วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

กระแสเก่ามันยังมีเยอะ


กระแสเก่ามันยังมีเยอะ
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
-------------------------------------------------------------------------

กระแสเก่ามันยังมีเยอะอยู่ ทางมันเคยเดินจนชินจนชำนาญ ต้องค่อยๆ ลบรอยเก่า ทางเก่าที่เคยเดิน เรายังเป็นผู้ใหม่อยู่ “ผู้ใหม่” นี่ก็มีหลายระดับ คำนี้มันใช้ได้กับหลายระดับ ขนาดพระอัสสชิท่านก็ยังกล่าวกับพระสารีบุตรตอนที่พบกันครั้งแรกว่า ท่านยังเป็นผู้ใหม่ในธรรมวินัยนี้ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว และท่านก็ยังกล่าวอีกว่าท่านไม่อาจจะแสดงธรรมคำสอนอันลึกซึ้งได้ ท่านกล่าวเพียงข้อความสั้นๆ พระสารีบุตรก็เกิดความศรัทธาได้ดวงตาเห็นธรรม ที่ยกตัวอย่างมานี้ก็จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งสำคัญคือความเห็น ความเข้าใจอันถูกต้อง คือปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ จะเห็นว่าท่านก็สนทนากันธรรมดาๆ ไม่ได้ชวนกันนั่งสมาธิปฏิบัติแบบหนักหนาอะไร ขอเพียงมีปัญญาเห็นถูกต้อง ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง มันก็นำไปสู่ความเข้าใจได้

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหลวงพ่อพูดบ่อยๆ ย้ำบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องปัญญา เพราะสังคมปัจจุบันกำลังเน้นหนักกันเรื่องทำสมาธิ ไปที่ไหนก็ชวนกันทำสมาธิ แล้วก็ทำตามกันเป็นกระแสนิยมจำนวนมาก ไม่ได้ใช้มันสมองสติปัญญาเฉพาะตน มันต้องวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมา เหมือนบทสวดหลายๆบทที่นำมาสวดกัน สังเกตดูเนื้อหาแล้วก็ดูออกว่าคนรุ่นหลังแต่งขึ้น ไม่ใช่พระอรหันต์ยุคก่อนแต่ง เพราะพยายามแต่งให้มีสำนวนคล้องจอง ใช้คำคล้องจองให้คนทั่วไปจำง่าย ท่องง่าย แต่เนื้อหาชวนให้เข้าใจผิด หรือเป็นภาษาเนื้อหาระดับชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่แก่นคำสอนแท้จริง วัตถุประสงค์ก็เพื่อโน้มน้าวชักจูงจิตใจคนระดับชาวบ้านให้สนใจ ให้เกิดความสลดใจสังเวชบ้าง ถามว่าใช้ได้ไหมก็ใช้ได้ แต่ใช้ได้สำหรับคนระดับชาวบ้าน

อย่างเรื่องการนั่งทำสมาธินี่จะว่าไม่ต้องนั่งเลยมันก็ไม่ถูก แต่ถ้าจะมองแบบภาพรวมของการทำสมาธิ ก็คือ การพักผ่อนชั้นดี ทั้งทางกายและทางใจ คำว่าสมาธินี่ก็เป็นคำกลางๆ ใช้ได้หลายระดับ ทั้งคนธรรมดาและพระอริยเจ้า ซึ่งความหมายแบบละเอียด แบบลึกซึ้ง มันก็ขึ้นกับตัวผู้ปฎิบัตินั้นๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ แต่โดยสากลแล้วมันก็คือการพักผ่อนให้จิตอยู่ในอารมณ์เดียว นี่มันต้องเข้าใจอย่างนี้ หรือแม้กระทั่งสมาธิระดับสูงถึงการเข้าฌาน ก็คือการพักผ่อนอยู่นั่นเอง แต่สมาธิที่เราต้องการก็คือสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นสมาธิตามธรรมชาตินั่นเอง

