วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553


มันรู้ร่างกายว่าเป็นร่างกายไม่ได้
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

มันรู้ร่างกายไม่ได้ รู้ร่างกายว่าเป็นร่างกายไม่ได้ รู้ไม่ได้ มันไปตามกระแสเดิม กระแสเดิมมันมีพลังมากกว่า ความรู้สึกที่มันเคยตัว มันทำให้กลับใจ กลับมารู้ตามเป็นจริงไม่ได้ ใจคือรู้ ไม่กลับรู้มาเห็นร่างกายเป็นซากศพ รู้แบบนี้มันรู้ไม่ได้ มันก็เป็นการรู้ผิด รู้ที่มีมาแล้วในอดีตหรือที่รู้อยู่ในปัจจุบันก็ดี มันอยู่ในลักษณะรู้ไม่จริง ไม่รู้ตามสัจธรรมที่มันเป็นจริงอยู่ ว่ามันเป็นร่าง เป็นหุ่น เป็นวัตถุของใช้ เท่านั้น เจาะให้มันรู้ มันก็ไม่รู้ มันไม่กลับใจ มันไม่กลับรู้ ใจคือรู้ กลับรู้มาเป็นรู้ถูกต้อง ไม่ต้องไปตามกระแสโลก แต่ให้มารู้ตามกระแสธรรม

โลก แปลว่า ไม่จริง ไปตามโลกคือไปตามกระแสที่ไม่จริง มันก็ไม่รู้จริง มันก็ไม่พ้นโลก คืออยู่ฝั่งโลกียะ ไม่ได้อยู่ฝั่งโลกุตตระ รู้ไปตามอย่างเขา เขาก็คือชาวบ้าน ชาวโลก รู้ไปตามพ่อ ตามแม่ ตามพี่ ตามน้อง ไม่ได้รู้ไปตามชาวพุทธ ตามชาวพระ ต้องให้มันมารู้ตามพระโสดาฯ สกิทาคาฯ อนาคาฯ อรหันต์

ฉะนั้น มันจำเป็นจะต้องเรียนรู้ ศึกษา ทำความเข้าใจ ทำความ “เข้าใจ” ทำความ “เข้าไปรู้” ทำความ “เข้าไปหารู้” ทำความ “เข้าไปหาใจ” ทำความ “เข้า” มันก็คือ “รู้” นั่นแหละ จะเอาอะไรมา “ทำความเข้า” ถ้าไม่เอา “รู้”

นั่งก็นั่งอยู่กับซากศพ นี่คือทำความเข้าใจ เดินไปก็เอาซากศพเดินไป มันอาศัยอยู่ในซากศพ พาซากศพเดินไป นี่คือทำความเข้าใจ ยืนก็ยืนอยู่กับซากศพ นอนก็นอนอยู่กับซากศพ ทำความเข้าใจเข้าไป กินอาหารก็ซากศพกิน ดื่มน้ำก็ซากศพดื่มน้ำ เอาไปหล่อเลี้ยงซากศพ เหมือนอย่างลมหายใจมันก็เป็นส่วนประกอบของซากศพ เอาไปทำการให้ซากศพมีชีวิต เคลื่อนไหวได้ ลมเข้า-ลมออก มันเอาไปหล่อเลี้ยงซากศพ เหมือนกับเอาข้าว เอาอาหาร เอาน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงซากศพ หาวิธีพูด แยกพูด หาวิธีทำความเข้าใจ หาวิธี “ทำความเข้า” ใจ บ่อยๆ เนืองๆ

มันหล่อเลี้ยงกลุ่มของมัน ลมเอาเข้าไปหล่อเลี้ยงกลุ่มของมัน ใจไม่เกี่ยว ใจคือพวกสี่ ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เกี่ยวกับลม ไม่เกี่ยวกับอาหาร ไม่เกี่ยวกับน้ำ จะเห็นได้ในขณะที่ฝัน ตอนฝันนี่มันไปเฉพาะพวกสี่ มันแสดงให้เห็น แย้มให้เห็นอยู่ แต่มันไม่ยอมรับ ไม่เข้าใจ ตอนฝันไปนี่ร่างมันไม่ตาย เป็นซากศพที่มีชีวิตอยู่ ชีวิตไม่ใช่ใจ ใจกับชีวิตมันแยกกัน คนละอย่าง ทั่วๆ ไปก็เข้าใจว่าใจกับชีวิตเป็นอันเดียวกัน ใจกับชีวิต “ไม่ใช่อันเดียวกัน” ก็เห็นได้จากตอนที่ฝัน ใจไปอยู่โน่น ชีวิตคือซากศพนี่มันตายไหม ไม่ตาย นั่นล่ะคือยังมีชีวิตอยู่ แต่ใจไม่อยู่

ทีนี้ถ้าแยกขยายออกไป ก็เปรียบเหมือนต้นไม้ ต้นไม้มีชีวิตไหม มี มีชีวิตตามแบบของต้นไม้ ต้นไม้ตายได้ไหม ได้ นั่นล่ะมันหมดชีวิต มีชีวิตตามอย่างของต้นไม้ สัตว์มีชีวิตไหม มี มีตามอย่างของสัตว์ คนมีชีวิตไหม มี มีตามอย่างของคน มันต้องขยายสับให้แหลก เห็นได้อย่างไรว่าต้นไม้มีชีวิต ลองเอาขวานไปฟันดูซิ แล้วต่อมามันก็จะค่อยๆ เหี่ยวเฉาตาย นั่นตายแล้ว ชีวิตหมดไปตามอย่างของต้นไม้ พืชต่างๆ มันมีชีวิตตามอย่างมัน เถาวัลย์มันเลื้อยขึ้นไป หาวิธี มีมือเกาะ เช่น แตงกวา บวบ มันมีมือไปเกาะเกี่ยวกับไม้อื่น มันก็มีชีวิตอย่างมัน ไม่ได้มีชีวิตอย่างมนุษย์ มันคนละรูปแบบ คนละอย่างกัน

ที่มันมีการฝันไป มันเป็นความเคยชิน เป็นอัตตา มันไม่ได้เป็นอนัตตา เวลาฝัน “พวกสี่” นี่มันไป ไปเพราะมันมีตัวแอบแฝงอยู่ คือความเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอัตตา มันยังไม่รู้จริงตามเป็นจริง มันก็เลยสะท้อนความรู้สึกเป็นอัตตา มันจึงมีไปมีมา มีเกิดมีตาย มีเจ้าของ เป็นขันธ์ห้าที่มีเจ้าของ เหมือนคนแต่งงานแล้ว ผู้หญิงมีเจ้าของ ผู้ชายมีเจ้าของ ขันธ์ห้าของปุถุชนคนธรรมดามันมีเจ้าของคืออัตตา เพราะว่ามันสำคัญผิด มันจึงสะท้อนออกมาเป็นอัตตา เป็นกู เป็นฉัน ขันธ์ห้าไม่ว่าง ถ้าไม่ว่างมันก็ไม่เป็นอนัตตา มันก็ไม่จบ มันก็มีเชื้อคือตัวตน เพราะเข้าใจผิด มันเลยสะท้อนออกมาเป็นตัวตน

การเคลื่อนไหวของรูป ถูกผลักดันมาจากนาม


การเคลื่อนไหวของรูป ถูกผลักดันมาจากนาม
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

การเคลื่อนไหวของกาย การเคลื่อนไหวของรูป นี่ถูกผลักดันมาจากนาม นามคือกลุ่มรู้ เพราะว่าร่างกายนี้เป็นของใช้ของนาม เวลาที่ส่วนต่างๆ ของรูปร่างกายเคลื่อนไหว มันถูกผลักดันมาจากนาม นามเป็นกลุ่มมีความรู้ แล้วผลักดันให้กายเคลื่อนไหว ที่ท่านเขียนไว้ว่า กำหนดอิริยาบถบรรพ กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวของกาย ตามเห็นความจริง ตามรู้ตามเห็นลักษณะที่มันทำการอยู่ ดูตัวจริงที่มันแสดงอยู่ บ่อยๆ เนืองๆ ตั้งแต่เราลุกตื่นจากนอน พยุงกายขึ้น พยุงรูปที่มันหนัก รูปนี่คือตัวไม่รู้ มันถูกผลักดันจากนามคือกลุ่มรู้ พยุงซากศพนี้ขึ้นมาให้มันนั่ง มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวในขณะกำลังทำการอยู่นั้น รู้ตัวว่ากำลังพยุงของหนัก เปลี่ยนสภาพจากการนอนมาเป็นการนั่ง อย่างนี้เป็นต้น

ตามรู้ ตามเห็น ตามความเป็นจริง ในอากัปกิริยาของกาย ซึ่งมันได้รับการผลักดันมาจากนาม แต่ว่ามันมีความเคยชินเดิม เป็นกระแสเก่า มันไม่รู้ว่ากายนี้เป็นเพียงหุ่น เป็นเพียงตุ๊กตา เป็นเพียงของใช้ กายเป็นเพียงรูป อย่างนี้มันมองไม่เห็น มันถูกปกปิดอยู่ มันไม่เห็นตามเป็นจริง แยกไม่ออก ไม่กระจ่าง ไม่สว่าง มันมืดมิดอยู่ก่อนแล้ว ตามกระแสเดิม ตามโบราณ กายมันเป็นกูอยู่แล้ว นี่คือการหลงตามกระแสแบบภายใน แบบละเอียด ไม่ใช่ความหมายคำว่า “ตามกระแส” อย่างที่ชาวบ้านเขานิยมพูดกัน

มันเป็นการพยายาม พากเพียร ในทุกวิธีการที่จะให้รู้ตามเป็นจริง เพื่อเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนความเห็นให้ได้ มีวิธีการใดบ้างที่จะเจาะ จะพลิกความรู้สึกใหม่ให้เกิดขึ้น นั่นคือแนวทางการสังเกต ขณะที่พยุงซากศพนี้ขึ้นหลังจากตื่นนอน ต่อไปมันก็ลุกขึ้น ยืนแล้วก็เดินไป เป็นความเคลื่อนไหวของกาย เป็นอิริยาบถบรรพ มันได้รับการผลักดันอยู่อย่างต่อเนื่อง ลุกขึ้นก็เหมือนพาซากศพมันลุก ยืนขึ้นก็เหมือนพาซากศพมันยืน เดินก้าวไปก็เหมือนพาซากศพมันเดินก้าวไป เห็นชัดๆ ก็คือการก้าวไปของขา หรือแขนมันก็เอื้อมมือไปจับหยิบยึดนั่นยึดนี่ มันล้วนได้รับการผลักดันมาจากนามคือกลุ่มรู้ทั้งนั้น

ถ้าพูดว่าจิตหรือใจ ก็จะพากันหลงอีก มันเป็นการพูดแบบโบราณ หรือถ้าพูดคำว่าวิญญาณ นี่มันก็ชวนให้หลงอีก มันหมิ่นเหม่ต่อการเข้าใจผิด จะไปคิดว่าวิญญาณเป็นตัวเป็นตน ยิ่งเพิ่มอัตตาเข้าไปอีก แต่ถ้าพูดคำว่า “นาม” นี่มันทำลายอัตตาไปในตัว มันไม่แฝงด้วยความเข้าใจผิด

สังเกตบ่อยๆ สังเกตทุกการเคลื่อนไหว นั่นคือการทำความเพียร คือพากเพียรพยายาม นั่นคือหน้าที่ที่จะต้องทำให้เข้าใจ ให้มันรู้ ให้มันเห็น ทำบ่อยๆ เนืองๆ นี่คือประเด็นหลักที่ต้องการย้ำ มันต้องดูลงที่ของจริงในขณะปัจจุบัน ของที่มันเกิดอยู่ในขณะที่ตื่นแล้ว เกิดอยู่ มีอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่หลับ มันก็มีอยู่ รู้อยู่ เป็นของจริงอยู่ เป็นสัจธรรมอยู่ เป็นปัจจุบันอยู่ มันก็ลงตัวทั้งหมด ไม่ได้ไปเพ่งหาในอนาคต ซึ่งมันยังมาไม่ถึง ยังไม่เห็น ยังไม่มี มันไม่จริง อดีต อนาคต มันเป็นของลมๆ แล้งๆ

หลวงพ่อฉลวย (วัดป่ามหาวิทยาลัย อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ) ท่านจะพูดสอนทำนองนี้ว่า “คุณจะไปหาอะไร เรื่องอดีต อนาคต มันเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ” โดยมากท่านจะใช้คำศัพท์แปลกๆ แผลงๆ เพื่อจะสะกิดให้มันสะดุด หรืออย่างหลวงพ่อพุทธทาสก็เช่นกัน ท่านจะมีคำศัพท์แปลกๆ ไม่ยึดตามตัวหนังสือที่ใช้กันมาแต่เดิมในบางอย่างบางจุด บางทีท่านก็พูดเป็นเชิงประณามมัน ดูถูกมัน ไม่ให้สนใจมัน ให้หนีจากตรงนั้น ไปสนใจอะไรกับอดีต อนาคต มันลมๆ แล้งๆ มันผ่านไปแล้ว มันยังมาไม่ถึง สิ่งที่มีอยู่แล้วคุณยังไม่ดู ยังไม่เห็น “คุณจะหลับตาหาอะไร คุณยังต้องการอะไรอีก คุณจะเอาอะไรอีก คุณหลับตาทำไม” นี่หลวงพ่อฉลวยท่านพูดต้อนแบบนี้ ไล่ให้เข้ามาหาปัจจุบัน หลับตามันมักไปหาอดีต หาอนาคต มุ่งหาอะไร มุ่งหาความสงบ ทำสมาธิให้มันสงบ นั่นมันอยู่กับอนาคตแล้ว ของจริงมีอยู่ต่อหน้าในปัจจุบัน ฉายอยู่ โชว์อยู่ ไม่ดู มันก็ข้ามไป สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจก็ไม่กล้าพูดคำศัพท์ที่มันหนีไปจากแบบจากตำรา ผู้ที่ท่านมั่นใจท่านก็พูดได้ เพราะท่านรู้ว่ามันหมายถึงอะไร ท่านกระจ่างในจุดนั้นแล้ว

มองร่างกายให้เห็นสิ่งที่มันเป็นอยู่จริง


มองร่างกายให้เห็นสิ่งที่มันเป็นอยู่จริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

มองร่างกายให้เห็นสิ่งที่มันเป็นอยู่จริง บ่อยๆ เนืองๆ ถ้ารู้รูปขันธ์หรือร่างกายนี้ยังไม่กระจ่าง มันก็รู้ขันธ์อื่นๆ ที่ละเอียดกว่าไม่ได้ พื้นฐานไม่รู้ สิ่งที่มันลึกซึ้งไปกว่านั้นก็รู้ไม่ได้ ความยึดติดมันขวางทางอยู่ ต้องผลักดันให้มันมีความรู้เข้าข้างความจริงบ่อยๆ เนืองๆ ถ้ามันเห็นตามจริงแล้วมันจะทิ้งเอง คลายเอง ปล่อยเอง วางเอง ถ้าไม่เห็น มันก็ยึด ก็เข้าใจผิด ยึดถือในรูปร่างกายนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีการ หลักวิชาการ ที่คุ้นหูอยู่บ่อยๆ คือคำว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สองอย่างนี้ เน้นให้ทำบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ

คำที่กระแสสังคมพูดกันบ่อยๆ ก็ว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” หรือพูดว่า “พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ถ้ามองในระดับที่มันละเอียดลึกซึ้งแล้ว ชาวบ้านพูดคำนี้กันในแบบที่ตัวเองก็เข้าใจไม่กระจ่าง ไม่ชัดเจน คำว่า ทุกข์ สมุทัย มันใช้ได้กับระดับพื้นฐาน คำศัพท์ว่า “ทุกข์” นี่มันไม่มีในระดับโลกุตตระ มันไม่มีอะไรจะทุกข์ เอาอะไรล่ะรองรับแล้วจึงเปล่งอุทานออกมาว่า “ฉันทุกข์” ถ้าบอกว่าทุกข์ มันก็ขัดแย้งกับคำว่า “อนัตตา” ถ้าใช้กับชาวบ้านทั่วไป พูดว่า “ทุกข์” ก็ใช้ได้อยู่ ใช้ได้ในระดับโลกีย์ คือเห็นทุกข์ เห็นความยากลำบาก ไปทำไร่ ทำนา ค้าขาย ไม่พออยู่ ไม่พอกิน หนี้สินรุงรัง มันทุกข์ยาก ฉันจะหนีไปบวชซะดีกว่ามั้ง ชีวิตมันยุ่งยากเหลือเกิน ไม่จบไม่สิ้นสักที โลกมนุษย์นี่มันเป็นวัฏฏสงสารวุ่นวายอยู่แบบนี้ โอ๊ย..ทุกข์ นี่คือเห็นทุกข์ แบบคำว่า ทุกข์ สมุทัย ในระดับที่ชาวบ้านพูดกัน เห็นแล้วก็พยายามจะหนี อย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะเห็นเทวทูตสี่ มาเตือนขณะไปเที่ยวนอกวัง เห็นคนเจ็บนอนครวญคราง, เห็นคนแก่เฒ่าเนื้อหนังเหี่ยวย่น ถือไม้เท้าเดินหลังโก่งๆ ตาโบ๋ แก้มตอบ หนังติดกระดูก, เห็นคนตาย แล้วก็ร้องห่มร้องไห้หากัน, และสุดท้ายเห็นสมณะ นักบวช นี่คือเห็นทุกข์ในระดับพื้นฐาน ระดับโลกียวิสัย แล้วก็ผลักดันให้เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในพระราชวังต่อไปไม่ได้ ต้องออกบวช เพราะว่าเห็นทุกข์ อธิบายแบบนี้เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าอธิบายแบบลึกซึ้งมันก็ขัดกันกับกระแสชาวบ้าน เพราะมันไม่สามารถเห็นตามได้ง่ายๆ อธิบายคำว่า “ทุกข์” ในระดับชาวบ้านนั้นเข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ สามารถเห็นตามได้ทันที เพราะมันเป็นพื้นฐาน

แล้วก็มักพูดกันว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกข์ พูดแบบหมายรวมทั้งระดับโลกียะและระดับโลกุตตระ เหมือนเอามาใส่ไว้ในกาละมังเดียวกัน ถ้าพูดในระดับโลกุตตระมันไม่มีคำว่าทุกข์ ส่วนคำว่า ตัวทุกข์ ตัวตัณหา ก็คือตัวอัตตา ตัวอัตตาคือตัวไม่รู้จริง สมุทัยก็คือตัวไม่รู้จริง ทุกข์ก็คือตัวไม่รู้จริง เอาอะไรมาอยาก เอาอะไรขยายตัวออกมามีตัณหา มีอยาก แล้วก็บอกว่ามีทุกข์ เพราะมันตามกระแสกันอยู่แล้วจึงบอกว่ามีทุกข์ ที่จริงมันเป็นหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้นเอง ไม่ได้ไปให้ทุกข์ให้โทษกับใคร ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้ไปรังแกใคร ไม่ได้ไปรบกวนใคร มันเป็นสัจธรรมของมันอยู่อย่างนั้น เป็นหน้าที่ของมันเอง ถ้าพูดแบบโลกุตตระมันก็ต้องพูดแบบนี้ แต่ถ้าพูดแบบโลกียะมันก็ต้องบอกว่ามีทุกข์ มีใครทุกข์ มันก็ยังมีอัตตาอยู่ เมื่อมีอัตตาอยู่มันก็เป็นทุกข์

มันติดแบบติดตำรา ติดครู ติดอาจารย์ มันไม่ได้สับให้แหลก ตีความให้มันแตก มันเลยไม่กระจ่าง ติดแล้วไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ มันเป็นความกลัวชนิดหนึ่ง ความกลัวก็เป็นอคติ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่มันค่อนข้างชัดเจนไม่ทำให้เข้าใจผิด กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติอยู่กับกาย ก็คือรู้อยู่กับกาย ในขณะเผ็ดก็รู้เผ็ด ในขณะเค็มก็รู้อยู่ที่เค็ม ในขณะขมก็รู้อยู่ที่ขม รู้อยู่จุดนั้นนานๆ เพราะว่ารสชาติมันก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง มีสติก็คือรู้ รู้อยู่ในกาย เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือจะพูดว่า เกลือวิปัสสนาสติปัฏฐาน บอระเพ็ดวิปัสสนาสติปัฏฐาน นี่ขยายความออกมาอย่างนี้ก็ได้ ถ้าไม่รู้จะขมได้ยังไง ถ้ามันขมมันต้องรู้ นั่นคือสับเข้าไป ป่นเข้าไป ให้มันแหลก ขยี้ให้มันละเอียด เทียบเคียงเข้าหาของจริงเลย มันอะไรกันแน่ กายกับขมนี่มันเหมือนกัน อย่าให้มันแตกแยก มันก็เป็นธรรมชนิดหนึ่งเหมือนกัน เป็นธรรมชาติประเภทหนึ่ง ขมมีจริงโดยธรรมชาติ ไม่ต้องคิดต่อเลยไปถึงว่าใครสร้างขม ใครกำหนดให้มีขม นั่นมันมากเกินไป เอาแค่ว่าขมมีจริงตามธรรมชาติ คิดแค่นี้ รู้แค่นี้

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่ประตูมันอยู่ตรงนี้ สติคือรู้ รู้อยู่ที่กายบ่อยๆ เนืองๆ ให้มันรู้เผ็ดนานๆ ให้มันรู้ขมนานๆ ให้มันอยู่ที่กายนานๆ จึงมีการนั่งนานๆ เดินนานๆ ให้สติมันอยู่ที่กายนานๆ เพราะกำลังหาอยู่ที่จุดนี้ ของมันหายอยู่ที่นี่ ก็ต้องหาที่นี่ เปรียบเทียบแบบนี้ ไปหาอยู่ที่อื่นมันยิ่งไกลออกไป ของหายที่นี่ แต่ไปหาอยู่ประเทศอเมริกา อังกฤษ ยุโรป มันก็ยิ่งไกล จะบ้าเหรอ ของหล่นลงที่นี่ จะบ้าไปหาที่อื่น ของหล่นลงที่ปลายเท้าเรานี่ จะไปหาทำไมที่ต่างจังหวัดต่างอำเภอต่างประเทศ จึงให้หาที่กาย หาที่เวทนา เราไม่รู้ตรงจุดนี้ เราไม่เห็นจุดนี้ เราก็ต้องศึกษาตรงนี้ เรียนรู้จุดนี้ นี่ต้องเน้นเข้าไปอย่างนี้ กายมีอยู่ตลอดเวลา เวทนามีอยู่ตลอดเวลา เฉยๆ ก็เป็นเวทนา ร้อนก็เป็นเวทนา หนาวก็เป็นเวทนา

แต่คำว่า “สุขเวทนา ทุกขเวทนา” ไม่อยากพูดคำศัพท์นี้ เพราะมันชวนให้หลง ชวนให้เข้าใจผิด หนาวก็เวทนา ร้อนก็เวทนา นี่ใช้ได้ แต่ถ้าพูดว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา นี่มันติดคำโบราณ มันถูกฝังเข้าไว้ในหัวให้เชื่อต่อกันมา มันเป็นคำศัพท์ที่ชวนให้หลง ไม่ใช่ว่าจะไปลบคำสอนเก่า ไม่ใช่ทำลายคำสอนเก่า ไม่ใช่ว่าทิ้งคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ว่า “มันเป็นภาษาของคนไทยเองที่ชวนให้หลง” ชวนให้เข้าใจผิด จริงๆ ก็เข้าใจว่ามันเป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกรสชาตินั้นๆ เท่านั้นเอง แต่ว่าภาษาไทยคำว่าทุกข์ สุข นี่มันชวนให้มีตัวเข้าไปแอบแฝงอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นไม่อยากพูดคำว่า สุข ทุกข์ เพราะมันเป็นประเพณีที่ชวนให้หลง ไปบอกว่าอย่างนั้นสุข อย่างนี้ทุกข์ ถ้าใช้พูดในระดับโลกีย์ก็ได้อยู่ คือต้องแยกกาละมังกันระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ ในระดับลึกซึ้งหรือระดับที่ใฝ่ในธรรมฝ่ายโลกุตตระจะใช้คำศัพท์นี้ไม่ได้ มันไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง มันต้องใช้ศัพท์อย่างหลวงพ่อพุทธทาสที่บอกว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” “มันเป็นอย่างนั้นเอง” นี่ถ้าหัวคนมันชอบคิด จะอุทานออกมาเป็นโวหารใหม่ ชนิดที่ทำความเข้าใจได้กระจ่างชัดว่ามันเป็นอะไร “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

