วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มันไม่เข้าใจตามความเป็นจริง


มันไม่เข้าใจตามความเป็นจริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

มันไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง มันไม่มีวิธีอื่นนอกจากทำความเข้าใจให้มัน มันต้องเข้าใจความจริงที่มันจริงอยู่ก่อนแล้ว มันไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรอีก ไม่ต้องสร้างขึ้นใหม่ เป็นของเก่า ของประจำธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของมันอยู่แล้ว เป็นความจริงของมันอยู่แล้ว เป็นหน้าที่แต่ละหน้าที่ หน้าที่โดยธรรมชาติให้มา รวมทั้งธรรมชาติชนิดที่มันไม่รู้จริง นี่มันก็ถูกให้มาเช่นกัน

การเกิดเป็นสัตว์โลก เป็นมนุษย์โลก นี่มันก็ได้มาพร้อมความไม่รู้จริงตามความเป็นจริง มันจึงเรียกว่าหลง หลงคือไม่รู้จริง หลงหรือไม่รู้จริงมันมาจากไหน ก็ธรรมชาติให้มา มันให้มาแบบนี้ มันก็เลยไม่รู้จริงตามความเป็นจริง

ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติก็ให้มาอีก ในรูปแบบของการที่จะรู้จริง สิ่งที่จะต้องรู้จริงนี้ ธรรมชาติก็ให้มาอีก ให้มาพร้อมกัน ให้มาในตัว ให้มาเป็นแบบนี้ คือ “ให้มาไม่รู้จริง และให้มาแบบสามารถที่จะรู้จริงได้” มันเป็นเรื่องอย่างนี้ มองสุดๆ ก็คือธรรมชาติให้มา ให้มาแบบนี้

ถ้าไม่รู้จริงมันก็วนเวียน วัฏวน ภาษาก็ว่าเกิดแล้วเกิดอีก ตายแล้วตายอีก พูดภาษาตามที่มันทำหน้าที่อยู่ ปฏิบัติการอยู่ ไม่รู้จริงมันก็วนเวียน ยุ่งเหยิง ขัดข้อง ต้องดีใจเสียใจ มีความได้ความเสีย มีรักมีชัง มีโกรธมีเกลียด อยู่อย่างนี้ถ้าไม่รู้จริง เป็นหน้าที่ของความไม่รู้จริงที่จะปฏิบัติการให้เกิดรูปแบบความวุ่นวายขัด ข้อง ต้องดีใจเสียใจ มีความได้ความเสีย เกิดแล้วเกิดอีก มันเป็นหน้าที่ของความไม่รู้จริง ก็ต้องเป็นแบบนี้ ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของมัน เพราะไม่รู้จริง มันเป็นเส้นทางของใครของมันที่จะต้องเดิน ถ้าไม่รู้จริงมันก็เดินต่อไปบนหนทางเส้นนี้ ถ้ารู้จริงมันก็ไม่เดิน หรือพูดว่าไม่ต้องมีใครจะไปเดิน

มันต้องบ่อยๆ เนืองๆ การเพ่งเพียรที่จะรู้จริง มันต้องบ่อยๆ เนืองๆ แล้วๆ เล่าๆ มันไม่มีอย่างอื่นที่ดีไปกว่านี้ มีแต่พากเพียรพยายามที่จะรู้จริงตามความเป็นจริงที่มันให้มา มันให้มาไว้แล้ว ไม่ได้ปิดบัง มันพร้อมที่จะให้รู้จริง ธรรมชาติมันให้มา มันมีอยู่กับทุกคนด้วย ในเมื่อของไม่รู้จริงมีอยู่กับทุกคน ขณะเดียวกันความรู้จริงมันก็พร้อมอยู่ มีอยู่กับทุกคน เป็นสัจธรรมที่ธรรมชาติให้มา

ถ้าไม่รู้จริงมันก็เป็นอัตตา ถ้ารู้จริงมันก็ว่าง เป็นอนัตตา จุดที่ต้องมองไว้สุดๆ คือ อัตตา และ อนัตตา มันจะไม่ชวนให้หลง อนิจจัง ทุกขัง นี้อาจยังไม่ชัดเจน คำว่า “ทุกขัง” มันชวนให้หลง นี่กล่าวถึงศัพท์ตามพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

