วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ลืมตัวที่ไม่ใช่ตัว


ลืมตัวที่ไม่ใช่ตัว
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ลืมตัว ลืม ”ตัวที่ไม่ใช่ตัว” คือ “ตัวไม่รู้” มันลืมไป เลยเข้าใจผิดว่า “มันรู้” ที่จริง “ตัวนี่เป็นตัวไม่รู้” เป็นวัตถุ มันไม่รู้ แต่ลืมไป ไปเข้าใจว่า “มันรู้” มันเป็นความเคยชิน ความชำนาญการ ที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นมาตั้งแต่พ่อแม่ บรรพบุรุษ

ร่างกายนี่มันไม่มีรู้ รูปนี่มันไม่มีรู้ ไม่มีตัวรู้ ไม่มีรู้ แต่เข้าใจผิดว่าตัวเองรู้ เลยเข้าใจว่าเป็นตัวเอง ที่จริงมันเป็น “สิ่งไม่รู้” ไม่รู้ก็คือไม่มีตัว เป็นอนัตตาของมันอยู่แล้ว มันไม่มีตัวของมันเอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันไม่มีตัวของมันอยู่นั่น กายมันเป็นของไม่รู้ เป็นของไม่มีตัว เป็นอนัตตา แต่มันลืม ลืมของเก่า ลืมของดั้งเดิม ลืมไปนาน ลืมไปจนชินจนชำนาญการ มันเข้าใจไม่ได้ นี่คือจุดที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ ให้มันสัมผัสรสชาติต่างๆ รสชาติแห่งความเข้าใจว่า “ร่างกายมันไม่มีรู้ในตัวมันเอง”

แต่มันเป็นของที่ยาก ภาษาก็ว่า “โลกแตก” เป็นของโลกแตก ของเหนือโลก ไม่สามารถจะตามไปเข้าใจได้ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ มันโลกแตก เป็นเรื่องเหนือชั้น เหนือโลก ไม่ใช่เรื่องของคนธรรมดา คนที่เข้าใจได้ไม่ใช่คนธรรมดา คนธรรมดาเข้าใจไม่ได้ ต้องเป็นคนชนิดที่ไม่ธรรมดาจึงจะเข้าใจได้ มันยุ่งยาก ต้องจับจุดให้ได้ เป็นไม่เป็น ได้ไม่ได้ก็ช่าง แต่ให้มันมีจุดประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน เหมือนเขาจะยิงเป้า ยิงด้วยปืนหรือยิงด้วยธนู นักกีฬาเขาก็ต้องมีเป้า ทำเป็น “รูปวงกลมไว้” วงกว้างแล้วก็วงแคบเข้ามาๆ จนเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วดูว่ายิงถูกในระดับไหน ถูกเข้าเป้าไหม จะยิงเป้า ก็ต้องมีเป้าไว้เสียก่อนจึงยิงได้ จึงเรียกว่า การยิงเป้า ถ้าไม่มีเป้าหมาย จะยิงอะไร มันยิ่งไกลห่างกันไปใหญ่ จุดประสงค์คืออะไร สิ่งที่กำลังต้องการอยู่คืออะไร คือเป้า เป้ามีหรือยัง ตั้งเป้าหรือยัง การกระทำนี้มีเป้าหมายไหม รู้จักเป้าหมายไหม จะเอาอะไร จะทำอะไร จะเป็นอะไร จะคิดให้เป็นอะไร ปฏิบัติให้มันเป็นอะไร ได้เป้าหรือยัง ถ้าไม่มีเป้า มันก็ยิ่งไกลกันมาก

เหมือนกันกับคนทั่วไป ชาวบ้านทั่วไป ชาวพุทธทั่วไป มองภาพกว้างๆมันไม่มีเป้า มองไม่เห็นเป้าเลย แล้วจะไปยิงใส่อะไร อย่างน้อยต้องมีเป้าเสียก่อน ว่าตั้งใจจะไปไหน ถ้าไม่รู้ว่าจะไปไหน ก็เหมือนกับว่าไม่มีเป้า มืดแปดด้าน ไม่เห็นฝั่ง อย่างภาษาที่ท่านเขียนไว้ว่า “มองไม่เห็นฝั่ง” ลอยคออยู่ในมหาสมุทร มองไม่เห็นฝั่ง มันจะไปทางไหน ทางไหนมันใกล้ ทางไหนจะขึ้นฝั่งได้ ทางไหนจะขึ้นจากมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ได้ นี่คือเป้า ถ้าไม่เห็นฝั่งก็คือยังไม่เห็นเป้า

ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนก็ช่าง ใช้กาลเวลานานแค่ไหนก็ช่าง เพศไหนก็ช่าง เพศขาว เพศเหลือง ฆราวาส หรือบรรพชิตก็ช่าง ถ้าไม่เห็นเป้ามันเหมือนกับลอยคออยู่ในมหาสมุทร ไม่เห็นฝั่ง ไม่เห็นฝั่งมันก็ว่ายวน วนเวียนที่เรียกว่า “วัฏฏะ” ตามศัพท์ที่ท่านเขียนไว้ “วัฏฏสงสาร” จะตรงไปทางไหนก็ไม่ไป จะลอยไปทางเดียว แบบว่ามองเห็นแล้ว ทางนี้แหละ จุดนี้แหละใกล้ที่สุด มันก็ยังไม่เห็น จึงไปไม่ได้ ก็เลยวนเวียนอยู่ มันไม่เห็นเป้าหมาย

ถ้าถามว่าคุณจะไปไหน ยังไม่รู้เลย ยังไม่รู้จะไปไหน ยังมืดแปดด้าน มืดแปดทิศ มองทิศไหนก็ไม่เห็นฝั่ง มองไปทั้งแปดทิศแล้วก็ยังไม่เห็นฝั่งเลย ไม่รู้ว่าฝั่งอยู่ทางทิศไหน ก็ลอยคออยู่อย่างนั้น เพราะไม่เห็นเป้า มันจับจุดไม่ได้ ว่ายไปแล้วมันก็ไม่ถึง ว่ายไปแล้วมันก็ไม่ใกล้ฝั่ง เหมือนกันกับวิธีปฏิบัติการ ข้อปฏิบัติการที่กำลังทำอยู่

มันเป็นธรรมชาติของมันเอง ธรรมชาติชนิดนี้เข้าใจได้ยาก การมีความเห็นที่ถูกต้อง เป็นไปได้ยาก เกิดขึ้นได้น้อย เป็นของมีน้อยนิด ไม่ได้มีใครหลายคนที่จะเข้าใจได้ แต่ว่าหนทางมันก็ไม่ได้ปิดบัง มันเปิดอ้ารับอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ทั้งหลายไม่สนใจเอง มันมีสิ่งคอยปกปิดไว้ มันจึงไม่ใส่ใจ น้อยคนที่จะใส่ใจ เพราะไม่มีศรัทธาในสิ่งนั้น ไม่มีความต้องการในสิ่งนั้น หรือมันไม่เห็น ไม่รู้เลย แม้กระทั่งว่าอะไรที่ควรต้องการอย่างแท้จริง จึงบอกว่าธรรมะนี่มันไม่ใช่เรื่องของมนุษย์ธรรมดาทั่วไปที่จะมาสนใจ เพราะมันไม่เข้าใจ มันต้องเป็นมนุษย์ชนิดที่ไม่ธรรมดาจึงจะเข้าใจ หรือพอจะเข้าใจได้ มันปกปิดไว้ จนเคยตัว มันลืมตัว หลงว่าเป็นตัวเอง

คนที่ถูกตัดแขนออกไป ตายไหม ไม่ตาย แขนด้วนแต่ยังอยู่ได้ เมื่อก่อนมีสองแขน มันก็รู้สึกว่าทั้งสองแขนเป็นแขนของตัว แขนเป็นตัวฉัน พอตัดแขนออกไป ไอ้ความที่รู้สึกว่าแขนเป็นตัวฉัน มันไปไหนล่ะ ลองเปรียบเทียบดู แขนที่ถูกตัดก็ทิ้งไปแล้ว แต่ความรู้สึกต่างๆ มันก็ยังอยู่ครบเหมือนเดิม นั่นล่ะๆ จึงบอกว่า “ไม่ใช่ตัว” มันไม่มีรู้อยู่ที่แขนข้างที่ถูกตัดไป มันเป็นแค่ของใช้ เป็นวัตถุเท่านั้น เป็นหุ่นเท่านั้น แขนที่ถูกตัดก็ทิ้งไปแล้ว แต่คนก็ยังไม่ตาย ก็ยังใช้อวัยวะส่วนที่ยังเหลืออยู่ให้เป็นของใช้ เป็นวัตถุของใช้ต่อไป พิจารณามันเข้าไปอย่างนี้ ถามเข้าไปว่า เข้าใจไหม เห็นด้วยไหม แขนที่ถูกตัดทิ้งไป มันเป็นแค่วัตถุของใช้ เป็นแค่การตัดชิ้นส่วนของสิ่งที่เคยใช้ ทิ้งไป ก็เหลืออยู่แขนเดียว ก็ใช้มันต่อไป