มันไม่อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน


มันไม่อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน  
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

มันไม่อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันนี่พอเราตื่นขึ้นมันก็มีแล้ว แต่ว่ามันไม่ดูกัน พวกกันเองไม่ดูกัน มันไม่ศึกษาพวกมันเอง มันไปศึกษาภายนอก ไปดูภายนอก พวกกันเองอยู่ด้วยกันไม่ดูกัน พวกกันเองคือพวกขันธ์ห้า ตัวสังขารมันไม่ปรุงไม่วิเคราะห์ให้มาสนใจปัจจุบัน เวทนามันปรากฏตั้งแต่ตื้นขึ้น รู้สึกเฉยๆ นี่ก็เป็นเวทนา มันเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาพวกเดียวกันเอง ดูพวกเดียวกันเอง แต่มันไม่มอง ไม่มาศึกษา

เวทนามันก็เป็นปัจจุบัน รู้หรือวิญญาณนี่มันเกิดพร้อมกันกับเวทนา ตัวปรุงคือตัวสังขารมันไม่มาปรุง มันไม่มาดู สังขารคือตัวคิด ตัวสติสัมปชัญญะ มันไม่มารู้ตัวเอง ก็เลยไม่เป็นสัมปชัญญะ สติมันไปรู้ภายนอก ภายนอกที่เห็นได้ชัดก็ประกอบไปด้วย การเห็น การได้ยิน การสัมผัส เป็นต้น การปรุงแต่งนี่มันเอาอารมณ์เก่าที่สะสมไว้แต่กาลก่อนหวนกลับมาอีก เรื่องเก่าในอดีตเป็นอารมณ์เก่า ของเก่า นั่นคือไม่อยู่กับเวทนาในปัจจุบัน มันก็ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะมันไม่รู้ตัว แทนที่จะรู้ตัว รู้กายในปัจจุบัน รู้เวทนาในปัจจุบัน มันกลับไปรู้อยู่ภายนอก ไปเกี่ยวข้องกับภายนอก กับอารมณ์ภายนอก มันก็เลยไม่เข้าใจ เพราะมันศึกษาไม่ถูกจุด มันเรียนรู้ไม่ถูกจุด มันค้นหาไม่ถูกจุด มันก็เลยไม่แก่กล้า ไม่สัมผัส ไม่มีพลังเพียงพอ มันไม่ปฏิบัติการบ่อยๆ เนืองๆ

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนท่านจึงบอกว่าอย่าลืมพุทโธ ท่านพูดสอนไว้แบบนั้น การไป การมา การเดินบิณฑบาต อย่าลืมพุทโธ ภาษาพระโบราณท่านพูดให้มันบ่อยๆ เนืองๆ แต่คนก็มาท่องบ่นคำว่า พุท-โธ ๆ ๆ มันก็เข้าใจไปคนละแบบ นั่นมันเป็นพุทโธภายนอกไม่ใช่พุทโธภายใน พุทโธที่มันละเอียด ลึกซึ้งกว่าก็คือ ถ้ายังไม่ตายนั่นล่ะมีพุทโธแล้ว ตั้งแต่ตื่นขึ้นนั่นมีพุทโธแล้ว พุทโธ แปลว่า รู้ มันไม่มาดูรู้ รู้ก็คือปัจจุบัน ปัจจุบันก็คือพุทโธ ก็คือทางสายกลาง ก็คือสิ่งที่มันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต อนาคต ตั้งแต่ตื่นขึ้นมันก็รู้ทันที รู้ตัวทันที นั่นคือมีสัมปชัญญะ รู้ตัว มีสติสัมปชัญญะ มันรู้ตัวอยู่ขณะที่ยังไม่ตาย

แต่คนส่วนมากเข้าใจคำว่า “พุทโธ” ไกลไป หยาบไป ห่างไป เข้าใจระดับชาวบ้านเกินไป มันก็เลยไม่ตรงจุด มันก็เลยไม่กระจ่าง พุทโธมันมีแล้วตั้งแต่ตื่นขึ้น มีตัวรู้แล้ว ถ้าไม่มีรู้ก็ไม่มีตัว สัมปชัญญะคือรู้ตัว รู้ตัวรู้ ไม่มีตัวอยู่ที่อื่น ตัวอยู่ที่รู้ โดยมากรู้มันก็มารู้อยู่ที่กาย ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า จึงว่ามันเป็นการศึกษาพวกมันเอง ค้นคว้าพวกกันเอง

ศึกษาที่ของจริง


ศึกษาที่ของจริง
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ศึกษาที่ของจริง ส่วนใหญ่มันข้ามของจริงไป ข้ามปัจจุบันไป มันก็เลยเป็นไปในลักษณะความโลภ เป็นความโลภ ความอยาก ไม่ยินดีในของที่มีอยู่ ของที่มีอยู่ไม่พอใจ ไม่ยอมรับของที่รู้อยู่เห็นอยู่ในปัจจุบัน มันมีอาการทะยานอยาก อยากได้มากกว่าที่มีอยู่ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น เช่น อยากเป็นสมาธิ อยากสงบ มันก็เลยข้ามของจริง ข้ามปัจจุบันไป นี่คืออาการของกระแสสังคม กระแสความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณ มันเป็นอยู่แบบนั้น มันจึงข้ามของจริงไป ข้ามปัจจุบันไป มันเป็นกิเลส เป็นความโลภ ทะยานอยาก อยากในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อยากได้ในสิ่งที่ยังไม่มีมา คือมันไม่เป็นปัจจุบัน มันเป็นอนาคตอยู่ อยากเป็นสมาธิ อยากสงบ นี่มันเป็นอนาคตแล้ว เป็นความโลภแล้ว เป็นความไม่พอใจในของที่มีอยู่ รู้อยู่ สรุปก็คือหลง มันก็เลยไม่ตรง ปฏิบัติไม่เป็นทางสายกลาง ปฏิบัติไม่จริงตามปัจจุบันที่มันจริงอยู่แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติไม่จริง ปฏิบัติมาก ขยันมาก เพียรมาก แต่ก็ไม่จริง อดหลับอดนอน อดข้าวอดน้ำ เดินจงกรมจนเหนื่อยจนล้า แต่ก็ไม่จริง เพราะมันข้ามของจริงไป ข้ามปัจจุบันไป ข้ามของที่มีอยู่ไป ไปทะยายนอยากในของที่ยังไม่มี ยังไม่มาถึง มันก็เลยเป็นระดับโลกีย์ ระดับโลก เป็นกระแสชาวโลก เป็นพฤติกรรมของชาวบ้าน มันเลยเป็นการปฏิบัติโลก ไม่ใช่ปฏิบัติธรรม มันก็เลยไม่รู้ธรรมเห็นธรรมสักที เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองปฏิบัติธรรม แต่จริงๆ ปฏิบัติแบบโลก ไม่ใช่แบบธรรม

มันทำหน้าที่ของมันอยู่ตามธรรมชาติ มันฉายอยู่แล้ว มันโชว์อยู่แล้ว แจ่มแจ้งอยู่แล้ว ไม่ยอมรับ ไปทะยานอยาก หน้าที่ก็คือหน้าที่ของขันธ์ห้า มันทำการของมันอยู่แล้ว มันปฏิบัติการของมันอยู่แล้ว มันเป็นจริงของมันอยู่แล้ว แต่ไม่เอา ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับมันก็เลยข้ามไป มันข้ามไปแล้ว ข้ามก็คือข้ามปัจจุบันไป ข้ามไปก็คือไม่ตรง ไม่ตรงมันก็ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางไม่ได้เดินสักที ไม่ได้ปฏิบัติพอดี มันปฏิบัติเกินไป พอดีก็คือสิ่งที่มีอยู่ โชว์อยู่ สิ่งที่รู้อยู่ สิ่งที่มันเป็นพุทโธอยู่ในปัจจุบัน พุทโธในปัจจุบันไม่เอา จะไปเอาพุทโธในอนาคต พุทโธก็คือรู้ รู้อยู่ในปัจจุบันไม่เอา นี่ก็หมายความว่าไม่เอาพุทโธในปัจจุบัน จะไปเอาพุทโธอนาคต มันก็เป็นพวกเดียวกันกับความโลภ ความทะยานอยาก ความไม่อิ่ม ไม่พอ ไม่พอใจในของที่มีอยู่ นี่คืออาการที่เราจะเห็นได้ ถ้าเราสังเกตดู

“รู้” นั้นมันไม่ได้เป็นทุกข์ คำว่า “เป็นทุกข์” นี่มันเป็นคำที่ชวนให้หลงมากมาย ชวนให้เข้าใจผิด มันไม่มีอะไรที่จะเรียกว่าทุกข์ มันมีอะไรมาขวางอยู่นั่นจึงบอกว่าทุกข์ เป็นทุกข์ มันมีอะไรเกิดขึ้นมันก็รู้เท่ากันหมด รู้เหมือนกันหมด มันเป็นเพียงแต่ว่ารู้ อย่างคำว่า “รู้สุข-รู้ทุกข์” “เป็นสุข-เป็นทุกข์” คำศัพท์สองคำนี่ก็ชวนให้หลง คำว่า “สุข-ทุกข์” มันก็เป็นพวกเดียวกันกับ “เกิด-ตาย” เวียนเกิดเวียนตายในวัฏฏสงสารนี่แหละ เมื่อมีคำว่า “สุข-ทุกข์” มันก็มี “เกิด-ตาย”

คำที่มันชัดเจนมากกว่า คือ คำว่า “เกิด-ดับ” คือ อนิจจัง หรือ “ไม่เที่ยง” เป็นศัพท์ที่ไม่ชวนให้หลง แต่สังคมก็นิยมใช้ นิยมพูดกันว่า สุข-ทุกข์, เกิด-ตาย ซึ่งมันเป็นคำที่ไม่ตรง มันชวนให้เข้าใจผิด พระก็พูด โยมก็พูด แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว สอนกันว่ามีสุขมีทุกข์ มีบุญมีบาป มีเกิดมีตาย มีรักมีชัง เหล่านี้มันเป็นพวกเดียวกัน เป็นทำนองเดียวกัน แล้วเมื่อไหร่มันจะจบสักที มีเกิดมีตายอยู่นี่ มีได้มีเสียอยู่นี่ มีร้องไห้มีหัวเราะอยู่นี่ มันก็พวกเดียวกันกับคำว่าสุข-ทุกข์

เพราะฉะนั้น คำว่า “สุข-ทุกข์” นี้ไม่ต้องกล่าว มันจึงจะถอนทิฏฐิในความที่มันเคยชิน เคยตัวมาแต่เดิม ให้ใช้คำว่า “เกิด-ดับ” หรือ “อนิจจัง” แทน มันจึงจะไม่สร้างตัวตนขึ้นมา มันจะเป็นการลบอัตตาไปพร้อมกัน ลบตัวที่มันเข้าใจผิด ตัวที่มันทำให้เห็นแก่ตัว

รู้แบบไหน มันก็เป็นแต่เพียงหน้าที่ของมัน รู้เฉยๆ ก็ตามหน้าที่ของมัน รู้สุข รู้ทุกข์ นี่ไม่ต้องกล่าว อย่างร้อนนี่ บอกว่ารู้ร้อนก็พอ ถ้าไปบอกว่าร้อนมากเป็นทุกข์ หนาวมากเป็นทุกข์ นี่มันเป็นภาษาระดับโลกีย์ เป็นภาษาที่พูดแล้วชวนให้หลง คำว่า ทุกข์ ไม่ต้องไปกล่าวถึง ร้อนมากก็คือร้อนมาก หนาวมากก็คือหนาวมาก ไม่ต้องไปเติมมันว่าเป็นทุกข์ มันก็จะเข้าใจได้ง่าย เห็นว่ามันเป็นจริงอยู่แค่นั้น และเป็นการลบอัตตาไปในตัว ทำลายอัตตาไปในตัว และมันเป็นอาการตายตัว มันก็ดับตัวตน นี่คือนิพพาน ดับ เย็น ดับคือดับความรู้สึกที่ว่ามีอัตตา ไม่ใช่ดับร้อน ไม่ใช่ดับหนาว ไม่ใช่ดับเจ็บ ไม่ใช่ดับปวด ไม่ใช่ไปดับปวดหัว ดับปวดฟัน ดับเผ็ด ดับเค็ม ดับหวาน ดับขม นั่นมันบ้าแล้ว ถ้าคิดแบบนั้นยิ่งหลงไปกันใหญ่

ทุกอาการมันเป็นหน้าที่เสมอกัน มีอิสรภาพ เสรีภาพเท่ากัน มีเกียรติเท่ากัน มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ร้อนก็มีเกียรติเท่ากับเผ็ด ร้อนมีเกียรติเท่ากับเค็ม ร้อนมีศักดิ์ศรีเท่ากันและมีเกียรติเท่ากันกับขม เป็นชนิดหนึ่งเหมือนกัน ถ้าไปพูดว่าเผ็ดมากเป็นทุกข์ หวานมากก็เป็นทุกข์ เค็มมากก็เป็นทุกข์ ขมมากก็เป็นทุกข์ นี่มีแต่เอาคำว่าทุกข์ไปใส่ให้มัน ไปกล่าวตู่มัน ทั้งๆ ที่มันเป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติของมัน มันมีตัวบุคคลไปตู่มัน ไปบอกไปกำหนดมัน ว่ามันทำให้ทุกข์ มันทำให้กูทุกข์ ให้ฉันทุกข์ ร้อนมากกูก็เป็นทุกข์ ปวดมากกูก็เป็นทุกข์ เจ็บมากกูก็เป็นทุกข์ นี่คือความเห็นหรือภาษาที่ชวนให้หลง มันไม่ชัดเจน มันไม่เป็นธรรม

หวานก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นทุกข์ เผ็ดก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นทุกข์ เค็มก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นทุกข์ จืดก็ไม่ต้องบอกว่าเป็นทุกข์ แล้วถ้าอร่อยทำไมไม่บอกว่าเป็นทุกข์ ไม่เอาคำว่าทุกข์พ่วงเข้าไป รวยก็เป็นทุกข์ จนก็เป็นทุกข์ นี่ก็พูดให้มันเท่ากันด้วยซิ การพูดว่าเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ อะไรก็เป็นทุกข์ นี่ใช้ได้ในฝ่ายโลกีย์ คือพูดให้มันกลัว ให้มันเกรง ต้อนมัน ไล่มัน แต่ฝ่ายระดับโลกุตตระ ระดับเหนือสุด มันไม่มีคำว่าเป็นทุกข์ ต้องแยกเข้าใจแบบนี้ การพูดว่าทุกข์เพื่อชี้ให้มันเห็น ให้มันกลัว ให้มันหนีจากทุกข์เหล่านั้น แต่ถ้าเอามาพูดผสมกัน มันก็ยุ่งเลย เอาฝ่ายโลกีย์กับฝ่ายโลกุตตระมาผสมปนเปกัน มันก็ไม่กระจ่างสักที ต้องแยกออกจากกันมันจึงจะเข้าใจได้ง่าย จึงจะกระจ่าง จึงจะคิดต่อไปได้ จึงจะเดินต่อไปได้ ถ้าคนไม่คิดมันก็ทื่อๆ อยู่เฉยๆ ไม่สงสัยอะไร เชื่อเรื่อยไป ได้ยินอะไรก็เชื่อ ใครบอกอะไรก็เชื่อ ถ้าคนคิดนี่มันจะเจอปัญหาความไม่ชัดเจน จึงต้องแยกออกเป็นคนละกองคนละฝ่าย

มันเป็นแต่ละหน้าที่ของมัน เป็นตัวของมันเองที่จะแสดงอาการนั้นๆ หนาวมันก็เป็นหน้าที่ ร้อนมันก็เป็นหน้าที่ เจ็บมันก็เป็นหน้าที่ เจ็บน้อย เจ็บมาก มันก็เป็นหน้าที่ ร้อนมากร้อนน้อยมันก็เป็นหน้าที่ หนาวมาก หนาวน้อย มันก็เป็นหน้าที่ เค็มน้อย เค็มมาก มันเป็นหน้าที่ เผ็ดน้อย เผ็ดมาก มันเป็นหน้าที่ ขมน้อย ขมมาก มันเป็นหน้าที่ เสียงดัง เสียงเบา มันก็เป็นหน้าที่ ตาเห็นชัด เห็นไม่ชัด มันก็เป็นหน้าที่ มันไม่ได้มีความแตกต่าง มันมีความเป็นธรรม มันไม่ได้รักสิ่งหนึ่งแล้วก็เกลียดอีกสิ่งหนึ่ง ถ้ารักสิ่งนี้เกลียดสิ่งนั้นนั่นคือความไม่เป็นธรรม ไม่เป็นธรรมก็เพราะไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักหน้าที่ ใจก็เลยลำเอียง ถ้ารู้สึกว่า เออ..อยู่สบายอย่างนี้ค่อยยังชั่วหน่อย นี่ไม่เป็นธรรมแล้ว โอ๊ย..เจ็บมากอยู่ไม่ไหวแล้ว นี่ลำเอียงแล้ว เจ็บมันเป็นหน้าที่ ถ้าไปรังเกียจมัน มันก็ไม่เป็นธรรม จะเอาแต่ฝ่ายที่ถูกใจ มันก็ไม่ถึงธรรม ไม่เห็นธรรม ใจก็ไม่บริสุทธิ์ มีอคติธรรม มันก็ไม่ตรัสรู้ธรรม มันก็ไม่หายตัว เพราะเอาตัวไปรองรับอยู่ ต้องย้ำมันอยู่แบบนี้ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนพูดในทำนองนี้ คิดว่าถ้าพูดแล้วเกรงคนอื่นเขาจะไม่เข้าใจ คนที่มีปัญญาเขาก็เลยไม่มีโอกาสจะได้ฟังเรื่องจริง ของจริง ไปพูดแต่เรื่องระดับทั่วไปเขาก็เลยคิดว่าศาสนาพุทธนี่สอนแต่เรื่องงมงาย เป็นพิธีกรรม เป็นประเพณี เป็นเรื่องความเชื่อ ไม่มีเหตุผล

นั่งเฉยๆ สบายๆ สบายมันก็เป็นหน้าที่ อยู่เฉยๆ ไม่เจ็บไม่ไข้ อากาศกำลังเย็นฉ่ำ นี่มันก็เป็นหน้าที่ ก็คือ “รู้” เหมือนกัน รู้ก็คือวิญญาณ คือหนึ่งในขันธ์ห้า เป็นหน้าที่ของขันธ์ห้า รู้สึกอากาศเย็นสบายๆ มันก็เป็นหน้าที่ของเวทนา ซึ่งเป็นขันธ์หนึ่งในห้าขันธ์ ตัวที่รู้พร้อมกับเวทนาก็คือวิญญาณ รู้สึกว่ามีความแตกต่างนั่นก็คือสัญญา ซึ่งเป็นตัวความจำ ถ้ามันปรุงขึ้นมันคิดได้ว่าอากาศร้อนไป อากาศหนาวไป อากาศดี ไม่ดี นั่นคือสังขาร ไม่ใช่ว่าใจเป็นตัวคิดตัวนึกอย่างที่คนทั่วไปพูดกัน ใจทำหน้าที่แค่รู้อย่างเดียวเท่านั้น สัญญาและสังขารนี่มันใกล้เคียงกัน แยกแทบไม่ออก มันเกิดพร้อมกันเลย มันเป็นบทบาทหน้าที่ของขันธ์ห้า เน้นทำความเข้าใจว่า “วิญญาณ” ไม่มีหน้าที่อื่น มีหน้าที่เดียวคือหน้าที่ “รู้” ตามไปรู้ทุกรูปแบบ รู้อยู่ที่ไหน รู้อะไร รู้แบบไหน นั่นคือมีวิญญาณประกอบอยู่ ย้ำประจำว่าฝ่ายนามสี่ตัวนี่จะไปด้วยกัน เกิด-ดับพร้อมกัน คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมกันเรียกว่าเป็นใจ เรียกว่าเป็นจิต อย่าให้มันแยกกัน ถ้าแยกกันมันทำความเข้าใจไม่ได้ สี่อย่างนี้มันต้องทำการพร้อมกัน เหมือนกับร่างกายนี้ก็ต้องมี ดิน น้ำ ไฟ ลม สี่อย่างทำการพร้อมกันจึงดำรงอยู่ได้ ตั้งอยู่ได้ ต้องย้ำจุดนี้ เน้นจุดนี้ เพราะจะศึกษาเรื่องขันธ์ห้านี้โดยเฉพาะ เรื่องอื่นรู้พอแล้ว ถึงเราไม่รู้ คนอื่นเขาก็รู้แล้ว แต่เราอยากจะรู้เรื่องนี้ตามศาสดาของเรา ที่ท่านรู้มาก่อนและบอกสอนต่อมา แล้วเราก็จะรู้ตามท่าน นี่คืองานที่พระจะต้องทำ

มันเป็นเรื่องเกิด-ดับ


มันเป็นเรื่องเกิด-ดับ
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

มันเป็นเรื่องอนิจจัง ไม่เที่ยง เรื่องเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด มองภายในให้มันละเอียด มันก็ดูที่ “วิญญาณัง อนิจจัง” มองให้มันเห็นในปัจจุบัน วิญญาณ ก็คือ รู้ หรือตัวรู้ แต่คนทั่วไปเข้าใจว่าวิญญาณคือตัวอะไรสักอย่าง มันก็ไขว้เขว ไม่ถูกต้อง “วิญญาณัง อนิจจัง” คือมันไม่เที่ยง เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา คือ “รู้” มันเกิด-ดับ เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น รู้ปวด แล้วมันก็ดับไป หรือ รู้เค็ม เมื่อเอาเกลือเข้าไปแตะลิ้น นั่นคือมันเกิดแล้ว ถ้าเค็มยังไม่มาปรากฏในปัจจุบัน มันก็ยังตายอยู่ ยังไม่ได้เกิด เวลาใดที่เกลือมาแตะลิ้น นั่นล่ะเกิดแล้ว เกิดภพ เกิดชาติแล้ว รู้เค็มก็เกิดชาติเค็มขึ้นมา เกิดแล้วมันก็ไม่เที่ยง มันอยู่ในกฎอนิจจัง มันไม่ได้กินเกลืออยู่ตลอดทั้งวัน มันไม่ได้มีรสเค็มอยู่ตลอดทั้งวัน เดี๋ยวมันก็ดับไป เมื่อไม่ได้สัมผัสกับความเค็ม ความเค็มก็ดับไป นั่นคือตาย มันเป็นภาษาภายใน ภาษาละเอียด ต้องทำความเข้าใจ ให้มันถึงต้นตอมัน ต้นตอคือ รูปนาม ขันธ์ห้า มันสุดอยู่ที่นี่ มันจบอยู่ที่นี่

ถ้าขยายไปภายนอก ก็มองว่า “เกิด” เหมือนอย่างลักษณะต้นมะพร้าวเกิด ต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นมะเขือเกิด มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ตั้งอยู่ระยะหนึ่ง แล้วมันก็ตายไป อยู่ในกฎอนิจจังเหมือนกัน แต่มันเป็น “เกิด” แบบภายนอก แบบหยาบ มันเป็นภาษาชาวบ้านเกินไป รู้แล้วว่ามันเกิดมันตายแบบนั้น แต่ภาษาภายในมันละเอียดกว่านั้น อย่างไรก็ดี มันก็มีลักษณะทำนองเดียวกัน เหมือนเปรียบเทียบว่ากินเค็ม มันก็เกิดเค็ม กินหวานมันก็เกิดหวาน กินขมมันก็เกิดขม

