วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

หมั่นฝึกให้สติมันรู้อยู่กับกาย


หมั่นฝึกให้สติมันรู้อยู่กับกาย
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

หมั่นฝึกให้สติมันรู้ ให้สติมันอยู่กับร่างกาย มันยังไม่เข้า ถ้ามันเข้ามันจะสัมผัสได้เอง โบราณว่าร่างกายนี้ก็คือถ้ำ คูหา เป็นที่อยู่ที่หลบ ดังนั้น เข้ามาอยู่ในถ้ำจะได้สบาย ให้สติสัมปชัญญะมาอยู่ที่ถ้ำ มาอยู่ที่ร่างกายบ่อยๆ เนืองๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ให้มันอยู่กับกาย คือ ซากศพ ตุ๊กตา นั่นคือทำความเพียร หรือฝึกปฏิบัติการ ถ้ามีแต่ความรู้จากตำรา ก็คือยังไม่ได้ปฏิบัติการ ยังไม่ได้ทำ ต้องให้มันเข้ามาอยู่กับกาย หาวิธีที่จะบอกมันว่ามันเป็นซากศพ ซากผี หาวิธีบอกสอนอยู่แบบนี้บ่อยๆ สังเกตดูเห็นมันเป็นหุ่นหรือเปล่า แนะนำมัน สอนมัน ถ้ามันไปอยู่ภายนอกมันก็ปฏิบัติการอยู่ภายนอก ไปอยู่กับรูปกับเสียงภายนอก เป็นต้น มันเป็นการปฏิบัติเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ทางที่ต้องการ

โดยปกติตั้งแต่ตื่นขึ้น มันปฏิบัติการแล้วทันที ตามธรรมชาติ ตามหน้าที่ แต่มันไปปฏิบัติการอยู่ภายนอก อยู่นอกกาย อยู่นอกใจ มันเป็นเรื่องละเอียด เป็นของรู้ได้ยาก เพราะเป็นทางที่มันไม่เคยไป ไปในที่ที่ไม่เคยไป เดินเส้นทางที่ไม่เคยเดิน มันก็เลยไม่รู้เรื่อง ไม่ชำนาญ และมันไม่อยากไปด้วย เพราะมันไม่คล่อง ไม่คุ้นเคย มันคล่องตัวแต่ทางที่มันเคยไป มันเคยอยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พัวพันและปฏิบัติการอยู่กับกามคุณ ซึ่งมันเป็นภายนอก มันเป็นการปฏิบัติคนละเรื่องกัน มันจึงไม่สามารถรู้ได้ เห็นได้ เพราะปฏิบัติไม่ถูกสิ่งที่ต้องการ

ข้อปฏิบัติคือภายใน ภายในคือกาย กายคือร่างคือซากศพ ที่ตำราเขียนไว้ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้มีสติอยู่ในกาย สติเป็นไปกับกายตลอดเวลา นี่จึงเรียกได้ว่าทำความเพียรอยู่ ปฏิบัติการอยู่ ลงมือทำอยู่ มันไม่ใช่เรื่องนอกตัว มันเป็นเรื่องในตัว ไม่ใช่เรื่องไกล แต่เป็นเรื่องใกล้ เรื่องอยู่กับตัวเองแท้ๆ ถ้าไม่รู้จริงมันก็มืดทึบอยู่นั่น มันก็เป็นปุถุชนอยู่นั่น ไม่ได้เป็นอริยชน ไม่ได้ไปจากกิเลส แต่มันถูกกิเลสครอบงำอยู่ มันเป็นโดยอัตโนมัติของมันเอง เป็นเหตุเป็นผลของมันเอง ถ้ารู้ไม่ได้มันก็ทึบ ก็ถูกปกปิดอยู่นั่น เพราะมันไม่มาทำการ ไม่มาปฏิบัติการเพื่อจะรู้ รู้ตัวเอง คือกายนี้ มันไม่ขยัน ไม่พยายามที่จะรู้ รู้ที่กายนี้ มันไม่ศึกษาไม่เรียนรู้ มันก็ไม่รู้เรื่องกาย ให้มีสติรู้แจ้งในกาย

