วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สังเกตความเคลื่อนไหวของกาย


สังเกตความเคลื่อนไหวของกาย
บันทึกโอวาทธรรม พระอาจารย์ ไพฑูรย์ ขันติโก
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เวลา ๐๕.๐๐ น.
------------------------------------------------------------------

          สังเกตความเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะว่าความรู้สึกมันแสดง มันมาทำการอยู่ที่กาย มันเป็นอิริยาบถหยาบ แต่ถ้าเรานั่งแน่นิ่งไม่กระดุกกระดิก มันก็จะรู้ภายในตัวของมัน มันดูตัวเอง ดูรู้ นี่คืออิริยาบถแบบละเอียด
          เมื่อดูการเคลื่อนไหวของกาย เช่น การเคลื่อนไหวทางแขน ทางขา ทางศีรษะ ทางปาก เวลาพูด เวลาสวดมนต์ มันก็เป็นการเคลื่อนไหวของกายในจุดหนึ่ง ในที่หนึ่ง การลืมตา กระพริบตา อย่างนี้มันก็เป็นการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งของกาย ซึ่งมันก็เป็นการแสดงที่มาจากความรู้ คือมาจากส่วนที่เป็นนาม หรือว่าใจ หรือว่าจิต หรือว่าวิญญาณ กลุ่มนี้ ชื่อนี้ อาการนี้ รสชาตินี้แหละ
          กายโยกโคลง กายไหว คือส่วนที่มันไม่นิ่ง ในขณะที่เคลื่อนไหว ไหวตัว มันก็เป็นเรื่องของกาย แต่ว่ากายนี้จริงๆ มันไม่รู้อะไร กายมันเป็นวัตถุ มันไม่รู้อะไร มันเป็นเพียงของใช้ของนาม หรือของใจ นามใช้มัน นามผลักดันมัน นามบอกมัน ให้มันเคลื่อนไหว แต่มันละเอียดอ่อน เราไม่รู้ตัว เราตามไม่ทัน ก็คือเราไม่เข้าใจ หรือยังไม่รู้จริงนั่นเอง มันก็เลยไม่รู้จริงว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายนี้มันมาจากอะไร คิดว่ามันเคลื่อนไหวไปด้วยตัวมันเอง ไม่มีอะไรที่จะมาผลักดันมัน แต่จริงๆ แล้วมันมีเจตนา หรือเจตสิก ภาษาอภิธรรมก็ว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน มันมีเจตนาที่จะให้อ้าปาก ที่จะให้กระพริบตา มีเจตนาที่จะให้หันหน้า เหลียวซ้าย แลขวา มันมีเจตนาที่จะให้ยกแขน วางแขน เอื้อมแขนไปหยิบสิ่งของ แต่มันละเอียดอ่อน เราไม่เคยคิดเข้ามาดูในจุดนี้ ไม่เคยสังเกตการณ์เข้ามาดูอาการต่างๆ ที่มันกำลังเคลื่อนไหวอยู่นี้ มันก็เลยไม่รู้ มันมาจากการสั่งการของเจตนาเจตสิก นี่มันก็เป็นวิธีพูด วิธีหาข้อมูลมาพูด ที่จะให้ทำความเข้าใจ ร่างกายส่วนนั้นส่วนนี้มันถูกผลักดัน นี่คือแบบหยาบ