ถ้าขยายความต่อออกไป พวกชนิดอื่นๆ มันก็คล้ายกัน ในตำราท่านจึงเขียนแจกแจงเอาไว้เป็น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ฯลฯ ถ้าไม่เข้าใจมันก็งงอีก วิญญาณคืออะไร วิญญาณคือรู้ ตาเห็นรูปมันก็เกิดจักขุวิญญาณ เป็นรู้ ถ้าไม่มีรู้มันจะเห็นไม่ได้ เห็นกับรู้มันเกิดขึ้นพร้อมกันในปัจจุบัน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ตาเห็นรูปก็เกิดจักขุวิญญาณ หูได้ยินเสียงก็เกิดโสตวิญญาณ ส่วนฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ มันก็เหมือนกัน เป็นการหาวิธีมาพูด มาแสดง เพื่อทำความเข้าใจ ให้มันรู้ชัดเจน เป็นข้อมูลที่จะช่วยผลักดัน บีบคั้น ให้ศึกษาเพื่อให้รู้จริง

ถ้าอธิบายแบบนี้ สามารถที่จะเข้าใจคำว่า “วิญญาณ” กับ “รู้” ได้กระจ่างชัด รู้กับวิญญาณมันเป็นสิ่งเดียวกัน นี่มันจะกระจ่างเลย ถ้าไม่กระจ่างมันก็จะคิดว่าวิญญาณเป็นตัวเหมือนตัวมด ตัวสัตว์เล็กๆ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มีตัว มันก็เข้าใจผิดไปอย่างนั้น ท่านจึงกำหนดคำว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ฯลฯ ขึ้นมากำกับเพิ่มเติม อธิบายเพิ่มให้มันเข้าใจ ว่าวิญญาณมันไม่ได้เป็นตัว ถ้าคนมีหัวคิดฟังแล้วก็จะคิด ว่าทำไมวิญญาณมันมีเยอะจัง แสดงว่ามันไม่ได้เป็นตัวเราจริงๆ เพราะมันมีหลายตัว หลายวิญญาณ ทั้งๆ ที่เราก็มีคนเดียว มันก็จะขบคิดต่อไปในทำนองนี้ แล้วมันก็จะเข้าใจ อ๋อ..วิญญาณกับรู้มันเป็นอย่างเดียวกัน มันรู้ได้หลายอย่าง มันก็จะลงตัว แต่ถ้าไม่คิดพิจารณา มีแต่จำแล้วเชื่อมันก็ไม่กระจ่างสักที จำได้แต่ไม่เข้าใจ มันก็ไม่หายสงสัย มันก็เป็นนิวรณ์ ลังเล ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ เพราะมันไม่รู้ มันก็ไม่กล้าหาญในเรื่องนั้นๆ ถ้าเข้าใจแล้วมันก็องอาจกล้าหาญ สามารถแสดงออกโดยไม่เกรงกลัวใคร อธิบายออกมาได้ มันชัดเจนแจ่มแจ้งโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้คลุมเครืออยู่ มันก็ไม่งง ไม่ลังเล ว่าอะไรคือจิต อะไรคือใจ อะไรคือวิญญาณ อะไรคือรู้ เดี๋ยวก็พูดว่าใจ เดี๋ยวก็พูดว่าวิญญาณ เดี๋ยวก็พูดว่ารู้ ถ้าไม่กระจ่าง มันก็สับสน ไม่โล่ง ใจก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นความไม่บริสุทธิ์ในระดับละเอียด ระดับลึกซึ้ง ถ้าไม่บริสุทธิ์แบบภายนอก แบบหยาบมันก็หมายถึงไปคิดคดโกง หลอกลวง ต้มตุ๋น นั่นมันไกลไป ห่างไป ความบริสุทธิ์แบบละเอียด แบบภายใน แบบลึกซึ้ง นี้มันรู้ได้เฉพาะตน เป็นปัจจัตตัง

กฎอนิจจังมันเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติ หน้าที่ที่เป็นมา ให้มาแล้ว ถ้าหน้าที่แบบภายนอก แบบชาวบ้าน ก็อย่างเช่น เป็นนักเรียนต้องไปโรงเรียน เป็นครูต้องไปสอนหนังสือ เป็นคนขับรถก็ต้องไปขับรถ เป็นชาวนาก็ต้องไปทำนา มันทำหน้าที่เหมือนกัน แต่เป็นหน้าที่ภายนอก มันต้องเปรียบเทียบให้ได้ชัดเจน ทั้งแบบหยาบ แบบละเอียด แบบใกล้ แบบไกล หน้าที่เหล่านั้นมันเป็นหน้าที่แบบโลก ใช้ปัญญาแบบโลก ที่เรียกว่า โลกียปัญญา ไม่ใช่โลกุตตรปัญญา มีปัญญาเหมือนกัน ฉลาดเหมือนกัน เหนือชั้น เก่งเหมือนกัน แต่มันเป็นโลกียปัญญา โลกียรู้ นี่คือความแตกต่าง ถ้าไม่เก่ง ไม่มีความรู้ ก็สร้างเครื่องบินไม่ได้ มันต้องมีปัญญา แต่เป็นโลกียปัญญา

มันดำเนินอยู่ในลักษณะการเกิด-ดับ ค้นอยู่ที่นี่ ค้นอาการเหล่านี้ ในรูปกับนาม ในกายกับใจนี่ ค้นในขันธ์ห้านี่ จ้องดูที่นี่ อย่างไปสนใจอย่างอื่น อย่าไปสนเรื่องอื่น ถ้าไปสนอย่างอื่นมันไกลออกไปแล้ว ไม่ใช่ทางเข้าแล้ว ถ้ามันจะใช่มันก็ใช่แบบโลกีย์ ไม่ใช่แบบโลกุตตระ ซึ่งเป็นระดับที่เหนือโลก นี่คือหลักวิชาการ นี่คือทางที่จะต้องเดิน

มันเป็นความรู้ เป็นหลักวิชาการ ที่จะทำลายตัวเอง เป็นวิชาที่จะทำลายตัวเองให้หมดไป ถ้าพูดแบบใช้โวหาร มันก็พูดแบบนี้ ไม่ใช่หลักวิชาการที่จะไปทำลายผู้อื่น ไปลบผู้อื่น มันเป็นวิชาที่จะต้องลบตัวเอง ไม่มีบวก ลบอย่างเดียว ลบตัวเอง ลบด้วยอะไร ลบด้วยรู้ตามเป็นจริง ไม่ใช่ลบด้วยอย่างอื่น ไม่ใช่เอาอาวุธไปไล่ฆ่า ไล่ฟัน ไล่แทง มันลบด้วยการรู้ด้วยวิชชา ลบด้วยวิธีที่รู้จริงตามเป็นจริง นี่คือจุดหลัก ไม่ใช่ไปไล่ฆ่ากิเลส นั่นมันเป็นคำพูดชวนให้หลง บอกว่าให้ไปละ โลภ โกรธ หลง นั่นมันชวนให้หลง มันเป็นคำพูดระดับโลกียะ พูดได้ในสังคมระดับชาวบ้านทั่วไป เพราะว่าโดยปกติชาวโลกเขาก็ทำการละ โลภ โกรธ หลง อยู่แล้ว

มันเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ ที่จะต้องมีการเกิด-ดับ ความโกรธมันก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดเวลา ความโลภมันก็ไม่ได้ตั้งอยู่ตลอดเวลา ความชังมันก็ไม่ได้ยืนตัวอยู่ตลอดเวลา มันมีความรัก ความชัง อยู่ในลักษณะเกิด-ดับ มีความขมอยู่ในลักษณะเกิด-ดับ มีความอร่อยและไม่อร่อยอยู่ในลักษณะเกิด-ดับ เห็น ไม่เห็น ได้ยิน ไม่ได้ยิน อยู่ในลักษณะการเกิด-ดับ มันเป็นภาษาอีกรูปแบบหนึ่งที่หามาพูด ถ้าพูดตามกันตามกระแสก็พูดว่ามันอยู่ในกฎไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง แต่มันก็ยังไม่กระจ่าง ยังเข้าใจไม่ชัดเจน พูดกันติดปาก แต่มันก็ไม่เข้าใจ มันเข้าใจไม่ได้ นี่คือความยากของมัน

“ไตรลักษณ์” นี่พูดกันว่ามีสามอย่าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนเป็นกาแฟทรีอินวัน แต่คำว่า “ทุกขัง” นี่มันก็ชวนให้หลง จึงละไว้ ไม่พูด จะพูดว่ามีแค่สองคือ อนิจจัง อนัตตา เป็นทูอินวัน ถ้าพูดคำว่า “ทุกขัง” นี่มันชวนให้เข้าใจไปในระดับโลกีย์ เข้าใจว่ามีตัวคอยทุกข์อยู่นั่น มีตัวอัตตาขวางทาง รองรับอยู่ มันเลยเป็นทุกข์ ดังนั้นในระดับโลกุตตระ คำว่า “ทุกขัง” ไม่ต้องกล่าว กล่าวแค่อนิจจัง อนัตตา พอแล้ว นั่นมันชัดเจนแล้ว ไม่ได้ลบคำว่า “ทุกขัง” ทิ้ง แต่ว่าพูดแล้วมันชวนให้อยู่ในระดับโลกียะ จึงละไว้ ไม่พูด ต้องแยกให้มันชัด ไม่ต้องเอามาปะปนกัน เอาไว้คนละภาชนะ “อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา” อยู่กาละมังหนึ่ง ส่วน “อนิจจัง-อนัตตา” ก็แยกไว้อยู่อีกกาละมังหนึ่ง มันจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

กำหนดร่างกายให้มันรู้สึกเป็นของหนัก


กำหนดร่างกายให้มันรู้สึกเป็นของหนัก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

กำหนดร่างกายให้มันรู้สึกเป็นของหนัก สังเกตการณ์ให้มันเห็นเป็นของหนัก บ่อยๆ เนืองๆ ให้มันเห็นตามสิ่งที่มันเป็นจริง ร่างกายเป็นของหนัก ร่างกายเป็นภาระ ร่างกายเป็นเหมือนหุ่น ตุ๊กตา ซากศพ กำหนดบ่อยๆ เนืองๆ ให้มันเข้าไปสัมผัส เข้าไปรู้จริงตามความเป็นจริง ต้นเหตุของปัญหาทั้งหลายมันอยู่ที่ความไม่รู้จริง ร่างกายหนักมันก็ไม่รู้ว่าหนัก หอบของหนักไปตลอดเวลา แบกไป หิ้วไป นั่งอยู่กับของหนัก นอนอยู่กับของหนัก เวลาลุกขึ้นให้สังเกตดูเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ตอนที่ดันหรือพยุงของหนักขึ้น มันแย้มให้เห็น ปรากฏให้เห็นอยู่ ถ้าไม่เห็นก็แสดงว่ายังไม่รู้จริง ไม่มีกระแสที่จะรู้ตามเป็นจริง

มันก็ต้องหาอุบายเปรียบเทียบจากภายนอก อย่างเช่น เสื้อผ้านี่ก็เป็นของหนัก เอาไปเสริมเข้า เสริมของหนักที่มันมีอยู่ก่อนแล้วคือร่างกาย คือซากศพ เสื้อผ้าหลายตัวก็หนักเป็นกิโลฯ สังเกตการณ์ เปรียบเทียบ เทียบเคียง พิจารณาให้มันเห็นตามเป็นจริง นี่คือทำความเพียร เพื่อจะรู้จุดนี้ เพื่อจะเข้าใจในเรื่องนี้ ใส่รองเท้าก็เป็นการเพิ่มของหนัก แม้แต่หิ้วของ มันก็เสริมก็พ่วงเข้าไปให้มันหนักยิ่งขึ้นอีก ร่างกายมันหนักอยู่ก่อนแล้ว บอกให้มันเห็น ชี้ให้มันเห็น แนะนำให้มันเห็น หิ้วกระเป๋า สะพายย่าม อุ้มบาตร เสริมของหนักภายนอกเข้าไป มองให้เห็นว่ามันเป็นของหนัก เป็นการเห็นแบบหยาบๆ เห็นแบบภายนอก ผ้าสังฆาฏิติพาดบ่าเข้าไปมันก็หนัก แบกไม้ ถือไม้ แบกหามสิ่งของ ยกก้อนหิน วัตถุต่างๆ เอาเสริมเข้าไปด้วยการหิ้ว การแบก ก็ยิ่งเพิ่มของหนักให้กับของหนักที่มีอยู่เดิม นี่เป็นวิธีการทำความเพียร เพียรด้วยพุทโธ เพียรด้วยใจ รู้เข้าไป ตามเข้าไป รู้ด้วยรู้ ไม่ใช่รู้ด้วยไม่รู้

ของที่เสริมเข้าไป เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า อาหาร สิ่งเหล่านี้ไม่มีรู้ในตัวเอง ร่ายกายมันก็ไม่มีรู้ในตัวเอง มันเป็นวัตถุ ให้เข้ามาศึกษา มารู้ในสิ่งที่ไม่มีรู้นี่ซะ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ จะเรียกว่าหลักวิชาการก็ว่า ปัญญาก็ว่า ทำความเพียรก็ว่า คิดดูก็ว่า หาวิธีว่าเข้าไปในจุดนี้ บ่อยๆ เนืองๆ เป็นความไม่ประมาท “สังขารทั้งหลายมีความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี่เป็นพระวาจาในครั้งสุดท้ายของตถาคต” ถ้าไม่ทำงานด้วยการเจาะ การไช การขบคิดพิจารณาด้วยสติปัญญา มันก็เป็นการประมาท คำว่า “ไม่ประมาท” ก็เป็นคำเดียวกันกับคำว่า “ความเพียร” รสชาติแบบเดียวกัน ถ้าไม่สนใจที่จะรู้ ไม่พากเพียร ไม่จิ้มไม่เจาะ นั่นคือ ประมาท มันจะหมดเวลาแล้ว คือร่างกายมันจะตายเวลาไหนวันไหนก็ไม่รู้ เมื่อชีวิตยังอยู่ก็ยังมีเวลา ยังมีโอกาส ให้รีบเข้า อย่าประมาท มันจะหมดเวลาก่อน คนไม่สนใจมันก็ประมาทโดยอัตโนมัติ มันไปสนใจเรื่องอื่น ไปสนใจอยู่กับหมู่พวก กับครอบครัว กับสามีภรรยา กับการงาน มันยังประมาทอยู่ ยังอยู่ไกลมาก เหล่านั้นมันไม่ใช่เรื่องการศึกษาตัวเอง หรือรู้ตัวเอง นั่นคือประมาท ชาวโลกทั้งหลายประมาท ชาวบ้านทั้งหลายประมาท ประมาทของท่านมันหมายถึงภายในแบบลึก ชาวโลกยังรื่นเริงสนุกสนานอยู่กับรูป กับเสียง กับดีด กับเต้น กับร้อง กับดนตรี ทั้งหลาย มันอยู่คนละฟากฟ้าแดนดิน นั่นคือกระแสสังคมโลกมนุษย์ โลกียวิสัย มันก็เป็นอยู่แบบโลกๆ มันไม่ใฝ่เพื่อจะพ้นโลก เพื่อจะเหนือโลก นั่นคือ ความแตกต่าง มันก็ประมาทโดยไม่รู้สึกตัว

เวลาจะลุกขึ้นนี่มันหนัก ต้องพยุงตัวเองขึ้น คนแก่ต้องเอามือค้ำยัน เอาก้นขึ้นก่อน เพราะมันเป็นของหนัก สังเกตการณ์เวลาจะลุกนี่มันหนัก เป็นอิริยาบถระดับหยาบๆ เห็นได้ง่าย ใกล้เคียงต่อการเห็นความจริง ขณะพยุงกายลุกขึ้น เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะแทรกเข้าไปรู้จริงได้ มันจะมาให้สัมผัสได้ในขณะนั้น เอาความรู้เข้าไปสังเกตการณ์ในขณะนั้น นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งในการทำความเพียร คือดูขณะที่มันกำลังทำการหนัก พยุงร่าง พยุงซากอันหนักนี้ขึ้น จึงยืนได้ ยืนแล้วก็ยังต้องมีการทรงตัวไว้ แต่มันเป็นระดับละเอียด มันสังเกตได้ยาก เข้าใจยังไม่ได้ การทรงตัวก็คือการทรงซากศพที่มันไม่รู้อะไร มันทรงจนเคยตัว จนเคยชิน ไม่รู้เลยว่าเราประคับประคองหรือทรงตัวร่างอันหนักนี้ไว้ มันละเอียด แนบเนียน มันชำนาญ มันชิน มันคล่อง จนไม่เข้าใจ ไม่ปรากฏ ไม่สัมผัส เหมือนคนปั่นจักรยานเป็นแล้ว จับมาขึ้นขี่ไปได้เลย เหมือนไม่ได้ประคองอะไรเลย เหมือนมันเป็นอันเดียวกัน นี่คือความเคยชิน มันไม่ได้สังเกตการณ์ ก็เลยไม่เห็นจริงตามเป็นจริง ว่าเราได้มีการประคองตัวอยู่ พยุงอยู่ มันละเอียดมาก

ซากศพ ร่างกายของเรา มันก็ละเอียด มันเคยตัว มันชินแล้ว ยืนขึ้นก็ต้องประคอง เดินไปก็ประคอง เหมือนอย่างเวลาเดินไปในทางที่มันขรุขระ มันมีอาการเซ จะล้ม มันต้องประคองตัว ทรงตัว พยุงร่างอันไร้วิญญาณ อันเป็นธาตุสี่ ถ้าประคองไม่ดีมันก็ล้มได้ เอนเอียงไปก็ได้ มันเป็นการประคอง มันถูกพยุงโดยส่วนที่เป็นนาม นามมันใช้ร่างอันไร้วิญญาณ ร่างอันไม่รู้ คือร่างกายนี้มันไม่รู้ ซากศพนี้มันไม่รู้ ตัวรู้คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นมันมาใช้ตัวไม่รู้ หรือมาใช้กลุ่มไม่รู้คือกลุ่มธาตุสี่

เพียงเท่านี้มันก็ยังไม่กระจ่าง ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา นี่ “มันรู้ปลอม” มันรู้ไม่จริง มันรู้จริงตามเป็นจริงไม่ได้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตำราก็เขียนไว้ชัดเจนว่า รูปคือรูป แต่ความรู้สึกของเรามันก็ไม่รู้ตามนั้น มันไม่ยอมรับตามนั้น ไม่ได้สัมผัสรสชาติตามนั้น นี่คือ รู้ไม่ได้ มันก็เลยยังเป็นนักศึกษาอยู่ ทำอย่างไรจะรู้ได้ จะจบได้ “รู้” มันไม่รู้ตามเป็นจริง นี่คือปัญหา นี่คืองานที่จะต้องทำให้สำเร็จลุล่วงไป มันเป็นงานของภิกษุหรือผู้เห็นภัยโดยเฉพาะ เป็นงานของผู้ที่ใฝ่จะรู้จริง ใฝ่ที่จะหนีจากโลก แต่ว่าก็ต้องมาย้ำทวนอีกว่า จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีอะไรหนี ไม่ได้มีอะไรอยู่ มันพูดตามศัพท์ที่เขาใช้กันอยู่เท่านั้น ย้อนกลับไปกลับมา อย่าให้มันเผลอไปเข้าใจผิด คำว่า “ผู้ใฝ่ที่จะหนีจากโลก” นำมาพูดได้ แต่ความหมายจริงๆ คือมันเป็นแค่ขันธ์ห้าที่ เป็นแค่รูปนาม ไม่มีเจ้าของ มันไม่มีใคร ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีใครหนี ไม่มีใครอยู่ มันต้องสับให้แตก ให้ชัดแจ้ง ไม่ให้มันคล้อยตามไปในทางหลง

คำศัพท์ที่ชัดเจน ไม่ชวนให้หลง ก็คือ “รู้จริงตามเป็นจริง” ถ้าถามเข้าไปว่า จะเอาอะไรมารู้ ก็เอาพวกมันเองนั่นแหละ พวกมันเองให้รู้กันเอง พวกมันเองก็คือขันธ์ห้า มันไม่รู้ตัวเอง จงมารู้จักตัวเอง

หลวงพ่อพุทธทาส ท่านเขียนไว้ว่า “จงรู้จักตัวเอง คำนี้หมายว่า ค้นพบแก้วได้ในตัว หานอกตัวไปทำไมให้ป่วยการ ดอกบัวบานอยู่ในเราอย่าเขลาไป ในดอกบัวมีมณีที่เอกอุตม์ เพื่อมนุษย์ค้นหามาให้ได้ การตรัสรู้หรือรู้สิ่งใดใด ล้วนมาได้จากความรู้ตัวสูเอง” มันเป็นคำอุทานที่ท่านเขียนออกมาชัดเจน “ตัวสูเอง” ก็คือ “ขันธ์ห้า” ขันธ์ห้ามันเป็นมาโดยหน้าที่ของธรรมชาติ เป็นจริงตามธรรมชาติ ธรรมชาติให้มีมาแบบนี้

งานที่เราต้องทำก็คือเรื่องอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่มันก็เป็นจริง เป็นของจริง มันไม่เหลือวิสัยของผู้พากเพียร ผู้ไม่ประมาท พระพุทธเจ้าจึงบอกย้ำว่า “อย่าประมาท”

สัมปชัญญะคือรู้ตัว


สัมปชัญญะคือรู้ตัว บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

สัมปชัญญะคือรู้ตัว ไม่ใช่รู้อย่างอื่น รู้ตัวรูป เบื้องต้นคือรู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว สติก็คือรู้ สิ่งที่ให้รู้ก็คือรู้ตัว คำว่า “สติ” ไม่ต้องไปแปลเป็นอย่างอื่น สติ แปลว่า “รู้” ถ้าไม่มีรู้ก็ไม่มีสติ มันเป็นวิธีการที่จะทำความเข้าใจให้ได้ง่ายขึ้น จึงบอกว่า สติคือรู้ รู้ก็คือรู้ตัว รู้ตัวคือสัมปชัญญะ จึงพูดรวมกันว่าสติสัมปชัญญะ

ปัญหาคือมันไม่รู้ตัว รู้นี่มันรู้อยู่ มีสติอยู่ แต่ว่ามันไม่มีสัมปชัญญะ นี่คือตรงที่มันยังผิด มันยังไม่เป็นธรรม ยังไม่ได้ปฏิบัติการในรูปแบบของคำว่า “สัมปชัญญะ” มันแส่สายไปกับอารมณ์อื่น มันไปสัมปชัญญะอยู่ที่อื่น มันไม่สัมปชัญญะอยู่ที่กาย ตัวคือกาย คือสักกายทิฏฐิ สัมปชัญญะไม่มารู้อยู่นี่ นี่คือสิ่งที่เข้าไม่ถึง สัมผัสไม่ได้ รู้ไม่ได้ ยังเป็นไม่ได้ มีสติอยู่ แต่ไม่มีสัมปชัญญะ

มันรู้อยู่ แต่มันรู้ปลอม รู้ตัวว่าเป็นตัว รู้ไม่จริง รู้ไม่ถูก ต้องย้ำต้องสับไปสับมา “ต้องรู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว” นี่คือสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่บอกว่ารู้จริงคือเห็นรูปมันเป็นรูปเฉยๆ เป็นหุ่นเฉยๆ เป็นตุ๊กตาเฉยๆ เป็นซากศพเฉยๆ นี่คือคำว่าสัมปชัญญะ ให้รู้แบบนี้ แต่มันรู้เข้าจุดนี้ไม่ได้ จึงว่ามันไม่รู้จริง มันมีรู้แบบเป็นอัตตา แบบเป็นตัวตน มันก็เลยเป็นต้นเหตุแห่งความโลภ ความโกรธ

