วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ใจอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่รู้


ใจอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่รู้
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------
ใจอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่รู้ คนมันยุ่งยากก็เพราะ “รู้” พูดถึงจุดที่สุดของมันคือ “รู้” ยุ่งยากกับรู้ ก็คือ ยุ่งยากกับใจ เพราะว่า ใจก็คือรู้ ศึกษาธรรมะก็คือการศึกษาเรื่องของจริง บางคนไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าใจอยู่ไหน มองไม่เห็นว่าอะไรที่เรียกว่าใจ ถ้าจะบอกว่าไม่เห็นใจก็ใช้ได้กับตอนที่นอนหลับ คือตอนที่นอนหลับมันไม่มีรู้ มันก็เลยไม่เห็นใจ แต่เวลาฝันนี่มันมีรู้แล้ว จึงรู้จักว่าฝันนั่นคือใจมันไปรับรู้แล้ว บางทีฝันไปก็รู้สึกหวาดกลัว จึงบอกว่ามันยุ่งยากก็เพราะรู้ บางทีก็ไปสนุกเพลิดเพลิน บางทีก็ไปเป็นทุกข์ มันยุ่งยากกับใจ ยุ่งยากกับรู้นี่แหละ ใจคือรู้ นี่คือจุดสำคัญ

ต้องมาศึกษาทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร พอตื่นขึ้นมามันก็มี “รู้” ทันที มีใจทันที ต้องย้ำให้มันเข้าใจ คำว่า จิต ใจ วิญญาณ มันเป็นอันเดียวกัน ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องสับสน มันเป็นคำศัพท์สมมุติหลายอย่างที่เอามาพูด สรุปลง ใจก็คือรู้ จิตก็คือรู้ วิญญาณก็คือรู้

บอกว่า “ดูรู้” ก็คือ “ดูใจ” เวลาเกิดปฏิกิริยาสุข หรือทุกข์ ภาษาพูดก็ว่า “มันเกิดที่ใจ” ฟังไม่เป็นมันก็งงอีก เป็นภาษาที่สังคมนิยมพูดกัน ใจนี่มันอยู่กับอารมณ์ ศึกษาคำศัพท์ว่า “อารมณ์” เฉยๆ มันก็เป็นอารมณ์ คือมันรู้ มันจึงบอกว่า เฉยๆ ได้ ไม่สุข ไม่ทุกข์ รู้เฉยๆ ภาษาก็ว่า อุเบกขา

รู้นี่มันก็เป็นอนิจจัง เป็นหน้าที่ของมัน อารมณ์มันเปลี่ยนตลอด นั่นคืออนิจจัง อนิจจังคือเปลี่ยน เป็นจังหวะการเปลี่ยนของอารมณ์ เปลี่ยนไปเป็นยังไงก็ช่าง มันก็ตามรู้ เพราะใจมันมีหน้าที่รู้ อารมณ์ก็อย่างหนึ่ง ใจก็อีกอย่างหนึ่ง มันแยกกัน รู้นี่มันก็จะรู้เฉพาะอารมณ์ แต่ไม่ใช่อารมณ์เดียว เฉยๆก็อารมณ์หนึ่ง สุขก็อารมณ์หนึ่ง ทุกข์ก็อารมณ์หนึ่ง อารมณ์อะไรก็ช่างเกิดขึ้นใจมันรู้หมด อยู่จุดไหน ที่ไหน ก็รู้หมด

มาศึกษาตัวเอง ก็คือศึกษาใจ ใจนี่มันก็เป็นตัวเองอย่างหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “วิญญาณ” มันก็เป็นขันธ์ห้าอย่างหนึ่ง ชนิดหนึ่ง ไม่มีใจไม่ได้ มันผิดสัจธรรม ผิดความจริง ปวดท้องมันก็รู้ ปวดหัวมันก็รู้ มันตามไปรู้ ถ้ายังไม่ปวด มันก็ไม่รู้ ยังไม่ปวดหัวจะรู้ปวดหัวได้ไหม ไม่ได้ “รู้” นี่มันรู้อยู่ปัจจุบัน ไม่ได้รู้อยู่ที่อดีต หรืออนาคต มันต้องย้ำอยู่อย่างนี้

