วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มองร่างกายให้เห็นสิ่งที่มันเป็นอยู่จริง


มองร่างกายให้เห็นสิ่งที่มันเป็นอยู่จริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

มองร่างกายให้เห็นสิ่งที่มันเป็นอยู่จริง บ่อยๆ เนืองๆ ถ้ารู้รูปขันธ์หรือร่างกายนี้ยังไม่กระจ่าง มันก็รู้ขันธ์อื่นๆ ที่ละเอียดกว่าไม่ได้ พื้นฐานไม่รู้ สิ่งที่มันลึกซึ้งไปกว่านั้นก็รู้ไม่ได้ ความยึดติดมันขวางทางอยู่ ต้องผลักดันให้มันมีความรู้เข้าข้างความจริงบ่อยๆ เนืองๆ ถ้ามันเห็นตามจริงแล้วมันจะทิ้งเอง คลายเอง ปล่อยเอง วางเอง ถ้าไม่เห็น มันก็ยึด ก็เข้าใจผิด ยึดถือในรูปร่างกายนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีการ หลักวิชาการ ที่คุ้นหูอยู่บ่อยๆ คือคำว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สองอย่างนี้ เน้นให้ทำบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ

คำที่กระแสสังคมพูดกันบ่อยๆ ก็ว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” หรือพูดว่า “พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ถ้ามองในระดับที่มันละเอียดลึกซึ้งแล้ว ชาวบ้านพูดคำนี้กันในแบบที่ตัวเองก็เข้าใจไม่กระจ่าง ไม่ชัดเจน คำว่า ทุกข์ สมุทัย มันใช้ได้กับระดับพื้นฐาน คำศัพท์ว่า “ทุกข์” นี่มันไม่มีในระดับโลกุตตระ มันไม่มีอะไรจะทุกข์ เอาอะไรล่ะรองรับแล้วจึงเปล่งอุทานออกมาว่า “ฉันทุกข์” ถ้าบอกว่าทุกข์ มันก็ขัดแย้งกับคำว่า “อนัตตา” ถ้าใช้กับชาวบ้านทั่วไป พูดว่า “ทุกข์” ก็ใช้ได้อยู่ ใช้ได้ในระดับโลกีย์ คือเห็นทุกข์ เห็นความยากลำบาก ไปทำไร่ ทำนา ค้าขาย ไม่พออยู่ ไม่พอกิน หนี้สินรุงรัง มันทุกข์ยาก ฉันจะหนีไปบวชซะดีกว่ามั้ง ชีวิตมันยุ่งยากเหลือเกิน ไม่จบไม่สิ้นสักที โลกมนุษย์นี่มันเป็นวัฏฏสงสารวุ่นวายอยู่แบบนี้ โอ๊ย..ทุกข์ นี่คือเห็นทุกข์ แบบคำว่า ทุกข์ สมุทัย ในระดับที่ชาวบ้านพูดกัน เห็นแล้วก็พยายามจะหนี อย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะเห็นเทวทูตสี่ มาเตือนขณะไปเที่ยวนอกวัง เห็นคนเจ็บนอนครวญคราง, เห็นคนแก่เฒ่าเนื้อหนังเหี่ยวย่น ถือไม้เท้าเดินหลังโก่งๆ ตาโบ๋ แก้มตอบ หนังติดกระดูก, เห็นคนตาย แล้วก็ร้องห่มร้องไห้หากัน, และสุดท้ายเห็นสมณะ นักบวช นี่คือเห็นทุกข์ในระดับพื้นฐาน ระดับโลกียวิสัย แล้วก็ผลักดันให้เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในพระราชวังต่อไปไม่ได้ ต้องออกบวช เพราะว่าเห็นทุกข์ อธิบายแบบนี้เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าอธิบายแบบลึกซึ้งมันก็ขัดกันกับกระแสชาวบ้าน เพราะมันไม่สามารถเห็นตามได้ง่ายๆ อธิบายคำว่า “ทุกข์” ในระดับชาวบ้านนั้นเข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ สามารถเห็นตามได้ทันที เพราะมันเป็นพื้นฐาน

แล้วก็มักพูดกันว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกข์ พูดแบบหมายรวมทั้งระดับโลกียะและระดับโลกุตตระ เหมือนเอามาใส่ไว้ในกาละมังเดียวกัน ถ้าพูดในระดับโลกุตตระมันไม่มีคำว่าทุกข์ ส่วนคำว่า ตัวทุกข์ ตัวตัณหา ก็คือตัวอัตตา ตัวอัตตาคือตัวไม่รู้จริง สมุทัยก็คือตัวไม่รู้จริง ทุกข์ก็คือตัวไม่รู้จริง เอาอะไรมาอยาก เอาอะไรขยายตัวออกมามีตัณหา มีอยาก แล้วก็บอกว่ามีทุกข์ เพราะมันตามกระแสกันอยู่แล้วจึงบอกว่ามีทุกข์ ที่จริงมันเป็นหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้นเอง ไม่ได้ไปให้ทุกข์ให้โทษกับใคร ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้ไปรังแกใคร ไม่ได้ไปรบกวนใคร มันเป็นสัจธรรมของมันอยู่อย่างนั้น เป็นหน้าที่ของมันเอง ถ้าพูดแบบโลกุตตระมันก็ต้องพูดแบบนี้ แต่ถ้าพูดแบบโลกียะมันก็ต้องบอกว่ามีทุกข์ มีใครทุกข์ มันก็ยังมีอัตตาอยู่ เมื่อมีอัตตาอยู่มันก็เป็นทุกข์

