วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มันยังไม่สามารถจะรู้ได้

มันยังไม่สามารถจะรู้ได้
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------------------


เรื่องจริงเกี่ยวกับขันธ์ห้า มันยังไม่สามารถจะรู้ได้ มันเข้าไปรู้จักหรือเข้าใจไม่ได้ ตามสัจธรรม ตามหน้าที่ของปุถุชน เพราะมันเป็นโลก มันไม่ใช่ธรรม มันเคยตัว มันเคยชิน ไหลตามกระแส ไปตามร่องเดิม คลองเดิม ต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับมันบ่อยๆ ที่มันไม่เข้าใจเพราะมันยึดครองความเป็นตัวเองมาหลายภพหลายชาติ ทางมันเคยเดินจนชำนาญ

แม้ว่าจะได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ก็ยังกลับไม่ได้ เหมือนคนสูบบุหรี่ รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดี ไม่มีประโยชน์ แต่ก็เลิกไม่ได้ ทั้งๆ ที่พฤติกรรมเดิม ตอนทารกเกิดจากท้องแม่มันก็ไม่มีใครสูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก ออกมาทันทีตั้งแต่วันคลอด รู้อย่างนี้แท้ๆ ก็ยังกลับตัวไปสู่จุดเดิมไม่ได้ นั่นคือปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ นี่เปรียบเทียบในลักษณะภายนอก แบบหยาบๆ ให้เห็นลักษณะของความเคยตัว ซึ่งในเรื่องที่มันละเอียดกว่านี้ก็เป็นทำนองเดียวกัน มันกลับไปสู่ของเดิมแท้ไม่ได้

อย่างนั่งดูรูปร่างกายของตน ให้เห็นมันเป็นเพียงซากศพ มันก็เห็นไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ ลมหายใจเข้า-ออกนี่มันเป็นลมที่ไหลผ่านซากศพ นี่คือของจริง ความจริง แต่มันก็ยอมรับไม่ได้

การที่มีคำสอนครูบาอาจารย์บอกว่าให้ดูลมหายใจ นี่ก็คือการล่อให้เข้าไปดูตามความเป็นจริง ดึงเข้าไปให้ดูจุดที่เป็นของจริง ดูที่นี่ อย่าไปดูภายนอก นี่มันเป็นวิธีการสอน เหมือนเอาหญ้าอ่อนๆ เขียวๆ ล่อวัวควายให้เข้ามาหา พร้อมกับเรียกชื่อมัน พอทำบ่อยๆ เข้า มันก็เคยชิน ต่อไปพอเรียกชื่อมันเฉยๆ ไม่ต้องมีหญ้า มันก็มา เหมือนเขาฝึกสุนัขก็แบบเดียวกัน นี่คือเปรียบเทียบกับวิธีการสอนแบบภายนอก เป็นการหาเรื่องมาพูดมาอธิบาย เป็นตัวอย่างต่างๆ เพื่อให้คิดเทียบเคียง ให้เกิดความกระจ่าง แล้วก็คิดพิจารณาลึกลงไปถึงเรื่องรูปนาม โดยอาศัยวิธีการในทำนองเดียวกัน คำสอนต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นการหาวิธีการ คำพูด มาอธิบาย เพื่อเปรียบเทียบถึงลักษณะของความรู้แจ้งจริงๆ ซึ่งยังรู้ไม่ได้

มันเป็นเรื่องของการหดตัวเข้ามาดูตัวเอง มันยังไม่รู้เรื่องเพราะมันไม่ดู มันมัวแต่ไปสนใจอย่างอื่นภายนอก วันหนึ่งๆ เราหดตัวเข้ามาสนใจดูตัวเอง ดูรูปนามนี้ สักกี่ครั้ง ลองย้อนดูเถอะ ทำไมไม่ดูนะหรือ ก็เพราะมันไหลไปตามกระแสโลก ไหลตามเพื่อนฝูง ตามพวก ตามสังคม ทำเหมือนกัน คิดเหมือนกัน ดำเนินชีวิตไปเหมือนกัน นั่นคือมันไหลตามกันจนคล่อง จนชำนาญการ จนปกปิดมิดแล้ว ความเคยตัวมันปกปิดเอาไว้ มันก็หนาขึ้นเรื่อยๆ มันฉาบทาจนไม่เห็นร่องรอยเดิม นั่นแหละจึงว่าหนา “หนา” ก็คือ ปุถุชน คนหนา เหมือนใส่เสื้อผ้าหลายๆ ชั้น นั่นแหละที่เรียกว่า ปุถุชนเอ๋ยปุถุชน แต่พอพูดว่าพวกปุถุชน มันก็ฟังเหมือนเป็นคำด่าเขา ทำให้คนฟังไม่ค่อยพอใจ นั่นมันยิ่งแสดงออกให้เห็นว่า คนเรานี่มันดูแต่เรื่องนอกตัว คืออะไร ก็คือมันมาติดกับคำพูด คำสมมุติ ที่ได้ยินจากปากคนอื่น ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องอยู่ภายนอก

