วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

รู้ตัวคือรู้รูปร่างกาย

รู้ตัวคือรู้รูปร่างกาย
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
--------------------------------------------------------------------------

เสียงนี่มันก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่งภายนอก เป็นธรรมชาติที่ต้องได้ยินเสียง ถ้าเราไปพัวพันกับเสียงที่ได้ยิน ก็คือไปพัวพันกับอารมณ์ ถึงเราไม่พัวพันมันก็ต้องได้ยินโดยธรรมชาติ ถ้าไม่สนใจมัน มันก็เป็นการปล่อยวาง เสียงดังก็ดังไป ไม่รู้สึกวุ่นวายหรือลำบากกับเสียงที่ได้ยิน เพราะขณะนี้เราดูอยู่ที่รูปร่างกายของเรา มันเป็นเรื่องที่ต้องสังเกตอย่างละเอียด ถ้าเราไปพัวพันกับเสียงอยู่ ก็แสดงว่าเรายังปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ แสดงว่าไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้อยู่กับรูปนาม กายใจ ภายใน เหมือนกับคนที่ออกบวชไม่ได้ ก็เพราะยังพัวพันกับลูกกับเมียเขาอยู่ พัวพันอยู่กับงาน กับเพื่อน กับอารมณ์ เคยกิน เคยเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก ดังนั้นถ้าเรานั่งอยู่หรือเดินจงกรมอยู่แต่ไปพัวพันกับอารมณ์ภายนอก ก็แสดงว่าเรายังไม่ได้ปฏิบัติ หรือเหมือนคนที่ยังไม่ได้ออกบวช มันละไม่ได้ ปล่อยไม่ได้ ยังให้ความสำคัญอยู่กับอย่างอื่นภายนอก

เราอยู่กับวัดแล้ว แต่ยังไปพัวพันกับเสียงดนตรีที่ได้ยินอยู่นี่ ก็เหมือนยังอยู่ภายนอกวัด อยู่กับเรื่องไกลตัว ตัวก็คือกายใจ ขันธ์ห้า ไม่มีสติสัมปชัญญะ สติมีอยู่กับเสียง แต่ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะไม่รู้ตัว การรู้ตัวคือรู้รูปร่างกายนี่ อย่างเวลาหลับก็เป็นเวลาที่ไม่รู้ตัว ไม่มีสัมปชัญญะ เช่นเดียวกับเวลาที่เราไปรู้อยู่ที่เสียงภายนอก นี่ก็คือตื่นอยู่ แต่ไม่รู้ตัว ดังนั้นต้องอาศัยการฝึกบ่อยๆ สังเกตการณ์บ่อยๆ ต้องอาศัยการเวลา ทำความเพียรจนกว่าจะค่อยๆ รู้ เพียรด้วยความคิด เพียรด้วยใจ แต่ถ้าไปพัวพันอยู่กับอดีต กับเพื่อนฝูง ที่เคยอยู่คลุกคลีกัน มันก็ยังไม่ได้เพียร เหมือนตัวอยู่นี่ แต่ใจอยู่กับอย่างอื่น ใจอยู่กับอดีต คิดถึงหน้าคนนั้นหน้าคนนี้ คนเคยพูดกันเคยคุยกัน เคยหยอกล้อกัน ตัวอยู่นี่แต่ใจมันไม่อยู่ ใจมันเหม่อลอยไปในเรื่องอดีต คนในอดีต การงานในอดีต เราใช้เวลาในการศึกษาหรือปฏิบัตินาน แต่ใจมันไม่อยู่ ใจมันไปอยู่ภายนอก อยู่วัดนาน บวชนาน ผลที่ได้มันก็น้อย เพราะมันทำความเพียรไม่ถูก ตัวอยู่วัดแต่ใจมันไปอยู่กับโลกภายนอกเหมือนเดิม มันจึงเพียรทางใจไม่ถูก เพียรทางความรู้สึกภายในไม่ถูก ที่มันไม่ถูกต้นเหตุมูลเหตุเพราะมันไปพัวพันกับสิ่งภายนอก พัวพันกับสิ่งไหนสิ่งนั้นก็เจริญก็มีกำลัง ก็แก่กล้า ไปพัวพันกับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือกามคุณทั้งห้า รวมกันเข้ากับธรรมารมณ์ ผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรืออายตนะหก ซึ่งเรื่องที่มันเกิดคิดขึ้นในใจ มันก็มาจากสิ่งที่เคยพัวพันในอดีตทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นแหละที่ท่านเขียนไว้มันก็อธิบายชัดเจน แต่เราก็ต้องสัมผัสความรู้สึก และเข้าใจด้วยตนเอง บางคนพอพูดอธิบายเรื่องไหน ก็มุ่งไปค้นหาในตำรา เปิดพระไตรปิฎกหา นั่นก็ไปไกลอีกแล้ว ออกไปภายนอกอีกแล้ว วุ่นวายกับการค้นคว้าอีกแล้ว ถ้าจับจุดมันไม่ได้ มันก็ไม่ลงตัวสักที่ สรุปลงมันก็เป็นวิจิกิจฉา ไม่แน่ใจ มันก็ไม่เป็นสมาธิแล้ว นี่ถ้าเข้าใจมันจะเชื่อมต่อคำต่างๆ ได้อย่างลงตัวทั้งหมด

