วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ความเคยชิน ความเคยตัว


ความเคยชิน ความเคยตัว
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------
ความเคยชิน ความเคยตัว ตามประเพณี ตามสังคมนิยม ตามโลกียวิสัย มันไหลตามกระแส กระแสสังคม จนมองไม่เห็นความจริง เช่นอย่าง เรื่องความสงบ “สงบ” นี่มันสงบตามหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ที่บอกว่า “ไม่สงบ” นั่นเพราะมันคิดผิด คิดไม่ถูก มันก็เลยไม่สงบ แต่สงบแบบที่ชาวบ้านชาวโลกหมายถึงกันนั้น ก็เป็นความสงบที่ต้องการในรูปแบบของโลกียะ ไม่ได้ต้องการความสงบในรูปแบบของสัจธรรม

คำว่า “สงบ” เป็นคำศัพท์ที่เอามาใช้ โดยมีความหมายตื้น-ลึก แตกต่างกัน คำศัพท์คำเดียวก็ทำให้หลงได้ เหมือนไม่เข้าใจคำว่า “สงบ” ปกติคนชอบมองเกินไป เกินตัวไป เกินความเป็นจริง เกินหน้าที่ของคำว่า “สงบ” มันก็เลยไม่เข้าใจ มันก็หลงอยู่นั่น นั่งไปก็จะเอาสงบ นั่งหาสงบ ทั้งที่จริงมันสงบตามหน้าที่อยู่แล้ว

กระดูก มันไม่ได้ไปทำอะไรให้ใคร นั่นมันก็สงบแล้ว ทำไมจึงยังว่าไม่สงบอีก มันสงบตามหน้าที่ของมัน เนื้อ มันไปทำอะไรที่ไหนไหม มันก็อยู่สงบของมันตามหน้าที่ ไม่ได้วุ่นวายกับใคร มันเป็นอยู่ตามหน้าที่ของมัน ตามความเป็นกระดูก ตามความเป็นเนื้อ มันก็สงบแล้ว สงบแบบสัจธรรม สงบตามความเป็นจริง ทุกส่วนที่มีในร่างกายมันก็สงบอยู่แล้ว

พวกลมทั้งหลาย อย่างเช่น ลมหายใจเข้า-ออก มันก็สงบอยู่แล้ว ไม่ได้ดิ้นรนอะไร ไม่ได้ไปทำอะไรให้วุ่นวาย นี่คือสงบแบบสัจธรรม สัจธรรมคือจริง พวกน้ำทั้งหลาย เช่น เลือด มันก็สงบตามหน้าที่ มันทำงานตามหน้าที่ ไม่ได้ไปวุ่นวายอะไร ไม่ได้เกิดความวุ่นวายอะไรอยู่ที่มัน ไม่มีอะไรบอกว่าไม่สงบ ความอบอุ่นของธาตุไฟในร่างกาย จะปรากฏว่าอุ่น ปรากฏว่าร้อน มันทำหน้าที่ของมัน มันไม่ได้ฟุ้งซ่านรำคาญอะไร มันสงบอยู่ของมัน เป็นหน้าที่โดยบริสุทธิ์ ไม่ได้มีใครมาฉาบทาอะไร มันบริสุทธิ์อยู่อย่างนั้น นี่คือส่วนของรูป มันเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้เข้าใจตัวเอง ศึกษาเรื่องรูปนาม

ส่วนที่มันเป็นนาม คือ “รู้” มันทำหน้าที่ของมันโดยธรรมชาติ มันสงบอยู่แล้ว นับตั้งแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นปกติ เป็นปัจจุบันของมัน ทำหน้าที่ของมัน มันสงบของมันอยู่ ไม่ได้ดัดแปลง ดิ้นรนอะไร “รู้” มันก็ทำหน้าที่ของมัน เวทนา สัญญา สังขาร มันก็ทำหน้าที่ของมัน การที่บอกว่าสงบหรือไม่สงบ พระไม่สงบ เณรไม่สงบ คนทั้งหลายไม่สงบ นี่คือคิดผิด ไม่รู้จริงตามความเป็นจริง รู้ผิดเห็นผิด มีมิจฉาทิฏฐิ ก็เลยบอว่าตัวเองไม่สงบ ก็เลยมีความไม่สงบ ทำให้ต้องเที่ยวไปหาความสงบ ไปนั่งหลับตาหาความสงบ ไปนั่งสมาธิหาสงบ มันก็ข้ามไป ข้ามปัจจุบัน ข้ามมัชฌิมาปฏิปทา ข้ามสัจธรรม ข้ามความจริงไป

