วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สังเกตความเคลื่อนไหวของกาย


สังเกตความเคลื่อนไหวของกาย
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

          สังเกตความเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะว่าความรู้สึกมันแสดง มันมาทำการอยู่ที่กาย มันเป็นอิริยาบถหยาบ แต่ถ้าเรานั่งแน่นิ่งไม่กระดุกกระดิก มันก็จะรู้ภายในตัวของมัน มันดูตัวเอง ดูรู้ นี่คืออิริยาบถแบบละเอียด
          เมื่อดูการเคลื่อนไหวของกาย เช่น การเคลื่อนไหวทางแขน ทางขา ทางศีรษะ ทางปาก เวลาพูด เวลาสวดมนต์ มันก็เป็นการเคลื่อนไหวของกายในจุดหนึ่ง ในที่หนึ่ง การลืมตา กระพริบตา อย่างนี้มันก็เป็นการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งของกาย ซึ่งมันก็เป็นการแสดงที่มาจากความรู้ คือมาจากส่วนที่เป็นนาม หรือว่าใจ หรือว่าจิต หรือว่าวิญญาณ กลุ่มนี้ ชื่อนี้ อาการนี้ รสชาตินี้แหละ
          กายโยกโคลง กายไหว คือส่วนที่มันไม่นิ่ง ในขณะที่เคลื่อนไหว ไหวตัว มันก็เป็นเรื่องของกาย แต่ว่ากายนี้จริงๆ มันไม่รู้อะไร กายมันเป็นวัตถุ มันไม่รู้อะไร มันเป็นเพียงของใช้ของนาม หรือของใจ นามใช้มัน นามผลักดันมัน นามบอกมัน ให้มันเคลื่อนไหว แต่มันละเอียดอ่อน เราไม่รู้ตัว เราตามไม่ทัน ก็คือเราไม่เข้าใจ หรือยังไม่รู้จริงนั่นเอง มันก็เลยไม่รู้จริงว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายนี้มันมาจากอะไร คิดว่ามันเคลื่อนไหวไปด้วยตัวมันเอง ไม่มีอะไรที่จะมาผลักดันมัน แต่จริงๆ แล้วมันมีเจตนา หรือเจตสิก ภาษาอภิธรรมก็ว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน มันมีเจตนาที่จะให้อ้าปาก ที่จะให้กระพริบตา มีเจตนาที่จะให้หันหน้า เหลียวซ้าย แลขวา มันมีเจตนาที่จะให้ยกแขน วางแขน เอื้อมแขนไปหยิบสิ่งของ แต่มันละเอียดอ่อน เราไม่เคยคิดเข้ามาดูในจุดนี้ ไม่เคยสังเกตการณ์เข้ามาดูอาการต่างๆ ที่มันกำลังเคลื่อนไหวอยู่นี้ มันก็เลยไม่รู้ มันมาจากการสั่งการของเจตนาเจตสิก นี่มันก็เป็นวิธีพูด วิธีหาข้อมูลมาพูด ที่จะให้ทำความเข้าใจ ร่างกายส่วนนั้นส่วนนี้มันถูกผลักดัน นี่คือแบบหยาบ
          ที่มันเป็นแบบละเอียดไปอีกหน่อย คือมันไม่มีเจตนาที่จะไปผลักดัน ไปจงใจ อย่างชัดๆ ก็คือ ระบบหัวใจ มันเต้นอยู่ นั่นคือไม่ได้สั่งการ มันทำงานของมัน ปราศจากการผลักดันของจิต หรือวิญญาณ มันอยู่คนละส่วนกัน นี่คือละเอียดลึกลงไป จะสังเกตเห็นได้ว่าเป็นอย่างนั้น มันผลักดันไม่ได้ มันเป็นไปตามหน้าที่ของส่วนที่เป็นร่าง หรือส่วนที่เป็นรูปกาย ยกตัวอย่างเช่น เรามีเจตนากลั้นลมหายใจ เรียกว่า กลั้นใจ จะดำน้ำให้กลั้นใจไว้ อย่าหายใจ ที่จริงคำศัพท์นี้มันก็ไม่ตรงเท่าไร จะไปกลั้นใจไม่ได้ เพราะระบบหัวใจมันยังเต้นอยู่ จับดูชีพจรตามจุดที่สัมผัสได้ เช่น ข้อมือ จะเห็นว่าระบบหัวใจมันเต้นอยู่ ถึงแม้เราจะกลั้นใจอยู่ ไม่มีลมเข้า-ออก กลั้นใจก็คือกลั้นหายใจ มันพูดไม่สุด พูดไม่เต็ม มันลัดเอา เหมือนกับภาษาใต้ที่พูดว่า ไปเล ก็คือไปทะเล เป็นภาษาลัดที่ใช้กันในสังคม กลั้นใจก็เหมือนกัน ควรพูดให้มันเต็มว่ากลั้นลมหายใจ เพราะพูดแค่ว่ากลั้นใจมันไม่สมบูรณ์ มันกลั้นใจไม่ได้ หัวใจเต้นมันเป็นระบบของร่างกาย นี่คือถ้าคนคิดมากมันจะไปเห็นเลย ซอกแซกจุดไหน อะไรยังไง มันจะไปเจอเลย คำศัพท์นั้น คำศัพท์นี้ไม่สมบูรณ์ แต่มันก็เป็นกระแสสังคม ภาษาใช้กันตามที่มนุษย์กลุ่มนั้นๆ สร้างขึ้น กระแสสังคมนิยมเขาพูดแค่นี้ พูดกันแค่นี้ก็รู้เรื่องว่ามันเป็นอะไร
          ถ้าเราสังเกตบ่อยๆ ก็ชื่อว่าเป็นการทำความเพียร คือมันดูกาย ดูจิต มันไม่หนี หลักการอยู่ที่นี่แท้ๆ วิเคราะห์วิจารณ์พูดมากไป มันก็วกวนอยู่นี่ ถ้าหนีไปก็คือไม่ถูก มันยิ่งห่างไปไกล การเคลื่อนไหวของกายมันเป็นของหยาบ หยาบคือเห็นได้ง่าย มันใหญ่ ตัวหนังสือมันตัวใหญ่ คนตาไม่ค่อยดีก็พอจะอ่านได้ว่าเป็นตัวอะไรบ้าง อาการกายเคลื่อนไหวที่เขียนไว้ก็ว่ามันเป็นอิริยาบถ อิริยาบถบรรพ เป็นกรรมฐาน ให้ทำความเพียรเพื่อจะรู้จริง มันเป็นการสังเกตการณ์ส่วนต่างๆ ของร่างกายเวลาที่มีการเคลื่อนไหว
          ถ้ามันละเอียดลึกลงไป ก็จะไปตรงกับคำว่า ดูลมหายใจ แต่ปกติลมหายใจนี่มันก็ไม่ได้ผลักดันมาจากจิต หรือวิญญาณ หรือใจ แต่ถ้าจะผลักดันก็ทำได้ คือ กลั้นลมหายใจ นี่คือผลักดันได้ ทำได้ ถ้าปล่อยตามสภาพของมัน มันก็ทำงานหายใจเข้า-ออกอยู่ ถ้าจะให้จิต หรือวิญญาณ หรือใจ ผลักดัน มันก็ทำได้ เช่น ทำลมช้า ทำลมเร็ว ถ้าไม่มีการผลัก ก็ยกตัวอย่างมาอธิบายได้ชัดเจน คือ ตอนที่นอนหลับ ฝันไปโน่นไปนี่ แต่ว่าลมหายใจมันทำงานอยู่ นั่นคือมันคนละส่วนกัน คนละเรื่องกัน ในขณะที่ฝันไปร่างกายมันไม่มีรู้เลย มันเหมือนต้นไม้ มีชีวิตแต่ไม่มีวิญญาณ ในขณะที่คนนอนหลับ ยังมีชีวิตอยู่แต่ว่าวิญญาณมันไป มันเป็นธรรมชาติ ได้มาจากธรรมชาติ มันเป็นหน้าที่ของมันเอง แต่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย เหมือนเราบอกว่าต้นไม้มีชีวิตแต่มันไม่มีจิตวิญญาณ คนก็เช่นกัน ในขณะที่นอนหลับฝันมันยังมีชีวิตอยู่ ระบบหัวใจมันทำงานอยู่ ระบบลมหายใจมันทำงานอยู่ นี่คือแบบละเอียดลงไปอีกระดับหนึ่งของส่วนที่เป็นรูป หรือส่วนที่เป็นกาย
