วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

การดูให้หดตัวเข้ามาสู่ของจริง


การดูให้หดตัวเข้ามาสู่ของจริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ร่างกายนี่มันมีหลายอย่างมารวมตัวกัน มีกระดูกเป็นแกนทรงอยู่ การดูให้หดตัวดูเข้ามาสู่ของจริงที่มีอยู่กับตัวตลอดเวลา โดยปกติมันไม่เข้ามาดู ไม่เข้ามาดูมันก็ไม่เห็น เพราะมันไม่ดู เวลาดูมันน้อย โอกาสที่มาสนใจมันน้อย มันไม่อยากมาดู มันไม่อยากมาสนใจของจริง มันไม่อยากมาดู มาสนใจตัวเอง

นั่งเงียบๆ นั่งแน่ๆ นั่งนิ่งๆ เหมือนกับตั้งของจริง ตั้งตัวเองไว้ แล้วมาดู ดูตัวเอง ไม่ใช่ดูผู้อื่น นั่นคือเพียร เพียรดู เพียรศึกษา ทำความเพียรโดยการดูรู้ ดูเพื่อจะรู้ เอา “อาการรู้” มาใช้เป็นสิ่งศึกษา ให้มันรู้ตัวเอง เวลาเรานั่งนี่สังเกตดูจะเห็นว่าเราพากระดูกนั่งอยู่เป็นแกนกลาง เป็นโครงสร้างของร่างกาย นี่มันก็เป็นวิธีการทำความเพียร เพื่อเข้าสู่ของจริงที่มันมีอยู่จริง เอาอาการรู้มาดูของจริง บ่อยๆ เนื่องๆ เพ่งอยู่ เพียรอยู่ ความไม่รู้มันจะเป็นรู้ขึ้นมา ถ้าเราเพียรอยู่ เพียรเพื่อจะรู้ เพียรเพื่อจะดูสิ่งที่มันเป็นของจริง เช่นเพียรเพื่อจะรู้สึกว่ามีกระดูกเป็นแกนกลางของร่างกายนี้

ส่วนกระดูกที่มันโผล่ออกมาให้เห็นภายนอกก็คือฟัน เปรียบเทียบกับภายนอก ฟันมันก็อยู่เฉยๆ เป็นกระดูกส่วนหนึ่งของกระดูกทั้งหลายที่เป็นโครงสร้างร่างกาย ร่างกายซึ่งเป็นหุ่น ตุ๊กตา ซากศพ ให้ “รู้” เข้าไปบ่อยๆ เนืองๆ นั่นคือทำความเพียร พากเพียรพยายามที่จะดู ดูเพื่อจะรู้ ให้มันรู้จริงตามเป็นจริง การรู้อย่างอื่นมันเป็นภายนอก ไม่ใช่งานของเรา ไม่ใช่หน้าที่ของเรา

กำหนดดู กำหนดรู้ เจตนาที่จะรู้ มีศรัทธาที่จะรู้ มีความเอาใจใส่ที่จะรู้ ที่จะเข้าใจของจริง คือรู้ตัวเอง “รู้ตัวเอง” ชัดเจนที่สุด ใกล้ที่สุดคือรู้ตัวเอง ถ้ารู้อย่างอื่นมันก็เป็นการรู้อย่างอื่น ไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา ไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่เจตนารมณ์ที่เราต้องการ

เพียรเพ่งอยู่บ่อยๆ ดูกระดูกขณะที่นั่ง ให้เวลากับมันโดยละเอียด ให้โอกาสมันเต็มที่ มันไม่มีงานอื่นมาแทรกขณะที่นั่ง มีงานเดียวคืองานที่จะดูกระดูก ดูของจริง ถ้าเราดินหรือเคลื่อนไหว หรือทำงานอย่างอื่นภายนอก มันไม่ใช่เวลาเต็มที่ โอกาสไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าง พ่วงเอางานอื่นมาทำด้วย ถ้าเรานั่งอยู่แน่ๆ นิ่งๆ อย่างเดียว ไม่ยุ่งหลายงาน ก็เป็นการเพียรเพ่ง เพื่อจะรู้ของจริง เป็นการอยู่กับตัวเองตลอดเวลา ตัวเองที่เราเข้าใจว่าเป็นตัวเอง เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ที่ต้องรู้โดยเฉพาะ จุดจบมันอยู่นี่ ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ ปัญหาไม่จบ อุปสรรคไม่จบ

เพียรเพ่งอยู่ “ฟัน” มันก็มีในกรรมฐานห้าที่อุปัชฌาย์ให้ตอนบวช มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ยกตัวอย่าง เริ่มจากฟันที่เห็นเป็นของแข็ง พิจารณาดูไป ติดตามดูไป จนเห็นมันมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติเสมอกัน เป็นสามัญลักษณ์ เป็นไตรลักษณ์

กะโหลกศีรษะ โครงสร้างของความเป็นรูปร่างมีกระดูกคอ กระดูกไหปลาร้า กระดูกแขน ข้อต่อระหว่างศอก ระหว่างนิ้ว กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง ก้นกบ กระดูกสะโพก กระดูกขา ข้อต่อระหว่างหัวเข่า ข้อต่อระหว่างข้อเท้า ระหว่างนิ้วเท้าแต่ละนิ้ว นี่คือโครงสร้าง ร่างกายนี่ก็เหมือนกับเขาหล่อคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเหล็กเป็นโครง เหมือนมีกระดูกเป็นโครงของร่างกาย