หาวิธีเปรียบเทียบไปให้มันยอมรับ ให้มันยอมรับตามความเป็นจริง ให้มันรู้ตามความเป็นจริง เห็นจริงตามความเป็นจริง ตามสัจจะ ตามธรรม มันไม่รู้ธรรม คือ มันไม่รู้ตามความเป็นจริง ธรรมคือจริง มันรู้แต่โลก ไม่รู้ธรรม รื่นเริงอยู่ในโลก ไม่ได้รื่นเริงในธรรม ศึกษามากก็ศึกษาโลก ไม่ได้ศึกษาธรรม จบด๊อกเตอร์มันก็เรียนโลก ไม่ได้เรียนธรรม

ธรรมคืออะไร ธรรมคือจริง “จริง” แบ่งเป็นใหญ่ๆ ได้สองระดับคือ “จริงโลก” และ “จริงธรรม” ถ้าไม่แยกขยายความ ตีความ มันก็เข้าใจผิดไปอีก จึงต้องขยายความว่า จริงอย่างหนึ่งคือจริงโลก จริงอีกอย่างหนึ่งคือจริงธรรม “รู้” อย่างหนึ่งคือ “รู้แจ้งโลก” “รู้” อีกอย่างหนึ่งคือ “รู้แจ้งธรรม” ฟังคำศัพท์แต่ละคำไม่เข้าใจ มันก็หลงอยู่ในนั้นอีก คำพูดที่ได้ยินต้องตีความให้มันแตกทุกคำ ไม่อย่างนั้นมันจะหลงอยู่ในนั่น อย่างคำศัพท์ง่ายๆ เช่น คำว่า “ธรรม” ถ้าไม่เข้าใจ ไม่แจ่มแจ้ง มันก็มีจุดที่จะทำให้ติดขัดมากมาย

ฝ่ายหนึ่ง “โลก” อีกฝ่ายหนึ่ง “ธรรม” โลกกับธรรมเข้ากันไม่ได้ แต่ก็มักเอามาพูดสอนกันในระดับโลกีย์ว่าโลกกับธรรมมันเข้ากันได้ ถ้าหากจะพูดว่า “โลกกับธรรมเข้ากันได้” หรือ “โลกกับธรรมเข้ากันไม่ได้” มันก็ต้องอธิบายขยายความในการพูดให้มันชัดเจนว่าพูดระดับไหน ขั้นไหน พูดให้ใครฟัง

“โลกกับธรรมเข้ากันไม่ได้” คืออย่างไร ก็เปรียบกับน้ำกับใบบัว หรือน้ำกับน้ำมัน ที่เข้ากันไม่ได้ เปรียบเทียบหาเรื่องมาพูด มาทำความเข้าใจ ให้มันตกลงปลงใจให้เข้าใจ ดังนั้นจึงว่า “โลกกับธรรมเข้ากันไม่ได้” เหมือนน้ำกลิ้งอยู่บนใบบัว หรือแม้ว่าน้ำจะอยู่ในขวดเดียวกันกับน้ำมันก็เข้ากันไม่ได้ แยกกันอยู่คนละชั้น

เปรียบเทียบเข้ามาอยู่ในส่วนร่างกายนี้ ก็มีโลกกับธรรม กายก็เป็นโลก มันไม่รู้ ส่วนที่มันรู้ ก็เป็นธรรม แยกมาพูดแบบนี้ก็ได้ เห็นคนตายไหม เขาเผาทิ้ง ร่างคนตายมันเป็นโลก พอเขาเผาแล้วมันก็เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นคือส่วนที่มันเป็นโลก ไม่ได้เป็นธรรม แล้วธรรมล่ะ “ตัวเคยชิน” มันไปแล้ว มันไม่ตาย ธรรมชาติให้มาแบบนั้น