          แบบละเอียดที่มันลึกซึ้งลงไปมากกว่านั้นอีกก็คือ ระบบที่ตามดูไม่เห็น เช่น ระบบหมุนเวียนของเลือด ระบบหมุนเวียนของลม มันไม่ได้สะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน มันสัมผัสไม่ได้ สังเกตไม่เห็นเหมือนระบบแบบหยาบๆ นี่คือมันเป็นระดับหยาบ-ละเอียดกว่ากัน แม้แต่ภายนอก แม้แต่ชีวิตมนุษย์ที่ยังไม่ตาย การทำงานของมันยังมีการอธิบายได้ว่ามันหยาบ มันละเอียดอย่างไร ระบบหัวใจ ระบบลมหายใจ นั่นแบบหยาบกว่า ส่วนระบบที่มันหล่อเลี้ยง หมุนเวียนไปตามสรีระยังไง นั่นเป็นแบบละเอียดกว่า มันไม่ปรากฏ ไม่สะท้อน หรืออย่างการเผาผลาญอาหารให้ย่อย นี่มันก็ละเอียดมาก แบบหยาบอื่นๆ ก็ยังมีอีกเช่น การปัสสาวะ อุจจาระ ทำไมคนไม่รู้ตัวแต่ว่ามีการปัสสาวะ อุจจาระ มันถ่ายเทออกมาได้ทั้งๆ ที่หลับอยู่
          เราวิเคราะห์สังเกตการณ์ดูอย่างนี้ มันเป็นการสะสมความรู้ ความเห็น ว่ากายนั้นไม่ใช่เรา กายมันเป็นวัตถุ กายนี้เป็นหุ่น กายนี้เป็นตุ๊กตา กายนี้เป็นซากศพ ให้มันเห็นชัดแจ้งขึ้น ให้มันเข้าไปสัมผัสได้ วิธีพูด วิธีอ่าน วิธีฟัง ก็เพื่อให้มันเข้าใจอย่างนี้ มันค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ความรู้แจ้ง โดยไม่รู้ตัว โดยที่เราสังเกตไม่เห็น มันสะสมการได้โดยที่ไม่รู้ตัว มันได้ความกระจ่าง ได้ความสว่าง ได้ดวงตาเห็นธรรม โดยไม่รู้ตัว เพราะมันสะสมบ่อยๆ มันฟังบ่อยๆ มันคิดบ่อยๆ มันเจริญขึ้นเอง โดยไม่รู้สึกตัว
          ยกตัวอย่างเหมือนอะไร ก็เช่น เราเจริญเติบโตตั้งแต่เป็นเด็กมาจนบัดนี้ เราเห็นตัวเองไหม ว่ามันโตขึ้นแต่ละขณะเท่าไร เจริญอย่างไร ถ้าจะถามใคร ก็ตอบไม่ได้ เพราะมันมองไม่เห็น แต่มันโตขึ้นไหมล่ะ มันโตขึ้นจริง มันเป็นสัจธรรมไหมล่ะ สัจธรรมคือความจริง แต่ก่อนมันยังไม่โตอย่างนี้ มันเป็นเด็กตัวเล็กๆ นอนแบเบาะอยู่ แต่ทำไมมันเจริญเติบโตขึ้นมาได้ โดยที่มองไม่เห็นตัวเอง หรือมองคนอื่นก็ไม่เห็น กาลเวลา การสะสม การได้ของมัน มันก็ได้ในรูปแบบอย่างนี้ อธิบายเทียบเคียงได้อย่างนี้ การได้ดวงตาเห็นธรรมก็เช่นกัน ได้จากการสะสมความรู้ที่มันเปลี่ยนแปลงไป ที่จะนำไปสู่ความรู้จริงได้ มันก็เช่นเดียวกันกับการเจริญเติบโตของร่างกาย มันมากพอมันก็โตเอง มันอาศัยส่วนประกอบเหล่านี้ คือ การคิดบ่อยๆ การฟังบ่อยๆ การศึกษาบ่อยๆ การสังเกตการณ์บ่อยๆ นั่นแหละคือการทำความเพียร เพียรบ่อยๆ
          ต้องเข้าใจคำว่า ความเพียร ในสองระดับ ระดับชาวบ้านกับระดับชาวพุทธ ระดับภายในกับระดับภายนอก ระดับโลกียะกับระดับโลกุตตระ ให้มันเข้าใจความแตกต่างอย่างน้อยในสองระดับ ถ้าเอาไปพ่วงกันมันก็มั่วซั่วไปหมด มันก็ไม่ชัดเจน ชัดเจนได้ยาก เข้าใจได้ยาก ต้องแยกฟัง แยกรู้ แยกเข้าใจ ว่าระดับไหน เพื่ออะไร มันจะกระจ่างขึ้น เพราะมันเป็นความจริง ของจริงไม่ใช่ของปลอม มันจะต้องเป็นไปตามสัจจะ คือเป็นไปตามงานของมันเอง งานของธรรมชาติ ถ้าอย่างนี้มันต้องไปเป็นแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นมันต้องไปเป็นแบบนั้น คิดอย่างนี้มันก็จะเป็นแบบนี้ คิดอย่างนั้นมันก็จะเป็นแบบนั้น มันอยู่ที่ว่าทำงานอะไร ทำงานอย่างไร ผลงานมันก็จะออกมาแบบนั้น
          การอยู่ด้วยการ ตื่นอยู่ นี่คือวิธีที่ดีที่สุด มันจะรู้กาย รู้ใจ รู้รูป รู้นาม ถ้าอยู่ด้วยความหลับ ความง่วง ความไม่แจ่มใส นี่มันไปคนละทางเลย ต้องอยู่ด้วยความรู้ ความเบิกบาน ความตื่น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่คือกลุ่มของมัน หมู่ของมัน ส่วนผู้หลับ ผู้ง่วง ผู้เศร้า ผู้โศก ผู้ซึมเศร้า โศกเศร้า เสียใจ นั่นก็กลุ่มของมัน มันจะไปเป็นกลุ่มอาการของมัน ไปตามพวก ตามกระแสของใครของมัน คนละพวก คนละหมู่กัน พวกเศร้าหมอง ง่วง มืด ดำ ขุ่นมัว สกปรก พวกไม่รู้อะไร นี่เป็นพวกเดียวกัน จะเอางานแบบไหน จะทำงานอะไร ทำงานแบบไหน ผลมันก็ออกมาแบบนั้น พวกพุทโธก็คือตื่น รู้ เบิกบาน แจ่มใส ร่าเริง มีความสุข นี่คือพวกของมัน พวกใครพวกมัน จะเอาแบบไหน มันก็อยู่ที่เรา จะรู้อะไร ไม่รู้อะไร มันก็อยู่ที่เรา