หรือบางที่ไปติดกับคำว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไปมุ่งทำสมาธิอยู่นั่นอีก คิดว่าสมาธิจะทำให้เกิดปัญญาตามมา นี่มันก็ไม่ใช่อีก คือถ้ามันไม่เข้าใจ ทำอะไรมันก็ไม่ถูกไปเสียทั้งนั้น ไม่เข้าใจก็คือไม่มีสัมมาทิฏฐิ คือเห็นไม่ถูกต้อง มันก็ไม่เข้าทางมรรคมีองค์แปด

เหมือนตอนเช้า โยมบอกว่ามีพระหลายองค์เดินผ่านหมู่บ้าน จะไปไหว้พระธาตุพนมเป็นคณะใหญ่ หมู่ใหญ่ พระเหล่านั้นท่านไม่สวมรองเท้า ท่านเดินทางเปล่า ดูน่าเลื่อมใส น่าได้บุญมากเหลือเกิน ถ้าเราเข้าใจ พูดแค่นี้ก็เข้าใจแล้ว ไม่พะวงสงสัยแล้ว ก็ดี..สาธุ ไม่ใส่รองเท้ามันก็ดี มันจะได้ไม่เปลืองเงินไปซื้อ นี่ไม่ได้เยอะเย้ย แต่มันเข้าใจกระจ่างว่าอะไรคืออะไร การไม่ใส่รองเท้านี่มันมองได้หลายแบบ มันทำให้เกิดเวทนาจะได้ฝึกความอดทนเดินเท้าเปล่าแบบสมัยโบราณ มันก็ดีเหมือนกัน มันมองได้หลายระดับ จะเอาระดับไหนก็อธิบายได้ ถ้ามันติดมันไม่เข้าใจ สัมมาทิฏฐิมันก็ไม่เกิด มรรคไม่ได้เดิน บางคนก็ว่าใส่รองเท้ามันผิดน่ะ ที่มันผิดนั่นมันผิดคนต่างหาก หรือคนไม่มีรองเท้า จะให้ใส่รองเท้า มันก็ไม่ได้ เพราะรองเท้าไม่มี จะว่าถูกว่าผิดอะไร ก็มันเป็นไปตามหน้าที่ตามธรรมชาติ ไม่มีรองเท้าก็ไม่ได้ใส่ เหมือนไม่มีคำข้าว จะเอาคำข้าวเข้าปากได้ยังไง นี่มันคือเหตุผล มันต้องกระจ่าง ถ้าไม่มีคำข้าวแล้วจะเอาคำข้าวที่ไหนใส่ปาก จะทำเป็นเคี้ยวลมเคี้ยวแล้งมันก็ผิดซิ ไม่ได้เคี้ยวข้าว