“ทุกขัง” นี่มันเป็นภาษาที่ใช้อยู่กับระดับโลกียธรรม ไม่ใช่ภาษาศัพท์ที่จะใช้ในระดับโลกุตตรธรรม ถ้าพูดโดยการใช้โวหารมันก็ออกมาแบบนี้ คือมันก็ใช้ได้ แต่ใช้ได้กับระดับโลกียธรรม ที่มันบอกว่ามันทุกข์ เพราะมันเป็นอัตตา อัตตากับทุกข์นี่มันมาคู่กัน อัตตาคืออะไร อัตตาก็คือโลกียธรรม แต่อนัตตาคือโลกุตตรธรรม พูดแบบสุดๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ มันจึงจะเข้าใจกระจ่างโดยเร็วด้วยปัญญา พูดไปนอกๆ มันก็จับจุดไม่ได้ มันไม่มีโอกาสจะให้เข้าใจได้โดยเร็ว

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ ตามสิ่งที่ท่านเขียนเอาไว้ ที่เราสวดมนต์ทำวัตรตอนเช้า ส่วนใหญ่คำสอนที่พระพุทธองค์บอกสอน จะกล่าวแต่เรื่อง อนิจจัง คือ “รูปัง อนิจจัง, เวทนา อนิจจา, สัญญา อนิจจา, สังขารา อนิจจา, วิญญาณัง อนิจจัง” ก็คือไม่เที่ยง นี่มันตรงและชัดเจน

ทีนี้เราจะสังเกตได้ว่าไม่มาคำว่า “ทุกขัง” อย่าง รูปัง ทุกขัง นี่ไม่ได้เขียนไว้เลย ข้ามไปเลย เวทนา ทุกขัง, สัญญา ทุกขัง, สังขาร ทุกขัง, วิญญาณ ทุกขัง นี่ไม่มีเขียนไว้เลย ซึ่งผู้แต่งบทสวดไว้ก็เป็นปราชญ์บัณฑิต จุดนี้ท่านยังข้ามไปเลย ไปเขียนที่ “รูปัง อนัตตา, เวทนา อนัตตา, สัญญา อนัตตา, สังขารา อนัตตา, วิญญาณัง อนัตตา” นี่ชัดเจน คือไม่เน้นเรื่องทุกขัง

ถ้าเน้นเรื่องทุกขัง มันเป็นระดับที่ยังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้จริง ระดับโลกียธรรมมันก็ใช้ได้ แต่เปรียบเทียบในระดับแบบสุดๆ ระดับโลกุตตรธรรม มันใช้ไม่ได้ คำว่า “ทุกขัง” เอามาใช้ไม่ได้ นี่คือวิธีมอง วิธีพลิกแพลง วิธีใช้ปฏิภาณโวหาร ที่จะเจาะเข้าไป ว่าคืออะไรกันแน่ จะเอายังไงกันแน่ ให้มันกระจ่าง

ไม่ใช่ว่าจะไปล้มล้างคำสอน แต่ว่าต้องวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ สับให้แหลก ตีให้แตก การติดแหงกอยู่ในคำสอน ติดแหงกอยู่ในแบบในตำราร้อยเปอร์เซ็นต์จนขยับไม่ได้ นั่นคือเชื่อโดยไม่แตกฉาน เชื่อโดยไม่ได้วิเคราะห์ เชื่อโดยไม่มีเหตุผล ไม่ได้พิสูจน์ก่อน เขาบอกให้เชื่อก็เชื่อไปเลย เหมือนไม่ได้เห็นกับตาแต่ก็เชื่อ อันนั้นมันเค็มน่ะ ก็เชื่อเขาเลย อันนั้นมันหวานน่ะ ก็เชื่อเขาเลย ไม่ได้เอาแตะที่ลิ้นของตนเองดู อันนั้นมันฝาดน่ะ ก็เชื่อเลย เอามาแตะลิ้นดูแล้วหรือจึงเชื่อ บางทีก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอกมันดูน่าเชื่อถือได้อยู่ ก็ได้อยู่แต่มันยังไม่ชัดแจ้ง ยังไม่แน่ใจจริง มันไม่ได้ผ่านการทดสอบทดลองด้วยตนเอง การอธิบายมันก็ต้องอธิบายกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าฟังไม่เข้าใจ ก็หาว่าไปลบล้างคำสอนของท่าน ท่านเขียนไว้ดีแล้ว เราไปลบออก ซึ่งเจตนาจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างนั้น มันเป็นเพียงการเจาะทำความเข้าใจในแต่ละแง่มุม ให้มันกระจ่าง โปร่งไปทั้งหมด

