วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ทวนกระแส


ทวนกระแส
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

          ทวนกระแส ทวนของเก่า กระแสคือทางที่เคยเดิน คือความคิดอันเก่า ต้องทวนกระแสเก่า กระแสชาวบ้าน กระแสชาวโลก ต้องทวนหมดเลย  ถ้าไม่ทวน มันก็ไปไม่ได้ เพราะมันคนละทางกัน  มันก็ไหลตามเขาอย่างเก่า ไหลตามชาวบ้าน ไหลตามชาวโลก ไหลตามโลกียวิสัยอย่างเก่า  มันก็อยู่อย่างเก่า มันไม่ได้เป็นอย่างใหม่  ทวนกระแสบ่อยๆ เนืองๆ แล้วๆ เล่าๆ จำเจ ซ้ำซาก นั่นคือลักษณะของการทำความเพียร ให้เข้าใจว่ามันเป็นการทำความเพียรภายใน ทำด้วยความรู้สึก มันจะตรงกว่า ไม่ชวนให้หลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความเพียรภายนอกมันก็ต้องทำอยู่แล้ว เพราะคนเรามันมีร่างกาย มีรูปขันธ์อยู่  มันก็ต้องรู้ที่รูป รู้ที่ร่างกายนี้อยู่แล้ว  เพราะฉะนั้น ทำความเพียรภายในมันก็ยังต้องพึ่งภายนอกด้วย
          มันเป็นลักษณะของการทวนกระแส การทวนกระแสมันจะทำให้เกิดพลังขึ้นมาได้มาก มันจะค่อยๆ ปรากฏ  ความจริงจะปรากฏทีละน้อยๆ  ได้ไม่มากก็ได้ทีละน้อยเสียก่อน  ถ้าไม่ลบของเก่า ไม่ทวนกระแส มันก็ไม่มีข้อปฏิบัติ ที่ได้ยินชอบพูดตามกันนักว่า ปฏิบัติ-ปฏิบัติ  ซึ่งสังคมชาวพุทธนิยมใช้กันนักว่าปฏิบัติธรรม ไปปฏิบัติธรรม ที่จริงมันยังชวนให้หลงอยู่กับคำศัพท์นี้ ถ้าจะให้ตรง ให้ชัดเจนกว่านั้น ต้องใช้คำว่า ทำความเพียร พากเพียร เพียรกับปฏิบัติมันแทบจะแยกกันไม่ออก มันคล้ายกัน แต่ว่ารสชาติ ความรู้สึกต่อคำศัพท์มันจะชวนให้หลงได้ 
          คำว่า ปฏิบัติ กับคำว่า ทำความเพียร มันก็เสมือนหนึ่งว่าเป็นอันเดียวกัน รสชาติอันเดียวกัน  ถ้าจะแยกเป็นสองคำ คำว่า ปฏิบัติ นี่มันอยู่ในระดับที่หยาบกว่า ปฏิบัติก็คือทำ ก็คือปฏิบัติการ ปฏิบัติการอย่างนั้น ปฏิบัติการอย่างนี้ แม้แต่พวกจี้ปล้นก็ใช้ว่าปฏิบัติการ ไปในสนามรบก็ใช้คำว่าปฏิบัติการ นี่มันจึงอาจชวนให้หลงได้  มันเป็นภาษาระดับชาวบ้าน แต่เราจะเอามาใช้ร่วมก็ได้ ถ้าเราเข้าใจถูกต้อง  ส่วนคำว่า ทำความเพียร นี่มันเป็นภาษาในสังคมพระ พระกรรมฐาน พระวัดป่าทั้งหลายนิยมพูดกัน ทำความเพียร ไปทำความเพียรอยู่ที่นั่น ไปทำความเพียรอยู่ที่นี่ ไปทำความเพียรอยู่ถ้ำ อยู่ป่าช้า อยู่ที่แจ้ง อยู่โคนต้นไม้ อยู่เรือนว่าง 
          ดังนั้น การใช้คำศัพท์ต่างๆ ต้องรอบรู้ ต้องชัดเจนในความหมายเฉพาะตน ไม่ใช่ใช้ตามเขา พูดตามเขา เชื่อเอา เชื่อเอา เวลาเขาป้อนคำศัพท์อะไรมาก็เชื่อ เชื่อ มันก็ไม่ได้ปฏิบัติ มันก็ไม่ได้ทำความเพียร เพราะมีแต่เชื่อเอา เชื่อเอา ไม่ได้คิดพิจารณาอะไร  ทุกคำที่ได้ยิน ต้องเอามาพิจารณาซ้ำ เอามาสับให้แหลกก่อน ให้มันรู้ให้มันเข้าใจเฉพาะตัว
