วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มันไม่เห็นตามเป็นจริง


มันไม่เห็นตามเป็นจริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

มันมืดมิด มันไม่เห็นตามเป็นจริง มันเห็นชัดเจนไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ สังเกตการณ์ในจุดที่ความเป็นจริงมันปรากฏให้เห็นชัดๆ คือที่การเคลื่อนไหวของกาย แม้แต่จุดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การลืมตา อ้าปาก ความเป็นจริงก็คือร่างกายมันเป็นหุ่น มันมีสิ่งที่คอยชักใยอยู่ สิ่งนั้นก็คือผู้รู้ คือใจ คือนาม มันทำการอยู่ แต่เรายังรู้ไม่ได้ สัมผัสไม่ได้

มันตรงตามคำศัพท์ที่ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรื่องของกาย การเคลื่อนไหวตั้งแต่ การขบ เคี้ยว อ้าปาก มันมีสิ่งชักใยอยู่ บงการอยู่ แต่เราก็รู้ไม่ได้ ของใกล้ๆ เห็นอยู่ตลอด ก็ไม่เข้าใจ มันทำการอยู่ตลอดเวลา มันโชว์อยู่ เป็นสัจจะของจริงอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่เข้าใจ การเคลื่อนไหวของกายมันเป็นผลมาจากการกระทำของนาม หรือของใจ นามมันเป็นสิ่งผลักดัน

ขยายความก็เหมือนกับเวลาที่คนนอนละเมอ นอนฝันไป ฝันร้ายแล้วก็กลัว จึงได้ร้องออกมา เช่น ร้องว่า ช่วยด้วย ๆ ทั้งๆ ที่ตัวยังนอนหลับอยู่ ความจริงกายมันไม่รู้เรื่อง นามขันธ์มันฝันไป ท่องเที่ยวไป ตามธรรมชาติของความเคยตัว เคยชิน มันยึดเป็นตัว เป็นอัตตาอยู่ มันก็เลยไปๆ มาๆ เป็นตัวเกิด ตัวตาย ตัวไปรับบุญ ตัวไปรับบาป ดังนั้น กายกับใจ รูปกับนาม มันสัมพันธ์กัน บางทีนอนหลับอยู่ มือ เท้า ก็เหวี่ยงไป เพราะความเคยตัว ความเคยชิน มันสะท้อนออกมาที่ร่างกาย มันเคยตัวกับการที่เคยใช้งานร่างกาย ทั้งๆ ที่นามมันไปทำการอยู่ที่อื่น ความจริงกายมันเป็นเพียงหุ่น เป็นตุ๊กตา เป็นซากศพ เป็นของใช้ชิ้นหนึ่ง เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นวัตถุที่พ่อแม่ให้มาชิ้นที่หนึ่ง นี่คือจุดสังเกตการณ์ว่ามันทำการกันอยู่แบบนี้ สังเกตการณ์พอคำนวณได้ด้วยโลกียปัญญา

ที่พูดอธิบายแบบนี้ก็เพื่อให้มันแจ้ง ให้มันชัดเข้าไปทีละขั้น ๆ แล้วมันจะมั่นใจ มันจะเดินทางต่อไปด้วยความรู้ ด้วยสติปัญญา สักวันหนึ่งจะต้องรู้จริงได้ จับจุดได้แล้วก็ไต่เต้าต่อไป สังเกตการณ์ในขณะที่นอนฝัน เพราะใครๆ ก็ฝัน ในตำราท่านกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ท่านไม่ฝัน บุคคลสามประเภทนี้ไม่มีการฝัน มันไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่สัจธรรมของท่านที่จะไปฝัน มันหมดตัวแล้ว หมดตัวที่จะไปทำการ มันจบแล้ว นิพพานแล้ว นี่ชัดเจนเลย เปรียบเทียบจากข้อมูล ถ้าหากอธิบายเหตุผลถูกต้องเพียงพอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ปัญญามันจะค่อยๆ แทงเข้าไป เฉียบคมเข้าไป แล้วจะมีความมั่นใจมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติที่เราเรียกว่า “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” เป็นข้อมูลที่จะต้องศึกษา คือทำความเพียร คือเรียนรู้ สังเกตการณ์ ไม่ใช่เรื่องภายนอก เป็นเรื่องอยู่กับตัวเองในชีวิตประจำวัน เรื่องใกล้ๆ อย่าไปปฏิบัติอยู่ไกล ให้ปฏิบัติเข้ามาใกล้ๆ อย่าไปปฏิบัติอยู่ภายนอก ให้เข้ามาปฏิบัติอยู่ภายใน เข้ามาอยู่ที่ตัวที่กายนี่ ดูความเกิด-ดับของกาย มันล้วนแต่เป็นวิธีพูด เป็นคำศัพท์ที่หามาพูด เช่นบอกว่า เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป มันก็พูดเรื่องเดิมเรื่องเก่านั่นแหละ ขยายออกไป ย่อเข้ามา