เวทนา มันมีหน้าที่ของมันอยู่แล้ว สงบอยู่แล้ว เป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้คดในข้อ งอในกระดูก ตรงไปตรงมา เป็นความบริสุทธิ์ของมัน เผ็ดก็เผ็ดตามหน้าที่ เค็มก็เค็มตามหน้าที่ ร้อนตามหน้าที่ หนาวตามหน้าที่ ปวดหัวเข่าตามหน้าที่ ปวดเอวตามหน้าที่ ปวดหัวตามหน้าที่ ปวดฟัน-เสียวฟันตามหน้าที่ ปวดหู ปวดตา มันก็เป็นเวทนาตามหน้าที่

คำพูด ก็พูดกันว่า “สุขเวทนา ทุกขเวทนา” นี่เป็นคำศัพท์ที่ชวนให้หลง มันเป็นเพียงสมมุติที่หาเรื่องมาพูดเท่านั้นเอง ถ้าจะแยกระดับก็คือ คำพูดที่ว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา มันเป็นภาษาฝ่ายโลกียะ ไม่ใช่ฝ่ายโลกุตตระ ถ้าเป็นฝ่ายโลกุตตรธรรมมันต้องเสมอกัน มันต้องเป็นกลาง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่มีคำว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นหน้าที่ของมัน อย่างเช่น หวานกับขม ถ้าจะแยกเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา มันก็ต้องมีอันหนึ่งถูก อันหนึ่งผิด อันหนึ่งสุข อันหนึ่งทุกข์ ด้วยซิ แล้วมันใช่ไหมล่ะ จะบอกว่าหวานดี ขมไม่ดี ได้ไหม ถ้าตอบตามสัจธรรมมันก็ต้องตอบว่าไม่ได้ ขมมันเป็นหน้าที่ของมัน หวานมันเป็นหน้าที่ของมัน ก็เช่นเดียวกัน สุขเวทนาก็เป็นหน้าที่ของมัน ทุกขเวทนาก็เป็นหน้าที่ของมัน แล้วจะเอาอะไรมาแบ่งแยกว่านี่สุข นี่ทุกข์

พอจำแนกไปว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา นี่มันไปแยกทำให้ขัดแย้งกับความเป็นจริง ขัดแย้งสัจธรรมแล้ว มันก็เข้าใจไม่ได้ เพราะยึดแบบ ยึดตำรา จนไม่กล้าวิเคราะห์ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ไม่กล้าจะเจาะเข้าไป ยึดตามประเพณี มันก็เลยไม่กระจ่างสักที เพราะว่ากลัว เห็นท่านเขียนเป็นตำราไว้ตายตัวแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลง ห้ามสงสัย ต้องเชื่อตาม ที่จริงมันเป็นเรื่องที่ต้องเอามาขยายความ ตีความ ว่ามันเป็นภาษาระดับโลกีย์ ใช้กับชาวโลกทั่วไปได้ถูกต้อง ทุกข์กับสุข แก่กับเด็ก ผู้หญิงกับผู้ชาย นี่คือใช้ได้กับคนทั่วไป แต่ในระดับโลกุตตระแล้ว ผู้หญิงก็เป็นหน้าที่ ผู้ชายก็เป็นหน้าที่ หน้าที่ของรูป รูปที่เป็นผู้หญิง รูปที่เป็นผู้ชาย ถ้าเข้าใจมันก็จะลงตัวกันไปหมด ขยายความออกไปทั้งแบบหยาบ แบบละเอียด แบบไกล แบบใกล้ มันจะไม่ขัดแย้ง มันจะเถียงไม่ได้ ถ้าคิดแบบเหตุผล เป็นกลาง ไม่ยึดตามแบบ ตามตำรา ตามประเพณี พิจารณาตามเนื้อหาสาระของสัจธรรมที่แท้จริง ยกเอามาพูดกัน มันจะเถียงไม่ขึ้น