มันติดแบบติดตำรา ติดครู ติดอาจารย์ มันไม่ได้สับให้แหลก ตีความให้มันแตก มันเลยไม่กระจ่าง ติดแล้วไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ มันเป็นความกลัวชนิดหนึ่ง ความกลัวก็เป็นอคติ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่มันค่อนข้างชัดเจนไม่ทำให้เข้าใจผิด กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติอยู่กับกาย ก็คือรู้อยู่กับกาย ในขณะเผ็ดก็รู้เผ็ด ในขณะเค็มก็รู้อยู่ที่เค็ม ในขณะขมก็รู้อยู่ที่ขม รู้อยู่จุดนั้นนานๆ เพราะว่ารสชาติมันก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง มีสติก็คือรู้ รู้อยู่ในกาย เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจะพูดว่า เกลือวิปัสสนาสติปัฏฐาน บอระเพ็ดวิปัสสนาสติปัฏฐาน นี่ขยายความออกมาอย่างนี้ก็ได้ ถ้าไม่รู้จะขมได้ยังไง ถ้ามันขมมันต้องรู้ นั่นคือสับเข้าไป ป่นเข้าไป ให้มันแหลก ขยี้ให้มันละเอียด เทียบเคียงเข้าหาของจริงเลย มันอะไรกันแน่ กายกับขมนี่มันเหมือนกัน อย่าให้มันแตกแยก มันก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งเหมือนกัน เป็นธรรมชาติประเภทหนึ่ง ขมมีจริงโดยธรรมชาติ ไม่ต้องคิดต่อเลยไปถึงว่าใครสร้างขม ใครกำหนดให้มีขม นั่นมันมากเกินไป เอาแค่ว่าขมมีจริงตามธรรมชาติ คิดแค่นี้ รู้แค่นี้

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่ประตูมันอยู่ตรงนี้ สติคือรู้ รู้อยู่ที่กายบ่อยๆ เนืองๆ ให้มันรู้เผ็ดนานๆ ให้มันรู้ขมนานๆ ให้มันอยู่ที่กายนานๆ จึงมีการนั่งนานๆ เดินนานๆ ให้สติมันอยู่ที่กายนานๆ เพราะกำลังหาอยู่ที่จุดนี้ ของมันหายอยู่ที่นี่ ก็ต้องหาที่นี่ เปรียบเทียบแบบนี้ ไปหาอยู่ที่อื่นมันยิ่งไกลออกไป ของหายที่นี่ แต่ไปหาอยู่ประเทศอเมริกา อังกฤษ ยุโรป มันก็ยิ่งไกล จะบ้าเหรอ ของหล่นลงที่นี่ จะบ้าไปหาที่อื่น ของหล่นลงที่ปลายเท้าเรานี่ จะไปหาทำไมที่ต่างจังหวัดต่างอำเภอต่างประเทศ จึงให้หาที่กาย หาที่เวทนา เราไม่รู้ตรงจุดนี้ เราไม่เห็นจุดนี้ เราก็ต้องศึกษาตรงนี้ เรียนรู้จุดนี้ นี่ต้องเน้นเข้าไปอย่างนี้ กายมีอยู่ตลอดเวลา เวทนามีอยู่ตลอดเวลา เฉยๆ ก็เป็นเวทนา ร้อนก็เป็นเวทนา หนาวก็เป็นเวทนา

แต่คำว่า “สุขเวทนา ทุกขเวทนา” ไม่อยากพูดคำศัพท์นี้ เพราะมันชวนให้หลง ชวนให้เข้าใจผิด หนาวก็เวทนา ร้อนก็เวทนา นี่ใช้ได้ แต่ถ้าพูดว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา นี่มันติดคำโบราณ มันถูกฝังเข้าไว้ในหัวให้เชื่อต่อกันมา มันเป็นคำศัพท์ที่ชวนให้หลง ไม่ใช่ว่าจะไปลบคำสอนเก่า ไม่ใช่ทำลายคำสอนเก่า ไม่ใช่ว่าทิ้งคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ว่า “มันเป็นภาษาของคนไทยเองที่ชวนให้หลง” ชวนให้เข้าใจผิด จริงๆ ก็เข้าใจว่ามันเป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกรสชาตินั้นๆ เท่านั้นเอง แต่ว่าภาษาไทยคำว่าทุกข์ สุข นี่มันชวนให้มีตัวเข้าไปแอบแฝงอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นไม่อยากพูดคำว่า สุข ทุกข์ เพราะมันเป็นประเพณีที่ชวนให้หลง ไปบอกว่าอย่างนั้นสุข อย่างนี้ทุกข์ ถ้าใช้พูดในระดับโลกีย์ก็ได้อยู่ คือต้องแยกกาละมังกันระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ ในระดับลึกซึ้งหรือระดับที่ใฝ่ในธรรมฝ่ายโลกุตตระจะใช้คำศัพท์นี้ไม่ได้ มันไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง มันต้องใช้ศัพท์อย่างหลวงพ่อพุทธทาสที่บอกว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” “มันเป็นอย่างนั้นเอง” นี่ถ้าหัวคนมันชอบคิด จะอุทานออกมาเป็นโวหารใหม่ ชนิดที่ทำความเข้าใจได้กระจ่างชัดว่ามันเป็นอะไร “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น