          พวกนั้นก็ไม่รู้ พวกนี้ก็ไม่รู้ อยู่ด้วยความไม่รู้ มันก็เรื่องของเรา มันเป็นสิทธิ ถ้าไม่รู้ นี่มันคือไม่รู้อะไร ไม่รู้พวกใคร ไม่เป็นพวกใครเลย จึงบอกว่าโมหะ จึงบอกว่าอวิชชา มันปิดบังไปหมด ไม่รู้บุญ-บาป ไม่รู้คุณ-โทษ ไม่รู้ผิด-ถูก ไม่รู้กลางวัน-กลางคืน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จะเอาดีหรือจะเอาชั่ว จะทำให้มันเป็นอะไร มันไม่รู้เลย ชีวิตมันก็อยู่ไปอย่างนั้น ไม่รู้จะเอาอะไร มันไม่รู้จักจะเอาอะไร มันไม่รู้จักจะไม่เอาอะไร จึงว่าอวิชชา หรือโมหะ เป็นกลุ่มของมัน ความง่วง ความหลับ ความเศร้าโศก เสียใจ ขุ่นมัว นี่คือพวกของมัน เพราะฉะนั้นจงตื่นอยู่
          ถ้าจะดูหยาบก็คือดูความเคลื่อนไหวของกาย นี่มันเป็นแบบหยาบ พระกรรมฐาน พระป่า ครูบาอาจารย์สรรเสริญให้เดินจงกรมมากๆ เดินมากๆ เดินนี่มันเป็นงานหยาบ มันจะทำได้ง่ายกว่างานละเอียด ทำจากหยาบไปหาละเอียด การนั่งนี่มันเป็นงานละเอียด นั่งอยู่นิ่งๆ เฉยๆ จะไปดูใจอย่างเดียว มันเป็นงานขั้นละเอียดกว่า ดูไม่เห็น มันก็ทำไม่เป็น ก็ถูกความง่วงเอาไปกินหมด ความซึมเศร้า ความหลับ เอาไปกิน ไม่เห็นอะไรเลย ไม่ทัน เพราะมันละเอียด เหมือนนักเรียนไม่เข้าอนุบาล ไม่เข้าประถม กระโดดไปเข้ามัธยมเลย มันจะได้ไหม เปรียบเทียบดูแค่นี้มันก็กระจ่างแล้ว อะไรมันจะเป็นยังไง มันจะเป็นไปได้ยังไง จะไปเขียนยังไง จะไปอ่านยังไง จะทำอะไรยังไง ไม่รู้เรื่อง
          ฉะนั้น งานหยาบมันเด่น มันเห็นง่ายกว่า ตื่นอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน เดินจงกรมดูความเคลื่อนไหวของกาย มันหลับไม่ได้เพราะมันยืนอยู่ มันง่วงไม่ได้เพราะมันยืนอยู่ เดินอยู่ มันช่วยได้ ช่วยเป็นพุทโธ ช่วยเป็นผู้รู้ ช่วยเป็นผู้ตื่น ส่วนหยาบส่วนแข็งแรงนี่มันช่วยได้ดี
          บางสำนักบางอาจารย์ไม่เพียงแต่ว่าให้ดูความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ โดยหน้าที่ โดยปกติ ยังมีการสร้างอิริยาบถเพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษ เช่น ให้ยกมือ ยกแขน ขนาดนั่งเขายังให้ยกมือยกแขนเลย ทำไมต้องไปกล่าวถึงตอนเดิน เดินไม่ต้องกล่าวแล้ว เพราะเดินมันเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ขณะที่นั่งเขายังให้เคลื่อนไหวเพื่อให้มันตื่น ไม่ให้มันง่วง ไม่ให้มันซึม เขาสังเกตการณ์ เขาเห็นมามาก มันมีแต่ง่วง มีแต่ซึม มีแต่อยากจะหลับ ใหม่ๆ ก็สบายหรอก พอมันสงบแล้วก็หลับไป ไม่รู้เรื่อง ใหม่ๆ นั่งแล้วก็นิ่ม สบาย ต่อมาก็หลับเลย เพราะว่ามันเป็นทางของมันที่จะชวนให้หลับ บางอาจารย์จึงมีการกำหนดอิริยาบถในขณะที่นั่ง ให้เคลื่อนไหวส่วนที่มันสะดวก แขนนี่แหละมันเคลื่อนได้สะดวก โดยหน้าที่ โดยธรรมชาติ นั่งอยู่จะเอาขาคู้เข้าคู้ออก มันยุ่งยาก เอาแขนนี่แหละยกขึ้นลง แขนซ้ายแขนขวายกขึ้นยกลง เดี๋ยวก็วางบนเข่า เดี๋ยวก็วางที่หน้าอก ถ้าคนไม่รู้ ไปดูก็เห็นว่าน่าหัวเราะ นั่งสมาธิอะไร ทำไมต้องยกไม้ยกมือ จะไปบอกว่าเขาทำผิดอีกล่ะ มันยากมาก ถ้าไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ อันนั้นก็ผิด อันนี้ก็ถูก อยู่นั่นแหละ มันเป็นธรรมชาติของมัน
          นี่คืออิริยาบถบรรพ การทำความเพียรดูอิริยาบถของกายขณะเคลื่อนไหว มันจะช่วยได้ ไม่ให้มันเศร้า ไม่ให้มันหลับ ไม่ให้มันง่วง เหมือนปราชญ์บัณฑิตในยุคก่อนนิยมให้เดินจงกรม อยู่ด้วยการตื่น อยู่ตามที่โล่ง อยู่ใต้ต้นไม้ มันช่วยได้ ถ้าอยู่ในมุ้ง อยู่ในห้อง อยู่ในที่นอน มันก็ชวนให้ง่วง ไปอยู่ตามที่โล่งแจ้ง ตามป่าช้าบ้าง นั่งดูสัตว์บ้าง ฟังเสียงนกบ้าง มันเป็นเสียงธรรมชาติ มันชวนให้ตื่น เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่จะช่วยประคับประคองความตื่นอยู่ ให้มันตื่นได้นานๆ มันต้องกระจายความรู้ ความสังเกตการณ์ ให้มันทั่วๆ หลายแง่หลายมุม มันจะไม่ติด มันจะโล่งโปร่ง มันจะออกมาดี
          วันนี้พูดเรื่องการสังเกตการณ์ดูความเคลื่อนไหวของกาย ของร่าง ในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งมันก็เหมือนกับการดูลมหายใจ แต่ดูลมหายใจมันเป็นงานที่ละเอียดกว่าเท่านั้นเอง

ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก


ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

          ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ คำกล่าวนี้ส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือ รูปขันธ์ ขันธ์ที่หนึ่ง รูปมันหนัก หนักด้วยน้ำหนักโดยธรรมชาติ ปรากฏเป็นความหนัก แต่มันก็ยังไม่ปรากฏความหนัก นี่มันปิดบังไว้อย่างแน่นหนา หนาทึบ มันเหมือนกับเฉยๆ ไม่ได้หนัก รสชาติมันเป็นของหนัก แต่ไม่ปรากฏรสชาติว่ามันเป็นของหนัก ไม่พอจะรู้ได้ มันเหมือนกับรสชาติอื่นๆ อย่างรสเค็ม เป็นต้น เกลือมันเค็ม แต่ไม่ปรากฏ ไม่สัมผัสความเค็ม เพราะไม่ได้กินเกลือ ไม่ได้แตะเกลือ ไม่ได้สัมผัสเกลือ ไม่ได้สัมผัสที่ลิ้น ที่ซึ่งมันจะรู้รสชาติว่าเค็ม
