วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ฝึกตน

ฝึกตน
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------------

ฝึกตน ฝึกตน ส่วนมาพอจะทำมันก็ข้ามไป ข้ามปัจจุบันไป มันไม่ดู มันเป็นของละเอียด ที่มันไม่ดูเพราะมันเป็นสัญชาตญาณของคนทั่วไป สายกลางมันไม่ดู ปัจจุบันมันไม่ดู จึงข้ามไป ดังนั้นหลวงพ่อจึงพาสวด “ภัทเทกรัตตสูตร” อยู่เป็นประจำ คือย้ำว่าให้ “ดูปัจจุบัน” อย่าข้ามไปดูอดีต อนาคต บทสวดนี้ชัดเจน เน้นหนักอยู่นี่ มันไม่มีเรื่องมาก มีแค่เรื่องปัจจุบัน คือสภาพปกติที่รู้อยู่ ถ้าไม่ดูจุดนี้ งานนี้ก็ไม่เสร็จซะที ไม่รู้ไม่เข้าใจซะที มันก็ไม่เห็นความจริง

ถ้านั่งไปแล้วต้องการให้เกิดความสงบ ความเยือกเย็น มันก็ข้ามไปแล้ว ข้ามปัจจุบัน ปัจจุบันมันฉายอยู่ตลอดเวลา เมื่อตื่นขึ้นปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว พุทโธก็มีอยู่แล้ว ครูบาอาจารย์เน้นหนักว่าให้มีพุทโธอยู่กับตัวนะ มันก็มีความหมายอย่างนี้ แต่คนมันไม่เข้าใจ ไปเข้าใจระดับภายนอก ว่าให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธที่สร้างขึ้นมาใหม่ ต่อเติมขึ้นมาใหม่ นั่นมันเป็น “พุทโธอนาคต ปรุงแต่งมาใหม่” พุทโธปัจจุบันมันข้ามไป

ถอยกลับมายกตัวอย่างแบบหยาบๆ ภายนอก ก็เหมือนกับเด็กทารกเกิดใหม่ที่มีแต่ตัวเปล่าๆ นั่นแหละปัจจุบัน แต่พอเอาชื่อ นามสกุล เสื้อผ้า ไปเพิ่มเติมให้นั่นแหละเป็นอนาคตแล้ว มันก็ข้ามไป มันก็สอดคล้องกับที่เราสวดกันว่า “บุคคลไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วยอาลัย และไม่ควรพะวงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งเป็นอดีตก็ละไปแล้ว สิ่งเป็นอนาคตก็ยังไม่มา ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ ฯลฯ”

แต่ฟังแล้วก็ยังขัดๆ อยู่ตรงที่บอกว่า “ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้” ถ้าไม่คลอนแคลนแล้ว มันก็จบแล้ว ไม่ต้องพอกพูนอะไรแล้ว นี่ถ้าคนคิดมากจะเห็นในรายละเอียดของคำที่เขาใช้กัน คำศัพท์หลายคำมันชวนให้หลงได้ ธรรมะเป็นภาษาของใจ รสชาติของใจ ถ้าเราสัมผัสเองแล้ว เราจะรู้เลยว่าที่เขาเขียนอย่างนั้น ใช้คำศัพท์อย่างนั้น มันใช่หรือเปล่า มันตรงหรือเปล่า ชัดเจนหรือเปล่า

พุทโธนี่มันมีอยู่แล้วเมื่อเราตื่นอยู่ นั่นแหละปัจจุบัน แต่มันไม่ดู มันเที่ยวไปหากินอารมณ์ภายนอก มันไม่กินปัจจุบัน ไปกินรูปกินเสียงซึ่งมันเป็นภายนอก เป็นธรรมภายนอก มันอยู่นอกตัวออกไป

พ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก นี่มันก็เป็นธรรมภายนอก จึงไม่ใช่ปัจจุบัน นี่คือยกตัวอย่างขยายความแบบระดับพื้นฐานภายนอก แบบหยาบๆ คือมันเป็นของที่เอามาใหม่ สร้างมาใหม่ เติมมาใหม่ เหมือนชื่อ นามสกุล เสื้อผ้า ที่ใส่ให้เด็กทารกแรกเกิด