ปัจจุบัน คืออย่างไร ก็คือหัวไม่ปวด ก็รู้ว่าหัวไม่ปวด นี่คือปัจจุบัน ถ้าปวดก็รู้ว่าปวดในขณะที่ปวด ถ้ามันหายปวดก็รู้ นี่คือรู้ในปัจจุบัน ไม่ได้รู้อดีต อนาคต เพราะฉะนั้น ถ้าปฏิบัติก็คือ ดูใจ ดูผู้รู้ ผู้รู้ก็คือ ปัจจุบัน ดูที่ปัจจุบัน มันก็ตรงกัน ลงตัวกัน

ถ้ายังไม่ปวดฟัน จะรู้ปวดฟัน ไม่ได้ ถ้ามันปวดแล้วจึงรู้ได้ รู้ในปัจจุบัน รู้ในธรรมะที่กำลังปรากฏ รู้ในขณะที่มีของจริง ที่มันเป็นจริง รู้ตามเป็นจริง ถ้าปวดฟันแล้วไม่รู้ไม่ได้ เพราะมันเป็นสัจธรรม เป็นของจริง ไม่มีใครห้ามได้ มันเป็นหน้าที่ของมัน เป็นอาการ เป็นรสชาติ ของมัน ที่จะมีลักษณะปวดฟัน มันเป็นสัจธรรมของมัน มันเป็นสิ่งที่รู้ในปัจจุบัน รู้ก็คือใจ คือจิต คือวิญญาณ อดีต อนาคต เป็นของปลอม เป็นของหลอกลวง ถ้าบอกว่าตอนนี้รู้รสชาติการปวดฟัน แต่จริงๆ อาการปวดฟันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง นั่นล่ะคือหลอกลวง จะบอกว่ารู้ได้ยังไง ก็ยังไม่ได้ปวดฟัน นี่คือภาษาธรรมะ มันต้องระบุชี้ชัดให้ลึกลงไประดับนี้ ภาษาโลกีย์ก็พูดได้ว่า รู้จักปวดฟัน รู้จักปวดหัว รู้จักปวดท้อง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันยังไม่ได้มีอาการเหล่านั้นเกิดขึ้น มันจึงขัดกันกับภาษาธรรม เพราะมันจะรู้ได้ยังไง มันไม่ใช่ของจริง มันก็ไม่เป็นธรรมแล้ว รู้อย่างนั้นมันรู้แบบหลอกลวง ไม่ใช่รู้ธรรมะ เป็นการรู้แบบโลกียชน รู้แบบภาษาคน ภาษาชาวบ้าน แต่ถ้ารู้แบบภาษาธรรมต้องรู้ในปัจจุบัน มันก็ตรงกับทางสายกลาง ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางที่พระพุทธเจ้าให้เดิน

แต่มัชฌิมาปฏิปทาที่ให้ความสำคัญกันกลับไปอยู่ที่ภายนอก ต้องกินพอดี ต้องเดินพอดี ต้องนอนพอดี ต้องนั่งพอดี อย่าให้มันเกินไป เดินจงกรมอย่าให้มากเกินไป อย่าให้มันน้อยเกินไป นั่งสมาธิก็อย่าให้มันมากเกินไป อย่าให้มันน้อยเกินไป โน่น...อยู่ภายนอกโน่น เอาคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ไปใช้กับเรื่องภายนอกโน่น ถามว่าถูกไหม ก็ถูกเหมือนกัน แต่ว่ามันนอก มันไกลเกินไป มันไม่เข้ามาใกล้สักนิด ถูกแบบภาษาคน ถูกแบบกระแสสังคมของชาวพุทธนี่แหละ ก็ถูกอยู่ แต่ต้องแยกระดับความถูก ถูกแบบไกลๆ น่ะ

