วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ใจคือรู้


ใจคือรู้
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ใจ คือ รู้ รู้ปัจจุบัน ปัจจุบันรู้สิ่งไหนก็ให้ดูสิ่งนั้นแหละ ดูรู้ ก็คือ ดูปัจจุบัน การดูปัจจุบัน ก็คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง เป็นสิ่งที่ต้องฝึกให้มันชำนาญการ เคยชิน เคยตัว ให้มันแก่ตัว ฝึกบ่อยๆ แล้วๆ เล่าๆ ในการดูปัจจุบัน

ดูรู้ ไม่ต้องไปหามาเพิ่ม ปัจจุบันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเรียกหา ไม่ต้องไปเอามาเพิ่ม การไปเอามาเพิ่มมันเป็นอนาคตแล้ว มันเป็นกระแสสังคม ที่นิยมทำเกินไป เกินพอดี ข้ามไป อย่างการนั่งสมาธิ ก็สอนตามกัน ว่าให้นั่งกำหนดลมหายใจว่าพุทโธกำกับ อย่าลืมนะ อย่าลืมบริกรรมพุทโธ นี่มันเป็นอนาคตไปแล้ว มันไม่เป็นปัจจุบัน แล้วก็ทำตามกันไปโดยที่ไม่เข้าใจ มันก็เลยข้ามไป ข้ามของจริง ของจริงคือธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมคือจริง ไปเรียกหาของที่ยังไม่มาถึง พุทโธจริงยังไม่มี พุทโธที่มีอยู่นี่มันเป็นพุทโธภายนอก พุทโธคนพูดเอา

พุทโธของจริงที่มันเป็นสัจธรรม คือ รู้ คุณตายแล้วหรือ จึงต้องการพุทโธ จึงต้องไปเรียกหาพุทโธ คุณยังไม่ตายคุณก็มีพุทโธอยู่แล้ว มีรู้อยู่แล้ว แต่คนไม่เข้าใจ “รู้อยู่” ยังไม่ตาย นั่นแหละคือพุทโธ นั่นแหละคือปัจจุบัน กำลังรู้อยู่ขณะนั้นแหละ ดูที่นั่นแหละ นั่นคือทางสายกลาง ให้มันคุ้นเคยกับทางสายกลางบ่อยๆ เนืองๆ มีศรัทธา มีเจตนา ที่จะดูที่นั่นบ่อยๆ ไม่ให้มันข้ามไป มันเป็นของที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟัง เพราะส่วนใหญ่มันคิดไปตามแบบ ตามตำรา มันก็เลยเข้าใจได้ยาก มันไม่ค้นคว้าด้วยตัวเอง มันเลยติดแบบ ติดตำรา ติดครู ติดอาจารย์ ติดกระแสนิยม ติดประเพณีโบราณ มันก็เลยข้ามของจริง ของจริงคือธรรม บอกว่าปฏิบัติธรรม แต่จริงๆ แล้วมันข้ามไป แล้วไหนล่ะปฏิบัติธรรม ข้ามไปอยู่เรื่อย มันก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมสักที มีแต่พูดเอาว่าตัวเองปฏิบัติธรรม ข้ามของจริง ของจริงคือรู้อยู่ปัจจุบัน ไม่เอา จะไปเอาของที่มายังไม่ถึง ของมันอยู่อนาคต มันก็ไม่เป็นธรรม ไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นของจริง ธรรมคือจริง

นี่คือมันชวนให้หลง ให้งมงาย ให้เป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ในข้ออรรถข้อธรรม มันสลับซับซ้อน ของปกติ ของที่มันโชว์อยู่ไม่ยอมรับ มันข้ามไป ทะยานอยาก เป็นความโลภ โลภอยากได้ อยากได้พุทโธ ทั้งๆ ที่มีพุทโธอยู่แล้ว ยังอยากไปหามาเพิ่มอีก พุทโธคือรู้ ก็มีรู้อยู่แล้ว คุณยังไม่ตายนั่นแหละคือมีพุทโธ มีรู้อยู่แล้ว จะไปเรียกหามาเพิ่มอีกทำไม แบบนั้นมันปฏิบัติโลภ ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม

