วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ความยึดถือมันมากมาย


ความยึดถือมันมากมาย
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ความยึดถือมันมากมาย มันเคยตัว มันมองไม่เห็น ยึดถือเป็นอัตตาตัวตน มันมืดมิด ปิดบัง มันไม่เห็นของจริงตามธรรมชาติ ตามหน้าที่ ดูยังไงก็เป็นอัตตาตัวตน มันสะท้อนออกมาจากความไม่รู้จริง ต้องจับจุดให้มันได้ มาจากไหน มันมาจากความเคยชิน ความเคยตัว

มันไม่ได้มีอัตตาตัวตนอยู่ก่อน ไม่ได้มีอัตตาตัวตนอยู่จริง ที่มันมีก็เพราะมันเป็นผลสะท้อนออกมาจากความไม่รู้จริง

ตัวอัตตานี่มันเป็นโลกีย์ เป็นชาวโลกธรรมดา เพราะมันไม่รู้จริงตามความเป็นจริง ก็เป็นชาวโลกธรรมดา ชาวโลกปุถุชน ไม่ใช่ชาวอริยชน ปุถุชนคือคนที่หนาด้วยความรู้สึกว่าเป็นตัวตน มันมองไม่ทะลุแม้แต่นิดเดียว แล้วจะให้มันพอใจได้อย่างไร มันไม่เข้าใจจะให้มันมีศรัทธา มีความใส่ใจที่จะทำลายความเห็นผิดได้อย่างไร มันมีไม่ได้ มันไม่มีฉันทะ จึงบอกว่าเป็นสิ่งที่ยาก ยากจริงๆ มันจึงไหลไปตามคลองเก่าของมัน ไหลไปตามกระแส

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ “คำด่า” คำศัพท์ที่เรียกว่า “ด่า” คำด่านี่มันไม่จริง มันไม่จริงอยู่ก่อน มันไม่ได้เป็นคำด่าตายตัวอยู่ก่อน มันติดสมมุติบัญญัติ ติดประเพณี ติดโบราณ ไหลตามกระแส จึงเข้าใจว่าเป็นคำด่า ทั้งๆ ที่มันเป็นของภายนอก ของสร้างขึ้นมาใหม่ มนุษย์สร้างขึ้น คำด่ามันไม่ได้เป็นสัจธรรมตามจริง แต่โลกสมมุติขึ้น สังคมสมมุติบัญญัติขึ้น ว่าคำนี้มันแปลว่าด่า คำนี้มันหยาบ พอเขาด่าก็โกรธ โกรธนั่นคือมันมีตัวตน โกรธนั่นมันเป็นวาระที่สองแล้ว วาระที่หนึ่งคืออัตตา จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีคำพูดไหนที่เป็นคำด่าตายตัว มันติดสมมุติ ติดประเพณี ติดกระแส คำด่ามันไม่ได้เป็นสัจธรรม ไม่ได้เป็นธรรมะ ไม่ได้เป็นของจริง

ถ้าคำนั้นเป็นคำด่าจริง เอาไปด่าควาย ควายมันก็โกรธ ไปด่าวัว วันมันก็โกรธ ไปด่าหมา หมามันก็โกรธ ไปด่าคนต่างชาติต่างภาษาเขาก็โกรธ ไปด่าคนจีน คนจีนก็โกรธ ไปด่าคนฝรั่ง คนฝรั่งก็โกรธ ไปด่าแขกอยู่อินเดียเขาก็โกรธ แต่นี่มันไม่จริง มันติดสมมุติ ติดบัญญัติ ติดประเพณี ติดแบบ ติดตำรา ติดครู ติดอาจารย์ นี่คือความติด นี่คือความยึดถือจนมันเป็นตัวเป็นตน เป็นพิษขึ้นมาได้ ด้วยความหลง นี่เป็นตัวอย่างอธิบายว่าตัวอัตตามันมาได้อย่างไร มันมาได้ด้วยเหตุอย่างนี้ มันเกิดตอนเขาด่า เพราะมันไม่รู้จริง มันสะท้อนออกมาจากความไม่รู้จริง เหมือนกันกับความยึดถือดั้งเดิม