ถ้าโลกกับธรรมเข้ากันได้ก็เหมือนบอกว่ากายกับใจนี่มันเป็นอันเดียวกัน ก็มนุษย์ทุกคนมันต้องตายอยู่แล้ว จะไปพูดถึงนรก-สวรรค์ทำไม พูดถึงนิพพานทำไม จะพูดถึงเกิด–ตายทำไม จะมีอะไรไปเกิดตาย ถ้าบอกว่าโลกกับธรรมมันเข้ากันได้ คือกายกับใจมันเป็นอันเดียวกัน ก็แสดงว่าตายแล้วมันก็จบ “นี่มันไม่เป็นอันเดียวกัน” โลกมันก็เป็นโลก ธรรมมันก็เป็นธรรม กายคือกาย ใจคือใจ รูปคือรูป นามคือนาม มันแยกกัน ตายไปก็เหมือนกันกับตัดแขนทิ้งไป ตัดขาออก แม้แต่ตัดแขนตัดขาออกให้เหลือแต่ตัว มันก็ยังอยู่ได้ ยังไปมาได้ ความรู้สึกในความเป็นคนก็ยังอยู่เหมือนเดิม เท่าเดิม

ถ้าบอกว่าตายแล้วจบ กายตายใจก็ตาย มันก็แสดงว่า ตัดแขนตัดขาทิ้งไปหมด เหลือแต่ตัวครึ่งท่อน ใจหรือความรู้สึกก็จะเหลืออยู่แค่ครึ่งเดียวด้วยซิ แล้วมันเป็นอย่างนั้นไหม ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น นั่นละคือ โลกกับธรรมมันไม่ได้เป็นอันเดียวกัน “โลกกับธรรมมันเข้ากันไม่ได้”

ใครก็ตายทุกคน ถ้ามันจบจริง ก็จะไม่มีใครไปตกนรกไปขึ้นสวรรค์ จะเอาอะไรไปอยู่ที่นั่น จะเอาอะไรไปเกิด ไปรับบุญรับบาป ตายแล้วก็แล้ว แต่ความจริง “มันไม่แล้ว มันไม่จบ” นะซิ ขนาดว่ายังไม่ตาย มันก็ยังไปได้อยู่ แล้วไปยังไง ก็คนฝันนั่นไง มันก็เปรียบเทียบได้ ขนาดตัวนอนอยู่แท้ๆ ใจมันยังไปโน่น ไปนี่ ฝันว่าไปทำโน่นทำนี่ เห็นไหม โลกกับธรรมมันเข้ากันได้ไหมล่ะ กายกับใจมันเข้ากันได้ไหม เป็นอันเดียวกันไหม ถ้ามันเป็นอันเดียวกัน ทำไมใจมันไม่ปลุกกายไปด้วยกัน เวลาฝันก็ปลุกกายไปด้วยกันซิ เป็นไปได้ไหมล่ะ เป็นไปไม่ได้ สัจธรรมไม่ได้ให้มาแบบนั้น ธรรมชาติไม่ได้ให้มาแบบนั้น เวลาฝันก็ไปเฉพาะ “รู้” ไปเฉพาะ “ฝ่ายนาม” คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนฝ่ายโลกคือ “รูป” มันก็นอนอยู่นั่น นอนกรนอยู่นั่น

นี่มันต้องสังเกต พิจารณาให้มันกระชั้นเข้ามา มันเป็นยังไงกันแน่ ระบบกลไกต่างๆ มันเป็นยังไง ถามจี้ตัวเองเข้าไป มันอะไรกันแน่ มันมีอะไรทำการกันอยู่ จับจุดให้มันได้ ให้มันได้เป้า ไม่ใช่ลอยคออยู่แบบไม่มีเป้า มองไม่เห็นฝั่ง อย่างน้อยมันต้องเห็นฝั่ง รู้ว่าเราจะว่ายไปทางไหน มันก็จะชัดเจนกว่ากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น