มันเป็นเรื่องการทำความเข้าใจให้ทะลุปรุโปร่ง อย่างเรื่องสมาธินี้จะหลับหรือไม่หลับมันก็เป็นสมาธิได้ สมาธิมันมีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ ต้องแยกให้เข้าใจชัดเจน ไม่ใช่มานั่งสมาธิเป็นกิจกรรมบางครั้ง เหมือนที่นิยมกัน ออกจากสมาธิก็ไปกินเหล้า ไปฆ่าสัตว์เหมือนเดิม แบบนี้มันก็หลงงมงายเหมือนเดิม ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาเหมือนเก่า ทั้งๆ ที่ขยันมาปฏิบัตินั่งสมาธิ นี่คือทำสมาธิแบบไม่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “มิจฉาสมาธิ” มันก็ยังงมงายอยู่ เหมือนกับพวกฤาษีชีไพรในสมัยก่อน เข้าฌานได้ แต่ไม่สัมผัสโลกุตตรธรรมแม้ขั้นโสดาบัน ไม่อาจละสักกายทิฏฐิได้ มันไม่เข้าทาง มันคนละทาง หรือเหมือนกับพวกเอาหอกเอามีดมาแทงตัวเอง เอาเหล็กแทงแก้มตัวเอง นี่ดูมันเก่งเหลือเกิน แล้วมันเก่งอย่างนั้น มันช่วยอะไรได้ เหล่านี้มันเป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาทิฏฐิ

คำว่า “ผิด” นี่มันมีทั้งผิดคนและผิดธรรม ถ้าหากผิดสัจธรรม แม้ไม่มีคนว่าผิดมันก็ผิดอยู่นั่นเอง เพราะมันผิดโดยเหตุผล โดยธรรมชาติ โดยหน้าที่ อย่างเช่น เอามะพร้าวมากินทั้งลูก ไม่ได้ปอกเปลือก นี่มันไม่มีใครมานั่งบอกว่าผิด แต่มันผิดธรรมชาติ เพราะว่ามันเคี้ยวไม่ได้ มันจะติดคอตาย นี่มันผิดโดยสัจธรรม ผิดโดยเหตุผล ซึ่งพิสูจน์ได้ ไม่ใช้ผิดแบบงมงาย แบบไม่มีเหตุผล พิสูจน์ไม่ได้

หรืออย่างคนบอกว่าอย่าสวมรองเท้าเวลาใส่บาตรน่ะ มันผิด อันนี้มันก็ผิดคน มันไม่ได้ผิดโดยหน้าที่ธรรมชาติ ถ้าคนไม่กระจ่างมันก็ว่าผิด ผิดแบบงมงาย ผิดแบบไม่มีเหตุผล ถ้าคนกระจ่างก็จะเข้าใจว่าที่มันผิดนะมันผิดคน คนบัญญัติไว้ว่าให้เคารพนอบน้อม เป็นการทำลายความหยาบกระด้างของตน ให้รู้จักเคารพผู้ควรเคารพ คือพระสงฆ์ สมณะ หรือภิกษุ ต้องแยกแยะให้ออกว่ามันผิดระดับไหน ผิดอย่างนี้มันผิดคน ผิดหมู่คณะ ผิดกติกา ผิดกติกาสังคม ผิดกฎหมาย ประเทศนี้ตั้งกฎหมายแบบนี้แต่ประเทศอื่นไม่ได้ตั้งแบบนี้ก็ได้ ศาสนานี้ทำแบบนี้ได้ ศาสนานั้นทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่างศาสนาอิสลามกินหมูมันผิด แต่ศาสนาพุทธกินหมูไม่ผิด ผิดเหล่านี้มันผิดคน มันไม่ได้ผิดธรรม มันเป็นเรื่องภายนอก ต้องเข้าใจให้กระจ่างแจ้งทั้งหมด ผิดสมมุติบัญญัติ ผิดกติกาของคน อย่างจะไปขึ้นรถไฟ ถ้าไปผิดเวลา มันก็ไม่ได้ขึ้น ไม่ได้ไป นี่คือมันผิดคน ผิดกติกา ไม่ได้ผิดโดยธรรมชาติ ถ้าบอกว่าให้คนดำน้ำลงไปอาศัยอยู่กับปลานี่มันผิดธรรมชาติ เพราะคนมันอยู่แบบนั้นไม่ได้ ผิดแบบมีเหตุผล ผิดโดยหน้าที่ ผิดรุนแรงด้วย ถึงขั้นตายเลย ถ้ามันมีสติปัญญา มันก็จะรู้เหตุรู้ผลว่าอะไรควรเชื่อ นั่นคือตัวอย่างแบบภายนอก สำหรับเรื่องการปฏิบัติภายในก็มีลักษณ์เดียวกัน คนจำนวนมากทั้งชาวบ้าน ชาวเมืองคนไม่มีการศึกษา คนมีการศึกษา มันก็ยังหลงงมงายตามกัน เพราะมันมองไม่ออก มันจึงไม่ทะลุปรุโปร่ง