ภาษาระดับชาวบ้านก็ว่าละ โลภ โกรธ หลง แต่คำศัพท์นี้มันแสดงถึงความเห็นแก่ตัว โลภ โกรธ หลง มันเกิดขึ้นเพราะการมีอัตตา เพราะอัตตาตัวตนเป็นต้นเหตุของมัน โลภ โกรธ หลง มันเป็นผลของอัตตาตัวตน คำว่า “หลง” นี่ก็ต้องเอาเข้าไปรวมกับคำว่า “อัตตา” เพราะมันหลง มันก็เลยโลภ ก็เลยโกรธ ถ้ามีอัตตาอยู่มันก็หลงอยู่ มีหลงอยู่มันก็มีอัตตาอยู่ มันก็ต้องหาวิธีพูดอธิบายแบบนี้ มันจึงจะเข้าใจ พูดแบบเดิมมันชินแล้ว พอได้ยินมันก็เหมือนเดิม ไม่กระตุ้นให้คิด ต้องหาวิธีพูดเพื่อทำความเข้าใจ ให้ปัญญาความคิดมันตามไป ตามไป ผู้ชี้นำก็นำไป นำไป ผู้ฟังก็ตามไป ตามไป ถ้ามันยอมรับได้ มันจะไปเห็นจริง ถ้ามันยังยอมรับไม่ได้ มันก็ยังไม่ยอมรับ มันก็เหมือนกับฝึกหัดขี่จักรยาน วันนี้ยังไม่เป็น พรุ่งนี้เอาใหม่ ฝึกใหม่ ทำบ่อยๆ เนืองๆ เจาะบ่อยๆ มันไม่มีวิธีอื่น นอกจากแบบนี้ ทำบ่อยๆ เนืองๆ นั่นคือทำความเพียร ที่หาคำศัพท์ หาสมมุติบัญญัติมาพูดอธิบาย ก็เพื่อให้เข้าใจตามสัจธรรมที่มันจริงอยู่แต่ดั้งเดิม

คำว่า “ละ โลภ โกรธ หลง” นี่มันใช้ได้กับระดับชาวบ้าน แต่ระดับที่พระพุทธองค์ต้องการ หรือเราต้องการ ไม่ใช่เรื่องการไปละ โลภ โกรธ หลง ปกติชาวโลกเขาก็มีการละ โลภ โกรธ หลง กันอยู่แล้ว ถ้าไม่ละ มันก็จะป่นปี้มากกว่านี้ ไม่รู้จักของเขาของเราหรอก ไม่รู้จักซื้อขายแลกเปลี่ยนหรอก เพราะว่าปกติมีการละ โลภ โกรธ หลง กันอยู่แล้ว สังคมโลกมนุษย์จึงพออยู่กันได้ มันต้องชี้ให้มันชัดเจน

คำว่า “ละ โลภ โกรธ หลง” มันค้านกับความจริงในระดับโลกุตตระ นำมาพูดปะปนกันมันก็ทำให้งง ทำให้สับสน ชวนให้เข้าใจว่าจะต้องมีใครไปคอยทำการละ โลภ โกรธ หลง อยู่นั่น ถ้าเป็นแบบนั้นมันก็ไม่จบ จบไม่ได้ มันก็เป็นระดับเดียวกันกับโลกมนุษย์ทั่วไป เป็นอัตตาอยู่ ไม่ได้เป็นอนัตตา

โลภ โกรธ นี่พูดแค่สองคำ ส่วนคำว่า หลง ไม่ต้องพูดถึง เพราะมันหลงอยู่แล้วตลอดเวลา หลงกับอัตตาไม่ต้องแยกกัน เป็นอันเดียวกัน เหมือนกันกับคำว่า รู้ และ สติ เป็นอันเดียวกัน ถ้าไม่รู้แล้วจะเอาอะไรมาเป็นสติ หลงคือสำคัญว่าเป็นอัตตา นั่นคือความผิด นั่นคือมิจฉาทิฏฐิ นั่นคือไม่รู้จริง มันต้องพูดเป็นหมวด เป็นหมู่ ของมัน

สติสัมปชัญญะ ในคำนี้ต้องเน้นที่สัมปชัญญะ เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องอบรมบ่มนิสัย ให้มันรู้ตัวว่าไม่ใช่ตัว บ่อยๆ เนืองๆ วิธีการที่พูดสอนอยู่ประจำนี่เป็นวิธีที่จะขุดถอนรากแก้วมัน ไม่สนใจจะไปตัดใบ ลิดกิ่ง เด็ดก้าน ตัดต้น มุ่งใส่ที่การขุดถอนรากแก้วอย่างเดียว ถอนรากแก้วแล้วคือเสร็จเรียบร้อย สิ่งที่พูดอบรมอยู่ทุกวันก็คือเป็นไปในรูปแบบนี้ส่วนมาก ไม่อย่างนั้นไม่จบ มันจะเกิดหน่อ เกิดแขนง แตกติ่ง แตกใบ ออกมาอีก แผ่กิ่งก้านสาขาเขียวชอุ่มสดชื่นต่อไป ถ้ารากแก้วไม่ขาด มันก็ไม่ตาย อย่างที่สวดกันเสมอว่า “เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนาดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ” ไม่ได้มุ่งเด็ดใบ ตัดยอด แต่มุ่งจะถอนรากแก้วทั้งราก แล้ว โลภ โกรธ หลง มันจะมีหน่อ มีแขนง มีใบ ได้อย่างไร ยอดมันจะแทงออกตรงไหน ถ้ารากแก้วมันขาดแล้ว นี่คือเปรียบเทียบกับต้นไม้ ยกต้นไม้เป็นอุปกรณ์การสอน สร้างความเข้าใจใหม่ ความเข้าใจเก่าให้โยนทิ้ง แต่ถ้าจะพูดจริงๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่มุ่งเข้าหาของใหม่ มันเป็นการมุ่งเข้าหาของเก่าดั้งเดิมแท้ๆ

อย่างสมัยนี้มันมีของใหม่ๆ วัตถุใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ออกมาให้ใช้สอยกันมากมายกว่าสมัยก่อน เชื้อเพลิงหรือปุ๋ยสำหรับกิเลสสมัยนี้มันจึงมีมากกว่าสมัยโบราณ คนมันติดกิเลส กิเลสมันเกิดมาก คนจึงไม่สนใจศีลธรรม เป็นเพราะพวกด๊อกเตอร์ทั้งหลายเป็นผู้สร้างกิเลสขึ้นมา เขาหลงคิดว่ากิเลสจะนำความสุขมาให้ เขาไม่ได้มองเห็นในจุดที่มันลึกซึ้งไปกว่านั้น ความรู้ที่เขาค้นพบใหม่ๆ ทั้งหลาย มีแต่การค้นพบกองกิเลส วัตถุกิเลส ทั้งนั้น แล้วก็สร้างผลิตกันออกมา เพราะฉะนั้นมันจึงมีกิเลสมากมาย มันก็เลยยิ่งห่างไกลจากธรรมะออกไปทุกที นี่พูดแบบนี้ก็ได้ มันจึงต้องเดินหันหลังให้กัน หันหลังให้โลกมนุษย์ โลกกับธรรมมันไปด้วยกันไม่ได้

โลกนี้เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โลก

โลกนี้เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โลก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

โลกนี้เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โลก เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เป็นสัจธรรมของมัน เป็นดั้งเดิมของมัน ธรรมชาติให้มา ให้มีความรู้สึกไปในทางเนื่องตามกัน ความเป็นแมลงเม่ามันก็ทำให้บินตามกันเข้ากองไฟ แล้วมันก็ตาย บินเข้าไปมากเท่าไหร่ก็ตายมากเท่านั้น มันไม่รู้จัก ธรรมชาติมันให้รู้แบบนั้น ต้องการแบบนั้น การบินเข้ากองไฟนั้นมันถูกหรือผิด มันจะตายหรือจะเป็น มันก็ไม่รู้ ไม่ได้คำนึงถึง

มองภาพกว้างๆ ให้มันเห็นความน่าเบื่อหน่าย เห็นเป็นภัย เห็นเป็นโทษ อยากหนี อยากไป อยากพ้น แต่นี่มันก็ยังไม่เห็นอย่างนั้น แม้ยุ่งยากลำบากขนาดไหนมันก็ไม่เห็นภัยในการเกิด ไม่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร มันจึงไม่ต้องการที่จะหนีไป จะพ้นไป เพราะมันไม่เห็นโทษ ไม่เห็นภัย มีแต่พากันอยากอยู่ โดยพยายามแก้ไขธรรมชาติ ดัดแปลงธรรมชาติ แต่จริงๆ มันแก้ไขไม่ได้ มีแต่ธรรมชาติมันจะหัวเราะเยาะเอา มนุษย์เองธรรมชาติก็ทำให้เกิดมา ยังอยากจะเหนือกว่าธรรมชาติอีก

บ้างก็พากันไปแสวงหาบุญ ทำบุญ ทำบุญเพื่อจะให้หมดภพหมดชาติ ทำบุญเพื่อจะเอา ทำบุญแบบเห็นแก่ตัว ทำบุญเพื่อจะทรงไว้ซึ่งความเกิดอีกต่อไป ให้เกิดมาดี เกิดมามีบุญ จะเกิดมาชาติไหนภพไหนมันก็ต้องทุกข์เหมือนเดิม มีโรค มีภัย อย่างเก่า ยังจะปรารถนาเอาบุญ หวังให้เกิดดี

พอเกิดมามันก็มีได้มีเสีย มีดีใจมีเสียใจ เหมือนเดิม ใช้ชีวิตอยู่แล้วก็ตายไปเหมือนเดิม ไม่เคยเห็นโทษของความเกิด มีแต่ปรารถนาที่จะเกิด คิดที่จะเกิด ตั้งใจที่จะเกิด จะทรงไว้ซึ่งตัวอัตตา ตัวตน เห็นแก่ตัว ความยึดมั่น ความเคยตัว ความเคยชิน มันมีมากมาย มันจึงทำบุญแล้วก็ปรารถนาให้ตัวเองเกิด หรือทำบุญให้ทานเพื่อให้หมดภพหมดชาติ มันทำกันไปตามกระแส ไหลตามกัน ธรรมชาติมันให้ทำตามกัน

เปรียบเทียบสังเกตดูซิว่า มันเกิด-ตายกันมากแค่ไหน ดูอย่างแมลงเม่านี่มันก็ยังมหาศาล สัตว์ทั้งหลายอยู่ในโลก ดิ้นรนหากินทั้งนั้น มองภาพกว้างๆ แล้วมันไม่ได้น่าอยู่ มันน่าหนีไป มนุษย์นี่มีความคิดความเห็นเหนือกว่าสัตว์อื่น มีความเห็นที่โน้มเอียงไปทางที่ถูกต้องเหมาะสม สัตว์อื่นมันมีโอกาสน้อย น้อยมาก โอกาสของพวกมันยังอยู่อีกไกล ไกลจากที่จะรู้ความจริง ไกลจากที่จะพ้นไป มันน่าเบื่อมาก มันทรมานมาก สัตว์ทุกตัวเกิดมาล้วนถูกทรมานด้วยน้ำมือของธรรมชาติ ให้กินกัน กินพืชก็มี กินสัตว์ด้วยกันเองก็มี วุ่นวายขัดข้อง น่ากลัว ซ้ำๆ ซากๆ เจ็บปวด ตายแล้วตายอีก มนุษย์นี่มีโอกาสมากกว่า ขนาดมีโอกาสมากกว่าแล้วมันก็ยังไม่เข้าใจ มันฉาบทา มันปกปิด มันมืดมิด มันพรางซ่อนไว้ ทำให้มองไม่เห็น มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่รู้ได้ยาก มันชอบไหลไปตามกระแส เหมือนแมลงเม่ามันบินตามกันเข้ากองไฟ มันไม่มีตัวไหนที่คิดแหวกแนว มันมีแต่คิดแบบเดียวกัน คิดว่าต้องบินเข้ากองไฟ กระแสมันเป็นแบบนั้น

พูดใกล้เข้ามาถึงมนุษย์ มนุษย์ก็ไม่รู้จัก มันก็ชอบตามกัน อย่างที่พูดกันว่า ปกครองแบบประชาธิปไตย นี่เปรียบเทียบมันก็เท่ากันกับแมลงเม่า คือไปตามกระแส ตามมวลชน ตามกระแสโลก นี่มันเป็นบทบาทของอนิจจัง ตามยุคสมัย ถือเอาเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนมากเป็นประมาณ ยอมรับว่าเป็นความถูกต้อง เหมาะสม เป็นสิ่งที่ดีที่สุด มันก็เลยทำให้รู้ไม่ได้ เพราะว่าธรรมชาติมันผลักดันให้เห็นดี เห็นงาม เห็นชอบตามกัน

มันไม่ได้มีใครจะคิดเปรียบเทียบกับหลักการพื้นฐานตามกฎที่ธรรมชาติให้มา คิดว่าตัวเองเหนือธรรมชาติ ทั้งผู้ได้รับการศึกษามาก ได้รับการศึกษาน้อย คนหนุ่ม คนแก่ คนเฒ่า มันก็เห็นด้วย เห็นตามกันแบบประชาธิปไตย นี่มันก็แบบแมลงเม่า มันไม่คิดขัดแย้ง เพราะสัญชาตญาณมันให้ความรู้สึกออกมาตรงกัน อำนาจธรรมชาติมันผลักดันหัวจิตหัวใจให้คิดแบบนั้น กำหนดให้มนุษย์เกิดมา กำหนดให้คิดแบบนี้ และให้เปลี่ยนกระแสความคิดไปในแต่ละช่วงเวลา แต่ละยุคสมัย บางยุคให้ชอบแบบมีผู้นำเป็นพระมหากษัตริย์คือราชาธิปไตยก็ได้ อย่างที่โบราณนิยมกัน ให้พระราชามหากษัตริย์เป็นผู้นำชี้ขาด ต่อมาก็ไม่เอา บอกว่าแบบนั้นมันเผด็จการ มันไม่เท่าเทียมกัน

มันไม่ได้มองลึกลงไปว่า “จะให้ได้ทุกอย่างดั่งใจหวังนั้นเป็นไปไม่ได้” มันเป็นสัจธรรมของโลก ดีและไม่ดีมันมาด้วยกัน ซื่อสัตย์และไม่ซื่อสัตย์มันมาด้วยกัน ผู้นำซื่อสัตย์และผู้นำไม่ซื่อสัตย์มันมาด้วยกัน ผู้นำโง่และผู้นำมีสติปัญญามันก็มาด้วยกัน มองให้มันลึกลงไปมันก็จะเห็นแบบนี้ จะให้มันตรง ให้มันราบรื่น เรียบง่าย ไม่มีปัญหาเลย มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันขัดกับสัจธรรมของความเป็นโลก ตามหน้าที่ของธรรมชาติที่ให้มา จะปกครองแบบประชาธิปไตยมันก็แค่นั้น สรุปลงมันก็แค่นั้น มันไม่ได้เหนือไปจากกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะปกครองแบบราชาธิปไตย หรือประชาธิปไตย มันก็ไม่ได้เหนือไปจากกฎไตรลักษณ์ เพราะมันเป็นกฎของสัจธรรม กฎของธรรมชาติ ตายตัวอยู่แล้ว แต่มนุษย์ก็ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ

บ้างก็พูดกันสอนกันว่า “อย่างยั่งยืน” ทำอะไรก็ทำอย่างยั่งยืน อยู่อย่างยั่งยืน คำพูดนี้มันน่าหัวเราะ มันไม่มีอะไรจะยั่งยืน แต่สังคมโลกมนุษย์ก็มาพูดสอนกันว่าให้มันยั่งยืน พอพูดคำว่า “ยั่งยืน” นี่ได้ยินแล้วมันน่าหัวเราะ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันผิดกฎธรรมชาติ ผิดกฎไตรลักษณ์ มันไม่มีอะไรจะยั่งยืน มนุษย์มาบัญญัติกันเองว่ายั่งยืน มันจึงน่าหัวเราะ คนระดับไหนล่ะที่พูดคำศัพท์นี้ ระดับมีการศึกษาสูงๆ ระดับปริญญา จบด๊อกเตอร์ก็พูดตามกัน ระดับพื้นฐานก็พูดตามกัน ระดับปานกลางก็พูดตามกัน เห็นตามกัน เมื่อมองตามกฎธรรมชาติแล้วมันไม่มีอะไรยั่งยืน เขาก็รู้อยู่ แต่ว่าก็เหมือนไม่รู้ มันก็ไหลไปตามกระแส จบสูงแค่ไหนก็ไหลตามกระแส เต็มไปด้วยความอยาก ดิ้นรน หาวิธีจะให้มันเรียบร้อย เป็นไปไม่ได้ที่มันจะเรียบร้อย จะราบรื่น จะยั่งยืน เป็นไปได้แค่บางจังหวะ เหมือนกันกับขากำลังก้าวไป ซ้าย-ขวาสลับกันไปตามจังหวะ

คำว่า “ยั่งยืน” เป็นไปไม่ได้ ธรรมชาติก็แสดงให้เห็นอยู่ชัดๆ ว่าไม่ยั่งยืน แต่ก็ยังพูดกันว่า “พัฒนาอย่างยั่งยืน” มันน่าหัวเราะ เป็นคำพูดที่ไม่ได้เป็นความจริง ธรรมชาติแสดงให้เห็นอยู่ แต่ก็ยังมองไม่เห็น คิดเปรียบเทียบไม่ได้ ไม่มีใครพูดขัดออกมาด้วยซ้ำ ไม่มีใครคิดขัดแย้งด้วยซ้ำ มีแต่พูดตามๆ กัน แล้วก็เชื่อตามกันทันทีโดยไม่คิด

แม้แต่กลางวัน–กลางคืน มันก็ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป คำพูดที่ตรงตามธรรมชาติก็ไม่ชอบพูดกัน ระดับมีการศึกษาสูงขนาดไหน ก็ไม่พูดให้ตรงตามหลักความจริง ฤดูแล้งมี ฤดูฝนมี แล้วมันจะยั่งยืนได้ยังไง แม้แต่ขากรรไกรขยับพูดอยู่นี่ มันก็ไม่ยั่งยืน ถ้ามันยั่งยืนมันจะออกมาเป็นเสียงนั่นเสียงนี่ได้หรือ แม้แต่เคี้ยวข้าวกินมันก็ยังไม่ยั่งยืน มันไม่มีอะไรที่ยั่งยืน นี่คือตามสัจธรรมที่มันเป็นจริง แต่ก็ไม่พูดกันตามหลักความจริง กลับไปพูดเสแสร้ง จอมปลอม หลอกกันไป เชื่อกันไป กลบเกลื่อนกันไป

อย่างล้อรถที่กำลังหมุนอยู่ มันก็ไม่ยั่งยืน มันหมุนไป มันจึงไปถึงจุดหมายได้ หรือแม้แต่ลมหายใจเข้า-ออก ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนนอนหลับ มันหายใจเข้า-ออกกี่ครั้ง มันเข้าอย่างเดียวหรือเปล่า มันออกอย่างเดียวหรือเปล่า ดื่มน้ำเข้าไปยั่งยืนไหม กินอาหารเข้าไปยั่งยืนไหม อิ่มแล้วมันยังกลับมาหิวกระหายอีกไหม ถ้าคิดอยากจะให้มันยั่งยืนตามอย่างที่พูดกัน นั่นมันบ้าแล้ว

ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว


ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

“ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ภาษาที่ชาวบ้านพูดกันให้ได้ยินเป็นประจำ เรื่องกายกับใจ มันก็ตรงตามนั้น กายมันเป็นวัตถุของใช้ ของใช้ของนามหรือใจ ส่วนที่เป็นนามก็ตั้งแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กลุ่มนี้คือนาม กลุ่มที่รวมมาเป็นใจ สี่อย่าง สี่อาการ รวมสรุปแล้วก็คือใจ จึงว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว มันก็ชัดเจน แต่ว่ามันก็ยังไม่เข้าใจ ไม่รู้จริงตามนั้น ไม่รู้จริงตามความเป็นจริงว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

กายเป็นบ่าว ก็คือ ผู้รับใช้ ของใช้ พูดก็พูดบ่อย จำได้ ได้ยินก็ได้ยินบ่อย แต่มันก็ยังไม่รู้จริง ไม่รู้แบบบริสุทธิ์จริงๆ ตามความเป็นจริง มันยังรู้ไม่ได้ นี่คือไม่รู้จริงในเรื่องใกล้ๆ ไม่ใช่เรื่องไกล ไม่รู้จริงในเรื่องที่อยู่กับตัวเองตลอดเวลา มันเป็นเรื่องที่ต้องหาคำพูดต่างๆ หยิบขึ้นมาพูดสู่กันฟัง ให้มันเข้าใจ แต่แล้วมันก็ยังไม่เข้าใจ พูดให้รู้ให้เห็นตาม แต่แล้วมันก็ยังไม่รู้ไม่เห็นตาม นี่คือความไม่รู้จริง “ผลงานของความไม่รู้จริง” นี่แหละมันสะท้อนออกมาเป็นตัวฉันตัวกู เป็นอัตตา เป็นตัวยึดถือ เป็นข้าพเจ้า เป็นฉัน นี่ให้มันจับจุดได้อยู่ตรงนี้ รู้หลักวิชา ได้หลักวิชา แม้จะยังไม่ได้ปฏิบัติการ ถ้าปฏิบัติการแล้วมันจะเห็นจริง รู้จริงตามความเป็นจริง ตามหลักวิชาที่เขียนไว้ เมื่อปฏิบัติการจนจบตามหลักวิชาการ บัญญัติสมมุติก็เรียกว่ารู้จริง รู้จริงตามเป็นจริง ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้แจ้งเห็นจริง ตรัสรู้ธรรม เป็นคำศัพท์ที่จะช่วยแทงเข้าไป จิ้มเข้าไป เจาะเข้าไป ในจุดเดียว

หลักวิชาการที่เขียนไว้ในตำรามันก็มีหลายอย่าง อย่างหนึ่งท่านก็ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นคำศัพท์ที่จะหาเรื่องมาพูด ปริยัติก็คือศึกษา ผมบวชมาไม่ได้ปฏิบัติ ผมบวชเรียนปริยัติ เป็นมหา 9 ประโยค นี่คือคำพูดแบบภาษาตามกระแสสังคมนิยม ระดับชาวบ้าน ที่รู้กัน เข้าใจกัน พูดตามกัน ผมไม่ได้อยู่วัดป่า ผมอยู่วัดบ้าน ผมบวชมาศึกษาปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย ศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมไม่ใช่นักปฏิบัติ แต่ผมเป็นนักปริยัติ พวกท่านดีน่ะ อยู่วัดป่า บวชมาปฏิบัติ ผมไม่ค่อยมีปริยัติ ผมบวชมาปฏิบัติเอาเลย บวชมาก็ปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ค่อยรู้ปริยัติ รู้นิดหน่อยแค่บางบทบางตอน มีความรู้น้อย ผมไม่ค่อยได้ศึกษาปริยัติ ผมอยู่วัดป่าก็ต้องเน้นปฏิบัติ เหล่านี้เป็นภาษาพูดระดับชาวบ้าน แต่ถ้ามองอีกระดับหนึ่ง ทั้งหมดนั่นมันก็เป็นการศึกษาเหมือนกัน อย่างคำว่า “ศึกษา” เอาไปเทียบกับคำศัพท์ท่านก็ว่า “เสขะ” คือศึกษา “เสขบุคคล” คือบุคคลที่ยังต้องศึกษา ขนาดเป็นพระโสดาฯ สกิทาคาฯ อานาคาฯ ก็ยังเรียกว่า เสขบุคคล คือบุคคลที่ยังต้องศึกษา ปริยัติมันก็คือศึกษา ปฏิบัติมันก็คือศึกษา เป็นนักศึกษา จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์จึงไม่ต้องศึกษา จบแล้ว รู้แจ้งแล้ว ไม่มีอะไรที่จำเป็นต้องศึกษาอีก เป็นอเสขบุคคล ผู้ไม่ต้องศึกษา

พูดถึงคำว่า “ปฏิบัติ” มันก็มีระดับต่างๆ นั่งฟังอยู่นี่ก็ปฏิบัติ นั่งฟังเฉยๆ อยู่นี่ ก็เป็นการปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยใจ ด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่ปฏิบัติด้วยกาย ซึ่งวิธีจะเข้าใจรูปนาม ไม่ใช่ปฏิบัติด้วยกาย ไม่ใช่ลงมือทำ แสดงท่าทางต่างๆ ทางกาย หรือหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยในการปฏิบัติ แบบนั้นมันอยู่ไกลเกินไป จะไปแห่กฐินผ้าป่า ทำบุญให้ทาน กรวดน้ำ นั่นมันปฏิบัติด้วยกาย ไปไหว้พระ อธิษฐาน จุดธูป จุดเทียน เอาพระพุทธรูปมาแขวนคอ มันไม่ใช่ มันอยู่ไกลเกินไป ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง นั่งหลับตาหาสมาธิ นั่งเก่ง ขยันนั่ง ขยันเดิน อันนั้นก็ยังเป็นการปฏิบัติด้วยกาย แต่มันก็เนื่องกัน มันแยกออกจากกันไม่ได้ มันก็ต้องสับไปสับมา ให้มันเข้าใจอย่างกระจ่าง ขยายออก ขยายเข้า ให้มันรู้ชัด สรุปแล้วก็คือให้เข้าใจ

