วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

การเคลื่อนไหวของกาย มันถูกผลักดันมาจากตัวรู้

การเคลื่อนไหวของกาย มันถูกผลักดันมาจากตัวรู้
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

การเคลื่อนไหวของกาย มันผลักดันมาจากตัวรู้ คือใจ หัดสังเกตการณ์จุดนี้บ่อยๆ มันก็เป็นการทำความเพียร หัดสังเกตการณ์ดูของจริง มีสติกำหนดที่กาย สติเป็นไปในกาย หรือที่เรียกว่า กายคตาสติ มีสติเป็นไปในกายอยู่ทุกเมื่อ เพราะกายมันจะเคลื่อนไหว ก็แสดงถึงการทำการของขันธ์ห้า ส่วนที่เป็นนามมันมาเกี่ยวข้องกับส่วนที่เป็นรูป มันทำการกันอยู่ มันปฏิบัติการกันอยู่ สังเกตจุดนี้ เรียกว่ามีสติ มีข้อปฏิบัติ มีการทำความเพียร เพียรโดยตรงที่จะเข้าใจเรื่องตัวเอง ไม่ใช่เพียรภายนอก แต่เป็นการเพียรแบบถี่ยิบเข้า ถ้ามันเห็นแจ้งในจุดนี้ ก็เรียกว่า ละสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิดที่ว่ากายเป็นตน เปลี่ยนมาเห็นกายเป็นรูป ถ้าไปศึกษาอยู่ภายนอก มันคนละอย่างกัน มันอยู่ไกลไปมาก

กายมันเป็นเหมือนกระดองเต่า เหมือนเปลือกหอย หรือจะเรียกว่า “กระดองใจ” ก็ได้ เหมือนที่เพลงเขาร้องว่าเจ็บกระดองใจ คำพูดนี้ก็ถูก ถ้าเข้าใจอย่างลึกซึ้ง กระดองใจก็คือกาย คือกระดองคน กระดองมนุษย์ นี่เป็นวิธีการที่จะหยิบมาอธิบายในแง่ต่างๆ ให้เข้าใจ ซอกแซกค้นหาให้มันเห็น คำศัพท์ไหนจะช่วยให้นำไปสู่ความเข้าใจก็หามาพูด

คำว่า “กระดองใจ” นี่ก็ชัดเจนดี มันก็เหมือนกับคำศัพท์ที่เขียนไว้แต่โบราณว่า กายนี้เป็นเรือน เป็นถ้ำ เป็นคูหา เป็นที่อยู่ของใจ ซึ่งพยายามจะชี้ลงไปในจุดเดียวกัน แนะนำเข้าใจ ต้อนเข้าไป ก็เป็นวิธีการทำความเพียรภายใน เพียรที่จะรู้สิ่งนี้ ซึ่งยังรู้ไม่ได้ รู้ไม่ได้มันก็เป็นอวิชชา ไม่รู้จริง มันก็ต้องเป็นนักศึกษา นักเรียน ให้มันเกิดความรู้ เกิดวิชชา

กายเป็นเรือนของโรค กายก็เป็นเรือนของใจ เรือนคือที่อยู่ โรคมันมีเรือน กายก็เป็นเรือนของมัน เหมือนคนมีบ้าน ก็ต้องอยู่บ้าน โรคมันก็ต้องอยู่ที่เรือนของโรค

กายคตาสติ คือ สติเป็นไปในกายอยู่ทุกเมื่อ มันก็เข้าไปตรงกับคำสอนเวลาให้นั่งกรรมฐาน ก็ให้นั่งดูลมหายใจเข้า-ออก ลมมันเป็นส่วนหนึ่งของกาย จับข้อมูลกว้างๆ ให้มันชัดเจน จะได้ไม่ลังเลสงสัย มันเป็นเรื่องร่ำไรอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น เรื่องที่มุ่งเข้ามา รวมพลังเข้ามาที่การดูกาย ให้เห็นกาย เปิดประตูให้ได้ รู้ให้ได้ว่า กายเป็นกาย กายเป็นกระดองใจ กระดองเต่า มันเป็นเรื่องพูดร่ำไรเรื่องเก่าๆ ซ้ำไปซ้ำมาให้หงุดหงิดรำคาญ แต่ว่าพูดไปเรื่องใหม่ไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ทาง ดังนั้นพูดไปไหนก็ต้องวกมานี่

