วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

รู้ไม่รู้


รู้ไม่รู้  
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

นาม คือ “รู้” และ รูป คือ “ไม่รู้” ร่างกายนี้มัน “ไม่มีรู้” กองรูปนี่มัน “ไม่มีรู้” ในตัวของมันเอง ฉะนั้นจึงต้องทำให้รู้ “ไม่รู้” ซะ ตอนนี้มันไม่รู้ ไม่รู้สิ่งที่ “ไม่มีรู้” ก็คือ “รูป” มันไม่มีความเข้าใจจุดนี้ เราต้องเข้ามารู้ “ไม่รู้” หรือรู้สิ่งที่ “ไม่มีรู้” มันมักไปรู้อยู่ที่อื่น จึงต้องชวนมันให้มารู้ที่นี่ รู้ที่ตัวเอง คือรู้ที่ “รูป” นั่นเอง

“รูป” นี้มันเป็นเพียงซาก ซากศพ เป็นเพียงหุ่น เป็นเพียงของใช้ มัน “ไม่มีรู้” ในตัวของมันเอง มันเป็นซากศพ เป็นหุ่น เป็นรูป เท่านั้นเอง เราจึงมาทำความเพียรเพื่อจะรู้ “ตัวไม่รู้”

“รู้” กับ “ตัวไม่รู้” มันอยู่ด้วยกัน แต่มันไม่รู้กัน ไม่รู้จักกัน มันรู้ผิด รู้ว่า “ตัวไม่รู้” นี่เป็น “ตัวรู้” ทั้งที่ความเป็นจริงก็คือมัน “ไม่มีรู้”

เมื่อรู้ผิด มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ได้เป็นสัมมาทิฏฐิ ฉะนั้นมรรคมีองค์แปดก็ยังไม่ได้เดิน ข้อแรกไม่เดิน มันก็ยังไม่ได้เดิน เพราะมันรู้ไม่ถูก รู้ไม่ตรง รู้ผิด มันรู้ว่า “สิ่งที่ไม่รู้” เป็น “สิ่งที่รู้” นี่คือมันรู้ผิด

ต้องมาปรับความรู้ใหม่ให้เข้าใจถูกต้องว่า “สิ่งที่ไม่รู้” เป็น “สิ่งที่ไม่รู้” ถ้ารู้ตามนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ได้เดินมรรคแล้ว มรรคก็คือหนทาง จะเข้าทางได้ เดินในทางได้ คือมารู้ “ตัวไม่รู้” คือ ร่าง ซากศพ คือ รูป นี้ โดยเอานามเป็น “ตัวรู้” รู้ให้จริงตามเป็นจริง

ฟัน มันมีความรู้ในตัวมันเองไหม ไม่มี จึงบอกว่า “ตัวไม่รู้” จึงให้มารู้ “ตัวไม่รู้”

กระดูก มีความรู้ไหม ถามใครก็บอกว่าไม่มี กระดูก มีวิญญาณไหม ไม่มี ต้องแยกมันออกมาขบคิดพิจารณา แล้วทำเข้าใจให้มันถูกต้องว่ามัน “ไม่มีรู้” ดังนั้นเราต้องเข้ามารู้ที่ “ตัวไม่รู้” นี่แหละ

เนื้อ นี่มันมี “รู้” ไหม ถามเด็กมันก็บอกว่าไม่มี จึงว่า “ตัวไม่รู้” เราต้องขยายความ แยกแยะออก แบบนี้คือวิธีสอน วิธีทำให้มันเข้าใจ เปรียบเทียบมัน เทียบเคียงมัน ทำไมมันไม่เชื่อ ทำไมมันไม่ยอมรับ ทำให้มันเชื่อ ทำให้มันเชื่อมั่น ให้มันเห็นจริงตามเป็นจริง นี่เป็นวิธีการ โดยเริ่มจากเรื่องหยาบๆ ที่ปัญญาระดับโลกียะมันก็สามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ แล้วค่อยๆ เปรียบเทียบเข้าไปหาระดับโลกุตตระ คือพ้นจากระดับโลก เหนือกระแสสังคมโลก