          ร่างกายคือขันธ์ที่หนึ่งนี้ รูปขันธ์ รูปทั้งหมด ทั้งแท่ง ทั้งก้อน มันเป็นของหนัก รสแห่งของหนักไม่ปรากฏ นี่คือไม่รู้จริง นี่คือสิ่งที่ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ จำเป็นจะต้องทำความรู้ ทำความเข้าใจกับโจทย์ที่ให้ไว้ กับความจริงที่มีอยู่ คือ รูปเป็นของหนัก
          คำพูด คำศัพท์ บางอย่างที่เคยได้ยิน เช่น นั่งกรรมฐาน นั่งสมาธิ เกิดปีติ เบากาย เบาใจ สบาย ยิ่งชวนให้หลงไปใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจ อันนั้นมันเป็นส่วนเรื่องของสมาธิ เรื่องของความสงบ ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องให้รู้แจ้งเห็นจริง มันคนละเรื่องกัน พูดเด็ดขาดไปอย่างนี้ก็ได้ จะได้ไม่หลงติดกับรูปแบบของคำว่าสมาธิ จะไปนั่งเอาสบายกาย สบายใจ มันเป็นทางที่ชวนให้หลงมากมาย ชวนให้เข้าใจผิด มันก็ได้อยู่ แต่มันจะคนละทาง คนละอย่าง ไม่ใช่จุดประสงค์ที่จะให้รู้จริงตามเป็นจริงในขันธ์ห้าได้ มันจะไม่เห็นของหนัก ไม่เห็นโทษ มันกลับเห็นว่าเป็นคุณเสียอีก ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นอริยสัจสี่คือทุกข์ ไม่เห็นว่าร่างกายเป็นทุกข์ แต่ไปเห็นว่าร่างกายเป็นสุข เห็นว่ามันเบาสบาย ไปกันใหญ่แล้ว มันก็เลยยิ่งขัดแย้งกับคำว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นเป็นของสบายไปเลย ไม่ได้เห็นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นของหนักอะไร ดังนั้น คำศัพท์ คำพูด ที่ได้ยินได้ฟังมา มันต้องสับให้แหลก ไม่ใช่เชื่อเอา เชื่อเอา
          มันเป็นภาระเกี่ยวกับขันธ์ที่หนึ่ง มันแบกมา หอบมา หิ้วมา หาบมา หามมา หลายภพหลายชาติ โดยหน้าที่ หรือแม้ชาติเดียวทั้งชาตินี้ก็เป็นหน้าที่ สำหรับคนที่ยังไม่รู้จริงมันก็หนัก ก็ต้องแบก แต่มันก็ไม่รู้ตัวว่าแบกของหนัก เพราะฉะนั้นการทำความเพียรก็เพื่อจะรู้จริงตามเป็นจริง เวลาเราจะลุกขึ้น สังเกตดู มันเป็นอาการหยาบ เวลานั่งแล้วจะลุกขึ้นเดินไป สังเกตดูบ่อยๆ เนืองๆ มันหนัก มันใช้พลังเตรียมพร้อมที่จะลุก ใช้มือช่วยค้ำยัน ดันขึ้น ส่วนขามีอาการดันขึ้นมา พยุงขึ้นมา ผลักขึ้นมา ส่วนแขนก็เช่นเดียวกัน ช่วยกันผลัก ช่วยกันดันขึ้น ดันร่างทั้งร่างขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะมันหนัก
          เราสังเกตการณ์ ก็คือ ทำความเพียร คือสัมปชัญญะมันจะเกิดขึ้น มันจะมารู้ตัว ตัวคือตัวรูป ตัวร่าง ตัวขันธ์ที่หนึ่ง มันจะสัมผัส มันจะอยู่ใกล้ มันจะไม่หนีออกไปภายนอก อยู่ด้วยกัน อยู่ใกล้กัน อยู่ชิดกัน เรียกว่า สัมปชัญญะ คือรู้ตัว บ่อยๆ เป็นวิธีทำอีกวิธีหนึ่ง อีกแบบหนึ่ง สังเกตการณ์เวลาจะลุก บ่อยๆ เนืองๆ ที่ท่านเขียนไว้ในตำราก็ว่า อิริยาบถบรรพ อาการเคลื่อนไหวของกาย ส่วนขา ส่วนแขน ส่วนหัว ส่วนริมฝีปาก กระพริบตา อ้าปาก เหล่านี้ท่านว่าไว้เลย จะเหลียวซ้าย แลขวา ทุกอย่าง การเคลื่อนไหวของกายเป็นอิริยาบถบรรพ เป็นกรรมฐานอีกอย่างหนึ่ง แบบหนึ่ง เป็นวิธีหนึ่ง อย่างนี้ถูกใช่ไหม มันยังตอบไม่ได้ว่าถูกหรือผิด เจ้าตัวนั่นแหละจะต้องตอบเอง ไม่ใช่ผู้บอกหรืออาจารย์เป็นผู้ตอบ คุณนั่นแหละเป็นผู้ตอบว่าถูกหรือผิด ไม่ใช่ฉันตอบ คุณถามได้ แต่ไม่ใช่ฉันเป็นผู้ตอบ คุณต้องเป็นผู้ตอบเอง มันจะออกมาแบบนี้ ถูกหรือผิด มันอยู่ที่คุณ เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัว ถามได้ แต่ผู้ถามนั่นแหละเป็นผู้ตอบ นี่คือตามรูปแบบของชาวพุทธ
          ถ้าเป็นรูปแบบของชาวบ้าน หรือในระดับโลกียะ อาจารย์อาจจะเป็นผู้ตอบ แต่ระดับโลกุตตระผู้ถามต้องตอบเองว่าถูกหรือผิด ต้องแยกทำความเข้าใจ ถ้าเป็นระดับโลกียชนทั่วไป ระดับชาวโลก คนที่ถามไม่ใช่ผู้ตอบ คนที่ถูกถามจะเป็นผู้ตอบ นั่นคือระดับชาวบ้าน แต่กระแสธรรมะในระดับชาวพุทธ หรือโลกุตตระ ต้องตอบเอง จะเรียกว่าเป็นภาษาธรรมก็ได้ มันต้องตอบเอง
          การทำความเพียรนี้มันต้องอยู่นานๆ ดูนานๆ กลางวันก็ตื่นนานๆ นี่คือวิธีที่ได้ผล ตื่นอยู่นานๆ ตื่นอยู่ก็คือพุทโธนั่นเอง คือรู้ รู้อย่างต่อเนื่องนานๆ ทั้งวัน รู้อยู่ มันจะสะสมความรู้ สะสมความตื่น สะสมความเบิกบาน ไม่ใช่สะสมความมืด ความเศร้า ความหลับ ไม่ได้สะสมในฝ่ายที่มันตรงกันข้าม ถ้าตื่นอยู่นานๆ ก็คือสะสมความสว่าง เจิดจ้า แจ่มใส ความรู้จริง ความรู้อย่างโดดเด่น มันจะมา มันเป็นพวกของมัน
