วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก

ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
----------------------------------------------------------------------

การพูดบรรยายให้ผู้สนใจใฝ่ในธรรมที่เขามีระดับฟัง ต้องพูดเจาะเข้าไปในเรื่อง รูป-นาม เน้นอยู่ที่นี่ หาอยู่ที่นี่ ให้ความสำคัญอยู่ที่นี่ ที่เขาเทศน์กันส่วนใหญ่ พูดอยู่แต่เรื่องภายนอกระดับโลกียวิสัย ผู้ที่ใส่ใจจะพูดในระดับเกี่ยวกับภายในมันมีน้อย หายาก

“ภารา หะเว ปัญจัก ขันธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก” นี่มันพัวพันกับเรื่องของกายโดยเฉพาะ ถ้าเป็นเรื่อง ดี-ชั่ว บุญ-บาป มันเป็นเรื่องของชาวโลก เป็นเรื่องภายนอก เรื่องศีลก็เป็นเรื่องภายนอกระดับโลกียะ มันเป็นเรื่องที่สมมุติบัญญัติเอา มนุษย์กำหนดเอง มันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติให้มา มนุษย์กำหนดเอาเองว่านี่ถูกนี่ผิด นี่บุญนี่บาป มันกลายเป็นมนุษย์สร้างโลก ไม่ใช่พระเจ้าสร้างโลก พระเจ้าก็คือธรรมะ

แม้แต่เรื่องพระวินัย มันก็เป็นเรื่องภายนอก แต่ก็พูดไม่ได้ เพราะถ้าฟังไม่เป็น เขาก็จะหาว่าลบหลู่ดูถูก กฎหมายต่างๆ ข้อบัญญัติต่างๆ มันเป็นมาโดยธรรมชาติหรือเปล่า มีแต่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้น กฎวินัยของสงฆ์ก็มนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้น ดังนั้น ต้องแตกฉานในระดับโลกเสียก่อน ว่ามันหมายถึงอะไร จะปฏิบัติเพื่ออะไรกันแน่ มองให้มันทะลุไปหมด เรื่องที่สนใจคือ “เรื่องที่เป็นมาโดยธรรมชาติ” ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น นั่นก็คือให้สนใจเรื่องร่างกายของเรา

เสนาของมัจจุราช ก็คือ ความแก่ชรา ความเจ็บป่วย ความตาย ที่คอยติดตามเราอยู่ และมันก็เป็นมาโดยหน้าที่ของธรรมชาติ ตลอดจนไปถึงคำกล่าวที่ว่า “ใครจะรู้ความตายแม้วันพรุ่งนี้”

ดังนั้น บทสวดมนต์ที่พาสวดจึงเน้น “ภารสุตตคาถา” และ “ภัทเทกรัตตสูตร” สองบทนี้ตรงมาก ไม่ชวนให้ออกนอกทาง คือพูดเรื่องการแบกขันธ์ห้าเป็นของหนัก และเรื่องการอยู่กับปัจจุบัน ป่วยการที่จะคิดถึงเรื่องอดีตและอนาคต

สำหรับบทสวดอื่นๆ ที่เขานิยมสวดกันเป็นหมู่นั้นมันยังอยู่ไกล อยู่อีกระดับหนึ่ง อย่างเช่น บทแผ่เมตตา ที่สวดว่า ขอให้อย่างนั้น ขอให้อย่างนี้ ขอให้มีความสุข ขอให้พ้นทุกข์ มันก็ไม่ได้ผิดหรอก ไม่ได้ดูถูกเขา แต่มันระดับโน้น พูดกับคนกลุ่มโน้นไม่ใช่สำหรับคนกลุ่มนี้ กลุ่มที่ใฝ่ศึกษาธรรมะเพื่อมรรคผลนิพพาน พวกนี้ต้องพูดจำกัดเข้ามาใกล้ๆ