เมื่อมันไม่รู้จริงตามความเป็นจริง พอได้ยินคำด่าก็เกิดคิดเอาว่าเขาด่า “กู” นี่ มันก็เลยมีปฏิกิริยาขึ้นมา มันก็โกรธขึ้นมา ซึ่งโกรธนี่มันมีรสชาติจริงๆ รสชาติเหมือนกับการกินพริกเผ็ดๆ กินบอระเพ็ดมันขม คือทำให้คำด่าของคนมีรสชาติขึ้นมา แต่โดยเนื้อแท้แล้วคำด่าไม่เป็นธรรมะ ไม่เป็นสัจธรรม ไม่เป็นของจริง มันเป็นของสมมุติขึ้น

บอกแล้วว่า “ธรรมะคือจริง” ยกตัวอย่างเช่น ไฟ สัจจะความจริงของไฟคือร้อน ธรรมชาติของไฟมันมีลักษณะร้อน มันเป็นจริงมาโดยธรรมชาติ มันไม่ได้เป็นลักษณะที่มนุษย์สร้างขึ้น ถ้าจะบอกว่ามีใครสร้างก็คือธรรมชาติสร้าง สิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น นั่นล่ะคือธรรมะ คือของจริง จะสมมุติให้มันมีอะไรสูงกว่า หรือเหนือกว่าธรรมชาติสร้างขึ้น ไม่ได้ ไม่สามารถจะหาค่าสมมุติแทนได้เหนือกว่าคำว่าธรรมชาติ มันลึกที่สุด ซึ้งที่สุดแล้ว ต้นเหตุก็คือธรรมชาติ เป็นมาโดยธรรมชาติ

ไฟมันเป็นของจริง เอาไปจี้เอาไปเผาตรงไหนมันก็ร้อน เอาไปจี้คนไทย คนไทยก็ร้อน เอาไปจี้หมา หมามันก็ร้อน เอาไปจี้วัว วัวมันก็กระโดด เอาไปจี้ควาย ควายมันก็กระโดดหนีเลย มันร้อน เอาไปจี้แขก แขกก็ร้อน เอาถ่านไฟแดงๆ ไปจี้คนจีน คนจีนก็ร้อน เอาไปจี้ฝรั่ง ฝรั่งก็ร้อน ทั้งๆ ที่พูดกันคนละภาษา จี้เด็กจี้ผู้ใหญ่มันก็ร้อนเหมือนกันหมด เพราะลักษณะของไฟก็คือร้อน นั่นคือจริง จริงโดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติสร้างมา จึงบอกว่า “ธรรมะคือจริง”

ขยายความตัวอย่างต่อไป เกลือ เกลือก็เหมือนกันกับไฟ เกลือมันมีรสชาติคือเค็ม ไฟมันมีรสชาติคือร้อน น้ำตาลมันมีรสชาติคือหวาน บอระเพ็ดมันมีรสชาติคือฝาด ฟ้าทะลายโจรมันมีรสชาติคือขม จะเผ็ดก็ดี หวานก็ดี ขมก็ดี ถ้าเอาไปให้หมากิน มันก็จะรู้รสชาติแบบเดียวกัน ถ้าเป็นเกลือ หมามันก็เค็ม หมากินน้ำตาล หมามันก็หวาน เพราะมันเป็นสัจธรรมโดยหน้าที่ของรสชาติเหล่านั้น แต่หมามันพูดไม่ได้ มันก็เลยไม่บ่นออกมา ว่ามันขมหรือมันหวาน แต่มันรู้ของมันเอง รู้ชนิดเดียวกับที่คนรู้ ควายมันก็รู้รสชาติของมันตามธรรมชาติแบบเดียวกัน คำว่า ขม หวาน เค็ม เป็นต้น มันเป็นชื่อสมมุติของอาการนั้นๆ ของรสชาตินั้นๆ สมมุติขึ้นมาเพื่อใช้พูดเรียกกันอีกชั้นหนึ่ง