อนิจจัง กับ อนัตตา ถ้าวิเคราะห์แบบหนึ่ง มันก็เป็นตัวเดียวกัน อนิจจัง คือ ความเปลี่ยนแปลง ความไม่คงอยู่ ความไม่คงที่ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง เป็นสัจจะ เป็นหน้าที่ของมันที่จะไม่คงที่ หน้าที่ของมันที่จะเปลี่ยนแปลง อย่างจะขยายความออกมาภายนอกก็เช่น ลมหายใจเข้า-ออก มันเป็นอนิจจัง มันเข้า มันออก มันเปลี่ยนแปลง หรือ หัวใจเต้น นี่ก็อนิจจัง ถ้าไม่มีอนิจจัง หัวใจก็เต้นไม่ได้ ถ้าไม่มีอนิจจังลมหายใจเข้า-ออกก็ไม่มี ฉะนั้นอนิจจังที่เขียนไว้ กล่าวไว้ มันถูกต้องและชัดเจนแล้ว อธิบายขยายความออกมาให้มันชัดเจนได้ด้วยความเข้าใจของตนเอง แง่นี้ฉันอธิบายได้ แง่นั้นฉันก็อธิบายได้ เป็นต้น ซึ่งมันก็ยังสามารถอธิบายขยายความออกไปได้อีกมากมาย

พูดเรื่องอนิจจัง ก็คือการพูดถึงสัจจะดั้งเดิม ของจริงที่มันมีอยู่แล้ว เป็นคำศัพท์สมมุติบัญญัติที่ระบุแทนความหมายที่ต้องการจะสื่อให้รู้ หาช่องทางที่จะพูดอธิบายออกมา ตั้งคำศัพท์ ตั้งชื่อตามภาษา เพื่อจะได้พูดเป็นคำพูดออกมา ก็เพราะมนุษย์มันต้องพูดสื่อสารกัน ถ้าไส้เดือน งู มันก็พูดไม่ได้ สัตว์พวกนี้มันไม่มีเสียงพูด ปลาก็เช่นกัน ยกเว้นปลาบางชนิดอาจจะร้องออกมาได้ เช่น ปลาวาฬ แต่ปลาทั่วไปในทุ่งนานี่ไม่เห็นมันร้องสักตัว ส่วนสัตว์บางชนิดมันก็ร้องได้ตามธรรมชาติของมัน เช่น กบ นก นี่คือการเปรียบเทียบอธิบายขยายความ หาเรื่องมาพูด

ส่วน “อนัตตา” คือ “มันไม่มีตัว” ลมหายใจมีตัวไหม ไม่มีตัว นั่นแหละเป็นอนัตตา ขยายความต่อไปอีกคือ ระบบหัวใจเต้น มันมีตัวตนไหม ไม่มีตัวตน อ้าว...ไม่มีตัวตนแล้วทำไมเต้นได้ มันเต้นได้ก็เพราะหน้าที่ เป็นหน้าที่ของร่างกาย เป็นหน้าที่ของหัวใจ ซึ่งแสดงออกมาให้พิสูจน์ได้เห็นได้ด้วยการจับดูชีพจร ชีพจรที่มันเต้นอยู่แสดงถึงความเป็นอนิจจังด้วย ความจริงมันมีมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เป็นอนิจจังและอนัตตามาตั้งแต่นั้น ลมหายใจก็เช่นกัน เป็นอนิจจังมาตั้งแต่ตอนที่คลอดออกมาจากครรภ์ แล้วก็เป็นอนัตตามาพร้อมกัน ไม่ได้มีตัวตน มันเป็นระบบตามหน้าที่ของธรรมชาติให้มา เรียกว่าร่างกาย มันก็อธิบายได้แบบนี้