หลักวิชาการคือ “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” พอได้หลักวิชาการก็นำไปค้นต่อไปตามหลัก นั่นคือปฏิบัติการแล้ว ได้หลักวิชาการแล้วก็ปฏิบัติการ ปฏิบัติการแล้วมันก็จะได้ผลออกมา คือ รู้จริงตามความเป็นจริง ตามที่บอกว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ย่อๆ มันก็เท่านี้ หลักวิชาการแค่นี้มันก็เยอะแยะจนปฏิบัติไม่หมดแล้ว พูดไปไหนมันก็วนกลับมาสรุปอยู่ที่เรื่องขันธ์ห้า กายใจ นี่แหละ

มันหึงมันหวงร่างกาย


มันหึงมันหวงร่างกาย
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

สิ่งที่เป็นชีวิต เป็นขันธ์ห้า เป็นรูปนาม มันหึงมันหวงร่างกาย มันไม่อยากทิ้ง คนป่วยนี่ร่างกายมันเดินทางมาถึงจุดที่มันจะจบลงตามสภาพของเรือนร่าง มันก็ยังเข้าใจผิด ยึดถือ ปล่อยไม่ได้ มันเป็นของหนักก็เลยเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นคำว่า “ทุกข์” นี่มันอยู่ในระดับพื้นฐาน ในระดับชาวบ้าน ไม่อยากทิ้ง ไม่อยากจากกัน รูปกับนามไม่อยากจากกัน มันก็เลยสะท้อนถึงคำศัพท์ที่บอกว่า “เป็นทุกข์” ความเจ็บไข้เป็นทุกข์ ความจะตายเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะไม่เข้าใจ มันก็เลยมีรสชาติไปยึดถือความรู้ชนิดที่เป็นตัวตน ไปติดอยู่ ไปถืออยู่ ไม่อยากพลัดพราก ไม่อยากจากกัน ไม่อยากให้มันเป็นไปตามสัจธรรมของมัน มันมีความยึดถือตัวตน มันไม่อยากทิ้ง ไม่ยอมรับความจริง ตัวเองไม่ยอมรับความจริง ญาติพี่น้องก็ไม่ยอมรับความจริง ไปหวงไปสงสารว่าคนนั้นจะตาย ไปคอยเป็นทุกข์อยู่กับคนป่วยไข้ มีความวิตกกังวล ร้องไห้หากัน ทั้งๆ ที่เป็นคนละคนกัน ความยึดถือติดในกระแสสังคมนิยมมันสืบต่อถ่ายทอดเป็นแถวยาวไปทั้งญาติพี่น้อง นี่มันเป็นกระแสโลก มันเป็นโลกียวิสัย โลกียธรรมแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านจึงเรียกว่า “โลกียชน” นี่เห็นชัดเจนเลย

อยากให้หายเจ็บ อยากให้หายป่วย ประคับประคองไป รักษาไปให้มันหายเจ็บหายป่วย ถ้าหายป่วยได้ก็ถือว่าดี ถ้าตายก็ถือว่าไม่ดี ความยึดถือมันฝังลึก มันเหนียวแน่น มันหนา มันมองไม่เห็นของจริง มันสะท้อนออกมาเป็นความยึดถือ ก็เพราะมันไม่รู้ตามความเป็นจริง ที่จริงเวลาเราป่วยเราจะสังเกตเห็นได้ว่าร่างกายมันเป็นของหนัก ร่างกายมันเป็นอนิจจัง เป็นความแปรปรวน เป็นความเกิด-ดับ มันแย้มให้ดูแล้ว แต่เราไม่ได้เพ่งดู ไม่เคยคิดจะดู มันก็เลยไม่เห็น ความจริงมันแนะแนวให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว มันเตือนให้รู้ว่าแก่ชราแล้ว ใกล้จะตายแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมรับ มองไมเห็น ขนาดว่าแก่มันก็แก่ให้เห็นอยู่ชัดๆ เป็นธรรมะระดับพื้นฐานระดับโลกีย์ก็ยังไม่เห็น ผมมันหงอกขาวให้เห็นแล้ว ฟันมันปวดมันโยกคลอนให้ดูแล้ว เป็นอนิจจังแล้ว เปลี่ยนแปลงแล้ว ร่างกายมันทรุดโทรมลงไปแล้ว มันแสดงให้ดูแล้ว ให้เห็นแล้ว แสดงให้ยอมรับแล้ว แต่ก็ไม่ยอมรับ นี่จึงว่ามันหนา มันไม่เข้าใจ อาการที่ว่ากินอะไรก็ไม่อร่อย นอนไม่หลับ เจ็บนั่น ปวดนี่ โรคนั่นโรคนี่รุมกันเข้ามา นี่คือธรรมชาติมันแสดงให้ดูโดยอัตโนมัติ

ก้อนรูปที่ไปยึดอยู่ ถืออยู่ ขันธ์ที่หนึ่งคือรูปขันธ์ หรือกองรูป นี่มันแปรปรวน มันก็เป็นอนิจจัง แสดงอนิจจังให้ดูแบบชัดๆ แบบยาวนาน แบบหยาบๆ มันก็ไม่เห็น มันยอมรับความจริงไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ มันก็เป็นไปตามหน้าที่ ทำตามหน้าที่ของมัน หน้าที่ที่ธรรมชาติให้มา ตามสัจธรรมของมัน ธรรมก็คือจริง เป็นไปตามจริงของมัน สัจจะคือจริง ธรรมก็คือของชนิดนั้น วัตถุชนิดนั้น แยกพูดแบบนี้ก็ได้ มันก็เป็นจริงตามหน้าที่ของวัตถุชนิดนั้น รูปธรรมชนิดนั้น ทุกอย่างมันมีสัจธรรมของมัน

สับให้ย่อยลงไปอีก ธรรมคือพริก สัจจะของมันก็คือเผ็ด หรือ ธรรมคือฟ้าทะลายโจร สัจจะของมันก็คือขม อะไรเป็นสัจจะของเกลือ สัจจะของเกลือก็คือเค็ม สัจจะของน้ำตาลคือหวาน มันก็สามารถพูดสับไปสับมา ป่นไปป่นมา ให้มันกระจ่างในเรื่องของจริง ไม่ให้มันเกาะไม่ให้มันติด ให้มันทะลุไปทะลวงไป มองผ่านไป ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือเห็นจริงตามสัจธรรมนั้น

น้ำแข็งเป็นธรรม สัจจะของน้ำแข็งคือเย็น ตุ๊กแกเป็นธรรม สัจจะของมันคือพูดไม่ได้ ร้องได้แค่ว่า ตุ๊กแก ตุ๊กแก อยู่นั่น นั่นคือสัจจะของมัน มันพูดไม่ได้เหมือนมนุษย์ มันเป็นสัจจะของแต่ละชนิด แต่ละอย่าง ถ้าไม่เข้าใจมันก็งงอยู่นั่น “สัจจะ” คำเดียวก็ไม่กระจ่าง พูดตามกันไป แต่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง อธิบายไม่ได้ สัจจะของตุ๊กแกคือมันมีสี่ขา จริงไหม จริง ตามหน้าที่ของสิ่งนั้น แสงแดดเป็นธรรม สัจจะของมันคือร้อน น้ำเป็นธรรม สัจจะของมันคือไหลไปไหลมา อ่อนตัว ก้อนหินเป็นธรรม สัจจะของมันคือแข็ง หนัก

ขยายต่อมาถึงเวลาไปเยี่ยมคนแก่ที่โรงพยาบาล คนเกิดมานาน อายุมาก สัจจะมันก็ต้องป่วย เจ็บไข้ นี่คือจริง นั่นคือสัจจะของคนแก่ ตาก็มองไม่ค่อยชัด นั่นล่ะสัจจะของคนอายุมาก คนแก่อายุมากนั่นล่ะเป็นธรรม ปวดฟันก็เป็นสัจธรรม ปวดหัวก็เป็นสัจธรรม ปวดเป็นสัจจะ ฟันเป็นธรรม หัวเป็นธรรม จึงมีบัญญัติออกมาอธิบาย ปวดมีจริง หัวมีจริง ไม่ใช่ผีห่ามาทำการอะไร จึงว่ามันเป็นสัจธรรม เป็นของจริงไม่ใช่ของปลอม

เพราะมันไม่รู้สัจธรรม จึงเรียกว่า อวิชชา ความไม่รู้ มีตามันก็ฝ้าฟาง มีฟันมันก็ปวดฟัน มีหัวมันก็ปวดหัว มีท้องก็ปวดท้อง แก่แล้วก็ต้องตาย นี่สัจธรรมของมัน พอใกล้จะตายก็ไม่อยากตาย ไม่อยากก็เพราะมันไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม อยากจะขัดขวางธรรม มันก็เป็นบ้าซิ มันโง่ มันหลง มันยึด มันถือ ไม่มีศีลไม่มีธรรม จะตายแล้วก็ไม่ยอมตาย ไม่รู้จักสัจธรรม คนไม่มีสัจธรรม มันต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปแบบนี้ มันจึงจะค่อยๆ กระจ่าง มองรูปแบบไหนก็กระจ่าง ถ้าเข้าใจแล้วมันก็ปล่อย มันก็วางเองมัน ความไม่เข้าใจนี่มันสะท้อนออกมาเป็นตัวยึด เป็นตัวอัตตา เป็นผลงานของความไม่เข้าใจ เหมือนผลมะม่วงเป็นผลงานของต้นมะม่วง ผลส้มโอก็เป็นผลงานของต้นส้มโอ ผลกล้วยก็เป็นผลงานของต้นกล้วย ความยึดถือมันก็เป็นผลงานของความไม่เข้าใจ ไม่รู้ตามเป็นจริง ไม่รู้สัจธรรม ไม่มีธรรม

สติสัมปชัญญะ


สติสัมปชัญญะ  
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

สติสัมปชัญญะ สติคือระลึกได้ สัมปชัญญะคือรู้ตัว รู้ตัวคือรู้กาย รู้จริงตามเป็นจริง รู้ตัวขันธ์ห้าก็ได้ รู้ตัวรูปนามก็ได้ รู้ตัวกายใจก็ได้ โดยมากทั่วไปมันไม่เข้ามารู้ตัว มันรู้อยู่อารมณ์ภายนอก นี่คือจุดบกพร่อง จุดที่ไม่เห็นธรรม ไม่เป็นธรรม ไม่ทำความรู้ตัว ไม่มีสัมปชัญญะ ถ้ารัก..มันก็ไปรู้อยู่ที่อื่น ถ้าชัง..มันก็ไปรู้อยู่ที่อื่น รู้อยู่ภายนอก ไม่ใช่รู้ตัว ถ้าดีใจ..มันก็ไปรู้อยู่ภายนอก เสียใจ..ก็ไปรู้อยู่ภายนอก มันไม่มารู้ตัว มันเป็นการเพิ่มตัว ดีใจ..ก็เพิ่มตัว เสียใจ..ก็เพิ่มตัว ความโกรธ เกลียด รักชัง มันเป็นการเพิ่มตัวเข้ามาอีก มันเป็นตัวภายนอก ไม่ใช่ตัวภายใน ไม่ใช่ที่ต้องการให้รู้

ถ้าเราสังเกตดู เวลามันอยู่กับตัว จะรู้สึกสบาย สบายกว่าไปรู้อยู่ภายนอก ถ้าไม่ไปยุ่งกับเรื่องภายนอกมันก็สบาย โกรธขึ้นมามันไม่สบาย เกลียดก็ไม่สบาย รักก็ไม่สบาย ชังก็ไม่สบาย ดีใจ เสียใจ มันก็ไม่สบาย สิ่งที่ไม่สบายเหล่านี้ มันไม่ใช่สัมปชัญญะ มันไม่ใช่รู้ตัว มันรู้อยู่ภายนอก มันก็เลยลืมตัว หลงตัว ไม่ใช่รู้ตัว มันก็เลยไม่สบาย ชนชาวโลกทั้งหลายเขาก็อยู่ในลักษณะนั้น อยู่ในลักษณะอาศัยสิ่งอื่น อาศัยอารมณ์อื่น เป็นเครื่องอยู่ ไม่ใช่ “อัตตา หิ อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ส่วนกระแสสังคมที่นำคำว่า “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” ไปใช้ มันใช้กันในระดับที่ไม่ลึกซึ้ง มันใช้ในระดับภายนอก ระดับชาวบ้าน สอนกันว่า อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น ให้ขยันขันแข็ง พึ่งพาตัวเอง หวังให้เขาเอาของมาให้ เอาของมาแจก มันเป็นการหวังพึ่งคนอื่น โตแล้วรู้จักทำมาหากินเอง ไม่ใช่รอแต่จะพึ่งพาพ่อแม่ เหล่านี้คือที่ชาวบ้านเขาสอนกัน เป็นภาษาคนทั่วไป ภาษาระดับชาวบ้าน

ถ้าจะพูดให้มันลึกซึ้งละเอียดเข้ามาในภาษาธรรมะ ก็คือไปพึ่งอยู่กับกามคุณทั้งห้า พึ่งรูป พึ่งเสียง พึ่งกลิ่น รส สัมผัส พอโตขึ้นมาก็ไปพึ่งอยู่กับกามคุณทั้งห้า โตขึ้นมาก็มุ่งหาเพศตรงข้ามเป็นที่พึ่ง นี่เห็นได้ชัดเจนเลย นั่นคือไปพึ่งผู้อื่นอย่างชัดเจน ต้องมีคู่รัก ต้องมีแฟน ต้องมีสามีภรรยา พูดแบบชาวบ้านมันก็ยังเป็นการสอนให้พึ่งผู้อื่น มันก็ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า มันไม่ได้เป็น “อัตตา หิ อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่างที่ปากว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้นถูกต้องแล้ว แต่มันเป็นความหมายในระดับลึกซึ้ง ไม่ใช่ผิวเผินอย่างที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นโลก ไม่ได้เป็นธรรม ไม่ได้เป็นของจริง นี่คือคำว่า โลกกับธรรมมันขัดกัน ถ้ามองให้มันขัด ฝ่ายหนึ่งมองระดับภายใน อีกฝ่ายหนึ่งมองระดับภายนอก มันก็ไม่ตรงกัน คำศัพท์คำเดียวกัน แต่เอาไปใช้คนละระดับ

มีตามันก็อยากเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะมันชอบพึ่งผู้อื่น มีสามีภรรยา มีแฟน ก็เพื่อเอาไว้เป็นที่พึ่ง เหมือนกันกับมีข้าวเอาไว้กิน การมีสามีภรรยาก็เพื่อเอาไว้กิน เวลาอยากเวลาหิวก็เอามากิน มันพึ่งตนเองหรือพึ่งผู้อื่น คิดดู นี่คือบีบเข้ามา รัดกุมเข้ามา ไล่ต้อนเข้ามา ให้มันยอมรับ คุณเป็นตัวของตัวเองไหม ไหนล่ะที่พูดว่าพึ่งตัวเองได้ ไหนล่ะ “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” ทุกวันนี้ไม่ใช่คุณพึ่งคนอื่นอยู่หรือ

สติสัมปชัญญะ มันหมายถึงพึ่งตัวเอง อยู่กับตัวเอง พัวพันอยู่กับตัวเอง สัมปชัญญะคือรู้ตัว ถ้าไปรู้อยู่นอกตัว มันก็ไม่ได้มีข้อปฏิบัติ ไม่ได้เป็นนักปฏิบัติ พูดแต่ปากว่าปฏิบัติธรรม แต่จริงๆ ไม่ได้ปฏิบัติ บอกว่าไปปฏิบัติธรรม มันก็ไม่ได้ปฏิบัติจริง เพราะมันออกไปพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก อยู่กับกามคุณทั้งห้า อยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ภายนอก ไหนล่ะที่ว่าปฏิบัติธรรม มีแต่ปฏิบัติกามคุณทั้งห้า มันขัดกันแบบนี้ ถ้ามองให้มันอยู่ระดับที่ลึกซึ้ง มันก็ต้องเห็นแบบนี้ ระดับแตกหัก ระดับหัวเลี้ยวหัวต่อ ระดับจุดระเบิด มันก็ต้องพูดแบบนี้

ตัวเองคือรูปกับนาม คือกายกับใจ ตัวเองคือขันธ์ห้า มันต้องเข้ามาอยู่กับพวกนี้ คำสอนส่วนมากก็พูดเรื่องขันธ์ห้า อุปาทานขันธ์ห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา มันก็วนอยู่เรื่องนี้ ข้อปฏิบัติมันอยู่ที่นี่ ถ้าไกลออกไปจากเรื่องนี้ มันก็ไม่ใช่ “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” เพราะมันไม่ได้พึ่งตัวเอง จะรู้จริงได้ก็ด้วยการพึ่งตัวเอง พึ่งตัวเองก็คือพึ่งรูปนาม พึ่งขันธ์ห้า นี่แหละ

เสียงต่างๆ เสียงเพลงที่ฟังกัน ลองพิจารณาเนื้อหาดู มันมีอะไร พูดถึงอะไร โดยสรุปคือมันมีแต่ร้องหาเพศตรงกันข้าม ร้องหากามคุณทั้งห้า นั่นคือมันไปพึ่งภายนอก รักอย่างนั้น รักอย่างนี้ สวยอย่างนั้น สวยอย่างนี้ สรุปโดยกว้างๆ จึงว่ามันร้องหากามคุณ กามราคะ เรื่องที่จะเอามาเป็นที่พึ่งของมัน พึ่งภายนอก พึ่งผู้อื่น ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้พึ่งตัวเอง มันเป็นภาษาที่ต้องพูดทำความเข้าใจในระดับที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปเขาไม่ได้คิดมาทางนี้

รสชาติอาหารหลายอย่างที่แสวงหามากิน มันก็พึ่งภายนอก ไม่ใช่ “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” รสชาติมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ภายนอก มันต้องไปหามา แล้วเอามาแตะลิ้น มันก็เป็นการพึ่งผู้อื่น หวานก็เป็นผู้อื่น เค็มก็เป็นผู้อื่น เปรี้ยวก็เป็นผู้อื่น อร่อยมันก็เป็นผู้อื่น หรือไม่อร่อยมันก็เป็นผู้อื่น มันอยู่ภายนอก ไหนล่ะ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” นี่คือมองแบบละเอียด มันจะเห็นเหตุผลชัดเจนแจ่มแจ้ง อธิบายได้จนดิ้นไม่หลุดเลย ในชีวิตประจำวันมันไม่ได้พึ่งตัวเองสักหน่อยเลย พูดแต่ปากก็พูดได้ว่าต้องรู้จักพึ่งตัวเอง ต้องยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง มันพูดตามๆ กันไป พูดตามกระแสสังคมนิยม ตามชาวบ้านนิยม ไม่มีความลึกซึ้งในคำพูด พูดโดยเชื่อตามเขา ได้ยินเขาพูดก็พูดตาม เชื่อเอาเลย ไม่ได้วิเคราะห์ ไม่ได้ใช้มันสมองขบคิดให้มันลึกซึ้งไปกว่านั้น มีแต่เชื่อ..เชื่อ..เชื่อ แล้วก็เชื่อตามกัน พอเอามาเทียบกับหลักธรรมะมันก็เลยขัดกันอย่างแรง ไปด้วยกันไม่ได้ จะไปได้ยังไงในเมื่อทัศนวิสัยมันไม่ตรงกัน

กลิ่นที่เข้าทางจมูก มันก็มากับลมหายใจเข้า-ออก ขนาดแค่การสูดลมหายใจมันยังต้องพึ่งผู้อื่น หายใจเข้า-ออกมันก็พึ่งผู้อื่น ลมก็เป็นผู้อื่น ภาษาธรรมะแบบลึกซึ้งละเอียด มันก็ต้องพูดแบบนี้ ที่พูดกันว่า “ไม่ได้ยืมจมูกคนอื่นหายใจ พึ่งพาตัวเองได้” นี่มันก็ว่าตามกัน ไม่ได้ยืมจมูก แต่ก็ยืมลม เอาลมของใครละมาหายใจ ลมของตัวเองหรือเปล่า พึ่งตัวเองได้จริงหรือเปล่า

สัมผัสทางกาย มันก็คือการสัมผัสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บ ปวด ร้อน หนาว แสบ คัน ภาษาก็เขียนไว้ว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มันก็สัมผัสอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นการพึ่งพาผู้อื่นทั้งนั้น มันเป็นหน้าที่ของร่างกายที่ให้มาแบบนี้

เพราะฉะนั้น คำว่า “สติสัมปชัญญะ” มันจึงขยายความออกไปได้หลายอย่าง พูดได้หลายศัพท์ มีการแจกแจงย่อยลงไปอีก เช่นในตำราที่เขียนไว้ว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ มันคือจุดเดียวกันนี่แหละ มันมีวิญญาณ หรือมีรู้ ตอนที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ฯ วิญญาณคือรู้ จิตคือรู้ ตอนที่หูกระทบกับเสียง มันเกิดการได้ยินเพราะมีวิญญาณหรือมีรู้ มันเป็นการเขียนให้มากเรื่อง เพื่อหาเรื่องมาพูด อย่างมโนวิญญาณนี่ก็เขียนให้มันมีลวดลายเฉยๆ จริงๆ มันก็มีอยู่ตลอด ตาเห็นรูป มันก็มีมโนวิญญาณ ไม่มีมโนมันจะรู้ได้ยังไง มโนก็แปลว่าใจ ใจก็คือรู้ วิเคราะห์ดูแล้ว มันเป็นการหาเรื่องมาพูดให้มันหลากหลาย มีคำศัพท์คำนั้น คำศัพท์คำนี้ กำหนดขึ้นมา จริงๆ ก็เหมือนหาเรื่องมาบ่นมาพูดให้มันบ่อยๆ เนืองๆ เหมือนคนด่ากัน ก็คิดหาคำมาด่า คำไหนมันจะทำให้คนฟังเจ็บแสบ ทำให้คนฟังโกรธ แค้น เคือง มากๆ คำไหนมันจะทำให้ช้ำอกช้ำใจ ก็สรรหามาด่า ภาษาธรรมะนี่มันก็เป็นการหาเรื่องมาพูดให้ทำความเข้าใจ พูดแบบไหน ใช้คำแบบไหน มันถึงจะเข้าใจอย่างที่ฉันเห็น อย่างที่ฉันเข้าใจ ก็เลยหาคำหาวิธีพูดหลายๆ แบบ สรุปแล้วมันก็มีแค่จุดเดียว ไม่ได้ชี้ไปที่อื่นเลย

เวลาท่านสอนนั่งกรรมฐาน ก็เลยสอนกันว่าให้นั่งหลับตา อย่าให้มันมองออกไปรับเอาอารมณ์ภายนอก ถ้าจะปิดหูอีกมันก็ยุ่งยาก เอาเป็นว่าถ้าได้ยินเสียงก็อย่าไปสนใจ จมูกนี่ปิดไม่ได้เพราะมันต้องหายใจ เลยต้องเปิดไว้ เหล่านี้คือการเน้นว่าให้เข้ามาดูภายใน อย่าไปพัวพันกับอารมณ์ภายนอก จะไปยุ่งเกี่ยวได้เฉพาะที่จำเป็น เหมือนบวชเข้ามาแล้วก็อย่าไปคลุกคลีในหมู่บ้าน ไปเฉพาะยามจำเป็น เช่น ไปบิณฑบาต

วิธีหนึ่งที่สอนกันในตำราก็ว่า สมมุติคนๆ หนึ่งจะจับเหี้ยตัวหนึ่ง มันมีรูอยู่หกรู ให้ปิดไว้ห้ารู มันก็จะเข้าออกได้รูเดียว รอจับมันอยู่นั่น เหี้ยตัวเล็กหรือตัวใหญ่มันก็จะเห็นอยู่ที่นั่นแหละ มันก็เป็นวิธีการที่จะเปรียบเทียบเอามาสอน จริงๆ มันก็เรื่องเดียวกันนั่นเอง