แต่ถ้าไม่ได้มีการพูดกันมันก็ไม่ต้องมีการตั้งสมมุติบัญญัติขึ้นมา ว่าอย่างนี้เรียกว่าหวาน อย่างนั้นเรียกว่าเค็ม ว่าเผ็ด เหมือนสัตว์อย่างเช่น วัว ควาย หมา ที่มันพูดไม่ได้ จะให้มันเรียกรสชาติเหล่านี้ว่าอย่างไร มันไม่มีคำสมมุติบัญญัติสำหรับสัตว์เหล่านั้น แต่สัตว์เหล่านั้นมันก็รู้แบบเดียวกันกับคนรู้ คนก็เช่นกัน ถ้าเอาน้ำตาลให้กิน แล้วไม่ให้พูด มันก็รู้รสชาติเฉพาะนี้เหมือนกัน แม้ไม่ได้บอกเป็นคำพูดออกมา เอาให้เด็กกิน เอาให้ผู้ใหญ่กิน มันก็ได้รับรสชาติเดียวกัน เหมือนกัน คนจนกินก็หวาน คนรวยกินก็หวาน เพราะมันเป็นสัจธรรมของมัน ไม่พูดออกมาก็ได้ แต่รสชาติที่ได้รับก็หวานเหมือนกัน นี่คือจริง ธรรมะคือจริง รู้ธรรมคือรู้ตามเป็นจริง รู้ตามที่ธรรมชาติให้มาจริงๆ ต้องย้ำบ่อยๆ ว่า “ธรรมะคือจริง” ลองเปรียบเทียบขยายความออกไปทุกรูปแบบ เหมือนที่กำลังพูดอธิบายอยู่นี่ แล้วมันจะค่อยๆ แตกฉาน รอบรู้ไป ตะล่อมลงไป ต้อนเข้าไป มันจะค่อยๆ แคบลง ค่อยๆ ชัด ค่อยๆ แจ้งขึ้น ค่อยๆ เบา ค่อยๆ บางไป ถ้ามันเดินทางถูกต้อง มันต้องถึง

เอาเกลือไปให้ฝรั่งก็ดี อังกฤษก็ดี แขกก็ดี จีนก็ดี กินดูมันก็ต้องเค็ม แม้ไม่ได้พูดออกมา มันก็รู้สึกตรงกัน เพราะว่ามันเค็ม ไม่พูดออกมามันก็เค็ม ถ้ากินเกลือ คนก็เค็ม สัตว์ก็เค็ม นั่นคือสัจธรรม สัจธรรมนี่มันไม่มีสูง ไม่มีต่ำ ไม่มีเล็ก ไม่มีใหญ่ ไม่มีคนจน ไม่มีคนรวย มันก็อธิบายออกมาได้แบบนี้ หลวงปู่ชาท่านบอกว่า “ไม่มีหมา ไม่มีวัว ไม่มีควาย มันเสมอกัน” เสมอกันก็คือความเป็นธรรม เป็นธรรมแบบสุดๆ ของความเป็นธรรม

ถ้ามันไม่เป็นธรรมจะเป็นยังไง เอาเกลือไปให้หมากิน หมามันไม่เค็ม นั่นมันไม่เป็นธรรม แต่ถ้าเอาเกลือไปให้หมากิน หมามันก็เค็ม นั่นละเป็นธรรม วัวกินวัวก็เค็ม ให้ช้างกินช้างมันก็เค็ม นั่นคือความเป็นธรรม จึงบอกว่า “สัจธรรม” “ถึงธรรม” ขยายความมันก็ออกมาแบบนี้ นี่คือความเป็นธรรม เด็กน้อยก็เค็ม ผู้ใหญ่ก็เค็ม คนแก่ก็เค็ม ผู้หญิงก็เค็ม ผู้ชายก็เค็ม มุมโลกไหนก็ช่าง กินเกลือมันก็เค็ม นั่นมันก็เลยเป็นธรรม นี่คือความเป็นธรรม “เห็นธรรม ถึงธรรม เป็นธรรม” นี่คือหาเรื่องมาพูดอธิบายสู่กันฟัง หาเรื่องมาทำความเข้าใจ

