วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

กำหนดร่างกายให้มันรู้สึกเป็นของหนัก


กำหนดร่างกายให้มันรู้สึกเป็นของหนัก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

กำหนดร่างกายให้มันรู้สึกเป็นของหนัก สังเกตการณ์ให้มันเห็นเป็นของหนัก บ่อยๆ เนืองๆ ให้มันเห็นตามสิ่งที่มันเป็นจริง ร่างกายเป็นของหนัก ร่างกายเป็นภาระ ร่างกายเป็นเหมือนหุ่น ตุ๊กตา ซากศพ กำหนดบ่อยๆ เนืองๆ ให้มันเข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้จริงตามความเป็นจริง ต้นเหตุของปัญหาทั้งหลายมันอยู่ที่ความไม่รู้จริง ร่างกายหนักมันก็ไม่รู้ว่าหนัก หอบของหนักไปตลอดเวลา แบกไป หิ้วไป นั่งอยู่กับของหนัก นอนอยู่กับของหนัก เวลาลุกขึ้นให้สังเกตดูเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ตอนที่ดันหรือพยุงของหนักขึ้น มันแย้มให้เห็น ปรากฏให้เห็นอยู่ ถ้าไม่เห็นก็แสดงว่ายังไม่รู้จริง ไม่มีกระแสที่จะรู้ตามเป็นจริง

มันก็ต้องหาอุบายเปรียบเทียบจากภายนอก อย่างเช่น เสื้อผ้านี่ก็เป็นของหนัก เอาไปเสริมเข้า เสริมของหนักที่มันมีอยู่ก่อนแล้วคือร่างกาย คือซากศพ เสื้อผ้าหลายตัวก็หนักเป็นกิโลฯ สังเกตการณ์ เปรียบเทียบ เทียบเคียง พิจารณาให้มันเห็นตามเป็นจริง นี่คือทำความเพียร เพื่อจะรู้จุดนี้ เพื่อจะเข้าใจในเรื่องนี้ ใส่รองเท้าก็เป็นการเพิ่มของหนัก แม้แต่หิ้วของ มันก็เสริมก็พ่วงเข้าไปให้มันหนักยิ่งขึ้นอีก ร่างกายมันหนักอยู่ก่อนแล้ว บอกให้มันเห็น ชี้ให้มันเห็น แนะนำให้มันเห็น หิ้วกระเป๋า สะพายย่าม อุ้มบาตร เสริมของหนักภายนอกเข้าไป มองให้เห็นว่ามันเป็นของหนัก เป็นการเห็นแบบหยาบๆ เห็นแบบภายนอก ผ้าสังฆาฏิติพาดบ่าเข้าไปมันก็หนัก แบกไม้ ถือไม้ แบกหามสิ่งของ ยกก้อนหิน วัตถุต่างๆ เอาเสริมเข้าไปด้วยการหิ้ว การแบก ก็ยิ่งเพิ่มของหนักให้กับของหนักที่มีอยู่เดิม นี่เป็นวิธีการทำความเพียร เพียรด้วยพุทโธ เพียรด้วยใจ รู้เข้าไป ตามเข้าไป รู้ด้วยรู้ ไม่ใช่รู้ด้วยไม่รู้