          เพราะฉะนั้น ทำความเพียร ต้องให้มันอยู่ในลักษณะที่ทวนกระแส  คำว่า ทวนกระแส มันเป็นคำที่อยู่ในระดับถึงขั้นสูงสุด ใกล้ความจริง เป็นคำศัพท์ชักนำ ชักชวนเดินไปสู่ความจริง ที่ใกล้มากกว่า  ถ้าไม่ทวนกระแส มันก็เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป ไปตามเขา ทำอย่างเขา พูดอย่างเขา กินอย่างเขา คิดอย่างเขา ตัวอย่างแบบหยาบๆ ก็เช่น เจริญเติบโตมาแล้ว ก็มีรัก ก็มีชัง อย่างเขา แต่งงานอย่างเขา มีลูกอย่างเขา มีครอบครัวอยู่อย่างเขา มันก็อย่างเขา ไม่ได้ทวนกระแสอะไรเลย  มันไปตามกระแสของสังคมชาวโลก ชาวบ้านทั้งหลาย  นี่เปรียบเทียบแบบหยาบ มันก็จะออกมาแบบนี้  นั่นคือไหลตามกระแส ไม่ได้ทวนกระแส
          ถ้าทวนกระแส ยกตัวอย่างแบบหยาบๆ ก็เช่น การเห็นว่าฉันจะไม่อยู่บ้านแบบคนทั่วไปแล้ว ฉันจะออกบวชเหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลาย นี่..นี่คือทวนกระแสระดับหยาบๆ  ฉันจะไม่กินเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่เสเพลเที่ยวเตร่  ฉันจะศึกษาธรรมะ ใฝ่ในธรรม ไม่สนใจแบบชาวบ้าน แบบชาวโลก ฉันจะทวนกระแส นี่คือตัวอย่างการทวนกระแสในระดับที่มันหยาบ เห็นได้ง่าย พูดให้ใครฟังก็พอจะเข้าใจตามได้ เพราะมันชัดเจน เป็นระดับหยาบ เข้าใจได้ง่ายกว่าที่จะบอกว่าให้ทวนกระแสภายใน ทวนกระแสในด้านความรู้สึก ทวนกระแสในด้านจิตใจ
          เป็นลักษณะของการทวนกระแส ถึงขนาดออกบวชแล้วก็ต้องทวนกระแสอยู่เรื่อยๆ ในระดับหยาบๆ ก็คือทำตามข้อวัตรต่างๆ ประกอบไปด้วยกติกาภายนอกต่างๆ ข้อบัญญัติต่างๆ เป็นการทวนกระแสอันเก่า กระแสชาวโลก  เช่น ให้มักน้อย สันโดษ อยู่ผู้เดียว นี่คือทวนกระแส  ไม่ให้พูดคุยมาก นี่ก็ทวนกระแส  ไม่ให้กินอาหารในเวลาวิกาล คือหลังเที่ยงวันเป็นต้นไป นี่ก็คือทวนกระแส  นี่คือตัวอย่างของการทวนกระแส  มันไม่ทวนก็บังคับให้ทวน  วินัยต่างๆ บัญญัติก็เพื่อจะบังคับให้มันทวนกระแส รู้จักทวนกระแส  ตลอดจนเกี่ยวกับรสชาติของกามคุณ กามราคะในเพศตรงข้าม จะเห็นว่าวินัยบัญญัติให้ทวนกระแส อยู่กับผู้หญิง คุยกับผู้หญิงตามลำพังไม่ได้ นอนในสถานที่เดียวกันกับผู้หญิงไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ จับต้องไม่ได้ นั่น..นั่นคือทวนกระแส  จะเห็นได้ชัดเจนว่าทวนกระแสคือย่างไร  หรือบอกให้ใช้สิ่งของอย่างจำกัด ให้มีเฉพาะปัจจัยที่จำเป็น  สิ่งที่ไม่จำเป็นหรือทนได้ในวินัยก็บังคับให้ทวนกระแส ไม่ไปตามชาวบ้าน  สิ่งที่ชาวบ้านทำ ไม่ทำ สิ่งที่ชาวบ้านพูด ไม่พูด  ย่อเข้ามาย่นเข้ามาก็สรุปได้ว่าให้ทวนกระแสทางกาย ทางวาจา ทางใจ  แต่ใจนี่มันก็ประกอบอยู่แล้วในทุกความรู้สึก