ผม มันมี “รู้” ในตัวมันเองไหม ไม่มี นี่คือระดับโลกียปัญญา ยังไม่ใช่ระดับโลกุตตรปัญญา ทุกคนพอเห็นได้ ตอบได้

ขยายต่อไป ตา นี่มันมี “รู้” ของมันเองไหม มันก็ “ไม่มีรู้” มันเป็นเพียงรูป เป็นก้อนลูกตากลมๆ เป็นชิ้นส่วนหนึ่งของรูป หูก็เป็นชิ้นส่วนหนึ่งของรูป “ไม่มีรู้” ในตัวมันเอง จมูก ลิ้น ก็เช่นกัน

แยกขยายความเจาะพิจารณาดูทีละอย่างๆ ให้ความรู้มันติดตามไป จ้องไป ตามไป ในขณะฟังคำอธิบาย มันก็จะเห็นตาม เห็นตามแล้วมันก็จะยอมรับ ยอมรับแล้วมันก็แจ้งมันก็กระจ่าง มันก็ได้ชื่อว่ามีดวงตาเห็นธรรม เห็นตามเป็นจริง ซึ่งมีผู้เห็นแจ้งเป็นตัวอย่างมาแล้วในอดีต

สมัยที่พระพุทธองค์เทศน์สอนก็ชี้นำไป นำเข้าไป นำเข้าไป ไม่ใช่ว่าจะไปชวนกันนั่งสมาธิ มีแต่เอาความรู้ที่รู้จริงมาบอกสู่กันฟัง พระพุทธองค์ตรัสรู้จริง ตรัสรู้ชอบ ตรัสรู้ถูกต้อง แล้วก็บอกสอนผู้อื่นต่อ ก่อนจะบอกสอนก็ไม่ได้บอกว่าให้เขานั่งหลับตาก่อน จะยืนอยู่ก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้ นอนอยู่ก็ได้ เดินอยู่ก็ได้ ไม่ได้บอกว่านั่งหลับตาก่อน เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายตรง แล้วผมจะสอนคุณ ไม่ได้บอกอย่างนั้นเลย มีแต่บอกกันให้รู้ซึ่งๆ หน้า

นี่คือต้องสับให้มันแหลก นี่คือไม่ตามกระแส นี่คือทำลายความยึดถือ ซึ่งกระแสสังคมส่วนใหญ่มันหลงอยู่นั่น มันยึดถืออยู่นั่น ต้องไล่มันไป อย่ามาหลงอยู่นี่ อย่ามาติดอยู่นี่ อย่ามามัวเมาอยู่นี่ ให้มันแจ้งชัดไปกว่านี้ ฉลาดกว่านี้ได้ไหม ทำไมโง่นัก เขาบอกอะไรก็เชื่อเลยทันที ไล่มันไปอย่างนี้ เป็นวิธีที่จะป้อนข้อมูลเข้าไป บอกเข้าไป ให้มันแตกฉาน รอบรู้ ให้มันรู้เอง รู้จริง ถ้ามันไม่รู้ มันไม่มีความรู้ของมันเอง ก็ต้องชี้นำมันไป

อย่างเวลาร่างกายเคลื่อนไหว เช่น อ้าปาก เคี้ยวข้าว ฟันมันอยู่ในปากนั่น กำหนดเข้าไป เพ่งเข้าไป ถามว่า มันมี “รู้” ของมันเองไหม ฟันนะ แล้วทำไมมันถึงเคลื่อนไหวได้ มันแตกต่างกันไหมกับหุ่นกระบอก หุ่นกระบอกที่เขาดึงเชือกอยู่ ให้หุ่นมันฟ้อนก็ได้ มันรำก็ได้ แล้วถามว่าตัวหุ่นกระบอกที่เขาชักใยอยู่นั่น มันมีความรู้ในตัวมันเองไหม ไม่มี ตอบได้อย่างชัดเจนเลยว่าไม่มี นั่นคือโลกียปัญญา มันไม่มีวิญญาณ ไม่มีความรู้ แล้วมันเดินไปได้อย่างไร ต้องน้อมเข้ามาพิจารณา อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า “ให้น้อมเข้ามาใส่ตัว”