หรืออย่างบทอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล อิมินา ปุญญะ กัมเมนะฯ ฟังดูก็มีว่าอุทิศให้พระอาทิตย์ พระจันทร์ โน่น ถ้าคนมีมันสมอง คิดดู มันก็น่าหัวเราะไหมละ คนคิดมากมันก็ต้องคิดพิจารณาด้วยเหตุผล คนไม่คิดมากมันก็เชื่อไปเลย นี่มันต้องสับให้แหลก เรื่องหยาบๆ อย่างนี้ มันจะบ้าหรือ ไปอุทิศให้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แต่นั่นมันก็เป็นระดับสังคมโลกียะ ต้องแยกทำความเข้าใจให้แตกฉาน รู้ว่าเขาแต่งร้อยกรองให้มันเพราะพริ้งสวยงาม เหมือนกับเขาแต่งเพลงให้มันน่าฟัง ถ้าไม่เข้าใจมันก็ไปหลงเชื่อจับมาถือเป็นจริงเป็นจังทุกอย่าง มันต้องรู้ว่าส่วนนี้ถูกต้อง ส่วนนี้แต่งเสริมประดับเฉยๆ ไม่ใช่สาระที่ถูกต้อง

เหมือนบอกว่าทำบุญแผ่เมตตาอุทิศให้สัตว์ทั้งหลาย การแผ่เมตตาให้สุนัขก็คือการเอาอาหารให้มันกิน นี่มันก็ได้รับเมตตาได้รับบุญที่เราแผ่อุทิศให้ คือมันได้กินอาหาร นี่มันจึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผลยอมรับได้ สุนัขจึงอยู่ได้เพราะได้รับเมตตาได้รับส่วนบุญจากมนุษย์ ไม่ใช่ได้รับตอนที่ใช้ปากสวดสาธยายอยู่ ถ้าพูดตรงอย่างนี้ เขาก็หาว่ารุนแรง หยาบคาย ไม่เหมาะสมที่จะนำมาออกมาพูดในสังคม

หรืออย่าง ไก่ และ ปลา ก็เช่นกัน ต้องเป็นคนที่มีบุญมากกว่าอุทิศบุญให้พวกมัน คือคนที่มีอยู่มีกินเหลือเฟือมากกว่าสัตว์เหล่านั้น จึงแบ่งข้าว แบ่งขนมปังให้มัน นี่แหละจึงเรียกว่าอุทิศบุญให้มัน

พวกนั่งสวดเอาเป็นเอาตาย อุทิศให้ผู้นั้นผู้นี้ สวดเข้าไปเถอะ ยิ่งสวดมากเท่าไร ก็ยิ่งหลงมากเท่านั้น อย่างยายนงค์ (โยมป้าหลวงพ่อ) มาทีไรก็สวดเอาเป็นเอาตาย หลวงพ่อด่าแล้วด่าอีก ยังไม่เลิกสวด นี่มันเป็นคนคุ้นเคยกันจึงดุด่าได้ นี่ยกตัวอย่างเบื้องต้นให้เข้าใจ

ต้องไปพิจารณาต่อ เทียบเคียง ขยายออกไป ให้มันรอบรู้ แตกฉานไปมากกว่านี้ จับเงื่อนให้ได้ แล้วแก้ต่อไป สางต่อไป วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ว่าอะไรเป็นอะไร จะทำอะไร จะเอายังไง ต้องการอะไรกันแน่ มันจะได้ปล่อยๆ ออกไป

ที่นั่งสวดแผ่เมตตา หรืออุทิศบุญ นั่นมันจะได้อะไรจากการนั่งพูดเฉยๆ ทั้งที่ในชีวิตจริงมันก็ยังไปจับสัตว์ หาปูหาปลา ล่าสัตว์ ฆ่าสัตว์อยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเอามากินหรือเอามาขาย มันไม่ต้องมานั่งสวดนั่งบ่นอะไรหรอก แค่เพียงละไปเว้นไป ไม่ทำร้ายเขา มันก็เป็นการแผ่เมตตาแล้ว มีอะไรพอจะให้เขาได้ มีมากเหลือเฟือ ก็แบ่งปันให้เขา นี่มันก็เป็นการแผ่ส่วนบุญ อุทิศบุญแล้ว พูดแต่ปากมันจะมีประโยชน์อะไร มันไม่มีเหตุผลเพียงพอ มันไม่มีความเป็นจริง คือไม่ใช่สัจธรรม

