่รู้ตามเป็นจริง ไม่รู้สัจธรรม ไม่มีธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น