ของที่เสริมเข้าไป เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า อาหาร สิ่งเหล่านี้ไม่มีรู้ในตัวเอง ร่ายกายมันก็ไม่มีรู้ในตัวเอง มันเป็นวัตถุ ให้เข้ามาศึกษา มารู้ในสิ่งที่ไม่มีรู้นี่ซะ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ จะเรียกว่าหลักวิชาการก็ว่า ปัญญาก็ว่า ทำความเพียรก็ว่า คิดดูก็ว่า หาวิธีว่าเข้าไปในจุดนี้ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นความไม่ประมาท “สังขารทั้งหลายมีความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี่เป็นพระวาจาในครั้งสุดท้ายของตถาคต” ถ้าไม่ทำงานด้วยการเจาะ การไช การขบคิดพิจารณาด้วยสติปัญญา มันก็เป็นการประมาท คำว่า “ไม่ประมาท” ก็เป็นคำเดียวกันกับคำว่า “ความเพียร” รสชาติแบบเดียวกัน ถ้าไม่สนใจที่จะรู้ ไม่พากเพียร ไม่จิ้มไม่เจาะ นั่นคือ ประมาท มันจะหมดเวลาแล้ว คือร่างกายมันจะตายเวลาไหนวันไหนก็ไม่รู้ เมื่อชีวิตยังอยู่ก็ยังมีเวลา ยังมีโอกาส ให้รีบเข้า อย่าประมาท มันจะหมดเวลาก่อน คนไม่สนใจมันก็ประมาทโดยอัตโนมัติ มันไปสนใจเรื่องอื่น ไปสนใจอยู่กับหมู่พวก กับครอบครัว กับสามีภรรยา กับการงาน มันยังประมาทอยู่ ยังอยู่ไกลมาก เหล่านั้นมันไม่ใช่เรื่องการศึกษาตัวเอง หรือรู้ตัวเอง นั่นคือประมาท ชาวโลกทั้งหลายประมาท ชาวบ้านทั้งหลายประมาท ประมาทของท่านมันหมายถึงภายในแบบลึก ชาวโลกยังรื่นเริงสนุกสนานอยู่กับรูป กับเสียง กับดีด กับเต้น กับร้อง กับดนตรี ทั้งหลาย มันอยู่คนละฟากฟ้าแดนดิน นั่นคือกระแสสังคมโลกมนุษย์ โลกียวิสัย มันก็เป็นอยู่แบบโลกๆ มันไม่ใฝ่เพื่อจะพ้นโลก เพื่อจะเหนือโลก นั่นคือ ความแตกต่าง มันก็ประมาทโดยไม่รู้สึกตัว

เวลาจะลุกขึ้นนี่มันหนัก ต้องพยุงตัวเองขึ้น คนแก่ต้องเอามือค้ำยัน เอาก้นขึ้นก่อน เพราะมันเป็นของหนัก สังเกตการณ์เวลาจะลุกนี่มันหนัก เป็นอิริยาบถระดับหยาบๆ เห็นได้ง่าย ใกล้เคียงต่อการเห็นความจริง ขณะพยุงกายลุกขึ้น เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะแทรกเข้าไปรู้จริงได้ มันจะมาให้สัมผัสได้ในขณะนั้น เอาความรู้เข้าไปสังเกตการณ์ในขณะนั้น นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งในการทำความเพียร คือดูขณะที่มันกำลังทำการหนัก พยุงร่าง พยุงซากอันหนักนี้ขึ้น จึงยืนได้ ยืนแล้วก็ยังต้องมีการทรงตัวไว้ แต่มันเป็นระดับละเอียด มันสังเกตได้ยาก เข้าใจยังไม่ได้ การทรงตัวก็คือการทรงซากศพที่มันไม่รู้อะไร มันทรงจนเคยตัว จนเคยชิน ไม่รู้เลยว่าเราประคับประคองหรือทรงตัวร่างอันหนักนี้ไว้ มันละเอียด แนบเนียน มันชำนาญ มันชิน มันคล่อง จนไม่เข้าใจ ไม่ปรากฏ ไม่สัมผัส เหมือนคนปั่นจักรยานเป็นแล้ว จับมาขึ้นขี่ไปได้เลย เหมือนไม่ได้ประคองอะไรเลย เหมือนมันเป็นอันเดียวกัน นี่คือความเคยชิน มันไม่ได้สังเกตการณ์ ก็เลยไม่เห็นจริงตามเป็นจริง ว่าเราได้มีการประคองตัวอยู่ พยุงอยู่ มันละเอียดมาก