การเข้ามาสนใจดูเนื้อดูตัวดูใจของเรานี่ ก็ได้ชื่อว่าเป็นสมาธิแล้ว เยือกเย็นพอสบาย ไม่พะวงออกไปภายนอก มันดูแต่ภายใน เมื่ออยู่ภายในก็เข้ากับคำว่า “ดูรู้” เพียงดูรู้นี่ก็หดตัวเข้ามาแล้ว ในขณะที่คำว่า “อยาก” นี่มันแสดงถึงความออกไปภายนอก ถ้ามีความอยากอยู่มันก็ไม่เป็นสมาธิ มันไม่อยู่กับตัวจริง เมื่อโลภอยู่มันก็ไม่เป็นธรรม เหล่านี้มันสะท้อนอาการของความรู้สึก ระดับจิตภายใน แบบละเอียด โดยไม่ต้องเป็นคำพูด เพียงแต่สังเกตดูให้ละเอียด มันจะเห็นความลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในทุกสภาวะ เมื่อเราเข้าใจเราก็จะอธิบายได้อย่างชัดเจน แบบถี่ยิบ อย่างรวดเร็วกว่าการพูดออกมา

เมื่อยังมีความโลภอยู่ ก็เป็นการทะยานอยากออกไปภายนอก “ไม่ใช่ดูรู้” ถ้ามีคำว่า “รู้” นั่นแหละมันเห็นขันธ์ห้า เห็นรูปนาม เมื่อดูบ่อยๆ ดูเนืองๆ ดูแล้วๆ เล่าๆ ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ไปจนมันเคยตัว ถอนตัวจากคลองเก่า จึงเป็นการทวนกระแสโลก เหมือนในครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงเอาถาดทองคำไปอธิษฐาน แล้วถาดก็ไหลทวนน้ำ นี่มันเป็นบุคลาธิษฐานกระตุ้นให้คนคิด หลวงพ่อจึงพยายามพูดด้วยคำศัพท์ ด้วยถ้อยคำที่ชวนให้คิด ไม่ใช่ฟังแล้วเชื่อก็จบไป การคิดนี่แหละคือการทำงาน ไม่ใช่ว่าจะทำด้วยมือหรือร่างกายเพียงเท่านั้น จึงจะเรียกว่าทำงาน ถาดทองคำของพระพุทธเจ้าไหลทวนกระแสน้ำ นั่นแหละคือการไหลทวนกระแสสังคม ทวนกระแสโลกโลกีย์

เวลาที่เราสังเกตเห็นอาการหดตัวเข้ามาดูรู้ นี่มันจะเห็นเป็นครั้งคราว ถ้าเราใส่ใจเรื่อยๆ ก็จะเห็นมากขึ้น บ่อยขึ้น จะพบความรู้จริงๆ เหมือนกับที่ตำราท่านอธิบายเอาไว้

คำพูดต่างๆ คำสอนก็ดี ที่ถ่ายทอดกันมาในสมัยก่อน ก็ใช้ความจำ หรือที่เรียกว่า สัญญาขันธ์ สัญญานี้มันไม่เที่ยง มันหลงๆ ลืมๆ ได้ แต่คนทั่วไปพอตัวเอง หรือเห็นคนอื่นหลงนั่นลืมนี่ ก็หัวเราะขำกัน ดูเหมือนมันเป็นเรื่องไม่ปกติ ทั้งที่จริงๆ แล้วการหลงลืมนี่มันเป็นอาการปกติโดยธรรมชาติของสัญญาขันธ์ ที่มันไม่เที่ยง เมื่อมีความรู้ถูกต้องอย่างนี้แล้วจะไปหัวเราะทำไม หรือจะไปหงุดหงิดทำไม ถ้าอย่างนั้นพอเห็นคนผมหงอกก็หัวเราะด้วยซิ แต่นี่ไม่เห็นหัวเราะกัน ก็เพราะเห็นว่าผมหงอกเป็นเรื่องธรรมดา แล้วทำไมพอเห็นคนหลงลืม ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกัน กลับหัวเราะหรือหงุดหงิด นั่นก็เพราะมันเป็นเรื่อง “ฝ่ายนาม” ซึ่งปุถุชนเข้าใจไม่ได้ คิดไม่ได้ ปัญญาเข้าใจไม่ได้ ไอ้เรื่องผมหงอกนี่มันเป็นเรื่อง “ฝ่ายรูป” ภายนอก มันพอจะเห็นได้ง่ายหน่อย จึงพอเข้าใจได้บ้าง นี่คือความซับซ้อน ลึกซึ้ง ของธรรมะ ต้องอาศัยผู้มีปัญญามาแนะนำบอกสอน จึงจะเข้าใจหรือเห็นตามได้ในเบื้องต้น สำหรับนามขันธ์อื่นๆ คือ เวทนา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นทำนองเดียวกัน