ของที่ยังไม่มาถึง คือของไม่จริง ของไม่จริงก็ไม่ใช่ธรรม สอนกันก็บอกว่าให้ดูอารมณ์ปัจจุบัน แต่ก็ตามด้วยคำพูดว่าให้ท่องพุทโธอีก คำพูดมันก็ขัดแย้งกัน เพราะมันหลงคำศัพท์ หลงในคำว่าพุทโธ ทั้งๆ ที่คำว่าพุทโธก็แปลว่ารู้นั่นแหละ มันมีอยู่แล้ว ยังจะไปหาที่อื่น เหมือนกับมีหมวกอยู่บนหัว แต่ยังไปเที่ยวหาหมวกอยู่ที่อื่น ไปถามคนอื่นว่าเห็นหมวกฉันไหม ทั้งๆ ที่ตัวเองใส่หมวกอยู่แท้ๆ พอเขาบอกว่าคุณก็สวมหมวกอยู่แล้วนั่นไง พอเอามือจับดู ก็เลยรู้ว่า เออ..มันก็มีหมวกอยู่แล้ว คนอื่นบอกจึงเข้าใจ จึงเห็น ธรรมะก็เช่นเดียวกัน ของมีอยู่กับตัวเองตลอดเวลา โชว์อยู่ตลอดเวลา แต่มองข้ามไป ไม่ยอมรับของที่มีอยู่ ไม่ยินดีในของที่มีอยู่ ทะยานอยากไปเอาของที่ยังไม่มี ของที่มีอยู่ก็คือ “รู้” คือพุทโธ คือปัจจุบัน นี่หมายถึงระดับภาษาที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน

ต้องแยกให้ออก มันมีสองระดับ ระดับภายนอก-ระดับภายใน ระดับโลก-ระดับธรรม ระดับโลกียะ-ระดับโลกุตตระ คำศัพท์คำเดียวกัน มันมองได้ต่างกันตามแต่ละระดับ มันเป็นปัจจัตตังของผู้มอง ว่าจะมองเอาระดับไหน รู้เฉพาะตัว เฉพาะผู้พูด เฉพาะผู้ฟัง ถ้าพูดระดับหนึ่ง แต่ฟังเป็นอีกระดับหนึ่ง มันก็ไม่เข้าใจกัน ถ้าพูดแบบโลกุตตระ แต่ฟังแบบโลกียะ มันก็ไปกันใหญ่ คนละเรื่อง คลื่นไม่ตรงกัน

ปัจจุบันมันก็เป็นอารมณ์ รู้อารมณ์ปัจจุบัน อย่างเช่น เรานั่งอยู่นิ่งๆ อากาศพอดีๆ นั่นก็คืออารมณ์ปัจจุบัน มันก็เป็นพุทโธแล้ว เป็นผู้รู้แล้ว แต่มันไม่ดู ไม่ยอมรับ ทะยานอยากด้วยความโลภ จะไปสร้างอย่างอื่นมาอีก เป็นมนุษย์สร้างโลกอยู่ร่ำไป ไม่หยุดสร้างโลกสักที เห็นไหมมันมีอะไรๆ เต็มโลกแล้ว อย่างกลุ่มคนที่มาจังหันเมื่อวานน่ะ นั่นเกิดจากแม่เดียว เกิดจากยายทวดคนเดียว สร้างคนมาในโลกอีกเยอะแยะ สร้างโลก ผลิตมนุษย์ให้มันเต็มโลก ลูก หลาน เหลน โหลน วุ่นวานกันไปหมด เพราะมันไม่อยู่ปัจจุบัน