          เพราะฉะนั้น การฝึก การทำความเพียร ครูบาอาจารย์กรรมฐานในยุคก่อน หรือยุคไหนก็ตาม จึงสรรเสริญการตื่น ตื่นให้มากที่สุด ตื่นอยู่ ฝึกตน ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ลำบาก ไม่พอใจ ทุกข์ทรมาน แต่ก็ตื่นอยู่ ดีกว่าจะไปหลับให้มาก ถ้าตื่นอยู่ ความสบายมันจะตามมา ยิ่งไม่สบายแล้วไปนอนมันก็ยิ่งซ้ำเติม มันคิดมาก..นอนซะ นอนมากมันก็ไม่ใช่ทาง มันยิ่งเศร้าหมอง มันไม่ได้ตื่นอยู่ มันสะสมความดำ ความมืด สะสมความไม่สบาย ก็เลยยิ่งไม่เห็นอะไร เพราะมันไม่มีพุทโธ มันไม่ตื่น จะผ่อนคลายก็ด้วยการตื่น
          มันตึง มันเคร่ง โดยไม่รู้ตัว อยากจะเอาเร็วๆ อยากจะได้เร็วๆ อยากเกินไปมันก็ไปอยู่อนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน มันมีกรอบของมันอยู่ มันผิดแนวทางมันก็หลงไป มันตึง มันอยาก มันต้องการเร็วๆ มันก็ไปจากปัจจุบัน ไม่ดูปัจจุบัน ไปอยู่อนาคต ห่างจากเนื้อจากตัว ห่างจากคำว่า สัมปชัญญะ คือรู้ตัว ไปกินอารมณ์อื่น กินอารมณ์อะไรก็ไม่รู้ จิปาถะ หลายอย่าง นั่นคือมันจะทำให้เดือดร้อนได้ ยิ่งจะทำให้ไม่เห็น ยิ่งจะทำให้มืดมน อยากเข้าใจ ยิ่งไม่เข้าใจ
          จุดหลัก คือ ไม่ทิ้งกาย ไม่ทิ้งรูป ตัวนี้คือตัวเน้นหนัก ตั้งแต่เริ่มบวชมาก็ได้รับกรรมฐาน เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา อยู่ต่อมาก็ยังศึกษาเรื่องกายนี้อยู่ มันเป็นเรื่องเข้าทาง มันเป็นประตู ต้องเปิดที่นี่ ไม่ใช่จะเอาสบาย สบายนั่นมันเป็นทางของพวกฤๅษีนักบวชยุคก่อน เขาทำกันอยู่แล้ว จะเอาสงบ เอาสมาธิ มันก็ไปเลย เป็นยุคเก่า ยุคโบราณก่อนพระพุทธเจ้า ไปเน้นหนักสมาธิ พุทธประวัติอ่านดูส่วนมากก็มีแต่ในรูปแบบปัญญา พระพุทธองค์ไปเทศน์ที่ไหนก็มีแต่ไปบอกไปสอน สอนอะไร บอกอะไร สอนให้ไปนั่งสมาธิไหม สอนให้ไปนั่งหลับตาหรือเปล่า หรือไปบอกความจริงว่าคุณหลงผิดแล้วน่ะ ให้ลองวิเคราะห์ในจุดนี้ดู พระองค์ไปชวนคนทั้งหลายให้นั่งหลับตาหรือเปล่า กระแสชวนกันไปนั่งสมาธิหลับตานี่มันเป็นหลักใหญ่ใจความที่กระแสสังคมกำลังนิยมแห่ทำตามกันอยู่
          จะเห็นได้ชัดๆ ว่าพระพุทธองค์ท่านไปบอกความจริง ธรรมชาติ หน้าที่ จริง รู้แจ้งเห็นจริง นี่มันจะลงตัวกันไปหมดเลย ไม่ได้บอกให้ไปหาเอาความสุข มันสับสนกันไปหลายอย่าง คำศัพท์หลายคำที่พูดกันหรือระบุกันอยู่ในที่ต่างๆ ถ้าคิดไม่เป็น อ่านไม่เป็น มันสับสนไปหมดเลย จุดนี้ก็ว่าพ้นทุกข์ จุดนี้ก็ว่าออกจากทุกข์ อะไรกัน จุดนี้ว่าไม่มีอะไร มันเป็นอนัตตา ก็งงแล้ว สับสนไปหมด ไม่เข้าใจ มันต้องมีอะไรออกซิ จึงบอกว่าออกจากทุกข์ จุดนั้นก็บอกว่าอนัตตา ไม่มีอะไร มันว่างเปล่า เป็นเพียงความเกิด-ดับเท่านั้น ถ้าไม่เข้าใจ มันก็จะหมุนหัวให้บ้าตาย จะให้ยึดอันไหน ทิ้งอันไหน มันก็เป็นคำที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎกทั้งนั้น ยึดจุดนั้น มันก็ขัดกับจุดนี้ โอ๊ย..วุ่นวายไปหมดเลย ถ้าไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจมันจะโปร่งเอง มันหมายความว่ายังไง จะเอายังไง ถ้ามันยังไม่เข้าใจ มันก็วุ่นเป็นธรรมดา สับสนเป็นธรรมดา มันเป็นนิวรณ์ เป็นวิจิกิจฉา มันยังเข้าทางไม่ได้ เข้าทางได้ก็คือละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
          สักกายทิฏฐิก็คือการรู้กาย วิจิกิจฉาก็คือสงสัยในคำสอนต่างๆ ในพระไตรปิฎก ถ้าเข้าใจมันก็จะไม่สงสัย ไม่ลังเล มันจะกระจ่างไปหมด สีลัพพตปรามาสก็คือลูบครำศีล ศีลมันก็มีหลายระดับ ศีลแบบชาวบ้านหรือแบบชาวพุทธ ศีลระดับโลกียะหรือโลกุตตระ ศีลแบบปุถุชนหรืออริยชน มันต้องแตกฉานรอบรู้ไปหมด จึงจะเข้าใจ จึงจะกระจ่างได้ ถ้าไม่เข้าใจมันก็ไปยึดติด ยึดติดก็เป็นสีพพตปรามาส ลูบครำข้อปฏิบัติ ลูบครำสิกขาบท ไม่แตกฉาน สับสนวุ่นวายไปหมด นี่คือเข้ากระแสไม่ได้ ก็ยังไม่โปร่ง ไม่กระจ่าง มันเป็นธรรมชาติของมัน เป็นหน้าที่ของมันเองที่จะเป็นอย่างนั้น

เป็นของรู้ได้ยาก


เป็นของรู้ได้ยาก
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

          เป็นของรู้ได้ยาก เพราะความเคยตัว เคยชิน สะสม หมักหมม เป็นเครื่องดองสันดานมานานแล้ว เป็นธรรมดาที่มันปิดบังไว้ จึงเป็นของรู้ได้ยาก แต่ก็เป็นของที่จะรู้ได้ เพราะมันเป็นสัจธรรม เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ เป็นอยู่ มันเข้าถึงธรรมชาติที่แท้ไม่ได้ มันก็เลยอยู่ในฝั่งฟากนี้ ไปฝั่งฟากโน้นไม่ได้ มันไม่กล้าที่จะข้ามไป เพราะมันติด ติดรส ติดกามคุณ เป็นความติดแบบละเอียดอ่อน มันไม่รู้ตัวว่าติด มันอาศัยพลังมวลชน พลังสังคม พลังกระแสคนส่วนมาก มันก็เลยยิ่งติดไปใหญ่ ไม่มีความรู้ตัวว่าติด โดยสัญชาตญาณมันอาศัยพรรคพวก อาศัยคนส่วนใหญ่ อ้างอิงว่าเขาทำกันแบบนี้ คิดแบบนี้ คนทั้งโลกเขาอยู่กันแบบนี้ นี่คือพลังอันรุนแรง พลังเงียบอันใหญ่หลวง ก็เลยไม่มีใครที่พยายามจะออกจากความยึดติด พยายามจะออกจากคนหมู่มาก ไม่กล้าที่จะแหวกแนว ไม่กล้าที่จะคิดเป็นส่วนตัว คิดแต่ตามเขา มันจึงเป็นของยาก