          เดินจงกรมนานๆ ก็ทวนกระแส  ถ้าไปนั่งแล้วมันง่วงนอน ก็ต้องทวนกระแส เดินให้มันมากๆ  ในขณะที่เดิน เราไม่ต้องไปตึงไปเครียด จะให้มันเป็นเร็วๆ จะให้มันบรรลุเร็วๆ มันก็เกินไป มันไม่เป็นปัจจุบัน เดินก็ให้มันอยู่ในความรู้สึกปัจจุบัน นั่งก็ให้มันอยู่ในความรู้สึกปัจจุบัน เห็นในปัจจุบัน ดูปัจจุบัน ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มอีก นี่คือการทำความเพียร  แต่มันก็ยังทำไม่ถูก มันยังไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง คิดว่าตัวเองกำลังทำความเพียร แต่ว่ามันทำไม่ถูก มันยาก ไม่ใช่ของง่าย  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะยากยังไงมันก็ต้องทำ ไม่รู้ยังไงมันก็ต้องทำ ไม่เป็นยังไงมันก็ต้องทำ มันก็อยู่ในลักษณะอย่างนี้ 
          มันจะเป็นไหม มันจะได้ถึงขั้นไหน ได้มากเท่าไหร่ บางทีมีคนมาถามว่า บวชเข้ามาแล้วได้ถึงขั้นไหน มันไม่ใช่เรื่องที่จะมาถามตอบอย่างนั้น  ถ้าจะตอบก็ตอบไปเลยว่า ฉันยังไม่ได้อะไร  รู้อะไรบ้างตั้งแต่บวชเข้ามานี่ ฉันยังไม่รู้อะไรหรอก รู้เท่าเก่า ไม่ได้รู้อะไรของใหม่เพิ่มเติม ตอบแบบนี้มันเด็ดขาด  มันสูงสุดไปเลย ในระดับที่เหนือท่วมท้นไปเลย  บวชมานานแล้วยังไม่รู้อะไรอีกหรือ ยัง..ยังไม่รู้อะไรเพิ่มเลย ยังรู้อย่างเก่า ตอบให้มันสะดุดในความรู้สึกไปเลย  บางทีมันก็จะว่า งั้นคุณก็สึกไปเถอะ บวชอยู่ทำไม หลายปีแล้วยังไม่ได้อะไร บวชมานานแทนที่จะได้นั่นได้นี่ รู้นั่นรู้นี่  นี่มันดูถูกเราเสียอีก  ตอบมันซ้ำไปอีกนั้นแหละว่า ฉันยังรู้อย่างเก่า รู้เท่าเก่า  คนถามเองมันก็ไม่รู้ มันไม่ใช่พระอรหันต์มาถามเรา ไม่ใช่พระพุทธเจ้ามาถามเรา ปุถุชนคนธรรมดามันจะรู้เรื่องอะไร เรื่องตัวมันเองมันยังไม่รู้เลย
          ถ้ารู้ใหม่ๆ มา มันเป็นความรู้สึก เป็นกระแสแบบชาวบ้าน มันจะชวนให้หลงไปอีก  อย่างที่เขาพูดตามกันว่า คิดใหม่-ทำใหม่ ซึ่งมันก็อาจจะพอเข้าใจได้ ใช้ได้  แต่ว่าถ้าหากพูดว่า รู้ใหม่ๆ นี่มันชวนให้หลงแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าเผ็ดก็เผ็ดอย่างเก่า เค็มก็เค็มอย่างเก่า รู้หนาวฉันก็รู้อย่างเก่า รู้ร้อนฉันก็รู้อย่างเก่า รู้ปวดอุจจาระ-ปัสสาวะฉันก็ยังรู้อย่างเก่า ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย นี่คือคำอธิบายขยายความ รู้อย่างเก่า รู้ไม่มากกว่าเก่าคืออะไร คืออย่างนี้เอง ฉันไม่ได้รู้มากกว่าเก่า ฉันรู้เท่าเก่า บวชนานแล้วยังรู้เท่าเก่า มันเป็นภาษาธรรมะ ไม่ใช่ภาษาระดับชาวบ้าน