มันไม่แจ้ง มันไม่ชัด ยังชัดไม่ได้เพราะเราไม่รู้จริงตามเป็นจริง จึงพูดประจำว่า “เพื่อรู้จริง” ไม่ใช่เพื่อพ้นทุกข์ คำว่า “เพื่อรู้จริง” นี่มันชัดเจนกว่า ตรงกว่า แจ่มแจ้งกว่า ไม่ชวนให้หลง ถ้าบอกว่า “ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์” นี่ถ้าตีความไม่ตรงกับความหมายที่ท่านต้องการสื่อ ก็เป็นไปได้ที่จะชวนให้หลง ไม่กระจ่าง เมื่อมีคำศัพท์ที่ชัดเจนกว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้คำศัพท์ตามท่านก็ได้ เพื่อทำความเข้าใจส่วนตัว ที่พูดว่า “ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์” มันเหมือนกับการล่อ การชักชวน เป็นกุศโลบาย เป็นจิตวิทยา ที่แฝงในคำพูดนั้น เพราะคนมันกลัวทุกข์ มันก็ต้องหันมาสนใจจะปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ เหมือนคนมันอยากรวย ทำยังไงจึงจะรวย ก็เลยบอกว่าให้เอาคาถาไปท่อง ท่องบ่อยๆ แล้วจะรวย มันก็จะสนใจท่องขึ้นมา แล้วแต่กลอุบายของปราชญ์บัณฑิตที่จะหาเรื่องหาวิธีมาสอน เรียกความสนใจ ถ้าพูดอย่างอื่นมันไม่สนใจ พอบอกว่าเอาไปท่องแล้วจะรวย มันก็จะสนใจขึ้นมาทันที เพราะมันโลภอยู่แล้ว

สังเกตการณ์ขณะทำการเคลื่อนไหว มันจะลงตัวกับคำว่า “สติสัมปชัญญะ” สติคือระลึกได้ สัมปชัญญะคือรู้ตัว ตัวก็คือกายกับใจ ขณะกายเคลื่อนไหว มันมีสิ่งที่ทำการก็คือรูปกับนาม กายกับใจ แม้แต่นอนหลับมันก็มาทำการให้กายเคลื่อนไหว อย่างฝันว่ากำลังว่ายน้ำ กำลังชกมวย มันก็สะท้อนออกมาที่กาย ซึ่งเป็นร่าง เป็นหุ่น เป็นตุ๊กตา เป็นวัตถุ เท่านั้นเอง พูดย้ำบ่อยๆ ว่ามันเป็นวัตถุ เป็นร่าง เป็นซาก เป็นหุ่น ย้ำบ่อยๆ ให้มันพลิกเปลี่ยนความรู้ใหม่ เปลี่ยนความรู้สึกใหม่ เปลี่ยนความคุ้นเคย แทนการที่เคยยึดถือเข้าใจว่าร่างกายเป็นตัวฉัน ตัวกู บอกมันใหม่ สอนมัน ให้มันเคยตัวในรูปแบบใหม่ ถ้าเคยตัวแบบนี้ คือ รู้จริง แต่ถ้าเคยตัวแบบที่รู้สึกว่าเป็นตัว เป็นฉัน เป็นกู นี่คือรู้ไม่จริง รู้ขัดกับสัจธรรมที่ธรรมชาติให้มา

ค้นคว้า ปฏิบัติการ เพื่อจะเข้าสู่ความจริง ให้มันบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่เรื่องอื่น มันคือเรื่องนี้เรื่องเดียว ให้มันมั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นกว่าเก่า มันจะไม่ลังเล มันจะเป็นสมาธิของมันเอง เกิดความกล้าหาญ กล้าที่จะยอมรับว่ามันไม่ใช่ตัวตน การที่ยึดถือเข้าใจว่าร่างเป็นตัวตน มันทำให้เสียเวลามานานแล้ว เสียหายมามากมายแล้ว มันทำให้เสียใจมามากแล้ว