การที่หลงหรือไม่รู้จริงเกี่ยวกับขันธ์ห้านี่แหละเป็นอวิชชา คือมันเห็นรูปนี่เป็นเพียงซากศพ เป็นหุ่น เป็นตุ๊กตา ไม่ได้ จึงเรียกว่าไม่รู้จริง เมื่อรู้จริงไม่ได้มันก็ยังไม่บริสุทธิ์ มันก็ยังไม่เป็นธรรม เพราะ “ธรรม คือ จริง” จะปฏิบัติธรรมมานานแค่ไหน จะบวชมาตั้งแต่สามเณรจนเป็นพระมหาเถระ 80-90 พรรษา ก็ช่าง คุณก็ยังไม่เป็นธรรม เพราะคุณยังไม่รู้จริง จะพูดตรงๆ เลยก็ว่า “บวชมาตั้งนานแล้ว ธรรมะสักตัวเดียวคุณก็ยังไม่มีเลย” นี่หมายถึงในระดับการไม่รู้จริงเรื่องขันธ์ห้า จะว่าคนอื่นเขามาดูถูกเหยียดหยามก็ไม่ได้ เพราะมันยังไม่รู้จริงๆ แล้วทำไมมันไม่รู้ ตั้งนานแล้วยังไม่รู้อีกหรือ ที่ไม่รู้ก็เพราะมันมัวตามกระแสโลกอยู่ ถ้าอยากรู้ก็ทวนกระแสซิ ไหลทวนน้ำซิ หรือขึ้นฝั่งไปเลยซิ

แล้วยังไงจึงจะเรียกว่า “รู้จริง” ก็รู้จริงให้ได้ซิว่า รูปก็เป็นรูป นามก็เป็นนาม รูปเป็นอนัตตา นามเป็นอนัตตา ถ้ามัวแต่ไหลตามกระแส ก็เห็นแต่ว่ารูปเป็นฉัน เวทนาเป็นฉัน สัญญาเป็นฉัน สังขารเป็นฉัน วิญญาณเป็นฉัน จึงบอกว่าการเข้ามาดูภายในนี้มันเป็นเรื่องการทวนกระแส หรือเป็นถาดทองไหลทวนน้ำ

ถ้าจะหยิบมาอธิบายว่า ไหลตามกระแสแบบหยาบๆ คืออะไร ก็ตัวอย่างเช่น พวกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก แล้วเลิกไม่ได้ พวกนอนเสพกามคุณอยู่ในบ้านในคฤหาสน์ ละทิ้งกามคุณออกมาบวชเหมือนเราไม่ได้ ก็ใครจะไปบวช คนส่วนมากเขาก็อยู่ในโลกตามปกติทั้งนั้น พอใจกับการมีเหย้ามีเรือน แสวงหาทรัพย์สมบัติ พอใจกับการเสพกามคุณกันทั้งนั้น นี่คือไหลตามกระแสแบบหยาบๆ แบบกว้างๆ

ทีนี้แบบใกล้ แบบละเอียด แบบถี่เข้ามา ก็คือเรื่องขันธ์ห้า ดูสมัยพุทธกาลซิ ทวนกระแสก็คือพวกที่ออกบวช เพราะเห็นว่าโลกนี้มันขัดข้อง ไม่สมัครใจจะไหลไปตามกระแสโลก ใครจะเฮโลกันไปอย่างไร ฉันไม่สน ฉันจะไปทางเหนือน้ำ ฉันไม่สนใจจะมีครอบครัว มีเหย้ามีเรือน มีลูกมีเมีย เหมือนชาวโลกทั้งหลาย นี่คือตัวอย่างเปรียบเทียบ ถ้ามีปัญญาก็จะสามารถขบคิด เทียบเคียง แจกแจงต่อไปได้อีกมากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น