          ที่มันเป็นแบบละเอียดไปอีกหน่อย คือมันไม่มีเจตนาที่จะไปผลักดัน ไปจงใจ อย่างชัดๆ ก็คือ ระบบหัวใจ มันเต้นอยู่ นั่นคือไม่ได้สั่งการ มันทำงานของมัน ปราศจากการผลักดันของจิต หรือวิญญาณ มันอยู่คนละส่วนกัน นี่คือละเอียดลึกลงไป จะสังเกตเห็นได้ว่าเป็นอย่างนั้น มันผลักดันไม่ได้ มันเป็นไปตามหน้าที่ของส่วนที่เป็นร่าง หรือส่วนที่เป็นรูปกาย ยกตัวอย่างเช่น เรามีเจตนากลั้นลมหายใจ เรียกว่า กลั้นใจ จะดำน้ำให้กลั้นใจไว้ อย่าหายใจ ที่จริงคำศัพท์นี้มันก็ไม่ตรงเท่าไร จะไปกลั้นใจไม่ได้ เพราะระบบหัวใจมันยังเต้นอยู่ จับดูชีพจรตามจุดที่สัมผัสได้ เช่น ข้อมือ จะเห็นว่าระบบหัวใจมันเต้นอยู่ ถึงแม้เราจะกลั้นใจอยู่ ไม่มีลมเข้า-ออก กลั้นใจก็คือกลั้นหายใจ มันพูดไม่สุด พูดไม่เต็ม มันลัดเอา เหมือนกับภาษาใต้ที่พูดว่า ไปเล ก็คือไปทะเล เป็นภาษาลัดที่ใช้กันในสังคม กลั้นใจก็เหมือนกัน ควรพูดให้มันเต็มว่ากลั้นลมหายใจ เพราะพูดแค่ว่ากลั้นใจมันไม่สมบูรณ์ มันกลั้นใจไม่ได้ หัวใจเต้นมันเป็นระบบของร่างกาย นี่คือถ้าคนคิดมากมันจะไปเห็นเลย ซอกแซกจุดไหน อะไรยังไง มันจะไปเจอเลย คำศัพท์นั้น คำศัพท์นี้ไม่สมบูรณ์ แต่มันก็เป็นกระแสสังคม ภาษาใช้กันตามที่มนุษย์กลุ่มนั้นๆ สร้างขึ้น กระแสสังคมนิยมเขาพูดแค่นี้ พูดกันแค่นี้ก็รู้เรื่องว่ามันเป็นอะไร
          ถ้าเราสังเกตบ่อยๆ ก็ชื่อว่าเป็นการทำความเพียร คือมันดูกาย ดูจิต มันไม่หนี หลักการอยู่ที่นี่แท้ๆ วิเคราะห์วิจารณ์พูดมากไป มันก็วกวนอยู่นี่ ถ้าหนีไปก็คือไม่ถูก มันยิ่งห่างไปไกล การเคลื่อนไหวของกายมันเป็นของหยาบ หยาบคือเห็นได้ง่าย มันใหญ่ ตัวหนังสือมันตัวใหญ่ คนตาไม่ค่อยดีก็พอจะอ่านได้ว่าเป็นตัวอะไรบ้าง อาการกายเคลื่อนไหวที่เขียนไว้ก็ว่ามันเป็นอิริยาบถ อิริยาบถบรรพ เป็นกรรมฐาน ให้ทำความเพียรเพื่อจะรู้จริง มันเป็นการสังเกตการณ์ส่วนต่างๆ ของร่างกายเวลาที่มีการเคลื่อนไหว
          ถ้ามันละเอียดลึกลงไป ก็จะไปตรงกับคำว่า ดูลมหายใจ แต่ปกติลมหายใจนี่มันก็ไม่ได้ผลักดันมาจากจิต หรือวิญญาณ หรือใจ แต่ถ้าจะผลักดันก็ทำได้ คือ กลั้นลมหายใจ นี่คือผลักดันได้ ทำได้ ถ้าปล่อยตามสภาพของมัน มันก็ทำงานหายใจเข้า-ออกอยู่ ถ้าจะให้จิต หรือวิญญาณ หรือใจ ผลักดัน มันก็ทำได้ เช่น ทำลมช้า ทำลมเร็ว ถ้าไม่มีการผลัก ก็ยกตัวอย่างมาอธิบายได้ชัดเจน คือ ตอนที่นอนหลับ ฝันไปโน่นไปนี่ แต่ว่าลมหายใจมันทำงานอยู่ นั่นคือมันคนละส่วนกัน คนละเรื่องกัน ในขณะที่ฝันไปร่างกายมันไม่มีรู้เลย มันเหมือนต้นไม้ มีชีวิตแต่ไม่มีวิญญาณ ในขณะที่คนนอนหลับ ยังมีชีวิตอยู่แต่ว่าวิญญาณมันไป มันเป็นธรรมชาติ ได้มาจากธรรมชาติ มันเป็นหน้าที่ของมันเอง แต่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย เหมือนเราบอกว่าต้นไม้มีชีวิตแต่มันไม่มีจิตวิญญาณ คนก็เช่นกัน ในขณะที่นอนหลับฝันมันยังมีชีวิตอยู่ ระบบหัวใจมันทำงานอยู่ ระบบลมหายใจมันทำงานอยู่ นี่คือแบบละเอียดลงไปอีกระดับหนึ่งของส่วนที่เป็นรูป หรือส่วนที่เป็นกาย