อารมณ์มันก็มีการเปลี่ยนแปลง เพราะอารมณ์มันก็อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง อนัตตา ส่วน “ทุกขัง” ไม่กล่าว เพราะมันเป็นคำที่เข้าใจไปในระดับมวลชน ระดับโลกีย์ ระดับกระแสสังคม กล่าวแค่สองอย่างคือ อนิจจัง อนัตตา เพราะนั่นคือระดับโลกุตตระ ไม่ต้องนำมากล่าวให้มันปะปนผสมกัน มันไม่มีอะไรจะมาทุกข์อยู่นั่น คนทั่วไปเขาก็เข้าใจ รู้กันกับคำว่า “ทุกขัง” แบบนั้น แบบมีคนทุกข์ มีตัวทุกข์ แต่ระดับที่เอาจริง ไม่ต้องกล่าวถึงเพระคำว่าทุกข์ มันเป็นของปลอม เหมือนอย่างกับ “คำด่า” ที่เขาด่ากัน นี่คือคำสร้างขึ้น แต่งขึ้น โดยตัวของมันเองคำพูดมันไม่มีพิษภัยอะไร แต่เพราะมันไม่เข้าใจ พอได้ยินคำด่า ก็ตีความตามสมมุติ แล้วก็โกรธกัน นั่นมันเกิดเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้ภาษาสมมุติเดียวกัน แต่พอไปพูดคำด่านั้นกับคนต่างชาติต่างภาษา เขาก็ไม่โกรธ เพราะมันไม่ใช่ของจริง มันไม่ใช่ธรรม ถ้าคำด่ามันเป็นของจริง จะด่าใคร ทุกคนมันก็ต้องโกรธ ไม่มียกเว้น เหมือนคนทุกคนกินเกลือแล้วเค็ม รสชาติแบบนั้นเรียกว่าทุกข์ เพราะมันไม่พอใจ คำพูดแบบนั้นเรียกว่าด่า เพราะมันมีคนคอยบอกอยู่นั่น กลุ่มคนคอยสร้างคอยกำหนดอยู่นั่น มันไม่ได้มาจากสัจธรรมของจริง โดยหน้าที่ โดยธรรมชาติ มันเป็นจริงเป็นจังโดยชาวบ้านกำหนดขึ้น มันจริงโดยสมมุติ เหมือนหลวงปู่ชาท่านยกตัวอย่างเรื่องกระโถน ถ้ามีใครมาเรียกกระโถนว่าถ้วย ก็หาว่าคนนั้นบ้า เพราะว่ามันติดกับสมมุติ คำว่า “ทุกขัง” นี่มันก็เป็นกระแสนิยมที่จะพูดว่าทุกข์ เป็นทุกข์ ไม่ชอบ ไม่พอใจ แต่ว่าเอาอะไรล่ะมาทุกข์อยู่นั่น เอาอะไรล่ะมาบอกว่าเป็นกระโถนอยู่นั่น เอาอะไรล่ะมาบอกว่าเป็นถ้วยอยู่นั่น มันสมมุติทั้งนั้น คนสร้างขึ้น แล้วก็สมมุติชื่อให้มัน ทุกขังก็เหมือนกัน มันไม่มีอะไรจะทุกข์อยู่นั่น ต้องย้ำให้แตกฉาน ให้มันเข้าใจ บาทีติดสมมุติบัญญัติจนทะเลาะกัน ตบตีกัน ชกต่อยกัน นี่คือโทษของการติดสมมุติบัญญัติ

สมมุติบัญญัติมันไม่ใช่ธรรม คนมันทะเลาะกันก็เพราะมันไม่มีธรรม มันจึงเรียกว่าผิดศีลผิดธรรม ถ้ามีธรรมมันก็ไม่เถียงกัน จะเรียกอะไรก็เรียกไป บ้านคุณเรียกถ้วย บ้านฉันเรียกกระโถน ตอนนี้จะให้เรียกถ้วยหรือเรียกกระโถนก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร มันก็แล้วไป ไม่ต้องทะเลาะกัน นี่คือตัวอย่างระดับภายนอก ระดับโลกีย์

