วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ศึกษาเรื่องตัวเอง

ศึกษาเรื่องตัวเอง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ศึกษา...ศึกษาเรื่องตัวเอง จิตว่างหรือจิตไม่ว่าง “จิต คือ รู้” ตามความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้นั้นจิตคือรู้ รู้คือจิต รู้ในขณะตื่น ขณะยังไม่หลับ ถ้าหลับแล้วมันก็เป็นธรรมชาติชนิดที่เรียกว่า “ไม่รู้” แล้วเวลามันหลับจิตมันไปอยู่ไหน จิตคือรู้ เวลามันหลับมันไม่รู้ มันไปอยู่ที่ไหนล่ะ

ภาษาที่เขียนไว้ก็ว่า มันอยู่ในภวังค์ ภวังค์มันเป็นภาษาสมมุติที่จะบอกจะสื่อถึงธรรมชาติชนิดที่เรียกว่า “ไม่รู้” ในขณะที่หลับมันไม่รู้ “รู้” มันไปอยู่ในภวังค์ บางทีก็ว่า จิตตกภวังค์ จิตอยู่ในภวังค์ มันเป็นคำศัพท์ที่จะเอามาใช้บอกถึง “ไม่รู้” แล้วตกลงมันตายแล้วหรือยัง ยัง..ยังไม่ตาย แต่มันอยู่ในภวังค์

ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับจิตมันนอน คือรู้อยู่ในภวังค์ รู้อยู่ในที่ที่ออกมารู้ทางอายตนะ (ตา หู จมูก ฯ) ไม่ได้ แต่มันรู้ส่วนตัวของมัน มันยังไม่ตาย เราจะเปรียบเทียบได้ในเวลาฝัน เวลาคนฝัน จิตมันรู้ไหม รู้ ต้องวิเคราะห์เข้าไปแบบนี้ ถ้าไม่รู้ มันจะทราบว่าฝันได้ยังไง รู้ว่าตัวเองไปที่นั่นที่นี่ ทำนั่นทำนี่ พูดนั่นพูดนี่ ราวกับว่าเป็นขณะที่ตื่นอยู่ แต่ทั้งที่จริงกำลังฝัน นั่นคือจิต “รู้ นั่นล่ะคือ จิต” จิตยังอยู่ ยังไม่ไปไหน ยังไม่ตาย มันก็รู้อยู่กับอารมณ์เหมือนปกติ แต่ไม่ใช่อารมณ์ที่ผ่านทาง ตา หู จมูก ฯ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มันเคยตัว เคยตัวจนเป็นอัตตา ตัวไปตัวมา ตัวฝันได้

ตัวอัตตา คือ กระแสเคยชิน ตัวชำนาญการ ชำนาญการที่จะต้องเป็นตัว ที่จะต้องรู้สึกว่าเป็นตัว มันเคยมันคล่องตัวที่จะรู้สึกตัวเองว่าเป็นตัว นี่เรียกว่า อัตตา อัตตา เป็นอนัตตาไม่ได้

เพราะฉะนั้น “จิตว่าง” ว่างนี่มันต้องดึงมาเปรียบเทียบกับอารมณ์ภายนอกในขณะที่ว่าง ก็คือมันว่างจากอารมณ์นั้นๆ ตามจังหวะ ตามจังหวะของอนิจจัง ตามจังหวะของการเกิด-ดับ อย่างถ้ามันไม่อยากกินข้าว นี่มันก็ว่างน่ะ ไม่อยากสูบบุหรี่ นี่มันก็ว่างน่ะ

จิตว่าง จิตคืออะไร จิตคือรู้ ว่างจากอะไร ว่างจากอารมณ์ อารมณ์อะไร มันก็ต้องขบคิดพิจารณาจี้กันเข้าไปแบบนี้ วิเคราะห์กันแบบนี้ แล้วมันก็จะเห็นจริงตามนั้น จริงตามนั้นเรียกว่าธรรม ศึกษาธรรมะก็คือศึกษาความจริง ปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรม ก็คือ ของจริง