ภาษาใจ อาการใจ รสชาติของใจ ต้องดูจุดนี้ คือดูปัจจุบัน การฝึกก็คือการดูปัจจุบันที่ตัวเอง ไม่ให้มันไปพัวพันกับธรรมภายนอก ที่ว่ามาทั้งหลายก็เพื่ออธิบายมารวมลงที่จุดนี้เท่านั้น คำพูดหรือข้อความที่ครูอาจารย์สอนหรือกล่าวกันออกมา มันก็เป็นธรรมภายนอก มันไม่ใช่ธรรมภายใน มันไม่เป็นปัจจัตตัง คือรู้เฉพาะตน ถ้าเป็นธรรมภายในมันไม่ต้องมีเสียงพูดออกมา มันก็เข้าใจเอง

เมื่อก่อนมีพระรูปหนึ่งอยู่ที่มุกดาหาร เคยมาอยู่หนองป่าพงด้วยกัน มาเล่าให้ฟังว่า ภาวนาไปเห็นตัวเองเป็นกระดูกทั้งตัวเลย จึงอยากปรึกษากับผม ว่าเป็นยังไงกันแน่ ผมก็บอกว่ามันจะบ้าแล้วนั่นนะ ท่านจะคุยกับผมก็ได้ ถ้าท่านจะฟังผม มันต้องเห็นของจริงในปัจจุบัน ถ้าจะเห็นกระดูกนะมันต้องมีการเอามีดไปแล่เนื้อออกแล้วมันจึงจะเห็นได้ มันถึงจะตรงตามสัจธรรมตามความเป็นจริง ผมจึงว่ามันใกล้จะบ้าแล้ว พระรูปนั้นท่านก็เลยชวนผมไปอยู่ด้วยเพื่อให้ช่วยสังเกตการณ์สักระยะหนึ่ง ผมก็ไปอยู่ด้วยประมาณอาทิตย์หนึ่ง สังเกตดูแล้วมันไม่ใช่จริงๆ ดูพฤติกรรมกิริยาอาการภายนอกแล้วมันไม่ใช่ ผมเลยบอกว่าให้เลิกเพ่งดูตัวเองเป็นกระดูกซะ ให้มาดูปัจจุบัน ไม่งั้นจะเป็นสัญญาวิปลาส มันต้องเห็นของจริงตามความเป็นจริง จะมาเห็นตนเองเป็นกระดูกนั่นมันสร้างขึ้นเอง ไม่ใช่ของจริง อยู่ดีๆ จะมองเห็นกระดูกคนนั้นคนนี้ มันไม่ใช่ เพราะคนเขายังมีเนื้อหนังหุ้มอยู่ปกติ เห็นอย่างนั้นมันไม่เกิดประโยชน์ เหมือนอย่างพวกร่างทรงงานกินเจ เขาเดินลุยไฟ เอาเหล็กเสียบตัวเอง นั่นมันเก่งอยู่ แต่มันไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญเรื่องอย่างนั้น มันคนละทางกัน แม้ว่าจะทำได้จริงเห็นได้จริงก็ตามเถอะ พอผมแนะนำไว้แล้วก็ลากลับมา เวลาต่อมามันก็เห็นผล คือภายหลังท่านก็สึกไปมีครอบครัว ทำมาหากินเหมือนชาวโลกทั้งหลายตามเดิม นั่นคือมันข้ามไป มันเคลื่อนไป ไม่ดูปัจจุบัน