เราก็ทำความเข้าใจกับของจริงที่มีอยู่ รู้จริงตามเป็นจริงที่มันมีอยู่ รู้จริงตามที่ธรรมชาติให้มา เมื่อไรรู้จริงได้ มันก็จะเห็นว่าไม่มีตัวตน ความรู้สึกค่อยๆ ชัดขึ้นว่า “ตัว” ไม่มี มีแต่สิ่งต่างๆ ที่มันทำหน้าที่ของมันอยู่โดยสัจจะ โดยธรรมชาติที่เป็นมา ให้มา มีแต่หน้าที่ คำว่า “อัตตา” มันก็จะหายไปในขณะที่รู้จริง ถ้าไม่รู้จริงอยู่ตราบใด อัตตาก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

เมื่ออัตตายังอยู่ ก็จะบอกว่ามีสิ่งต่างๆ มารังแก มารบกวน บอกว่าตัวเองทุกข์ ตัวเองร้อน ตัวเองหนาว ตัวเองเจ็บ ตัวเองวุ่นวาย ขัดข้อง เพราะมันสำคัญว่ามี “ตัว” ตั้งอยู่ เมื่อมีตัวก็มีสิ่งมากระทบตัว มีสิ่งอื่นมาเกี่ยวข้องกับตัว มีสิ่งอื่นมาพูดว่าให้ตัว มีสิ่งอื่นมาทำร้ายตัว อากาศหนาวก็มาถึงตัว อากาศร้อนก็มาถึงตัว เผ็ดก็มาถึงตัว เค็มก็มาถึงตัว เขาชมว่าดีก็มาถึงตัว เขาติว่าไม่ดีก็มาถึงตัว

มันต้องพูดกันอธิบายกันในเนื้อหาทำนองนี้บ่อยๆ มันจึงจะมีโอกาสรู้ธรรมเร็ว ถึงธรรมเร็ว สำหรับสติปัญญามันสมองระดับปัญญาชน แต่ถ้าพูดกันออกไปไกลจากนี้ มันก็ยิ่งหลงไปไกล ไม่รวมเข้าถึงจุดสุดยอด จุดสูงสุดของมัน จุดเอาเป็นเอาตายมันคือจุดไหนไม่ค่อยจะเน้นพูดกัน สรุปคือต้องเป็นเรื่องสัจธรรมที่ธรรมชาติให้มา

ยกตัวอย่างก็คือ สิ่งที่มันมีอยู่ในร่างกายของเรา อย่างชัดๆ คือ ลมหายใจเข้า-ออก “ทุกขัง” อย่าไปพูดถึง อะไรทุกขังในลมหายใจเข้า-ออก นั่นล่ะถามจี้เข้าไป ระบบหัวใจเต้น อะไรล่ะเป็นทุกขังอยู่นั่น จึงได้พูดว่าตัวเองทุกข์อยู่นั่น ถามจี้ต่อไปอีก ถามตัวเองเข้าไปเรื่อยๆ ให้มันคิดเข้าไป ให้มันจนมุม อะไรเป็นตัวทุกขัง ในเมื่อมันก็ทำหน้าที่ของมันเอง ระบบหัวใจมันเต้นตามหน้าที่ของมัน มันไม่มีตัว มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติ ก็เป็นอย่างนั้นเอง นั่นล่ะคืออนัตตา คือไม่เป็นตัว ไม่มีตัวใครอยู่นั่น

คำว่า “อนัตตา” นี่มันคำเหนือโลกแล้ว เป็นคำระดับโลกุตตระแล้ว ไม่ใช่ธรรมระดับโลกียะ พอคนระดับโลกียชนฟังมันก็หัวจะแตกตาย มันก็เถียงตลอดเวลา มันก็สั่นหัว ดีไม่ดีมันก็จะถ่มน้ำลายใส่เลย หาว่าเราพูดเรื่องบ้าบอเพ้อเจ้ออะไร มันก็จะดูถูกไปอย่างนั้น เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันไม่เข้าใจ มันคนละชั้นคนละระดับกัน โลกียะกับโลกุตตระมันคนละอย่างกัน มันจะฟังกันได้อย่างไร มันจะเข้าใจกันได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้โดยอัตโนมัติของมัน โดยสัจธรรมของมัน มันไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้ามันไม่มีระดับใกล้เคียงหรือระดับเคยสัมผัสได้บ้าง มันก็เข้าใจไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ ว่าคำว่า “อนัตตา” คืออะไร และถึงแม้จะปฏิบัติมากเท่าไรก็ยังเข้าใจไม่ได้