คำว่า “ว่าง” และ “ไม่ว่าง” มันก็เทียบกันได้กับคำว่า เกิด และ ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วตาย อนิจจัง เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็ว่าง เดี๋ยวก็ไม่ว่าง ว่างจากอารมณ์นี้แต่ไม่ว่างจากอารมณ์อื่น คือถ้ามันตื่นขึ้น มันกินอารมณ์ตลอดเวลา มันไม่ว่าง พูดแบบโดยรวม แบบโดยกว้างก็คือ “จิตนี้ไม่ว่าง”

ถ้าบอกว่า “จิตว่าง” อย่างคำศัพท์ที่หลวงพ่อพุทธทาสใช้ คือจิตว่างตามจังหวะ เหมือนเรากำลังเดินอยู่ ขาซ้าย ขาขวา ก้าวสลับกันไป มันก็มีว่างตามจังหวะ คือ เวลายกขาขวาขึ้น ขาขวามันก็ว่างจากดิน มันไม่ติดพื้นดิน นั่นมันว่างแล้ว ว่างจากดิน แต่ในขณะเดียวกันขาซ้ายไม่ว่างน่ะ ทีนี้พอเวลายกขาซ้ายขึ้น ขาซ้ายก็ว่าง แต่ขณะเดียวกันขาขวาก็ไม่ว่าง จึงบอกว่า “ว่างตามจังหวะ” นี่มันก็เปรียบเทียบได้แบบนี้ คือว่างตามจังหวะของอารมณ์

แล้วจะให้ว่างพร้อมกันทั้งสองขาได้ไหม ก็คนมันไม่ใช่นก นกมันบินได้ มันก็ว่างได้ทั้งสองขา ว่างแบบมนุษย์เดินมันก็ต้องว่างขาหนึ่งอีกขาหนึ่งไม่ว่าง ซึ่งมันไปเข้ากันได้กับคำว่า เกิด-ดับ เกิด-ดับ เข้ากันได้กับคำว่า อนิจจัง อนิจจัง เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลง แล้วมันก็จริงไหม จริง จริงนั่นล่ะคือ ธรรม จริง ถูกต้อง เป็นธรรม ศึกษาธรรม “ตามรู้ตามเห็นตามธรรม” ธรรมที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น เป็นสัจธรรม ธรรมคือจริง อย่าลืมที่ย้ำเสมอว่า “ธรรมคือจริง”

ถ้าไม่โกรธ มันก็ว่าง จิตก็ว่าง ว่างจากความโกรธ ถ้าไม่รัก ไม่รักใคร นั่นล่ะว่างแล้ว ว่างอย่างนั้นมันว่างระดับโลกียะ ว่างระดับมวลชน ว่างระดับสากลของชาวโลกทั้งหลาย ทุกคนว่าง ถ้าไม่ว่างมันก็คือตายแล้ว มันว่างตามจังหวะ ว่างตามโอกาส ว่างตามเวลา

อย่างโทรศัพท์ไปหากันก็ถามว่า ว่างไหม พร้อมที่จะคุยไหม ไม่เป็นไร ว่างอยู่ คุยได้ พูดมาเลย นี่ก็คือว่าง ถ้าไม่ว่างก็จะตอบว่า เดี๋ยวก่อนน่ะ ติดธุระนั่นธุระนี่อยู่ กำลังมีแขกอยู่ เดี๋ยวก่อน ยังไม่ว่าง ก็เปรียบเทียบได้อย่างนี้ แบบหยาบ แบบละเอียด แบบภายนอก ภายใน แบบไกล แบบใกล้ ว่างแบบไหน จะเอาว่างแบบไหน