“เป็นธรรม” เป็นธรรมและเป็นกลาง มันก็เป็นอันเดียวกัน เป็นกลางคือ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางมันไม่ใช่เรื่องภายนอก มันเป็นเรื่องจริงๆ ทางสายกลางที่นำมาพูดกัน ต้องไม่เอนเอียง ไม่ลำเอียง เข้าข้างใคร เป็นกลาง เป็นธรรม เสมอกัน เป็นกลางคือมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางนี่เป็นทางที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ที่กำลังปฏิบัติอยู่นี่มันเดินทางสายกลางหรือเปล่า ถ้าไม่เดินทางสายกลาง มันก็ไม่ใช่ ไม่ถูก ถ้าเปรียบเทียบหยาบๆ ออกมาภายนอก ดูว่าปฏิบัติเป็นกลางไหม อย่างเวลาโกรธก็ไม่พอใจ แต่เวลารักกกลับพอใจ นั่นคือไม่เป็นกลาง ถ้าเป็นกลางก็คือไม่ว่าจะถูกอารมณ์อะไรมา ฉันก็อยู่เป็นปกติ

อย่างเกลือนี่มันเป็นกลาง เป็นกลางก็คือจะกินตอนไหนก็ช่าง ใครกินก็ช่าง เด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ ผู้หญิง ผู้ชาย กินเกลือมันก็เค็มเหมือนกัน ไม่ได้ลำเอียง ซื่อสัตย์ ตรงตามสัจธรรมของความเป็นเกลือ เป็นกลางไม่เอนเอียงเข้าข้างใคร จะเอาเงินมาจ้างสักกี่ล้าน แล้วบอกว่าให้ฉันกินเกลือแล้วอย่าให้ฉันรู้สึกเค็มน่ะ นี่ไม่ได้ จะจ้างสักเท่าไรมันก็เค็มอยู่เหมือนเดิม นี่คือคำว่าเป็นกลาง เทียบได้กับมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้างใคร นี่คือเป็นธรรมแบบสุดๆ

ถ้าเปรียบเทียบเป็นธรรมระดับโลกีย์ ระดับภายนอก มันก็จะพูดไปอีกแบบหนึ่ง แต่พูดตรงๆ ที่สุด ก็คือเป็นธรรม เพราะมันเป็นสัจธรรม เกลือเอาไปให้ใครกินมันก็เค็ม ไฟเอาไปจี้ใครมันก็ร้อน น้ำตาลเอาไปให้ใครกินมันก็หวาน มันไม่เหมือนกันกับคำด่า ถ้าหากคำด่ามันเป็นธรรม เอาคำศัพท์ที่เป็นคำด่าของภาษาไทยนี่แหละไปด่าคนต่างชาติ เขาก็ไม่โกรธ ไม่รู้สึกว่าเป็นคำด่า เพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นธรรม มันเป็นมนุษย์สร้างขึ้น มันไม่ได้เป็นสัจธรรม ถ้าเป็นสัจธรรมเอาคำเดียวกันไปด่าใคร ใครก็โกรธทั้งนั้น แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น นี่ล่ะคือความไม่เป็นธรรม

อธิบายธรรมะก็ต้องพูดกันไปในระดับแบบนี้ มันจะช่วยให้กระจ่างได้เร็ว เข้าใจธรรมะได้ไว ถ้าอธิบายแบบนี้ เชื่อแน่ว่ามันจะค่อยๆ กระจ่างออก เพราะธรรมะนี่มันไม่มีช่องทางที่จะให้เถียงได้ ยกเว้นจะเป็นพวกดื้อรั้น มันก็เถียงได้ แต่ถ้าคนธรรมดาระดับปัญญาชนมีเหตุมีผล มันไม่มีอะไรจะเถียง มันมีแต่จะอุทานว่า อือ...อือ แบบนี้เลย ถ้าวางใจเป็นกลาง เปิดรับข้อมูลแบบเป็นกลาง มันจะยอมรับความจริง เถียงไม่ได้

มันยังไม่เข้าทาง เพราะมันยังหลงติดอยู่กับแบบ กับตำรา กับครู กับอาจารย์ กับประเพณีโบราณ กับพ่อ แม่ คนแก่คนเฒ่าโบราณ เช่นเดียวกับตัวอย่างเรื่อง “คำด่า” ที่อธิบาย นี่คือตัวอย่างระดับทั่วๆ ไป