มีอีกรูปหนึ่ง ตอนนั้นอยู่ที่วัดป่านานาชาติ เวลานั่งสมาธินี่นั่งนิ่ง ตรงแน่ว ไม่ขยับเลย ไม่ชอบเล่นชอบหัวกับใคร มีกิริยาอาการสงบ ถ้าดูภายนอกแล้วก็น่าเลื่อมใสน่าศรัทธา เพราะดูท่านสำรวมดี จะเดินจะนั่งก็เรียบร้อย ต่อมาคงเห็นว่าตนเองปฏิบัติได้ก้าวหน้า อยากจะเร่งความเพียร จึงมาขออนุญาตหลวงปู่ชา ว่าจะขออดข้าวสัก 7 วัน เพื่อจะเร่งความเพียรให้บรรลุ แต่หลวงปู่ชาท่านไม่อนุญาต หลวงปู่ท่านบอกว่า อย่ารีบไปก่อนกัน ไปพร้อมๆ กันนี่แหละ ไม่ให้อดหรอก กินเหมือนคนอื่น นอนเหมือนคนอื่นนี่แหละ ท่านพูดแบบเป็นเชิงเย้ยหน่อยๆ แบบผู้ใหญ่พูดกับเด็ก ท่าทางทีเล่นทีจริง เขาคงรู้สึกไม่พอใจเพราะเห็นว่าหลวงปู่ชาไม่ส่งเสริมไม่ให้โอกาส ก็เลยแอบหนีไปตอนกลางคืน ไปอยู่วัดทางสกลนคร ต่อมาอีกสองปีก็กลับมาที่บ้านบุ่งหวาย สึกแล้ว พาเมียกลับมาด้วย นี่คือผลของการภาวนาดี สงบ สิ่งที่ได้คือเมีย มันไม่เข้าทาง เป็นสมาธิอยู่แต่เป็นมิจฉาสมาธิ มันคนละแง่คนละมุม นี่คือประสบการณ์ที่หลวงพ่อเห็นตัวอย่างมาแล้วในอดีต

โยมก็มีคนหนึ่ง มาปฏิบัติธรรมที่หนองป่าพงเป็นประจำหลายปี เขามาเล่าให้หลวงปู่ชาฟังว่ามองเห็นเทวดาอยู่ทั่วไป แค่มองขึ้นไปบนฟ้าก็เห็นมีเทวดาอยู่ มองเดี๋ยวนี้ก็ยังเห็นเทวดานางฟ้าเมืองแก้วเมืองสวรรค์งดงามมาก หลวงปู่ชาก็หัวเราะ แล้วพูดว่า ไม่รู้จะว่ายังไงด้วยหรอก เห็นก็เห็นคนเดียว คนอื่นไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นเราก็ไม่ตื่นเต้นยินดีด้วยหรอก หลวงปู่ชาท่านก็พูดเหน็บไปแบบนี้

เห็นเทวดาแล้วมันจะเอาไปทำอะไรได้ นั่นมันพวกวิปลาส มันเป็นไปได้แปลกๆ นะคนในโลกนี้ มันสลับซับซ้อน ไม่ใช่ว่าทำอะไรพิเศษๆ ได้เหนือคนอื่นแล้วจะบรรลุโสดาฯ สกิทาคาฯ อนาคาฯ อรหันต์ มันคนละเรื่อง คนละทางกัน

มันต้องชัดเจน จับจุดให้ได้ ต้องดูลงที่ปัจจุบัน พุทโธมันมีอยู่นั่น มัชฌิมาปฏิปทาก็อยู่ที่นั่น สามคำศัพท์นี้มันลงตัวกัน พุทโธคือดูรู้ มีสติสัมปชัญญะคือรู้ตัว มันก็เข้าในฝ่ายเดียวกัน คือ อยู่ภายในตัวเรานี่ คือ รูปกับนาม กายกับใจนี่

อย่างเวลาเรานั่งนี่มันสงบ ถ้าเรารู้ตัว เมื่อหลังมันไม่ตั้งฉาก เราก็รู้ว่ามันไม่สะดวก ร่างกายมันจะหาจุดที่มันสะดวก นั่นคือมันมีสัมปชัญญะ ถ้าหลังโค้งลงนานๆ นี้มันแสดงว่าสติสัมปชัญญะมันลดลงไป ไม่เด่น ถ้าเด่นมันจะปรุงแต่งร่างกายให้ได้ดิ่งได้ฉาก มันจะจัดของมันเอง เราสังเกตความเป็นไปของมันไว้ นั่นคือการพอกพูนความรู้เพื่อให้เป็นพลัง จะได้เกิดความรู้อย่างแจ่มแจ้ง เข้าใจด้วยภาษาใจ