ซากศพ ร่างกายของเรา มันก็ละเอียด มันเคยตัว มันชินแล้ว ยืนขึ้นก็ต้องประคอง เดินไปก็ประคอง เหมือนอย่างเวลาเดินไปในทางที่มันขรุขระ มันมีอาการเซ จะล้ม มันต้องประคองตัว ทรงตัว พยุงร่างอันไร้วิญญาณ อันเป็นธาตุสี่ ถ้าประคองไม่ดีมันก็ล้มได้ เอนเอียงไปก็ได้ มันเป็นการประคอง มันถูกพยุงโดยส่วนที่เป็นนาม นามมันใช้ร่างอันไร้วิญญาณ ร่างอันไม่รู้ คือร่างกายนี้มันไม่รู้ ซากศพนี้มันไม่รู้ ตัวรู้คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นมันมาใช้ตัวไม่รู้ หรือมาใช้กลุ่มไม่รู้คือกลุ่มธาตุสี่

เพียงเท่านี้มันก็ยังไม่กระจ่าง ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา นี่ “มันรู้ปลอม” มันรู้ไม่จริง มันรู้จริงตามเป็นจริงไม่ได้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตำราก็เขียนไว้ชัดเจนว่า รูปคือรูป แต่ความรู้สึกของเรามันก็ไม่รู้ตามนั้น มันไม่ยอมรับตามนั้น ไม่ได้สัมผัสรสชาติตามนั้น นี่คือ รู้ไม่ได้ มันก็เลยยังเป็นนักศึกษาอยู่ ทำอย่างไรจะรู้ได้ จะจบได้ “รู้” มันไม่รู้ตามเป็นจริง นี่คือปัญหา นี่คืองานที่จะต้องทำให้สำเร็จลุล่วงไป มันเป็นงานของภิกษุหรือผู้เห็นภัยโดยเฉพาะ เป็นงานของผู้ที่ใฝ่จะรู้จริง ใฝ่ที่จะหนีจากโลก แต่ว่าก็ต้องมาย้ำทวนอีกว่า จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีอะไรหนี ไม่ได้มีอะไรอยู่ มันพูดตามศัพท์ที่เขาใช้กันอยู่เท่านั้น ย้อนกลับไปกลับมา อย่าให้มันเผลอไปเข้าใจผิด คำว่า “ผู้ใฝ่ที่จะหนีจากโลก” นำมาพูดได้ แต่ความหมายจริงๆ คือมันเป็นแค่ขันธ์ห้าที่ เป็นแค่รูปนาม ไม่มีเจ้าของ มันไม่มีใคร ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีใครหนี ไม่มีใครอยู่ มันต้องสับให้แตก ให้ชัดแจ้ง ไม่ให้มันคล้อยตามไปในทางหลง

คำศัพท์ที่ชัดเจน ไม่ชวนให้หลง ก็คือ “รู้จริงตามเป็นจริง” ถ้าถามเข้าไปว่า จะเอาอะไรมารู้ ก็เอาพวกมันเองนั่นแหละ พวกมันเองให้รู้กันเอง พวกมันเองก็คือขันธ์ห้า มันไม่รู้ตัวเอง จงมารู้จักตัวเอง

หลวงพ่อพุทธทาส ท่านเขียนไว้ว่า “จงรู้จักตัวเอง คำนี้หมายว่า ค้นพบแก้วได้ในตัว หานอกตัวไปทำไมให้ป่วยการ ดอกบัวบานอยู่ในเราอย่าเขลาไป ในดอกบัวมีมณีที่เอกอุตม์ เพื่อมนุษย์ค้นหามาให้ได้ การตรัสรู้หรือรู้สิ่งใดใด ล้วนมาได้จากความรู้ตัวสูเอง” มันเป็นคำอุทานที่ท่านเขียนออกมาชัดเจน “ตัวสูเอง” ก็คือ “ขันธ์ห้า” ขันธ์ห้ามันเป็นมาโดยหน้าที่ของธรรมชาติ เป็นจริงตามธรรมชาติ ธรรมชาติให้มีมาแบบนี้

งานที่เราต้องทำก็คือเรื่องอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่มันก็เป็นจริง เป็นของจริง มันไม่เหลือวิสัยของผู้พากเพียร ผู้ไม่ประมาท พระพุทธเจ้าจึงบอกย้ำว่า “อย่าประมาท”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น