          แม้แต่วันพระ วันศีล ก็ยังไม่มีใครสนใจ ชาวบ้าน ชาวโลกทั้งหลาย มองภาพแบบกว้างๆ มันจะเห็นได้ว่าเขาไม่ได้สนใจแม้แต่น้อย ไม่ได้ใส่ใจ ส่วนใหญ่มันเป็นอย่างนั้น มันมืดมิด มันทึบ มันเป็นตามหน้าที่ของธรรมชาติให้มา แม้แต่กลัวบาปกรรมแบบหยาบๆ มันก็ยังทำไม่ได้ ยังละเว้นไม่ได้ จะให้เข้ามาใส่ใจธรรมะในระดับที่ลึกซึ้ง ระดับที่เหนือกว่า ได้อย่างไร มองดูแล้วมันยิ่งใหญ่มากสำหรับความยึดติดยึดถือ สำหรับความเชื่อตามประเพณี ตามคนหมู่มาก ตามคนส่วนใหญ่ นี่มันเป็นพลังที่ปกปิดหัวใจชาวโลก ชาวบ้านทั้งหลาย ไม่มีช่องทางที่จะให้เห็น ที่จะให้ผ่านพ้นหนีไปจากโลก ไปอยู่ในระดับโลกุตตรธรรม มันยากมาก
          กระแสมันลดน้อย ลดต่ำลงไป กระแสในความรู้สึก ในความสนใจของชาวบ้าน แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ มันก็เป็นตามสัจธรรมที่ธรรมชาติให้มา มันให้ติดอยู่ ยึดอยู่ ถืออยู่ ให้มันวุ่นวาย มันให้ขัดข้องอยู่ มันให้มองไม่เห็นความจริง มันให้ติดอยู่ในระดับนั้น มันเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งที่ปกปิดความจริง ไม่ให้มองเห็น ปิดไว้จนมิด ปิดไว้จนไม่รู้ตัวว่าถูกปิดถูกขัง ถูกกามคุณทั้งหลายมันผูกมัด มันทับถมไว้ เห็นความจริงไม่ได้ เห็นแต่กามคุณ กามราคะ มันติดกับรสชาติ
          มองเข้ามาให้มันลึกซึ้ง ก็คือ มันติดความเป็นตัวตน ติดอัตตา ติดตัวตน ติดกู กูเป็นอย่างนั้น กูเป็นอย่างนี้ กูแท้ๆ มันติดแนบสนิท จนไม่เห็นรอยเชื่อมต่อ มันจะเห็นทางออกจากโทษ ออกจากทุกข์ ได้อย่างไร แม้แต่ระดับพื้นฐานมันก็ยังไม่รู้ มันไกลกันมาก ที่จะไปใฝ่รู้ ใฝ่เห็น ในระดับที่มันเหนือขึ้นไป
          ถ้าไปพูดความจริงในระดับลึกซึ้ง ระดับสัจธรรม ให้ฟัง มันก็ยิ่งไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ เพราะมันไม่ได้ใฝ่ในระดับนี้อยู่แล้ว มันเป็นอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่เข้าใจได้ยาก รู้ได้ยาก เห็นได้ยาก สัมผัสความจริงได้ยาก เพราะฉะนั้นผู้อยู่ในเพศสมณะที่มาให้ความสนใจใส่ใจเป็นพิเศษ จึงเป็นบุคคลที่เว้นจากหน้าที่ของชาวบ้าน มาทำหน้าที่แบบชาวพุทธอยู่ในวัด มาพากเพียร ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่ศึกษาสิ่งนี้โดยเฉพาะ เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกจากเดิมที่เป็นแบบชาวบ้านมาเป็นแบบชาวพุทธ ถ้าหากท้อแท้มันก็จะวกเวียนกลับไปอย่างเก่า เข้ามาแล้วยังไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้สัมผัส กระแสเก่ามันก็จะลากกลับไป เพราะพลังเดิมมันมีอยู่ก่อนแล้ว มันก็คอยสั่งการให้กลับไป เพราะว่ามันมีอำนาจ มีพลังมากกว่า
          มันทำไม่เป็น มันจะเป็นได้อย่างไร ก็มันยังไม่รู้ มีอย่างเดียวก็คือหาทาง นักบวชทั้งหลายที่ออกมาบวช ยังอยู่ในลักษณะของการหาเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าทำถูก ทำได้ ทำเป็น หาได้ก็ได้ หาไม่ได้มันก็ไม่ได้ จะบวชทั้งชาติก็ช่าง มันเข้าทางไม่ได้ ก็ไปไม่ได้ แต่มันก็ไม่มีหน้าที่อื่น ไม่มีวิธีอื่น นอกจากหา ถ้ามันแย้มบ้าง มันก็ได้ประตู ได้ทาง อย่างคำที่สวดไปว่า ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ... เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ นี่คือแสดงถึงอาการที่ว่าสัมผัสได้บ้างแล้ว นี่คือออกเดินทางแล้ว แต่ถ้าไม่ได้กระแสในระดับอย่างนี้ ก็มีทางเดียวคือหา เป็นการหา หาต่อไป
          ถ้าท้อแท้ ไม่บากบั่น ไม่พากเพียร มันก็ถอยหลังไป หันหลังกลับไป เพราะว่ามันหาไม่เจอ มันก็เลยเบื่อหน่าย นั่นคือแพ้ ไม่ชนะ หมดศรัทธาจนถึงขั้นมีการสบประมาท ลบหลู่ ไปเลยก็ได้ นั่นคือ ความไม่เห็นทาง มันก็เลยกลับไปทางเก่า ถ้าได้ทางได้กระแส มันก็ไม่กลับ เพราะมันรู้แล้วว่าเป็นอย่างไร มันจะดี จะร้าย จะถูก จะต้อง มันรู้แล้ว มันจะเดินทางต่อไป จนถึงจุดหมายปลายทางได้ในสักวันหนึ่ง มันจะมีลักษณะ มีรสชาติอย่างนั้น

ทวนกระแส


ทวนกระแส
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

          ทวนกระแส ทวนของเก่า กระแสคือทางที่เคยเดิน คือความคิดอันเก่า ต้องทวนกระแสเก่า กระแสชาวบ้าน กระแสชาวโลก ต้องทวนหมดเลย  ถ้าไม่ทวน มันก็ไปไม่ได้ เพราะมันคนละทางกัน  มันก็ไหลตามเขาอย่างเก่า ไหลตามชาวบ้าน ไหลตามชาวโลก ไหลตามโลกียวิสัยอย่างเก่า  มันก็อยู่อย่างเก่า มันไม่ได้เป็นอย่างใหม่  ทวนกระแสบ่อยๆ เนืองๆ แล้วๆ เล่าๆ จำเจ ซ้ำซาก นั่นคือลักษณะของการทำความเพียร ให้เข้าใจว่ามันเป็นการทำความเพียรภายใน ทำด้วยความรู้สึก มันจะตรงกว่า ไม่ชวนให้หลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความเพียรภายนอกมันก็ต้องทำอยู่แล้ว เพราะคนเรามันมีร่างกาย มีรูปขันธ์อยู่  มันก็ต้องรู้ที่รูป รู้ที่ร่างกายนี้อยู่แล้ว  เพราะฉะนั้น ทำความเพียรภายในมันก็ยังต้องพึ่งภายนอกด้วย