การไปทำพิธีสืบชะตาต่ออายุให้ตนเองก็เหมือนกัน มันก็ทำนองเดียวกัน พวกเดียวกัน ต่ออายุสะเดาะเคราะห์ โดยการไปปล่อยนก ปล่อยปลา ปล่อยเต่า นั่นถ้าเข้าใจถูกมันก็ถูก มันคือการสะเดาะเคราะห์ให้นก ให้ปลา ให้เต่า ที่มันถูกจับมาขังไว้ ปล่อยมันไปมันก็พ้นเคราะห์ คนยังโง่ไปเข้าใจว่าสะเดาะเคราะห์ให้ตนเอง ทั้งๆ ที่ตัวเองทำการสืบชะตาต่ออายุอยู่แล้วทุกวัน ยังไม่รู้ตัว ยังจะเที่ยววิ่งไปหาคนโน้นคนนี้ต่อชะตาให้อยู่อีก มันบ้าหรือดีกันแน่ ก็กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน ขับถ่าย ปัสสาวะออกอยู่ทุกวัน นี่มันเป็นเคราะห์ ก็ต้องสะเดาะมันทุกวัน ถ้าไม่สะเดาะเคราะห์อย่างนี้ทุกวัน คนมันก็อยู่ไม่ได้ มันก็ต้องตาย

พวกทำพิธีสะเดาะเคราะห์ มันก็เหมือนกับสะเดาะกุญแจที่มันไขไม่ออก แล้วมันเกี่ยวอะไรกับมรรคผลนิพพาน มันคนละเรื่องกัน อย่างพวกกินเจ ร่างทรง เอาหอก เอาเหล็ก เอามีด เสียบเข้าไป ฟันเข้าไป แสดงความเก่ง ความกล้า ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ดูแล้วมันจะเก่งอะไรกัน มันบ้าต่างหาก ถ้าจะเก่งแบบฝรั่ง ญี่ปุ่น ที่มันผลิตเครื่องบินเหาะได้ ยังจะมีประโยชน์มากกว่า นี่มันเอาเหล็กแทงแก้ม ไม่เห็นมันมีประโยชน์อะไร อยู่ดีไม่ว่าดี สร้างความบ้าบิ่นบ้าบอให้ตนเอง นี่คือตัวอย่างเรื่องหยาบๆ ภายนอก

ต้องทำความเข้าใจเรื่องภายนอกเหล่านี้ให้มันขาด ให้มันทะลุ ให้ปัญญามันเก็บงานภายนอกให้หมด ปล่อยออกไปๆ แล้วสรุปๆ มา มันจะเข้ามาใกล้ตัว มันจะเข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องขันธ์ห้าอย่างเดียว เพราะเรื่องอื่นรู้แจ้งหมดแล้ว เมื่อรู้จริงมันก็ทำลายความวิตกกังวล สงสัย วิจิกิจฉามันก็จะค่อยๆ หมดไป ปล่อยไป มันก็ละโลกได้ หนีจากโลกได้ หนีทางกาย หนีทางใจ หนีทางความรู้สึก กายเราก็อยู่ที่วัด ใจเราก็ไม่คิดกังวลถึงเรื่องระดับโลกๆ การจบเรื่องเหล่านี้มันไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาจากสถาบันไหน มหาวิทยาลัยไหน แต่เราจบด้วยตนเอง จบในมันสมองของตนเอง ไม่ต้องไปรอความรู้จากใคร