แต่คนส่วนใหญ่พอได้ยินทุกขัง ก็เชื่อเลย ไม่ขบคิดอะไร ให้มันเข้าใจ ไม่กล้าเข้าไปเจาะ เข้าไปสับให้มันแหลก ท่านว่าทุกข์ ก็ทุกข์ แล้วก็จำตามกันไป ศึกษาธรรมะมันก็กระจ่างไม่ได้ มันติดแบบ ติดตำรา ถ้าคิดแบบอื่น วิจารณ์แบบอื่นกลัวมันจะผิดแบบ ผิดตำรา ทำไม่ได้ ห้ามคิด ห้ามใช้หัวคิด ให้เชื่ออย่างเดียว หัวคิดเลยไม่มีอิสรภาพที่จะคิดจะวิเคราะห์ ที่จะรู้ให้แตกฉานในจุดนี้ เพราะถูกประเพณีครอบงำแล้ว สมมุติบัญญัติครอบงำแล้ว กระดุกกระดิกไม่ได้ เหมือนติดคุก ให้เชื่ออย่างเดียว เป็นศาสนาให้เชื่ออย่างเดียว เขาบอกให้เชื่อก็ต้องเชื่อ ใช้มันสมองไม่ได้ เขาพูดอะไรก็เชื่อเอา เชื่อเอา หลับหูหลับตาเชื่อทันที นี่คือคำที่ย้ำอยู่ประจำ หลวงพ่อย้ำ เพราะว่ามันเป็นทิฏฐิแบบหนึ่งของมวลชน ที่มันชอบแบบนี้ กระแสสังคมชอบตามกัน เชื่อกันแบบนี้

อารมณ์นี่มันต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ตามบทบาทของอนิจจัง ทีนี้มันก็มีการพูดว่า “มันต้องทำใจ” แต่จริงๆ แล้วใจนี่มันทำไม่ได้ มันพูดกันตามกระแสสังคม พูดตามกัน ใจมันมีหน้าที่รู้เท่านั้น จะไปทำใจไม่ได้ ถ้าจะทำได้ก็คือทำอารมณ์ นี่คือพูดให้มันแปลกไปจากกระแสนิยมของชาวโลก แต่มันเป็นของจริง เป็นสัจธรรม จะไปทำใจได้ยังไง ใจมันถูกธรรมชาติสร้างมาสำเร็จรูปแล้ว ให้มีหน้าที่รู้ ไม่มีมนุษย์คนไหนจะไปทำใจได้ สิ่งที่ทำได้คืออารมณ์ เปลี่ยนอารมณ์ นี่ทำได้ อย่างเวลาที่ได้ยินเสียงดังรบกวนน่ารำคาญ ก็หนีไปอยู่ที่อื่นไกลๆ นี่คือเปลี่ยนอารมณ์แล้ว เพราะอารมณ์มันเข้ามาทางหู ทางตา ฯลฯ หรืออย่างกินอาหารเผ็ดๆ แล้วหยุดไปกินของหวาน นั่นคือเปลี่ยนอารมณ์แล้ว ทำอารมณ์แล้ว เพราะอารมณ์มันอยู่ภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง มันมาจากภายนอก อากาศร้อนมากก็หนีเข้าไปอยู่ห้องติดแอร์ นี่คือเปลี่ยนอารมณ์ ทำอารมณ์ใหม่แล้ว จึงว่าทำอารมณ์ได้ ทำใจไม่ได้ เพราะว่าใจมันต้องตามไปรู้ทุกอย่าง ตราบใดที่ยังไม่ตาย

แต่กระแสสังคมเขาก็ใช้ศัพท์อย่างนี้มานานแล้ว พอมีเรื่องอะไรไม่พอใจ ก็พูดปลอบกันว่า “ต้องทำใจน่ะ” ทั้งๆ ที่มันทำใจไม่ได้ ทำได้แต่อารมณ์ อย่างคนมายืนด่าอยู่นี่ น่ารำคาญ ก็หนีไปไกลๆ ก็คือเปลี่ยนอารมณ์ ทำอารมณ์ จะไปทำใจไม่ได้ เพราะใจมันมีหน้าที่รู้อย่างเดียวเท่านั้น มันไม่ได้เค็มกับใคร ไม่ได้หวานกับใคร มันไม่ได้ถูกด่า มันแค่รู้คำด่าเฉยๆ รู้เค็ม รู้หวานได้ แต่ไม่ได้รู้สึกตามนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น