หรือเรื่องประเคนอาหารนี่ก็บอกให้โยมเข้ามาใกล้ๆ ให้ได้หัตถบาตร ถ้าไม่เข้ามาประเคนใกล้ๆ มันฉันไม่ได้หรือ มันก็ฉันได้ ไม่ติดคออะไรหรอก ของหวานก็หวาน ของเปรี้ยวก็เปรี้ยวเหมือนเดิม กินมากมันก็อิ่มเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ที่มันผิดนี่มันผิดคนคือพระสงฆ์ ก็มีกติกาบัญญัติไว้อย่างนี้ แต่จะให้มันผิดธรรมน่ะมันไม่ผิด กินไปรสชาติอาหารมันก็เหมือนเดิม เพราะมันเป็นอยู่ตามหน้าที่ ตามสัจธรรม ต้องแยกให้ออกว่ามันผิดระดับไหน มันกระจ่างแล้วมันก็จะกระจ่างไปหมด ทะลุไปหมด ไม่ต้องไปถกเถียงกัน ถ้ามันเข้าใจ มันรู้แล้ว มันก็ละได้ สำหรับเรื่องภายนอก เลิกห่วงเลิกวุ่นวายกังวลกับภายนอก ใจมันก็เป็นสมาธิ สมาธิในเรื่องนั้น เพราะมั่นใจในเรื่องนั้น ไม่คิดมากเพราะรู้แล้ว นี่สมาธิอย่างนี้ไม่ต้องนั่งหลับตาเลย

ทีนี้ไอ้เรื่องที่มันลึกซึ้งภายในยิ่งกว่านั้น เป็นเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจ มันจึงยังไม่เป็นสมาธินั่งให้มันเข้าฌานได้ มันก็ยังไม่เรียกว่าสมาธิ อย่างรูปร่างกายเรานี่ เรายังไม่เข้าใจ รูปยังเป็นตัวเป็นตนอยู่นี่ มันยังไม่รู้แจ้งเห็นตามความเป็นจริง มันจึงยังไม่เป็นสมาธิ พอหนาวมันก็ว่าเราหนาวจริงๆ พอร้อนมันก็ว่าเราร้อนจริงๆ เผ็ดก็เราเผ็ด เค็มก็เราเค็ม ปวดก็เราปวด เจ็บก็เราเจ็บ นี่เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้ ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ยังไม่มีวิชชา มันมืดทึบอยู่ นี่คือโจทย์ นี่คือปัญหา ที่จะต้องตอบ รากเหง้ามันอยู่นี่

มันต้องหาวิธีค้นคว้า เปรียบเทียบเพื่อให้มันเข้าใจ อย่างร่างกายนี้เป็นซากใช่ไหม เป็นศพใช่ไหม ไม่มีใจใช่ไหม ใจก็คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คนตายนี่ไม่มีใจใช่ไหม ตอบว่าใช่ แต่ตอบอย่างนี้มันตอบตามเขา มันไม่ได้รู้ภายในด้วยตนเอง เพราะมันยังไม่สัมผัสจริงๆ มันจึงไม่ใช่ของง่าย เส้นผมนี่มันไม่มีใจใช่ไหม เล็บนี่มันไม่มีใจใช้ไหม ลองเปรียบเทียบจากจุดที่มันหยาบกว่า มันเห็นได้ชัดกว่า นี่คือทำความเพียร ให้มันสะสมความรู้ มันต้องงัดแงะขุดค้นเข้าไป หรือสังเกตดูเวลาคนเกิดอุบัติเหตุ แล้วดูเขาถูกตัดขาออกไปเหลือแค่หัวเข่า คนเขาตายไหม ไม่ตาย มันตายเฉพาะส่วนที่เขาตัดทิ้ง คือไม่มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ในขาส่วนนั้น นั่นละเห็นไหมขามันเป็นเพียงวัตถุเท่านั้น กายทั้งก้อนนี่มันก็มีค่าเหมือนกับขาท่อนที่เขาตัดออก นี่เป็นข้อมูลเป็นวิธีสอนวิธีทำความเข้าใจให้กับตนเอง