ส่วนใหญ่ที่พูดกันมักใช้คำศัพท์ปะปนกันระหว่างภาษาระดับโลกียะและระดับโลกุ ตตระ จนแยกแยะลำบาก มันเป็นการพูดตามๆ กัน ชวนให้เกิดความสับสน อย่างเช่น พูดว่า “ละโลภ โกรธ หลง” นี่เป็นภาษาระดับโลกียะ ทุกคนมีการละโลภ โกรธ หลง อยู่แล้ว การทำตามกฎหมาย ขับรถตามกฎจราจร รักษาศีลห้า ศีลแปด นี่มันก็เป็นการละโลภ โกรธ หลง มันจึงเป็นคำพูดระดับโลกียะ ลองทุกคนไม่ละโลภ โกรธ หลง ดูซิมันจะอยู่ได้ไหม อยากได้อะไรก็หยิบเอาเลย ไม่สนใจว่าของใคร โกรธใครก็ทุบตี ไม่สนใจไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่รู้จักอดทนอดกลั้น ดังนั้นหลายคนเอาคำว่าละโลภ โกรธ หลง ไปพูดปะปนกับภาษาระดับโลกุตตระ มันจึงไม่เข้ากัน เพราะการละในระดับโลกุตตระ คือการละอัตตา การละความเป็นตัวตน ถ้าตัวเองไม่มี โลภ โกรธ หลง มันจะอาศัยอยู่ที่ไหน เหมือนไม่มีโลกนี้ มนุษย์จะมีได้อย่างไร สัตว์ก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี ดังนั้นละตัวเองซะซิ

หรืออย่างหลอดไฟนี่มันเป็นที่แสดงออกของไฟฟ้า ถ้าเอาหลอดไฟหนี ไฟฟ้ามันจะแสดงออกได้อย่างไร จะเปิดสวิตซ์มันก็ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีที่แสดงตัว เพราะไม่มีหลอดไฟ สำหรับโลภ โกรธ หลง ก็ทำนองเดียวกัน ถ้า “ตัวเอง” ไม่มี มันก็ไม่มีที่แสดงตัว

ทุกอย่างมันเป็นเพียงการทำหน้าที่ เดินบิณฑบาต ขบฉัน มันก็เป็นการทำตามหน้าที่ เหมือนพระพุทธองค์ มีชีวิตอยู่ก็โปรดสัตว์ตามหน้าที่ เทศนาอบรมตามหน้าที่

ทีนี้คนระดับปุถุชนมันก็จะฟังไม่รู้เรื่องแล้ว เอาอะไรมาพูดก็ไม่รู้ มันยาก มันเห็นไม่ได้ มันไม่ใช่หน้าที่ของคนธรรมดาจะเข้าใจได้ อยากแค่ไหนก็เข้าใจไม่ได้ เพียรจนตายก็เข้าใจไม่ได้ กลั้นใจให้ตายก็ตายทิ้งเสียเปล่าๆ มันเข้าใจไม่ได้ ถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่

หรือเหมือนอย่างคำว่า “ฆ่ากิเลส” นี่มันก็เป็นภาษาระดับโลกียะ ถ้าเป็นภาษาระดับโลกุตตระก็ควรพูดว่า “ถ้าจะฆ่ากิเลส ให้มาฆ่าตัวเองดีกว่า” ไปฆ่ามันทำไมกิเลส ฆ่าผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด มันก็เห็นแก่ตัว เห็นคนอื่นเป็นศัตรูมาเบียดเบียน ก็เลยฆ่าเขา ฆ่ากิเลสก็เหมือนกันกับฆ่าหนอน ฆ่าแมลง ที่มากินพืชผักที่ปลูกไว้ พอฆ่ามันตาย เราก็สบายใจ พอใจ ฆ่ากิเลสก็ทำนองเดียวกัน เป็นการมองว่าตนเองทุกข์เพราะกิเลส ฆ่ากิเลสแล้วตนเองจะได้สบายอยู่เป็นสุข นั่นมันไม่ได้ฆ่าตัวเอง ไม่ได้ฆ่าอัตตา ลองถ้าฆ่าตัวเองแล้วกิเลสมันจะเบียดเบียนใคร มันจะทำให้ใครทุกข์ ก็ไม่มีตัวใครแล้ว มันก็จบ มันก็เอวัง มันก็นิรันดร มันก็นิพพาน นี่คนเลยติดข้องกับคำศัพท์ ยึดถือปฏิบัติตามความหมายของคำศัพท์ที่ได้ยินมา ซึ่งเป็นระดับโลกียะ แม้ว่าจะทำเสร็จแล้ว มันก็เสร็จแต่เรื่องโลกียะเท่านั้น เหมือนกันกับกินข้าวเสร็จ ทำนาเสร็จ ทำงานเสร็จ แต่งานระดับโลกุตตระยังไม่ได้ทำเลย พูดให้ตรงๆ มันก็อธิบายได้อย่างนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น