ศึกษากรรมฐานในชีวิตประจำวัน

ศึกษากรรมฐานในชีวิตประจำวัน
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ศึกษากรรมฐานในชีวิตประจำวัน ดูของจริงที่สัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ใช้มันอยู่ประจำ เรื่องใกล้ตัว อยู่กับตัว มันเข้าใจได้ยาก เพราะว่ามันชวนไม่ให้เข้าใจ มันชวนไปติดอยู่กับอารมณ์ภายนอก มันไม่อยู่กับสัมปชัญญะ ไม่อยู่กับการรู้ตัว มันไปรู้อยู่กับภายนอก

“ความว่าง” หรือ คำว่า “ว่าง” คือ ว่างจากอารมณ์ที่มันยังไม่ไปรู้ ว่างจากอารมณ์ที่มันยังไม่มาถึง อารมณ์ที่มันอยู่อนาคต มายังไม่ถึง มันก็ว่าง จิตว่างมันก็ว่างแบบนี้ จิตคือรู้

“รู้” มันว่างจากอารมณ์อนาคต ว่างจากอารมณ์อดีต ธรรมชาติมันว่างอยู่แล้ว แต่มันไม่ว่างในปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันมันไม่ว่าง ศึกษาตรงๆ ศึกษาสิ่งที่พิสูจน์ได้ เป็นของจริง ไปเรื่องอื่น เรื่องนรก สวรรค์ เทวดา ไปพูดทำไม มันไม่ได้เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน พูดให้คนอัศจรรย์ทำไม มันพิสูจน์ไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ บางทีคนพูดเองก็พิสูจน์ไม่ได้ ผู้ฟังเองก็ไม่รู้ไม่เห็นเหมือนกัน สัมผัสไม่ได้ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ท้าทายไม่ได้ มันก็ชวนกันงง ชวนกันหลง เพราะไม่พูดของจริง พูดในเรื่องที่ต่างคนต่างไม่รู้

มันต้องพูดเรื่องที่พิสูจน์ได้ เห็นได้ในชีวิตประจำวัน มันจึงจะเข้าใจตามรูปแบบธรรมะได้ง่าย ไม่ชวนให้หลงงมงาย อารมณ์ในอนาคตมันจะไปรู้ได้ยังไง มันยังมาไม่ถึง มันก็เป็นของว่าง อธิบายแบบนี้มันท้าทาย มันเป็นของจริง คนทุกชั้นทุกระดับสามารถจะวิเคราะห์เข้าใจได้ แต่ก็ไม่ค่อยพูดของจริงสู่กันฟัง มันมายังไม่ถึง มันก็ว่างโดยหน้าที่ โดยธรรมชาติของมัน โดยความจริงของมัน อารมณ์ในอดีตผ่านไปแล้ว มันก็รู้ไม่ได้ รู้ได้ในปัจจุบันเท่านั้น ในเมื่อรู้ไม่ได้ มันก็ว่าง นี่คือเอาคำศัพท์คำว่า “ว่าง” มาอธิบาย มันว่างจริงไหม จริง ท้าทายให้พิสูจน์เลย ถ้าเห็นว่าไม่จริงก็เถียงมา ธรรมะมันต้องจริง ทนต่อการพิสูจน์

ถ้าไม่เข้าใจ ก็ยกตัวอย่าง เช่น เผ็ดไหม ตอนนี้คุณเผ็ดไหม เผ็ดมันอยู่ในอนาคต ยังไม่ได้กินพริกตอนนี้ มันจะเผ็ดได้ยังไง ดังนั้น ตอนนี้มันก็ว่าง ว่างจากเผ็ด นี่ธรรมะมันพิสูจน์ได้แบบนี้ ว่างจากอารมณ์ชนิดที่เรียกว่าเผ็ด มันมายังไม่ถึง มันเป็นอนาคตอยู่ จะให้มันสัมผัสได้ยังไง มันรู้ไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เป็นปัจจุบัน รู้ต้องรู้ในปัจจุบัน

หรืออธิบายอีกแบบหนึ่ง เผ็ดตั้งแต่เมื่อวาน เมื่อวานกินอาหารแล้วมันมีรสเผ็ด จะเอามาเผ็ดตอนนี้ได้ไหม ตอนนี้มันไม่เผ็ด เพราะนั่นมันเป็นอดีต อดีตที่มันผ่านไปแล้ว เอามารู้ไม่ได้ มันก็ว่าง อธิบายอย่างนี้มันก็ชัดเจน ปัญญาชนสามารถจะเข้าใจได้ มันเป็นธรรมะของจริง ที่ท้าทายให้พิสูจน์ได้ แต่ก็ไม่นิยมพูดธรรมะจริงๆ กัน ไปพูดเรื่องสวรรค์ นรก เทวดา เอาอะไรมาพูด ใครจะไปเข้าใจ ถ้าพูดเรื่องเผ็ดนี่คนพูดก็รู้จักเผ็ด คนฟังก็รู้จักเผ็ด เผ็ดในอดีต เผ็ดในอนาคต มันรู้จักร่วมกันได้ ท้าพิสูจน์ได้

อารมณ์ชนิดอื่นก็ขยายออกไปทำนองเดียวกัน เค็มก็เป็นอารมณ์ ร้อนก็เป็นอารมณ์ หนาวก็เป็นอารมณ์ เหมือนกับเผ็ด รักก็เป็นอารมณ์ ชังก็เป็นอารมณ์ เฉยๆ ก็เป็นอารมณ์ อารมณ์มันมีในปัจจุบัน และมันก็เกิด-ดับ หรือว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มันไม่ได้เผ็ดอยู่ตลอดเวลาทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี นั่นคือไม่เที่ยง นั่นคือ เกิด-ดับ ถ้าบอกว่าเผ็ดอยู่ตลอดวันตลอดคืน มันก็บ้าแล้ว มันไม่จริง บอกว่าเค็มอยู่ตลอดวันตลอดคืน มันก็บ้าแล้ว จิตวุ่น จิตไม่ว่างอยู่ตลอดวันตลอดคืน มันก็พูดตามกัน แต่พูดแบบไม่เข้าใจ จิตคืออะไร จิตคือรู้ จิตวุ่น จิตไม่ว่างจากอะไร มันก็อธิบายไม่ได้

มันว่างจากอารมณ์หนึ่ง แต่ก็ไปอยู่กับอีกอารมณ์หนึ่ง เพราะมันเป็นบทบาทของอนิจจัง เป็นสัจธรรม เป็นหน้าที่ของมันที่จะเป็นแบบนั้น ว่างจากอารมณ์หนึ่งก็ไปอยู่อีกอารมณ์หนึ่ง ไปวุ่นอยู่กับอารมณ์ใหม่ มันเป็นบทบาทของการเกิดขึ้นแล้วดับไป ตามภาษาธรรมะที่พูดไว้ มันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะหน้าที่มันเป็นแบบนั้น หน้าที่ของธรรมชาติให้มาแบบนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจริง ธรรมะมันไม่ได้เป็นเรื่องพิลึกกึกกือ ไปพูดกันให้มันดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ คนมีปัญญาความรู้เขาก็เลยไม่สนใจ เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ธรรมะมันเป็นเรื่องของจริง เป็นเรื่องเกิด-ดับ ในชีวิตประจำวัน เรื่องของตัวเอง เรื่องของทุกคน ทุกคนสัมผัสได้ พิสูจน์ได้ ที่ท่านเขียนไว้ในตำรามันถูกต้องอยู่ แต่ว่าคนฟัง คนอ่าน มันไม่เข้าใจ

“อนิจจัง” มันก็เป็นสิ่งเดียวกันกับคำว่า “เกิด-ดับ” มันก็เป็นอย่างเดียวกันกับที่พูดว่า “ว่างจากอารมณ์หนึ่ง ไปอยู่กับอีกอารมณ์หนึ่ง” ชาติเกิดขึ้นจึงมี แก่-เจ็บ-ตาย หรือพูดรวบให้สั้นเข้าก็ว่า “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” สรุปเข้ามาเป็น “อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา” นี่ก็อย่างเดียวกัน มันก็หมายถึง “เกิด-ดับ” เหมือนกัน หรือจะว่าแค่ “อนิจจัง-อนัตตา” ก็ได้

เหมือนอย่าง “เผ็ด” มันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง เผ็ดในช่วงหนึ่ง แล้วมันก็ดับไป มันไม่ได้เผ็ดอยู่ตลอด เมื่อมันหมดความรู้สึกเผ็ด มันก็เป็นอนัตตาแล้ว พูดอย่างนี้ก็ได้ อนัตตาคือไม่มีตัวเผ็ดอยู่นั่น มันเป็นอนิจจัง มันก็เลยเป็นอนัตตาไปพร้อมกัน ย้อนไปย้อนมา มันไม่ใช่ตัวตนจริงๆ มันเป็นเรื่องหน้าที่ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อนิจจังมันก็เป็นหน้าที่ อนัตตามันก็เป็นหน้าที่ หน้าที่ของมัน ทุกอย่างมันเป็นแบบนี้ มันมาจากไหน มันก็มาจากธรรมชาติ ธรรมชาติให้มาแบบนี้ มันก็เลยทำหน้าที่แบบนี้ จริงไหม จริง สามอย่างนี้เขียนไว้ตัวใหญ่ๆ เลย “ธรรมชาติ หน้าที่ จริง” เอาสามคำนี้ไปขยาย มันจะแตกฉานโดยเร็ว จับจุดได้ ศึกษาธรรมะได้ตรง อยู่ในกรอบในวงในเขต

มันเป็นเรื่องความไม่เข้าใจสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเอง เกิดขึ้นกับตัวเอง สิ่งที่สัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ชีวิตที่ยังไม่ตายนี่แหละ ไปศึกษานรก สวรรค์ ใครจะไปรู้ไปเห็น มันก็ยิ่งชวนให้งงไปมากยิ่งขึ้น พูดตามกัน เชื่อตามกัน ต้องพูดให้มันรุนแรงแบบนี้ มันจึงจะหลุดจากการติดข้องในกระแสสังคม ออกจากมันให้ได้ มันพูดตามกัน เชื่อตามกัน มันมีใครเห็นบ้าง นี่คือจุดที่ต้องใช้คำรุนแรง เพื่อพังความยึดติดของคนทั้งหลาย ความไม่ชอบคิด ชอบแต่เชื่อผู้อื่น เชื่อแบบเชื่อตำรา มันเป็นคำถามที่ท้าทายด้วย คุณเคยเห็นนรกหรือ ถึงเอามาพูดสู่คนอื่นฟัง เคยเห็นเทวดาจริงหรือ จึงนำมาพูดสู่คนอื่นฟัง มันก็พูดตามเขาเท่านั้น จึงขอถามด้วยความท้าทาย และถามด้วยความมั่นใจ

ผู้ที่มีทัศนวิสัยแปลกจากหมู่ จากสังคมนิยม มันมีน้อย มีแต่ชอบแห่ตามกัน พูดตามกัน เชื่อตามกัน ทำตามเขา ยกตัวอย่างบุคคลที่แหวกแนวในอดีต ก็คือพระพุทธเจ้าของเรา มีคนเดียวเท่านั้นที่แปลกจากกระแสนิยม คิดแหวกแนวออกไปจากคนทั้งหลาย

มันเป็นเรื่องของหน้าที่ อารมณ์ที่ยังมาไม่ถึง มันจะไปรู้ได้ยังไง เป็นคำอธิบายที่ท้าทาย ตอนนี้ปวดหัวไหม ไม่ปวด แล้วตอนนี้ “รู้” ปวดหัวไหม ถ้าพูดกันตามตรงมันก็ต้องตอบว่าไม่รู้ เพราะว่าปวดหัวมันอยู่ในอนาคตยังไม่มาถึง คุณก็ว่างจากปวดหัว คุณจะไปเสแสร้างแกล้งปวดหัวได้หรือ ถ้าหัวไม่ปวด หากบอกว่าปวด คุณก็พูดไม่จริง คุณไม่บริสุทธิ์แล้ว มันก็ไม่เป็นธรรมแล้ว หรือถ้าบอกว่า เมื่อวานนี้ปวดหัวอยู่ เมื่อวานฉันปวดหัวมาก นี่มันเป็นอดีตแล้ว คุณเอามาปวดตอนนี้ได้ไหม ไม่ได้ นั่นล่ะมันเกิด-ดับไปแล้ว เป็นอนิจจังไปแล้ว และก็เป็นอนัตตาไปแล้ว ไม่มีตัวปวดอีก ธรรมะมันจะสอดคล้องกันไปหมด ไม่ขัดกัน ถ้าพูดเรื่องจริงแบบตรงไปตรงมา

หรือคำพูดที่มักพูดตามกันว่า “ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อดีตอนาคตอย่าไปสนใจ” นี่ก็พูดตามเขา ไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ในระดับที่มันลึกซึ้ง เอามาใช้กันในระดับชาวบ้าน นี่มันต้องแยกตีความให้เข้าใจทุกระดับว่าใช้อยู่ในระดับไหน ไม่ใช่เอามาพูดใช้ปะปนกัน

ปวดฟันไหม ไม่ปวด จิตก็ว่างจากการปวดฟัน ปวดหัวไหม ไม่ปวด จิตก็ว่างจากการปวดหัว จิตคืออะไร จิตคือรู้ ใจคืออะไร ใจคือรู้ บางทีก็พูดกันว่า “มันอยู่ที่ใจ” นี่ก็พูดตามเขาอีก ไม่ได้ชัดเจนในความหมายของคำศัพท์นั้น ถ้าไม่มีปวดฟัน ก็ไม่มีใจแล้ว ถ้าไม่มีปวดหัว ก็ไม่มีใจแล้ว เพราะว่าใจคือรู้ ถ้าจะพูดว่า “อยู่ที่ใจ” มันก็ต้องอธิบายได้ถึงระดับนี้ มันจึงจะชัดเจน

คุณไม่เค็ม คุณก็ไม่มีใจ ลองไปถามก้อนหิน ก้อนดิน ถามเหล็ก ถามไม้ ดูซิ ว่ามันเค็มไหม เผ็ดไหม มันเค็มไม่ได้ มันเผ็ดไม่ได้ นั่นล่ะคือมันไม่มีใจ ไม่มีรู้ มันก็เป็นการอธิบายให้วกไปวนมาเพื่อให้มันเข้าใจ หัวคุณไม่ปวด ก็ไม่มีใจ คุณรู้ว่ามีหัวอยู่ แต่หัวไม่ปวด คุณก็มีใจอยู่ ใจแบบเฉยๆ ใจแบบไม่ปวด เพราะใจแปลว่ารู้ จิตคือรู้ วิญญาณคือรู้ ต้องไล่ต้อนมัน สับไปสับมาให้มันแหลก

“เฉยๆ” ก็เป็นรู้ชนิดหนึ่ง ปวดก็เป็นรู้ชนิดหนึ่ง บางทีพอเจอคำว่า “อุเบกขา” ก็งงอีก อุเบกขาก็คือเฉยๆ มันเป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้นเอง นี่มันติดอยู่กับคำเล็กๆ น้อยๆ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะมันไม่เข้าใจ ไม่แตกฉาน ถ้าเข้าใจมันจะอธิบายได้แบบกระจ่าง ปลอดโปร่ง เพราะมันเป็นเรื่องอยู่กับตัวเอง อยู่ในชีวิตประจำวันของตัวเอง อาการเหล่านี้มันพบได้ตลอดในชีวิตประจำวัน ธรรมะนี่มันพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่ยังไม่ตายนี่แหละ ไปตกนรก ไปขึ้นสวรรค์ จะเอามาพูดทำไม มันพิสูจน์ไม่ได้ มาพูดอวดวิเศษหาอะไรในสิ่งที่มันสัมผัสไม่ได้ นี่เป็นวิธีพูดที่จะกะเทาะความรู้สึกที่ถูกปิดกั้น ห้อมล้อมไว้แสนนานจนหนาทึบแล้ว ทุบให้มันพัง ให้มันโปร่งออกมา

ยังไม่ปวดอุจจาระ มันก็ว่าง ยังไม่ปวดปัสสาวะ มันก็ว่าง ว่างจากอาการปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ถ้ามันปวดขึ้นมามันก็ไม่ว่างแล้ว สังคมทั้งหลายก็ว่านี่เป็นทุกข์ ปวดก็เป็นทุกข์ ปวดฟันก็เป็นทุกข์ แล้วตอนที่หวาน เค็ม เปรี้ยว เผ็ด ทำไมไม่ว่าเป็นทุกข์ ในเมื่อมันก็เหมือนกัน

เฉยๆ หรือ หนาว หรือ ร้อน มันก็เหมือนกันกับปวดฟัน จืด หรือ เค็ม มันก็เหมือนกันกับปวดหัว มันเป็นแต่ละชนิด แต่ละหน้าที่ของมัน ปวดปัสสาวะ มันก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ปวดอุจจาระ มันก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง เป็นแต่ละหน้าที่เท่านั้น เป็นสัจธรรมแต่ละชนิดๆ ของมัน เจ็บมันก็เป็นหน้าที่ แต่ยอมรับไม่ได้ ก็เพราะมันไม่กระจ่าง มันยังแยกพรรคแยกพวก แยกดีแยกชั่ว แยกทุกข์แยกไม่ทุกข์อยู่ นี่ของเธอนี่ของฉัน นี่ลูกเธอนี่ลูกฉัน มันไม่มีความเป็นธรรม อธิบายขยายความไปมันก็สอดคล้องกันอย่างนี้ สิ่งที่มันเป็นอยู่ก็คือหน้าที่ของมัน แต่มันเข้าใจลงไปถึงระดับแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเข้าใจได้ เห็นได้ มันก็ไม่ใช่ธรรมดาแล้ว มันเหนือโลกแล้ว ถ้ายังคิดแบบโลก ทำแบบโลก มันก็ไม่เหนือโลกสักที ธรรมะนี่มันน่าสนใจมาก น่าศึกษา น่ามีศรัทธา เพียรต่อไปเถอะ แล้วสักวันจะรู้ได้

กำหนดรู้ในอุปาทานขันธ์ห้า


กำหนดรู้ในอุปาทานขันธ์ห้า
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

กำหนดรู้ในขันธ์ห้า ในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า อุปาทานคือความยึดถือ ยึดติด มันเป็นผลมาจากตัวอัตตา ความไม่รู้จริง มันทำให้มี “ผู้” ไปยึด ขันธ์ห้ามันเป็นมาตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว พอมีผู้ไปยึด มันก็มีอัตตาตัวตนเกิดขึ้น ตัวอัตตามันเกิดมาจากความไม่รู้จริง “ความไม่รู้ตามเป็นจริง” มันเลยสะท้อนออกมาเป็นอัตตา แล้วก็เป็นอุปาทาน ยึดถือ ถ้าทำลายอัตตาได้ก็ไม่มีใครไปยึดถือ จะทำลายอัตตาได้ก็เพราะรู้จริง “รู้ตัวเอง” รู้จริงๆ ถ้ารู้ไม่ได้ก็ทำลายอัตตาไม่ได้ เพราะ “อัตตาเกิดจากความไม่รู้จริง”

ขันธ์ทั้งห้ามันเป็นอิสระของมัน มีเสรีภาพของมัน เป็นสิทธิของมันเอง ไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ได้ไปทำความหนักให้ใคร ไม่ได้เอาใครมาเป็นเจ้าของ มันไม่ได้บอกให้ใครมายึดมัน แต่เพราะความไม่รู้จริงมันสะท้อนออกมาเป็นตัวอัตตา แล้วก็เข้าไปยึดถือ มันต้องศึกษาเข้ามาที่จุดนี้ จุดที่มันเป็นอยู่จริง แต่เรายังไม่รู้จริง

ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ มันหนักเพราะมีผู้ไปแบก มีอัตตา มีตัวตน ไปแบก เกิดอุปาทานในขันธ์ทั้งห้าก็เพราะมีผู้เข้าไปยึด ยึดถือว่าเป็นเจ้าของ ตัวเป็นสังขาร สังขารเป็นตัว ตรงนี้เป็นจุดที่ต้องศึกษาให้เข้าใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ยังเข้าไปรู้ไม่ได้ เป็นของยึดอยู่กับเจ้าตัวตลอดเวลา มันดูยาก รู้ยาก จะพูดให้เข้าใจก็ไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้สัมผัสเอง ไม่ได้เข้าใจด้วยตนเอง คนพูดก็ได้แต่หาวิธีมาป้อนข้อมูล อธิบายเทียบเคียง ต้อนเข้าไป จนสุดความสามารถที่จะหาวิธีมาพูดเพื่อให้เข้าใจ แต่แล้วมันก็ยังเข้าใจไม่ได้ มันต้องเข้าใจด้วยตนเอง เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัว มันเป็นของยาก แต่มันก็เป็นของมีอยู่จริง

“รูปขันธ์” นี่มันเป็นของหยาบกว่าขันธ์อื่นๆ จึงต้องพยายามเห็นจุดนี้ให้มันกระจ่าง มันเป็นของเหนียวแน่น ต้องเจาะตรงนี้ เปรียบเทียบเข้าไป

ต้นไม้มันก็ยังสะอาดกว่ารูป สะอาดกว่าร่างกาย ไม้บางประเภทมีกลิ่นหอม ไม่เน่าไม่เหม็น เช่น ไม้จันทน์แดง จันทน์หอม แต่ว่ารูปของคน ร่างกายของคน มีแต่ของสกปรก พอตายแล้วมันเหม็นขึ้นมาทันที แม้ยังไม่ตายก็เหม็น ขนาดนี้ก็ยังไม่เห็น คิดดูว่ามันทึบขนาดไหน หนาขนาดไหน มืดแค่ไหน บอดแค่ไหน มันยึดถือ วางของสกปรกไม่ได้ ทั้งๆ ที่ของสกปรกอยู่กับตนเองแท้ๆ ก็ยังเห็นไม่ได้ ยึดถือจนเหนียวแน่น นี่คือ คำว่า “รู้จริงไม่ได้” รู้จริงไม่ตามเป็นจริง

ต้นไม้ตายแล้วมันก็ไม่เหม็น ไม่สกปรก แมลงวันก็ไม่ตอม แต่คนนี่ยังไม่ตายมันก็เหม็น มันก็สกปรก น่าทุเรศ แต่ก็เห็นตามจริงไม่ได้ ของเห็นอยู่แต่ไม่เห็น ของรู้อยู่แต่ไม่รู้ เป็นเรื่องที่พูดได้ยาก มันน่าจะปล่อยวาง น่าจะทิ้งได้แล้ว แต่ก็ไม่ทิ้ง ทั้งๆ ที่ของมันอยู่กับตนเองแท้ๆ ถ้าเป็นหนังสือยังอาจเห็นได้ยากหน่อยเพราะต้องหยิบมาเปิดดู หรือเป็นเทป เป็นซีดี ยังต้องไปเปิดฟัง เป็นคอมพิวเตอร์ยังต้องไปเปิดดู เปิดหา ขันธ์ห้าอยู่กับตัวเองตลอดเวลา อยู่ด้วยกันแต่ก็ไม่รู้จักกันเลย อยู่ด้วยกันแต่ก็ไม่เห็นกัน ไม่เข้าใจกัน “ความไม่เข้าใจนี่มันสะท้อนออกไปเป็นอัตตา” ต้องจับจุดจับหลักให้ได้ มันเป็นเพราะอะไรจึงมีความยึดถือ มันมาจาก “ความไม่รู้จริง” ตรงนี้ต้องย้ำต้องจับจุดให้ได้

ไม่ใช่ว่าขันธ์ห้าตายจึงไม่มีตัว ขันธ์ห้ามันเป็นหน้าที่ เป็นจริงอยู่อย่างนั้นของมันเอง โดยธรรมชาติ หน้าที่เป็นรูปจริง หน้าที่เป็นเวทนาจริง หน้าที่เป็นสัญญาจริง หน้าที่เป็นสังขารจริง หน้าที่เป็นวิญญาณจริง ถ้ามันยังไม่เข้าใจ มันก็เอารู้กับอัตตาเป็นสิ่งเดียวกัน มันแยกยาก แยกยังไม่ได้มันก็ไม่เข้าใจ เพราะมันยังไม่ใช่หน้าที่ที่จะเข้าใจได้