คำว่า “ว่าง” จะพูดขึ้นมาโดดๆ ไม่ได้ความหมาย มันต้องดูว่าใช้กับเรื่องไหน เพราะมันจะมีความหมายที่ละเอียดแตกต่างกันไป มีความแตกต่างในคำว่า “ว่าง” นั้น

ซึ่งการที่เรามองได้ทะลุ มองได้แตกฉาน รอบรู้ทั้งหมด นั่นก็คือสังขารความปรุงแต่ง สังขารในขันธ์ห้านั่นแหละ อย่างที่เขียนไว้ว่า “ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร” ปัญญานี่ไม่ได้เอาไว้ทำต้ม ทำยำ ทำแกง ทำลาบ ทำก้อย อะไร แต่ปัญญาเอาไว้สำหรับรอบรู้ในกองสังขาร สังขารภายนอก สังขารภายใน สังขารแปลว่าปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้นคำว่า “ว่าง” นี่มันคือ ว่างตามจังหวะ ตามโอกาส ถ้ามันไม่รัก มันก็ว่าง ถ้ามันไม่ชัง มันก็ว่าง ว่างจากรัก ว่างจากชัง ถ้าไม่เผ็ด ก็ว่างจากเผ็ด ถ้าไม่เค็ม ก็ว่างจากเค็ม นี่ต้องอธิบายย้ำเข้าไปให้มันแตกฉาน จนอุทานว่า อ๋อ..มันเป็นอย่างนี้เองหรือ เออ..มันเป็นอย่างนี้แหละ แหม..ไม่ได้คิดอย่างนี้สักที ก็คิดซะซิ ยังไม่เค็ม มันก็ว่างจากเค็ม แต่ถ้าเค็มอยู่ มันก็ไม่ว่างแล้ว เค็มก็อารมณ์ จิตนี้จะให้มันว่างจากอะไร ถ้าไม่ว่างจากอารมณ์

เพราะฉะนั้น คนในโลกนี้มันว่างอยู่แล้ว ว่างตามจังหวะ ว่างตามโอกาส ว่างตามเวลา ว่างอยู่แล้ว ถ้าจิตไม่ว่าง มันจะบ้าตายแล้ว ดังนั้นถ้าจะบอกว่า “จิตไม่ว่าง” มันก็ไม่จริง ไม่เป็นสัจธรรม

แต่คำศัพท์คำเดียวกัน คือคำว่า “จิตไม่ว่าง” นี่แหละ ถ้าหมายแบบรวม แบบคลุมไปหมดเลย ก็ใช้ได้เหมือนกัน คือ “จิตไม่ว่าง” นะจริง อธิบายก็คือ ตั้งแต่ตื่นขึ้นจิตมันไม่ว่างจากอารมณ์ จิตมันอาศัยอารมณ์อยู่ จิตกับอารมณ์เป็นคู่กัน ให้จิตมันว่างจากอารมณ์ไม่ได้ ถ้ามองแบบรวบอย่างนี้ มันก็พูดได้ว่า “จิตไม่ว่าง” ว่างจากที่นี่มันก็ไปที่นั่น ว่างจากขาขวามันก็ไปขาซ้าย ว่างจากขาซ้ายมันก็ไปขาขวา นี่คือเปรียบเทียบสำหรับคำว่าว่างจากดิน ว่างจากอารมณ์นี้มันก็ไปอารมณ์นั้น ว่างจากอารมณ์นั้นมันก็มาอารมณ์นี้ กลับไปกลับมา

จิตว่าง-จิตไม่ว่าง ถ้าไม่เข้าใจมันก็งง มันว่างยังไง มันไม่ว่างยังไง อธิบายไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจ อธิบายไปมันก็คลาดเคลื่อน ฟังไม่ขึ้น มันไม่เป็นสัจธรรมตามเหตุตามผลที่มันเป็นจริงอยู่ ถ้าเข้าใจมันก็อธิบายถูกต้อง มันผลักดันที่จะต้องให้อธิบายไปในรูปแบบที่ถูกต้อง ถูกต้องคือจริง จริงคือธรรม มันก็เป็นธรรม

ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ก็ต้องเอาธรรมะมาเทศน์ ไม่ใช่เอาความปลอม ของไม่จริง มาเทศน์ คือต้องเอาของจริงมาว่ากัน ถ้าไม่รู้จริง เทศน์ไปมันก็ไม่เป็นธรรมะ เพราะไม่ใช่ธรรม อาจจะบอกว่าแสดงธรรม แต่ว่ามันไม่ใช่ธรรม คนไม่รู้ธรรมแสดงธรรม มันก็ไม่ใช่ธรรม พูดป่าเถื่อนเข้ารกเข้าพงไป แสดงธรรมต้องแสดงไปตามรูปแบบของความเป็นจริง มันจึงจะเรียกได้ว่าแสดงธรรม มันเป็นของมันเอง ดิ้นไม่ได้ มันจะควบคุมรัดกุมไว้ อธิบายไปได้ถูกต้อง มันเป็นระบบของมันเอง มันเป็นธรรมชาติของมันเอง มันเป็นหน้าที่ของมันเอง มันเป็นจริงอย่างนั้นเอง

“ธรรมชาติ” “หน้าที่” “จริง” สามอย่างนี้ เป็นหลักที่จะควบคุมให้มันถูกต้อง เป็นไปตามธรรมชาติไหม เป็นหน้าที่ของมันไหม หน้าที่โดยไม่ได้ปรุง ไม่ได้แต่ง และมันเป็นจริงไหม ถ้ามันจริงก็นั่นแหละคือธรรม อืม..ใช้ได้

ว่างจากความกำหนัดไหม ถ้ากำหนัดอยู่ก็ไม่ว่าง หงุดหงิดอยู่ ก็ไม่ว่าง ไม่ว่างจากหงุดหงิด

วันนี้นั่งสมาธิสงบแน่วแน่ใจเยือกเย็น นั่นก็ไม่ว่างแล้ว ไม่ว่างจากอารมณ์สงบเยือกเย็น จิตมันกินอารมณ์สงบเยือกเย็นอยู่ นั่งสมาธิกำลังสบายไม่อยากลุกไม่อยากเลิก นั่นไม่ว่างแล้ว นั่นคือจิตไม่ว่าง จิตไม่ว่างในขณะนั้น ในอาการนั้น ในรสชาตินั้น แต่เดี๋ยวมันก็ว่างอีก ว่างจากนี่ไปติดอยู่โน่น มันเป็นภาษาของจริงที่จะเอามาอธิบาย

แล้วทำไมมันไม่ว่างตลอด มันว่างตลอดไม่ได้ มันผิดธรรม ธรรมไม่ได้ให้มาแบบนั้น เค็ม เค็มตลอดได้ไหม หวาน หวานตลอดได้ไหม หนาว หนาวตลอดได้ไหม ร้อน ร้อนตลอดได้ไหม ไม่ได้ ไม่ได้นั่นล่ะมันจริง ถ้าบอกว่าร้อนตลอดเวลา มันไม่จริง และไม่เป็นธรรมแล้ว บอกว่าเยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา มันไม่เป็นธรรมแล้ว เผ็ดตลอด เค็มตลอดเวลา มันก็ไม่เป็นธรรม คือมันไม่จริง ขบคิดให้มันกระจ่างออก กระจ่างออก ของมีอยู่โดย “ธรรมชาติ” เป็น “หน้าที่” ของมันเอง เป็น “จริง” อยู่ จะให้จิตมันไม่รู้ไม่ได้ ถ้าตื่นขึ้นมันต้องรู้ มันเป็นหน้าที่ของมัน