สังขาร คือการปรุงแต่ง คนที่มีขันธ์ห้าทุกคนก็ต้องมีการปรุงแต่ง ถ้าไม่มีการปรุงแต่ง ก็แสดงว่าขันธ์มีไม่ครบห้าขันธ์ เหมือนตาเห็นรูปนี่มันก็ต้องปรุงแต่งเพราะเรายังไม่ตายยังมีขันธ์ห้าอยู่ก็ ต้องปรุงแต่ง หูได้ยินเสียงก็ทำนองเดียวกัน อย่างพอเราเห็นสีแดง สีเหลือง เห็นท้องฟ้า เห็นนก เห็นภูเขา นี่มันก็ปรุงแต่งแล้ว เพียงแค่เห็นกระแสการปรุงแต่งมันก็ไหลตามทันที มันเคลื่อนไป มันไม่อยู่นิ่ง แล้วมันก็ต่อไปถึงความพอใจ ไม่พอใจ ยินดี ไม่ยินดี ตลอดเวลาสลับกันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเห็นมันวุ่นวายมากๆ ก็เลยมาทำสมาธิ เพื่อหยุดการไหลของกระแสการปรุงแต่งเสียบ้าง ให้ได้พักเสียหน่อย จะได้หายเหนื่อย แต่ก็หยุดพักได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

ดังนั้น ต้องเข้าใจให้กระจ่างไม่ใช่ว่าทำอะไรก็จะเอาแต่สมาธิ เหมือนกระแสนิยมที่เดินก็จะให้เป็นสมาธิ นั่งก็จะให้เป็นสมาธิ ยืนก็จะให้เป็นสมาธิ มันเป็นการพูดการสอนกันแบบหยาบๆ แบบขอไปที ชวนให้หลง เราจึงต้องสับให้แหลก ตีความให้แตก มันจะได้ไม่ทำตามเขาแบบเชื่อทันที มันก็จะเป็นความรู้ความเข้าใจเฉพาะตน มันก็จะเป็นปัจจัตตัง คือรู้เฉพาะตน ถ้ารู้จากคนอื่น ฟังจากคนอื่น มันก็ยังไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ เหมือนข่าวที่เราได้ฟังจากคนอื่น ตกลงคนที่พูดนั้นเห็นกับตาหรือโกหก หรือแต่งเติม หรือฟังต่อๆ มาอีกที แล้วมันจริงหรือไม่จริง เราก็ยังสงสัย ไม่มั่นใจ แต่ถ้าเราเห็นกับตาตัวเองแท้ๆ นั่นคือปัจจัตตัง นี่คือตัวอย่างเปรียบเทียบแบบภายนอก เรื่องการรู้ภายในก็เช่นกัน มันต้องรู้ด้วยตนเอง จึงเรียกว่าปัจจัตตัง การฟังจากคนอื่น การศึกษาจากตำรา มันจึงยังเป็นข่าวอยู่ ไม่ใช่ปัจจัตตัง เพราะมันยังไม่รู้ด้วยตนเอง

แต่ที่นี้ถ้าคิดไม่ถูก รู้ไม่จริง แล้วตะบี้ตะบันทุ่มเททำเอาจริงเอาจัง มันก็อาจทำให้เป็นบ้าได้ เหมือนสมัยพุทธกาล ก็ยังมีภิกษุบ้า ที่ได้รับยกเว้นอาบัติในพระวินัยต่างๆ หรือเหมือนอย่างคำศัพท์ที่กล่าวว่ามีเจโตวิมุติ คือหลุดพ้นด้วยสมาธิ และปัญญาวิมุติ คือหลุดพ้นด้วยปัญญา ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือการหลุดด้วยปัญญาอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าลำพังแค่สมาธิจะหลุดพ้นไม่ได้เลย จิตกับปัญญา มันแยกกันไม่ได้ เหมือนกับนามทั้งสี่อย่าง คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันจะแยกกันไม่ได้ จึงเน้นว่าให้ใช้ปัญญาเป็นตัวนำทางในการประพฤติปฏิบัติ มันจะไม่หลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น