          ทีนี้ลึกลงไป ละเอียดลงไป ทวนกระแสในระดับที่เหนือกว่า ก็คือ ทวนกระแสความเคยตัว ความเคยชิน ที่มันรู้สึกว่าเป็นตัวฉัน ตัวกู ตัวข้าพเจ้า อยู่นี่  นี่คือกระแสเก่า ต้องทวนกระแสให้มันจบไป ให้อยู่ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวฉัน ตัวกู ตัวข้าพเจ้า  สิ่งที่มีอยู่คือธรรมชาติ คือหน้าที่ คือมันจริงตามธรรมะ จริงตามหน้าที่ มันเป็นธรรมะ..ธรรมชาติ มันเป็นธรรมะ..หน้าที่ มันเป็นธรรมะ..จริง  ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือจริง  นั่นคือสิ่งที่เป็นปกติ เป็นสิ่งดั้งเดิม เป็นของเดิมแท้ เป็นของเก่าแก่แท้
          ของที่เข้าใจว่าตัวฉัน ตัวกู ตัวข้าพเจ้า นั่นมันเป็นของใหม่ ของตามกระแสชาวบ้าน กระแสชาวโลก ต้องทวนให้หมดสิ้นไป  สิ่งที่เหลือคือขันธ์ห้า คือธรรมชาติ คือหน้าที่ คือจริง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือกายกับใจ  นั่นคือดั้งเดิม ของเดิม  ไม่มีตัวอะไรไปแอบแฝงอยู่ที่นั่น ไม่มีตัวอะไรไปฉาบทา ไปพอกพูนอยู่ที่นั่น  นี่คือจุดที่กำลังทำความเพียรเข้าไป  ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปเป็น ไปเห็นอะไร ไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่ม มันมีอยู่แล้วของมัน
          นั่นคือสิ่งที่นักบวชต้องการ หรือชาวโลกก็ต้องการ แต่มันไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวว่าต้องการอะไร จะเอาอะไร มันยังจะสะสมไว้ซึ่งตัวอัตตา สะสมไว้ซึ่งตัวตน บวชเข้ามาก็จะเอาสรรค์ เอานิพพาน เอามรรคผลนิพพาน พูดตามกัน แต่ยังไม่เข้าใจ นั่นก็ถือว่ายังดี  พวกประเภทที่บวชเพื่อเอาบุญ บวชอุทิศบุญเพื่อให้พ่อแม่ได้ขึ้นสวรรค์ นั่นมันอยู่ในกระแสของชาวบ้าน เสร็จเลย บวชเอาบุญมันก็เหมือนชาวบ้าน จะเอาบุญไปทำอะไร จะเอาไปต้มไปแกงกินหรือ มันคิดแบบชาวบ้าน  จะเอาบุญไปใช้ มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นวัฏฏะอยู่อย่างนั้น มันก็เหมือนชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านเขาปรารถนากันอย่างนั้น ไม่ได้อยู่ในระดับที่เหนือกว่าอะไร ไม่ได้เป็นไปตามเส้นทางของพระพุทธองค์ที่วางไว้ บอกไว้  มันไปคนละทางกัน  จึงบอกว่ามันไหลตามกระแสชาวบ้าน ไหลตามกระแสชาวโลก  ไม่ได้ทวนกระแส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น