มันไม่เห็น มันไม่ยอมรับ แล้วจะทำยังไง ก็ต้องบอกว่าทำความเพียร พากเพียรพยายาม ฝักใฝ่อยู่ ถ้าลดละความเพียรก็เรียกว่าประมาท มันจะรู้ได้ด้วยการเพียร การศึกษาค้นคว้าค้นหา ไม่ใช่ว่ามันจะรู้เพราะรอใครมาดลบันดาลให้รู้ หรือลาภลอย ไม่ใช่ได้มาด้วยการเสี่ยงโชค ของจริงต้องได้มาด้วยการพากเพียร ด้วยการกระทำ ด้วยความสุจริต ไม่ใช่คดโกง หลอกลวง ไม่ใช่ได้มาด้วยทางลัดที่ไม่ถูกต้อง แลกซื้อ ติดสินบน ไม่ใช่ว่านั่งนานๆ อดทนไปแล้วมันจะเกิด ไม่ใช่ว่าบวชอยู่นานๆ แล้วจะรู้มาเอง ไม่ใช่ว่ามานุ่งผ้าเหลือง โกนผม แล้วมันจะได้เองหรอก ไม่ใช่รอเอาเดี๋ยวได้เอง เหมือนอย่างพวกบวชห้าวัน เจ็ดวัน สิบห้าวัน พวกนี้บวชเอาผ้าเหลือง ซึ่งจริงๆ มันห่างไกลจนมองไม่เห็น สังคมมันก็ยิ่งนิยมทำตามกันไป มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำสอน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาสักหน่อย เป็นประเพณีทำตามกันแบบไร้สติปัญญา ดึงของจริงไปอยู่ในระดับชาวบ้าน บวชแบบชาวบ้าน มันก็ต้องพูดแบบนี้ เหมือนอย่างพูดประจำว่ามันไม่ใช่การบวชแบบชาวพุทธ นั่นมันอยู่ไกล มันต้องรู้เห็นด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ด้วยการอดทนพากเพียร ปากกัดตีนถีบ ไม่ใช่ได้มาด้วยลาภลอย ประวัติครูบาอาจารย์ก็มีแต่ทำความเพียร ไปอยู่ที่นั่นที่นี่ก็มีแต่พากเพียร แม้แต่พระพุทธองค์เองก็พากเพียรค้นคว้าทุกข์ยากลำบากแทบเป็นแทบตาย นี่คือตัวอย่างบุคคลในอดีต

เมื่อมันยังไม่เข้าใจ ก็ต้องมีคนอื่นช่วยป้อนข้อมูลที่ถูกต้องให้ เพื่อให้พยายามที่จะเดิน ที่จะไปต่อไป ถ้ามันต้องการอยู่ มีคนเอาของไปให้ มันก็รับ พระพุทธเจ้าไปเทศน์โปรด ไปสอน ก็คือไปบอกความจริงให้ฟัง มันเห็นตามได้ก็เพราะมันต้องการอยู่ ถ้าไม่ต้องการ เอาไปให้มันก็ไม่รับ ไม่เอา ไม่ตรงกับความต้องการของเขา หลวงปู่ชาท่านก็เปรียบเทียบว่า เหมือนกับหว่านเพชรพลอยให้ไก่ หว่านลงไป ไก่มันก็มีแต่จะวิ่งหนี มันไม่ได้ตื่นเต้นยินดีสนใจ มันไม่ใช่ของจริงสำหรับมัน พอหว่านข้าวเปลือกข้าวสารลงไป มันแห่กันมา มันพาลูกพาแม่มันมากิน นี่เปรียบเทียบกับธรรมะ เอาเรื่องจริง ของจริงมาบอกให้ฟัง ก็เหมือนเอาก้อนทองคำโยนไปให้ไก่ ไก่มันมีแต่จะตื่นตกใจวิ่งหนี ไก่ที่ไหนมันจะสนใจ เหมือนคนฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เป็น ก็หาว่าพระเอาอะไรมาพูด ไม่รู้เรื่องด้วย นั่งเป็นตอเป็นหินอยู่ เหลียวดูก็ไม่เห็นปฏิกิริยาว่ามันจะซึมเข้าไปแม้แต่น้อย แสดงว่าเขาไม่เข้าใจเลย ไม่สะกิดเลย นี่คืออวิชชา ความเป็นปุถุชน ปึกหนา หนาแท้ๆ หว่านจนเพชรพลอยแดงเต็มพื้น เขาก็ไม่สน เขามีแต่จะวิ่งหนีไปให้ไกลๆ เสียด้วยซ้ำ