เพราะฉะนั้น จะไปหาจิตอยู่ไหนอีก บ้าไปแล้ว จะไปหาจิตที่ไหน ก็มันไม่เข้าใจ อย่างบอกว่า “ดูจิต” “บุคคลใดตามดูจิตของตน บุคคลนั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร” มันก็เป็นคำที่จะต้องตีความ มันไม่ได้เป็นตัวอัตตาออกไปข้างนอก จิตเป็นจิต จิตเป็นรู้ รู้ก็คือรู้ เท่านั้นเอง ไม่มีตัวตนมาแอบแฝง ถ้ามีคนคอยตามดูตามรู้อยู่อย่างนั้น ตามเห็นว่า “มีจิตอยู่” มันก็เท่ากับว่ายัง “มีตัวอยู่”

ที่ว่า “รู้” นี่มันเป็นรู้อยู่ในขันธ์ห้า วิญญาณขันธ์ เป็นแต่เพียงหน้าที่ ไม่มีตัวตนอะไร ดังนั้นจึงสามารถพ้นจากบ่วงแห่งมารได้ เพราะ “ไม่มีกู” มารมันจะมารบกวนใครถ้าไม่มี “กู” แต่ที่มารมันมารบกวนได้ก็เพราะมีคุณ มีผม มีฉัน บุคคลตามดูจิตของตน ก็คือ “จิตมันเหลือแต่จิตที่เป็นธรรมชาติของขันธ์ห้าเท่านั้น”

จะไปทำให้จิตตายไป ดับไป ก็บ้าอีกแล้ว ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็ตายเลย พระอรหันต์ทั้งหลายสำเร็จเป็นอรหันต์แล้วก็ตายเลย อย่ามี “รู้” อีกต่อไป อยู่ไม่ได้แล้ว ใครสำเร็จก็ตายเลยทุกคน เพราะว่าตายมันไม่มี “รู้”

ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ขัดกัน “รู้” นี่มันเป็นหน้าที่ของขันธ์ห้า ของคน ของมนุษย์ ที่ธรรมชาติให้มา แต่ “รู้” ที่มันผิดอยู่ตอนนี้คือ มีตัวตน ตัวอัตตา ไปแอบแฝงอยู่นั่น ไปบังอยู่นั่น ไปฉาบอยู่นั่น ไปทาอยู่นั่น ไปปกไปปิดอยู่นั่น ไปกีดขวาง ไปกางกั้นอยู่นั่น คือความรู้สึกที่เป็นตัวฉัน ตัวกู นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจมันให้ได้ ถ้าไม่ผ่านจุดนี้ มันก็เหมือนเดิม

ไปไล่กิเลสหนี ละความโลภ ละโกรธ ละหลง ฆ่ากิเลสแต่เอาตัวเองไว้ ละโลภ โกรธ หลง แล้วเอาตัวเองไว้ ก็เสร็จมันเหมือนเดิม ถ้าจะฆ่ากิเลส ให้ฆ่าตัวเองนี่ ฆ่าตัวเองแล้วกิเลสมันก็อยู่ส่วนของมัน ฆ่าตัวเองแล้ว มันก็ไม่ร้อน ง่ายดี จะไปหลบร้อนอยู่นั่นมันยุ่งยาก เดี๋ยวก็มาอาบน้ำ เดี๋ยวก็ซื้อแอร์มาติด เดี๋ยวก็ซื้อพัดลมมาเป่าอยู่นั่น โอ๊ย..มันยุ่งยาก ถ้าจะให้มันสิ้นสุดก็ฆ่าตัวเองตายซะ นี่จบเลย

แต่ถ้าอยากหยุดร้อน โดยคิดว่าจะไปฆ่าตัวตายแบบโลกียชน คิดว่าจะกินยาตายไป เอาปืนมายิงตายไป โดดตึกตายไป โดดเหวตายไป นั่นเป็นโลกียตาย ไม่ใช่โลกุตตรตาย ตายแบบนี้มันก็ไม่จบ เพราะมันฆ่าไม่ถูกตัว ถ้าจะตายแบบโลกุตตระก็ต้อง “ตายเสียก่อนตาย” อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสพูด นั่นคือตายแบบพ้นโลก ตามแบบเหนือโลก แบบแตกต่างกับภาษาชาวบ้าน เป็นภาษาชาวพุทธ เป็นภาษาธรรม