แต่สิ่งที่เรายังไม่รู้ ยังไม่จบตอนนี้ คือเรื่องขันธ์ห้า เรื่องเดียวที่เรายังยุ่งยากกับมันอยู่ เรื่องอื่นนั้นเราทะลุปรุโปร่งแล้ว เรื่องที่ยังไม่เข้าใจมัน คือเรื่องของฉันเอง เรื่องขันธ์ห้า รูปนาม กายใจ นี่โดยเฉพาะ ศึกษาในสาขานี้ วิชานี้ ค้นคว้าอยู่แต่จุดนี้ ในชีวิตประจำวัน อย่างอื่นจบแล้ว พอกันที สิ้นสุดกันที

ดังนั้น จึงเน้นพาสวดอยู่สองสูตรดังกล่าว เพราะมันชัดเจนมาก แจ้งสว่างอย่างกับกลางวัน ให้ความรู้สึกมันดิ่งลงในจุดนี้ หาอยู่แต่เรื่องนี้ ไม่ต้องไปไขว้เขวหลายเรื่อง มันอยู่นี่แหละจุดนี้ ต้องเปรียบเทียบ วิเคราะห์ให้มันได้ มันจะแจ่มแจ้งได้ด้วยปัญญา

ปัญญาคือความคิดนี่แหละ จะไปนั่งซื่อบื้อให้มันเกิดปัญญาขึ้นมาเองไม่ได้ มันไม่มีเหตุผล ไปนั่งเข้าฌาน มันก็เหมือนคนนอนหลับ มันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร คนนอนหลับมันจะเห็นอะไร มีปากก็กินข้าวไม่ได้ มีตาก็มองไม่เห็น มีหูก็ไม่ได้ยิน ไหนละปัญญา “ปัญญา แปลว่า รู้” คือรอบรู้ในกองสังขาร

สมาธิก็เหมือนกันคล้ายกันกับฌาน ฤๅษีชีไพรสมัยก่อนเขาทำกันอยู่แล้ว มันคนละทางกัน เหมือนคนที่เขาเอาเหล็กไปแทงแก้มอยู่ที่ภูเก็ต มันจะเก่งอะไร เหมือนพวกกินเหล้า สูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก กินไป สูบไป เคี้ยวไป แล้วมันแทนข้าวแทนอาหารได้ไหม กินเหล้า สูบบุหรี่ได้ มันจะเก่งอะไร ถ้าเก่งจริงก็ไม่ต้องมากินข้าวซิ นี่ถ้าจับเงื่อนได้ มันก็แจ้งชัดไปหมด ในรูปแบบของธรรมะ มันสามารถจะนำมาขยายความ อธิบายได้หมดทุกแง่ ให้มันแตกฉาน รอบรู้

อยู่กับหลวงปู่ชา สังเกตเห็นเลยว่า โดยมากท่านจะพูด จะบรรยาย จะเทศน์ ท่านจะไม่พานั่งสมาธินาน นานที่สุดก็แค่ชั่วโมงเดียว แต่จะเน้นพูดอธิบายทั้งเช้า ทั้งเย็น ทั้งกลางคืน เรื่องโน้นเรื่องนี้ เรื่องเล็กบ้างเรื่องใหญ่บ้าง ให้ปัญญามันทะลุแจ่มแจ้ง เพราะปัญญานี้สำคัญที่สุด ธรรมทั้งหลายสำเร็จได้ด้วยใจ ใจนี้ก็คือปัญญา ท่านจับเรื่องนั้นเรื่องนี้มาอธิบายได้หมด ดึงหลักมาเปรียบเทียบให้มันกระจ่าง

อย่างตำราที่คนรุ่นหลังศึกษากันอยู่นี้ ก็เป็นคำพูดออกมาจากใจ ออกมาจากปัญญาของคนรุ่นก่อนๆ จึงอยากจะชี้ให้เห็นว่า โดยแท้แล้ว “ใจกับปัญญาเป็นสิ่งเดียวกัน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น