          แบบละเอียดที่มันลึกซึ้งลงไปมากกว่านั้นอีกก็คือ ระบบที่ตามดูไม่เห็น เช่น ระบบหมุนเวียนของเลือด ระบบหมุนเวียนของลม มันไม่ได้สะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน มันสัมผัสไม่ได้ สังเกตไม่เห็นเหมือนระบบแบบหยาบๆ นี่คือมันเป็นระดับหยาบ-ละเอียดกว่ากัน แม้แต่ภายนอก แม้แต่ชีวิตมนุษย์ที่ยังไม่ตาย การทำงานของมันยังมีการอธิบายได้ว่ามันหยาบ มันละเอียดอย่างไร ระบบหัวใจ ระบบลมหายใจ นั่นแบบหยาบกว่า ส่วนระบบที่มันหล่อเลี้ยง หมุนเวียนไปตามสรีระยังไง นั่นเป็นแบบละเอียดกว่า มันไม่ปรากฏ ไม่สะท้อน หรืออย่างการเผาผลาญอาหารให้ย่อย นี่มันก็ละเอียดมาก แบบหยาบอื่นๆ ก็ยังมีอีกเช่น การปัสสาวะ อุจจาระ ทำไมคนไม่รู้ตัวแต่ว่ามีการปัสสาวะ อุจจาระ มันถ่ายเทออกมาได้ทั้งๆ ที่หลับอยู่
          เราวิเคราะห์สังเกตการณ์ดูอย่างนี้ มันเป็นการสะสมความรู้ ความเห็น ว่ากายนั้นไม่ใช่เรา กายมันเป็นวัตถุ กายนี้เป็นหุ่น กายนี้เป็นตุ๊กตา กายนี้เป็นซากศพ ให้มันเห็นชัดแจ้งขึ้น ให้มันเข้าไปสัมผัสได้ วิธีพูด วิธีอ่าน วิธีฟัง ก็เพื่อให้มันเข้าใจอย่างนี้ มันค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ความรู้แจ้ง โดยไม่รู้ตัว โดยที่เราสังเกตไม่เห็น มันสะสมการได้โดยที่ไม่รู้ตัว มันได้ความกระจ่าง ได้ความสว่าง ได้ดวงตาเห็นธรรม โดยไม่รู้ตัว เพราะมันสะสมบ่อยๆ มันฟังบ่อยๆ มันคิดบ่อยๆ มันเจริญขึ้นเอง โดยไม่รู้สึกตัว
          ยกตัวอย่างเหมือนอะไร ก็เช่น เราเจริญเติบโตตั้งแต่เป็นเด็กมาจนบัดนี้ เราเห็นตัวเองไหม ว่ามันโตขึ้นแต่ละขณะเท่าไร เจริญอย่างไร ถ้าจะถามใคร ก็ตอบไม่ได้ เพราะมันมองไม่เห็น แต่มันโตขึ้นไหมล่ะ มันโตขึ้นจริง มันเป็นสัจธรรมไหมล่ะ สัจธรรมคือความจริง แต่ก่อนมันยังไม่โตอย่างนี้ มันเป็นเด็กตัวเล็กๆ นอนแบเบาะอยู่ แต่ทำไมมันเจริญเติบโตขึ้นมาได้ โดยที่มองไม่เห็นตัวเอง หรือมองคนอื่นก็ไม่เห็น กาลเวลา การสะสม การได้ของมัน มันก็ได้ในรูปแบบอย่างนี้ อธิบายเทียบเคียงได้อย่างนี้ การได้ดวงตาเห็นธรรมก็เช่นกัน ได้จากการสะสมความรู้ที่มันเปลี่ยนแปลงไป ที่จะนำไปสู่ความรู้จริงได้ มันก็เช่นเดียวกันกับการเจริญเติบโตของร่างกาย มันมากพอมันก็โตเอง มันอาศัยส่วนประกอบเหล่านี้ คือ การคิดบ่อยๆ การฟังบ่อยๆ การศึกษาบ่อยๆ การสังเกตการณ์บ่อยๆ นั่นแหละคือการทำความเพียร เพียรบ่อยๆ
          ต้องเข้าใจคำว่า ความเพียร ในสองระดับ ระดับชาวบ้านกับระดับชาวพุทธ ระดับภายในกับระดับภายนอก ระดับโลกียะกับระดับโลกุตตระ ให้มันเข้าใจความแตกต่างอย่างน้อยในสองระดับ ถ้าเอาไปพ่วงกันมันก็มั่วซั่วไปหมด มันก็ไม่ชัดเจน ชัดเจนได้ยาก เข้าใจได้ยาก ต้องแยกฟัง แยกรู้ แยกเข้าใจ ว่าระดับไหน เพื่ออะไร มันจะกระจ่างขึ้น เพราะมันเป็นความจริง ของจริงไม่ใช่ของปลอม มันจะต้องเป็นไปตามสัจจะ คือเป็นไปตามงานของมันเอง งานของธรรมชาติ ถ้าอย่างนี้มันต้องไปเป็นแบบนี้ ถ้าอย่างนั้นมันต้องไปเป็นแบบนั้น คิดอย่างนี้มันก็จะเป็นแบบนี้ คิดอย่างนั้นมันก็จะเป็นแบบนั้น มันอยู่ที่ว่าทำงานอะไร ทำงานอย่างไร ผลงานมันก็จะออกมาแบบนั้น