ขากรรไกรของเรา นี่มันขยับขึ้นลงได้ยังไง ใครไปชักใยมันอยู่นั่น จี้ถามเข้าไป แทงเข้าไป เบียดเข้าไป แทรกเข้าไป ให้มันรู้ ให้มันแตกฉาน ไม่ใช่ว่าจะทำความเพียรไปตามรูปแบบภายนอกเฉยๆ ปัญญามันต้องคิดต้องขบ ให้มันรู้ให้มันเข้าใจตามความเป็นจริง จึงจะเป็นการปฏิบัติการ จึงจะเป็นการทำงาน จึงจะเป็นการทำความเพียร ถ้าไม่ทำงาน งานจะเสร็จได้ยังไง ทำงานแต่ทำไม่ถูกต้อง มันก็เสร็จไม่ได้ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการในงานที่เราต้องการ ทำไปเท่าไรก็เหนื่อยเปล่า

นี่คือ รู้ “ไม่รู้” มันเป็นคำห้วนๆ แต่พอขยายความมันก็อธิบายออกไปได้เอง เป็นกระทู้ เป็นคำถาม เป็นประเด็น ตั้งขึ้นมา แล้วก็แก้มัน

ขากรรไกร มันขยับได้ มันมีวิญญาณไหม มันมีจิตไหม ขบคิดหาความจริงให้ได้ ค้นหาสัจธรรมที่มันเป็นอยู่ เป็นวิธีการที่จะให้มันยอมรับลงสู่ความจริง ถ้าลงสู่ความจริงจึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม คือเห็นจริงตามเป็นจริง ถ้าเห็นปลอม เห็นไม่จริง มันไม่เป็นธรรม จะบวชตั้งแต่เด็กจนแก่ก็ตายเปล่า มันไม่เป็นธรรม บอกว่าบวชมาเพื่อปฏิบัติธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมคือจริง ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติจริงก็คือยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม มันต้องต้อนเข้าไปแบบนี้

ยกตัวอย่างอีก ฟัน มันเคลื่อนขึ้นลงได้ยังไง ฐานมันเชื่อมกับกราม มีเนื้อคือเหงือกหุ้มตรงโคน ริมฝีปากขยับขึ้นลง ฟันก็ขยับไปด้วย แล้วฟันมันมี “รู้” ไหม เหงือกมี “รู้” ไหม ริมฝีปากมี “รู้” ไหม ไล่เข้าไป ต้อนเข้าไป มันจะบอกว่าไม่มี เพราะความจริงมัน “ไม่มีรู้” ของมันเอง เป็นเช่นเดียวกันกับหุ่นกระบอก ตุ๊กตา ของใช้ ต้องพิจารณาบ่อยๆ แบบนี้ มันชัดเจนอยู่ตรงนี้ พูดกันแบบอื่นชวนให้หลงมากมาย ไม่ใกล้ความจริง ไม่เฉียดเลยสักนิด

สังเกตดูคนที่เขาไปทำบุญถวายอาหารตอนเช้าซิ ตอนพระให้พร เขาก็รีบเอาน้ำมาตรวจ มันอะไรกัน เรื่องอะไรกัน แล้วก็อธิฐานขอนั่นขอนี่ โอ..มันมืดบอดกันขนาดนั้น อยู่ไกลกันคนละฟากฟ้า พอพระจะสวด ยะถาฯ สัพพีฯ ก็ประกาศบอกกันว่าเอาน้ำมาตรวจ มันอยู่ระดับไหน ปฏิบัติการอย่างนั้นมันอยู่ระดับไหน ความคิดความรู้เขาอยู่ระดับไหน เท่านี้ก็วิเคราะห์ออกแล้ว จะทำให้มันเป็นอะไร จะทำเอาอะไร เข้าใจเลย ทำด้วยความไม่รู้ ทำด้วยมิจฉาทิฏฐิ ทำด้วยความงมงาย มันไม่ใกล้กับความเป็นจริงสักหน่อย เชื่อแบบ เชื่อตำรา เชื่อพ่อ เชื่อแม่ เชื่อผู้เฒ่าโบราณตามกันมา แล้วปฏิบัติการต่อกันไป