อัตตา กับ รู้ นี่มันแยกยาก เข้าใจยาก เห็นยาก เพราะมันเป็นเรื่องลึกซึ้งในชั้นละเอียด ส่วนเรื่องที่อยู่ตื้นๆ ขึ้นมาคือ รูปขันธ์ ที่มันเป็นเหมือนซากศพ นี่มันพอจะมองเห็นได้ แล้วค่อยไต่เต้าไปในระดับที่มันลึกซึ้งกว่า เพราะนี่ขนาดของหยาบๆ ยังไม่เห็น แล้วจะไปรู้ของละเอียดได้ยังไง ในสูตรในตำราในคำสอนท่านจึงย้ำเรื่องร่างกายเป็นเบื้องแรก ต้องเจาะที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นกรรมฐานห้า อสุภะสิบ กายคตาสติ มหาสติปัฏฐานสี่ ก็ล้วนแต่ระบุเรื่องกายนี้ ประตูอยู่ที่นี่ ถ้าเปิดตรงนี้ไม่ได้ มันก็ไปไม่ได้ เห็นไม่ได้

มันพาซากศพไป พาซากศพมา อยู่ตลอด มันก็ไม่รู้สึกขยะแขยง มิหนำซ้ำมันยังหลงไปมากกว่านั้น คือเป็นโลกไปเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หลงรักตัวเอง หลงรักผู้อื่น หลงรักของสกปรกว่าเป็นตัวเอง แล้วยังไปหลงรักของสกปรกอื่นๆ อีก มันยิ่งเต็มไปด้วยอัตตาตัวตน ท่านจึงแยกว่ามันเป็นโลก เป็นพฤติกรรมของมวลมนุษย์โลก โลกกับธรรมมันเข้ากันไม่ได้ เพราะทัศนวิสัยมันไม่ตรงกัน การมองการเห็นมันไม่ตรงกัน เข้ากันไม่ได้ด้านภายใน เข้ากันไม่ได้ด้านความรู้สึก

หอบถังขยะเน่า หอบของโสโครก หอบไปหอบมา ก็ไม่เบื่อไม่หนักสักที นี่มันน่าขัน มันบ้าหอบอยู่ได้ยังไงถังขยะเน่า นี่คือ ความไม่รู้จริงตามเป็นจริง

ร่างกายนี้มันเป็นของหนัก


ร่างกายนี้มันเป็นของหนัก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ร่างกายนี้มันเป็นของหนัก เวลาเจ็บป่วยไข้ มันลำบาก เป็นภาระ แต่คนเราก็ยังไม่เข้าใจ มองไม่เห็น สังเกตในเวลาที่ไม่สบาย ยังมองไม่เห็น ไม่สัมผัส ทั้งๆ ที่เป็นของหนัก เป็นภาระ แต่มันก็ยังไม่ยอมปล่อย มันยึดติด มันติดแน่น ยึดเหนี่ยวไว้จนเคยตัว เป็นนิสัย มันหวง มันทะนุถนอม รักในร่างกาย รักในรูป หึงหวงในร่างกาย มันเข้าใจผิด คิดว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นมันจริงๆ เข้าใจผิดว่ารูปเป็นตัว เวทนาเป็นตัว สัญญาเป็นตัว สังขารเป็นตัว วิญญาณเป็นตัว เรื่องมันอยู่ตรงนี้ ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องอื่น

เริ่มคิดจากว่ามันเป็นรูป เป็นนาม ที่มีมาแล้วตามธรรมชาติ อย่าย้อนถอยไปไกลกว่านี้ คิดไปมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ธรรมชาติมันให้มาแล้ว มีอยู่แล้ว นี่คือของปัจจุบัน ส่วนอดีตมันแก้ไขไม่ได้ โลกที่เป็นมาแล้วเป็นอดีต ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ที่มีมามันเป็นอดีตแล้ว คิดถึงได้แต่ก็ไปเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ มันอยู่ในปัจจุบันนี้

ปัจจุบันระดับหนึ่ง ก็คือ มีชีวิตอยู่นี่ มีรูป มีนาม อยู่นี่ แต่ถ้ามองอีกระดับหนึ่งก็ว่าปัจจุบันคือ ชาตินี้ เกิดมาแล้ว มันเป็นตัวเป็นตน เป็นบุคคลชื่อนั้น ชื่อนี้ เป็นลูกคนนั้น ลูกคนนี้ พ่อเป็นคนนั้น แม่เป็นคนนี้ นี่ก็เป็นปัจจุบัน แต่เป็นปัจจุบันระดับภายนอก ปัจจุบันระดับหยาบๆ ระดับชาวบ้าน ระดับภาษาคน ไม่ใช่ระดับชาวพุทธ

สิ่งที่ทำได้ แก้ไขได้ มันอยู่ในปัจจุบัน ทำในอดีตไม่ได้ ทำในอนาคตไม่ได้ ปัจจุบันชาตินี้จะใช้ชีวิตแบบไหน เอาชีวิตมาใช้เป็นนักบวช ค้นคว้า หาความจริง นี่คือทำได้ในปัจจุบัน เปรียบเทียบแบบระดับหยาบๆ ระดับชาวบ้าน ถ้าปัจจุบันที่มันลึกซึ้งละเอียดอ่อนไปกว่านั้นก็ต้องพูดอีกแบบหนึ่ง มันมองได้หลายระดับ

อาศัยการทำบ่อยๆ สังเกตการณ์บ่อยๆ เมื่อไม่สบาย มันจะฟุ้งซ่าน นั่นคือมันออกไปจากปัจจุบัน ออกไปอยู่ในโลกภายนอก ไปอยู่ในระดับชาวบ้าน ไปอยู่ในอารมณ์ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ไม่สบายกาย หรือไม่สบายใจ ถ้ามันอยู่กับรูปนาม มันจะต้องสบาย อย่างเช่น อยู่กับกายคตาสติ มีสติในกาย มันจะสบาย เพราะว่ามันหดตัวเข้ามา ไม่ได้ขยายตัวออกไป ถ้าขยายตัวใหญ่เท่าไร ตัวกว้างเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น เหมือนคนอ้วน ยิ่งอ้วนมาก ยิ่งอึดอัด แบกน้ำหนักมาก ก็หนักมาก ปริมาณความเป็นตัวตนมาก มันก็ยุ่งยากมาก ทุกข์มาก ตัวตนน้อยลง มันก็ทุกข์น้อย ยุ่งยากน้อย ลำบากน้อยลง ลดความเป็นตัวตนให้น้อยลง คือ อยู่กับรูป-นาม จนเข้าใจถึงในระดับที่เรียกว่า “หายตัว” จุดประสงค์ที่ต้องการสูงสุดคือหายตัว หายตัวได้มันก็ไม่เหลือตัว เหลือแต่สิ่งที่มันเป็นธรรมชาติ สิ่งที่มันเป็นหน้าที่ หน้าที่ของรูป หน้าที่ของเวทนา หน้าที่ของสัญญา หน้าที่ของสังขาร หน้าที่ของวิญญาณ สิ่งที่เหลือเป็นเพียงหน้าที่ มันก็จะชัดเจนออกมา

เดี๋ยวนี้มันยังเป็น “ตัว” อยู่ ขยายตัวออกไป ฟุ้งซ่านออกไป สังเกตการณ์ง่ายๆ ถ้ารู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ นี่มันขยายตัวออกไปแล้ว มันออกไปแส่ส่ายอยู่กับอารมณ์ภายนอก ไปอยู่กับอดีต ไปอยู่กับอนาคต พูดไปมันก็วกมาของเก่า เพราะว่าจุดปัญหามันอยู่ตรงนี้ ถ้าพูดไปเรื่องอื่นมันยิ่งไกลออกไป ไม่ถูกต้อง การไปรัก ไปชัง มันอยู่ภายนอกทั้งนั้น ไปห่วงใย มันอยู่ภายนอกทั้งนั้น ไปวิตกกังวล มันภายนอกทั้งนั้น มันออกไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก

ไม่สบายใจ คือใจมันไม่สงบ เกิดความรัก มันก็ไม่สบายใจ เกิดความชัง มันก็ไม่สบายใจ ความหงุดหงิด นี่ก็ไม่สบายใจ ความเจ็บ ก็ไม่สบายใจ ร้อนเกินไป ก็ไม่สบายใจ หนาวเกินไป ก็ไม่สบายใจ ใจคืออะไร ใจคือรู้ นี่มันก็ต้องพูดวนเวียนอยู่นี่ จะรู้ได้ยังไงว่าคัน ว่าเจ็บ ถ้าไม่มีรู้ ขยายความออกไปมันก็อยู่ในกรอบเดียวกัน ทำนองเดียวกัน สอดคล้องกันไปหมด

มันต้องมี “รู้” จึงรู้ว่าเผ็ด ว่าเค็ม ว่าเปรี้ยว ว่าร้อน ว่าหนาว ถ้าไม่มีรู้ มันจะรู้ได้ยังไง ชีวิตที่เกิดมามันก็พัวพันอยู่กับเรื่องเหล่านี้ วนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ อยู่กับร้อน อยู่กับหนาว อยู่กับดีใจ เสียใจ สบาย ไม่สบาย อยู่กับเผ็ด กับหวาน กับขม นี่จึงเป็นการพูดเรื่องของจริงที่ประสบอยู่ในชีวิตทุกวันๆ ไปพูดเรื่องสวรรค์ นรก เทวดา อะไรนั่น มันไกลออกไป คนละทาง นั่นมันหลงไปแล้ว ไปพูดเรื่องวัตถุมงคล มันยิ่งไกลออกไปใหญ่ ไปเอาเหรียญ เอาพระเครื่อง หลวงพ่อนั่น หลวงพ่อนี่ เป็นวัตถุมงคล เอาก้อนหิน ก้อนดิน ก้อน เล็กๆ น้อยๆ เป็นวัตถุมงคล เอาไม้มาเหลาเป็นรูปนั่นรูปนี่ แล้วก็กราบไหว้เป็นวัตถุมงคล จะบ้าตาย มันไกลกันจนมองไม่เห็น อยู่คนละเรื่องกัน ไกลจากพระพุทธเจ้า

สิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ สิ่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ “ศักดิ์สิทธิ์” มันแปลว่าอะไร คำศัพท์คำเดียวมันก็ยังไม่รู้ไม่กระจ่างชัด หลวงพ่อนั้นศักดิ์สิทธิ์ คาถานั้นศักดิ์สิทธิ์ มันพูดตามๆ กัน ตามกระแส ไม่รู้จักความหมายเลยว่าศักดิ์สิทธิ์แปลว่าอย่างไร มันหลงตามกระแส

“ตา” ของตัวเองนี่มันไม่ศักดิ์สิทธิ์หรือ คุณมีตาอยู่นี่ ยังไม่เห็นว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังจะไปหาอะไรมาอีก “ตา” มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเห็น ตาฉันก็ศักดิ์สิทธิ์ ตาคุณก็ศักดิ์สิทธิ์ ยังไม่รู้จักอีก จะบ้าไปหาของศักดิ์สิทธิ์อะไรมาอีก ตาคุณก็มองเห็นรูปเห็นสีอยู่ นั่นล่ะศักดิ์สิทธิ์

“หู” คุณมีหูไหม มี คุณได้ยินเสียงไหม ได้ยิน นั่นล่ะศักดิ์สิทธิ์ “มือ” คุณมีมือไหม จับโน่นจับนี่ทำงานได้ นั่นล่ะศักดิ์สิทธิ์ “ปาก” คุณมีปากไหม เคี้ยวข้าวได้ไหม กลืนอาหารได้ไหม ได้ นั่นล่ะศักดิ์สิทธิ์ ของศักดิ์สิทธิ์มีอยู่ในตัวแท้ๆ ชัดๆ มันยังไม่รู้จัก มันยังจะไปหาก้อนดิน ก้อนหิน รูปหลวงพ่อนั่น รูปหลวงพ่อนี่ มาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มันจะบ้าแล้ว

“น้ำ” นี่มันก็ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ตามหน้าที่ของความเป็นน้ำ มันไหลไปนั่นไปนี่ได้ คนกิน สัตว์กิน แก้กระหายได้ “แสงแดด” มันส่องให้โลกสว่าง ให้โลกอบอุ่น นี่มันก็ศักดิ์สิทธิ์ “น้ำแข็ง” มันเย็น นี่มันก็ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าน้ำแข็งมันร้อน นี่มันไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว “ต้นไม้” มันพูดไม่ได้ นี่มันก็ศักดิ์สิทธิ์ “ก้อนหิน” มันเดินไม่ได้นี่มันก็ศักดิ์สิทธิ์ “ต้นไม้ยังไม่ตาย” มันมีใบสีเขียว นี่มันก็ศักดิ์สิทธิ์ “ต้นไม้ตาย” มันไม่มีใบ นี่มันก็ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มันพิสูจน์ได้ ส่วนศักดิ์สิทธิ์แบบพวกพูดตามกัน แห่เชื่อตามกัน มันพิสูจน์ไม่ได้ มันก็เป็นอวิชชา ศักดิ์สิทธิ์โง่ๆ ศักดิ์สิทธิ์บ้าๆ บอๆ เขาหลอกยังไงก็เชื่อ ก็แห่ตามกัน มันไม่ใช้สมอง “ถ้วย” ใส่แกงได้ “หม้อ” ใช้หุงข้าวกินได้ “ครก-สาก” ใช้ตำน้ำพริกได้ นั่นล่ะมันศักดิ์สิทธิ์ แค่คำว่าศักดิ์สิทธิ์มันก็ยังไม่รู้ความหมาย มันหลงขนาดไหน

ถ้ามีหู แล้วเอาหูไปพูด นั่นล่ะมันไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ถ้าเอาปากพูด นี่มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ เอาฟันเคี้ยวอาหาร นี่มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ เวลาปวดอุจจาระ ไปเข้าห้องน้ำก็ขับถ่ายออกอยู่ เออ..นั่นยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ ทวารศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้มันศักดิ์สิทธิ์แบบเป็นสัจธรรม แบบท้าพิสูจน์ได้ ไม่ใช่ศักดิ์สิทธิ์แบบจอมปลอม แบบหลอกลวงกัน นี่ชาวพุทธมันหลงกันไป มีทั้งชักชวนโฆษณากันทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ มันโฆษณาของศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล แล้วก็พากันหลง มันอยู่ระดับไหน มันก็โง่อยู่อย่างนี้ มืดอยู่อย่างนี้ บอกว่าเป็นชาวพุทธ แต่พฤติกรรมันก็เป็นชาวบ้าน พระหลายองค์ก็พาชาวบ้านทำแบบนั้น แห่ของศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล ฝ้ายผูกแขนสีแดง สีเหลือง เจ็ดสีแปดสี คาถาต่างๆ สวดปลุกเสกพระ ด้ายสายสิญจน์ในปรัมพิธี ยันต์กันนั่นกันนี่ โอ๊ย..จะบ้าตาย ด้ายเอามาเย็บผ้า เออ..นั่นล่ะศักดิ์สิทธิ์ เอาไปกันผี กันโรค กันภัย กันเจ็บ กันตาย มันไม่ใช่หน้าที่ของด้าย ไปยึดถือตามแบบนั้นมันพวกโง่ พวกมิจฉาทิฏฐิ พวกอวิชชา ไม่ได้รับการศึกษา หรือได้รับการศึกษาแต่เป็นการศึกษาแบบป่าเถื่อน มันไม่มีความรู้สติปัญญาอะไร มันรู้ไม่ถูกต้อง ชาวบ้านมันชวนให้ลูกหลานหลงตามกัน ชวนให้ประชากรของประเทศหลงงมงาย มืดบอดสืบต่อกันไป ไม่ให้มันมีปัญญา ไม่ให้มันฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง มันมีผลเสียมากกว่าที่จะเป็นผลดี

วัตถุมงคล มันก็อยู่ในตัวเราเอง หรือขยายออกไปรอบตัว ครก สาก ถ้วย จาน มันก็เป็นวัตถุมงคล หม้อหุงข้าวก็เป็นวัตถุมงคล ชีวิตอยู่ได้ มีกินได้ ก็เพราะวัตถุมงคลเหล่านี้ บ้านไหน ไม่มีถ้วยจานใส่กิน มันก็ไม่มีวัตถุมงคล ไม่มีบ้าน ไม่มีหมอน ไม่มีเสื่อปูนอน นั่นมันไม่มีวัตถุมงคล ไปนอนตามข้างถนน นอนใต้สะพานลอย นั่นมันไม่มีวัตถุมงคล นอนคลุกกับพื้นดินอยู่อย่างชาวอินเดียบางพวก นั่นมันไม่มีวัตถุมงคล ขนาดมันกราบเจ้าพ่อนั่น เจ้าแม่นี่ เทพองค์นั้นองค์นี้อยู่ทุกวัน มันก็ยังไม่มีวัตถุมงคล

วัตถุมันจะเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคล มันขึ้นอยู่กับการใช้ อย่างพร้านี่ถ้าเอามาผ่าฟืน มันก็เป็นวัตถุมงคล เอาไปฆ่าคน ฟันคน มันก็ไม่เป็นวัตถุมงคล มันพิสูจน์ได้ชัดๆ แบบนี้ เห็นแจ้งอย่างนี้ คนทั่วไปมันยังไม่เห็น แล้วไหนล่ะโอกาสจะได้ดวงตาเห็นธรรม เห็นแต่ของจอมปลอม ประมาทในวัตถุมงคลที่พ่อแม่ให้มา คือร่างกาย สิ่งของที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้นี่คือวัตถุมงคล ชีวิตอยู่ได้ก็เพราะปัจจัยเหล่านี้ มันยังมองไม่เห็น ไปเที่ยววิ่งไล่คว้าเอาสิ่งอื่นมาเป็นวัตถุมงคล ของมันไม่ได้เป็นวัตถุมงคล เอาท่องมาบ่นมาปลุกเสกให้เป็นวัตถุมงคล เสกก็คือ พูดเอา ว่าเอา ให้มันเป็น บีบบังคับเอา ข่มเอาให้มันเป็น ของมันไม่ได้เป็นตามหน้าที่ดั้งเดิมตามธรรมชาติ

บางพวกแขวนพระเป็นพวงไว้เต็มหน้ารถ พอจะเลี้ยวทีหนึ่งหรือตกหลุมทีหนึ่งก็เอามือไปประคองไว้ ไหนจะบังคับพวกมาลัย ไหนจะไปประคองวัตถุมงคล มันก็ยิ่งจะทำให้ตกถนนไปชนเสาไฟฟ้า หรือแหกโค้ง หรือชนคนอื่นไปโน่น

ใกล้เข้ามา ก็คือ ตัวเองนี่เป็นวัตถุมงคลที่พ่อแม่ให้มา ร่างกายนี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เป็นวัตถุมงคล ฟัน ลิ้น มือ ขา นี่เป็นวัตถุมงคล ตัวทั้งตัวนี่เป็นวัตถุมงคล ถ้าทำให้มันเป็นวัตถุมงคล แต่ถ้ากระทำไม่เป็นมงคล ไปลักขโมย เบียดเบียน รังแก คดโกง หลอกลวงเขา มันก็เป็นเสนียดจัญไร ไม่ได้เป็นวัตถุมงคล ของจริงพิสูจน์ได้แบบนี้ อธิบายแบบแจ้งๆ อย่างนี้ มันก็ฟังไม่เข้าใจ ฟังเทศน์ก็ได้ยินเข้าหู แต่ก็ไม่เข้าใจ มันก็เหมือนเทศน์ให้หัวหลักหัวตอฟัง

พอทำบุญให้ทาน ก็วุ่นวายกับการหาน้ำมากรวด เอาจริงเอาจัง ให้ความสำคัญ พระเณรเองก็บอกเขาแบบนั้น สอนกันแบบนั้น เห็นว่าชาวบ้านชอบแบบนั้น ถ้าทำแบบจริงๆ เขาไม่ชอบ เขาไม่ติด ก็เลยเอาใจกัน ไปเป็นพวกเดียวกัน ระดับเดียวกัน ตอนกรวดน้ำนึกถึงอะไร ก็นึกถึงบุญ อุทิศไปให้ผีตาย ผีพ่อ ผีแม่ มันเกี่ยวข้องอะไรกัน มันคนละภพ คนละชาติ คนละหน้าที่กัน คนตายแล้วจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับมนุษย์ ขนาดเป็นมนุษย์เหมือนกันแต่อยู่คนละมุมโลก มันก็ยังไม่เกี่ยวข้องกัน คนที่มันเกี่ยวข้องกันก็คือคนที่อยู่รอบๆ ข้างกันนี่ ได้พึ่งพาอาศัยดูแลกัน แบ่งปันกัน เลี้ยงดูกัน นี่จึงเป็นคนที่เกี่ยวข้องกัน ไปกรวดน้ำให้ผีตาย มันจะได้อะไร เออ..เอาอาหารไปหว่านให้ปลากิน เอาข้าวไปให้นกกิน ไปให้ไก่กิน นั่นมันจึงจะได้รับ เอาน้ำไปให้วัวให้ควายกิน นี่คือกรวดน้ำ กรวดน้ำแบบมีเหตุผล ปลูกมะเขือ ปลูกพริก ปลูกผัก แล้วเอาน้ำไปรดมัน ไม่รดน้ำให้มัน มันก็จะตาย นี่คือกรวดน้ำแบบมีเหตุผล กรวดน้ำแบบชาวพุทธ ไอ้การที่เอาน้ำเทลงในถ้วยในจานนี่มันพิสูจน์ไม่ได้ มันไม่เป็นสัจธรรม เป็นของไม่จริง ระดับไหนก็ไม่จริง จริงแบบของพระพุทธเจ้าต้องจริงแบบมีเหตุผล เอาน้ำไปเทใส่หญ้า หญ้ามันก็เขียว เทใส่ต้นไม้ ต้นไม้มันก็เขียว มันชุ่มมันเย็น นั่นคือสัจธรรม นั่นคือจริง นั่นคือเป็นธรรม ชัดๆ อย่างนี้มันยังไม่เห็น ไปชอบแบบมืดๆ บอดๆ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านมันก็เป็นกันแบบนี้ ไม่รู้จะว่ายังไง

ความเป็นตัวตนสะท้อนออกมาจากความเห็นไม่ถูกต้อง


ความเป็นตัวตนสะท้อนออกมาจากความเห็นไม่ถูกต้อง บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

ความเป็นตัวตนสะท้อนออกมาจากความเห็นไม่ถูกต้อง เพราะเห็นไม่ถูกต้องจึงเข้าใจว่าเป็นตัวตน สำคัญว่าเป็นตัวตน มีรสชาติว่าเป็นตัวตน มันไม่เห็นตามเป็นจริง สังขารมันปรุงแต่งให้เป็นตัวตน แต่เดิมตัวตนไม่มี มันก็ปรุงแต่งให้มี แต่งให้ยึดรูป ร่างกาย ว่าเป็นตัวตน มันไม่เห็นเป็นหุ่น เป็นซากศพ นี่มันเห็นไม่ได้ เพราะสังขารปรุงแต่ง เป็นอิทธิพลของความปรุงแต่งที่มันชำนาญการ เคยชิน คุ้นเคย มันก็เลยปรุงแต่งกลับมาที่เดิมไม่ได้ มันคล่องตัว มันชำนาญการที่จะปรุงให้เป็นตัวตน มันปรุงคืนมาจุดดั้งเดิมไม่ได้

ของเดิมมันเป็นแต่เพียงซากศพ จะต้องหาวิธีการช่วยให้มันปรุงกลับมา อย่างเช่น การสอนให้ภาวนาอสุภกรรมฐาน นี่คือปรุงให้มันเห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม นี่เป็นแบบหนึ่งของการกลับมาหาของเดิม จึงมีการให้กรรมฐาน คือให้งาน งานคือปรุงกลับมาที่เดิม ปรุงให้มันเป็นไปเห็นตามความจริง คือเห็นกายเป็นของไม่สวยไม่งาม ทั่วร่างกายมีแต่ของสกปรก ของไม่น่าเอา ของไม่น่าเป็น มีกระดูก มีเลือด มีเนื้อ มีหนอง อาหารที่เอาเข้าไปหล่อเลี้ยงก็เป็นของสกปรก เป็นซากศพ เป็นของตายทั้งนั้น นี่คือวิธีปรุงแต่งกลับมาที่เดิม ถ้าหยิบเอาคำว่า “สังขาร” มาอธิบาย มันก็อธิบายได้แบบนี้