          การอยู่ด้วยการ ตื่นอยู่ นี่คือวิธีที่ดีที่สุด มันจะรู้กาย รู้ใจ รู้รูป รู้นาม ถ้าอยู่ด้วยความหลับ ความง่วง ความไม่แจ่มใส นี่มันไปคนละทางเลย ต้องอยู่ด้วยความรู้ ความเบิกบาน ความตื่น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่คือกลุ่มของมัน หมู่ของมัน ส่วนผู้หลับ ผู้ง่วง ผู้เศร้า ผู้โศก ผู้ซึมเศร้า โศกเศร้า เสียใจ นั่นก็กลุ่มของมัน มันจะไปเป็นกลุ่มอาการของมัน ไปตามพวก ตามกระแสของใครของมัน คนละพวก คนละหมู่กัน พวกเศร้าหมอง ง่วง มืด ดำ ขุ่นมัว สกปรก พวกไม่รู้อะไร นี่เป็นพวกเดียวกัน จะเอางานแบบไหน จะทำงานอะไร ทำงานแบบไหน ผลมันก็ออกมาแบบนั้น พวกพุทโธก็คือตื่น รู้ เบิกบาน แจ่มใส ร่าเริง มีความสุข นี่คือพวกของมัน พวกใครพวกมัน จะเอาแบบไหน มันก็อยู่ที่เรา จะรู้อะไร ไม่รู้อะไร มันก็อยู่ที่เรา
          พวกนั้นก็ไม่รู้ พวกนี้ก็ไม่รู้ อยู่ด้วยความไม่รู้ มันก็เรื่องของเรา มันเป็นสิทธิ ถ้าไม่รู้ นี่มันคือไม่รู้อะไร ไม่รู้พวกใคร ไม่เป็นพวกใครเลย จึงบอกว่าโมหะ จึงบอกว่าอวิชชา มันปิดบังไปหมด ไม่รู้บุญ-บาป ไม่รู้คุณ-โทษ ไม่รู้ผิด-ถูก ไม่รู้กลางวัน-กลางคืน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จะเอาดีหรือจะเอาชั่ว จะทำให้มันเป็นอะไร มันไม่รู้เลย ชีวิตมันก็อยู่ไปอย่างนั้น ไม่รู้จะเอาอะไร มันไม่รู้จักจะเอาอะไร มันไม่รู้จักจะไม่เอาอะไร จึงว่าอวิชชา หรือโมหะ เป็นกลุ่มของมัน ความง่วง ความหลับ ความเศร้าโศก เสียใจ ขุ่นมัว นี่คือพวกของมัน เพราะฉะนั้นจงตื่นอยู่
          ถ้าจะดูหยาบก็คือดูความเคลื่อนไหวของกาย นี่มันเป็นแบบหยาบ พระกรรมฐาน พระป่า ครูบาอาจารย์สรรเสริญให้เดินจงกรมมากๆ เดินมากๆ เดินนี่มันเป็นงานหยาบ มันจะทำได้ง่ายกว่างานละเอียด ทำจากหยาบไปหาละเอียด การนั่งนี่มันเป็นงานละเอียด นั่งอยู่นิ่งๆ เฉยๆ จะไปดูใจอย่างเดียว มันเป็นงานขั้นละเอียดกว่า ดูไม่เห็น มันก็ทำไม่เป็น ก็ถูกความง่วงเอาไปกินหมด ความซึมเศร้า ความหลับ เอาไปกิน ไม่เห็นอะไรเลย ไม่ทัน เพราะมันละเอียด เหมือนนักเรียนไม่เข้าอนุบาล ไม่เข้าประถม กระโดดไปเข้ามัธยมเลย มันจะได้ไหม เปรียบเทียบดูแค่นี้มันก็กระจ่างแล้ว อะไรมันจะเป็นยังไง มันจะเป็นไปได้ยังไง จะไปเขียนยังไง จะไปอ่านยังไง จะทำอะไรยังไง ไม่รู้เรื่อง