มีบางอาจารย์ก็สอนให้ทำกรรมฐานด้วยการยกมือ หรือด้วยท่าทางการเคลื่อนไหวของกาย เวลานั่งไม่ให้หลับตา แต่ให้นั่งยกมือเปลี่ยนจังหวะไปมาอยู่อย่างนั้น เหมือนเล่นกายบริหารยามเช้า มันเป็นระเบียบการ เป็นกติกา เป็นวิธีการของแต่ละสำนัก ถ้าไม่เข้าใจ หรือใจไม่กว้างพอ ก็ไปตำหนิ ไปโทษเขา ว่าเขาทำไม่ถูก ถ้าจะพูดให้มันลึกซึ้งจริงๆ ละเอียดไปกว่านั้น คือ มันทำยังไม่ถูกด้วยกันทั้งนั้นแหละ ตราบใดที่ยังไม่ได้เข้ากระแสอริยบุคคล ต่อให้นั่งสมาธินิ่งๆ หลับตา สงบอยู่หลายสิบปี มันก็ไม่ถูก เดินจงกรมช้า..มันก็ยังไม่ถูก เดินจงกรมเร็ว..มันก็ยังไม่ถูก กินน้อย..มันก็ยังไม่ถูก กินมาก..มันก็ยังไม่ถูก อยู่น้อยคน..มันก็ยังไม่ถูก อยู่หมู่มาก..มันก็ยังไม่ถูก นอนน้อย..มันก็ยังไม่ถูก นอนมาก..มันก็ยังไม่ถูก ถ้าถูกมันก็ต้องได้กระแสโสดาบัน หรือพูดให้ลึกสุดๆ คือสำเร็จอรหันต์แล้วโน่นแหละจึงจะถูกที่สุด ถ้ายังไม่สำเร็จอรหันต์แล้วไปบอกว่านี่ถูก นี่ไม่ถูก เอาอะไรมาพูด ถ้ายังไม่บรรลุอรหันต์จะมาบอกว่าตัวเองถูกได้ยังไง ที่ทำอยู่มันจึงยังผิดกันอยู่ทั้งนั้น บางคนก็จะค้านว่า อ้าว..ถ้าทำอะไรก็ยังผิดอยู่ งั้นก็ไม่ต้องทำดีกว่า ถ้าไม่ทำนั่นก็ยิ่งไม่ถูกใหญ่เลย มันคิดไม่ถูก ทำอย่างไรมันก็ยังไม่ถูก ต้องรอบรู้ในคำศัพท์ รอบรู้ในการฟัง ต้องแตกฉาน รอบรู้ จะรู้แค่จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ต้องรู้รอบ รอบรู้

ถ้ามันยุ่งอยู่ภายนอก มันก็อยู่ห่าง มันจับจุดไม่ได้ ชัดเจนได้ยาก ชัดเจนได้ช้า สังเกตดูการเคลื่อนไหวของกาย มันก็ลงตัวกับคำว่า “ปัจจุบัน” ส่วนประกอบก็คือการ “ตื่นอยู่” ถ้าตื่นอยู่มันก็มีโอกาสปฏิบัติได้มาก ทำการได้มาก สังเกตได้มาก มีชั่วโมงบินมาก ใกล้ต่อความเป็นจริงมาก ทำให้มาก เพียรให้มาก มันจะหมดความสงสัย ความแจ่มแจ้งมันจะเกิดขึ้น ตื่นอยู่มากๆ มันก็มีโอกาสอยู่กับปัจจุบันได้มา แต่ต้องอยู่ใกล้ๆ คือ อยู่กับกาย อยู่กับตัว ถ้าไปอยู่ภายนอก ตื่นมากแค่ไหน มันก็เหมือนเดิม เพราะมันไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก กินอารมณ์ภายนอก สะสมอะไร สิ่งนั้นก็มาก พอกพูนอะไรมาก สิ่งนั้นก็มาก

ทำการอยู่จุดนี้มากๆ แล้วๆ เล่าๆ บ่อยๆ เนืองๆ มันก็จะเข้าใจจุดนี้ เข้าใจเรื่องนี้ เหน็ดเหนื่อยก็อดทนที่จะดู พากเพียรที่จะดู มันจะมีความชัดเจนขึ้น แจ่มแจ้งขึ้นมา สัมผัสมากขึ้น มีศรัทธามากขึ้น มั่นใจมากขึ้น มันจะสัมผัสกับความเป็นจริงได้ ด้วยการสังเกตการณ์ เพ่งบ่อยๆ เล็งบ่อยๆ อยู่ภายใน อย่าไปเพ่งเล็งภายนอก ต้องมาเพ่งเล็งอยู่ที่กายกับใจ มันเป็นเรื่องของตัวเอง ดูตัวเอง ศึกษาตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น