อย่างที่ท่านเขียนไว้ว่า “กรรมฐานห้า” คือ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ มันก็อันเดียวกัน ก็คือการเอามาปรุงเหมือนกัน ปรุง-ภาวนา-คิด มันก็อันเดียวกัน หาคำศัพท์มาพูดให้มันหลากหลายเท่านั้นแหละ ปรุงบ่อยๆ เนืองๆ ปรุงให้มันกลับมาหาของเก่า ปรุงแต่งกลับมาให้มันเป็นอนัตตาเหมือนเก่า ให้มันเข้าสู่หลักการเดิม โดยเอาซากศพมาเป็นอุปกรณ์เปรียบเทียบ เป็นอุปกรณ์การสอน ซากศพคนตายเป็นอุปกรณ์ที่ใกล้ความจริงมากที่สุด เพราะคนตายก็เปลี่ยนไปจากคนเป็นนี่เอง ให้เห็นความจริงที่ว่าร่างกายมันเป็นของเปื่อยเน่า เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม ให้มันคลายความเข้าใจผิด ให้มันมาเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าร่างกายเป็นเพียงซากศพ ซากผี นี่เป็นวิธีปรุงแต่ง

ถ้าไม่ปรุง จะนั่งอยู่ให้มันเกิดเอง มันเป็นไปไม่ได้ มันขัดกับหลักการ ขัดกับความจริง ขัดกับเหตุผล พระพุทธองค์ในอดีตก็สอนให้คิดให้ปรุงกลับคืน “ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วมันจะเกิดขึ้นมาเอง” มันเดินทางด้วยความคิด ด้วยการปรุงแต่งกลับคืนมา พระพุทธองค์ไปสอนปัญจวัคคีย์ครั้งแรกก็สอนเรื่องอนัตตลักขณสูตร สอนจากหยาบไปหาละเอียด จากระดับพื้นฐานไปสู่สิ่งที่มันสูงกว่าเหนือกว่า เริ่มสอนตั้งแต่ “รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” แล้วก็ให้พิจารณาตอบกลับมาตามจริง ก็คือ “รูปไม่เที่ยง” มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แล้วก็ไล่ไป เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ให้คิดพิจารณาตาม ว่ามันใช่ไหม จริงไหม เมื่อมันไม่เที่ยง มันก็ไม่ใช่ตัว มันก็เป็นอนัตตา รูปก็เป็นอนัตตา เวทนาก็เป็นอนัตตา สัญญาก็เป็นอนัตตา สังขารก็เป็นอนัตตา วิญญาณก็เป็นอนัตตา ให้คิดตาม ว่าใช่ไหม จริงไหม ถ้าเห็นตาม รู้ตามได้ มันก็ตรัสรู้ ถ้ายังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นตาม มันก็ยังมืดอยู่

อนัตตา คือ มันเป็นสิทธิส่วนตัวของมัน เป็นอิสระของมัน คนไม่เข้าใจก็บอกว่า อนัตตาแปลว่าไม่มี ไม่มีได้ยังไงในเมื่อรูปเป็นอนัตตา รูปก็ยังมีอยู่นี่ ที่มันไม่เข้าใจก็เพราะยังเป็นปุถุชน ยังไม่เป็นธรรม ยังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม คำว่า “อนัตตา” มันลึกซึ้งเกินกว่าคนธรรมดาจะเข้าใจได้ มันไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่หน้าที่ของคนธรรมดาที่จะเข้าใจได้ ถ้าคนเข้าใจได้มันก็ไม่ใช่คนธรรมดา

อนัตตา ก็คือ มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นจริงอยู่ตามหน้าที่ของมัน อนัตตาไม่ได้หมายถึงว่าไม่มี ไม่เห็น คือของที่มันมีอยู่นั้นมันเป็นอนัตตา เพราะส่วนใหญ่เขาแปลไว้ว่า อนัตตาคือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คนฟังไม่เป็นก็เลยคิดว่าไม่มีตัวไม่มีตน พอเข้าใจไม่ถูกต้อง มันก็สับสน ไม่กระจ่าง แล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย ไม่เกิดศรัทธา เพราะเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่ของง่าย มันเข้าใจได้ยาก ถ้าหมดศรัทธามันก็ยิ่งถอยออกไปไกล จนถึงขนาดหาว่าพูดเรื่องไม่จริง พูดเรื่องงมงาย ศาสนาพุทธสอนงมงาย นี่คือความยาก ความเข้าใจไม่ได้

เมื่อเข้าใจยังไม่ได้ ก็มีทางเดียวก็คือพูดสอนอธิบายขยายความกันต่อไป ฟังกันต่อไป หาคำพูดมาอธิบายเทียบเคียงต่อไป เหมือนที่พระพุทธองค์เทศน์สอนไว้มากมายหลายแง่หลายมุม

ลองแยกชิ้นส่วนร่างกายออกดู เช่น “ผม” ถ้าแยกมันออกมา มันก็ไม่มีตัวมีตนอะไร มันเป็นแต่เพียงหน้าที่ของมัน เป็นอยู่อย่างนั้นเอง หรือ “เนื้อ” ถ้าเอาออกมากองไว้ ก็ไม่มีตัวมีตนอะไร มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นสัจธรรมแบบนั้น เป็นหน้าที่แบบนั้นเอง รื้อเอากองรูป รูปที่คิดว่าเป็นตัวเป็นตน รื้อออก ถอนออก กระจายออก เหมือนรื้อบ้าน

“กระดูก” ก็เป็นอนัตตา “ขน” ก็เป็นอนัตตา “เนื้อ” ก็เป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน กระดูกอยู่ข้างนอกก็ไม่มีตัว กระดูกอยู่ในร่างกายก็ไม่มีตัว หรือ “กะโหลกศีรษะ” มันก็เป็นอนัตตา อนัตตาไม่ได้หมายถึงว่าไม่มี มันมีอยู่แต่มันเป็นอนัตตา มันเป็นการหาวิธีพูดมาชี้นำชี้แนะ ชักจูง บ่อยๆ เนืองๆ เป็นการทำความเพียร ให้มันเห็น ให้มันยอมรับ ให้มันค้นคว้า ให้มันสับ ให้มันแหลก เหมือนโรงสีข้าว สีเข้าไปจนเปลือกมันออกหมด เหลือแต่เมล็ดข้าวขาวๆ นี่คือเปรียบเทียบได้กับคำว่าการทำความเพียร ไม่ประมาท ไม่ลดละ เมล็ดข้าวเปลือกมันทนต่อการเสียดสีไม่ได้หรอก มันต้องหลุดร่อนออกไปจนหมด เพราะสีไม่หยุด พระ เณร ก็คือโรงสี สีเข้าไป เพียรเข้าไป มันก็เปรียบเทียบกันแบบนี้

รูปมันเป็นของหยาบ เป็นของเบื้องต้น เป็นของพื้นฐาน เป็นอนุบาล ถ้าไม่เข้าใจเรื่องรูปก่อน เรื่องเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยิ่งลึกซึ้ง ละเอียดกว่า มันก็ยิ่งเข้าใจไม่ได้ ฉะนั้น ประตูแรก คือ เปิดร่างกาย เปิดรูปให้ได้ เพราะมันหยาบกว่า ชัดเจนกว่า ถ้าตัวหนังสือขนาดใหญ่อย่างนี้ยังอ่านไม่ได้ อย่าหวังจะไปอ่านหนังสือตัวน้อยๆ นิดๆ สายตาไม่ดีพอจะอ่านได้ มันก็เปรียบเทียบได้อย่างนี้ ย้ำกันอยู่อย่างนี้ จี้กันอยู่อย่างนี้ พากเพียรพยายามอุตสาหะ เผาอยู่จุดนี้ ฝักใฝ่อยู่นี่ ตริตรองอยู่นี่ พยายามที่จะอ่านให้ออกอยู่จุดนี้

คำว่า “สติ” นี่มันก็ยังเข้าใจไม่ชัดแจ้ง คำๆ เดียวนี่แหละ “สติก็คือรู้” “สติก็คือใจ” นั่นแหละ รู้อยู่ที่กาย กายคตาสติ กายก็คือรูป คือซากศพ คือกระดูก คือเนื้อ นี่แหละ กายคือผม คือขน คือตา คือหู นี่แหละ คือเล็บ คือไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารเก่า อาหารใหม่ นี่แหละ หาวิธีสับ วิธีป่น ถากเข้าไป เจาะเข้าไป ชำแรกเข้าไป มันเป็นเรื่องที่ต้องเพียรด้วยปัญญาด้วยความคิด ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่นั่งสมาธิให้มันสงบ

สมาธิมันก็เหมือนคนนอน คนนอนหลับมันจะรู้อะไรได้ ถ้าพูดแรงๆ สะกิดให้สะดุ้งก็พูดแบบนี้ ทำไมต้องไปติดสมาธิ ไปแห่ตามสังคมนิยมสมาธิ คนนอนหลับมันจะทำอะไรได้ นอนหลับแล้วมันรู้เรื่องอะไรไหม เวลานั่งสมาธิแล้วสบายไหม สบายซิ คนนอนหลับมันก็สบาย สบายกว่าไปทำงาน แต่มันได้อะไรไหม คนนอนกินข้าวก็ไม่ได้ กินน้ำก็ไม่ได้ ผลงานของคนนอนหลับคือได้อะไร มันก็ต้องพูดกันให้มันแรงๆ แบบนี้ มันชอบทำตามกัน เชื่อตามกัน ตามกระแสสังคมชาวพุทธ เชื่อแบบเชื่อตำรา เชื่อโบราณ ไม่ใช่ดูถูก แต่เป็นวิธีการแบบหนึ่งที่จะพูดแรงๆ อย่างนี้ ให้มันเข้าใจกระจ่างทุกซอกทุกมุม ไม่ใช่พูดแบบไปลบหลู่ของเก่า “พูดแบบนี้เป็นวิธีการทำความเข้าใจเท่านั้น” เป็นวิธีการที่จะสีให้มันขาวออกมา เป็นวิธีการที่จะไล่ให้มันลุก ไม่ให้มันมัวแต่นอนอยู่ มันสายแล้ว ตื่น ลุกไป เป็นวิธีต้อน ไล่ออกไป ไม่ให้มันติดอยู่กับสมาธิ สงบอยู่กับสมาธิ ให้มันตื่นลืมตาเห็นความเป็นจริง

กายคตาสติ มีสติเป็นไปในกาย สติคืออะไร สติคือรู้ รู้ซะซิ รู้บ่อยๆ รู้เนืองๆ ในกายนี้ จะเอาอะไรมาเป็นสติถ้าไม่ใช่รู้ บางคนก็ขัดว่า รู้มันคือใจต่างหาก เพราะไม่เข้าใจก็เลยพูดแบบนั้น ถ้าอย่างนั้นเวลาเค็ม คุณก็อย่ารู้ซิ เค็มก็ต่างหาก รู้ก็ต่างหาก มันแยกกันออกได้ไหม เวลาหวาน คุณก็อย่าเอาใจมารู้หวาน เวลาร้อน คุณก็อย่าเอาใจมารู้ร้อน ได้ไหม เวลาหนาว คุณก็อย่าเอาใจมารู้หนาว เวลารัก คุณก็อย่าเอาใจมารัก เวลาชัง คุณก็อย่าเอาใจมาชัง ได้ไหม ไม่ได้ นั่นแหละ สติกับรู้ มันก็แบบนั้นแหละ สติมันก็คือรู้ มันเป็นการหาคำมาพูดอธิบายในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้มันเข้าใจ

การเคลื่อนไหวของกาย มันถูกผลักดันมาจากตัวรู้

การเคลื่อนไหวของกาย มันถูกผลักดันมาจากตัวรู้
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

การเคลื่อนไหวของกาย มันผลักดันมาจากตัวรู้ คือใจ หัดสังเกตการณ์จุดนี้บ่อยๆ มันก็เป็นการทำความเพียร หัดสังเกตการณ์ดูของจริง มีสติกำหนดที่กาย สติเป็นไปในกาย หรือที่เรียกว่า กายคตาสติ มีสติเป็นไปในกายอยู่ทุกเมื่อ เพราะกายมันจะเคลื่อนไหว ก็แสดงถึงการทำการของขันธ์ห้า ส่วนที่เป็นนามมันมาเกี่ยวข้องกับส่วนที่เป็นรูป มันทำการกันอยู่ มันปฏิบัติการกันอยู่ สังเกตจุดนี้ เรียกว่ามีสติ มีข้อปฏิบัติ มีการทำความเพียร เพียรโดยตรงที่จะเข้าใจเรื่องตัวเอง ไม่ใช่เพียรภายนอก แต่เป็นการเพียรแบบถี่ยิบเข้า ถ้ามันเห็นแจ้งในจุดนี้ ก็เรียกว่า ละสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิดที่ว่ากายเป็นตน เปลี่ยนมาเห็นกายเป็นรูป ถ้าไปศึกษาอยู่ภายนอก มันคนละอย่างกัน มันอยู่ไกลไปมาก

กายมันเป็นเหมือนกระดองเต่า เหมือนเปลือกหอย หรือจะเรียกว่า “กระดองใจ” ก็ได้ เหมือนที่เพลงเขาร้องว่าเจ็บกระดองใจ คำพูดนี้ก็ถูก ถ้าเข้าใจอย่างลึกซึ้ง กระดองใจก็คือกาย คือกระดองคน กระดองมนุษย์ นี่เป็นวิธีการที่จะหยิบมาอธิบายในแง่ต่างๆ ให้เข้าใจ ซอกแซกค้นหาให้มันเห็น คำศัพท์ไหนจะช่วยให้นำไปสู่ความเข้าใจก็หามาพูด

คำว่า “กระดองใจ” นี่ก็ชัดเจนดี มันก็เหมือนกับคำศัพท์ที่เขียนไว้แต่โบราณว่า กายนี้เป็นเรือน เป็นถ้ำ เป็นคูหา เป็นที่อยู่ของใจ ซึ่งพยายามจะชี้ลงไปในจุดเดียวกัน แนะนำเข้าใจ ต้อนเข้าไป ก็เป็นวิธีการทำความเพียรภายใน เพียรที่จะรู้สิ่งนี้ ซึ่งยังรู้ไม่ได้ รู้ไม่ได้มันก็เป็นอวิชชา ไม่รู้จริง มันก็ต้องเป็นนักศึกษา นักเรียน ให้มันเกิดความรู้ เกิดวิชชา

กายเป็นเรือนของโรค กายก็เป็นเรือนของใจ เรือนคือที่อยู่ โรคมันมีเรือน กายก็เป็นเรือนของมัน เหมือนคนมีบ้าน ก็ต้องอยู่บ้าน โรคมันก็ต้องอยู่ที่เรือนของโรค

กายคตาสติ คือ สติเป็นไปในกายอยู่ทุกเมื่อ มันก็เข้าไปตรงกับคำสอนเวลาให้นั่งกรรมฐาน ก็ให้นั่งดูลมหายใจเข้า-ออก ลมมันเป็นส่วนหนึ่งของกาย จับข้อมูลกว้างๆ ให้มันชัดเจน จะได้ไม่ลังเลสงสัย มันเป็นเรื่องร่ำไรอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น เรื่องที่มุ่งเข้ามา รวมพลังเข้ามาที่การดูกาย ให้เห็นกาย เปิดประตูให้ได้ รู้ให้ได้ว่า กายเป็นกาย กายเป็นกระดองใจ กระดองเต่า มันเป็นเรื่องพูดร่ำไรเรื่องเก่าๆ ซ้ำไปซ้ำมาให้หงุดหงิดรำคาญ แต่ว่าพูดไปเรื่องใหม่ไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ทาง ดังนั้นพูดไปไหนก็ต้องวกมานี่

มันไม่เห็น มันไม่ยอมรับ แล้วจะทำยังไง ก็ต้องบอกว่าทำความเพียร พากเพียรพยายาม ฝักใฝ่อยู่ ถ้าลดละความเพียรก็เรียกว่าประมาท มันจะรู้ได้ด้วยการเพียร การศึกษาค้นคว้าค้นหา ไม่ใช่ว่ามันจะรู้เพราะรอใครมาดลบันดาลให้รู้ หรือลาภลอย ไม่ใช่ได้มาด้วยการเสี่ยงโชค ของจริงต้องได้มาด้วยการพากเพียร ด้วยการกระทำ ด้วยความสุจริต ไม่ใช่คดโกง หลอกลวง ไม่ใช่ได้มาด้วยทางลัดที่ไม่ถูกต้อง แลกซื้อ ติดสินบน ไม่ใช่ว่านั่งนานๆ อดทนไปแล้วมันจะเกิด ไม่ใช่ว่าบวชอยู่นานๆ แล้วจะรู้มาเอง ไม่ใช่ว่ามานุ่งผ้าเหลือง โกนผม แล้วมันจะได้เองหรอก ไม่ใช่รอเอาเดี๋ยวได้เอง เหมือนอย่างพวกบวชห้าวัน เจ็ดวัน สิบห้าวัน พวกนี้บวชเอาผ้าเหลือง ซึ่งจริงๆ มันห่างไกลจนมองไม่เห็น สังคมมันก็ยิ่งนิยมทำตามกันไป มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำสอน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาสักหน่อย เป็นประเพณีทำตามกันแบบไร้สติปัญญา ดึงของจริงไปอยู่ในระดับชาวบ้าน บวชแบบชาวบ้าน มันก็ต้องพูดแบบนี้ เหมือนอย่างพูดประจำว่ามันไม่ใช่การบวชแบบชาวพุทธ นั่นมันอยู่ไกล มันต้องรู้เห็นด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ด้วยการอดทนพากเพียร ปากกัดตีนถีบ ไม่ใช่ได้มาด้วยลาภลอย ประวัติครูบาอาจารย์ก็มีแต่ทำความเพียร ไปอยู่ที่นั่นที่นี่ก็มีแต่พากเพียร แม้แต่พระพุทธองค์เองก็พากเพียรค้นคว้าทุกข์ยากลำบากแทบเป็นแทบตาย นี่คือตัวอย่างบุคคลในอดีต

เมื่อมันยังไม่เข้าใจ ก็ต้องมีคนอื่นช่วยป้อนข้อมูลที่ถูกต้องให้ เพื่อให้พยายามที่จะเดิน ที่จะไปต่อไป ถ้ามันต้องการอยู่ มีคนเอาของไปให้ มันก็รับ พระพุทธเจ้าไปเทศน์โปรด ไปสอน ก็คือไปบอกความจริงให้ฟัง มันเห็นตามได้ก็เพราะมันต้องการอยู่ ถ้าไม่ต้องการ เอาไปให้มันก็ไม่รับ ไม่เอา ไม่ตรงกับความต้องการของเขา หลวงปู่ชาท่านก็เปรียบเทียบว่า เหมือนกับหว่านเพชรพลอยให้ไก่ หว่านลงไป ไก่มันก็มีแต่จะวิ่งหนี มันไม่ได้ตื่นเต้นยินดีสนใจ มันไม่ใช่ของจริงสำหรับมัน พอหว่านข้าวเปลือกข้าวสารลงไป มันแห่กันมา มันพาลูกพาแม่มันมากิน นี่เปรียบเทียบกับธรรมะ เอาเรื่องจริง ของจริงมาบอกให้ฟัง ก็เหมือนเอาก้อนทองคำโยนไปให้ไก่ ไก่มันมีแต่จะตื่นตกใจวิ่งหนี ไก่ที่ไหนมันจะสนใจ เหมือนคนฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เป็น ก็หาว่าพระเอาอะไรมาพูด ไม่รู้เรื่องด้วย นั่งเป็นตอเป็นหินอยู่ เหลียวดูก็ไม่เห็นปฏิกิริยาว่ามันจะซึมเข้าไปแม้แต่น้อย แสดงว่าเขาไม่เข้าใจเลย ไม่สะกิดเลย นี่คืออวิชชา ความเป็นปุถุชน ปึกหนา หนาแท้ๆ หว่านจนเพชรพลอยแดงเต็มพื้น เขาก็ไม่สน เขามีแต่จะวิ่งหนีไปให้ไกลๆ เสียด้วยซ้ำ

กระดองใจก็คือร่างกาย กำหนดบ่อยๆ มีสติเป็นไปในกายบ่อยๆ ทำความเพียร นั่งอยู่นิ่งๆ คนเดียว ก็สังเกตดู จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ เปลี่ยนอิริยาบถตา หลับตาก็ได้ ลืมตาก็ได้ มันเป็นธรรมชาติของมัน ถ้ามันไม่หลับ จะหลับตามันก็รู้ จะลืมตามันก็รู้ ค้นหาซอกแซกอยู่ที่กระดองนี้ แยกให้มันได้ แยกยังไม่ได้ก็พากเพียรต่อไป หาวิธีค้นคว้าอยู่นั่นแหละ สังเกตการณ์ เทียบเคียงเข้าไป มันเดินด้วยความคิด เดินด้วยปัญญา ไปด้วยปัญญา ไปด้วยมันสมอง ไม่ใช่ลาภลอย นั่งอยู่นานๆ จะให้มันรู้แจ้งวาบมาเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นเรื่องรู้เฉพาะตน ปัจจัตตัง ไม่มีกาลเวลา อะกาลิโก

ถ้ามันยังแยกไม่ได้ มันก็ยึดก็แบกเอาไว้ อย่างที่เขาว่าแบกก้อนทุกข์ แบกกองทุกข์ ถ้าแยกได้ เห็นได้ มันก็จะเข้าใจว่าใช้คำศัพท์ว่า “ทุกข์” นี่มันไม่ถูกต้อง แต่ถ้ายังไม่เห็นไม่เข้าใจจะใช้คำนี้ก็ถูกต้องอยู่ เหมาะสมแล้ว ว่ามันเป็นทุกข์ มีโทษมาก ถ้ารู้จริงจะเห็นว่ามันไม่ได้เป็นทุกข์เป็นโทษอะไร มันเป็นเพียงหน้าที่ของมัน มันจะแจ่มแจ้งในลักษณะนี้ มันทำการอยู่ตามหน้าที่ของมัน ไม่ได้มีใครจะไปเดือดร้อนไปทุกข์อะไร ต้องแยกฟัง แยกระดับ อย่าเอาไปพ่วงกันระหว่างฝ่ายโลกกับฝ่ายธรรม ฝ่ายโลกียะกับฝ่ายโลกุตตระ

ปวดหัว ปวดฟัน เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นสิ่งน่าเบื่อหน่าย เป็นทุกข์มาก เกิดเป็นคนมีร่างกายมันไม่ดีอย่างนี้แหละ ร่างกายมันเป็นของเน่า ของไม่ดี มีแล้วมันทุกข์มันยาก เบื่อซะ หน่ายซะ ทิ้งซะ วางซะ มันเป็นข้อมูลที่จะต้องพูดสอนเบื้องต้น เหมือนกับคนถือกล้วยมา ถือมะพร้าวมา เขาก็รู้อยู่ว่าเวลากินจะต้องทิ้งเปลือก ทิ้งกะลามัน แต่ตอนถือมาจะไปยังจุดหมาย ก็ต้องถือเอาเปลือกเอากะลามันไปด้วยก่อน หลวงปู่ชาท่านอธิบายแบบนี้

ร่างกายมันทุกข์มาก หิวก็อยู่นี่ เจ็บหัว ปวดท้อง ก็อยู่นี่ เขาจะฆ่าจะตี ก็มาฆ่ามาตีอยู่นี่ เขาจะยิงก็มายิงอยู่นี่ ช้างจะเหยียบ เสือจะกินก็มากินที่นี่ ทุกข์อยู่นี่ ทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ช้าง อยู่ที่เสือ อยู่กับไข้มาลาเรีย นั่นมันภายนอกทั้งนั้น ตัวต้นเหตุจริงมันอยู่ที่ขันธ์ห้านี่ อยู่ที่รูปนี่ อยู่กระดองใจ อยู่กระดองเต่านี่ ให้เบื่อซะ ถอนซะ อย่าไปพัวพันกับมันอีกต่อไป ทิ้งซะ ปล่อยวางซะ เหล่านี้คือเรื่องที่เอามาย้ำเอามาสอนกันบ่อยๆ