          ฉะนั้น งานหยาบมันเด่น มันเห็นง่ายกว่า ตื่นอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน เดินจงกรมดูความเคลื่อนไหวของกาย มันหลับไม่ได้เพราะมันยืนอยู่ มันง่วงไม่ได้เพราะมันยืนอยู่ เดินอยู่ มันช่วยได้ ช่วยเป็นพุทโธ ช่วยเป็นผู้รู้ ช่วยเป็นผู้ตื่น ส่วนหยาบส่วนแข็งแรงนี่มันช่วยได้ดี
          บางสำนักบางอาจารย์ไม่เพียงแต่ว่าให้ดูความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ โดยหน้าที่ โดยปกติ ยังมีการสร้างอิริยาบถเพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษ เช่น ให้ยกมือ ยกแขน ขนาดนั่งเขายังให้ยกมือยกแขนเลย ทำไมต้องไปกล่าวถึงตอนเดิน เดินไม่ต้องกล่าวแล้ว เพราะเดินมันเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ขณะที่นั่งเขายังให้เคลื่อนไหวเพื่อให้มันตื่น ไม่ให้มันง่วง ไม่ให้มันซึม เขาสังเกตการณ์ เขาเห็นมามาก มันมีแต่ง่วง มีแต่ซึม มีแต่อยากจะหลับ ใหม่ๆ ก็สบายหรอก พอมันสงบแล้วก็หลับไป ไม่รู้เรื่อง ใหม่ๆ นั่งแล้วก็นิ่ม สบาย ต่อมาก็หลับเลย เพราะว่ามันเป็นทางของมันที่จะชวนให้หลับ บางอาจารย์จึงมีการกำหนดอิริยาบถในขณะที่นั่ง ให้เคลื่อนไหวส่วนที่มันสะดวก แขนนี่แหละมันเคลื่อนได้สะดวก โดยหน้าที่ โดยธรรมชาติ นั่งอยู่จะเอาขาคู้เข้าคู้ออก มันยุ่งยาก เอาแขนนี่แหละยกขึ้นลง แขนซ้ายแขนขวายกขึ้นยกลง เดี๋ยวก็วางบนเข่า เดี๋ยวก็วางที่หน้าอก ถ้าคนไม่รู้ ไปดูก็เห็นว่าน่าหัวเราะ นั่งสมาธิอะไร ทำไมต้องยกไม้ยกมือ จะไปบอกว่าเขาทำผิดอีกล่ะ มันยากมาก ถ้าไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ อันนั้นก็ผิด อันนี้ก็ถูก อยู่นั่นแหละ มันเป็นธรรมชาติของมัน
          นี่คืออิริยาบถบรรพ การทำความเพียรดูอิริยาบถของกายขณะเคลื่อนไหว มันจะช่วยได้ ไม่ให้มันเศร้า ไม่ให้มันหลับ ไม่ให้มันง่วง เหมือนปราชญ์บัณฑิตในยุคก่อนนิยมให้เดินจงกรม อยู่ด้วยการตื่น อยู่ตามที่โล่ง อยู่ใต้ต้นไม้ มันช่วยได้ ถ้าอยู่ในมุ้ง อยู่ในห้อง อยู่ในที่นอน มันก็ชวนให้ง่วง ไปอยู่ตามที่โล่งแจ้ง ตามป่าช้าบ้าง นั่งดูสัตว์บ้าง ฟังเสียงนกบ้าง มันเป็นเสียงธรรมชาติ มันชวนให้ตื่น เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่จะช่วยประคับประคองความตื่นอยู่ ให้มันตื่นได้นานๆ มันต้องกระจายความรู้ ความสังเกตการณ์ ให้มันทั่วๆ หลายแง่หลายมุม มันจะไม่ติด มันจะโล่งโปร่ง มันจะออกมาดี
          วันนี้พูดเรื่องการสังเกตการณ์ดูความเคลื่อนไหวของกาย ของร่าง ในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งมันก็เหมือนกับการดูลมหายใจ แต่ดูลมหายใจมันเป็นงานที่ละเอียดกว่าเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น