หรืออย่าง กลางวัน กับ กลางคืน มันก็เป็นหน้าที่ของมัน จะไปบอกว่าให้กลางวันเป็นบาป ให้กลางคืนเป็นบุญ นี่มันได้ไหม กลางคืนมันทำหน้าที่มืด กลางวันมันทำหน้าที่สว่าง แล้วอะไรแตกต่าง แล้วอะไรจะเป็นบาปเป็นบุญ แล้วอะไรจะเป็นสุขเป็นทุกข์ ในเมื่อมันเป็นหน้าที่ของมัน หน้าที่ของกลางวัน หน้าที่ของกลางคืน คิดอย่างนี้จะเห็นว่ามันเป็นกลาง เป็นกลางก็เป็นธรรม ไม่ลำเอียง ก็บริสุทธิ์แล้ว ไม่มีการโทษซ้าย โทษขวา ไม่มีโทษบาป ไม่มีโทษบุญแล้ว ไม่โทษกลางวัน ไม่โทษกลางคืน ความเป็นมัชฌิมาปฏิปทามันก็เกิดขึ้นแล้ว ความเป็นธรรมก็เกิดขึ้น ถ้าไม่เป็นธรรม มันก็เป็นโลก ถ้าจะเหนือโลกก็ต้องแบบนี้ พูดอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ฟังอย่างนี้ มันแยกกัน จะแบบโลกียะกับแบบโลกุตตระมาผสมกันมันก็งง ไม่เข้าใจ มันก็หลง คนอธิบายก็ไม่กล้าจะพูดจะอธิบาย อาจจะพลอยทำให้คนฟังที่เขามีหัวคิด เขาเกิดความเบื่อหน่าย แล้วก็ไม่สนใจพุทธศาสนา ไม่สนใจธรรมะ โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ ได้รับการศึกษาสูง เขาก็เกิดเบื่อหน่าย เพราะไม่มีคำพูดที่เจาะให้มันทะลุ มีแต่สอนแบบผสมปนเปกันทั้งโลกียะและโลกุตตระ ทำให้งง ไม่ชัดเจน ไม่แจ้ง ไม่สว่าง ถ้าจะพูดให้มันขาดกันไปเลย พูดให้ถึงจุดไปเลย มันต้องพูดแบบนี้ มันจึงจะสอดคล้องกับเหตุผลของสัจธรรม

แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ฟังแล้วเข้าใจไม่ได้ง่ายๆ อีกนั่นแหละ นี่คือจุดสำคัญ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ที่โลกียะจะไปเข้าใจโลกุตตระได้ ตรงนี้แหละเป็นจุดปิดกั้นที่หนาแน่น จะพูดอย่างไรก็ช่าง อธิบายมากแค่ไหนก็ช่าง ถ้าไม่ได้สัมผัสรสชาติด้วยตัวเอง มันก็เข้าใจไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ที่จะไปเข้าใจในจุดนั้น ในเรื่องนั้น มันต้องบริสุทธิ์จริงๆ มันต้องตรงจริงๆ ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งเข้าใจ ไม่ใช่แกล้งหวาน ไม่ใช่แกล้งขม ต้องหวานจริงๆ ขมจริงๆ เค็มจริงๆ ถ้าเสแสร้งแกล้งหวาน มันก็ไม่จริงแล้ว ไม่มีน้ำตาลอยู่ที่ลิ้น จะบอกว่าหวาน นี่คือเสแสร้งแล้ว ไม่จริงแล้ว จะป่าวร้องประกาศไปแค่ไหนก็ตามว่าหวาน ว่าเค็ม โดยไม่มีน้ำตาล ไม่มีเกลือ อยู่ที่ลิ้น มันก็ไม่จริง มันก็พูดได้แต่ปากเท่านั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ มันต้องเข้าใจเค็มขณะที่มีเกลืออยู่ที่ลิ้น จึงเรียกว่าสัมผัสของจริง