“ตายก่อนตาย” สิ่งที่เหลืออยู่คือ “หน้าที่” สิ่งที่เหลืออยู่คือ “ธรรมชาติ” สิ่งที่เหลืออยู่คือ “รูปกับนาม” สิ่งที่เหลืออยู่คือ “ขันธ์ห้า” มันก็ขยายความออกไปได้อย่างนี้ ฉะนั้นต้องขยายความ ตีความ จนมันกระจ่าง

ถ้าไม่กระจ่าง มันก็เป็นวิจิกิจฉา เข้าทางไม่ได้ ละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ไม่ได้ นี่คือกลุ่มก้อนเดียวกัน กลุ่มของคนหลง กลุ่มของการไม่ทะลุ ถ้าปลงร่างกายไม่ได้ วางไม่ได้ นี่วิจิกิจฉาก็ยังอยู่ มีสักกายทิฏฐิอยู่ ไม่เห็นกายเป็นซาก ไม่เห็นกายเป็นหุ่น ไม่เห็นกายเป็นตุ๊กตา มันก็ยังเป็นตัวเองเหมือนเดิม ละสักกายทิฏฐิไม่ได้ วิจิกิจฉามันก็ยังอยู่ ไม่โปร่ง ไม่ทะลุ มันหนุนเนื่องกัน สีลัพพตปรามาส คือลูบครำศีล นี่มองแบบพื้นฐานทั่วไป แต่ถ้าเชื่อมโยงไปมันก็เกี่ยวข้องกันกับวิจิกิจฉาอีกนั่นแหละ มันก็หนุนเนื่องกัน

ถ้าไม่แตกฉาน ไม่กระจ่าง มันก็ไม่แน่ใจว่าจะประพฤติยังไง จะปฏิบัติยังไง คือมีวิจิกิจฉา แล้วมันก็ทำตามไปด้วยความไม่รู้จริง งมงาย ก็คือ มีสีลัพพตปรามาส

จะเอาแบบไหน จะทำแบบไหน จะเอาแบบพุทโธดี หรือเอาแบบยุบหนอพองหนอดี อาจารย์นี้ว่าให้เดินช้าๆ ดี แต่อาจารย์นั้นบอกว่าเดินเร็วซิดีกว่า นี่คือ สีลัพพตปรามาส

เอาแบบไหนดี เอาแบบยกมือสร้างจังหวะ เอาแบบนั่งหลับตา หรือเอาแบบนั่งลืมตา อย่างไหนดี อย่างไหนถูก นั่นคือ สีลัพพตปรามาส

เดินน้อยหรือเดินมาก กินน้อยหรือกินมาก นอนน้อยหรือนอนมาก จะเลือกแบบไหนดี สิ่งเหล่านี้แหละที่มันสะท้อนถึงสีลัพพตปรามาสทั้งนั้น มันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

จะเอาแบบไหน ไปอยู่ภูเขาดีไหม ไปอยู่ป่าช้าดีไหม อยู่คนเดียวดีไหม อยู่กับเพื่อนดีกว่า อยู่คนเดียวมันนอนเร็วมันขี้เกียจ อยู่กับเพื่อนให้เพื่อนช่วยลากไปดึงไปท่าจะดี เหล่านี้มีแต่สีลัพพตปรามาสทั้งนั้น

มันไม่ลงตัว ยังคิดว่าอันนั้นถูก อันนั้นผิด อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี วุ่นวายไปหมด มันสะท้อนออกมาให้เห็นเลย มันกลมเกลียวหนุนเนื่องกันทั้งสามอย่างนี้ คือคำว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันเป็นกลุ่มเดียวกัน ถ้าไม่แตกมันก็ไม่แตกทั้งหมด ไม่โปร่งทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น