มันเป็นเรื่องที่ต้องทำความเพียรโดยการฟังให้เข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ภาษาความ หมายต่างๆ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านจึงมีการแสดงธรรม อธิบายธรรมอยู่บ่อยๆ อย่างหลวงปู่ชา หลวงปู่ฉลวย (วัดป่าวิทยาลัย อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ) นี่ท่านเทศน์มาก อธิบายมาก ทุกโอกาส มันเป็นการให้ข้อมูล ให้ข้อคิด ให้ปัญญา ให้ความเห็นถูกต้อง ตามพุทธประวัติก็เหมือนกัน พุทธองค์ไปโปรดไปเทศน์ที่นั่นที่นี่ บอกคนนั้นบอกคนนี้ เขาก็ได้บรรลุได้ดวงตาเห็นธรรม อย่างบุคคลในอดีต ถ้าเอามาเปรียบเทียบมันก็ชัดเจน บอกความจริงแก่กัน เนื่องจากหลงอยู่ มีคนมาบอกความจริงแล้วก็เข้าใจ ไม่ใช่เหตุอื่น คือเป็นเรื่องบอกให้เข้าใจตามสิ่งที่มันเป็นจริง ตามธรรมะที่มันเป็นจริงอยู่ พอเข้าใจก็บรรลุธรรม พูดบ่อยๆ อธิบายบ่อยๆ เหมือนการตีเหล็ก ตีบ่อยๆ มันก็ค่อยๆ เป็นมีด เป็นพร้าไปเอง นี่คือเปรียบเทียบ ตอนแรกมันก็เป็นก้อนเหล็กธรรมดา เอาไปเผาไฟ เอาค้อนตี ค้อนเล็กๆ ใช้ไม่ได้ ก็ต้องใช้ค้อนใหญ่ ตีลงไป นี่คือเปรียบเทียบแบบภายนอก ก็คือ การทำความเพียร อดทน มีข้อวัตรปฏิบัติ แบบใกล้บ้าง แบบไกลบ้าง ภายนอกบ้าง ภายในบ้าง ไล่ต้อนกันอยู่อย่างนั้น การรู้ไว้ ก็คือ การดูแผนที่ ยังไม่ได้ไป เมื่อยังสัมผัสไม่ได้ก็รู้เพียงเบื้องต้นก่อน ทำความเข้าใจ มีแผนที่ ดูแผนที่ให้มันชัดเจน แม้จะยังไม่ได้ปฏิบัติการ

นี่เป็นเรื่องเน้นย้ำว่า “ใจอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่รู้” จิต ใจ วิญญาณเป็นอันเดียวกัน เวลาฝันมีอะไรไป ก็มีวิญญาณไป อย่างที่นิยมพูดกัน แต่พูดอีกแบบว่าเวลาฝันก็มี “รู้”ไป หนาวก็รู้นั่นล่ะหนาว ร้อนก็เพราะรู้ มันแยกกันไม่ได้ ในขณะยังไม่หนาวมันก็ไม่มีรู้ แต่ขณะที่หนาวมันก็รู้ รู้หนาว ก่อนนี้มันทำไมไม่รู้หนาว ไม่รู้เพราะมันเป็นจังหวะของมัน เป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง มันไม่แน่ มันเปลี่ยนแปลง

อย่างที่สวดกันว่า “ รูปัง อนิจจัง, เวทนา อนิจจา, สัญญา อนิจจา, สังขารา อนิจจา, วิญญาณัง อนิจจัง” บางคนก็งงอีกว่า “วิญญาณ” มีการเกิด – ดับ ยังไง ก็ต้องอธิบายความว่า วิญญาณก็คือรู้ แล้วรู้มันเป็นอนิจจังได้ยังไง รู้นี่มันเป็นฝ่ายนาม ฝ่ายนามมันไปด้วยกันทั้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไปพร้อมกัน ไม่แยกกัน มันเป็นอนิจจังด้วยกันทั้งหมด จะว่าอนิจจา หรือ อนิจจัง ก็คือคำเดียวกันนั่นแหละ เหมือนคนฝรั่งพูดไทยไม่ชัดนั่นแหละ