ดังนั้น คำศัพท์ธรรมะต่างๆ ที่พูดกันนี่มันชวนให้หลง ชวนให้สับสน เหมือนดังที่อธิบายคำว่า “สงบ” นี่มันสงบอยู่แล้ว ฝ่ายรูปก็อธิบายไปแล้ว ฝ่ายนามก็กำลังอธิบายเรื่องเวทนาต่างๆ คือที่เขียนไว้ว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ถ้าฟังไม่เป็นก็จะเข้าใจผิด ว่ามันมีสุข มีทุกข์ มีอุเบกขา เหมือนอย่างที่เขียนไว้ ทีนี้ก็หาแล้ว หาสุข หาทุกข์ หาความพ้นทุกข์ หาไปมันก็ขัดแล้วทีนี้ มันขัดความจริง เพราะไม่กระจ่าง หาตัวสุข หาตัวทุกข์อยู่นั่น วุ่นกับตัวสุข ตัวทุกข์อยู่นั่น มันก็ไม่ได้ทำลายตัวตนสักที นี่คือมันชวนให้หลง เพราะติดกับคำที่เขียนกันมา สอนกันมาตั้งแต่สมัยพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย โดยที่ไม่เข้าใจ

ต้องเข้าใจชัดเจน คำว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา มันอยู่ในระดับโลกียะ มันเป็นคำที่เอามาขยายความเพื่อจะอธิบายไปสู่จุดที่ต้องการให้เข้าใจ ถ้าไม่มีคำสมมุติมาเทียบเลย มันก็ไม่รู้จะพูดสื่อกันอย่างไรให้เข้าใจ มันก็ไม่มีชื่อ ไม่มีคำบัญญัติเรียก เหมือนคนเกิดมามันก็ต้องตั้งชื่อ คนหนึ่งมีตั้งหลายชื่อ แถมมีนามสกุลอีกด้วย ถ้าไม่มีมันก็ไม่รู้จะเรียกกันยังไง จะเรียกว่าคน มันก็คนเหมือนกันทั้งนั้น ไม่รู้ว่าเรียกใคร ฉะนั้นจึงมีการบัญญัติชื่อ นามสกุล ขึ้นมา ให้มันใช้เรียกกันได้ในสังคมโลก โลกก็คือโลกียะ หลวงปู่ชาของเราท่านก็อธิบายอย่างนี้

คำว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา มันก็เหมือนกับนายมา นายสี มันก็เป็นสมมุติเหมือนที่ใช้เรียกคน ถ้าหลงสมมุติมันก็ติดอยู่ คิดว่าสุขมี ทุกข์มี ทีนี้ก็จะหาทางพ้นทุกข์แล้ว คิดไปมันก็ไม่กระจ่างว่าจะพ้นได้ยังไง มันจะเอาตัวพ้นทุกข์ มันก็เห็นแก่ตัว มันก็ทรงตัวเองไว้อย่างนั้น มันก็ขัดความจริงแล้ว ขัดสัจธรรม ขัดหน้าที่ จะเอาอะไรไปพ้นทุกข์ ในเมื่อทุกอย่างมันทำหน้าที่ของมันอยู่ตามธรรมชาติ เหมือนจะพ้นจากกลางวัน พ้นจากกลางคืน จะเอาอะไรไปพ้น จะเอาตัวที่ไหนไปพ้น