ถ้าเป็นบุคคลที่มีความคิด มีสติปัญญา ก็จะเกิดความสนใจที่ต้องการจะศึกษา ยังไม่เข้าใจก็ช่าง แต่เริ่มเห็นว่า เอ...ทำไมมันแปลกๆ ทำไมมันพูดกันแปลกๆ ฉันจะขอลองพากเพียรศึกษาให้มันรู้จุดที่เขาพูดกันดูซิ นี่คือการทำความเพียร เพียรภายใน เพียรด้วยความรู้ ไม่ใช่เพียรด้วยมือ ด้วยเท้า ด้วยร่างกาย อย่างการพาตัวเองไปนั่ง ไปเดินกลับไปกลับมา เป็นการเพียรแบบที่มันเหนือกว่า ลึกไปกว่านั้น คือให้มันเพียรด้วยความรู้สึก

แต่ถ้าบอกว่าเพียรด้วยจิต ก็จะหลงไปอีก หลงว่าจิตนั่นเป็นตัวอีกแล้ว ทำด้วยจิตทำด้วยใจ นั่นก็จะเอาใจเอาจิตเป็นตัวอัตตาอีกแล้ว มันจะแทรกเข้ามาอีก มันเป็นโอกาสที่จะหลงได้ สำหรับคำว่า “จิต”

คำว่า “วิญญาณ” นี่ยิ่งพาให้หลงไปใหญ่ มองไปว่าวิญญาณเที่ยวไปโน่นเที่ยวไปนี่ เสร็จเลย เป็นตัวอีก เป็นอัตตาอีก นี่มันหลงของจริง ของจริงที่มันอยู่กับเราตลอดเวลา มันไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันไปตามกระแส ตามแบบ ตามตำรา กระแสสังคมชาวพุทธ ชาวปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายที่กล่าวสอนกัน มันจะค้นมันจะสับให้แหลกโดยเฉพาะตนมันยาก มันไหลตามกระแส ไหลตามแบบ ตามตำรา เชื่อตามแบบตามตำรา เชื่อครูเชื่ออาจารย์ อันนี้มันเป็นโดยหน้าที่เหมือนกัน ที่มันจะต้องเป็นอย่างนั้น โดยหน้าที่ของมวลมนุษย์โลกทั้งหลาย เชื่อกันแบบนั้น

ที่นี้ขยายความออกไปอีก นอกจากตัวอย่างเรื่องลมหายใจ และการเต้นของหัวใจ

กระดูก มันก็เป็นหน้าที่ เนื้อ มันก็เป็นหน้าที่ เหมือนกันกับหน้าที่ของลมหายใจเข้า-ออก อยู่ในร่างกายมันก็เป็นแต่ละหน้าที่ มันก็ว่างจากความเป็นตัวตน

กระดูก มีตัวตนไหม เป็นอัตตาไหม ปัญญามันจะตอบได้ว่า จะบ้าหรือ กระดูกมันจะมีจิตมีใจอยู่ตรงไหน จะมีตัวมีตนอยู่ตรงไหน ไม่มีหรอก กระดูกก็เป็นแค่กระดูก นี่ให้ถามจี้เข้าไป

ถ้าถามในเรื่องที่มันหยาบๆ พอสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย มันก็จะตอบได้ และค่อยๆ ยอมรับ เพราะเห็นจริง

แล้วเนื้อล่ะ มีตัวมีตนไหม มันก็เหมือนกันกับลมหายใจเข้า-ออก ไม่มีตัวไม่มีตน เป็นอนัตตาอยู่ก่อนแล้ว

แล้วเส้นผมล่ะ ขนล่ะ เล็บล่ะ ฟันล่ะ หนังล่ะ ไม่มี ไม่มีตัวตนอยู่ที่สิ่งเหล่านั้น มีแต่อนัตตา มีแต่ความว่างเปล่า พูดแบบสากลก็คือ มีแต่หน้าที่ ไม่มีตัวอยู่ที่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารเก่า อาหารใหม่ เป็นต้น ล้วนไม่ได้มีตัวอัตตาอยู่นั่น เป็นแต่อนัตตา เป็นแต่ความว่างเปล่า เป็นแต่เพียงหน้าที่ เป็นแต่ละหน้าที่ แต่ละหน้าที่ แต่ละหน้าที่ เป็นแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง แต่ละอย่าง อย่างใครอย่างมัน มันเป็นมาโดยธรรมชาติ โดยหน้าที่