เวทนานี่มันเห็นชัดเจนที่ทุกขเวทนา ปวดขานี่ก็เป็นเวทนา หนาวมากก็มีเวทนา ร้อนมากก็มีเวทนา ปวดท้องมากก็มีเวทนา ปวดท้องมากก็มีเวทนา พอพูดว่า เวทนาก็เลยมักเข้าใจกันว่ามีทุกข์อย่างเดียว อย่างพูดกันว่า นั่งตั้งนาน 3 ชั่วโมงแล้ว ปวดมาก ยังไม่ข้ามเวทนาเลย ต้องนั่งให้มันข้ามเวทนา นี่คือภาษาชาวพุทธ ชาวพระ ชอบพูดกัน ถามหน่อย...ข้ามเวทนาแล้วจะไปไหน เท่านี้มันก็หลงกับคำศัพท์แล้ว ข้ามแล้วจะไปไหน ข้ามจากเวทนานี้ก็ไปตกอยู่เวทนาโน้น ข้ามแล้วมันพ้นไปไหน เท่านี้มันก็ไม่เข้าใจแล้ว ไม่กระจ่างแล้ว จึงพูดตามกันว่าจะนั่งให้มันข้ามเวทนาดูซิ นั่งไปเรื่อยๆ มันก็มีเวทนาอยู่นั่นแหละ ข้ามไปมันก็ไปเจอเวทนาเหมือนกัน เวทนาอะไร ถ้ามันไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็อุเบกขาเวทนา ถ้ามันสุขก็เป็นสุขเวทนา มันก็ล้วนแต่เป็นเวทนาทั้งนั้น จะข้ามไปไหนล่ะ

คำว่า “ข้ามเวทนา” นี่เป็นการใช้ขันติเท่านั้น นั่งดู ดูรู้ นั่งนานๆ ไม่เปลี่ยนท่า ก็เพื่อดู ดูอะไร ดูรู้ รู้เจ็บ รู้ทรมาน รู้อยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว รู้แบบรวมกันอยู่ที่นั่นนานๆ ให้สติสัมปชัญญะมันอยู่ที่รู้ นั่นคือความถูกต้อง ชัดเจน ของคำว่า “นั่งนาน จนข้ามเวทนา” ไม่ใช่ไปหลงตัวเองว่านั่งข้ามเวทนาได้ ข้ามไปแล้วจะไปไหน จะไม่ให้มันเกิดเวทนาอีกหรือ บ้าแล้ว มันหนีจากเวทนาหนึ่งมันก็ไปเจออีกเวทนาหนึ่ง มันปราศจากเวทนาไม่ได้ มันวนเวียนกันเป็นวัฏฏะอยู่อย่างนั้น พ้นจากทุกขเวทนาก็ไปเจอสุขเวทนา สุขเวทนามันก็เกิด–ดับ มีอายุของมัน พ้นจากสุขเวทนา มันก็ไปเจออุเบกขาเวทนา แล้วมันก็กลับมาทุกขเวทนาอีก วันนี้นั่งข้ามทุกขเวทนาได้ พรุ่งนี้ลองมานั่งอีกซิ ถ้าไม่เจอทุกขเวทนาอีก มันก็เจออีกเหมือนเดิม เพราะมันเป็นวัฏฏะวนเวียนอยู่

จะมองไปทางไหนมันก็มีแต่ธรรมะทั้งนั้น คนไม่เข้าใจก็หลง ท่านจึงว่ามันติดอยู่ในแบบ ในตำรา มันติดแน่นมาก ติดแบบติดตำรา ติดครู ติดอาจารย์ ติดประเพณีโบราณ การนั่งนานๆ ดูรู้ นี่เป็นสมถะ เป็นการผูกจิต ให้ผู้รู้มันไม่แส่สาย ให้ผู้รู้มันมาอยู่กับขันธ์ห้า ให้มันมาอยู่กับรูปนาม นั่งนานๆ จนเกิดเวทนา มันเป็นประโยชน์อย่างนี้ ได้ผลมาแล้วครูบาอาจารย์จึงได้บอกสอนต่อมาว่าให้ปฏิบัติตาม ถ้าดูเวทนาไม่นาน ผู้รู้มันจะแส่ส่ายไปโน่นไปนี่ ไม่ชัดเจนสักที พอมันมาอยู่กับเวทนา ก็เหมือนมันมาอยู่กับลมหายใจเข้า–ออก มันก็เป็นการดูที่จุดๆ เดียว ต่างกันแค่ว่าดูที่เวทนา กับดูที่ลมหายใจ เป็นสมถะ ให้มันรู้จุดเดียวนานๆ เป็นการศึกษาชนิดหนึ่ง ค้นคว้าชนิดหนึ่ง ถ้าไม่ศึกษามันก็ไม่รู้ ศึกษาก็คือเสขบุคคล บุคคลจะต้องศึกษา มองไปไหนมันก็ทะลุ สอดคล้องกันเป็นธรรมะไปหมด นำมาพูดอธิบายเชื่อมโยงกันได้หมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น