กระดองใจก็คือร่างกาย กำหนดบ่อยๆ มีสติเป็นไปในกายบ่อยๆ ทำความเพียร นั่งอยู่นิ่งๆ คนเดียว ก็สังเกตดู จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ เปลี่ยนอิริยาบถตา หลับตาก็ได้ ลืมตาก็ได้ มันเป็นธรรมชาติของมัน ถ้ามันไม่หลับ จะหลับตามันก็รู้ จะลืมตามันก็รู้ ค้นหาซอกแซกอยู่ที่กระดองนี้ แยกให้มันได้ แยกยังไม่ได้ก็พากเพียรต่อไป หาวิธีค้นคว้าอยู่นั่นแหละ สังเกตการณ์ เทียบเคียงเข้าไป มันเดินด้วยความคิด เดินด้วยปัญญา ไปด้วยปัญญา ไปด้วยมันสมอง ไม่ใช่ลาภลอย นั่งอยู่นานๆ จะให้มันรู้แจ้งวาบมาเลย มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นเรื่องรู้เฉพาะตน ปัจจัตตัง ไม่มีกาลเวลา อะกาลิโก

ถ้ามันยังแยกไม่ได้ มันก็ยึดก็แบกเอาไว้ อย่างที่เขาว่าแบกก้อนทุกข์ แบกกองทุกข์ ถ้าแยกได้ เห็นได้ มันก็จะเข้าใจว่าใช้คำศัพท์ว่า “ทุกข์” นี่มันไม่ถูกต้อง แต่ถ้ายังไม่เห็นไม่เข้าใจจะใช้คำนี้ก็ถูกต้องอยู่ เหมาะสมแล้ว ว่ามันเป็นทุกข์ มีโทษมาก ถ้ารู้จริงจะเห็นว่ามันไม่ได้เป็นทุกข์เป็นโทษอะไร มันเป็นเพียงหน้าที่ของมัน มันจะแจ่มแจ้งในลักษณะนี้ มันทำการอยู่ตามหน้าที่ของมัน ไม่ได้มีใครจะไปเดือดร้อนไปทุกข์อะไร ต้องแยกฟัง แยกระดับ อย่าเอาไปพ่วงกันระหว่างฝ่ายโลกกับฝ่ายธรรม ฝ่ายโลกียะกับฝ่ายโลกุตตระ

ปวดหัว ปวดฟัน เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นสิ่งน่าเบื่อหน่าย เป็นทุกข์มาก เกิดเป็นคนมีร่างกายมันไม่ดีอย่างนี้แหละ ร่างกายมันเป็นของเน่า ของไม่ดี มีแล้วมันทุกข์มันยาก เบื่อซะ หน่ายซะ ทิ้งซะ วางซะ มันเป็นข้อมูลที่จะต้องพูดสอนเบื้องต้น เหมือนกับคนถือกล้วยมา ถือมะพร้าวมา เขาก็รู้อยู่ว่าเวลากินจะต้องทิ้งเปลือก ทิ้งกะลามัน แต่ตอนถือมาจะไปยังจุดหมาย ก็ต้องถือเอาเปลือกเอากะลามันไปด้วยก่อน หลวงปู่ชาท่านอธิบายแบบนี้

ร่างกายมันทุกข์มาก หิวก็อยู่นี่ เจ็บหัว ปวดท้อง ก็อยู่นี่ เขาจะฆ่าจะตี ก็มาฆ่ามาตีอยู่นี่ เขาจะยิงก็มายิงอยู่นี่ ช้างจะเหยียบ เสือจะกินก็มากินที่นี่ ทุกข์อยู่นี่ ทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ช้าง อยู่ที่เสือ อยู่กับไข้มาลาเรีย นั่นมันภายนอกทั้งนั้น ตัวต้นเหตุจริงมันอยู่ที่ขันธ์ห้านี่ อยู่ที่รูปนี่ อยู่กระดองใจ อยู่กระดองเต่านี่ ให้เบื่อซะ ถอนซะ อย่าไปพัวพันกับมันอีกต่อไป ทิ้งซะ ปล่อยวางซะ เหล่านี้คือเรื่องที่เอามาย้ำเอามาสอนกันบ่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น