พูดเรื่องกาย มันก็พ่วงไปถึงเวทนาด้วยอยู่แล้ว มันอยู่ด้วยกัน เวทนามันเกิดที่กาย เพียงแต่แยกพูด เหมือนเรื่องขันธ์ห้า ธาตุสี่ นี่ก็แยกพูดขยายความเจาะแยกลงไป สติปัฏฐานสี่นี่ก็เหมือนกัน พูดขยายออกไปให้มันเป็นสี่ แต่รสชาติของมัน อาการของมัน คือร่างกายนี้ มันเป็นกลุ่มของธาตุสี่ เป็นกองรูป อวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายก็เป็นรูป เหมือนเอารูปมากองรวมกันไว้ ที่จริงมันก็เป็นการขยายความออกไป หาเรื่องมาพูดให้มันมากเรื่องเท่านั้นเอง พูดสั้นพูดยาว พูดเล็กพูดน้อย พูดเบาพูดหนัก พูดแล้วพูดอีกอยู่นั่นแหละ หาเรื่องมาพูด มาแยกเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้งที่จริงมันเป็นกองเดียวกัน เป็นก้อนเดียวกัน มันไม่ได้แยกกันอยู่ สติปัฏฐานสี่มันจะแยกออกมาจากกันไม่ได้ แต่ว่าพูดแยกออกมาเพื่อเป็นการหาเรื่องมาพูดให้มันมากเรื่อง ให้มีโอกาสทำความเข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้น ถ้าเข้าใจแล้วมันก็เห็นเป็นเรื่องเดียวกันเท่านั้น จะขยายความแจกแจงมากแค่ไหน มันก็รู้ว่าเป็นเรื่องเดียว ที่เขียนมากๆ พูดมากๆ ถ้าฟังไม่เป็นก็สับสันวุ่นวาย กุมขมับ จะประสาทตาย ถ้าฟังเป็นมันก็ต้อนเข้ามาที่เดียวกันนั่นเอง ไล่เข้ามา บีบเข้ามา บังคับเข้ามา ให้ลงร่องนี้ ไม่ให้ไปทางอื่น เหมือนแยกพูดเป็นรูปกับนาม กายกับใจ มันก็เป็นก้อนเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ จึงให้มาปฏิบัติการอยู่ที่นี่

หรืออย่างคำว่า ปฏิบัติ นักปฏิบัติ สำนักปฏิบัติ นี่ก็หาเรื่องมาพูด จนงงไม่เข้าใจว่า “ปฏิบัติ” คืออะไร ปฏิบัติก็คือ “ทำ” กินข้าวก็คือปฏิบัติ มีข้อปฏิบัติตั้งแต่จับช้อน ตักข้าว ส่งเข้าปาก เคี้ยว กลืน นั่นคือปฏิบัติ เหมือนอย่างที่เขียนไว้ในตำราว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือให้ดูกาย กายคืออะไร ก็คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ ภาษาไทยไม่พอ ก็เอาภาษาบาลีมาอีก เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ฯลฯ วุ่นวายกันไปมากความ แต่ถ้าประมวลดูแล้วมันก็เป็นเรื่องเดียวเท่านั้นเอง ไหลเข้ามาสู่จุดเดียวกัน ถ้าเข้าใจมันก็จะสรุปได้ กระจ่างออกมาเลย นึกว่ามีหลายเรื่อง ที่แท้เป็นเรื่องเดียว ประเด็นเดียวเท่านั้นเอง ต้องทำความเข้าใจให้มันชัด หรืออย่างปวดปัสสาวะ มันก็เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ลุกขึ้น เดินไป ถลกผ้า ปล่อยน้ำปัสสาวะออก เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นข้อปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติทั้งนั้น

ถ้าไม่เข้าใจมันก็ไปแยกอีก พวกนี้บวชเรียน พวกนี้บวชมาปฏิบัติ มันก็หลงอยู่นั่น ใครมันไม่ปฏิบัติบ้าง ถ้ายังมีชีวิตอยู่มันต้องปฏิบัติกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นโยม เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นคำศัพท์ต่างๆ ฟังแล้วต้องตีให้แตก ให้เข้าใจอย่างกระจ่าง อย่าไปหลงกับคำสมมุติบัญญัติ หรืออย่างเช่นที่พูดกันว่าปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ หรือปฏิบัติเพื่อละ โลภ โกรธ หลง ถ้าไปเข้าใจตามคำพูดตรงๆ นี่มันก็หลงแล้ว เพราะโลภ โกรธ หลง มันอยู่ภายนอก จะไปละอะไรมันอีก หรือถ้าปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ก็จะต้องหาใครมาเป็นคนพ้นทุกข์อีก มันเป็นเพียงหน้าที่ เป็นเรื่องของมันอยู่เช่นนั้นเอง ไม่ได้ไปทำทุกข์ ทำโทษ ให้ใคร เบียดเบียนใคร นี่คือต้องอธิบายตีความจนมันยอมรับได้ จนมันเข้าใจ ไล่มัน ต้อนมัน จนมันไม่มีที่ไป เหมือนหมาจนตรอก จนมันกระจ่างชัดว่าที่แท้มันเรื่องแค่นี้เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น