หรือคนใส่เสื้อ พอถอดเสื้อทิ้งไป มันเหลือแต่คน เสื้อมันไม่ใช่ตัวคน แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าคนก็เป็นเสื้อ เสื้อก็เป็นคน ทั้งๆ ที่ของจริงมันไม่ใช่อย่างเดียวกัน เปรียบเทียบทั้งแบบหยาบ แบบละเอียด เพื่อให้มันเข้าใจ

ซากศพร่างกายนี้ก็เหมือนกันกับเสื้อนั่นแหละ เราจึงต้องเพียร ต้องศึกษาทำความเข้าใจ ให้มันกระจ่าง “มันเป็นเพียงรูป เพียงหุ่นเท่านั้น เป็นตุ๊กตา เป็นวัตถุของใช้ เหมือนเสื้อกางเกงน่ะ” นี่คือการสอนภายใน ให้มันเข้าใจ มันเรื่องนี้โดนเฉพาะ

“เดินไปก็เหมือนเอาซากศพไป เดินไปก็เหมือนกับเอาเสื้อเอากางเกงไป อาศัยหุ่น อาศัยซากศพอยู่ ยืนกับซากศพ นั่งกับซากศพ นอนกับซากศพ เดินไปกับซากศพ กินนอนกับเลือด เดินนั่งกับเลือดกับเนื้อ ไม่เบื่อไม่หน่ายบ้างเหรอ ทิ้งมันไปซิ กอดไว้ทำไม ปล่อยไป วางไป” นี่เป็นวิธีสอน

“ขันธ์ห้าเป็นข้อหนัก เป็นของมีโทษมาก มีภาระมาก ทิ้งไว้ วางไว้ ปล่อย” นี่คือการบอกสอน การทำความเพียร เพียรโดยตรง เพียรโดยความรู้ ให้มันรู้จริง ตอนนี้มันรู้ปลอม มันก็อวิชชา มันก็มิจฉาทิฏฐิ

มันไม่ใช่เรื่องปฏิบัติเอา ทำเอา ถ้าปฏิบัติเอา มันก็คนละเรื่อง บอกว่าอยากได้ก็ทำเอานะ ปฏิบัติเอานะ นี่มันเป็นภาษาชาวบ้าน ไม่ใช่ภาษาชาวพุทธ หรือพูดว่าทำมากก็ได้มากเองหรอก นี่เราต้องเข้าใจความหมายที่ผู้พูดเขาต้องการสื่อถึง ต้องแปลมาให้เข้าใจส่วนตัว ถ้าจะพูดให้มันตรงๆ คำว่า ”เอา” นี่มันใช้ไม่ได้ มันขัดกัน เพราะมันไม่มีเรื่องที่จะต้องเอา ไม่มีใครจะไปเอาอยู่นั่น ถ้าไปเอามันก็เป็นการปกป้องซึ่งอัตตาตัวตน เห็นแก่ตัว ปกป้องไว้ซึ่งตัว มันเป็นพวกเดียวกับความโลภ อยากได้ “เอา” มันคือโลภ อยากได้มันก็คือตัว สอนว่าอยากได้ก็ทำเอา ปฏิบัติเอา ขยันมากก็ได้มากเอง นี่มันสื่อไม่ตรง มันไม่มีอะไรที่จะต้องได้ คำที่มันชัดและตรงกว่าคือรู้จริง “รู้จริง” เพราะมันไม่มีความหมายแสดงถึงตัวตน เป็นแค่อาการรู้จริง หมดตัวหมดอัตตา ก็พอกันที สิ้นสุดกันที ธรรมชาติมันให้มาแบบนี้ ที่มันมีเรื่องราวต่างๆ ก็เพราะธรรมชาติให้มา บุคคลต่างๆ ในอดีตที่สามารถบรรลุถึงจุดจบดังกล่าว ก็คือพระพุทธองค์และพระอรหันต์ทั้งหลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น