ที่นี้ขยายความต่อ ให้มันกว้างขึ้น การเคลื่อนไหวทั้งตัว เหลียวซ้าย แลขวา เงยหน้า ก้มหน้า มันก็คือการเคลื่อนไหวของส่วนต่างๆ ของรูป รูปมันเคลื่อนไหวเหมือนหุ่นกระบอก เป็นหุ่น เป็นตุ๊กตา อย่างสมัยนี้เขามีหุ่นยนต์ เราสามารถเอามาเปรียบเทียบได้ชัดเจนเลย หุ่นยนต์มันกระพริบตาได้ เห็นได้ พูดได้ มันคล้ายคนจริงๆ เพียงแต่มันถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุโลหะ เป็นคนปลอม แต่ทำอะไรๆ ได้เหมือนคน เคลื่อนไหวเหมือนคน แต่ไม่ใช่คนจริงๆ เป็นของหลอกลวง เป็นของต้มตุ๋น เป็นมายา ไม่เป็นสัจธรรม ไม่เป็นของจริง ไม่มีวิญญาณอยู่นั่นจริง ไม่มีผู้รู้อยู่นั่นจริง เป็นการเสแสร้างแกล้งทำ ไม่ใช่สัจธรรม แต่มันก็ทำการได้

หุ่นที่เป็นร่างกายของเราก็เป็นหุ่นแบบนั้นเหมือนกัน หุ่นยนต์โดยธรรมชาติให้มา ไม่ใช่โดยมนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่อาจารย์คนไหนสร้าง ไม่ใช่นักศึกษาคนไหนสร้าง อาจารย์ธรรมชาติสร้างมา เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้ พูดได้ มีเสียงออกมาได้ เป็นหุ่นยนต์เหมือนกันแต่ผู้สร้างแตกต่างกัน

นี่คือเรื่องค้นคว้าตัวเอง ศึกษาตัวเอง ทำไมมันถึงหลงว่ามันเป็นตัวเองอยู่นี่ อะไรมันพาเกิด อะไรมันพาตาย พาไป พามา อยู่นี่ ค้นคว้าหาตัวการดูซิ

ถ้าพวกนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายค้นคว้าเข้ามาจุดนี้ มันจะเห็น มันจะสำเร็จอรหันต์กันมากมายในโลกนี้ แต่นี่มันค้นคว้ากันไปทางอื่น มันค้นคว้าไปทางไหนมันก็จะรู้จริงในทางนั้น มันเป็นสัจธรรมที่จะให้รู้จริง ถ้าศึกษาสิ่งไหนมันก็รู้สิ่งนั้น รู้สิ่งที่มันศึกษาและประสบความสำเร็จในสาขาวิชานั้นๆ แต่นี่มันไปศึกษาเรื่องภายนอก นอกตัว ไม่ได้ศึกษาตัวเอง ไปค้นคว้านอกตัว ไม่ได้ค้นคว้าตัวเอง เห็นไหมที่มีของแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาให้ใช้กันมากมาย มันก็เพราะการค้นคว้าในสาขานั้นๆ แต่เป็นเรื่องภายนอกทั้งนั้น

มันค้นตัวเองไม่ได้ อะไรเป็นตัวเอง นี่มันไม่พากันค้นคว้า กระแสสังคมไม่นิยมที่จะค้นคว้าตัวเอง กระแสสังคมนิยมไปค้นคว้าภายนอก นอกตัว เรื่องอื่น เรื่องวัตถุโดยมาก มันก็ไปเห็นแต่สิ่งเหล่านั้น เพราะมันศึกษาพากเพียรที่จะรู้ในสิ่งนั้น มันก็รู้ มันไม่พากเพียรพยายามที่จะรู้ตัวเอง นี่คือความแตกต่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น