ต้องสับให้แหลก ตีให้แตก ให้มันกระจ่าง มันก็จะหายไปได้ด้วยความยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับ มันก็จะเป็นตัวอยู่นั่น เป็นตัวอัตตาอยู่นั่น มันไม่กระจ่าง มันสัมผัสไม่ได้

เพียงแค่ได้ยินไม่พอ แค่อ่านไม่พอ มันเป็นภายนอกอยู่ ผิวเผิน ไม่ได้เดินด้วยตนเอง ไม่ได้ลงมือด้วยตนเอง ไม่ได้สัมผัสด้วยตนเอง ถึงพูดได้ อธิบายได้ เขียนได้ ก็ยังไม่สัมผัส เหมือนมีเกลือแต่ไม่ได้ชิม มีน้ำตาลแต่ไม่ได้ชิม มีฟ้าทะลายโจรแต่ไม่ได้ชิม ทั้งๆ ที่อยู่ในกำมือตัวเองแท้ๆ แต่ไม่ได้ชิม จึงไม่รู้จักรสชาติของมัน

กองรูป นี่มันเป็นรูปเท่านั้น เป็นของใช้เท่านั้น มันมารวมตัวกันเข้า มันก็เลยเป็น “สรีรยนต์” ตามคำศัพท์ที่เขียนในตำรา ร่างกายนี้เป็นเครื่องยนต์เครื่องหนึ่ง ธรรมชาติของเครื่องยนต์มันก็ต้องหมุนต้องเคลื่อนไหว นี่คือเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์จริงๆ ที่เราเห็นในรถยนต์ ในเรือ ในเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น เวลามันติดเครื่องมันก็ต้องเคลื่อนไหว บางส่วนมันเคลื่อนไหว แต่ก็มีบางส่วนมันไม่ได้เคลื่อนไหว เพราะมันเป็นโครงสร้าง ถ้าคนยกมันขยับไป ทุกส่วนมันก็ถูกยกเคลื่อนไปทั้งหมดทั้งก้อน

เหมือนอย่างร่างกายคนนี่บางส่วนเคลื่อนไหว บางส่วนก็ไม่เคลื่อนไหว เช่น ลมหายใจ หรือ หัวใจ นี่เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวเร็วเคลื่อนไหวช้า เคลื่อนไหวถี่บ่อยกว่ากัน พอเราไปโน่นไปนี่ มันก็เคลื่อนไปทั้งตัวเลย อันนี้คือตัวอย่างว่าเราสามารถจะมองแบบรวมหรือแบบย่อยก็ได้

เราเอาข้าวเข้าปาก ขากรรไกรมันก็เคลื่อนไหว เคี้ยวข้าวด้วยฟัน แล้วกลืนลงไป เป็นแต่ละหน้าที่ แต่ละหน้าที่ อย่างนั้นเอง มันเป็นสรีรยนต์

ถ้าถามต่อไปว่า มีคนขับหรือเปล่า มีคนคอยทำคอยบังคับมันหรือเปล่า มันก็ไม่มี เหมือนอย่างกับรถยนต์ คนขับรถหรือเปล่าที่ไปคอยหมุนล้อรถให้มันวิ่ง ให้มันเคลื่อนไปทั้งคัน มันก็ไม่ใช่ มันเป็นไปอย่างนั้นเอง เป็นหน้าที่ของมัน ถ้าจะอธิบายให้มันกระจ่างว่ามันเคลื่อนไปได้ยังไง มันต้องอธิบายหลายเหตุหลายปัจจัย หรือถ้าจะบอกรวบเป็นเหตุผลเดียวปัจจัยเดียวก็บอกได้ถ้าเข้าใจด้วยตนเองในทุก กลไกของมัน สรีรยนต์ของเราก็เหมือนกัน มันมีส่วนประกอบหลายอย่าง หลายเหตุหลายปัจจัยที่ทำให้มันเคลื่อนไหว