          มันเป็นลักษณะของการทวนกระแส การทวนกระแสมันจะทำให้เกิดพลังขึ้นมาได้มาก มันจะค่อยๆ ปรากฏ  ความจริงจะปรากฏทีละน้อยๆ  ได้ไม่มากก็ได้ทีละน้อยเสียก่อน  ถ้าไม่ลบของเก่า ไม่ทวนกระแส มันก็ไม่มีข้อปฏิบัติ ที่ได้ยินชอบพูดตามกันนักว่า ปฏิบัติ-ปฏิบัติ  ซึ่งสังคมชาวพุทธนิยมใช้กันนักว่าปฏิบัติธรรม ไปปฏิบัติธรรม ที่จริงมันยังชวนให้หลงอยู่กับคำศัพท์นี้ ถ้าจะให้ตรง ให้ชัดเจนกว่านั้น ต้องใช้คำว่า ทำความเพียร พากเพียร เพียรกับปฏิบัติมันแทบจะแยกกันไม่ออก มันคล้ายกัน แต่ว่ารสชาติ ความรู้สึกต่อคำศัพท์มันจะชวนให้หลงได้ 
          คำว่า ปฏิบัติ กับคำว่า ทำความเพียร มันก็เสมือนหนึ่งว่าเป็นอันเดียวกัน รสชาติอันเดียวกัน  ถ้าจะแยกเป็นสองคำ คำว่า ปฏิบัติ นี่มันอยู่ในระดับที่หยาบกว่า ปฏิบัติก็คือทำ ก็คือปฏิบัติการ ปฏิบัติการอย่างนั้น ปฏิบัติการอย่างนี้ แม้แต่พวกจี้ปล้นก็ใช้ว่าปฏิบัติการ ไปในสนามรบก็ใช้คำว่าปฏิบัติการ นี่มันจึงอาจชวนให้หลงได้  มันเป็นภาษาระดับชาวบ้าน แต่เราจะเอามาใช้ร่วมก็ได้ ถ้าเราเข้าใจถูกต้อง  ส่วนคำว่า ทำความเพียร นี่มันเป็นภาษาในสังคมพระ พระกรรมฐาน พระวัดป่าทั้งหลายนิยมพูดกัน ทำความเพียร ไปทำความเพียรอยู่ที่นั่น ไปทำความเพียรอยู่ที่นี่ ไปทำความเพียรอยู่ถ้ำ อยู่ป่าช้า อยู่ที่แจ้ง อยู่โคนต้นไม้ อยู่เรือนว่าง 
          ดังนั้น การใช้คำศัพท์ต่างๆ ต้องรอบรู้ ต้องชัดเจนในความหมายเฉพาะตน ไม่ใช่ใช้ตามเขา พูดตามเขา เชื่อเอา เชื่อเอา เวลาเขาป้อนคำศัพท์อะไรมาก็เชื่อ เชื่อ มันก็ไม่ได้ปฏิบัติ มันก็ไม่ได้ทำความเพียร เพราะมีแต่เชื่อเอา เชื่อเอา ไม่ได้คิดพิจารณาอะไร  ทุกคำที่ได้ยิน ต้องเอามาพิจารณาซ้ำ เอามาสับให้แหลกก่อน ให้มันรู้ให้มันเข้าใจเฉพาะตัว
          เพราะฉะนั้น ทำความเพียร ต้องให้มันอยู่ในลักษณะที่ทวนกระแส  คำว่า ทวนกระแส มันเป็นคำที่อยู่ในระดับถึงขั้นสูงสุด ใกล้ความจริง เป็นคำศัพท์ชักนำ ชักชวนเดินไปสู่ความจริง ที่ใกล้มากกว่า  ถ้าไม่ทวนกระแส มันก็เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป ไปตามเขา ทำอย่างเขา พูดอย่างเขา กินอย่างเขา คิดอย่างเขา ตัวอย่างแบบหยาบๆ ก็เช่น เจริญเติบโตมาแล้ว ก็มีรัก ก็มีชัง อย่างเขา แต่งงานอย่างเขา มีลูกอย่างเขา มีครอบครัวอยู่อย่างเขา มันก็อย่างเขา ไม่ได้ทวนกระแสอะไรเลย  มันไปตามกระแสของสังคมชาวโลก ชาวบ้านทั้งหลาย  นี่เปรียบเทียบแบบหยาบ มันก็จะออกมาแบบนี้  นั่นคือไหลตามกระแส ไม่ได้ทวนกระแส
          ถ้าทวนกระแส ยกตัวอย่างแบบหยาบๆ ก็เช่น การเห็นว่าฉันจะไม่อยู่บ้านแบบคนทั่วไปแล้ว ฉันจะออกบวชเหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลาย นี่..นี่คือทวนกระแสระดับหยาบๆ  ฉันจะไม่กินเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่เสเพลเที่ยวเตร่  ฉันจะศึกษาธรรมะ ใฝ่ในธรรม ไม่สนใจแบบชาวบ้าน แบบชาวโลก ฉันจะทวนกระแส นี่คือตัวอย่างการทวนกระแสในระดับที่มันหยาบ เห็นได้ง่าย พูดให้ใครฟังก็พอจะเข้าใจตามได้ เพราะมันชัดเจน เป็นระดับหยาบ เข้าใจได้ง่ายกว่าที่จะบอกว่าให้ทวนกระแสภายใน ทวนกระแสในด้านความรู้สึก ทวนกระแสในด้านจิตใจ
          เป็นลักษณะของการทวนกระแส ถึงขนาดออกบวชแล้วก็ต้องทวนกระแสอยู่เรื่อยๆ ในระดับหยาบๆ ก็คือทำตามข้อวัตรต่างๆ ประกอบไปด้วยกติกาภายนอกต่างๆ ข้อบัญญัติต่างๆ เป็นการทวนกระแสอันเก่า กระแสชาวโลก  เช่น ให้มักน้อย สันโดษ อยู่ผู้เดียว นี่คือทวนกระแส  ไม่ให้พูดคุยมาก นี่ก็ทวนกระแส  ไม่ให้กินอาหารในเวลาวิกาล คือหลังเที่ยงวันเป็นต้นไป นี่ก็คือทวนกระแส  นี่คือตัวอย่างของการทวนกระแส  มันไม่ทวนก็บังคับให้ทวน  วินัยต่างๆ บัญญัติก็เพื่อจะบังคับให้มันทวนกระแส รู้จักทวนกระแส  ตลอดจนเกี่ยวกับรสชาติของกามคุณ กามราคะในเพศตรงข้าม จะเห็นว่าวินัยบัญญัติให้ทวนกระแส อยู่กับผู้หญิง คุยกับผู้หญิงตามลำพังไม่ได้ นอนในสถานที่เดียวกันกับผู้หญิงไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ จับต้องไม่ได้ นั่น..นั่นคือทวนกระแส  จะเห็นได้ชัดเจนว่าทวนกระแสคือย่างไร  หรือบอกให้ใช้สิ่งของอย่างจำกัด ให้มีเฉพาะปัจจัยที่จำเป็น  สิ่งที่ไม่จำเป็นหรือทนได้ในวินัยก็บังคับให้ทวนกระแส ไม่ไปตามชาวบ้าน  สิ่งที่ชาวบ้านทำ ไม่ทำ สิ่งที่ชาวบ้านพูด ไม่พูด  ย่อเข้ามาย่นเข้ามาก็สรุปได้ว่าให้ทวนกระแสทางกาย ทางวาจา ทางใจ  แต่ใจนี่มันก็ประกอบอยู่แล้วในทุกความรู้สึก