ถ้าพูดให้มันลึกกว่านั้น กลางคืน กลางวัน ก็ไม่มี มันมีคนไปยืนบอกอยู่นั่น มันจึงมีกลางวันกลางคืน ถ้าไม่มีตัว กลางวันก็ไม่มี กลางคืนก็ไม่มี เปรียบเทียบเข้ามา สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี เช่นกัน อุเบกขาก็ไม่มี ทำไมไม่มี ก็เพราะว่าไม่มีตัว ไม่มีบุคคลที่คอยรองรับ ไม่มีบุคคลที่ไปบอกว่านี่คือสุข นี่คือทุกข์ ที่มันเป็นอยู่นี่มันเป็นหน้าที่ของโลก เป็นสัจธรรม เป็น “ธรรมชาติ หน้าที่ และจริง” อยู่ของมันอย่างนั้น นี่ถ้าวิเคราะห์อย่างนี้มันจะทะลุ กระจ่าง ไม่มีจุดที่จะมาค้านได้ มันจะสอดคล้องกันไปหมดเลย

มันมัวแต่ติดสมมุติ ติดตำรา ติดประเพณีโบราณ มันจึงไม่กระจ่าง หรืออย่างเช่น “คำด่า” ถ้าคนไม่เข้าใจ พอได้ยิน มันก็โกรธแล้ว เพราะมันติดกับคำสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้น มันผิดแบบโลก มันไม่ได้ผิดแบบธรรม เพราะว่าคำพูดมันเป็นเพียงแค่ลมออกจากปาก ไม่ได้มีความหมายแท้จริง ฉะนั้นท่านจึงพูดว่า พระพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวก ไม่มีโลภ โกรธ หลง เพราะว่าท่านไม่มีตัวแล้ว จะมีอะไรมารองรับโลภ โกรธ หลง ไม่มีตัวการจะทำการโลภ ไม่มีตัวการจะทำการโกรธ ไม่มีตัวการจะทำการหลง ไม่มีเหตุรองรับ โลภ โกรธ หลง มันจะมีที่อยู่ที่ไหน พูดแบบสุดๆ มันก็ต้องพูดระดับนี้

จึงย้ำเรื่อง อัตตา อนัตตา อัตตามันเป็นพวกเดียวกันกับโลภ โกรธ หลง เป็นผลงานของมัน ถ้าเป็นอนัตตา มันไม่มีตัวแล้ว เหลือแต่เพียงหน้าที่ มันก็หายตัวไปแล้ว ไม่มีตัว จะเอาอะไรมาโกรธ จะเอาอะไรมารัก จะเอาอะไรมาชัง จะเอาอะไรไป จะเอาอะไรมา จะเอาอะไรเกิด จะเอาอะไรตาย มันก็จบแล้ว สิ่งที่เหลือคือหน้าที่ สิ่งที่เหลืออยู่คือสัจธรรม มันก็เห็นธรรม มันก็เป็นธรรม ตรัสรู้ธรรม คือรู้ตัวเอง รู้แจ้งโลกภายนอกคือรู้โลกียะ รู้แจ้งโลกภายในคือรู้โลกุตตระ คือรู้แจ้งในขันธ์ห้า รู้แจ้งในรูปนาม

ฉะนั้น คำว่า “สงบ” นี่มันมีอยู่แล้ว ทุกอย่างมันทำหน้าที่ของมัน สงบอยู่แล้ว บริสุทธิ์อยู่แล้ว มันไม่ได้มีรอยเปื้อน ไม่ได้เป็นบุญเป็นบาปอะไร มันเป็นแต่เพียงหน้าที่ของมันเท่านั้น แต่เราเข้าใจไม่ได้ ไม่ยอมรับ เพราะธรรมชาติมันให้มาแบบนี้ ปุถุชนจะเข้าใจตามความเป็นจริงไม่ได้ จึงไม่เป็นธรรม มนุษย์นี่มันยังไม่เป็นธรรม ไม่เข้าถึงธรรม จึงมีการบ่นกันว่าโลกมนุษย์นี่มันไม่มีความเป็นธรรม มันมีคด มีโกง มีปล้น มีฆ่ากัน มันโหด มันร้าย มันทะเลาะ มันเถียงกัน แย่งลาภกัน แย่งยศ แย่งสรรเสริญกัน โอ๊ย..วุ่นวาย นี่คือการอยู่กับภายนอก มันยังไม่ได้หายตัวไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น