ส่วนประกอบหลักๆ ของร่างกายก็มี 4 อย่าง คือ ธาตุสี่ ส่วนที่มันแข็งๆ ก็เรียกว่า ธาตุดิน ส่วนที่มีเหลวๆ ก็เรียกว่า ธาตุน้ำ ส่วนลมที่เคลื่อนไหวภายใน ลมหายใจเข้า-ออก ก็คือ ธาตุลม ส่วนความอบอุ่น อุณหภูมิในร่างกาย ก็คือ ธาตุไฟ ถ้าขยายออกไปแบบละเอียดมันก็เป็นจิปาถะอีกมากมาย

มันเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเกี่ยวกับตัวเองให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจ มันก็รู้จริง จุดจบมันอยู่นี่ ถ้าไม่รู้จริงมันก็เกิดความฟุ้งซ่าน รำคาญ สงสัย ลังเล ไม่สงบ ไม่แน่ใจ ล้วนแต่เกิดเพราะความไม่รู้จริง

ความรักเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้จริง ความชังเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้จริง ความโลภอยากได้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้จริง ต้นเหตุคืออัตตา ตัวตน “อัตตา อัตตา” มันจะโลภทำไมถ้าไม่อยากเอามาให้มันเอง มันจะโกรธได้อย่างไรถ้าไม่มีใครยืนฟังอยู่นั่นตอนเขาด่า คำพูดที่เขาพูดว่าให้มันเป็นแต่เพียงเสียง เสียงต่ำ เสียงสูง เสียงดัง เสียงเบา

ถ้ารู้จริงมันก็จะกระจ่างออกไป ถ้าไม่รู้จริง มันก็ยึดมั่นไปกับกระแสนิยมที่เขาสอนกันไว้ เขาสอนไว้ว่าคำศัพท์นี้หมายความถึงด่า คำศัพท์นี้หมายความถึงชม เพราะว่าเชื่อตามแบบ ตามตำรา ตามครู ตามอาจารย์ ตามพ่อ ตามแม่ ตามผู้เฒ่าผู้แก่โบราณ นี่มันฝังลึกอย่างนี้ จริงๆ คำพูดที่เขาเปล่งออกด่านั้น มันก็เหมือนกับคำอื่นๆ คือเป็นเพียงเสียง

ถ้าคิดวิเคราะห์ ขยายความ สับให้แหลกด้วยตนเอง มันก็จะไม่ยึดถือตามแบบตามตำรา ตามครูตามอาจารย์ ตามพ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่โบราณ ที่เขาถือตามกันมาอย่างนั้น นั่นมันคือกระแส ถ้ามันกระจ่าง มันก็จะกระจ่างไปทั้งหมด มันจะเข้าใจธรรมะที่พระพุทธองค์สอนได้กระจ่าง

ถ้าพูดต่อไปอีกแบบหนักๆ โหดๆ ดูไปที่คำว่า “ธรรมะของพระพุทธองค์” นี่ก็ผิดอีก มันเป็นคำศัพท์ต่างๆ ที่ต้องวิเคราะห์ ต้องตีให้แตก ถ้าเข้าใจว่าพระพุทธองค์สร้างธรรมะ กำหนดธรรมะขึ้นมาเอง ก็แปลว่าพระพุทธเจ้าสร้างโลกทั้งหมดซิ มันเป็นคำศัพท์ที่จะต้องสับให้แหลกทุกจุด เข้าใจให้ชัดทุกจุด ถ้าพูดว่า “ธรรมะที่พระพุทธองค์รู้ หรือตรัสรู้ แล้วนำมาสอน” นี่จึงจะฟังได้ว่ามีความหมายถูกต้อง จะไม่ชวนให้หลง ถ้าพูดว่า “ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นี่เสร็จเลย เพราะมันไม่เป็นจริงตามนั้น

ธรรมะนี่มันเป็นของประจำโลก มันมากับโลก ไม่ใช่ของใคร เป็นของส่วนกลาง เป็นของสาธารณะ พระพุทธองค์รู้จริงก่อนคนอื่น แล้วนำมาสอน นั่นคือธรรมะ ธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านำมาสั่งสอนเวไนยสัตว์ต่อไป สอนชนชาวโลกต่อไป มันก็ต้องเข้าใจอย่างนี้ มันไม่มีอย่างอื่น นอกจากสับให้แหลก ทำความเพียรเพื่อที่จะรู้ เพื่อให้รู้จริง เป็นจุดหลักจุดเด่นที่เรากำลังปฏิบัติการอยู่ ปฏิบัติการเพื่อรู้จริงตามความเป็นจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น