          เดินจงกรมนานๆ ก็ทวนกระแส  ถ้าไปนั่งแล้วมันง่วงนอน ก็ต้องทวนกระแส เดินให้มันมากๆ  ในขณะที่เดิน เราไม่ต้องไปตึงไปเครียด จะให้มันเป็นเร็วๆ จะให้มันบรรลุเร็วๆ มันก็เกินไป มันไม่เป็นปัจจุบัน เดินก็ให้มันอยู่ในความรู้สึกปัจจุบัน นั่งก็ให้มันอยู่ในความรู้สึกปัจจุบัน เห็นในปัจจุบัน ดูปัจจุบัน ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มอีก นี่คือการทำความเพียร  แต่มันก็ยังทำไม่ถูก มันยังไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง คิดว่าตัวเองกำลังทำความเพียร แต่ว่ามันทำไม่ถูก มันยาก ไม่ใช่ของง่าย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะยากยังไงมันก็ต้องทำ ไม่รู้ยังไงมันก็ต้องทำ ไม่เป็นยังไงมันก็ต้องทำ มันก็อยู่ในลักษณะอย่างนี้ 
          มันจะเป็นไหม มันจะได้ถึงขั้นไหน ได้มากเท่าไหร่ บางทีมีคนมาถามว่า บวชเข้ามาแล้วได้ถึงขั้นไหน มันไม่ใช่เรื่องที่จะมาถามตอบอย่างนั้น  ถ้าจะตอบก็ตอบไปเลยว่า ฉันยังไม่ได้อะไร  รู้อะไรบ้างตั้งแต่บวชเข้ามานี่ ฉันยังไม่รู้อะไรหรอก รู้เท่าเก่า ไม่ได้รู้อะไรของใหม่เพิ่มเติม ตอบแบบนี้มันเด็ดขาด  มันสูงสุดไปเลย ในระดับที่เหนือท่วมท้นไปเลย  บวชมานานแล้วยังไม่รู้อะไรอีกหรือ ยัง..ยังไม่รู้อะไรเพิ่มเลย ยังรู้อย่างเก่า ตอบให้มันสะดุดในความรู้สึกไปเลย  บางทีมันก็จะว่า งั้นคุณก็สึกไปเถอะ บวชอยู่ทำไม หลายปีแล้วยังไม่ได้อะไร บวชมานานแทนที่จะได้นั่นได้นี่ รู้นั่นรู้นี่  นี่มันดูถูกเราเสียอีก  ตอบมันซ้ำไปอีกนั้นแหละว่า ฉันยังรู้อย่างเก่า รู้เท่าเก่า  คนถามเองมันก็ไม่รู้ มันไม่ใช่พระอรหันต์มาถามเรา ไม่ใช่พระพุทธเจ้ามาถามเรา ปุถุชนคนธรรมดามันจะรู้เรื่องอะไร เรื่องตัวมันเองมันยังไม่รู้เลย
          ถ้ารู้ใหม่ๆ มา มันเป็นความรู้สึก เป็นกระแสแบบชาวบ้าน มันจะชวนให้หลงไปอีก  อย่างที่เขาพูดตามกันว่า คิดใหม่-ทำใหม่ ซึ่งมันก็อาจจะพอเข้าใจได้ ใช้ได้  แต่ว่าถ้าหากพูดว่า รู้ใหม่ๆ นี่มันชวนให้หลงแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าเผ็ดก็เผ็ดอย่างเก่า เค็มก็เค็มอย่างเก่า รู้หนาวฉันก็รู้อย่างเก่า รู้ร้อนฉันก็รู้อย่างเก่า รู้ปวดอุจจาระ-ปัสสาวะฉันก็ยังรู้อย่างเก่า ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย นี่คือคำอธิบายขยายความ รู้อย่างเก่า รู้ไม่มากกว่าเก่าคืออะไร คืออย่างนี้เอง ฉันไม่ได้รู้มากกว่าเก่า ฉันรู้เท่าเก่า บวชนานแล้วยังรู้เท่าเก่า มันเป็นภาษาธรรมะ ไม่ใช่ภาษาระดับชาวบ้าน
          ทีนี้ลึกลงไป ละเอียดลงไป ทวนกระแสในระดับที่เหนือกว่า ก็คือ ทวนกระแสความเคยตัว ความเคยชิน ที่มันรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน ตัวกู ตัวข้าพเจ้า อยู่นี่  นี่คือกระแสเก่า ต้องทวนกระแสให้มันจบไป ให้อยู่ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวฉัน ตัวกู ตัวข้าพเจ้า  สิ่งที่มีอยู่คือธรรมชาติ คือหน้าที่ คือมันจริงตามธรรมะ จริงตามหน้าที่ มันเป็นธรรมะ..ธรรมชาติ มันเป็นธรรมะ..หน้าที่ มันเป็นธรรมะ..จริง  ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือจริง  นั่นคือสิ่งที่เป็นปกติ เป็นสิ่งดั้งเดิม เป็นของเดิมแท้ เป็นของเก่าแก่แท้
          ของที่เข้าใจว่าตัวฉัน ตัวกู ตัวข้าพเจ้า นั่นมันเป็นของใหม่ ของตามกระแสชาวบ้าน กระแสชาวโลก ต้องทวนให้หมดสิ้นไป  สิ่งที่เหลือคือขันธ์ห้า คือธรรมชาติ คือหน้าที่ คือจริง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือกายกับใจ  นั่นคือดั้งเดิม ของเดิม  ไม่มีตัวอะไรไปแอบแฝงอยู่ที่นั่น ไม่มีตัวอะไรไปฉาบทา ไปพอกพูนอยู่ที่นั่น  นี่คือจุดที่กำลังทำความเพียรเข้าไป  ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปเป็น ไปเห็นอะไร ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่ม มันมีอยู่แล้วของมัน
          นั่นคือสิ่งที่นักบวชต้องการ หรือชาวโลกก็ต้องการ แต่มันไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวว่าต้องการอะไร จะเอาอะไร มันยังจะสะสมไว้ซึ่งตัวอัตตา สะสมไว้ซึ่งตัวตน บวชเข้ามาก็จะเอาสรรค์ เอานิพพาน เอามรรคผลนิพพาน พูดตามกัน แต่ยังไม่เข้าใจ นั่นก็ถือว่ายังดี  พวกประเภทที่บวชเพื่อเอาบุญ บวชอุทิศบุญเพื่อให้พ่อแม่ได้ขึ้นสวรรค์ นั่นมันอยู่ในกระแสของชาวบ้าน เสร็จเลย บวชเอาบุญมันก็เหมือนชาวบ้าน จะเอาบุญไปทำอะไร จะเอาไปต้มไปแกงกินหรือ มันคิดแบบชาวบ้าน  จะเอาบุญไปใช้ มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นวัฏฏะอยู่อย่างนั้น มันก็เหมือนชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านเขาปรารถนากันอย่างนั้น ไม่ได้อยู่ในระดับที่เหนือกว่าอะไร ไม่ได้เป็นไปตามเส้นทางของพระพุทธองค์ที่วางไว้ บอกไว้  มันไปคนละทางกัน  จึงบอกว่ามันไหลตามกระแสชาวบ้าน ไหลตามกระแสชาวโลก  ไม่ได้ทวนกระแส