แต่สำหรับระดับคนที่มันหนา หรือหยาบไปกว่านั้น คนชาวบ้านอย่างเช่นทางภาคอีสาน มีการกำหนดวันให้เป็นวันจม วันฟู วันอังคารเป็นวันแข็งเป็นวันเก้ากองเอาผีไปเผาไม่ได้ (จม = ไม่เจริญ, ฟู = เจริญ, เก้ากอง = จะมีคนตายให้เผาอีกเก้าศพ) ดูซิ มันอยู่ระดับไหน ลองวิเคราะห์ดู เอาอะไรมาอธิบายความเชื่อเหล่านี้ ไม่มีเหตุผลเลย แล้วมันจริงไหม ไม่จริง ไม่เป็นความจริง นั่นมันเป็น “อธรรม” นั่นมันเป็นความป่าเถื่อน นั่นมันเป็นความงมงาย นั่นมันเป็นโมหะตัวโตๆ นั่นมันเป็นตัวอวิชชา มืดบอด แบบมหาอวิชชา มหามืด มหาบอด มันไม่ใกล้ความจริงแม้แต่นิดเดียว มันจะไปเกี่ยวอะไรกับวัน วันต่างๆ วันจันทร์ อังคาร พุทธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มันก็เป็นการสมมุติขึ้น เหมือนกันกับคำด่า มนุษย์สร้างขึ้น บัญญัติขึ้น ของไม่ได้เป็นจริง มีจริงอยู่ก่อน

ถ้าเราจับจุดได้มันจะกระจ่างไปหมด สามารถอธิบายได้ทุกเรื่อง หยิบเรื่องไหนมา มันก็จะอธิบายได้หมด มันจะทะลุไปเอง มันจะไม่ติดอยู่นั่น ไม่งมงายอยู่นั่น มันจะเหลือแต่สิ่งที่ยังไม่เข้าใจ คือธรรมะระดับที่เหนือกว่าลึกซึ้งกว่านี้ สิ่งผิวเผินพื้นฐานมันจะขาดกระจุยไป มองทะลุไป มันจะไม่ข้อง ไม่สงสัย ไม่เป็นนิวรณ์ ไม่เป็นความไม่สงบ

เพราะฉะนั้น “ตัวอัตตา ตัวตน มันเกิดจากความไม่รู้จริง” นี่หลวงพ่อพูดประจำ เกิดจากความงมงาย ความที่ยังไม่รู้จริงตามความเป็นจริงของสัจธรรมที่มันเป็นจริงอยู่ อย่างกับที่อธิบายมาอยู่เรื่อยๆ ว่าร่างกายมันเป็นหุ่น เป็นตุ๊กตา มันไม่มีความรู้ของมันเอง มันเป็นแค่หุ่น ตุ๊กตา ซากศพ แต่มันก็ยังไม่เข้าใจ เจาะยังไม่เข้า มองยังไม่ออก คิดจนหัวจะระเบิด มันก็ยังไม่รู้ หรือรู้ตามจริงไม่ได้ นั่นล่ะคืออวิชชา คือปุถุชน นั่นล่ะคือไม่รู้จริง รู้แต่รู้ไม่จริงตามความเป็นจริง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องความงมงายภายนอก ทำไมมันไม่รู้ ก็เพราะมันเคยชิน เคยตัว มันแก้ไม่ได้ เปรียบเทียบเหมือนกับคนสูบบุหรี่ คนกินเหล้า แล้วเลิกไม่ได้ โยมเคี้ยวหมากนี่เลิกไม่ได้ มันก็เพราะความเคยชิน ความเคยตัว ความสะสม อบรมบ่มนิสัยในรูปแบบที่จะต้องกินเหล้า สูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก ในรูปแบบที่จะถือว่าเป็นตัวตน เป็นอัตตา ส่วนรูปแบบที่จะว่างเปล่าไม่เป็นตัวตน มันไม่เคย มันไม่รู้จักเลย มืดสนิท

มันต้องย้ำอยู่แบบนี้ อยู่ที่จุดนี้ อยู่ตรงนี้ ย้ำว่าให้เจาะอยู่นี่ อย่าไปเจาะที่อื่น ขุดลงไป ทุบลงไป รื้อหาอยู่ตรงนี้ ถ้าไปที่อื่นมันไกล อย่าไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น