ดูบ่อยๆ ดูเนืองๆ นั่นคือทำความเพียร เพียรโดยตรงภายใน ไม่ใช่เพียรภายนอก เพียรลงที่ของจริง เพื่อจะดู เพื่อจะรู้ ให้เข้าใจตามความเป็นจริง ที่มันเป็นอยู่จริง ให้มันเข้าใจจริง ให้มันคุ้นเคยกับความจริง สัมผัสกับความจริง ให้เห็นจริง รู้จริงตามความเป็นจริง นี่คือจุดต้องการอย่างเดียว สุดๆ เลย ไม่มีสุดไปกว่านี้

อันดับต่อไปคือ กระดูกนี้มีหนังหุ้มอยู่ มีเนื้อมีเลือด มีเอ็นรัดรึงข้อต่อ เป็นส่วนประกอบโครงสร้างที่จะเป็นรูปตัวมนุษย์ ชั้นนอกสุดคือหนัง หุ้มไว้ด้วยหนัง ตามชื่อสมมุติบัญญัติที่ใช้เรียกวัตถุนั้นๆ กระดูกเป็นวัตถุ เอ็นเป็นวัตถุ เนื้อเป็นวัตถุ เลือดวัตถุ หนังภายนอกเป็นวัตถุ ผมเป็นวัตถุ วัตถุต่างๆเป็นส่วนประกอบที่มาประกอบกันเป็นร่าง เป็นซาก เป็นศพ เป็นหุ่น เป็นตุ๊กตา เป็นของใช้ เดินได้ นั่งได้ ยืนได้ กินอาหารได้ พูดได้ พิจารณาอย่างนี้คือการทำความเพียร เพียรบ่อยๆ เนืองๆ ให้มันรอบรู้ ให้ใจมันมาอยู่กับกรรมฐาน ก็คืออยู่กับการพิจารณาวัตถุเหล่านี้ วัสดุก่อสร้างเหล่านี้ ชิ้นส่วนเหล่านี้ เป็นส่วนประกอบที่จะให้เกิดเป็นของใช้ เป็นซากศพ เป็นคน เป็นผม เป็นคุณ เป็นเธอ เป็นฉัน

มันไม่รู้ตัวเอง ไม่ดูตัวเอง ไม่ศึกษาตัวเอง มันไม่มาพัวพันใส่ใจกับตัวเอง มันก็มีโอกาสน้อยที่จะเห็น เพราะมันไม่มาศึกษาตัวเอง ศึกษาแต่เรื่องอื่นภายนอก การพูดการอบรมสำหรับผู้ใฝ่ธรรมมันควรจะกล่าวถึงลักษณะที่ว่ามานี้ให้บ่อยๆ เนืองๆ เป็นการป้อน เป็นต้อน ไล่มา เรียกมา ให้มาดูตรงจุดนี้ ชี้เข้าไปให้ดูเรื่องนี้ บ่อยๆ เนืองๆ มันก็คือขยัน คนขยันมันก็ต้องได้ ต้องเห็น ต้องเข้าใจ ต้องสำเร็จ เหมือนเขาว่าคนขยันยังไงก็ไม่จน เป็นภาษาที่เขานิยมพูดกัน เอามาใช้เปรียบเทียบได้ถ้าเข้าใจความหมายแต่ละระดับ

มันดูได้ตลอดเวลา เพราะมันอยู่กับตัวตลอดเวลา ตัวของตัวอยู่กับตัว งานที่จะต้องทำ มีอยู่กับตัวตลอดเวลา เริ่มแต่ตื่นขึ้น โดยมี “รู้” เป็นส่วนประกอบ แต่ที่สอนกันว่าให้บริกรรมพุทโธ นี่มันก็ชวนให้หลงอีก พุทโธ คือผู้รู้ รู้หรือยัง ถ้ายังไม่รู้ มันก็ไม่เป็นพุทโธ จึงต้องรู้ตัวเอง รู้ของจริง รู้จริงตามเป็นจริง เมื่อรู้จริงแล้วสิ่งที่ไม่รู้มันก็หายไป สิ่งที่มาแทนก็คือสัมมาทิฏฐิ คือวิชชา คือรู้แล้ว รู้จริง มันก็ลงตัว ตามคำศัพท์ต่างๆ เมื่ออัตตาไม่มีมันก็เป็นอนัตตา

ร่างกายนี่เป็นหุ่น เป็นตุ๊กตา เป็นวัตถุของใช้ ถ้าไม่เข้าใจ มันก็เป็นอวิชชา ไม่ใช่วิชชา นั่นละคือไม่รู้ คือความมืดบอด ความปกปิด เป็นปุถุชน คนหนา หนาด้วยกิเลสต่างๆ นี่คือหาคำศัพท์มาเปรียบเทียบให้มันหลายๆอย่าง กิเลสคืออะไร กิเลสคือ ความรัก ชัง โกรธ เกลียด หงุดหงิด รำคาญ อิจฉา ริษยา พอใจ ไม่พอใจ สงสัย ลังเล ฟุ้งซ่าน เป็นต้น นี่คือกิเลส นี่คือตัวปกปิด นี่มันก็เป็นตัวอย่างคำศัพท์ที่นำมาพูดอธิบาย

มันมีแต่การวิ่งวนดูสิ่งภายนอก ในวัตถุอื่น สิ่งอื่น ตัวมันเองมันไม่ดู ดูสิ่งไหนมันก็เห็นสิ่งนั้น นั่นคือสัจธรรมของมัน ตามหน้าที่ของมัน ดังนั้นต้องศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ให้มันคุ้นเคย มันก็จะเข้าใจได้เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น